วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

ทำรัฐประหาร 49 “เสียของ” อำมาตย์จึงต้องปล้นซ้ำ ปี 57


ออกมายอมรับกันอย่างไร้ยางอายในหมู่ผู้ร่วมปล้นชาติ เมื่อ 19 กันยา 2549 ว่ารัฐประหาร 8 ปีก่อนนั้น เป็นการรัฐประหารที่ “เสียของ” โดยเฉพาะโจรกบฏระดับนำอย่าง ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับอัปยศ ปี 50 วาทะ “เสียของ” ถูกตอกย้ำโดย โจรกบฏระดับลูกน้องประสงค์ อย่าง สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อัปยศ 50 ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยนัยยะเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปใช้คำตามวัจนลีลาดัดจริตว่า “สูญเปล่า”

ประเด็นที่เหล่าสมุนโจรกบฏรุ่น 49 เห็นว่าเป็นการเสียของอย่างมาก ก็คือ การที่คณะโจรกบฏรุ่น 49 ไม่สามารถ “กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย” มากพอ ทำให้กลับมาทวงคืนอำนาจส่วนหนึ่งกลับไปได้สำเร็จหลายต่อหลายครั้ง
คำพูดและความคิดดังกล่าว ได้สะท้อนความโหดเหี้ยมอำมหิตของอำมาตย์อย่างชัดเจน การสูญเสียชีวิตของประชาชนมากมาย ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา ดูเหมือนยังไม่สามารถกระตุกต่อมสำนึกของเผด็จการอำมาตย์เหล่านี้ได้

31 ตุลาคม 2549 “นวมทอง ไพรวัลย์” กระทำการสละชีพ เพื่อยืนยันให้โลกรู้ว่าประชาชนยอมสละชีพได้เพื่อประชาธิปไตย ได้ทำลายมายาภาพของรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ (bloodless coup) ที่โจรกบฏและสมุน 49 อัดเงินภาษีประชาชนให้ทีมโฆษณาชวนเชื่อตระเวนไปตามประเทศสำคัญๆ เพื่อกล่อมให้ผู้นำประเทศหลงเชื่อว่าคนไทยยินดีต้อนรับการปล้นอำนาจครั้งนั้นเป็นอย่างดี

กระแสการต่อต้านรัฐประหาร 49 ได้ก่อตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนฝ่ายโจรกบฏจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนการคืนอำนาจให้ประชาชน นำมาซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดมา แต่เมื่อประชาชนได้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเดิมที่ถูกปล้นอำนาจไปเมื่อปี 49 ฝ่ายอำมาตย์ก็ได้พยายามก่อสงครามมวลชนขึ้น จนเกิดการล้มรัฐบาลของประชาชน โดยการสมรู้ร่วมคิดของ “ขบวนการตุลาการวิบัติ” ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา การใช้สงครามมวลชนร่วมกับตุลาการวิบัติ หลายกลุ่ม หลายรอบ มาจนโจรกบฏก็ได้เข้ามาปิดเกม “ปล้นอำนาจซ้ำ” อีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภา 57

ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา การกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งโดยการล้อมฆ่าโดยกองกำลังทหารหลายหมื่นนาย ใช้อาวุธและกระสุนหลายแสนนัด ในเหตุการณ์ 10 เมษา 53 และพฤษภา 53, การกราดยิงใส่ประชาชนในวัดปทุมวนาราม เมื่อ 20 พฤษภา 53, การไล่ยิงผู้ชุมนุมในปี 52, การลอบสังหาร กรณีเสธ.แดง และไม้หนึ่ง ก.กุนที, การอุ้มฆ่า กรณีคนเสื้อแดงหลายราย หลังราชประสงค์แตก, และการอุ้มหาย และการตายอย่างมีเงื่อนงำอีกมากมายของคนเสื้อแดง ตลอด 8 ปี ที่ทำให้จำนวนศพไม่มีญาติเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกต
นี่ยังไม่นับรวมถึงการสูญเสียชีวิตประชาชนของทุกฝ่าย จากการที่โจรกบฏได้การใช้ทหารนอกเครื่องแบบปะปนเป็นผู้ชุมนุม ฝึกฝนและติดอาวุธให้การ์ด ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมยึดสะพานมัฆวาน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ปี 2551 หรือการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ (Shut Down Bangkok) ปี 2556-57 ซึ่งชัดเจนว่าได้มีการใช้ทหารติดอาวุธปะปนทำตัวเป็นผู้ชุมนุม ที่พร้อมจะยั่วยุให้เกิดการปะทะ หรือทำร้ายเข่นฆ่าเจ้าหน้าที่หรือประชาชนในฝ่ายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ดังที่ได้เกิดความสูญเสียกับ “ณรงศักดิ์ กรอบไธสง” หรือถึงแก่อัมพาต กรณี “ลุงอะแกว” รวมทั้งความสูญเสียจากการปะทะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกรณี “โบว์ อังคณา” และผู้ชุมนุมพันธมิตร, กปปส. และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้าเสี่ยงชีวิตระงับเหตุต่างๆ
ความสูญเสียมากมายของชีวิตพี่น้องประชาชนหลายร้อยชีวิต บาดเจ็บหลายพันคน ส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิดและครอบครัวนับหมื่นคน ที่กล่าวมานี้ยังไม่ใช่ข้อมูลตัวเลขที่สมบูรณ์ เช่นนี้ ยังเรียกว่า กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มากพออีกหรือ? เผด็จการอำมาตย์ยังกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยและทำลายชีวิตประชาชนไม่มากพอจนถึงกับสรุปว่ารัฐประหาร 49 เป็นเรื่องเสียของกระนั้นหรือ?

