วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คำขวัญวันเด็ก 2558: ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต


2 ธ.ค. 2557 - ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่คำขวัญวันเด็กประจำปี 2558 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยเขียนด้วยลายมือ ความว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”
สำหรับวันเด็กประจำปี 2558 ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ม.ค.

ทหาร-ตำรวจเยี่ยม มช. ขอหารือ ม.เที่ยงคืน หลังออกแถลงการณ์เลิกกฎอัยการศึก

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ่านแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อมาในวันที่ 2 .มีทหารจาก มทบ.33 เข้าพบเพื่อขอหารือ (แฟ้มภาพ/ประชาธรรมทีวี)
ผบ.ค่ายกาวิละนำทหาร-ตำรวจ 20 นาย เข้าพูดคุยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สอบถามความเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย สมชาย ปรีชาศิลปกุลยืนยันว่ารัฐต้องรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ห่วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เฝ้าติดตามนักศึกษาแทนทหาร
2 ธ.ค.57 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ราว 20 นาย นำโดย พล.ต.ศรายุทธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ามาภายในมหาวิทยาลัย โดยได้มีการนัดหมายเข้าพูดคุยกับทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่สำนักงานอธิการบดี และได้ติดต่อนัดหมายพูดคุยกับทางกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อน แต่ไม่ทราบรายละเอียดการพูดคุย ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเข้าไปพูดคุยด้วย แต่ทางกลุ่มยืนยันว่าจะไม่ไป เจ้าหน้าที่จึงได้นัดเข้ามาพูดคุยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์แทน โดยมีอาจารย์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวม 4 ราย ร่วมพูดคุยด้วย
เจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงสาเหตุการแสดงออกของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถามถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และแสดงความเป็นห่วงในการเรื่องรับจ้างมาเคลื่อนไหว แต่ทางกลุ่มอาจารย์ยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นใดๆ ของกลุ่มทำโดยเปิดเผย และกล่าวกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าพูดคุยว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ต้องถูกรับรอง และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลควรสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย โลกปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงออกได้ มิเช่นนั้นอาจจะทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ลงไปอยู่ใต้ดินมากยิ่งขึ้น และหากมีการแสดงความเห็นโดยใส่ร้ายกันอย่างผิดๆ ทางฝ่ายรัฐก็สามารถดำเนินการได้
สมชายกล่าวว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีการกล่าวห้ามการเคลื่อนไหว การให้เซ็นเอกสาร หรือการคุกคามใดๆ โดยตนคิดว่าในตอนนี้ ทหารก็ตระหนักระดับหนึ่งว่าไม่สามารถจะยับยั้งการแสดงความคิดเห็นด้วยการใช้อำนาจแบบนี้ได้ และฝ่ายความมั่นคงน่าจะเริ่มยอมรับว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของรัฐไม่สามารถจะปิดกั้นได้
สมชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ตนเป็นห่วง คือในส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยอาจจะดำเนินการต่างๆ ไปด้วยตนเองหรือไม่ เช่น การติดตามกลุ่มนักศึกษาที่แสดงออกในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้จะไม่ได้ไปกล่าวร้ายใครก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาลัยไม่ควรจะทำ เพราะมหาวิทยาลัยควรจะปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา
ทั้งนี้ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์และจัดแถลงข่าว เรียกร้องให้สังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก และคำสั่งของคสช. ที่ปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) และยังมีความเคลื่อนไหวโดยนักศึกษาไม่ทราบกลุ่ม ในลักษณะการโปรยใบปลิว หรือการพ่นสีสเปรย์ต่อต้านการรัฐประหาร ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

นครบาลแถลงจับ 2 หนุ่มโปรยใบปลิวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 23 พ.ย.


