วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็ยังจะอารยะขัดขืน” คำเบิกความ 'รุ่งศิลา' กวีหลังกรงขัง


ที่มาคดีของกวีต้านรัฐประหารผู้เชี่ยวชาญการทหาร

สิรภพ หรือนามปากกา ‘รุ่งศิลา’ เป็นนักเขียน กวี หนุ่มใหญ่วัย 53 ปี ไว้ผมยาว รูปร่างสูงใหญ่ ดวงตาแข็งกร้าวแต่พูดจาสุภาพ มีเหตุมีผล
รุ่งศิลาเป็นเจ้าของบล็อก  Rungsira ลักษณะเด่นของบล็อกเขาคือ บทวิเคราะห์การเมืองปัจจุบัน โยงไปถึงประวัติศาสตร์การเมือง ที่โดดเด่นอีกอย่างคือบทวิเคราะห์ด้านการทหาร กองกำลังต่างๆ อาวุธยุทโธปกรณ์นานา การอ้างอิงบางส่วนมาจากวิกิพีเดีย ขณะที่อีกหลายส่วนก็ต้องอาศัยวิจารณญาณผู้อ่าน และแน่นอนบทความจำนวนมากนั้นมุ่งเน้นการต่อต้านการรัฐประหาร
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 รายชื่อของเขาปรากฏออกทีวีในประกาศเรียกรายงานตัวกับคสช. ในวันที่ 1 มิ.ย. และสั่งให้รายงานตัววันที่ 3 มิ.ย. แต่เขาไม่ไปรายงานตัว
ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เวลา 22.30 น. เขาถูกจู่โจมควบคุมตัวโดยทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ใส่เครื่องแบบครึ่งท่อน ในมือถืออาวุธสงคราม ขับรถปาดหน้ารถยนต์ปิกอัพที่เขาใช้เดินทางในคืนวันฝนตก เขาว่า “ราวกับฉากในหนัง” เหตุเกิดก่อนถึงแยกเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์ผ่านทางมุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เขาบอกว่าเขาไปที่นั่นเพื่อรอเวลาติดต่อขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองจาก UNHCR องค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ
คำถามสำคัญของเขา คือ คสช.ทำไมจึงมีชื่อนามสกุลจริงของเขา เพราะโดยปกติเขาใช้นามปากกาในการเขียนงานลงบล็อก ไม่เคยร่วมชุมนุมหรือสมาคมกับใคร และมีเพื่อนสนิทเพียง 2 คนเท่านั้นที่ทราบว่านามแฝง “รุ่งศิลา” ตัวจริงคือใคร
หลังการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วันเขาถูกส่งตัวต่อให้ตำรวจกองปราบและแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัวและต่อมามีข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยอีกคดีจากผลงาน 3 ชิ้นในบล็อกของเขา เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนปัจจุบันเกือบ 2 ปีเต็ม ขาดอีก 1 เดือน
ผลงาน 3 ชิ้นที่ถูกฟ้อง คือ
1.บทกลอนเสียดสีการเมือง โพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท เมื่อ 4 พ.ย.2552
2.ภาพการ์ตูนแนวเสียดสี พร้อมข้อความประกอบเป็นเนื้อเพลง “เป็นเทวดาแล้วใยต้องมาเดินดิน.....” โพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ Rungsira เมื่อ 15 ธ.ค.2556
3.ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในบล็อกรุ่งศิลา หัวข้อ “เชื้อไขรากเหง้า ‘กบฏบวรเดช’ ที่ยังไม่ตายของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป’ เมื่อ 22 ม.ค.2557
บ่ายแก่วันก่อนเขาถูกจับกุม 1 วัน ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 30 นายบุกค้นสำนักงานรับเหมาก่อสร้างของเขาที่จังหวัดสงขลา นำโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ของทั้งบ้านไปพร้อมทั้งนำตัวลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน และหลานอายุ 10 เดือนไปทำการสอบสวนในค่ายทหารในเมืองสงขลา จนกระทั่งเที่ยงคืนกว่าทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว
“ตอนนั้นตกใจมากเหมือนกันแต่ทำไรไม่ได้ ก็เลยพยายามควบคุมสติไว้ ในใจก็คิดว่าเรื่องมันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรอ เหมือนกับเราไปฆ่าคนตาย เหมือนคดีร้ายแรงมากแบบยาเสพติดหรืออาชญากรรม มันเรื่องใหญ่จริงๆ” พลอยลูกสาวคนกลางกล่าว
“ตอนช่วงแรกก็ทำใจลำบากเหมือนกันเพราะครอบครัวเราไม่เคยเจอเรื่องอะไรร้ายแรงขนาดนี้ ถึงพ่อกับลูกจะนานๆ ทีเจอกัน แต่ว่าเราก็ผูกพันกันมากอยู่แล้ว เจอเรื่องอะไรแบบนี้ก็ยากจะรับได้ แล้วยิ่งรู้ว่าพ่อเราไม่ได้เป็นคนไม่ดีถึงขนาดที่ต้องถูกคุมขังในคุก ยิ่งแย่มากค่ะ แต่พอเริ่มผ่านมานานที่พ่ออยู่ในนั้น เราก็ไม่ได้ถึงกับปลง แต่เราก็ต้องทำใจไว้แล้วประมาณนึง ไม่ว่ายังไงก็จะไม่ทิ้งเค้าแน่นอนไม่ว่าเค้าต้องอยู่ในนั้นนานแค่ไหน พลอยจะคอยดูแลพ่อไปจนกว่าเค้าจะได้ออกมามีอิสระอีกครั้งนึง” พลอยกล่าว
ปัจจุบันเขามีเพียงลูกสาวที่ผลัดกันไปเยี่ยมที่เรือนจำราวเดือนละ 1 ครั้ง

