วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555


ยุบศาลปกครองซะดีมั้ย
ยุบศาลปกครองซะดีมั้ย
  
“ในคดีที่ กสท. ฟ้องร้อง หากไม่มีการฟ้องร้องโดย กสท. และให้การคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครอง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในความเห็นของผู้เขียนก็คือ

1. ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย แข่งขันกันให้บริการ 3G นอกเหนือจาก ทีโอที ซึ่งให้บริการอยู่แล้ว โดยการแข่งขันจะมีความเสมอภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

2. รัฐจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จากการออกใบอนุญาต 3 ใบ ใบละไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บจากประชาชน หรือสามารถเพิ่มบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสวัสดิการแก่ประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่ทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เพราะเป็นเงินที่ถูกเก็บมาจากกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ส่วนที่ไปเพิ่มต้นทุน อย่างที่มักมีความเข้าใจผิดกัน

3. ระบบใบอนุญาตโดยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระคือ กสทช. เป็นระบบมีความโปร่งใสมากกว่าและไม่เลือกปฏิบัติ จะมาทดแทนระบบสัมปทานของรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้เกิด “อภิมหาเศรษฐี” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งภายหลังก้าวเข้าสู่การเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน ระบบใหม่นี้จะมีผลในการลด “ธนกิจการเมือง” (money politics) และทำให้ประชาธิปไตยของไทยตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองมากขึ้น”

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?

เต้นเป็นเจ้าเข้ากันไปหมดเมื่อวัฒนา เมืองสุข ส.ส.เพื่อไทย โยนระเบิดลูกใหญ่ เสนอให้ยุบศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ

ก็ไม่ใช่ว่าผมจะเห็นด้วยไปเสียหมดหรอกนะครับ แต่เห็นว่านี่เป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ และความจำเป็นของการมีองค์กรอิสระ ไม่ใช่อย่างพวกต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เหมาเอาว่าเป็นเพราะนักการเมืองไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบสถานเดียว

องค์กรอิสระเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ขยายอำนาจและยึดอำนาจการสรรหา ไปไว้ในมือฝ่ายตุลาการ ฉะนั้นเราต้องแยกแยะทีละประเด็น ได้แก่

1. ความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้อำนาจสรรหาและแต่งตั้ง ไม่ยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน

ยุบศาลปกครองซะดีไหม ?
            กรรมการสรรหาส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการ ส่งชื่อให้วุฒิสภารับรอง โดยวุฒิสภาเกือบครึ่งหนึ่งก็มาจากการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการสรรหา “สว.ลากตั้ง” ก็มาจากตุลาการและประธานองค์กรอิสระนี่แหละ สรุปว่าเหมือนควาย-เอ๊ย วัวพันหลัก เป็นConflict of Interest ประเภทหนึ่ง
            ร้ายกว่านั้น ถ้ากรรมการสรรหาส่งชื่อไปแล้ว สมมติ เลือกนาย ก.เป็นกรรมการ ปปช. วุฒิสภาเกิดหือขึ้นมา ไม่ยอมให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญ 2550 ยังบัญญัติว่า ถ้ากรรมการสรรหามีมติยืนยันเป็นเอกฉันท์ ก็ต้องเอาตามกรรมการสรรหา ประธานวุฒิสภาต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

            อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยบอกว่านี่ผิดหลัก เพราะผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือผู้รับผิดชอบ วุฒิสภาเขาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหายังบังคับให้ประธานวุฒิลงนามรับสนองฯ ประหลาดไหม

2. ต่อให้แก้ไขกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา เพราะอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งองค์กรอิสระคืออุดมการณ์ที่เชื่อว่า จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลอยลงมาจากฟากฟ้า จะมีมนุษย์เทวดาที่ไม่แปดเปื้อนมลทิน ไม่มีพวกพ้อง ไม่มีสังคม ไม่มีอคติ ไม่มีรัก โลภ โกรธ หลง ไม่ติดหนี้บุญคุณความแค้น มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

           แล้วเป็นไงล่ะ ก็ทีใครทีมัน “ทุนผูกขาด” กับ “อำมาตย์” ผลัดกันยึดครององค์กรอิสระ ไม่เห็นมีเทวดามาจากไหน

           ปรัชญาแห่งอำนาจคือ องค์กรใดที่มีอำนาจมาก อำนาจล้น ก็จะเป็นที่หมายปองของผู้ต้องการแย่งชิงอำนาจ แทนที่จะถ่วงดุล ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจ

          "หลักง่ายๆ  เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีคนจำนวนน้อยมีอำนาจมาก  จุดนั้นจะเป็นจุดที่จะถูกกดดันแทรกแซงมากที่สุด  ทำไมองค์กรอิสระปี  2540  ล้มเหลว  ก็เข้าข่ายนี้ไง  กกต.5  คนอำนาจล้นฟ้า  เขาต้องยึดให้ได้  ศาลรัฐธรรมนูญกี่คนเขาต้องพยายามยึดให้ได้
กรรมการสิทธิมนุษยชนเขาไม่ยึดเพราะอะไร  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมฯ  เขาไม่ยึดเพราะอะไร  ไม่มีอำนาจ  ป.ป.ช.มีอำนาจไหม  มีต้องยึดให้ได้  เพราะฉะนั้นพอมันมีกลไกนี้ตายตัวอยู่ในรัฐธรรมนูญปั๊บ  คนที่คิดไม่ดีเขารู้เลยว่า  เฮ้ย  เกิดอะไรขึ้นยังไงต้องล็อกตัวนี้ไว้ก่อน  เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสมัยคุณทักษิณเขาก็ต้องล็อกชุดนี้ไว้ก่อน  อาจจะล็อกก่อนตัวอื่นด้วยซ้ำ”

