วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อียูแจงไม่ได้ประกาศคว่ำบาตรไทย


อียูแจงไม่มีประกาศคว่ำบาตรไทยตามที่มีการอ้างถึงในข้อเขียนของสื่อบางแห่งของไทย และแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย แต่ยืนยันมาตรการเดิมระงับการเยือนระหว่างกัน และมีมติว่าจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 
14 ก.ค. 2558 เวลาประมาณ 12.30 น. เฟซบุ๊กเพจของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความชี้แจงว่า
"ตามที่มีรายงานว่าสหภาพยุโรป (อียู) ได้คว่ำบาตรประเทศไทยนั้น คณะผู้แทนสหภาพยุโรปขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงและเข้าใจว่ารายงานดังกล่าวอ้างถึงผลสรุปการประชุมคณะมนตรีสหภาพยุโรป (http://bit.ly/1HZ9h4f) ที่รับรองเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 และยังไม่มีการออกผลสรุปใหม่ใดๆนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
"In regards to reports that the EU has imposed sanctions on Thailand. This is not correct. The Delegation understands the reports are referring to the conclusions (http://bit.ly/1lLb0hO) of the Council of the European Union which were adopted on 23 June 2014. No new conclusions on Thailand have been adopted since then."

สำหรับมาตรการทีป่ระกาศเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2557 นั้นระบุว่า เรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและจัดเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ และอียูจะระงับการเยือนระหว่างกัน และมีมติว่าจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย
ณ กรุงลักเซมเบิร์ก วันที่ 23 มิถุนายน 2557
  • 1. สหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความผูกพันแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลานานทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย
  • 2.ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีฯ ได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมและคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีฯ ยังได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด โดยจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมสื่อ
  • 3. การประกาศของผู้นำทหารที่ผ่านมาไม่นานนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันที่น่าเชื่อถือในการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องให้สถาบันทางด้านประชาธิปไตยต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน
  • 4. ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สหภาพยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการทำงาน โดยให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย
  • 5. การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์”

สนง.ข้าหลวงใหญ่ฯ ยูเอ็น จี้รัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหา 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน


สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหา 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน ที่นำเสนอข่าวกองทัพเรือเอี่ยวขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา แนะส่งเสริมเสรีภาพสื่อตรวจสอบประเด็นสาธารณะ
14 ก.ค.2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหาต่อ 2 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งถูกฟ้องร้องหลังเผยแพร่รายงานของสำนักข่าวต่างประเทศที่กล่าวว่ามีบุคลากรบางส่วนในกองทัพเรือไทยเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
แถลงการณ์ระบุว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวของภูเก็ตหวานทั้งสองคน คือ นายอลัน มอริสัน และ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร ที่ถูกกองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลาห้าปี
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหาต่อสองผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน รวมถึงให้ส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนในการทำงานตรวจสอบประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยปราศจากความหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้หรือแก้แค้น และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกรอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่า “รัฐภาคีควรจะต้องพิจารณาไม่ให้การหมิ่นประมาทเป็นคดีความอาญา” และ “กฎหมายอาญาควรใช้กับคดีที่มีความร้ายแรงอย่างมากเท่านั้น และการกำหนดโทษจำคุกจากการหมิ่นประมาท ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษที่เหมาะสมในกรณีใดๆ ก็ตาม”

จำคุก 1 ปี ‘เจเจ’ ไม่รอลงอาญา คดีพ่นสีสเปรย์ป้ายศาล


14 ก.ค.2558 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก ‘เจเจ’ หรือ นายณัฐพล เข็มเงิน เป็นเวลา 2 ปี ในคดีพ่นสีสเปรย์อักษรตัว A บนป้ายสำนักงานศาลยุติธรรม แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพและไม่ขอต่อสู้คดี ศาลจึงพิจารณาลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 10.00 น. ของวันนี้ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดีหมายเลขดำ อ.2342/58 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายณัฐพล เข็มเงิน หรือเจเจ อายุ 22 ปี อาชีพรับจ้าง เป็นจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ขูด ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดซึ่งความเสียหายแก่สาธารณะประโยชน์

ณัฐพล เข็มเงิน หรือ เจเจ (แฟ้มภาพประชาไท)

