วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อียูระงับความร่วมมือกับไทยอย่างเป็นทางการแล้วจนกว่าจะมีรบ.จากการเลือกตั้ง




          สหภาพยุโรปจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร 

23 มิ.ย. 2557 สหภาพยุโรปได้มีมติระงับความร่วมมือกับไทยแล้ว หลังจากที่ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทยในวันที่ 23 มิ.ย. ณ กรุงลักเซมเบิร์ก โดยได้เผยแพร่ผลสรุปการประชุมดังกล่าวออกมาว่า สหภาพยุโรปได้แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่กระบวนการด้านประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด 

An anti-government protester looks on during a rally in Bangkok ahead of Sunday's election

 
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังไม่ได้ให้หลักประกันใดๆ ในเรื่องเวลาต่อเรื่องการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้หลักรัฐธรรมนูญ สหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย
 
“การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์” การสรุปประชุมดังกล่าวระบุ" 
 
ผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทย 
 
ณ กรุงลักเซมเบิร์ก วันที่ 23 มิถุนายน 2557
 
  • 1. สหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความผูกพันแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลานานทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย
  •  
  • 2.ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีฯ ได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมและคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีฯ ยังได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด โดยจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมสื่อ
  •  
  • 3. การประกาศของผู้นำทหารที่ผ่านมาไม่นานนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันที่น่าเชื่อถือในการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องให้สถาบันทางด้านประชาธิปไตยต่างๆสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน
  •  
  • 4. ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สหภาพยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการทำงาน โดยให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย
  •  
  • 5. การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปตามสถานการณ์”
 
ดูผลสรุปการประชุมฯ ได้ที่ http://eeas.europa.eu/delegations/thailand/documents/news/143330_th.pdf
 


บางกอกโพสต์: สุเทพระบุ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมล้ม รบ.นานแล้ว-โฆษก คสช.ปฏิเสธข่าว



สุเทพเผยกลางงานเลี้ยง พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมที่จะโค่นล้มรัฐบาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อยตั้งแต่สมัยที่ยิ่งลักษณ์เป็น รมว.กลาโหม ระบุสื่อสารทางไลน์กับ ผบ.ทบ.เป็นประจำ ด้านรองโฆษก คสช. ปฏิเสธข่าวยืนยันทั้งสองไม่เคยสื่อสารส่วนตัว มีเพียงสมัยที่ "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกฯ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ สื่อสารผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายให้หาทางเจรจากันแต่ไม่สำเร็จ
23 มิ.ย. 2557 - นสพ.บางกอกโพสต์ รายงานวันนี้ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางกลุ่ม กปปส. ได้ให้คำแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และวิธีการโค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2553
โดยสุเทพ เปิดเผยในระหว่างงานเลี้ยง "กินข้าวกับลุงกำนัน" ซึ่งเป็นงานเลี้ยงระดมทุนเมื่อวันเสาร์เย็น (21 มิ.ย.) ซึ่งจัดที่แปซิฟิก คลับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมที่จะโค่นล้มอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่สมัยที่ยิ่งลักษณ์ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงกลาโหม
โดยงานดังกล่าว มีกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส.เข้าร่วมกว่า 100 คน มีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ชุมนุมกปปส.ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมือง จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “กินข้าวกับลุงกำนัน”
สุเทพยังกล่าวว่า เขาได้สื่อสารกับ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นประจำ
“ก่อนกฎอัยการศึกจะประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์บอกผมว่า คุณสุเทพและมวลชนผู้สนับสนุนกปปส.เหนื่อยมามากพอแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะรับช่วงทำหน้าที่ต่อ” เขากล่าว และระบุว่า ทางกปปส.ได้หารือกับพล.อ.ประยุทธตั้งแต่ปี 2553 แล้วว่า ถอดรื้อระบอบทักษิณ ปฏิรูปประเทศ ต่อต้านการคอร์รัปชั่นและสลายขั้วความขัดแย้งระหว่างสีได้อย่างไร
รายงานระบุว่า กลุ่ม กปปส. ได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศ และงานเลี้ยงดังกล่าวเป็นไปเพื่อการระดมทุนให้เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิดังกล่าว โดยสุเทพเผยว่า มูลนิธิดังกล่าว จะมีไว้เพื่อจัดทำงานวิจัยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ
เขายังได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนกลุ่มกปปส.สนับสนุนการดำเนินงานของกองทัพด้วย

