วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เปิดใจ 'ฉลาด วรฉัตร' กับการอดอาหารต้านรัฐประหาร(อีกครั้ง) ในวัย 71


"ตอนนี้ถ้าผมตายไปก็ถือว่าภาคภูมิใจแล้ว ผมจะอยู่ไปจนสิ้นชีวิต เท่ากับดิสเครดิตเขาไปในตัว เพื่อไม่ให้เขาซ้ำเติมเรามากเกินไป แต่ผมอาจจะไม่ได้เห็นนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง"
"แต่ฝากเลย คสช. ถ้าไม่เอานายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ต่อไปคุณก็อยู่ลำบาก เพราะสังคมโลกเขาไม่ยอมรับ"
"71 แล้ว ต่อไป ถ้าเราทำอะไรไม่ได้พอ 75 อาจจะหลุดโลกไปแล้ว เสียดายตัวเองนะ พอหลุดโลก เราก็ไม่มีความหมายแล้ว" ฉลาด วรฉัตร ทิ้งท้ายการสนทนากับ "ประชาไท"
ชื่อของฉลาด วรฉัตร กับการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นมาคู่กันเสมอ พลันที่มีการประกาศยึดอำนาจปกครองครั้งล่าสุด "ประชาไท" โทรสอบถามจุดยืนของเขา เขายืนยันอดอาหารประท้วงการรัฐประหาร โดยเดิมเขามีกำหนดการอดอาหารเพื่อประท้วงการออกกฎอัยการศึกในคืนวันเดียวกันอยู่ก่อนแล้ว

สองอาทิตย์ผ่านไป ท่ามกลางเกมไล่จับหนูทั่วกรุง จากไล่จับคนชูป้ายประท้วงรัฐประหาร ชูกระดาษเอสี่เปล่าๆ จนเหลือแค่ชูสามนิ้ว และกินแซนวิช "ประชาไท" สัมภาษณ์ "ฉลาด วรฉัตร" ผู้เลือกวิธีอดอาหารประท้วงรัฐประหาร 

สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง
ระยะสองสามวันนี้ มีอาการอ่อนเพลียและหน้ามืด สำคัญที่สุดคือหน้ามืด นั่งเดินไม่ค่อยได้ อาจจะเนื่องจากเราไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย  แต่พอนอนเข้าก็โอเค บางทีก็นอนพูดไป
โรคแทรกซ้อนที่มีอยู่คือโรคหัวใจ สองวันนี้มีหมอมาตรวจ พอดีมีหมอมาเยี่ยมแล้วก็เป็นห่วง หมอตรวจว่าน้ำตาลเยอะ เพราะกินน้ำผึ้ง สองแก้วต่อหนึ่งมื้อ ตอนนี้ลดเหลือแก้วเดียวก็คงจะดีขึ้น วันละ 3 ครั้ง อย่างไรก็จำเป็นต้องดื่มน้ำผึ้งด้วย เพราะเราต้องกินยา มันจะเป็นอันตรายต่อกระเพาะ
 
หมอห้ามไหม
คุณหมอส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว ผมได้รับการสั่งสอนมาจากโรงพยาบาลวชิระฯ ก็ก่อนนั้นเคยอดอาหารตอนประท้วงนายกฯ เกรียงศักดิ์ อยู่ได้สองวัน พอเข้าโรงพยาบาล หมอโรงพยาบาลวชิระบอกว่าถ้าจะสู้ทางการเมือง ต้องยืดเวลายาวหน่อย ก็ต้องดื่มน้ำ ตอนหลังบอกต้องมีน้ำผึ้ง เพราะประสาทเราจะไม่เสื่อม
 
แล้วสุขภาพทางใจเป็นอย่างไร
สุขภาพจิตเต็มร้อย คราวนี้ผมยอมรับ ผมเต็มร้อยเพราะผมคาดการณ์ไม่ผิดพลาดเลย ที่มา เราช่วยอะไรไม่ได้หรอก เพียงแต่ผมอาจจะมีผลงานที่เคยชนะจากการอหิงสา อหิงสา ชนะก็ดูตรงที่ ถ้าเราไม่ถึงที่ตายเดี๋ยวเราก็ชนะ แต่ไม่ใช่นอนเฉยๆ นี่ผมทำงาน เดี๋ยวต้องไปยื่นฟ้องร้องตามกระบวนการและส่งต่างประเทศ เพื่อให้อหิงสาเป็นผล เราจะต้องเปิดเผยไปสู่โลกภายนอกด้วย ว่าเราคนหนึ่งในประเทศไทย ยอมเสียสละชีวิตแลกกับประชาธิปไตย

