วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก 26 ปี 8 เดือน คนสนิทเสธแดงค้าอาวุธสงคราม หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง


ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 26 ปี 8 เดือน “หรั่ง-สุรชัย” ค้าอาวุธสงคราม ชี้ประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องน่าเชื่อถือ ขณะทนายเตรียมยื่นฎีกา“

ศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.40 น. ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1223/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ1เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ31ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ อดีตคนสนิทของของ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง เป็นจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำหน่ายวัตถุระเบิดและอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอนุญาตให้ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 55, 78,พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 5, 7, 15 และ42

โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องสรุปความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553เวลากลางคืนจำเลยกับพวกมีและขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด หรือลูกระเบิด ซึ่งเป็นอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และเป็นยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยค้าอาวุธสงครามตามฟ้อง เนื่องจากขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนมีการปล่อยระยะเวลาทิ้งช่วงนานจนมีข้อพิรุธสงสัย อีกทั้งตัวจำเลยไม่ปรากฏว่ามีการหลบหนี ศาลจึงยกประโยชน์แห่งการสงสัยให้จำเลย และพิพากษายกฟ้อง แต่ให้คุมขังจำเลยไว้ในระหว่างรอขั้นตอนการอุทธรณ์คดี และให้ยึดอาวุธสงครามไว้ทั้งหมด

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลรับฟังได้ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นประจักษ์พยาน รู้จักกับจำเลยมาแล้วหลายปี และดื่มเหล้าด้วยกันหลายครั้ง ที่จำเลยอ้างว่า มีความขัดแย้งกันเรื่องผู้หญิงนั้น เป็นเหตุเพียงเล็กน้อย ไม่เชื่อว่า จะเป็นสาเหตุให้ปรักปรำจำเลย อีกทั้งจำเลยเป็นผู้เสนอขายอาวุธสงครามให้พยานเอง ไม่เช่นนั้นพยานคงไปดูของกลางที่ห้องพักจำเลยไม่ได้

ส่วนที่พยานเบิกความถึงจำนวนเงินที่ล่อซื้อไปนั้น เห็นว่าจำนวนเงินต่างกันเล็กน้อยเพียง 3,000 บาท และเป็นเงินที่เบิกจากราชการลับ ซึ่งไม่ใช่ข้อพิรุธ ส่วนที่ไม่ได้ถ่ายเอกสารเลขธนบัตรก่อนทำการล่อซื้อเพื่อเป็นหลักฐาน รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าร่วมวางแผนนั้น พยานเบิกความว่ากรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นการหวังผลในการล่อซื้อขยายผลไปถึงรายใหญ่

นอกจากนี้ที่พยานติดต่อล่อซื้ออาวุธปืนจากจำเลยอีกครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ก็ไม่ใช่ข้อพิรุธ และการที่ไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือเปรียบเทียบกับของกลาง ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะอาวุธสงครามมีการจับผ่านมาหลายมือ หลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษาจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 55 และ 78 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และความผิดตามพ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และ 42 ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุกจำเลย 20 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 92 คงจำคุกจำเลย 26 ปี 8 เดือน ยกคำขอให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำ 2542/2553 เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา

ภายหลังนายจิระศักดิ์ บุณณะ ทนายความ เปิดเผยว่า เคารพคำพิพากษาของศาล แต่ยังมีข้อไม่เห็นด้วยหลายประการ ซึ่งจะปรึกษาญาติเพื่อคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฎีกา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์ ถูกเจ้าหน้าที่อายัติตัวไว้ดำเนินคดีดังกล่าว หลังจากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จับกุมนายสุรชัย ได้เมื่อวันที่15 กรกฎาคม 2553 โดยขณะนั้นรายงานข่าวจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ แจ้งว่า นายสุรชัย เป็นผู้ต้องสงสัยว่าใช้อาวุธสงคราม ก่อเหตุยิงใส่ทหารบริเวณพื้นที่ที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และใช้เครื่องยิงระเบิด เอ็ม79 ยิงใส่สถานที่หลายแห่ง โดยก่อนก่อเหตุนั้นได้เปิดโรงแรมโกลเดนฮอส ถนนดำรงรักษ์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร กทม.เพื่อพักรอก่อเหตุสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง สำหรับอาวุธที่ยึดได้นั้น ได้แก่ เครื่องยิงเอ็ม79 กระสุนปืนกลขนาด 60 มิลลิเมตร ระเบิดมือชนิดต่างๆ เครื่องยิงพร้อมฐานที่ตั้งยิงลูกระเบิด กระสุนปืนเอ็ม79 ปืนอาก้า พร้อมกระสุนอีกจำนวนมาก ระเบิดทีเอ็นที ระเบิดซีโฟร์