ทีมโฆษก คสช. ปฏิเสธข่าว ยืนยัน "สุเทพ-พล.อ.ประยุทธ์" ไม่เคยสื่อสารส่วนตัว
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช. ปฏิเสธกรณีหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เสนอข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. สื่อสารส่วนตัวในช่วงที่ผ่านมาในลักษณะว่ามีความร่วมมือกันก่อนประกาศกฎอัยการศึก ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนในการเสนอข่าว ยืนยันบุคคลทั้งสองไม่เคยพูดคุยหรือสื่อสารกันเป็นการส่วนตัว หรือส่งข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น
“มีเพียงรับมอบจากรัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการในฐานะหน่วยงานความมั่นคง ด้วยการสื่อสารแจ้งกับทุกกลุ่มให้หาทางเจรจากัน แต่ไม่เคยสำเร็จ รวมทั้งแจ้งเตือนทุกกลุ่มหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายและดูแลความปลอดภัยของประชาชน ในขณะนั้นกองทัพคงไม่สามารถทำในลักษณะที่บางกอกโพสต์เสนอข่าวได้ เพราะเป็นหน่วยงานความมั่นคง ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมายและดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการที่เหมาะสมของภาครัฐ” พ.อ.วินธัย กล่าว
ในขณะที่ในวันนี้ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของนสพ.บางกอกโพสต์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ปฏิเสธไม่เคยคุยส่วนตัวของสุเทพ และระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์. ไม่พอใจอย่างมาก เพราะบรรยากาศกำลังเป็นไปด้วยดี สุเทพ ไม่ควรมาพูดแบบนี้

ศาลปกครองไม่รับฟ้องอดีต ส.ส.ปชป. ฟ้องยิ่งลักษณ์จ่ายเงินเยียวยาชุมนุมการเมือง


ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง "สาธิต ปิตุเตชะ" อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและ ครม. จ่ายเงินเยียวยาในเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 2549- 2553 โดยศาลถือว่าเป็นการดำเนินการทางนโยบายสร้างความปรองดองตามข้อเสนอ คอป. ไม่ใช่การกระทำทางปกครอง ไม่ถือว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจึงให้จำหน่ายคดี
23 มิ.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น คือไม่รับคำฟ้องคดีที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ กับพวกรวม 3 ราย ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น กับคณะรัฐมนตรี รวม 2 ราย กรณีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยนายสาธิต ฟ้องว่า นายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม กล่าวคือเป็นการเยียวยากลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ อีกทั้งมีบุคคลที่เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองในหลายกรณีที่ไม่ได้รับการเยียวยา เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมิใช่เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย แต่เป็นการดำเนินการทางนโยบายสร้างความปรองดองของคนในชาติ ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และไม่ใช่การกระทำในทางปกครอง ทำให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ
สำหรับการฟ้องคดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวไป เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ว่ามติคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงการกระทำทางปกครองที่ยังไม่มีสภาพบังคับจะเป็นเหตุให้ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีตามาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบ โดยไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราว นายสาทิตจึงได้อุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การนัดอ่านคำพิพากษาของตุลาการศาลปกครองกลางได้ยกเลิกอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่กรณี ไม่มีฝ่ายใดส่งตัวแทนมาฟังคำสั่งศาลฯ จึงออกคำสั่งแจ้งไปยังคู่กรณี และเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ

ตร.ตั้งรางวัลนำจับ 500 บ./ภาพเฟซบุ๊กต้าน คสช. ชี้จัดรำลึก 24 มิ.ย. ได้ ห้ามนัยยะการเมือง