            อย่าเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่วรเจตน์พูด แต่เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ!!! ให้สัมภาษณ์ผมลงไทยโพสต์แทบลอยด์เมื่อปี 2550 วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตอนแรกจะตั้ง “คณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (เดี๋ยวจะเอากลับมาเผยแพร่ใหม่ ให้ดูว่าอภิสิทธิ์ 2550 พูดไว้อย่างไร)

             อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมนุษย์เทวดาที่ไหน อุดมการณ์ประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนกินปี้ขี้นอน มีกิเลส ตัณหา โลภะ โทสะ โมหะ เราจึงไม่ฝากอำนาจไว้กับใครแต่ให้กระจายอำนาจ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลให้มากที่สุด
3. นิสัยคนไทย ถ้าคุณเป็นผู้บริหารบริษัท ลูกน้องคนหนึ่งทำงานดีขอตั้งแผนกใหม่ ตอนแรกบอกขอแค่โต๊ะเก้าอี้ตัวเดียว ต่อมาก็เริ่มขอเลขาฯ ต่อมาก็ขอฝ่ายธุรการ ต่อมาก็ขอผู้ช่วย ต่อมาก็ขอคนขับรถ ฯลฯ เพื่อ “ขยายอาณาจักร”

           หน่วยงานราชการทุกแห่งเป็นอย่างนี้หมดครับ ไปดูได้ สมัยก่อนเราไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ มีแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีเรื่องให้วินิจฉัยก็มาประชุมกันครั้งหนึ่ง เสียแค่เบี้ยประชุม แต่พอมีศาลรัฐธรรมนูญคุณต้องมีตึก มีป้าย มีเลขา คนขับรถ มีรถประจำตำแหน่ง มีเลขาธิการสำนักงาน (ซี 11) มีรองเลขา มีรถประจำตำแหน่งเลขา มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่นิติกรยันพนักงานชงกาแฟ เปิดอัตรากันเข้าไป โอนย้ายมั่ง สมัครสอบมั่ง เงินเดือนดีกว่าข้าราชการที่ทำงานงกๆ (หลายองค์กรก็เลยมีกลิ่นเรื่องการสอบแข่งขัน)

            ทุกองค์กรนะครับ เป็นอย่างนี้ ต่างก็อยากมีอาณาจักรของตัวเอง แถมเป็นอาณาจักรที่ใครแตะต้องไม่ได้

            ร้ายที่สุดคือ กกต.ซึ่ง อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ตอนเป็น สสร.40 ท่านเป็นต้นคิดเรื่อง กกต.โดยเอามาจากอินเดีย หมายจะให้มีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับขยายอาณาจักร จนมีอำนาจออกใบแดง แล้วก็กลายเป็น “มหาดไทย 2” มีสาขาทุกจังหวัด มีข้าราชการไม่รู้กี่พันคน จาก กกต.อินเดียที่เขาทำหน้าที่ 2-3 คน กกต.ไทยกลายเป็นกระทรวงที่ 21 เปลืองงบมหาศาล แต่ล้มละลายทางความเชื่อถือ

             ฉะนั้นอันดับแรก ผมเห็นว่าต้องยุบอำนาจ กกต.ให้เหลือแค่จัดการเลือกตั้ง เจ๊เห็ดสดพูดถูกแล้ว แต่ลดอำนาจแล้วก็ต้องโละเจ้าหน้าที่ โละสำนักงานจังหวัดให้หมด ตรงนี้แหละยาก ราชการไทยพอขยายอาณาจักรแล้วไม่เคยลดได้ซักที

             ศาลรัฐธรรมนูญ - ถ้าเป็นระบบ Common Law ของอเมริกา อังกฤษ เขาไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ศาลสูงวินิจฉัย ของเราระบบ Civil Law แต่ถ้าจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้ระบบตุลาการรัฐธรรมนูญก็ได้ อ.วรเจตน์เคยให้ความเห็นว่า ใช้ระบบเลือกตุลาการเฉพาะคดีก็ดีไปอย่าง ไม่รู้ล่วงหน้าว่าใครจะเป็น วิ่งเต้นกันยาก

             ปปช. - ไม่ปฏิเสธว่าหน่วยงานตรวจสอบทุจริตยังต้องมีอยู่ และต้องเป็นอิสระ แต่ด้วยปรัชญาแห่งอำนาจ ปปช.นี่แหละตัวให้คุณให้โทษล้นหลาม มีทั้งอำนาจไต่สวนแบบอัยการในคดีอาญา และมีอำนาจวินิจฉัยแบบศาล ในความผิดทางวินัย นี่คือสิ่งที่ต้องทบทวน

             ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษา
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรจำพวก “เจว็ด” คือไม่มีอำนาจ แถมยังไม่ค่อยทำหน้าที่ (กรรมการสิทธิอะไรประกาศไม่แก้ 112 ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรง) ยุบเสียหมดก็ได้ หรือตั้งเป็นองค์กรตามกฎหมาย ไม่ต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้รุงรังหรอก

             อีกเรื่องที่ผิดเพี้ยนอย่างหนักในรัฐธรรมนูญ 50 ก็คือ อัยการ ซึ่งแยกออกมาเป็นอิสระ (พร้อมกับให้ศาลเกษียณอายุ 70 มีประเทศเดียวนี่แหละที่กำหนดอายุเกษียณของผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญ) ชาวโลกไม่เคยพบเคยเห็นนะครับ อัยการต้องสังกัดฝ่ายบริหาร แม้ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระในการวินิจฉัยคดี แต่หลักการแยกอำนาจ 3 ฝ่ายถือว่า อัยการ คือทนายความของรัฐ ทำหน้าที่ฟ้องคดีให้ฝ่ายบริหาร ซึ่งรับผิดชอบดูแลความสงบสุขของประชาชน ขณะที่ผู้พิพากษาใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
คดีเด็ด
             ระบบ “ศาลคู่” คือศาลยุติธรรมกับศาลปกครองมีใช้ในประเทศยุโรป ที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ซึ่งพี่ไทยเราเอาระบบกฎหมายมาจากฝรั่งเศสนี่แหละ แต่ผลักดันให้ตั้งศาลปกครองกันมาตั้งนาน เพิ่งประสบความสำเร็จในรัฐธรรมนูญ 40 ตอนนั้นใครๆ ก็ช่วยกันเชียร์