กรณีโปรยใบปลิวเช้ามืด 23 พ.ย. และถูกเจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นถึงบ้านเมื่อ 25 พ.ย. นั้น - ล่าสุดตำรวจนครบาลนำผู้ผลิตและโปรยใบปลิว 2 รายมาแถลงข่าว โดยยอมรับว่าทำจริงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และขอยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว
3 ธ.ค. 2557 - กรณีที่เช้ามืดวันที่ 23 พ.ย. นี้ มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และโปรยใบปลิวโจมตี คสช. นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 25 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ ทหารจาก กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 รอ.) นำโดย พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1รอ. ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ขอควบคุมตัว นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ว่าต้องสงสัยเกี่ยวกับการแจกใบปลิวต้าน คสช. โดยผลการสอบสวนนายสิทธิทัศน์ ยอมรับว่าได้ทำสำเนาใบปลิวดังกล่าวจริง และได้นัดพบกับ นายวชิระ ทองสุข หรือ บอย ภายใน ซ.สำราญราษฎร์ เขตพระนคร และนำถุงใส่ใบปลิวจากรถเบนซ์รุ่น C200 สีดำ ใส่รถจักรยานยนต์ของนายวชิระ นำใบปลิวดังกล่าวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 23 พ.ย.57 เวลาประมาณ 05.00 น. ดังกล่าว (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
บช.น. แถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. กรณีจับกุม นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา และ นายวชิระ ทองสุข ผู้ออกแบบ ผลิต และโปรยใบปลิวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 23 พ.ย. (ที่มา: ผู้สื่อข่าวภาคสนาม)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ บช.น. มีการนำนายสิทธิทัศน์ และนายวชิระ มาแถลงข่าว โดยมี พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นผู้แถลงผลการจับกุม และนำของกลาง ได้แก่ รถเบนซ์ ทะเบียน 1 กม-200 กทม. รถจักรยานยนต์ ฮอนด้า เวฟ ทะเบียน กมร-4 นครปฐม และอุปกรณ์ในการผลิตใบปลิว ทั้งนี้ตำรวจตั้งข้อหาร่วมกันโปรยใบปลิว ที่มีข้อความที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และก่อความไม่สงบ สร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้งสอง ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยเท่านั้น หลังจากนี้จะให้ทนายความขอยื่นหลักทรัพย์ จำนวนคนละ 2 แสนบาท เพื่อใช้ในการประกันตัวต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงเหตุการณ์โปรยใบปลิวดังกล่าวว่า เนื้อหาในใบปลิว เป็นลักษณะการกล่าวหาและบิดเบือนทำขึ้นโดยใช้อารมณ์ส่วนบุคคล เป็นมุมมองในเชิงอคติ ส่งผลกระทบหลายด้าน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวสกปรก ไม่สวยงาม ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสังคม

ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3: จ้างงานลด-ว่างงานเพิ่ม-หนี้สินชะลอตัว-เฝ้าระวังผิดนัดชำระหนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ หน้าตึกบัญชากาาร1 ทำเนียบรัฐบาล 2 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
สศช.รายงานที่ประชุม ครม. สังคมไทยไตรมาส 3/2557 การจ้างงานลด-ว่างงานเพิ่ม-แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น-ต้องเฝ้าระวังผิดนัดชำระหนี้ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 9 หมื่นล้าน ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 28.1% ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินดีขึ้น คดีอาญาลดลง 17.5% แต่ต้องระวังความรุนแรงจากการทวงหนี้นอกระบบ
3 ธ.ค. 2557 – ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ประชุมมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 โดยมีสาระสำคัญ ตามที่รายงานในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
000
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สามของปี 2557
1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การมีงานทำลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงของภาคเกษตรร้อยละ 17.5 เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภาวะขาดฝน และเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ รวมถึงความไม่มั่นใจต่อราคาพืชเกษตร ส่วนการมีงานทำภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.84 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.77 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.9ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อย 9.2
1.2 การก่อหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอลง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ยังชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยมีมูลค่ายอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 10.7 และ 8.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเพื่อซื้อที่พักอาศัย และการบริโภคอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้น แต่สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อภายใต้การกำกับและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 90,157 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 ต่อสินเชื่อรวม สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 และยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1
1.3 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ และมือ เท้า ปากในไตรมาสที่สามของปี 2557 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.9 ขณะที่โรคที่แพร่ระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันน้อย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก และโรคตาแดง ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก
1.4 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 27,907 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 0.6 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 5,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 1.7 และต้องเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นเมือง โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ วัยรุ่นหรือวัยเริ่มทำงานอายุ 19-24 ปี มีแนวโน้มใช้มากกว่ากลุ่มอื่น และร้อยละ 94 ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ทั่วไปมาก่อน โดยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้าควบคู่ไปกับบุหรี่ทั่วไปมากกว่าใช้เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด
1.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น แต่ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้นอกระบบ โดยมีคดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11.2 โดยคดียาเสพติดมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 84.1 ของคดีอาญารวม ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 19.1 ขณะที่ขบวนการทวงหนี้นอกระบบที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงและมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายลูกหนี้ ส่วนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่นำไปสู่การลดความรุนแรงที่ถูกทวงหนี้ อาจดำเนินการได้โดยการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบโดยจัดทนายความเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้เงินกู้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การกำหนดมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน จัดให้มีหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินภาคประชาชนทั้งระบบ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบ
1.6 การเร่งรณรงค์ “เมา-ง่วง ไม่ขับ-ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด” อย่างต่อเนื่องเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 เกิดอุบัติเหตุ 13,274 ราย ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 5.9 สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลพบว่า “เมาแล้วขับ” ยังเป็นสาเหตุอันดับต้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุใน เทศากาลปีใหม่ 2558 ควรรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ความรู้ในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากอุบัติเหตุ จัดตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดตั้งจุดบริการประชาชนเพื่อพักผ่อน จัดหน่วยในบริการตรวจรถบนต์ก่อนการเดินทาง จัดตั้งศูนย์รณรงค์การลดอุบัติเหตุและบริหารการจัดการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 รวมทั้งเร่งให้มีมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้ที่โทรศัพท์หรือดื่มสุราขณะขับรถและดำเนินคดีทันที
1.7 ร้านค้าออนไลน์: สู่การเติบโตอย่างปลอดภัย พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 มีมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขายแก่ผู้บริโภคเป็น 121,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยมีการซื้อออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ร้อยละ 46.9 และผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ร้อยละ 29.7
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม ฯลฯ ปัจจัยที่สำคัญคือ โปรโมชั่นที่ถูกใจ มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และมั่นใจในความปลอดภัยของเว็บไซต์ ส่วนปัญหาที่พบคือ คุณภาพสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุไว้ส่งสินค้าล่าช้า ความไม่รวดเร็วในการดาวน์โหลด และติดต่อกับร้านค้ายาก การแก้ปัญหาส่วนใหญ่นิยมร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของสินค้า/บริการนั้น ๆ แต่ร้อยละ 10 เลือกที่จะไม่ร้องเรียน ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อร้านค้า ให้ความรู้และพัฒนาระบบร้องเรียน รวมทั้งกำกับดูแลให้สินค้าที่ขายออนไลน์มีคุณภาพและปลอดภัยโดยเฉพาะสินค้าสุขภาพ
1.8 การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จากความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2556 ซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณสูงถึง 368,314 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65.4 จากของเสียอันตรายจากชุมชนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีปริมาณ 359,070 ตัน และจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังพบว่าในปี 2556 มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 20 ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดสถานที่กำจัดที่ได้มาตรฐานและมีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง โดยการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ พบว่า กลุ่มครัวเรือนกว่าร้อยละ 25 จะเก็บไว้เอง และปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ16 จะทิ้งซากผลิตภัณฑ์ ปะปนกับขยะทั่วไป ทำให้ซากผลิตภัณฑ์ได้รับการจัดการอย่างไม่เหมาะสมหรือถูกวิธี และไม่สามารถนำเอาวัสดุมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและอย่างปลอดภัย