ตำรวจ เตรียมดูแลความเรียบร้อยการชุมนุมรำลึกเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบุหากกระทำผิดกฎหมายดำเนินการเด็ดขาด ตั้งรางวัลนำจับผู้แสดงสัญลักษณ์ต้าน คสช. รวมภาพในเฟซบุ๊กด้วย ควักจ่ายภาพละ 500 บาท
หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

23 มิ.ย. 2557 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่ในวันพรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) จะมีกลุ่มผู้คนออกมารวมตัวทำกิจกรรม เพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ที่ถนนราชดำเนิน และบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ถนนพหลโยธิน ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปีว่า ทางเจ้าหน้าที่จะมีการประชุม เพื่อวางมาตรการรับมือกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งหากเป็นการรวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมรำลึก สามารถทำได้ แต่หากตรวจสอบพบว่ามีนัยยะทางการเมืองจะถือว่าผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการทันที
ทั้งนี้ในการรวมกลุ่มกันของประชาชนเกิน 5 คน จะดูที่เจตนาเป็นหลัก หากไม่มีนัยยะทางการเมืองก็สามารถรวมกลุ่มกันได้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ พล.ต.อ. สมยศยังได้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนหากพบเห็นบุคคลใด ที่ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. ให้บันทึกภาพ และส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงสามารถนำภาพที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กหรือโปรแกรมอื่นในอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากภาพดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นได้ จะมีรางวัลให้ ภาพละ 500 บาท
โดยสามารถส่งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทันที
ขณะที่หลังจากนี้ จะมีการประชุมร่วมกับทหาร เพื่อปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่ลง เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงมากแล้ว และไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลต่อสถานการณ์ และสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ตามแนวทางของหัวหน้าคณะ คสช. จึงจะปรับลดกำลังตามความเหมาะสม แต่ยังคงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามจุดเสี่ยงต่างๆ

ศาลทหารออกหมายจับ 28 ราย หลังไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.


             ศาลทหารออกหมายจับ 28 บุคคลไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. มีชื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน-จักรภพ-โรส-ใจ-จรรยา-ตั้ง อาชีวะ ล่าสุดกองปราบเตรียมยื่นคำร้องขอถอนหมายจับ ‘ขรรค์ชัย’ หลักฐานใบรับรองแพทย์ยืนยันป่วย
           23 มิ.ย.2557 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.ได้นำหนังสือร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป.ให้ดำเนินคดีกับ 28 ผู้ต้องหาที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไม่เข้ารายงานตัวภายในกำหนดเวลา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนขออนุมัติหมายศาล ซึ่งต่อมาศาลทหารกรุงเทพ ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 28 คน ไว้แล้ว สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมด ประกอบด้วย
  • 1.นายขรรค์ชัย บุนปาน 
  • 2.นายใจลส์ใจ อึ๊งภากรณ์ 
  • 3.นายจักรภพ เพ็ญแข 
  • 4.นายพิษณุ พรหมสร 
  • 5.นายเนติ วิเชียรแสน 
  • 6.นายองอาจ ธนกมลนันท์ 
  • 7.นายอำนวย แก้วชมภู 
  • 8.นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน 
  • 9.นางจรรยา ยิ้มประเสริฐ 
  • 10.นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ
  • 11.นายเสน่ห์ ถิ่นแสน 
  • 12.นายภิเษก สนิทธางกูร 
  • 13.นายสันติ วงษ์ไพบูลย์ 
  • 14.นางมนัญชยา เกตุแก้ว 
  • 15.นางฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือโรส 
  • 16.นายจุติเทพ หรือเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ 
  • 17.นายทนง ศิริปรีชาพงษ์ 
  • 18.นายอุสมาน สะแลแมง
  • 19.นายฉกาจ คหบดีรัตน์ 
  • 20.นายชัยพฤกษ์ สมานรักษ์ 
  • 21.นายรังสฤษฎิ์ ธิยาโน 
  • 22.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ 
  • 23.นายยงยุทธ บุญดี 
  • 24.นายอัมรา วัฒนกูล 
  • 25.นายเกษมสันติ จำปาเลิศ 
  • 26.นายนิทัช ศรีสุวรรณ 
  • 27.น.ส.นุ่มนวล ยัพราช
  • 28.นายวิระศักดิ์ โตวังจร

           ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ล่าสุดนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน ได้ส่งเอกสารประกอบด้วยใบรับรองแพทย์ และหนังสือชี้แจงว่าขณะนี้ นายขรรค์ชัย มีอาการป่วย ผ่าตัดหัวใจ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้ารายงานตัวตามกำหนดได้
         ทั้งนี้พันตำรวจเอกประสพโชค พิจารณาแล้วเห็นว่า นายขรรค์ชัย ไม่มีเจตนาหลบหนี หรือฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด และเอกสารที่ส่งมาถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในคดี จึงนำประกอบสำนวน และเพื่อความเป็นธรรม จะรวบรวมหลักฐานส่งศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขอถอนหมายจับนายขรรค์ชัย แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่


ผู้ร่วมแจกแซนวิชต้าน รปห. ที่พารากอนได้รับการปล่อยตัวทุกคนแล้ว



นักศึกษา-ปชช. ทั้งหมด 10 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อเวลา 01.10 น. ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากกิจกรรมแจกแซนวิชต้านรัฐประหาร ที่พารากอน
หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมขณะอ่านหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ และรับประทานแซนวิช ที่ลานน้ำพุสยามพารากอน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2557 ซึ่งต่อมาถูกควบคุมตัว ล่าสุดมีรายงานว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 10 ราย ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อเวลา 01.10 น. วันที่ 23 มิ.ย. 2557
23 มิ.ย. 2557 - ตามที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่านักศึกษากลุ่ม "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย" หรือ ศนปท. ซึ่งเตรียมทำกิจกรรมแจกแซนด์วิชต้านรัฐประหารที่ห้างสยามพารากอนในเวลา 16.30 น. ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดย 3 รายแรก ถูกควบคุมตัว หลังจากเดินทางไปเจรจากับเจ้าหน้าที่บริเวณโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และส่งไปที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ต่อมามีการควบคุมตัวนักศึกษาและประชาชน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวหลังเดินทางกลับ โดยถูกส่งไปที่ สน.ปทุมวัน และต่อมาส่งไปที่ พล.ม.2 รอ.
นอกจากนี้มีการจับผู้ที่มาอ่านหนังสือ 1984 ผลงานของจอร์จ ออร์เวลล์ รับประทานแซนวิช และเปิดเพลงรอสายเข้าของโทรศัพท์มือถือเป็นเพลงลามาร์แซแยซ หรือเพลงชาติฝรั่งเศส ทำนองเดียวกับเพลงมาร์ช ม.ธ.ก. อีก 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนับ 10 นายเข้ามาควบคุมตัว รวมมีผู้ถูกควบคุมตัวจากเหตุดังกล่าว 10 ราย(อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ล่าสุดเมื่อเวลา 1.10 น. วันที่ 23 มิ.ย. มีรายงานว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 10 ราย ได้รับอิสรภาพแล้ว โดยจะรายงานความคืบหน้าต่อไป
อนึ่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 30 คน แต่งชุดขาว-ดำ ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง โดยภายหลังจากร่วมกิจกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอถ่ายรูปผู้ร่วมทำบุญทุกคน และถ่ายรูปบัตรประชาชน นอกจากนี้มีการควบคุมตัว น.ส.อุษณีย์ เศรษฐสุนทรี อายุ 50 ปี สวมเสื้อสีขาว มีข้อความ “Respect my vote” โดยยอมให้มีเพื่อนติดตามไปด้วย ส่วนคนอื่นให้กลับบ้านได้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)