            แต่ตอนนี้ศาลปกครองกลายเป็นองค์กรที่เดือดร้อนที่สุด ต้องส่งโฆษกออกมาแถลง ก่อนหน้านี้ ประธานศาลก็ปรารภว่ามีคนคิดจะ “ล้มล้าง” ศาลปกครอง

            แหม ท่านครับ ถ้า สสร.ร่างรัฐธรรมนูญยุบศาลปกครอง แล้วประชาชนลงประชามติ ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจตุลาการได้ ไม่ใช่การล้มล้าง หรือแทรกแซงศาลแต่อย่างใด

            การยุบศาลปกครองไปเป็นแผนกในศาลยุติธรรมสามารถทำได้ (โดยแยกประมวลวิธีพิจารณาคดีปกครองออกมาต่างหาก) แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว จะยุบกลับไปเป็นแผนก ก็เดือดร้อนตั้งแต่ประธาน รองประธาน อธิบดี ลงไปจนถึง ผอ. (เงินเดือนเท่าเดิมแต่ยุบอาณาจักร) ฉะนั้นใจจริงผมเห็นว่าไม่ควรยุบหรอก

            แต่ถ้ายุบก่อน ล้างไพ่ แล้วตั้งใหม่ อันนี้อาจจะดีที่สุด

            เพราะอะไร เพราะปัญหาของศาลปกครองอยู่ที่ “วิธีคิด” และการขยายอาณาจักร ในแง่ขยายขอบเขตอำนาจ

ถ้าจะให้เห็นชัดเจน ผมขอยก “คดีเด็ด” ของศาลปกครอง ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมาเรียงลำดับให้ดูดังนี้

1. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ แต่ศาลปกครองยังมีคำวินิจฉัยซ้ำ ให้เป็นโมฆะอีก

           กรณีนี้อาจเป็นความสะใจของพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่ไล่ทักษิณในตอนนั้น แต่ในแง่นักกฎหมาย เป็นอะไรที่ตลกมาก ไหนบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ไหงต้องออกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซ้ำอีก

           “ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่าการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ ต่อมาศาลปกครองก็ตัดสินทับลงไปอีกครั้งหนึ่ง พูดง่ายๆ คือศาลรัฐธรรมนูญได้ฆ่าการเลือกตั้งนั้นไปแล้ว การเลือกตั้งนั้นถูกฆ่าอีกทีโดยศาลปกครอง”

อ.วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมเมื่อปี 51 (ซึ่งในความเห็นวรเจตน์ ไม่ว่าศาลไหนก็ไม่มีอำนาจสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ เพราะอำนาจตุลาการอยู่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน)

2. ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่ล้มแปรรูป ปตท.

            บอกก่อนว่าผมเห็นด้วยทั้งสองคดี คดี กฟผ.ผมเห็นชอบว่า กฟผ.ไปเวนคืนทรัพย์สินชาวบ้านมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วจู่ๆ คุณจะเอาเข้าตลาดหุ้น แปรรูปเป็นเอกชน โดยเอาอำนาจการเวนคืนนี้ติดไปด้วย ทำได้ไง

            คดี ปตท.ศาลปกครองก็ตัดสินในบรรทัดฐานเดียวกัน แม้ไม่ล้มแปรรูป แต่ให้คืนที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อก๊าซ

            คือกรณีของ ปตท.นี่เข้าตลาดหุ้นมานานแล้วครับ ถ้าไปเพิกถอนก็จะเสียหายใหญ่หลวง ศาลปกครองท่านต้องวินิจฉัยโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วย

            เพียงแต่มันมีเรื่องตลกๆ เท่านั้นเองว่าหลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้อง รัฐบาลขิงแก่กับ สนช.ซึ่งรู้แนวอยู่แล้วจากคดี กฟผ.ก็เร่งรีบออกกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กันหูอื้อตาลาย หวุดหวิดจะไม่ทัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 ธันวาคม 2550 พอดี๊พอดี 3 วันก่อนศาลอ่านคำพิพากษาวันที่ 14 ธันวาคม 2550 แล้ว-แอ่นแอ๊น-ศาลก็ทันหยิบกฎหมายฉบับนี้ไปอ้างในคำพิพากษาด้วย

            “....ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 พยายามแก้ไขปัญหา รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการตรา พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติด้วย โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในกิจการพลังงาน และในบทเฉพาะกาล บัญญัติให้คณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของ บมจ.ปตท. ตาม พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว เป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นการชั่วคราวแล้ว

            ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์เหตุแห่งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเพิกถอน พ.ร.ฎ. และบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 รวมทั้งวิธีการแก้ไขความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่จำต้องเพิกถอน พ.ร.ฎ.ดังกล่าว อีกทั้งเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้น มิได้มีความร้ายแรงถึงขนาดที่จะเพิกถอน พ.ร.ฎ.”

             เรื่องนี้คนส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกต แต่ไปเปิดดูคำพิพากษาได้เลยครับ หวุดหวิด 3 วันเท่านั้น ไม่งั้นนักเล่นหุ้น ปตท.เจ๊งกันเป็นแถบ และตลาดหุ้นก็อาจพังพินาศ
3. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (กลางดึก) ให้ระงับแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร

             คดีที่ส่งผลทางการเมืองครึกโครมที่สุด พันธมิตรยึดทำเนียบกำลังจะย่ำแย่พ่ายแพ้ทางการเมือง ไปคว้าแถลงการณ์ร่วมมาปลุกกระแสชาตินิยม ยื่นฟ้องศาลปกครอง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กลางดึก!!!