แฟ้มภาพประชาไท
ตามโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เวลากลางคืน จำเลยบังอาจใช้สีสเปรย์สีดำพ่นสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ (A) มีวงกลมล้อมรอบ ลงบนป้ายชื่อ สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ที่ด้านหน้า และด้านหลังข้อความ ศาลอาญา 2 แห่ง เป็นเหตุให้ป้ายข้อความทั้งสอง ที่ส่วนราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เกิดความเสียหาย และเสื่อมค่า
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 12, 35, 54 และ 56 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน สามารถติดตามจับกุมตัวได้ และจำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด
ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจ แล้วสอบถามปรากฏว่า จำเลยให้การรับสารภาพผิด ไม่ขอต่อสู้คดี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ ฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์นั้นมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ อันเป็นบทหนักสุด จำคุก 2 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายณัฐพล เคยเบิกความต่อศาลยอมรับว่า เป็นผู้ฉีดพ่นสเปรย์ที่ป้ายศาลอาญาจริง โดยสัญลักษณ์ที่ฉีดพ่นนั้นเป็นสัญลักษณ์ของวงดนตรีต่างประเทศ และไม่ได้ต้องการสื่อความหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนสาเหตุที่พ่นสีสเปรย์ใส่ป้ายศาลนั้น เนื่องจากรู้สึกคับแค้นใจเพราะรุ่นพี่ที่รู้จักกันถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต และอยู่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร แต่ไม่ได้รับทราบความคืบหน้า  จึงกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ นายณัฐพลได้รับการประกันตัวในเวลา 20.30 น.ของวันเดียวกันนั้นเอง

สถานทูตไทยกรุงอังการาเตือนคนไทย-ระวังคนตุรกีถามว่ามาจากประเทศไหน

แฟ้มภาพเมื่อปี 2552 กลุ่มสนับสนุนเตอร์กิสสถานตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์อพยพ ประท้วงที่วอชิงตัน ในช่วงที่ผู้นำจีน เยือนสหรัฐ โดยเตอร์กิสสถานตะวันออกเป็นดินแดนที่ปัจจุบันคือเขตปกครองตนเองซินเกียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี เปิดเผยว่า  ขณะนี้กระแสความไม่พอใจกรณีที่ไทยส่งชาวอุยกูร์ให้ประเทศจีนยังคงมีอยู่ จึงขอแนะนำให้คนไทยในตุรกีให้คงระดับการระแวดระวังตัว เพื่อความปลอดภัยของตนเองต่อไป
14 ก.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระแสความไม่พอใจกรณีที่ไทยส่งชาวอุยกูร์ให้ประเทศจีนยังคงมีอยู่ จึงขอแนะนำให้คนไทยในตุรกีให้คงระดับการระแวดระวังตัว เพื่อความปลอดภัยของตนเองต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีผู้สอบถามว่ามาจากประเทศใด ซึ่งเป็นคำถามที่คนตุรกีมักชอบถามเพื่อการสนทนา หรือการชักจูงให้ซื้อสิ่งของ ขอให้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามดังกล่าวในช่วงนี้ แต่ทั้งนี้ก็สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติต่อไปและไม่ควรตื่นตระหนกใด ๆ ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีชาวตุรกีจำนวนมากที่ติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อแสดงความเห็นใจและเสียใจต่อกรณีที่เพื่อนร่วมชาติบางกลุ่มได้บุกรกเข้าไปยังสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนชาวไทยที่จะขอรับบริการด้านการกงสุล สามารถติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้ในเวลาราชการ โดยในระยะนี้ สถานเอกอัครราชทูตขอความร่วมมือให้ชาวไทยติดต่อสถานทูตล่วงหน้า เพื่อแจ้งช่วงเวลาที่จะเข้าไปรับบริการที่ หมายเลขโทรศัพท์ (90-312) 437 4318