สำรวจ 6 เดือน คสช. โยกบิ๊กข้าราชการทั้งแผ่นดินไปกี่ริกเตอร์


ปมโยก ‘ถวิล’ เป็นกระแสสูงในปีที่ผ่านมา จนมีคำวินิจฉัย ศาล.รธน.ให้ ‘ยิ่งลักษณ์’ พ้นความเป็นรัฐมนตรี เพียง 15 วัน คสช.ได้รัฐประหาร 6เดือนผ่านมามีบิ๊กข้าราชการกว่า 80 ราย ถูกโยกย้าย ยังไม่รวมโยกย้ายโดยมติ ครม.อีกจำนวนมาก
"มีพวกข้าราชการพูดกันว่าพวกผมมาอยู่แค่ปีเดียวเดี๋ยวก็ไป พวกนี้ยังฝักใฝ่ฝ่ายตรงข้ามอยู่ เดี๋ยวจะจับย้ายให้หมดเลย"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 21 พ.ย.57 (มติชนออนไลน์)
คำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ด้วยน้ำเสียงขึงขัง(ตามรายงานของมติชนออนไลน์)นั้น หากเป็นการพูดโดยนายกฯ ของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้คงเกิดกระแสต่อต้านมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแทบไม่มีการกล่าวถึงเลย
หากย้อนกลับไปดูเมื่อปีที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ของ กปปส. โดยมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นประเด็นที่กล่าวถึงกันมา และจากที่มีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวไป เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายโอนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (อ่านรายละเอียด)
จากนั้นเพียง 15 วัน คสช. ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ที่นอกจากคณะรัฐประหาร หรือ คสช. เข้ามาสวมในตำแหน่งสำคัญๆ ของการบริหารแล้ว ผ่านมาแล้ว 6 เดือน หากพิจารณาถึงการปรับ โยกย้ายข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารองค์กรสำคัญของรัฐโดย คสช.และรัฐบาล ที่นอกจากการการปรับย้ายประจำปีนั้น ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มีการโยกย้ายที่น่าสนใจ ดังนี้
  • 1.     พลต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557, 24 พ.ค.57)
  • 2.     พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557, 24 พ.ค.57)
  • 3.     นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 8/2557, 24 พ.ค.57)
  • 4.     พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหน้าที่หนึ่ง(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 8/2557, 24 พ.ค.57)
  • 5.     พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2557, 24 พ.ค.57)
  • 6.     พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 9/2557, 24 พ.ค.57)
  • 7.     พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มาปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 11/2557, 24 พ.ค.57)
  • 8.     นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหน้าที่หนึ่ง(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 11/2557, 24 พ.ค.57)
  • 9.     นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 27/2557, 28 พ.ค.57)
  • 10.  หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีอีกหน้าที่หนึ่ง(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 27/2557, 28 พ.ค.57)
  • 11.  นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาปฏิบัติราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 28/2557, 28 พ.ค.57)
  • 12.  นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 28/2557, 28 พ.ค.57)
  • 13.  นายปสันน์ เทพรักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน มาช่วยราชการที่ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 40/2557, 30 พ.ค.57)
  • 14.  นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาปฏิบัติราชการที่สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ให้รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้รักษาราชการแทนเลขาธิการ
  • 15.  สภาผู้แทนราษฎร(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 62/2557, 11 มิ.ย.57)
  • 16.  นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มาปฏิบัติราชการที่สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 62/2557, 11 มิ.ย.57)
  • 17.  นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสงสู ุด เป็นผู้รักษาราชการแทนอัยการสูงสุด(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 62/2557, 11 มิ.ย.57)
  • 18.  นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาปฏิบัติราชการที่สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 62/2557, 11 มิ.ย.57)
  • 19.  นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 62/2557, 11 มิ.ย.57)
  • 20.  นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน มาปฏิบัติราชการที่สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 70/2557, 19 มิ.ย.57)
  • 21.  นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการจัดหางานอีกหน้าที่หนึ่ง (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 70/2557, 19 มิ.ย.57)
  • 22.  นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าว มาปฏิบัติราชการที่สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 70/2557, 19 มิ.ย.57)
  • 23.  นายพิชิต นิลทองคํา จัดหางานจังหวัดชลบุรี มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการสํานักบริหารแรงงานต่างด้าวอีกหน้าที่หนึ่ง (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 70/2557, 19 มิ.ย.57)
  • 24.  นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 25.  นางสาวชุติมา บุณยประภัศร พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 26.  พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาสํานักงานปลัดกระทรวงกระทรวงยุติธรรม (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 27.  นายประยงค์ ปรียาจิตต์ พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 28.  นายราฆพ ศรีศุภอรรถ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 29.  นายสมชัย สัจจพงษ์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลังและให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 30.  นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ พ้นจากตําแหน่ง ที่ปรึกษาสํานักงานเศรษฐกิจการคลังและให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 78/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 31.  นายปรีชา กันธิยะ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตร (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 32.  นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 33.  นายทศพร ศิริสัมพันธ์ พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 34.  นายอภิชาติ จีระวุฒิ พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 35.  นายอภินันท์ โปษยานนท์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 36.  นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 37.  นายกําจร ตติยกวี พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 38.  นายกมล รอดคล้าย พ้นจากตําแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 79/2557, 27 มิ.ย.57)
  • 39.  นายสมชัย ศิริวัฒนโชค พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม และให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 40.  นายโชติ ตราชู พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและให้ดํารงตําแหน่ง ที่ปรึกษาประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 41.  นายสุทธิชัย สังขมณี พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 42.  นายประวิทย์ เคียงผล พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 43.  นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 44.  นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 45.  นายเกษมสันต์ จิณณวาโส พ้นจากตําแหน่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 46.  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ํา(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 47.  นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 48.  นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการสํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 49.  นายประสงค์ พูนธเนศ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมสรรพากร (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 50.  นายกุลิศ สมบัติศิริ พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 51.  นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 52.  นายสุเมธ มโหสถ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมการจัดหางาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 81/2557, 30 มิ.ย.57)
  • 53.  พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย พ้นจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557, 3 ก.ค. 57)
  • 54.  นายวิทยา สุริยะวงศ์ พ้นจากผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557, 3 ก.ค. 57)
  • 55.  นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ พ้นจากรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557, 3 ก.ค. 57)
  • 56.  พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พ้นจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557, 3 ก.ค. 57)
  • 57.  นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต รองเลขาธิการ ปปส. ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปส. (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 84/2557, 3 ก.ค. 57)
  • 58.  นายชุมพล ฐิตยารักษ์ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 59.  นายทรงภพ พลจันทร์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 60.  นายสมนึก บํารุงสาลี พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 61.  นายประมวล จันทร์พงษ์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 62.  นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 63.  นายคุรุจิต นาครทรรพ พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 64.  นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานและให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 65.  นายวีระพล จิรประดิษฐกุล พ้นจากตําแหน่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานและให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 66.  นายชวลิต พิชาลัย พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 67.  นายนพพล ศรีสุข พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและให้ดํารงตําแหน่ง ผ้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 68.  นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมป่าไม้ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 69.  นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 70.  นายชลธิศ สุรัสวดี พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 71.  นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมป่าไม้ (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 72.  นายเกษมสันต์ จิณณวาโส พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 87/2557, 7 ก.ค.57)
  • 73.  นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มีคำสั่งปลดให้พ้นจากหน้าที่ในทันที หลังมีเหตุฆาตกรรมเด็กหญิงวัย 13 ปีบนรถไฟ (คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 89/2557, 10 ก.ค.57)
  • 74.  นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมคุมประพฤติ และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมบังคับคดี(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 92/2557, 16 ก.ค.57)
  • 75.  นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมบังคับคดี และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 92/2557, 16 ก.ค.57)
  • 76.  นางกรรณิการ์ แสงทอง พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมคุมประพฤติ(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 92/2557, 16 ก.ค.57)
  • 77.  นายกวิน ทังสุพานิช พ้นจากตําแหน่ง เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (ประกาศ คสช. ฉ.95/57, 17 ก.ค.57)
  • 78.  นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการสํานักนายกรัฐมนตร(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 95/2557, 19 ก.ค.57)
  • 79.  นายสมชาติ สร้อยทอง พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 95/2557, 19 ก.ค.57)
  • 80.  นางดวงพร รอดพยาธิ์ พ้นจากตําแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 95/2557, 19 ก.ค.57)
  • 81.  นางจินตนา ชัยยวรรณาการ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 95/2557, 19 ก.ค.57)
  • 82.  นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 83.  นายพสุ โลหารชุน พ้นจากตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 84.  นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล พ้นจากตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและให้ดํารงตําแหน่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 85.  นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากตําแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 86.  นายจุฬา สุขมานพ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมเจ้าท่า(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 87.  นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ พ้นจากตําแหน่ง รองผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 98/2557, 21 ก.ค.57)
  • 88.  นายปฏิมา จีระแพทย์ พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 99/2557, 21 ก.ค.57)
  • 89.  นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการแทนผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 99/2557, 21 ก.ค.57)

