วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กกต. ปัดเบิกงบเลือกตั้ง 2 ก.พ. เกินจริง ชี้ไม่พบทุจริต


เผยสอบฝ่ายรับผิดชอบแล้วเตรียมชง กก.กกต.พิจารณา ยันไม่พบการทุจริต พร้อมแจ้ง สตง.ตามเวลาที่กำหนด
 
14 ส.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกรณีกระแสข่าว กกต.ปัดเบิกงบเลือกตั้งเกินจริงหลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงประธาน กกต. ระบุว่าตรวจสอบพบว่าการเปิดงบจัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ส่อทุจริตหลายจุด ตั้งงบไม่ถูกต้องเกินจริงกว่า 282 ล้านบาท และได้สั่งให้เรียกเงินคืนแล้ว โดยให้รายงานผลการดำเนินการให้ทราบภายใน 60 วัน โดยนายภุชงค์กล่าวว่า ก่อนที่ สตง.จะมีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0040/0831 ลงวันที่ 24 ก.ค 58 แจ้งประธาน กกต. ทาง กกต.ได้ทราบเรื่องดังกล่าวก่อนแล้วเพราะมีการเผยแพร่หนังสือที่อ้างว่าเป็นของ สตง.ในสังคมออนไลน์ โดยมีข้อความเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ซึ่งสำนักงานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้นำข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และดำเนินการเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเรียนประธานและกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การดำเนินการของสำนักงานฯเป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบที่ กกต.กำหนด บางส่วนอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ยังไม่พบการกระทำทุจริต สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้
       
ทั้งนี้หนังสือที่ สตง.ส่งมานั้นแม้จะลงวันที่ 24 ก.ค.แต่มาถึงสำนักงาน กกต.และทางสำนักงานฯ ได้ลงรับเมื่อวันที่ 28 ก.ค.และเลขาธิการ กกต.ได้รับทราบและพิจารณา สั่งการเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 58 โดยที่ประธาน กกต.และกรรมการการเลือกตั้ง ยังไม่ทราบ และยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ยืนยันว่าเมื่อ กกต.ได้พิจารณาข้อมูลดังกล่าวและมีมติอย่างไรแล้ว ทางสำนักงานจะได้แจ้งไปยังประธานการตรวจเงินแผ่นดินทราบภายในเวลาที่กำหนด

'คำนูณ' เผยไม่ปิดโอกาส 'ประยุทธ์' นั่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ


14 ส.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในเรื่องความถูกต้องของถ้อยคำหรือข้อความ ทั้ง 280 มาตราจะแล้วเสร็จในวันนี้ ซึ่งการพิจารณานั้นจะไม่มีการแก้ไขหรือทบทวนเนื้อหาที่นำไปสู่การปรับบทบัญญัติใด ๆ หากไม่ใช่เป็นประเด็นที่มีเหตุผลหรือน้ำหนักมากพอ ส่วนกรณีของการบัญญัติให้อำนาจพิเศษแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อแก้ไขหรือป้องกันการกระทำที่ทำให้เกิดความไม่สงบหรือไม่มั่นคงในชาตินั้น ที่หลายฝ่ายท้วงติงและขอให้ทบทวนนั้น ทางกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังอย่างละเอียด ถี่ถ้วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่จะทบทวน อย่างไรก็ตามประเด็นของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น ที่ประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม ซึ่งใช้เวลาพิจารณายาวนาน ก่อนที่จะสรุปและแถลงข่าวต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎีหากยังไม่ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 22 ส.ค. นี้ เนื้อหา รายละเอียด และหลักการยังสามารถปรับแก้ไขได้ แต่คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลที่จะกำหนดไว้ แต่ในความหมายที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการนั้นคือ ควรเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อดูกติกา พล.อ.ประยุทธสามารถเข้ามาเป็นได้ แต่จะมีบทเฉพาะกาลที่เมื่อถึเวลาทบทวนต้องเขียนความหมายให้ชัดเจน ขณะที่อำนาจหรือหน้าที่รวมถึงกระบวนการพิจารณาของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีรายละเอียดเขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
“กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาประเทศ และวิกฤตประเทศที่มียาวนาน และไม่ต้องการให้หลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้เหตุการณ์จะย้อนกลับไปเหมือนวันที่ 22 พ.ค. 57 อีก ดังนั้นสิ่งที่เขียนนั้นถือเป็นนวัตกรรมที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามให้ทำระบอบประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่าน สามารถธำรงหลักการของระบอบปกติ โดยประเด็นที่ถูกวิจารณ์นั้น ไม่ใช่จุดสุดท้าย เพราะเมื่อสปช. อนุมัติแล้ว ให้ต้องให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ขณะที่ระยะเวลาบังคับใช้อำนาจพิเศษนั้นมีผลเพียง 5 ปีและต่อหรือขยายไม่ได้ ขณะที่การมีอยู่ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้นจะอยู่ในระยะ 5 ปี หากจะต่อหรือขยายต้องให้ประชาชนลงประชามติเท่านั้น” นายคำนูณ ระบุ
 