สนธิ ลิ้มทองกุล ลั่นจะไม่เอาใจผู้มีอำนาจแลกกับการเปิดเอเอสทีวี



จัดงานระดมช่วยเหลือเอเอสทีวีที่ถูก คสช. ปิดมานับเดือน "สนธิ" โชว์ผัดข้าวผัด ลั่นถ้าให้เปิดเอเอสทีวีแบบมีเงื่อนไข-เชลียร์ผู้มีอำนาจ จะไม่ขอเปิด ถ้าเปิดแล้วต้องพูดความจริงได้ โดยที่ผ่านมาระดมทุนหลายช่องทางทั้งผลิตเสื้อยืด "หนีจระเข้ปะเสือ" "สมบัติผลัดกันชม" และ "Free ASTV"
สนธิ ลิ้มทองกุล ระหว่างจัดงาน "พระอาทิตย์แฟร์ครั้งที่ 4" ที่บ้านพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2557 (ที่มา: เพจคุยทุกเรื่องกับสนธิ)
23 มิ.ย. 2557 - เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่บ้านพระอาทิตย์ สำนักงานของเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ มีการจัดงาน "พระอาทิตย์แฟร์ครั้งที่ 4" เพื่อระดมความช่วยเหลือเอเอสทีวีที่ถูกระงับการออกอากาศมาครบ 1 เดือน ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดระหว่างวันที่ 21-22 มิ.ย.
โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ กล่าวให้สัมภาษณ์ระหว่างผัดข้าวผัดแจกผู้ร่วมงานว่า "ไหนๆ มาแล้ว จะบอกพี่น้องหน่อย ขออนุญาต เอเอสทีวีเปิดเมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่ถ้าเปิดแล้วมีเงื่อนไข ทำให้ผมพูดความจริงไม่ได้ กูก็ไม่เปิด เพราะถ้าเปิดแล้วต้องไปเชลียร์มันเนี่ย เสียศักดิ์ศรีพวกเราใช่ไหม เพราะถ้าเราเปิดแล้วเราต้องพูดความจริงได้ เพราะฉะนั้นแล้วพวกผมจะไม่ยอมแพ้ ถ้ามึงกูปิดแล้วเปิดแล้วมีเงื่อนไข กูไม่เปิด แต่กูจะอยู่สู้กับมึง วัดใจกันว่า ระหว่างใจของคนสู้เพื่อความเป็นธรรม กับใจของอธรรม ใครจะยาวกว่ากันใครจะอึดกว่ากัน ใช่ไหมพี่น้อง" (ชมคลิป)
อนึ่ง สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีถูกระงับออกอากาศมาตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค. ต่อมา หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ มีการออกประกาศฉบับที่ 15/2557 ให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 14 แห่ง รวมถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี
วิดีโอคลิป และภาพเชิญชวนสมัคร SMS ของเอเอสทีวี (ที่มา: เพจคุยทุกเรื่องกับสนธิ)
เสื่อยืดพิมพ์ข้อความ "หนีจระเข้ปะเสือ" และ "สมบัติผลัดกันชม" (ที่มา: เพจคุยทุกเรื่องกับสนธิ)
เนื่องจากการถูกปิดสถานีมีผลต่อสภาพการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ที่มีรายได้จากการโฆษณาและการขายสินค้า ทำให้ที่ผ่านมา เครือเอเอสทีวีจัดการระดมทุนหลายช่องทาง เช่น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. มีการจำหน่ายเสื้อยืดสีขาว พิมพ์คำว่า "หนีจระเข้ปะเสือ" และ "สมบัติผลัดกันชม"
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. มีการเชิญชวนให้สมัครรับข่าวสารทาง SMS หรือข้อความสั้น ของเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ โดยสมัครได้ทั้งดีแทค ทรู และเอไอเอส
นธิ ลิ้มทองกุล เป็นนายแบบ ให้กับเสื้อยืดสีดำข้อความ "Free ASTV" และทำมือปิดหู ปิดตา ปิดปาก แบบภาพแกะสลักลิงสามตัว "Sanzaru" ที่ศาลเจ้าโทโชกุ ประเทศญี่ปุ่น (ที่มา: เพจคุยทุกเรื่องกับสนธิ)

และเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. มีการจำหน่ายเสื้อยืดสีดำ พิมพ์คำว่า "Free ASTV" มีจำหน่ายที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ้านเจ้าพระยา โดยนายสนธิได้เปิดนายแบบถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย โดยทำมือปิดตา ปิดหู ปิดปาก แบบภาพแกะสลักลิงสามตัว "Sanzaru" ที่ศาลเจ้าโทโชกุ ที่เมืองนิกโกะ จ.โทชิกิ ประเทศญี่ปุ่น

'นักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย' เรียกร้อง คสช.ปล่อยตัว นศ.-ปชช.ที่ถูกจับเย็นนี้



22 มิ.ย.2557 กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนอย่างน้อย 9 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมตัวในวันนี้ (22 มิ.ย.) โดยขอให้ปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข และขอให้ คสช.และผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เคารพในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกโดยสันติ เพื่อความสงบสุขของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
อนึ่ง วันนี้ มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอย่างน้อย 12 ราย ประกอบด้วย หญิงที่ใส่เสื้อมีข้อความ “Respect my vote” ไปทำบุญที่วัดปทุมวนาราม, นักศึกษา 3 คน ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทำกิจกรรมกินแซนวิชต้านรัฐประหาร ถูกเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ให้ไปเจรจาที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลและถูกกักตัวไว้, นักศึกษา 6 คน ที่เตรียมทำกิจกรรมกินแซนวิช และนักศึกษาที่นั่งอ่านนวนิยาย 1984 กินแซนวิช และเปิดเพลงชาติฝรั่งเศส หน้าสยามพารากอน
 


‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ประเมินเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร 1 เดือน ชี้ความเชื่อมั่นกระเตื้องขึ้น


ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก เสนอเตรียมรับมือมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา  
 
22 มิ.ย. 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปมองเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในลดลงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การรัฐประหารไม่นำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดและความขัดแย้งเพิ่มเติมจึงไม่เกิดทศวรรษแห่งความถดถอยในขณะนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นทางด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกระเตื้องขึ้น งบประมาณปี 2558 สามารถจัดสรรได้ตามกรอบเวลา ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก  พร้อมเสนอให้เตรียมรับมือมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา  
  
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายในลดลงมากจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การรัฐประหารไม่นำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดและความขัดแย้งเพิ่มเติมจึงไม่เกิดทศวรรษแห่งความถดถอยในขณะนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นทางด้านการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศกระเตื้องขึ้น งบประมาณปี 2558 สามารถจัดสรรได้ตามกรอบเวลา ขณะที่ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามกลางเมืองในอิรักและความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นปรกติของไทยกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และ อาจทำให้ข้อตกลงทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือด้านต่างๆอาจต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง   
 
ทางคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปคาดว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมในปีนี้น่าจะขยายตัวเป็นบวกได้แม้นอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกจะติดลบก็ตามและเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในกรอบประมาณการเดิม 1.5-2.5% (ประมาณการเดิม -0.5-2.5%) โดยที่อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมมาอยู่ที่ระดับ 2-3% (ประมาณการเดิม 1.5-2%) ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังและปีหน้า นอกจากขึ้นอยู่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการลงทุน การท่องเที่ยว การบริโภคและการส่งออกแล้วความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากนี้ ความสามารถในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและมีเสถียรภาพของไทยยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการกำหนดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสันติสุขของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว  
 