หลังจาก คสช. มีคำสั่งและประกาศโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเกือบ 100 ราย แล้ว วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา คสช. มีหนังสือถึงทุกกระทรวง ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จนกว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จสิ้น แม้แต่ข้าราชการท้องถิ่น หรือตำรวจ ก็ถูกห้ามด้วย จากนั้นเมื่อมี ครม. แล้ววันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ ครม.  มีมติต่ออายุราชการ รวมถึงแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงต่างๆ อีกกว่า 40 ตำแหน่ง (อ่านรายละเอียด) ล่าสุด 2 ธ.ค.57 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอีกกว่า 50 ราย (อ่านรายละเอียด)
จากเหตุนักศึกษากลุ่มดาวดิน ชู 3 นิ้ว ใส่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขอนแก่น ต่อมี คำสั่งให้ตำรวจ 5 นาย ที่เป็นทีมอารักขา ประกอบด้วย พ.ต.อ.สุภากร คำสิงห์นอก รองผบก.ภ.จ.ขอนแก่น รักษาราชการแทน ผกก.เมืองขอนแก่น พ.ต.อ.พงศ์ฤทธิ์ คงศิริสมบัติ ผกก.สส.ภ.จ.ขอนแก่น พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.ต.จีรัชติกุล จรัสกมลพงษ์ สวป.เมืองขอนแก่น และ พ.ต.ต.ชาติชาย ทิมินกุล สว.สส.เมืองขอนแก่น ให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการภาค 4 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 57 เป็นต้นไป
รวมทั้งการโยกย้าย พร้อมดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรงหลายความผิด กับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ รอง ผบช.ก. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเวลาต่อมา จากวันที่ 11 พ.ย. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ลงนามในคำสั่ง สตช.ที่ 610/2557 ให้ ทั้งคู่ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยขาดจากตำแหน่งเดิม และมีคำสั่งให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.ก. ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2557 เป็นต้นไป 