แม้การตายและบาดเจ็บจะมากมายเพียงนี้แล้ว ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของการกวาดล้างของเผด็จการอำมาตย์ “การตีตรวน” ประชาชนหลายพันคน การล่ามฝ่ายประชาธิปไตยไว้กับคดีการเมืองมากมายตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความสูญเสียทั้งที่ถึงแก่ชีวิต อย่างกรณี อากง, วันชัย, สุรกริช และนักโทษการเมืองอีกหลายคนที่เสียชีวิตไม่นานหลังได้รับอิสรภาพ จากการใช้ชีวิตในคุกไทย ที่มีสภาพเป็นการซ้อมทรมานผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกับผู้ที่ยากจน
เฉพาะในปี 2553 เผด็จการอำมาตย์ได้กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยการจับกุมดำเนินคดีทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดงมากถึง 1,857 คน ไม่ใช่เฉพาะจำนวนที่มากมาย แต่วิธีการที่เผด็จการอำมาตย์รวมหัวกับ “ขบวนการตุลาการวิบัติ” บังคับใช้กฎหมายอย่าง 2 มาตรฐาน ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงเกินจริง การปิดกั้นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การไม่ให้สิทธิประกันตัว การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมกับจำเลยฝ่ายประชาธิปไตย ไปจนถึงการลงโทษทัณฑ์อย่างไร้ความปราณี กรณีคนเสื้อแดงชุมนุมที่ศาลากลางอุบลราชธานี และเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ในปี 53 ถูกจับกุม ดำเนินคดีหลายสิบคน และบางคดีถูกพิพากษาจำคุกสูงถึง 34 ปี
ความเลวร้ายของขบวนการตุลาการวิบัติ ที่สมรู้ร่วมคิดกับเผด็จการอำมาตย์ เป็นที่ประจักษ์จนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายประชาธิปไตยหลายร้อยคน ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่นอกประเทศไทย
และการกวาดล้าง ที่ยังไม่เคยเห็นการรวบรวมข้อมูลตัวเลข คือ การทำให้สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน โอกาสทางธุรกิจ การต้องออกจากสถานศึกษากลางครัน และความเสียหาย ที่ยังไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ
จากที่กล่าวมานี้ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ ได้ใช้ความเหนือกว่าในกลไกอำนาจรัฐ ที่มีอำนาจกองทัพหนุนหลัง หรือออกหน้า ร่วมกับอิทธิพลทางเครือข่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มทุนหลายกลุ่มที่ร่วมสนับสนุนการปล้นชาติ ทำลายประชาธิปไตย ของฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ เครือข่ายเหล่านี้ ได้ร่วมกัน “กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย” ในหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล
เช่นนี้ ยังเรียกว่า กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มากพออีกหรือ? เผด็จการอำมาตย์ยังกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยและทำลายชีวิตประชาชนไม่มากพอจนถึงกับสรุปว่ารัฐประหาร 49 เป็นเรื่องเสียของกระนั้นหรือ?
หรือว่า การตาย บาดเจ็บ ติดคุก ลี้ภัย เสียอาชีพ สิ้นเนื้อประดาตัว ฯลฯ ยังไม่สาแก่ใจของฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ เพราะแม้จะสูญเสียมากมายเช่นนี้ ประชาชนก็ยังคงลุกขึ้นต่อสู้ทวงคืนอำนาจอธิปไตยอันเป็นของพวกเขาโดยชอบธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่า จนดูเหมือนจะทำให้ฝ่ายโจรกบฏขัดเคืองใจ ไม่เว้นแม้แต่โจรกบฏในคราบอาจารย์ นักวิชาการ ผู้บริหารอุดมศึกษา อันสูงส่ง “สมคิด เลิศไพฑูรย์” ที่หลุดคำพูดเดียวกับหัวหน้าเก่า “ประสงค์ สุ่นศิริ” ที่ร่วมกันร่างกฎโจร ปี 50 ออกมาว่า “บทเรียนจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร หลายคนก็บ่นว่าเสียดายของ”
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ยังรำพึง “เสียดายของ” แต่ไม่เอ่ยแม้น้อยนิดถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลายหมื่นหลายแสนคน ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาจากการกวาดล้างของโจรกบฏ 49 ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง ความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในชาติ และเพื่อนบ้านในภูมิภาค
และสิ่งที่สมุนโจรกบฏ 49 ดาหน้ากันออกมาย้ำว่าการปล้นอำนาจเมื่อปี 49 เป็นการเสียของ ขณะที่คนพวกนี้ช่วยกันผลักดันให้เกิดการปล้นอำนาจซ้ำอีกครั้งในปี 57 เขาก็ช่วยกันตอกย้ำให้การปล้นในรอบนี้ ต้องใช้อำนาจกับฝ่ายประชาธิปไตยให้เต็มที่
นั่นคือ ต้องกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยให้สิ้นซาก!
สิ่งที่เผด็จการอำมาตย์ ควรทบทวนบทเรียน 8 ปี นี้ คือ
เหตุใดกองทัพและอำมาตย์ทั้งเครือข่าย ใช้อำนาจรัฐและเหนือรัฐกวาดล้างฝ่ายประชาชนมากมายเพียงนี้ จึงยังมีประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ทวงคืนอำนาจอันชอบธรรมของพวกเขาอย่างไม่เสียดายชีวิต มากขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น และกล้าแข็งขึ้นทุกที และควรเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนจะไม่ปล่อยให้อำนาจของเขาถูกปล้นตลอดไป !!!