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ผลกระทบของการรัฐประหารต่อเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวได้ถูกบรรเทาลงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดทำงบประมาณปี 58 และการประกาศเดินหน้านโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคกลับคืนมา และมีความคาดหวังว่าจะมีความสงบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพมากขึ้นอันเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หลังการรัฐประหาร 1 เดือน ยังไม่มีความรุนแรงนองเลือดใดๆเกิดขึ้นหรือความเสี่ยงที่จะพัฒนาสู่สถานการณ์สงครามกลางเมืองหรือภาวะอนาธิปไตย ฉะนั้น ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดทศวรรษแห่งความถดถอยหลังการรัฐประหารจึงไม่เกิดขึ้น ณ. ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดองค์กรพลัดถิ่นหรือรัฐบาลพลัดถิ่นเกิดขึ้นและนำมาสู่ความตึงเครียด ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์การเมืองขึ้นอีก ผลกระทบของรัฐประหารต่อเศรษฐกิจไทยจะมีความซับซ้อนมากขึ้นและจำเป็นต้องมีการประเมินสถานะของเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง สถานะของเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ลงย่อมส่งผลต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมด้วย 
      
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้จนก่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างรอบด้านและประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ประชาชนจะอยู่ในสภาวะใหม่ซึ่งมีคุณภาพชีวิตและประเทศจะเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจนหลังวิกฤติใหญ่ผ่านไป 
 
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงสภาวะตลาดการเงินหลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนพบว่า กระแสเงินไหลออกไม่มากอย่างที่ประเมินไว้เดิม จึงมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยในช่วงแรกของการรัฐประหาร      หลังการรัฐประหารหนึ่งเดือนเงินบาทค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการทำรัฐประหาร คสช (เงินบาทอยู่ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. และอยู่ที่ 32.43 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา) โดยช่วงที่เหลือของปี เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลลดลงจากแรงกดดันของราคาพลังงานนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.41% (ดัชนีวันที่ 22 พ.ค. อยู่ที่ 1,405.01 วันที่ 20 มิ.ย. อยู่ที่ 1,467.29) หลังการรัฐประหารหนึ่งเดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเป็นขาลงเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกของการรัฐประหารเท่านั้น ส่วนสถานะของนักลงทุนต่างชาติ ยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึง 20 มิ.ย. 2557 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 43,541 ล้านบาทดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลัก 
 
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสแตะระดับ 1,550 จุดได้ในปีนี้ หากการเมืองไทยยังคงมีเสถียรภาพและมาตรการเศรษฐกิจต่างๆสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลา ในส่วนของตลาดตราสารหนี้พบว่าครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับ 5.8 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันไหลออกสุทธิ 6.4 หมื่นล้านบาท ประเมินทั้งปีเงินไหลออกสุทธิไม่มาก โดยนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้สุทธิปัจจุบัน 6.45 แสนล้านบาท ตราสารหนี้ระยะยาว 85% ตราสารหนี้ระยะสั้น 15% สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทย ยังคงหนุนให้เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีสหรัฐฯกับไทยต่างกันถึง 1.5%  
 
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า คสช. และ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาอันเกี่ยวเนื่องกับการที่ “ไทย” ถูกลดอันดับบัญชีค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับต่ำสุดอยู่ในระดับเดียวกับเกาหลีเหนือ ซีเรีย ซิมบับเว และเวเนซูเอลา การมีมาตรการรับมือล่วงหน้าอย่างเหมาะสมต่อการคว่ำบาตร (คาดว่ามาตรการคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นภายใน 90 วัน) จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ไทย ควรมียุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการต่อร่างกรอบข้อตกลง Trade in Service Agreement (TISA) ล่าสุดที่ผลักดันโดยสหรัฐอเมริการและสหภาพยุโรป โดยเป็นข้อตกลงที่มีความเข้มข้นกว่าข้อตกลงภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) โดยจะเป็นข้อตกลงที่ให้มีการเปิดตลาดภาคบริการเต็มรูปแบบ ทั้ง ภาคการเงินการธนาคาร สาธารณสุข การศึกษา การสื่อสารโทรคมนาคม การบริการพื้นฐานโดยรัฐ และ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