             อ.วรเจตน์ชี้ว่า การออกแถลงการณ์ร่วมเป็น Act of State การกระทำทางรัฐบาล (หรือทางบริหาร) ซึ่งหลักการสากลในประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ทั่วโลก แยกว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีมี 2 อย่างคือ การกระทำทางรัฐบาล กับการกระทำทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำอย่างหลังได้ แต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำอย่างแรก ซึ่งได้แก่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเรื่องทางการเมือง

             ทั้งนี้เคยมีคดี J-TEPPA ที่ NGO ยื่นคำร้องให้สั่งระงับข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น แต่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้วว่า ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง (ตุลาการศาลปกครองสูงสุดในคดีนั้นคือ อ.วรพจน์ วิศรุฒพิชญ์)

             พอวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วม ศาลปกครองก็ยอมรับว่า แถลงการณ์ร่วมเป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่อ้างว่าขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วม ศาลปกครองตรวจสอบได้ คำอธิบายอย่างงงๆ คือ ศาลปกครองยอมรับว่ามติ ครม.เรื่องนี้เป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นในการเสนอเรื่องเข้า ครม.เป็นการกระทำทางปกครอง

4. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับ 76 โครงการมาบตาพุด

             คดีนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองเรื่องสีเพราะเกิดในรัฐบาล ปชป. เพียงแต่ผู้ฟ้องคือพวกพันธมิตรในคราบสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และชาวมาบตาพุด ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวมาบตาพุดได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษมายาวนาน หนักหนาสาหัส โดยหน่วยงานรัฐไม่เหลียวแล คำสั่งคุ้มครองของศาลปกครองจึงเหมือนเทวดามาโปรด

             แต่การที่ศาลสั่งระงับเหมารวด 76 โครงการ และต่อมาศาลปกครองสูงสุดปล่อยไป 11 เหลือ 65 โครงการ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจการลงทุน เพราะหลายโครงการยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางมลภาวะ แต่ศาลอ้างมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่วางหลักเกณฑ์ให้มีองค์กรอิสระมาให้ความเห็นก่อน สังระงับทั้งหมด

             ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นยังระบุว่า “ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน”

              อ.ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตตุลาการศาลปกครอง ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองระบุว่า การกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ ให้คำนึงถึงปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย แต่ศาลไปอ้างว่าสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาได้ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะก้าวล่วงข้ามแดนการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหาร ศาลมีอำนาจตรวจสอบในแง่ความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่ในแง่ความเหมาะสมหรือกำหนดนโยบายให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ

              อ.อัครวิทย์ สุมาวงศ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เป็นเสียงข้างน้อย ชี้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวไม่ตรงตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด เพราะการสั่งคุ้มครองชั่วคราวมี 2 แบบ คือการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว คดีนี้ควรทุเลาการบังคับตามกฎ คือสั่งระงับการก่อสร้างหากเห็นว่าจะเกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาภายหลัง แต่ไม่ใช่ระงับหมดทุกโครงการ

5. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูล 3G

             นี่ก็ไม่ใช่การเมืองเรื่องสี แต่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี และประชาชนผู้บริโภค

             ผู้ฟ้องคดีนี้คือ CAT หรือ กสท.ซึ่งอ้างว่าถ้าปล่อยให้ กทช.เปิดประมูล ตัวเองจะเสียรายได้จากค่าสัมปทาน

             ต้องอธิบายที่มาก่อนว่า กทช.ทำหน้าที่อยู่ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 เนื่องจากกฎหมาย กสทช.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่เสร็จ เมื่อมี กสทช.แล้วจะต้องจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และการกำหนดจัดสรรคลื่นความถี่ แยกคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคม และใช้ในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ให้ กทช.และ กสช.ออกใบอนุญาตตามลำดับ

             ศาลปกครองวินิจฉัยว่า การเปิดประมูลใบอนุญาตของ กทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าปล่อยไปจะเกิดความเสียหายร้ายแรง เพราะอาจเกิดการฟ้องร้องเพิกถอนในภายหลัง โดยศาลยังเห็นว่า การสั่งระงับไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะ เพราะกว่าจะทำ 3G ครอบคลุมทั้งประเทศต้องใช้เวลา 4 ปี ถ้ารอ กสทช.ถึงตอนนั้นอาจจะข้ามไปทำ 4G 5G เลยก็ได้

            อ.วรเจตน์แย้งว่า คลื่นที่จะเปิดประมูลคึอคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ต่อให้มี กสทช.ทำแผนแม่บท คลื่น 2.1 ก็จะต้องแยกมาให้ กทช.เปิดประมูลอยู่ดี จึงเป็นแค่เรื่อง “แบบพิธี” ที่ไม่คำนึงถึงสารัตถะ นั่นคือประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดกับประเทศและประชาชนผู้บริโภค หากประมูล 3G ได้เร็ว

             เสียงค้านในขณะนั้นอาจไม่ทำให้ผู้คนตระหนัก แต่ต่อมาเมื่อ กสท.เอาสัมปทาน 3G ที่ตัวเองมีอยู่ไปให้ TRUE ผู้คนจึง “ตาสว่าง” แม้แต่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการ TDRI ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “ระบอบทักษิณ” และปกป้องคุณพ่อรัฐวิสาหกิจมาตลอด ยังเพิ่งรู้ว่าตนเองเสียค่าโง่ และเขียนบทความออกมาเมื่อปี 53 ดังที่ผมเอามาโปรยไว้ตอนต้น

             39,000 ล้านบาท! นะครับ ที่รัฐเสียหาย โดยยังเกิดความไม่โปร่งใสมีเงื่อนงำ ที่ กสท.เอาคลื่น 3G ไปให้ TRUE ใช้ ทั้งที่ถ้าเกิดการประมูลกันขึ้นมา TRUE นี่แหละคือรายที่สู้คนอื่นเขาไม่ได้ อ.สมเกียรติชี้ชัดเลยว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และทำให้การแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองในตลาดโทรคมนาคมจะคงอยู่ต่อไปอีก 14-15 ปี ขณะที่ประชาชนต้องเสียค่าบริการแพงและคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