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า กรณีที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงนามรับรองญัตติที่เสนอให้สปช. ให้ทำประชามติคำถามกรณีให้มีรัฐบาลปรองดอง นั้นไม่ใช่มติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะผู้เสนอคือนายนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ฐานะกรรมการปรองดอง ขณะที่กมธ.ยกร่างฯ ลงนามรับรองญัตติ ก็ทำในฐานะ สปช.ไม่เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ

จ.สกลนคร จัดวันรำลึกสันติภาพและ 'เตียง ศิริขันธ์' 16 ส.ค. นี้


จ.สกลนคร กำหนดจัดงานวันรำลึกสันติภาพ 16 สิงหาคม 2558 บริเวณลานอนุสาวรีย์นายเตียง ศิริขันธ์ (พูลโต) ทางเข้าถ้ำเสรีไทย รำลึกถึงวีรกรรมเสรีไทยที่ได้ต่อสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้รับฉายาว่าขุนพลภูพาน
 
 
14 ส.ค. 2558 สวท.สกลนคร รายงานว่านายพัณณเดชน์ ศรีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนครได้กำหนดจัดงานวันรำลึกสันติภาพ ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 เวลา 08.30 น. ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์นายเตียง ศิริขันธ์(พูลโต) ทางเข้าถ้ำเสรีไทย บ้านลาดกระเชอ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมเสรีไทยที่ได้ต่อสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้รับฉายาว่าขุนพลภูพาน
 
นายเตียง ศิริขันธ์ เป็นนักการเมืองฉายา "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ซึ่งประกอบด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ , นายเตียง ศิริขันธ์ , นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง นายเตียงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร 5 สมัย ตั้งแต่อายุ 28 ปี รัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสานและสกลนคร โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่บนเทือกเขาภูพาน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ "ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง"

กษัตริย์กัมพูชาลงนาม กม.คุมเอ็นจีโอแล้ว อีกสิบวันบังคับใช้


กฎหมายที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งในสังคมกัมพูชาอย่าง 'กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ' ได้รับการรับรองจากกษัตริย์กัมพูชาให้มีผลบังคับใช้แล้วท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกประเทศที่บอกว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักการสากล
14 ส.ค. 2558 เมื่อช่วงคืนวันพุธที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองร่าง 'กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ' (Law on Associations and Non-governmental Organisations หรือ LANGO) ในวันเดียวกับที่สภารัฐธรรมนูญของกัมพูชาประกาศว่าร่างกฎหมายดังกล่าว "เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ"
กฎหมายควบคุมการชุมนุมและองค์กรเอ็นจีโอของกัมพูชามีการให้อำนาจรัฐในการควบคุมกิจกรรมของกลุ่มภาคประชาสังคมสูงมากโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ เช่นกำหนดให้การให้องค์กรเอ็นจีโอทั้งในกัมพูชาและจากภายนอกต้องจดทะเบียนกับรัฐ ให้องค์กรเอ็นจีโอทั้งหมดมีความเป็นกลางทางการเมือง และให้อำนาจรัฐในการปิดกั้นหรือสั่งยุบกลุ่มโดยเป็นอำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ
กฎหมายดังกล่าวหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ" เป็นกฎหมายที่ถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมในกัมพูชาอย่างมาก โดยในช่วงก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชน 2 กลุ่มในกัมพูชาต่างเรียกร้องให้สภารัฐธรรมนูญของกัมพูชาปฏิเสธร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลายส่วนที่ละเมิดเสรีภาพและสิทธิของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ โดยมีอย่างน้อย 11 มาตราที่ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญกัมพูชาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)
นอกจากนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ในสาขากัมพูชายังวิเคราะห์กฎหมาย LANGO โดยแสดงความเป็นห่วงอย่างมากว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญของประเทศและหลักการสากล
บริตติส เอ็ดแมน ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรคุ้มครองสิทธิพลเมือง 'ซีวิลไรท์ดีเฟนเดอร์' กล่าวว่า "กฎหมายที่โหดร้ายนี้ถือเป็นภัยที่แท้จริงต่อภาคประชาสังคมของกัมพูชา ประชาคมนานาชาติควรพยายามต่อต้านกฎหมายนี้ต่อไปและคอยสอดส่องดูแลความเป็นไปได้ที่จะมีการนำกฎหมายนี้มาใช้ในทางที่ผิด"
เว็บไซต์ขององค์กรซีวิลไรท์ดีเฟนเดอร์ระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่มที่ชุมนุมอย่างสงบเพื่อต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ถูกคุกคาม ถูกทำร้าย ถูกตั้งข้อหา และถูกจับเข้าคุก แต่แม้ว่าจะต้องทำงานอยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูงแต่พวกเขาก็ยังคงช่วยเหลือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีข้อเสนอในเชิงสร้างสรรค์ให้กับรัฐบาลในการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน
โดยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาชาวกัมพูชาจากทุกภาคส่วนในสังคมหลายร้อยคนรวมตัวกันประท้วงกฎหมายนี้ในกรุงพนมเปญ มีองค์กรภาคประชาสังคมวิจารณ์กฎหมายนี้ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและเป็นกฎหมายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชน กลุ่มประชาสังคม 31 กลุ่มยังร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกต่อสภาแห่งชาติกัมพูชาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการร่างกฎหมายโดยไม่เปิดเผยต่อสื่อและมีข้อผิดพลาด อีกทั้งยังไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือให้โอกาสประชาชนได้เสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว
ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลกัมพูชาจะจัดให้มีขั้นตอน "ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น" เป็นเวลาเพียงครึ่งวันเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ซีวิลไรท์ดีเฟนเดอร์ก็ระบุว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นแค่การทำแบบขอไปทีและเป็นขั้นตอนที่มาช้าเกินไปจนกระบวนการไม่โปร่งใสและไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางพรรครัฐบาลกัมพูชาต่างโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านประกาศบอยคอตต์การโหวตร่างกฎหมายนี้