จะฟ้องอะไรบ้าง
มาตรา 112 คสช.ละเมิดหรือหมิ่นพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เพราะอยู่ๆ ดีเอาสิ่งที่ผิดกฎหมายไปให้ในหลวงเซ็น คสช.ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี เป็นไปไม่ได้ จะมาอ้างว่าเป็นกฎอัยการศึก ยิ่งเป็นกฎอัยการศึก เข้า 112 ทันที เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากพระมหากษัตริย์ แล้วพอตัวเองผิดกฎหมาย แล้วเที่ยวมาไล่จับคนที่ทำถูกกฎหมาย มีกฎหมายคุ้มครอง 
คสช.กับกฎอัยการศึก ไม่ชอบทั้งคู่ เมื่อกฎอัยการศึกไม่ชอบ คสช.ก็ย่อมไม่ชอบ
มาตรา 113 มาล้มรัฐธรรมนูญ มาก่อกบฏ มาตรานี้แรงจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
มาตรา 114 เป็นข้อสุดท้ายของหมวดความมั่นคง คนโบราณเขาเขียนกฎหมายไว้ลึกล้ำ แล้วป้องกันไว้เต็มที่ แต่เราไม่ปฏิบัติกัน เราไม่เคยบังคับใช้ตามกฎหมาย เขาบอกไว้ว่า ถ้ารู้ว่าเขารัฐประหาร ถ้าไม่ต่อต้านแจ้งความร้องทุกข์เขา คุณต้องมีความผิด ตั้งแต่ 3 -15 ปี
 
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112
 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา 114 ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกัน เพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใด ๆ อันเป็นส่วนของ แผนการ เพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฎหรือรู้ว่ามีผู้จะเป็น กบฎแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

ถ้าถูกเรียกรายงานตัวจะทำอย่างไร
ตำรวจเขามาหาผมแล้ว เร็วๆ นี้เอง มาถามผมว่า ถ้าทหารเขาให้ผมไปรายงานตัว จะไปไหม ผมบอกว่าไม่ไป แต่ถ้ามาจับ ไป

ก็ผมอยากมีความผิดและผมอยากไปอยู่ในคุกทหาร เพราะฉะนั้นผมต้องดำเนินการฟ้องดักไว้ก่อน เพราะยังไงศาล ศาลทหารหรือศาลไหนก็แล้วแต่ ที่สนับสนุนคนทำผิดกฎหมายก็ไม่ใช่ความถูกต้องแล้ว คุณจะไปบอกว่า คนไปปล้นเขามา นี่มันเหมือนปล้นกันทั้งประเทศเลยนะ พอคุณปล้นสำเร็จไม่มีใครต่อต้านคุณ แล้วคุณบอกว่าฉันมีอำนาจโดยชอบธรรม มันเป็นไปได้ไหม หรือว่าคุณจะทำความดีเอามาชดใช้ หมายถึงว่าคุณไปปล้นเขามา แล้วก็เอามาแจกคนยากคนจน แล้วคุณก็บอกว่านี่คือความดี
นี่ก็เหมือนกันคุณจะไปปล้นอำนาจของประชาชน แล้วคุณจะมาบอกว่ามันจำเป็นต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นคนมันแตกแยก คนมันกำลังจะใช้ความรุนแรง ถามว่าถ้าเขาเดินหน้าไปในระบอบประชาธิปไตย เผด็จการไม่เข้ามาขัดขวาง หรือทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออำนาจกลับคืนไป เหตุการณ์นี้ไม่มีหรอกในประเทศไทย ประชาธิปไตยไม่มีความรุนแรงและไม่มีการขัดแย้งกันอย่างนี้ ไอ้นี่มันนอกรัฐสภา
 
หมายถึงเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง?
ใช่  องค์กรที่ทำ พรรคการเมืองที่ทำเพราะยังมีเผด็จการหนุนหลัง เผด็จการมีกระบอกปืนมีรถถังหนุนหลัง ถ้าพลเรือนด้วยกันทำไม่ได้
เผด็จการตั้งแต่ปี 49 ก็พยายามขึ้นมามีอำนาจ เพราะฝ่ายประชาธิปไตย พยายามยกเลิก-แก้ไขรัฐธรรมนูญ  แล้วคนพวกนี้ วางอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งหลังสุด กกต.ชัดเจน ถ้า กกต.จัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.เสร็จเรียบร้อย ป่านนี้ก็มีรัฐบาล  แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มี  เรื่องขัดขวาง ถ้าเอาจริง ให้ทหารหรือตำรวจไปจัดการ แต่คุณไม่ทำ ยอมเลื่อนบ้างอะไรบ้าง
ผมเคยทำหนังสือถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่เขาไม่สนใจเลย ก่อนถูกศาลตัดสิน ผมมานั่งเพื่อใช้เวลาคิด ทำอย่างไรถึงจะสู้ไม่ให้เกิดเหตุช่องว่าง ให้ประกาศภาวะฉุกเฉินเต็มอัตรา พูดให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่ายิ่งลักษณ์ออกจากนายกฯ แล้วรักษาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อรอคนมาใหม่ ไม่ใช่คนต่อไปจะเป็นยิ่งลักษณ์ พรรคอื่นอาจจะขึ้นก็ได้ จะเรียกร้องให้เขาลาออก ตั้งนายกฯ คนกลาง บ้าหรือเปล่า เขาจะเลือกตั้งกันอยู่แล้ว
แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่พยายามเรียนรู้ว่าตอนศาลรับเรื่อง อย่างไรก็ต้องตัดสินปลด ผมเสนอไป เครื่องมือของรัฐบาลเลย ระหว่างรัฐบาลรักษาการ ประกาศภาวะฉุกเฉินได้เต็มอัตราศึก เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้ง เป็นไปตาม กฤษฎีกาแล้ว ให้นายกฯ อบจ.ทุกจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์แล้วให้รองผู้ว่า เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ แล้วสั่งกองทัพ ตำรวจ ถ้า ผบ. คนไหนไม่ฟัง ปลดไว้ก่อน
คุณจะต้องเข้าใจว่า มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนไว้ว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนแย้งที่เป็นเผด็จการ หมดสิทธิจับอย่างเดียว แต่เราไม่ทำ ไม่เคยบังคับใช้กฎหมาย กลัวนั่นกลัวนี่ แล้วดูเผด็จการ เขาออกกฎอัยการศึกมา ไม่ถูกต้อง ไม่มีรัฐมนตรี ไม่ได้ขออนุญาตในหลวง
 