             อ.สมเกียรติเขียนเรื่องนี้มาเป็นปีแล้ว แต่ศาลปกครองเงียบกริบ ไม่เคยชี้แจงซักนิดว่าท่านคิดอย่างไร ที่วินิจฉัย “เตะหมูเข้าปาก ปชป.กับซีพี” จนเขาเอาคลื่น 3G ไปสะด๊วบกันโดยไม่ต้องประมูลหมื่นล้าน ท่านหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองคนใหม่ ที่วินิจฉัยคดีก่อนขึ้นรับตำแหน่ง เอาแต่บอกว่าจะมีคน “ล้มล้าง” ศาลปกครอง
เรื่องฉาว
              เรื่องอื้อฉาวของศาลปกครองไม่ได้มาจากฝีมือของ นปช.หรือเสื้อแดง แต่เป็นการขุดคุ้ยของ “เดอะเก๊ะ” ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นักข่าวสืบสวนสอบสวนอันดับหนึ่งผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งตามจิกเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่มติชนจนไปทำเว็บไซต์ prasong.com

              เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้ร้อง ปปช.ให้ไต่สวนกรณีที่อดีตผู้บริหารศาลปกครองสูงสุดและพวก ใช้อำนาจโดยมิชอบเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่ง ปปช.รับเรื่องไว้ไต่สวนเมื่อ 23 พ.ย.2553

              แต่ฝ่ายศาลปกครองไม่พอใจ ประธานศาลปกครองสูงสุดอ้างว่า ปปช.ไม่มีอำนาจเข้ามาไต่สวนศาลปกครองซึ่งใช้อำนาจตุลาการ ถือเป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ

             ทั้งที่เป็นการร้องเรียนให้ไต่สวนอดีตผู้บริหารและตุลาการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270

              เรื่องนี้เกิดจากคดีปราสาทพระวิหารนั่นละครับ หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับแถลงการณ์ร่วมกลางดึก เมื่อรัฐบาลอุทธรณ์ เรื่องก็ขึ้นมาถึงศาลปกครองสูงสุด ผู้บริหารจ่ายสำนวนให้องค์คณะ 5 คน พิจารณา ได้แก่ นายจรัญ หัตถกรรม หัวหน้าคณะและเจ้าของสำนวน(ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคดีปกครอง)  นายชาญชัย แสวงศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด)  นายเกษม คมสัตย์ธรรม(ปัจจุบันเป็นรองประธานศาลปกครองสูงสุด) นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา และนายธงชัย ลำดับวงศ์(เกษียณอายุแล้ว เป็นที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด)

               ผลปรากฏว่า องค์คณะมีมติ 3 ต่อ 2 ให้กลับคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับไว้พิจารณา (คงวินิจฉัยว่าเป็น Act of State เหมือนคดี J-TEPPA) โดยเสียงข้างมากได้แก่ นายชาญชัย, นายวราวุธ และนายธงชัย

               ลองคิดดูนะครับ ถ้าศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไม่รับไว้พิจารณา สถานการณ์การเมืองขณะนั้นจะพลิกไปอย่างไร

               แต่ในระหว่างที่ตุลาการยังไม่ลงนามในคำสั่งครบองค์คณะ อดีตผู้บริหารก็มีคำสั่งเปลี่ยนมาใช้องค์คณะฯที่ 1 ซึ่งมีนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะเอง เป็นผู้พิจารณาแทน กระทั่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง

               ประธานหัสวุฒิอ้างว่า ตุลาการเจ้าของสำนวน (นายจรัญ) เป็นผู้สละสำนวนส่งคืนเอง แต่ก็มีคำถามว่าท่านส่งคืนได้ไง เพราะตาม พ.ร.บ.ศาลปกครองไม่ให้ส่งคืนเว้นแต่จะเกิดเหตุใดๆ ที่เห็นว่ากระทบความยุติธรรม หรือมีการร้องคัดค้านองค์คณะ หรือมีงานมากจนทำไม่ไหว

               แต่ไม่ใช่มาส่งคืนเอาตอนที่ลงมติไปแล้ว 3 ต่อ 2 และท่านเป็นฝ่ายแพ้!
              การไต่สวนเรื่องนี้ไม่ได้รับความมือจากศาลปกครอง ขณะที่ ปปช.ก็แหยงๆ ประสงค์บอกว่ามีข่าวล็อบบี้กันด้วย ปปช.มอบให้นายวิชัย วิวิตเสวี ไปหาข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่คืบหน้า ทั้งที่ทำได้ง่ายๆ แค่ไปสอบปากคำ 3 ตุลาการเสียงข้างมาก 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย

              ปปช.เพิ่งเอาเรื่องเข้าที่ประชุมชุดใหญ่อีกครั้งเมื่อปลายเดือน ม.ค.ปีนี้ แต่ก็ยังไม่ยอมตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีแต่ใช้เจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำ

              นี่เป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เพราะการทำงานของศาล ไม่ว่าศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ผู้พิพากษาตุลาการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี โดยประธานหรืออธิบดีศาล ไม่สามารถชี้นำสั่งการได้ เมื่อมอบสำนวนคดีให้ใครพิจารณาแล้ว ห้ามยุ่งกับเขา ถ้าสั่งเปลี่ยนผู้พิพากษาได้ตามอำเภอใจ ก็จะทำให้เกิดการวิ่งเต้นหรือบงการให้เป็นไปตามที่ต้องการ

              อันที่จริง ระบบศาลมีช่องโหว่ตรงนี้แหละ คือประธานหรืออธิบดีศาล มีอำนาจเลือกว่าจะส่งสำนวนให้ใคร ถ้าส่งให้ลูกน้องที่มองตารู้ใจ ก็เรียบร้อย ที่ผ่านมามีบ้างหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่คดีนี้ถ้าเป็นจริงตามที่ร้องเรียน ก็แปลว่าเกิดความผิดพลาด องค์คณะ 3 คนทำเซอร์ไพรส์ผิดความคาดหมาย จนต้องเปลี่ยนองค์คณะ

              ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ก็คือการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการ และขอเตือนไว้ว่า คุกนะครับ ถ้า ปปช.เอาจริงเราคงได้เห็นคนติดคุกตอนแก่!