เพื่อไทยขอบคุณ สนช. ไม่ถอนอดีต ส.ส. 248 คน เสนอแก้รัฐธรมนูญที่มา ส.ว.


สมาชิก สนช. ลงคะแนนลับถอดถอนอดีต ส.ส. 248 แก้ รธน. ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง โดยผลลงคะแนนลับเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 จึงไม่สามารถถอดถอนได้ ด้านอดีต ส.ส. เพื่อไทยแถลงขอบคุณ สนช. ระบุเพื่อไทยให้โอกาส คสช. ทำงาน นำไปสู่ปรองดอง
14 ส.ค. 2558 - วิทยุรัฐสภารายงานว่า วันนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการลงคะแนนลับเพื่อถอดถอน อดีต ส.ส. 248 คน  ออกจากตำแหน่ง จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 ในประเด็นที่มาของ ส.ว. จากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เป็นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติ สนช. มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน เนื่องจากเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของสมาชิก
โดยการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ ได้พิจารณาวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนลับถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับข้อ 157 จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
ซึ่งขั้นตอนการลงมติสมาชิกได้บัตรลงคะแนนทั้งหมด 7 ใบ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามฐานความผิด ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งคำร้องมา ประกอบด้วย กลุ่มที่  1 ฐานความผิดร่วมลงชื่อและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระ มีจำนวน 237 คน โดยได้บัตรลงคะแนน 5 ใบ ประกอบด้วย บัตรสีม่วง สีฟ้า สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม กลุ่มที่ 2 ฐานความผิดร่วมกันเสนอและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 และ 3 จำนวน 1 คน ใช้บัตรสีขาว  และกลุ่มที่ 3 ฐานความผิดสำหรับผู้ที่ไม่ร่วมลงชื่อและลงมติในวาระ 2 มีจำนวน 10 คน ใช้บัตรสีชมพู
ทั้งนี้ภายหลังจากใช้เวลาลงคะแนนลับและนับคะแนนราวกว่า 7 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 248 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากคะแนนเสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงของจำนวนของสมาชิก สนช. ที่มีอยู่จำนวน 220 คน
โดยผลการลงคะแนน กลุ่มแรก ที่มีอดีต ส.ส.จำนวน 237 ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และร่วมลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 ปรากฏว่าการลงมติไม่มีคนใดถูกถอดถอน โดยคะแนนเกาะกลุ่มเฉลี่ยเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1 ส่วนกลุ่มสองจำนวน 1 คน คือ นายอภิรัต ศิรินาวิน อดีต ส.ส.พรรคมหาชน ฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และลงมติในวาระในวาระ 2 และ3 ผลการลงมติเสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 140 คะแนน ไม่ออกเสียง 4 และ กลุ่มสามจำนวน 10 คน กรณีเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติเฉพาะวาระที่ 1 และ 3 ผลปรากฏว่าไม่มีใครถูกถอดถอน โดยมีคะแนนเฉลี่ย เสียงถอดถอน 59 ไม่ถอดถอน 142 ไม่ออกเสียง 1
ที่มา: เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคอาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี เป็นต้น ร่วมแถลงข่าวภายหลังทราบมติของ สนช.ที่มีมติไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ
พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยขอขอบคุณ สนช.ที่ได้ให้ความเป็นธรรมกับอดีต ส.ส.ทุกคน เพราะเราไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การกล่าวหาของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ พรรคได้แถลงไปแล้วว่ากระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม แม้กระทั่งการแถลงปิดคดีเมือวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ตัวแทนของ ป.ป.ช.รายหนึ่งได้กล่าวต่อที่ประชุม สนช.ว่า สนช.ไม่จำเป็นต้องรักษามาตรฐาน คนที่รักษามาตรฐาน คือศาล แม้ สนช.จะเคยลงมติไม่ถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ไปแล้วก็ไม่เกี่ยวกับกรณีอดีต ส.ส.248 คน ซึ่งในความเป็นจริงทั้งอดีต ส.ส.และอดีต ส.ว.ได้ทำงานร่วมกัน ทั้งการเสนอญัตติ การพิจารณาและการลงมติ แต่การที่ตัวแทน ป.ป.ช.บอกว่า สนช.ไม่จำเป็นต้องรักษามาตรฐาน ทำให้เสียความรู้สึกว่าให้ สนช.ไปแบบคดๆ ไม่ต้องไปแบบตรงๆ ก็ได้ ทั้งที่ สนช.เป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็นเสาหลักของบ้านเมือง แต่เมื่อผล สนช.ไม่เชื่อ และมีมติไม่ถอดถอนก็ต้องขอบคุณ สนช.ที่ยังคงความเป็นธรรม
