62 ปี วันชาติไทยใหญ่ และสารล่าสุดของ"เจ้ายอดศึก โดยคาเซ ณ คาเรน"
ยามอรุณรุ่งไอหมอกสีขาวปกคลุมยอดดอยไตแลง บนสันเขาสูงที่ทอดยาวในเขตรัฐฉาน ประชิดชายแดนไทยติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่ (SSA)
บรรยากาศโดยรอบประดุจโลกนี้เป็นสีขาว สายลมหอบเอาไอเย็นยะเยือกกระจายทั่วเทือกเขา แลเห็นหลังคาบ้านและเงาคนตะคุ่ม แม้อยู่ห่างไม่เกิน 10 เมตร เมื่อแสงตะวันเริ่มจับขอบฟ้า ทั่วหมู่บ้านบนสันได้ปรากฏภาพชาวบ้านทั้งหญิงและชายไม่ว่าเป็นผู้เฒ่าหรือคน หนุ่มสาวต่างแตงชุดไตที่งดงาม กำลังเตรียมตัวเข้าร่วมงานพิธีวันครบรอบ 62 ปีวันชาติไทยใหญ่ กันอย่างคึกคัก
ทุกๆ ปีของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ถือเป็นงานพิธีสำคัญและยิ่งใหญ่ของพวกเขาบนฐานที่มั่นแห่งนี้ ซึ่งมีพันเอกเจ้ายอดศึกเป็นประธานเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน โดยทั่วบริเวณลานพิธี นอกจากกองกำลังทหารกู้ชาติไทยใหญ่แล้ว ยังมีผู้อพยพ เด็กกำพร้า ประชาชนไทยใหญ่ และแขกผู้มาเยือนจากทั่วสารทิศ รวมหลายพันคน
บนเวทีและลานพิธีทั้งด้านในและด้านนอก ตลอดจนสองข้างถนนกลางสันเขายอดดอยไตแลง มีการตกแต่งประดับด้วยธงชาติไทยใหญ่ ซึ่งโบกพลิ้วสะบัดไสว
งานวันชาติเริ่มขึ้นด้วยพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีทางศาสนา และพิธีบูชาคารวะ ซึ่งดำเนินไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ มีการรำลึกถึงวีรบุรุษไทยใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วโดยมีผู้นำอาวุโสของไทยใหญ่ ผู้นำชนเผ่าต่างๆ รวมถึงผู้นำคนสำคัญๆ ในรัฐฉานร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นพันเอกเจ้ายอดศึก ได้ขึ้นอ่านสารแถลงการณ์ในโอกาสวันสำคัญประจำปี 2009 ว่า
"สหภาพพม่าจอมปลอม อันได้รับเอกราชมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1948 นั้น จนถึงบัดนี้ล่วงเลย 61 ปีแล้ว หากเรามาวิเคราะห์ทบทวนดู ในช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว 61 ปีนั้น ประชาชนชาวไทยใหญ่ได้รับผลกระทบและต้องทนทุกข์เดือดร้อนจากผลของสงครามโลก ครั้งที่ 2 แล้ว เหตุใดยังต้องมาตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหงของทหารพม่าอีก
"เหตุที่ประชาชนชาวไทยใหญ่เรา ยังต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ ข่มเหงของทหารพม่าอยู่นั้น ก็เพราะว่า ผู้นำของชาวไทยใหญ่เป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อ รีบร้อนที่อยากจะให้ประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย..เพราะไปเชื่อฟังและคบค้า สมาคมกับออง ซาน..เพราะกลุ่มนักศึกษาของสมาคมประชาธิปไตยชาติพันธุ์ไทยใหญ่มีความขัดแย้ง กับเจ้าฟ้าไทยใหญ่ รีบร้อนอยากได้ประเทศเร็วเกินไป
"หากเรามาทบทวน ดูแล้วจะเห็นว่า ผู้นำของไทยใหญ่มีความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้สหภาพที่เท่าเทียม แต่หากว่าในอนาคต เกิดมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ สามารถที่จะแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศในภายหลัง ด้วยนโยบายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของ "หนังสือสัญญาปางโหลง" (Panglong Agreement) อันอยู่คู่ประวัติศาสตร์ของเรามาจนทุกวันนี้
"การเมืองของไทยใหญ่ เรานั้น ที่ผ่านมา เราเห็นด้วยกับนโยบายการอยู่ร่วมกันภายใต้สหภาพ แต่ก็ถูกทหารพม่าหลอกลวงมาโดยตลอด หากว่าเรายังจะสืบนโยบายการอยู่ร่วมกันในรูปแบบสหภาพโดยมีพม่าร่วมอยู่ด้วย นั้น ก็ถือว่าไทยใหญ่เรายังคงโง่งมงายอยู่เช่นเดิ