ประจักษ์ ก้องกีรติ ปาฐกถา 82 ปี ประชาธิปไตย


ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่มาภาพ : ประชาไททีวี http://www.youtube.com/watch?v=Z6RSZ4vlKQo

            เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดปาฐกถาหัวข้อ “การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย” โดย ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในงานครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

            ทั้งนี้ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันอภิวัฒน์การเมืองไทยโดยคณะราษฎร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยของประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย มาแล้วกว่า 82 ปี

            ทั้งเรื่องการพัฒนา เรื่องสิทธิเสรีภาพ และความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทย ก้าวไปไกลแค่ไหน ติดตามจาก บทความนี้ …





ยกเลิกกรรมการเลือก สปช. เหตุ รธน.ให้เป็นอำนาจ คสช.


คสช.มีคำสั่งยกเลิกการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช. ทั้ง 14 คน ระบุเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นอำนาจของ คสช. อยู่แล้ว




20 ก.ย. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 121/2557 เรื่อง ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 117/2557 ใจความ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 117/2557 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือก สปช. จำนวนไม่เกิน 250 คน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 มาตรา 30 วรรค 6 ได้กำหนดให้ คสช. คัดเลือก สปช. จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจำนวนไม่เกิน 250 คน

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 121/2557 เรื่อง ยกเลิกคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 117/2557 ที่ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทําหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นั้น โดยที่มาตรา 30 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้กําหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จํานวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ดังนั้น อํานาจในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติให้เหลือจํานวนดังกล่าว จึงเป็นอํานาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด
     
เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งให้ยกเลิกคําสั่งดังกล่าว สั่ง ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
     
อนึ่งคำสั่งที่ 117 ได้กำหนดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขึ้นมา 14 คน ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ หัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฎิรูป กห. พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ รอง ผบ.ทร. พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ รองผบ.ทอ. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผบ.ตร. และพล.อ.อุทิศ สุนทร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและสั่งการของผู้บังคับบัญชาในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน และในแต่ละด้าน พร้อมทั้งนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเสนอต่อหัวหน้า คสช. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