รัฐประหารครั้งนี้เหมือนหรือต่างกับครั้งก่อนๆ อย่างไร
ครั้งนี้เขาทันสมัยมาก ทำโดยไม่หวาดกลัว ทำมาไม่เหมือนเก่าๆ  เก่าๆ พอปฏิวัติปั๊บต้องประกาศรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวขึ้นมา เพื่อรองรับ นี่ไม่ต้อง เขาสถาปนาตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศเลย สั่งเข้าไปในกระทรวงได้ อย่างนี้ใครๆ เขาก็รู้ว่าเรียกนักเลง พูดหยาบๆ ก็โจรชัดๆ โจรชัดๆ มาปล้นประเทศ
 
เขาบอกว่าขอเวลาสองปี ในการสลายสี จะเป็นไปได้แค่ไหน
ถ้าจะเอาคนที่ผิดกฎหมายร้ายแรงขนาดนี้ เอาความดีมาเปรียบเทียบเราก็ต้องเลิกพูดกัน เพราะกฎหมาย แม้แต่เด็กหิวโหยไปขอทานไปขโมยขนมยังยอมความกันไม่ได้ แล้วจะเอาอะไรมาเปรียบเทียบอย่างนี้ ก็เขาทำผิดกฎหมายแล้วคุณจะไปฟังเขาทำไม เพียงแต่ตอนนี้ประชาชนคนไทยต้องหาหนทางแจ้งความร้องทุกข์เขา แล้วก็ขึ้นศาล เขาติด ทำกันทุกคนเถอะ แล้วมันจะอยู่รอดปลอดภัย ทุกคนไม่ต้องไปเดินขบวน แหย่เขาเอา เขามีปืน แต่ถ้าเราออกไปตามกฎหมาย เรามาเรียกร้องเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็ทำได้ทั้งนั้น เขาทำผิดกฎหมาย มาตรา 114
เขาหาว่าผมสุดโต่ง เพราะผมเคยออกกฎหมาย เพราะฉะนั้นคนเรียนกฎหมาย ต้องฟังคนออกกฎหมายสิ ถูกเปล่า เพราะฉะนั้นในเมื่อเขาผิดกฎหมายแล้วคุณไปยอมรับเขา เพราะคุณกลัวกระบอกปืนกับรถถัง

ถ้าอย่างนั้น จะแก้ไขความขัดแย้งตอนนี้อย่างไร
ถ้าแก้ด้วยระบอบประชาธิปไตย [ความขัดแย้ง] จะหายไปทันที ทำแป๊บๆ หาย รัฐธรรมนูญในประเทศไทย เชื้อเผด็จการทั้งนั้น ที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมีฉบับเดียวคือ 2475 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495  ถ้าเราจะทำต่อไปให้สมบูรณ์ ก็ต้องเอาปี 2495 มาทำให้สมบูรณ์กับยุคสมัยนี้ คุณไม่ต้องไปพูดถึงกฎหมายฉบับอื่นเผด็จการทั้งดุ้น
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มันเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของประเทศว่าเราเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.7 เป็นคนพระราชทานให้ แล้วกฎหมายบอกว่าคุณล้มเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้ แล้วมันฉบับไหนล่ะ ฉบับอื่นคุณล้มเขามา
จะให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ตอนนี้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องเอามาแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยเหลืออีกสามข้อก็เป็นแล้ว
หนึ่ง พรรคการเมืองควรเป็นองค์กรของรัฐ โดยประชาชนเป็นสมาชิก แล้วก็ไม่ควรมีเกินสามพรรค
ถ้าเราบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญว่าทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรค แสดงว่าพรรคการเมืองไม่มีใครเอาไปเล่นอะไรได้แล้ว ทำไมกองทัพต้องเป็นของรัฐล่ะ นี่คือความมั่นคง ปกครองทหาร ข้าราชการ ข้าราชการประจำทั้งแผ่นดิน ของรัฐก็คือของประชาชน 
สอง ต้องมีนโยบายขึ้นมา ไม่ต้องไปเขียนอะไรมากมาย เพราะหัวใจของประชาธิปไตยคือรัฐต้องจัดปัจจัยสี่ให้ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน คือ
1) รัฐต้องจัดให้คนมีเงินดำรงชีพ คนละไม่ต่ำว่า 15,000 บาท หรือเทียบเท่า ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
2) รัฐต้องยกระดับการศึกษาภาคบังคับจากม. 6 เป็นปริญญาตรี และใช้หลักสูตรนานาชาติ
3) การรักษาพยาบาล ต้องทำให้อยู่ในระดับเดียวกันแล้วรักษาได้ทุกโรค ไม่ใช่แรงงานใช้อย่างหนึ่ง ข้าราชการใช้อย่างหนึ่ง
4) ทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์
สาม กระจายอำนาจ
 