"รัฐบาลสหภาพซึ่ง มีเจ้าส่วยแต็กนั่งเป็นประธานนั้น มีอายุการทำงานเพียงชั่วคราว ยังไม่ทันที่จะวางแผนงานแต่อย่างใด ก็ถูกทหารพม่าทำการยึดอำนาจและทำลายข้อตกลงสัญญาปางโหลง คำว่าสหภาพพม่านั้น เป็นเพียงจอมปลอมเท่านั้นเอง ประชาชนชาวไทยใหญ่ควรจะรู้ตัว นอกจากเราจะถูกหลอกมาตลอดแล้ว เรายังถูกทหารพม่ากดขี่ หวังจะกลืนกินชาติพันธุ์และแผ่นดินของเราให้มลายหายไป
"ชาติพันธุ์ต่างๆ อันได้ไปยื่นขอสิทธิอันชอบธรรมกับทางรัฐบาลทหารพม่านั้น พึงตระหนักอยู่เสมอว่า ถูกทางรัฐบาลทหารพม่าใช้เป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดานเท่านั้นเอง เขายื่นผลประโยชน์ให้เพียงเล็กน้อย แล้วกลับมายึดคืนภายหลัง เรื่องพวกนี้ทำให้เราต้องมาเกิดความบาดหมางต่อกัน
"แผ่นดินรัฐฉาน เป็นของประชาชนทุกชาติพันธุ์ หากประชาชนในรัฐฉานไม่มีความรักสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน และไม่มีเอกราชเหนือแผ่นดินรัฐฉาน สิทธิอันชอบธรรมที่เราควรได้ ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น ถึงแม้จะได้มาก็จะไม่มีความมั่นคง เราต้องไม่ลืมว่า ถ้ามีความรักสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน คำว่าเอกราชก็จะอยู่ในกำมือของประชาชนในรัฐฉานแน่นอน
"ที่ผ่านมา ประชาชนในรัฐฉานเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับคำว่าสหภาพมาแล้ว เราต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เราเคยผิดพลาดสูญเสียไปแล้วครั้งหนึ่ง หากยังต้องมาผิดพลาดสูญเสียอีกเป็นครั้งที่สอง ก็ถือว่าเป็นเพราะเราโง่เอง
"อยากประกาศให้คนรัฐฉานรู้ว่า รัฐบาลทหารพม่านั้น เป็นผู้รุกรานดินแดนของเรา รัฐบาลทหารพม่าเป็นผู้ทำลายสหภาพ คำว่าสหภาพพม่านั้น ไม่มีอีกแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประชาชนในรัฐฉานควรมีความตื่นตัว มีความรักสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน หากเราทำได้ดั่งนี้ ความร่มเย็นจะเกิดแก่เราแน่นอน"
พอสิ้นคำประกาศของผู้นำการต่อสู้ เสียงวงดุริยางค์บรรเลงดังก้องกังวาน พร้อมกับพิธีสวนสนามของกองกำลังทหารกู้ชาติไทยใหญ่
หลังเสร็จพิธีการ ประชาชนที่มาร่วมงานต่างร่วมกันเต้นรำประจำชาติไทยใหญ่และแสดงศิลปะการ ต่อสู้ และยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายตั้งแต่เช้าจรดมืด ทุกชีวิตเริงร่าท่ามกลางความเหน็บหนาวยามค่ำคืน
มีการแสดงจ๊าดไต (ลิเกไทยใหญ่) จากคณะที่ถือว่าสุดยอดของไทยใหญ่ เสียงเพลงไทยใหญ่จากวงดนตรีเยาวชนและนักร้องในดวงใจหลายคนขึ้นขับร้องสลับ กับการแสดงบนเวที ภายใต้แสงจันทร์นวลฉาบท้องฟ้า
เสียงเพลงปฏิวัติและเพลงปลุกใจ "ความหมายปางโหลง" ดังกึกก้องทั้งคนร้อง ผู้เข้าร่วมงานร้องประสานเสียงกระหึ่ม
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการล้มลุกคลุกคลานแห่งการต่อสู้ เพื่อศักดิ์ศรีและการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉาน และปลดเปลื้องจากการกดขี่ของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า บนยอดดอยไตแลงเทือกเขาที่โอบล้อมด้วยอุดมการณ์แห่งนี้ ได้กลายเป็นศูนย์กลางรวมของความศรัทธา ที่ปกป้องคุ้มครองเหล่าประชาชนไทยใหญ่
วันนี้เหล่านักรบยังอดทนฝ่าฟันทุกวิถีทางเพื่อนำเอกราชและความสงบสุขมาให้ประชาชนบนแผนดินรัฐฉาน อย่างไม่สิ้นสุดและไม่มีวันยอมแพ้
พวกเขายังมีความหวังสูงสุด..เก็บแผ่นดิน "เมิงไต" คืนมา
62 ปี วันชาติไทยใหญ่ และสารล่าสุดของ"เจ้ายอดศึก" |
|