              นี่เป็นแค่เรื่องหนึ่งในศาลปกครองเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องที่ อ.วรพจน์ วิศรุฒพิชญ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง โดยเชื่อว่ามาจากความเห็นไม่ตรงกัน เรื่องที่ อ.อัครวิทย์ สุมาวงศ์ ถูกผู้มีอำนาจแอนตี้เพราะความเห็นต่างจนเกษียณไปแบบเลิกคบกับเพื่อนตั้งแต่สมัยขาสั้น ปัญหาการบริหารภายในที่จนป่านนี้ ยังไม่มีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

              วุ่นๆ แบบนี้แหละ ถึงมีคนบอกว่า ยุบเสียดีไหม ล้างไพ่ล้างอะไรๆ แล้วค่อยตั้งใหม่

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    4 มีนาคม 2555
http://redusala.blogspot.com

ปีนี้ไม่มีรัฐประหาร..แต่ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน
ปีนี้ไม่มีรัฐประหาร..แต่ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน 

โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ปีนี้ไม่มีรัฐประหาร... มีแต่การบ่อนทำลาย แต่ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน


โดย มุกดา สุวรรณชาติ

คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 20

           ภาพคนเสื้อแดง ที่มาชุมนุมเต็มหุบเขา ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ภายใต้ชื่อ หยุดรัฐประหาร...เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ STOP COUP ทำให้ทีมวิเคราะห์ต้องทบทวนสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง

และได้ข้อสรุปว่า การชุมนุมครั้งนี้ เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันการรัฐประหาร แม้ว่าจะไม่มีในช่วงนี้ก็ตาม เหมือนเราฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะไม่ถูกหมาบ้ากัด แต่เรารู้ว่าบ้านเรายังมีหมาบ้าอยู่จึงต้องป้องกัน

และยังเป็นการให้ยาบำรุงกำลัง(ใจ)แก่มวลชนเสื้อแดง เป็นการใส่ยาสมานแผล ทั้งแผลใจแผลกาย

แม้การต่อสู้ยังแหลมคมและต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แต่ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าจะไม่มีการรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจรัฐในช่วงเวลานี้ ผู้ที่มีอำนาจจริงไม่อยากทำ มีแต่พวกลูกสมุนบางกลุ่มอยากทำ...

ผู้วิเคราะห์ให้เหตุผลดังนี้...

สิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยทำ...
ไม่ใช่ความสำเร็จ
แต่เป็นความผิดพลาดซ้ำซ้อน

                เรื่องจริงที่เหมือนภาพยนตร์ ถึงเวลานี้เพิ่งจะจบภาค 1 มีนายกฯ หญิงมาเป็นตัวนำในภาค 2 วันนี้มีหลายเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายคิดอยากจะทำแต่ทำไม่ได้ ไม่ว่าการต่อสู้นั้นจะถูกบังคับโดยสภาพแวดล้อมอย่างไรก็ตาม ก็ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้เดินหน้าเร็วยิ่งขึ้น

                ตัวเร่งสำคัญคือกลุ่มอำนาจเก่าที่ฝืนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งไปหลงเชื่อกุนซือที่ต้องการประโยชน์ส่วนตัว จึงเดินเกมพลาดมาตั้งแต่ปี 2548 และเดินแนวทางผิดในการทำรัฐประหารในปี 2549 พร้อมกับคิดว่าชนะแล้ว กว่าจะรู้ตัวว่าประชาชนไม่เอาด้วยก็แพ้เลือกตั้ง ปี 2550 ทั้งๆ ที่เอาเปรียบคู่แข่งทุกด้าน จึงต้องแก้เกมโดยยึดอำนาจด้วยตุลาการภิวัฒน์

                นั่นคือความผิดพลาดซ้ำครั้งสำคัญซึ่งจะมีผลต่อระบบยุติธรรมและผู้เกี่ยวข้องในอนาคต อำนาจตุลาการถลำลงมาในบ่อโคลนการเมืองอย่างเต็มตัว

               สิ่งที่ประชาชนมองเห็นตลอด 5 ปีมานี้คือมีคนบางกลุ่มสร้าง''กระบวนการอยุติธรรม''ขึ้นเพื่อให้บรรลุจุดหมายทางการเมือง ทำให้เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงมาประท้วง และกลุ่มอำนาจเก่าก็ทำผิดซ้อนเข้าไปอีกโดยการล้อมปราบ ในปี 2553 เกือบ 100 ชีวิตที่ดับไปและเลือดที่นองท้องถนน เหมือนปูนซีเมนต์ที่เชื่อมเม็ดทรายและก้อนหินแบบคนเสื้อแดงไว้ด้วยกัน

               ถนนดินแดงธรรมดากลายเป็นถนนคอนกรีต ทำให้การเปลี่ยนแปลงขยายตัวไปเร็วยิ่งขึ้น และมากขึ้นจนน่ากลัว

               การกระทำที่ส่งผลต่อคนทั้งประเทศวันนี้จะส่งผลถึงอนาคตของแต่ละคน มีคนบอกว่าให้คอยดูชะตากรรมของอดีต ผบ.ทบ. 3 คน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้ง พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูว่าการตัดสินใจของพวกเขาจะทำให้ชีวิตใครมีความสุขกว่ากัน

              คนที่มียศมีศักดิ์ มีอำนาจ มีทรัพย์สิน เมื่อมีบทเรียนและเห็นจุดอ่อน จะไม่ยอมทำอะไรที่โง่ๆ อย่างง่ายๆ ให้ตนเองเสียหายซ้ำซาก พวกเขาไม่ยอมเสี่ยงในขณะที่พวกหัวรุนแรงอยากเสี่ยง อยากทำ

พวกที่หัวรุนแรงคิดทำอะไร?
และทำไมทำไม่ได้?