เส้นทางยาวนานของการต่อสู้คดี และ ห้องที่ปิดลับ

เรื่องราวของเขาซ่อนตัวอยู่เงียบๆ หลังลูกกรงเรือนจำมา 2 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราเคยมีโอกาสพูดคุยกับเขาระหว่างถูกควบคุมตัวถึงเหตุผลที่ไม่ยอมรายงานตัว เขาบอกว่า
“มันรู้สึกยอมรับไม่ได้กับการออกมายึดอำนาจทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 รับไม่ได้จริงๆ กับความอยุติธรรมที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกระทำต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ รวมถึงการเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าคนชาติเดียวกันตายนับร้อยศพ บาดเจ็บเป็นพันคน กลางเมืองหลวงของประเทศ โดยกองทหารเดิมๆ อย่างซ้ำซากมากกว่าครึ่งศตวรรษ”
“เป็นความซ้ำซาก ย้อนแย้งและล้าหลัง ผมคิดว่าประเทศนี้มีอาการเจ็บป่วยอย่างหนักหนาเหลือเกิน”
เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและยืนยันจะต่อสู้คดี ครอบครัวของเขายื่นประกันอย่างน้อย 3 ครั้งและศาลไม่อนุญาตทุกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้นเขายังเป็นผู้ต้องขังหนึ่งเดียวที่ร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกในความผิดม. 113 เป็นกบฏล้มล้างการปกครองด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่างก็มีคำสั่ง "ไม่รับฟ้อง" 
คดี 112 นั้นเริ่มสืบพยานปากแรกไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ผ่านมานี้เอง โดยศาลทหารสั่งพิจารณาคดีลับทำให้ไม่มีใครสามารถเข้ารับฟังและสังเกตการณ์คดีนี้ได้
คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เริ่มการสืบพยานครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2558 อานนท์ ทนายจำเลยระบุว่า พยานโจทก์มี 4-5 ปากโดยส่วนใหญ่เพื่อมายืนยันว่าสิรภพไม่ได้มารายงานตัวจริง ขณะที่ประเด็นคำถามที่จำเลยสงสัย ไม่ว่า คสช.ทราบชื่อนามสกุลจริงเขาได้อย่างไร ชุดปฏิบัติการที่บุกจับกุมเขาบนถนนขณะกำลังเดินทางได้อย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีการสืบข้อเท็จจริงกันในคดี 112 ซึ่งพิจารณาคดีแบบปิดลับ

“เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็จะอารยะขัดขืน”