มีคำแนะนำต่อโรดแมปของ คสช. ไหม
ไม่ต้องแนะนำ เพราะผมมีลัทธิประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ผมบอกเขาเลยว่า ประชาธิปไตยกับเผด็จการ มันจะผสมผสานมันไม่ได้
ถ้าคุณหวังดี บอกมันจะฆ่ากันตายหมด พอเรามาทำอย่างนี้ มีดนตรีจะสามัคคีได้ (หัวเราะ) มันเป็นไปไม่ได้หรอก
มาจากกระบอกปืน คุณจะปฏิรูปยังไงก็แล้วแต่ มันขัดต่อระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตย เขาลงพรรคหาเสียง ต้องบอกประชาชนว่าจะทำอะไร แต่ปฏิรูปของเขาจะวางกรอบให้ ส.ส.ไม่กระดิกกระเดี่ย
ผมไม่ใช่พวกทักษิณ แต่ต้องยุติธรรมต่อเขา เพราะเขามาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่อยู่ดีๆ  สนธิ บุญยรัตกลิน มาจากเผด็จการ แต่กลับมาเป็น ส.สได้ แต่ทักษิณต้องหนีออกนอกประเทศหมายความว่าไง คดีเขาเป็นคดีตอนคุณปฏิวัติ ถ้าคดีตามปกติผมไม่ว่าหรอก ไม่เป็นไร
คิดอย่างไรกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลก่อนที่มีการนำมาปัดฝุ่นใหม่
คุณบอกจะอยู่ชั่วคราว แล้วมาทำโครงการทำไม ตอนนี้น่าจะพูดเรื่องโครงการของสังคม ให้นักการเมืองอยู่ในกรอบอย่างไร นี่หาเสียงอย่างเดียว หวังจะเป็นนายกฯ

ก่อนกลับ แพทย์พร้อมผู้ช่วย 2 คนเดินเข้ามาขอตรวจสุขภาพฉลาด เขาบอกว่าเขาเคยตรวจอาการของฉลาด เมื่อปี 2535 วันนี้กลับมาอีกครั้ง ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อถามถึงสุขภาพ แพทย์ระบุว่า มีอาการความดันต่ำ ทำให้หน้ามืดจะเป็นลมบ่อยๆ ร่างกายขาดสารอาหารและน้ำ บวกกับอายุที่มากขึ้นและโรคหัวใจ ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว ในฐานะแพทย์ แนะนำให้รักษาชีวิต เลิกประท้วง แล้วกลับไปกินอาหารให้เพียงพอ แต่ถ้าด้วยอุดมการณ์ ก็คงต้องเคารพการตัดสินใจของเขา

หมายเหตุ: ฉลาด วรฉัตร ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง (8 มิ.ย.) แจ้งว่าอังคารนี้ (10 มิ.ย.) จะไปแจ้งความ คสช. ข้อหาล้มล้างการปกครอง


ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญกำหนดค่าตอบแทนที่ปรึกษา-ผู้เชี่ยวชาญ-ขรก.-ลูกจ้าง


ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ลงนามวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยจรูญ อินทจาร กำหนดค่าตอบแทน-เงินประจำตำแหน่งที่ปรึกษา-ผู้เชี่ยวชาญ-เลขานุการ เงินค่าตอบแทนพิเศษสำหรับข้าราชการศาลและลูกจ้างศาล จนถึงค่าตอบแทน รปภ. และพนักงานขับรถยนต์
8 มิ.ย. 2557 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2557 เผยแพร่ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ลงนามโดยนายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รักษาราชการแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประกอบด้วย
(1) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ (ฉบับที่ 2)"(อ่านเพิ่มเติม) ระบุว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือโดยองค์กรกลางบริหารานบุคคลในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (อ.ศร.) หรือโดยเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการเพิ่มเติมข้อความวรรคสองขอข้อ 9 แห่งระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ พ.ศ. 2557 โดยระบุว่า "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการที่ปรึกษา ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามระเบียบนี้"
(2) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) โดยให้ที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษา 1 อัตรา ค่าตอบแทนรายเดือน 54,910 บาท เงินประจำตำแหน่ง 20,360 บาท และให้ที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาคนละไม่เกิน 1 อัตรา มีค่าตอบแทนรายเดือน 54,910 บาท เงินประจำตำแหน่ง 20,360 บาท
(3) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เกิน 3 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 37,000 บาท และผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละไม่เกิน 3 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 37,000 บาท
(4) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2557" (อ่านเพิ่มเติม) โดยให้มีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 48,140 บาท เงินประจำตำแหน่ง 5,390 บาท และให้มีเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนละไม่เกิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 48,140 บาท เงินประจำตำแหน่ง 5,390 บาท
(5) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยเงินค่าตอบแทนพิเศษและค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) โดยให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญท้ายระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยเงินค่าตอบแทนพิเศษและค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2554 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญท้ายระเบียบฉบับนี้ โดยกำหนดบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แก่
1. เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 33,000 บาท
2. ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 25,000 บาท
3. รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 25,000 บาท
4. ระดับ 10 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 20,000 บาท
5. ระดับ 9 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 18,000 บาท
6. ระดับ 8 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 16,000 บาท
7. ระดับ 7 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 14,000 บาท
8. ระดับ 6 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 12,000 บาท
9. ระดับ 5 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 10,000 บาท
10. ระดับ 4 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 8,000 บาท
11. ระดับ 3 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 6,000 บาท
12. ระดับ 2 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 4,000 บาท
13. ระดับ 1 อัตราเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเดือน 4,000 บาท
(6) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยเงินค่าตอบแทนพิเศษของลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) กำหนดอัตราค่าตอบแทนพิเศษและการรับเงินค่าตอบแทนพิเศษของลูกจ้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญให้ได้รับอัตรา ดังนี้
1. ลูกจ้างชั่วคราว ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 4,500 บาท
2. ลูกจ้างประจำที่พ้นทดลองการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 5,500 บาท
3. ลูกจ้างประจำที่รับราชการเกิน 5 ปี ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 6,500 บาท
4. ลูกจ้างประจำที่รับราชการเกิน 10 ปี ให้ได้รับในอัตราเดือนละ 7,500 บาท
(7) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 29,000 บาท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนละไม่เกิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 29,000 บาท ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 21,300 บาท ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนละไม่เกิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 21,300 บาท
(8) "ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2557" (อ่านเพิ่มเติม) กำหนดให้มีพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 15,000 บาท ค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาท พนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนละไม่เกิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน 15,000 บาท ค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาท


ควบคุมตัวประชาชนแสดงออกต้านรัฐประหารที่พารากอนรวม 7 ราย



  
             8 พ.ค.2557 รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมพื้นที่การชุมนุมในวันนี้ได้ควบคุมบุคคลไปทั้งสิ้น 7 ราย โดยควบคุมตัวที่ลานน้ำพุห้างสยามพารากอน ในเวลาประมาณ 11.30 น. จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายสุรสิทธิ์ อายุ 57 ปี นางพรธิดา อายุ 36 ปี  
 
             ควบคุมตัวที่บีทีเอส สยาม ในเวลาประมาณ 15.40 น. 2 ราย ได้แก่ นางสุมณฑา อายุ 44 ปี นางพิชามญช์ อายุ 41 ปี และติดตามจากพารากอนไปควบคุมตัวได้ที่สะพานควาย 3 ราย ได้แก่ น.ส.ดารณี อายุ 58 ปี นางอารีย์ อายุ 54 ปี และนางพลอยดาว อายุ 62 ปี 
 
            จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น.ทั้ง 7 รายถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำส่งไปควบคุมตัวอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม 



รองผบ.ตรเตรียมส่งชื่อ นศ. ‘แจกแซนวิช’ ต้านรปห. ให้ทหาร


View image on Twitter
ทหาร-ตำรวจเข้าตรึงกำลังเข้ม 5 จุด กลุ่มศนปท. จัดกิจกรรมแจกแซนวิชต้านรปห.ไม่ถูกขัดขวาง แต่รองผบ.ตรเผยเตรียมเอาผิด ในขณะที่แฟลชม็อบเกิดที่จตุจักร-พารากอน ล่าสุดมีรายงานว่าผู้ชุมนุมสตรี 2 รายถูกจับแล้วที่หน้าห้างพารากอน  