               ความต้องการของกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองทั้งสองฝ่ายในวันนี้คือกวาดล้างอีกฝ่ายให้หมดไป เพราะพวกเขาไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง อยากปกครองแบบที่ตัวเองต้องการ

               แต่ในความเป็นจริง เรื่องแบบนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพการเมืองการปกครองในวันนี้ ทั้งสองฝ่าย ยืนอยู่บนอำนาจผสมซึ่งมีการถ่วงอำนาจกันด้วยกำลังคน กำลังปืน กำลังเงิน และการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ

               ฝ่ายอำนาจเก่ามีฐานหลากสีคือเหลือง, ฟ้า, เขียวบางกลุ่ม, ดำบางกลุ่ม

               อีกฝ่ายมีสีแดง แดงอ่อน แดงเข้ม แดงดำ เหยี่ยวสองกลุ่มคิดคล้ายกัน แต่อยู่คนละฝ่าย...


             1. กลุ่มหัวรุนแรงที่สนับสนุนอำนาจเก่าต้องการให้มีการรัฐประหาร การรัฐประหารจะมาจากใคร ทหารกลุ่มไหน หรือมีคนกลุ่มอื่นร่วมด้วยก็ได้ พวกเขาประกาศเรียกร้องการรัฐประหารอย่างเปิดเผยและต้องการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามให้หมด หลังจากนั้นจะปกครองด้วยระบบอะไรก็ได้ ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือนานกว่านั้น

               แต่สภาพการเมืองวันนี้ มีพวกเดียวกันที่ฉลาดกว่า รู้ว่านั่นเป็นวิธีโบราณที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและจะได้รับการต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงสีแดงฉวยโอกาสตอบโต้ด้วยกำลังทันที

               และสถานการณ์อาจขยายตัวออกเป็นสงคราม ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถหาอาวุธปืนได้เป็นแสนๆ กระบอกภายในเวลาไม่นานนัก

              ผู้วิเคราะห์จึงประเมินว่า วิธีนี้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แม้กลุ่มอำนาจเก่าบางส่วนก็เกรงว่าจะกระทบผลประโยชน์ที่ตัวเองมีอยู่อย่างมากมายและในสภาพที่กำลังยังก้ำกึ่งถ้าเพลี่ยงพล้ำไป ไม่เพียงไม่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติได้ แม้ชีวิตตนเองและครอบครัวก็จะต้องตกอยู่ในอันตราย

              สรุปว่ามีบางกลุ่มคิด แต่ไม่มีใครทำหรือยอมให้ทำ

             2. พวกที่ยังอยากรักษาอำนาจเดิมไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ยังติดใจในยุทธวิธีตุลาการภิวัฒน์ คิดว่านี่เป็นวิธีที่จะหลอกผู้คนได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ผู้วิเคราะห์มองว่าถ้าใช้ตุลาการภิวัฒน์ ในครั้งนี้จะมีคนออกมาต่อต้านจำนวนมากเช่นกัน และการต่อต้านจะลุกลามไปสู่ระบบยุติธรรมทั้งหมด คาดได้ว่าจะถึงขั้นยกเครื่องทั้งระบบ คนที่เกี่ยวข้องและที่อยู่ในวงการ จะถูกขุดคุ้ยความผิดพลาด การทำงานในอดีตขึ้นมาเพื่อหาจุดอ่อนและขับให้พ้นทาง เพราะนี่คือการเมือง ถึงเวลานั้นแม้อยู่ได้แต่ใครจะนับถือ

              วันนี้ตุลาการภิวัฒน์จึงไม่ง่ายเหมือนเดิมเพราะประชาชนไม่เชื่อถือแล้ว ถ้านำมาใช้ โอกาสพังมีถึง 80%

             วิเคราะห์ได้ว่า ตุลาการภิวัฒน์คงนำมาใช้ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ในช่วงนี้ แต่อาจมีกรณีที่คู่แข่งใช้องค์กรอิสระ หรือศาลบางแห่ง เพื่อกล่าวหาฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจทำให้ตัวบุคคลหรือการงานเสียหายได้


             3. ความต้องการปฏิวัติด้วยกำลังประชาชน ของพวกเหยี่ยวแดง พวกเขารำคาญและไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่รู้สึกว่าล้าหลังของคนสีอื่น ทั้งยังรู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความยุติธรรม และต้องการล้างแค้น

              ดังนั้น ถ้ามีแนวทางปฏิบัติแบบข้อ 1 และข้อ 2 ของกลุ่มอำนาจเก่า พวกเขาจะปลุกความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ ลากพาสถานการณ์เข้าสู่การปฏิวัติด้วยกำลัง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การต่อต้านจะขยายตัว จากแบบธรรมดา ไปสู่การใช้กำลังและอาวุธในที่สุด

              วิเคราะห์ได้ว่าถ้าไม่มีเงื่อนไขข้อ 1 และ 2 การปฏิวัติด้วยกำลังจะไม่เกิดง่ายๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง

              ดังนั้น โอกาสปฏิวัติด้วยกำลังจึงขึ้นอยู่กับการเลือกทางเดินของกลุ่มอำนาจเก่าว่าจะเปิดประตูให้พวกเหยี่ยวแดงฉวยโอกาสหรือไม่

              4. การทำลายศรัทธา ทำลายความน่าเชื่อถือ และผลงานของรัฐบาล การต่อสู้ทางการเมืองตามช่องทางประชาธิปไตยคือความเป็นไปได้จริง ที่กำลังเกิดขึ้นจริงเพราะสามข้อแรกอยู่ในความคิดของคนบางกลุ่ม แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะทำได้