ศาลทหารจำคุก ‘เครือข่ายบรรพต’ 10 ปีและ 6 ปี ฟันคนแชร์เท่าคนทำคลิป


14 ก.ค.2558  ที่ศาลทหาร เวลา 10.12 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำที่ 125 ก./2558  ที่พลเรือน 10 รายตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีคลิปเสียงบรรพต
คดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 12 คนทั้งหมดทยอยถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนามคม 2558 จนถึงปัจจุบัน จำเลย 10 คนรับสารภาพ ส่วนจำเลยอีก 2 คนคือ เงินคูณและศิวาพร ขอต่อสู้คดี ศาลสั่งจำหน่ายคดีและให้อัยการยื่นคำฟ้องใหม่อีกครั้ง สำหรับทั้ง 10 คน ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 8 คนในฐานะผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมดรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี ส่วนอีก 2 คนถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ศาลลงโทษจำคุก 6 ปี ทั้งสองรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี
จำเลยที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดทั้ง 8 คน แบ่งเป็นผู้จัดทำคลิป 1 คน คือ บรรพตหรือหัสดิน และผู้ที่แชร์ไฟล์เสียงในโซเชียลมีเดีย 7 คน คือ ดำรงค์, ไพศิษฐ์,กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, วิทยา, นงนุช, กรวรรณ (กรณีของกรวรรณทนายระบุว่าเป็นเพียงการส่งลิงก์ในกล่องสนทนาให้วิทยาเท่านั้น) ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษจำคุก 6 ปีลดเหลือ 3 ปีเป็นผู้ให้การสนับสนุนได้แก่ สายฝน ภรรยาบรรพต จากกรณีที่ให้หลานสาวเปิดบัญชีเพื่อรับเงินบริจาค และ นที มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ส่งซีดีและเสื้อที่จำหน่ายภายในกลุ่ม
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า เบื้องต้นคาดหวังว่าศาลจะลงโทษจำเลยแต่ละคนตามพฤติการณ์ที่ต่างกันและพิจารณาอัตราโทษเป็นรายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 7 ที่เป็นผู้ผลิตคลิปขึ้นมา ไม่ควรได้รับโทษในอัตราเดียวกับคนที่เพียงแต่แชร์เท่านั้น ควรลดหลั่นกันไปตามพฤติการณ์มากกว่า
ศศินันท์ กล่าวว่า การลงโทษผู้แชร์คลิปในอัตราเดียวกับผู้ผลิตคลิปขึ้นมานั้น เสมือนเป็นการส่งสัญญานเพื่อปรามผู้ที่จะกระทำในแบบเดียวกันนี้ในอนาคต ให้เห็นว่าการเผยแพร่นั้นโทษร้ายแรงเท่ากัน อีกนัยหนึ่งคือเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยหลายคนยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้ศาลเมตตารอการลงโทษ แต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่จำเลย 9 คนยกเว้นบรรพตได้แถลงแย้งเรื่องวันควบคุมตัวตามคำฟ้องว่าไม่ตรงข้อเท็จจริง เนื่องจากเริ่มนับวันควบคุมตัวเมื่อถึงมือตำรวจ หากแต่พวกเขาล้วนถูกคุมขังในค่ายทหารก่อนหน้านั้นหลายวัน แม้อัยการจะแย้งว่าไม่ควรนับวันในค่ายทหารที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก แต่ศาลพิพากษาให้นับวันควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นวันคุมขังเพื่อดำเนินคดีด้วย  
หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา ภรรยา ญาติ และลูกๆ ของจำเลยหลายคนต่างพากันร่ำไห้ ภัทร์ทวรรณ ภรรยาของจำเลยคนหนึ่งกล่าวว่า รู้สึกตกใจและสะเทือนใจมาก เพราะคาดว่าโทษของสามีซึ่งกระทำการแชร์คลิปจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปีรับสารภาพเหลือ 1 ปีครึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากคดีนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ถูกฟ้องในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แยกต่างหาก นั่นคือ คดีของธารา ถูกฟ้อง 6 กรรม ศาลทหารนัดสอบคำให้การในวันที่ 7 ส.ค.นี้ และคดีของอัญชัญ ถูกฟ้อง 29 กรรม ศาลทหารนัดสอบคำให้การในวันที่ 28 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีนี้ (คดีดำที่ 125ก./2558) ระบุว่า ระหว่างปี 2553  ถึง 28 ม.ค.2558 จำเลยที่ 1 - 4 และจำเลยที่ 7 - 12 กับพวกอีกสองคนที่ยังหลบหนีไปได้กระทำความผิดตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 7 จัดทำคลิปข้อความเสียงของตนโดยใช้นามแฝงว่า “บรรพต” ซึ่งในมีข้อความหมิ่น อัพโหลดเข้าสู่ mediafire.com จากนั้นจำเลยที่ 1-4 และจำเลยที่ 8-12 ดาวน์โหลดคลิปนั้นเข้าสู่ mediafire.com นำมาเผยแพร่ใน facebook.com.banpodjthailandclips.simplesite.com และ OKTHAI.com ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยจำเลยที่ 1-4 และ 8-12 กับพวกรู้อยู่แล้วว่าคลิปดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งนี้ คลิปดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในเว็บ OKTHAI.com ตลอดมาจนวันที่ 28 ม.ค.2558 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบคลิปและอยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก
ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 5 มีหน้าที่นำแผ่นบันทึกคลิปข้อความเสียงที่จำเลยที่ 7 จัดทำขึ้น ไปให้แก่ นางอัญชัญ ซึ่งถูกดำนินคดีเป็นอีกคดีหนึ่ง เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อ โดยจำเลยที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าคลิปข้อความเสียงดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง สำหรับจำเลยที่ 6 (ภรรยาบรรพต) เป็นผู้ช่วยเหลือโดยให้หลานสาวของจำเลยที่ 6 เปิดบัญชีธนาคาร รับเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนและเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นทุนในการจัดทำและเผยแพร่คลิปของจำเลยที่ 7