เมื่อถามว่าผลการลงมติในครั้งนี้จะนำไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่ พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าใครก็อยากเห็นความปรองดองของบ้านเมือง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทางพรรคเพื่อไทยให้ความร่วมมือกับ คสช.เต็มที่เพื่อให้ท่านมีโอกาสทำงาน ปฏิรูปในสิ่งที่ท่านตั้งความหวังไว้เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นำไปสู่ความปรองดอง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในกระบวนการถอดถอน เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ยืนยันว่าเราทุกคนทำตามทำหน้าตามที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้แนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เราก็ทำตามกรอบกติกา การตัดสินใจแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้อย่างไร ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่จะถอดถอนเราอยู่แล้ว เพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อคิดเห็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และข้อเสนอการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เราจะแสดงท่าทีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยเป็นการรวบรวมความคิดเห็น และจะส่งถึงประธานกรรมาธิการฯ ในต้นสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ในรายงานของมติชนออนไลน์ พล.ต.ท.วิโรจน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า 1.ที่มาของนายกฯ พรรคไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะมากคนนอกได้ เพราะไม่ใช่แนวทางของประชาธิปไตย  นายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 
2.ที่มา ส.ว.ซึ่งกรรมาธิการฯ กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหามากถึง 123 คน ซึ่งไม่ผูกพันกับประชาชน แต่อำนาจของ ส.ว.มีอำนาจมาก ทั้งอำนาจการถอดถอน และกรั่นกรองกฎหมายร่วมกับสภาฯ ดังนั้นพรรคเห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
3.เรื่องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ พรรคเห็นว่าเป็นเหมือนซุปเปอร์องค์กร การที่ให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจในยามเกิดวิกฤตินั้น คำว่าวิกฤตินั้นต้องวิกฤติขนาดไหน ตีความยาก รัฐบาลหรือคณะผู้บริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาน ไม่ควรอยู่ภายใต้การบงการหรือสั่งการของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารมากเกินไป ที่สำคัญพรรคเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และ
4.เรื่องการกีดกันผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เมื่อถูกลงโทษเว้นวรรคทางการเมืองแล้ว ทำไมยังจะถูกลงโทษซ้ำโดยการขาดคุณสมบัติห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วย

ฝากขังรินดาผัดสุดท้าย ตร.แจงยังรอผลตรวจคอม-มือถือ


 
14 ส.ค.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. รินดา พรศิริพิทักษ์ ผู้ต้องหาคดีโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้โอนเงินหนึ่งหมื่นล้านไปยังประเทศสิงคโปร์ เดินทางมารายงานตัวที่ศาลทหารเนื่องจากครบฝากขังครั้งที่ 3 ทางพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)ได้ยื่นขอฝากขังรินดาเป็นครั้งที่ 4 เป็นระยะเวลา 12 วัน ซึ่งจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 26 ส.ค. 2558
 
ซึ่งพนักงานสอบสวนให้เหตุผลในการขอฝากขังครั้งนี้ว่ายังต้องรอผลการตรวจคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ทางศาลทหารฯ จึงได้อนุญาตฝากขังครั้งที่ 4 ต่อ ซึ่งจะเป็นการฝากขังครั้งสุดท้าย แต่ศาลยังคงอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2558 รินดาได้ทำเรื่องประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินหนึ่งแสนบาทและศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมเงื่อนไขคือห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในทางตรงและทางอ้อมและห้ามไม่ให้เดินทางออกต่างประเทศ