8 มิ.ย.2557 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเตรียมวางกำลังควบคุมพื้นที่ 5 จุดซึ่งคาดว่ากลุ่มต่อต้านรัฐประหารจะชุมนุมโดยส่งข่าวกันผ่านโซเชียลมีเดีย ได้แก่  บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน สนามบินสุวรรณภูมิ ร้านแมคโดนัลด์ สาขาห้างสรรพสินค้าอมรินทร์พลาซ่า ราชประสงค์ และวัดพระแก้ว ซึ่งจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 กองร้อย และทหาร 27 กองร้อย และยังกำหนดให้ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกขบวนในเวลาที่มีการชุมนุม และมีกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทุกสถานี เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเส้นทางต่างๆ โดยวิธีชุมนุมดังกล่าวเรียกว่า “แฟลชม็อบ”
 
กินแซนด์วิชหน้าธรรมศาสตร์ 
 
โดยราวเวลา 16.15 น. บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ได้จัดกิจกรรมแจกแซนวิชเพื่อเป็นกิจกรรมสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร โดยมีนักศึกษาราว 20-30 คนเดินแจกแซนวิช และมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมอีกราว 150 คน ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวผ่านไปได้โดยไม่มีการขัดขวางใดๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ต่างจากเหตุการณ์วานนี้ที่ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมปิคนิคต้านรัฐประหารถูกทหารเข้าขัดขวาง จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นการแจกแซนวิชแทน แต่ก็ยังพบการห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
 
นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มศนปท. ยังได้อ่านกลอนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย 
 
ล่าสุดราว 18.00 น. วิทยุจส.ร้อยรายงานว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ระบุว่าจะเตรียมส่งชื่อที่อยู่ให้ทหารดำเนินการ นศ.ที่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร และแจกแซนด์วิชที่มธ. 6 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยทำกิจกรรมสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารหน้าม.เกษตรฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 
 
 
 
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยมีคำสั่งด่วนวันนี้ (8 มิ.ย.2557) ให้ตรวจสอบทางเข้า-ออก ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะมีการนัดเคลื่อนไหวที่สนามหลวงและวัดพระแก้ว โดยประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยค่อนข้างชุลมุนเนื่องจากมีการตรวจบัตรพนักงานและบัตรนักศึกษาอย่างเข้มงวด ขณะที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์มีทหารควบคุมอยู่บางจุดเช่น บริเวณโรงอาหารริมน้ำข้างคณะเศรษฐศาสตร์ 
 
นอกจากนั้น ยังมีการนำรถควบคุมผู้ต้องหาของตำรวจ ไปจอดอยู่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ฝั่งตรงข้ามสนามหลวงด้วย
 
ราชประสงค์ ชูสามนิ้วก่อนสลายตัว มีรายงานหญิงโดนจับ 2 ราย
 
ในพื้นที่ราชประสงค์ในช่วงบ่าย มีรายงานข่าวว่าเวลาประมาณ 15.30 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 5-6 คน แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่หน้าห้างสยามพารากอนก่อนแยกย้ายออกจากพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมแต่มีรายงานว่าได้บันทึกภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีในภายหลัง 
 
อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นที่ผ่านมา ทนายจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) แจ้งว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน มีหญิงวัยกลางคนรวมกลุ่มกันชูสามนิ้ว มีจำนวน 2 รายถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสน.พญาไท ส่วนอีก 3 รายที่เดินทางออกจากพื้นที่ได้และคาดว่าถูกจับกุมที่จตุจักร คาดว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวทั้งหมดไปยังสโมสรทหารบก

View image on Twitter

View image on Twitter

View image on Twitter


จนท.คุมเข้มพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
 
ส่วนบรรยากาศโดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเต็มพื้นที่ราว 5 กองร้อย สถานการณ์ตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็นยังปกติและไม่เห็นกลุ่มผู้ประท้วง 
ขณะเดียวกันมีกลุ่มเยาวชนในนาม "เด็กกิจกรรมทำเพื่อชาติ" ได้รวมกลุ่มสวมเสื้อที่เขียว ขออนุญาตผู้บัญชาการเหตุการที่ควบคุมกำลังพลรักษาความปลอดภัย ทำกิจกรรมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้พิจารณาแล้วว่ากิจกรรมดังกล่าวสร้างสรรค์และไม่เป็นการยั่วยุ จึงอนุญาต ขณะที่การจราจร บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิรถยนต์ยังสามารถวิ่งได้ปกติเนื่องจากไม่มีการปิดถนนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
 
จตุจักร ไม่เห็นผู้ชุมนุม รถใต้ดินไม่จอด
 
บรรยากาศที่ตลาดนัดจตุจักร  มีเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น.2 กองร้อยควบคุมฝูงชน พร้อมรถผู้ต้องหาจำนวน 1 คัน เข้าประจำตามจุดต่าง ๆ โดยรอบเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่
 
โดยราว 16.45 น. มีรายงานว่ามีชุมนุมจำนวนหนึ่งยืนทำสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารก่อนจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันถึงผู้ที่ถูกจับบริเวณนี้
 
ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ได้แจ้งปิดสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสวนจตุจักรตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