               วันนี้เราจึงพบเห็นการต่อสู้ที่ เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม แสดงผ่านสื่อสารมวลชน และผ่านการถกเถียงกันในสภา

              ไม่ว่าจะใช้สำนวนโวหารที่คมคาย คำหวาน คำหยาบ คำด่า การประท้วง ซึ่งเป็นเพียงผิวของภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร ส่วนที่ไม่ได้ยินและมองไม่เห็นยังสู้กันอยู่ใต้น้ำคือการที่กลุ่มอำนาจเก่าพยายามล้มรัฐบาลตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ตามวิถีทางรัฐสภา ถือเป็นการเล่นในเกม โดยอาศัยจุดอ่อนในการบริหารงาน อาศัยข้อกฎหมายการตีความ ยื่นเรื่องราวผ่านองค์กรอิสระและศาลต่างๆ

              สิ่งเหล่านี้ผู้วิเคราะห์มองว่าคงทำได้แค่ปัดแข้งปัดขาให้รัฐบาลทำงานได้ช้าลง

              วันนี้เราจึงเห็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก. การยื่นกระทู้ในสภา การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบ ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ

              แต่ผู้วิเคราะห์ประเมินว่า ต่อให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ลาออกหรือเลือกตั้งใหม่ ถ้าประชาชนรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยถูกกลั่นแกล้ง พรรคเพื่อไทยก็จะถูกเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลอยู่ดี

             วิธีการนี้ จึงเป็นเกมที่เล่นกันไปตามธรรมชาติ เล่นไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่กระแสประชาธิปไตย เป็นการฝึกฝนประชาชนให้เรียนรู้และเข้าสู่ระบบของการต่อสู้ทางความคิด การเดินเกมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจหรือเรื่องที่น่ารำคาญ

             แต่ต้องถือโอกาสนี้ให้การศึกษากับประชาชนในท่ามกลางการต่อสู้ในทุกกรณี ซึ่งแต่ละเกมล้วนมีจุดมุ่งหมายมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น การยื่นคัดค้าน พ.ร.ก. สองฉบับของพรรค ปชป.

              เป้าหมายของฝ่ายค้าน คือ ตัดกำลัง (งบประมาณ) และถ่วงเวลา ผู้วิเคราะห์มองว่า ที่ทำไม่สำเร็จเพราะ

             1. การเมืองมีลักษณะปรองดองมาประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยการประสานงานของผู้ที่มีความสามารถ

             2. เหตุผลของฝ่ายรัฐบาลดีกว่า และมีคนสำคัญ ทางการเมืองและเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งกังวลว่าปีนี้เราจะเจอน้องน้ำ ขนาดใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ถ้าตั้งรับไม่ทัน... เจ๊งแน่ เจ๊งทุกฝ่าย

             ข้อ ฝ่ายรัฐบาลบอกอยู่แล้วว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองแม้ พ.ร.ก. ไม่ผ่านก็จะเสนอเป็น พ.ร.บ. สามวาระรวด และก็จะผ่านด้วยเสียงข้างมากอยู่ดี ดังนั้น ผลการตัดสินของศาลจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจรัฐ ไม่เหมือนกรณีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์

             ข้อ ถ้า พ.ร.ก. สองฉบับไม่ผ่านและในเวลาต่อมาเกิดปัญหาทางการบริหารขึ้นไม่ว่าเรื่องน้ำท่วมหรือเรื่องการเงิน รัฐบาลก็จะใช้เป็นข้ออ้างว่าถูกถ่วงเวลา ถูกก่อกวนให้ล่าช้า คนที่มีส่วนทำให้ล่าช้าก็จะถูกด่าประณามจากประชาชน

              ทีมวิเคราะห์สรุปว่า อำนาจที่ผสมกันอย่างมีสมดุล จะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเป็นไปตามระบบ ทางเลือกนอกลู่นอกทางถูกปิด และรัฐบาลชุดนี้จะสามารถต้านทานการก่อกวน บ่อนทำลายจากฝ่ายตรงข้ามได้แน่นอน

              ยิ่งถ้าการโจมตีมีแต่ประเด็นเล็กน้อย หยุมหยิม ก็คงจะต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีกนาน การฉีดวัคซีนสีแดงและรับบริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้กำลังฝ่ายประชาธิปไตยขยายตัวไปเรื่อยๆ

              แต่สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนคือความแตกต่างทางความคิดและสถานภาพของคนในขบวน การต่อสู้ครั้งนี้ไม่มีใครเป็นหนี้ใคร แต่ทุกคนเป็นองค์ประกอบของกำลังที่ไม่อาจแยกจากกัน โดยเฉพาะคนเสื้อแดง การที่หัวขบวนขึ้นสู่อำนาจ แต่ท้ายขบวนยังอยู่ในคุก ไม่มีสิทธิ์แม้การประกันตัว บางคนกลับเข้าประเทศไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามกดดัน

               แต่หัวขบวนต้องรีบแก้ไข มิฉะนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาได้เพราะเส้นทางนี้ต้องการประชาชนที่ตื่นตัวจำนวนมากมาเป็นเสาหลักที่ค้ำระบอบประชาธิปไตย

               ประเด็นหลักที่จะต่อสู้กันตลอดทั้งปี 2555 คือ การปะทะบนเส้นทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ต้องกลัวจะวุ่นวายเพราะรัฐธรรมนูญที่พัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยจะสร้างความยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมให้ประชาชนทั้งประเทศ

               การปะทะกันในเกมนี้ถือเป็นไฟต์บังคับ แม้กลุ่มอำนาจเก่าจะใช้ข้ออ้างต่างๆ เพื่อเลี่ยงและเลื่อน แต่คงทำไม่ได้ เพราะนักมวยฝ่ายแดงซึ่งฟิตมาพร้อมเดินขึ้นเวทีมาแล้ว พร้อมแผนการชก ซึ่งคงจะเขียนมาให้อ่านกันในโอกาสต่อไป
http://redusala.blogspot.com