จำคุก 2 ปีครึ่ง 'จ่าประสิทธิ์' คดี 112 ศาลอาญาไม่รอลงอาญา



ศาลสั่งจำคุก 5 ปีจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้จ่าประสิทธิ์ถูกจำคุกมาแล้ว 6 เดือนและไม่ได้รับการประกันตัว เบื้องต้นจำเลยไม่อุทธรณ์ ลูกสาวร่ำไห้โฮ
3 ธ.ค.2557 ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยจังหวัดสุรินทร์ ตกเป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน และไม่รอลงอาญา เนื่องจากศาลเห็นว่า ข้อความที่ปราศรัยทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย นับเป็นเรื่องร้ยาแรง อีกทั้ง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรย่อมต้องมีความรู้ผิดชอบ มีวิจารณญาณ ระมัดระวังคำพูดมากกว่าคนธรรมดา นอกจากนี้เขายังมีประวัติการทำผิดมาแล้วแล้วยังกระทำผิดอีกในความผิดที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น จึงไม่รอการลงโทษ
ทั้งนี้ จำเลยถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. รวมเวลาเกือบ 6 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว
ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษาเพียงสั้นๆ โดยไม่ได้กล่าวถึงคำฟ้องแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ก่อนศาลอ่านคำพิพากษาศาลได้สอบถามจำเลยว่ามีประวัติคดีอาญา 8 คดีโดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดีใช่หรือไม่ จำเลยรับว่าใช่ และภายหลังการอ่านคำพิพากษา ศาลได้แจ้งแก่จำเลยว่าตัดสินไปตามพยานหลักฐาน หากไม่พอใจคำพิพากษาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในหนึ่งเดือน จากนั้นจำเลยสอบถามศาลว่า หากไม่ต้องการอุทธรณ์ ใช้เวลานานเท่าใดคดีจึงจะเด็ดขาด ศาลกล่าวว่า หากจำเลยไม่อุทธรณ์ก็ต้องดูว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวจำเลยออกจากห้อง โดยไม่อนุญาตให้จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ส่วนลูกสาวจำเลยก็ร่ำไห้อย่างต่อเนื่อง 
สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นจากการปราศรัยของจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 จากนั้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเขาในความผิดมาตรา 112 ในอีกสองวันต่อมา ภายหลังรัฐประหารจ.ส.ต.ประสิทธิ์ถูกเรียกเข้ารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาทหารได้คุมตัวเขามาส่งมอบให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112
ในเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาคดี พร้อมกับยื่นขอประกันตัวหลายครั้งโดยครั้งหลังสุดนั้นได้ขอไต่สวนอาการป่วยด้วยโรคลมชักของเขาที่อาจถึงแก่ชีวิตด้วย ก่อนหน้าการยื่นประกัน ญาติของเขาแจ้งว่า เขามีอาการชักและหงายหลังล้มลงขณะออกมาเยี่ยมญาติและต้องนอนโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลายคืน อย่างไรก็ตามศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกัน โดยเชื่อว่าโรคของเขาไม่ร้ายแรงและเรือนจำสามารถดูแลได้ (รายละเอียดอ่านที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์)
ต่อมาจำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยทนายจำเลยระบุว่าจำเลยมีความจงรักภักดีและไม่ต้องการสร้างภาระให้กับศาล ข้อความการปราศรัยตามที่ถูกฟ้องมาต้องการหมายความถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้น