แม้โลกไม่ติดต่อไทย คบกับจีนยังขับเคลื่อนได้? เปิดตัวเลขไทยขาดดุลจีนต่อเนื่องยาวนาน


หลังจากวันนี้ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)[1] ออกมากล่าวถึงการส่งชาวอุยกูร์ ว่าต่อให้ทั่วโลกไม่ยอมติดต่อกับไทย แต่หากได้คบหากับจีนและอินเดียที่มีพลังทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าประเทศไทยยังขับเคลื่อนต่อไปได้ ที่สำคัญไทยยังจำเป็นต้องชี้แจงให้คนไทยกันเองเข้าใจถึงข้อเท็จจริงถึงที่มาที่ไปของชาวอุยกูร์นั้นว่าเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากดุลการค้าระหว่างประเทศแล้ว ข้อมูลจากกรมศุลกากร[2] แม้ปี 58 จีนจะเป็นประเทศอันดับ 1 ที่มูลค่าการค้ากับไทยถึง 839,817.4 ล้านบาทหรือ 14.8 % แต่ก็เป็นตัวเลขที่ไทยเสียดุลการค้ากับจีนมาโดยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขจากกรมศุลกากร[3] เช่นกันพบว่า ไทยเสียดุลการค้าจีนและฮ่องกงไป 1.17 หมื่นล้านบาท เดือน เม.ย.58 อยู่ที่ 2.13 หมื่นล้านบาท และเมื่อย้อนกลับไประยะใกล้ 1 ปีที่ผ่านมา ไทยก็ขาดดุลกาค้ากับจีนและฮ่องกงต่อเนื่อง มิ.ย.57 ขาดดุล 711 ล้านบาท ก.ค.57 ขาดดุล 1.3 หมื่นล้านบาท ส.ค.57 ขาดดุล 732 ล้าน ก.ย.57 ขาดดุล 1 หมื่นล้านบาท ต.ค.57 ขาดดุล 1.73 หมื่นล้านบาท พ.ย.57 ขาดดุล 1.72 หมื่นล้านบาท ธ.ค.57 ขาดดุล 1.6 หมื่นล้านบาท ม.ค.58 ขาดดุล 3.27 หมื่นล้านบาท ก.พ.58 ขาดดุล 2.47 หมื่นล้านบาท มี.ค.58 ขาดดุล 2,471 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งสินค้าหลักที่ส่งออกไปจีนและฮ่องกง คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมทั้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากจีนและฮ่องกง คือ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ด้านอินเดีย แม้ไทยจะได้ดุลการค้าต่อเนื่อง แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ดุล 7,464 ล้านบาท เม.ย.58 ได้ดุล 7,864 ล้านบาท มี.ค.58 ได้ดุล 7,594 ล้านบาท ก.พ.58 ได้ดุล 8,307 ล้านบาท และ ม.ค.58 ได้ดุล 6,445 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มประเทศอย่างในทวีอเมริกาเหนือ ที่มีสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหลักนั้น ไทยได้ดุลการค้ามาโดยตลอด พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ดุล 3.8 หมื่นล้านบาท เม.ย. 58 ได้ดุล 3 หมื่นล้านบาท มี.ค.58 ได้ดุล 4.19 หมื่นล้านบาท ก.พ.58 ได้ดุล 3.45 หมื่นล้านบาท และ ม.ค.58 ได้ดุล 2.36 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปหรือ EU พ.ค.ที่ผ่านมา ไทยได้ดุล 6,983 ล้านบาท มี.ค.58 ได้ดุล 9,239 ล้านบาท ก.พ.58 ได้ดุล 5,653 ล้านบาท และ ม.ค.58 ได้ดุล 1,249 ล้านบาท เป็นต้น