View image on Twitter






รู้จัก ‘มนุษย์ป้า’ ผู้ก้าวมาอยู่แถวหน้า ท้าทายกระบอกปืน



แม้ว่าวาทกรรม ‘มนุษย์ป้า’ จะเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียอธิบายถึงหญิงสูงวัยที่มักชอบแซงคิว แย่งขึ้นรถไฟฟ้า ไม่แคร์สายตาใคร ฯลฯ แต่เนื่องจากคำนี้เพิ่งเกิดมาไม่นานนักและคำนิยามยังไม่ปักหลักมั่นคง เราจึงนำเสนอ ‘มนุษย์ป้า’ ในอีกมุมหนึ่ง
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพการต่อต้านการรัฐประหารที่เราเห็นมักมี ‘มนุษย์ป้า’ หรือหญิงสูงวัยเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่น้อย และที่ผ่านมามีผู้หญิงอย่างน้อย 6 รายถูกจับกุมจากการออกมาทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ชูป้าย ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ในจำนวนนี้มี 4 รายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึง 70 กว่าปี
ป้าสองคนแรก คือ ป้าที่เป็นข่าวโด่งดังเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ‘ป้าเล็ก’ อายุ 50 ปี ถือป้าย No Fascist   ‘ป้ายุ’ อายุ 71 ปี ถือป้าย Prayudh get out อีกคนหนึ่งคือ ป้าวารี อายุ 71 ปี ไม่ได้ถือข้อความใดๆ นอกจากคำว่า people บนหน้ากากที่ประดิษฐ์และตกแต่งขึ้นเอง สุดท้ายคือ ป้านิด อายุ 50 กว่าปีถูกจับเพราะชูสามนิ้วกับคนอื่นๆ ที่หน้า Terminal 21
ทั้งหมดมีจุดร่วมที่สำคัญคือ ไม่มีภาระทางบ้าน หลายคนเป็นหญิงโสดที่มีหน้าที่เพียงดูแลหลาน และส่วนใหญ่มักจัดสรรหาเวลาว่างได้ในตอนกลางวัน ‘อิน’ กับการเมือง ‘รู้สึก’ กับความไม่เป็นธรรมอย่างมาก และไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม...
 