23 พ.ค.2559 ถึงคราวที่จำเลยในคดีนี้จะขึ้นให้การในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังถูกขังในเรือนจำเป็นเวลา 1 ปี 11 เดือน สิรภพหรือรุ่งศิลา ถูกเบิกตัวมาจาก แดน 6 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังศาลทหาร เขาถูกใส่ตรวน (กุญแจมือ) ที่ข้อเท้า ขึ้นให้การในชุดนักโทษ เสียงดังฟังชัด ตลอด 2 ชั่วโมง โดยผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้ใครจดบันทึก
เขาให้การว่ามีภูมิลำเนาอยู่นนทบุรี จบเอกวารสารศาสตร์ แต่ทำอาชีพออกแบบสถาปัตย์และรับเหมาก่อสร้าง ขณะถูกจับกุมมีโปรเจ็คท์ใหญ่อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีลูกน้องราว 50 ชีวิต ทหารตำรวจบุกค้นบ้านและคุมตัวลูกๆ ไปสอบในค่ายทหารก่อนปล่อย เขาเองถูกควบคุมตัวที่เขตจังหวัดกาฬสินธ์ ขณะนั่งแท็กซี่จะเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เขาถูกทหารคุมตัวรวม 7 วัน พร้อมคนขับรถและคนนำทางอีก 1 คน ซึ่งเขาไม่รู้จักมาก่อน ถูกนำตัวไปไว้ที่ค่ายทหารในขอนแก่น มีการสอบสวนเบื้องต้น จากนั้นมีหน่วยการข่าวของส่วนกลางบินไปสอบสวนเขาด้วยตัวเอง ก่อนนำตัวขึ้นรถตู้มาส่งตัวให้กับทหารที่สโมสรกองทัพบกในกรุงเทพฯ  การสอบสวนในกรุงเทพฯ รอบแรก มีประธานเป็นตำรวจยศ พล.ต.ต. ในปอท. นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ไม่ว่า ดีเอสไอ อัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่การข่าวกองทัพภาคที่1 ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ฝ่ายข่าวของกอ.รมน. รวมแล้วประมาณ 30 คน ทำการสอบสวน 3 ชั่วโมงกว่า
สิรภพให้การกับพวกเขาว่า เป็นนักเขียน เขียนบทกวีการเมือง บทวิเคราะห์การเมืองและการทหารมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต คำถามของผู้สอบเน้นข้อข้องใจในบทความเกี่ยวกับการต่อต้านการัฐประหาร กลยุทธ์ทางทหาร และแนวคิดทางการเมือง
“จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีเจ้าหน้าที่บางหน่วยแจ้งว่าได้ติดตามบทความข้าพเจ้ามาตั้งแต่ 2552” สิรภพเบิกความต่อศาล
เขาบอกว่าหลังจากนั้นยังมีดีเอสไอ มาทำการสอบสวนเพิ่มเติม จากนั้นก็มีฝ่ายข่าวของกองทัพและคสช.มาพูดคุย ก่อนที่คืนสุดท้ายจะเป็นการสอบสวนใหญ่ ราว 50 คน โดยประธานเป็น พล.อ.คนหนึ่งที่อยู่ในคสช.ที่มาสอบด้วยตัวเอง ประธานได้กล่าวกับเขาว่า ติดตามบทความของเขามาตลอดและมีหลายชิ้นที่ได้นำเข้าไปหารือในวอลล์รูมกองทัพเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้งไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดสีใด
จากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวให้ตำรวจกองบังคับการปราบปราม
นอกจากนั้นในการให้การต่อศาลนี้เขายังมีโอกาสได้อธิบายถึงเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารว่า เขาต่อต้านการรัฐประหารมานานแล้ว เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2549 ผ่านการเขียนบล็อก เพราะเห็นว่าข้ออ้างต่างๆ เรื่องคอร์รัปชันหรือการหมิ่นเบื้องสูง ล้วนเป็นข้ออ้างยอดฮิตทุกครั้งในการรัฐประหารเพื่อทำลายการปกครองของรัฐบาลที่มาจากประชาชน เขาเห็นว่า หากมีปัญหาไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็ควรแก้ไขปัญหาภายใต้กติกาประชาธิปไตย และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินผ่านการเลือกตั้ง
และดังนั้น เมื่อเขาแสดงจุดยืนมาเนิ่นนาน เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับคณะรัฐประหาร เขากล่าวเบิกความด้วยเสียงดังฟังชัด ศาลนัดสืบพยานนัดต่อไปในวันที่ 7 ก.ค.2559
“ข้าพเจ้าต่อต้านการรัฐประหารในทางความคิดด้วยความสันติมาตลอด ในเมื่อเกิดการรัฐประหาร ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าจึงแสดงกระทำอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังอาวุธเข้ามายึดล้มล้างการปกครองของรัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า คณะรัฐประหาร หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คณะกบฏ จะรักษาอำนาจอยู่ได้นาน จึงเลือกที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ โดยสันติอหิงสา โดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการไม่ให้ความร่วมมือใดๆ กับคณะกบฏดังกล่าว”
เขายังตอบทนายถามด้วยว่าหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกและมีคำสั่งเรียกเขาไปรายงานตัวอีก เขาจะไปหรือไม่
“หากมีรัฐประหารอีกและมีคำสั่งเรียกรายงานตัวอีกครั้ง ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไป”
ที่น่าสนใจคือ วันเดียวกันกับที่เขาขึ้นเบิกความในคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฯ ศาลฏีกาก็มีคำสั่งรับคดีที่เขาและคนอื่นๆ ในกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช.ในมาตรา 113 ไว้พิจารณา พอดิบพอดี