ยืนยกฟ้อง 'จตุพร' ศาลอุทธรณ์ชี้แสดงความเห็นโดยสุจริต-เป็นธรรมไม่หมิ่น 'รสนา'



ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 'จตุพร' ชี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท 'รสนา' กรณีให้สัมภาษณ์สื่ออ้างรสนาเป็นตัวตั้งตัวตีโยกคดี พธม.ยึดสนามบิน ไปอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ
3 ธ.ค.2557 ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายดำ อ.3982/2553 ที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2553 จำเลยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทำนองว่า มีความพยายามจะให้คดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยโจทก์เป็นตัวตั้งตัวตี
ซึ่งในคดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อ 19 ธ.ค.56 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า จำเลยไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริง การใช้ถ้อยคำเป็นลักษณะตั้งคำถาม และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ฯ
อย่างไรก็ตามต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ตามบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่โจทก์ทำหน้าที่ประธาน ได้มีการบรรจุวาระเกี่ยวกับการดำเนินคดีกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะเดียวกันก็มีการอภิปรายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวในวาระการประชุมครั้งที่ 18 /2553 ครั้งที่ 20/2553 และ ครั้งที่ 21/2553 และเมื่ออ่านข้อความเกี่ยวกับบันทึกการประชุม ก็อาจมีความเข้าใจได้ว่าจะมีการโอนคดีกลุ่มพันธมิตรฯ ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้ ดังนั้นข้อความที่จำเลยแถลงและหนังสือพิมพ์นำไปตีพิมพ์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีมูล นอกจากนี้ก็ได้เชิญ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผบ.ตร. และพล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมาประชุม จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามิได้มีการสอบถามถึงเรื่องการจะโอนคดี การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ทั้งนี้ ตามฟ้องโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.53 จำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ขณะนี้มีความพยายามโยกคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)โดยมีโจทก์เป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งมีตำรวจนายหนึ่งไปพบโจทก์ ทั้งที่ความจริงแล้ว โจทก์ไม่ได้เรียกให้นายตำรวจเข้าพบ รวมทั้งไม่มีอธิบดีดีเอสไอ เข้าพบ มีเพียงคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ที่จะเรียกให้คณะกรรมการสอบสวนเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงของคดีเท่านั้น โดยไม่มีผู้มีอำนาจในรัฐบาลคนใดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง การกระทำของจำเลย ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าโจทก์ ทำงานภายใต้การร้องขอของรัฐบาล หรือภายใต้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายและให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ เป็นเวลา 60 วัน ติดต่อกัน รวมทั้งโฆษณาคำพิพากษาในเว็บไซด์ของหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับอีก 15 เว็บไซด์ เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 90 วัน

ผบ.ทบ. เผยยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงปีใหม่ต้องดูสถานการณ์ ชี้หมิ่นสถาบันเป็นคนส่วนน้อยที่คิดแปลก


พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เผยยกเลิกกฎอัยการศึกพื้นที่ท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ต้องดูที่สถานการณ์ ชี้แม่ทัพภาคที่ 1 ปูดมีคนจ้าง น.ศ. 5 หมื่น ชู 3 นิ้ว อาจจะมีข้อมูล แต่ต้องตรวจสอบ ยันไม่ปิดกั้นแต่เห็นว่าไม่เหมาะสม ระบุคนหมิ่นสถาบันเป็นพวกคนส่วนน้อยที่มีความคิดแปลก
 3 ธ.ค.2557 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และลูกจ้างกองทัพบก ร่วมพิธีพร้อมเพรียง นอกจากนี้กองทัพบกร่วมกับ สถาบันพยาธิวิทยาศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฏ โรงพยาบาลพระมงกุฎ จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต”ร่วมใจบริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 87 พรรษา 5ธ.ค.57″ โดยมีกำลังพลร่วมบริจาคโลหิตจำนวนมาก
ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า กองทัพบกน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ทั้งในส่วนของกองทัพและร่วมสนับสนุนหน่วยงานอื่น เช่น พิธีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของทหารรักษาพระองค์ วานนี้(2 ธ.ค.) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กองทัพภาคภูมิใจ
เผยยกเลิกกฎอัยการศึกพื้นที่ท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ต้องดูที่สถานการณ์
พล.อ.อุดมเดช ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการยกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงปีใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อลดความกดดันกระแสการต่อต้าน ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้ายังมีสิ่งที่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษก็ยังต้องใช้อยู่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีแนวความคิดอะไรเลย ยอมรับว่ามี แต่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ถ้าสถานการณ์นิ่ง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่หากยังมีกระแสอะไรอยู่บ้าง ก็ยังจำเป็นอยู่
ชี้แม่ทัพภาคที่ 1 ปูดมีคนจ้าง น.ศ. 5 หมื่น ชู 3 นิ้ว อาจจะมีข้อมูล แต่ต้องตรวจสอบ
เมื่อถามว่า กลุ่มคนที่ชู 3 นิ้วเป็นปัจจัยที่ต้องคงกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คงต้องทำความเข้าใจ คิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจ ส่วนกรณี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวว่ามีการว่าจ้างนั้น แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้ามีอะไรก็มาถามตนได้ เรื่องนี้อาจจะมีข้อมูล แต่ต้องตรวจสอบต่อไป แต่กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นเด็กนักศึกษา ตนก็มีลูกและมีความเข้าใจ ไม่ได้ไปปิดกั้นอะไร แต่อยากตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำกับผู้นำสูงสุดของประเทศสมควรหรือไม่ ตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ลงพื้นที่ด้วยความตั้งใจดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องทำความเข้าใจ
“ผมขอร้องว่าอย่าให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต จากนี้ต่อไปมีอะไรขอให้ถามผม และไม่ต้องถามแม่ทัพภาคที่ 1 แล้ว ผมเป็นผู้บังคับบัญชาแม่ทัพภาคที่ 1 ผมจะตอบให้เอง เราไม่ได้ตั้งใจจะไปละเมิดอะไรต่าง ๆ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องหาข้อมูลและพูดอะไรออกไปบ้าง ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไป ขอให้ทุกคนเข้าใจ อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ต่อไป ส่วนผู้มีผลกระทบจะชี้แจงอะไร ทางกองทัพบกยินดีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าสิ่งไหนถูกต้องหรือไม่” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
เมื่อถามว่า มีนักการเมืองได้ขออนุญาต คสช.เดินทางต่างประเทศช่วงปีใหม่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ก็มี  เมื่อมีการดำเนินการผ่าน คสช. ก็จะพิจารณาความเหมาะสม หากบุคคลเหล่านั้นมีความเรียบร้อยดีและปฏิบัติตัวดีอยู่ในกรอบ ตนก็เข้าใจ
เมื่อถามว่ามีชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า  ยังไม่เห็น แต่โดยทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ละคนที่เดินทางไปต่างประเทศก็ให้ความร่วมมือกับ คสช. ซึ่งต้องขอขอบคุณด้วย และถ้าดำเนินการเรียบร้อยดีเช่นนี้ โรดแมปที่ คสช.กำหนดไว้ก็จะสำเร็จ
ระบุคนหมิ่นสถาบันเป็นพวกคนส่วนน้อยที่มีความคิดแปลก
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึง การกระทำละเมิดสถาบันบันเเละคดีหมิ่นสถาบัน ว่า ต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล
“คนเหล่านี้เป็นเพียงคนส่วนน้อยที่มีความคิดเเปลกไปจากคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ ผมไม่อยากพูดถึง” ผู้บ้ญชาการทหารบก กล่าว