บรรดาป้าเหล่านี้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นจะถูกพาตัวไปบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจ ก่อนถูกนำไปสอบสวนโดยทหาร ณ ค่ายทหารที่พวกเธอก็ไม่รู้แน่ชัด จากนั้นในช่วงดึกจึงถูกนำตัวมาขังยังกองปราบ นอนห้องขังกัน 2-3 คืน แต่ป้าเล็กดูเหมือนจะนอนนานกว่าใครถึง 5 วัน อาจเพราะคำให้การของเธอที่ตรงไปตรงมาและดูเป็นระบบ 
“เขาถามว่าใครจ้างเรามา เราก็อธิบายกับเขาไปว่าเราคิดยังไง เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเพราะอะไร เรายืนยัน ใครก็มาบังคับให้เปลี่ยนความคิดไม่ได้ คุณล้มกติกาทั้งหมด เอาปืนมาขู่แล้วบอกว่าจะปรองดอง คนที่เห็นต่างจากคุณไม่ใช่คนไทยหรือ จะให้เราไปยืนตรงไหนในสังคม ที่ผ่านมาเราก็เจ็บปวดจากความไม่ยุติธรรมมามากแล้ว....” ป้ากล่าวผ่านลูกกรง
ระหว่างที่เธอถูกคุมขัง ภายนอกลูกกรงเต็มไปด้วย ‘แก๊งป้า’ ที่จับแท็กซี่ตุปัดตุเป๋เดินทางมาเยี่ยมเพื่อนฝูง บางคนน่าจะล้ำเส้นรุ่นป้ามาถึงรุ่นยายแล้ว
แก๊งค์ป้าเล่าฟังถึงประวัติป้าเล็กว่า เขาเรียนเกือบจบรามคำแหง แต่เนื่องจากแม่ป่วยหนักจึงต้องออกมาดูแล จากนั้นก็เป็นหลักของบ้านคอยดูแลพ่อแม่และหลานๆ เรื่อยมา จนกระทั่งพ่อแม่เสียและหลานๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาว
“เราเห็นสัจธรรมของชีวิต เพราะเราอยู่ดูแลคนรุ่นหนึ่งที่กำลังจะจากไปกับอีกรุ่นหนึ่งที่กำลังงอกงามเติบโต” ป้าเล็กยิ้มภูมิใจกับหน้าที่ของเธอ
แก๊งค์ป้ายังเล่าว่า ป้าเล็กเป็นรุ่นเล็กสุดในแก๊งป้า ผู้คอยดูแลผู้สูงวัยคนอื่นๆ เพราะคล่องตัวและมีความรู้ ไม่ว่าใครต้องการอะไร อยากจะเบิกเงินคนแก่ เปิดบัญชีธนาคาร ทำธุรกรรมหรือกิจธุระใด ป้าเล็กเป็นผู้อาสาดูแลให้ทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกที่บรรดาแก๊งป้าจะมาเยี่ยมกันมากมาย หลายคนร้องห่มร้องไห้เป็นห่วงเพื่อนที่นั่งจับเจ่าอยู่หลังลูกกรง
นอกจากนี้เรายังได้รู้อีกว่า ป้าเล็กและป้ายุนั้นเป็น ‘คู่หู’ แนวหน้าของแก๊งค์ เนื่องจากป้าคนอื่นๆ นั้นมีเงื่อนไขข้อจำกัดทั้งด้านสุขภาพ ด้านครอบครัว ดังนั้น คู่หูที่คล่องตัวและลุยแบบถึงไหนถึงกันนี้จึงเป็นผู้ปฏิบัติการและนำเรื่องราวมาถ่ายทอดต่อให้บรรดาเดอะแก๊งที่คอยฟังอยู่ทางบ้าน
“สองคนนี้เขาลุยมาก ตอนพฤษภา 53 เขาก็อยู่ในวัดปทุมจนคืนสุดท้าย ที่เขายิงกันเลย” ป้าคนหนึ่งเล่าด้วยว่า เวลาที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ป้าเล็กมักจะหาลำไพ่พิเศษตอนกลางคืนด้วยการรับจ้างรีดผ้า เพื่อหาค่ารถไปร่วมชุมนุม
เมื่อถามป้าเล็กถึงความสนใจทางการเมือง เธอเล่าว่าเธอสนใจอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก หากแต่มาสนใจจริงจังหลังรัฐประหาร 49 เพราะเธอชื่นชอบนโยบายหลายอย่างของพรรคไทยรักไทย แม้เธอไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้นเองแต่ได้เห็นว่าคนที่ลำบากนั้นสามารถพึ่งพิงได้
ท้ายที่สุด ป้ายุได้ปล่อยตัวก่อน และข่าวที่แก๊งป้าอัพเดทก็คือ ลูกหลานโกรธป้ายุและกลัวผลกระทบมาก ป้ายุจึงถูกส่งต่อไปปฏิบัติธรรมที่วัดทันทีที่ออกจากลูกกรง
ขณะที่ป้านิดเข้ามาทีหลัง ป้านิดผู้มีเชื้อสายจีนมีบุคลิกกระตือรือร้นตลอดเวลาและพูดเก่งมาก เธออธิบายความอัดอั้นตันใจมากมาย สิ่งที่สร้างความหวาดหวั่นที่สุด มิใช่การถูกควบคุมตัวแต่คือการที่ออกไปแล้วจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก
“ไม่รู้จะอยู่บ้านได้ไหม พูดจริงๆ เลย เราอึดอัดมาก มันร้อนรน อยู่ไม่ไหวแน่....ทำไมต้องทำขนาดนี้ เราก็แค่ออกมาแสดงออกถึงความรู้สึก ความคิดเรา ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำอะไรรุนแรง ไม่รู้ว่าถ้าได้ออกไปแล้วจะอยู่ได้ยังไงนะคุณ เขาบอกถ้าเห็นอีกโดนหนักแน่” ป้านิดว่า
จนถึงวันนี้มนุษย์ป้าทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่โทรศัพท์ยังคงไม่ได้คืน และต้องลงชื่อรับรองว่าจะไม่ร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ อีก หลายคนที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้าเหล่ามนุษย์ป้าต่างก็ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือ หากเขาไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีต่อ เขาก็จะได้รับการปล่อยตัว หลังจากขังที่กองปราบมาแล้ว 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วันแล้วแต่กรณี โดยต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว และจะมีทหารคอยโทรศัพท์ติดตามหลังจากออกไปแล้วด้วย
ที่น่าสนใจคือ บรรดามนุษย์ป้าเล่าให้ฟังว่า พวกเธอได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างตรงไปตรงมาแม้ในระหว่างการสอบสวนของทหาร มีป้าคนหนึ่งเล่าว่า ทหารคนแรกที่สอบสวนเธอโกรธเธอจนต้องลุกออกไป และมีทหารอีกคนเข้ามาเกลี้ยกล่อม จนกระทั่งเธอเห็นว่าการต่อต้านไม่ช่วยอะไรและน่าจะส่งผลต่อระยะเวลาที่เธอจะถูกขัง สุดท้ายเธอยอมรับเหตุผลที่นายทหารพยายามอธิบายถึงความจำเป็นในการทำรัฐประหารว่าเป็นไปเพื่อหยุดการเสียเลือดเนื้อของประชาชนสองฝ่าย
“ใช่ ฉันเห็นด้วยกับการรัฐประหาร” ป้าคนนั้นยอมกล่าวคำนี้ เจ้าหน้าที่ให้เธอกล่าวอีกครั้ง พร้อมบันทึกวิดีโอ “ ใช่ ฉันเห็นด้วยกับการรัฐประหาร”