‘สมภพ’ ชี้ จีนยังไม่ใช่ฟองสบู่แตก แต่ก็ลูกโป่งรั่วแล้ว หลังตลาดหุ้นปรับลดกว่า30% ช่วง 3 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์[4] รายงานความเห็นของภาคเอกชนกรณีสถานการณ์ตลาดหุ้นจีนที่ปรับลดลงกว่า 30% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย สมภพ มานะรังสรรค์ กรรมการสภาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนเป็นลักษณะลูกโป่งรั่ว ยังไม่ใช่ฟองสบู่แตก เป็นเพียงการถอนเงินลงทุนของต่างชาติออกไป เพราะตลาดหุ้นจีนยังไม่ได้เบ่งเต็มที่ ถ้าขึ้นมาต่อจากนี้อีก 3-6 เดือน หากเป็นไปลักษณะนี้แล้วปรับฐานลงมาก็มีโอกาสแตกได้เนื่องจากตลาดหุ้นจีนโตเร็วมาก ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังเย็บรอยรั่วลูกโป่ง โดยใช้มาตรการอัดฉีดเงินออกมา ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ซื้อหุ้นตัวเองกลับคืน และให้กองทุนต่างๆ มาช่วยกันซื้อหุ้น ห้ามขายหุ้น และนำเอาบรรดากองทุนสวัสดิการสังคม บริษัทประกัน มาร่วมซื้อหุ้นด้วย คือระดมทุกอย่างเพื่อพยุงตลาดหุ้นที่ทรุดหนักมาก แต่ยังไม่ทันได้แตก ขณะเดียวกันการเย็บรอยรั่วครั้งนี้ไปแล้วจะไม่ทำให้ลูกโป่งบวมขึ้นมาเหมือนเดิม ดังเช่นช่วง 1 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 6 เดือนหลังที่นักลงทุนรายย่อยของจีนค่อนข้างลงทุนอย่างขาดสติ ดังนั้นรัฐบาลจีนคงระดมสรรพกำลังทุกทางพยุงตลาดเงิน ตลาดทุนของจีนไว้ให้ได้
ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (จีดีพี) ชะลอตัวลง จากปัญหาการส่งออก-นำเข้า มีกำลังการผลิตล้นเกิน จีนหวังว่าจะกระตุ้นตลาดหุ้น ทำให้คนมีเงินมากขึ้น ก็จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และต้องการให้ภาคการเงินมาช่วยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ให้กระเตื้องเป็นเรื่องเป็นราว จะช่วยให้จีดีพีกระเตื้องขึ้น แต่เมื่อกระเตื้องขึ้นแล้วก็มีปัจจัยเสี่ยงตามมาคือฟองสบู่ตลาดหุ้น ผลกระทบจากตลาดหุ้นจีนทรุดนั้น คาดจะทำให้ 1.การบริโภคในจีนที่ทำท่าจะดีขึ้นก็ชะลอตัวลง เมื่อการบริโภคชะลอตัวลงโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจคงยากขึ้น 2.คงเกิดความเสียหายไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเงินออมของประชาชน ทั้ง 10 ล้านคนที่เป็นรายย่อยที่ระดมเงินเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น จีดีพีของจีนปีนี้ที่จะทำให้เติบโต 7% ก็คงจะทำได้ยากขึ้น เพราะมาตรการ 2 ตัวให้ช่วยเศรษฐกิจมีพลังน้อยลงมากทั้งจากการบริโภคในประเทศและอสังหาริมทรัพย์
ส่วนผลกระทบต่อไทย จากตลาดหุ้นจีนดิ่งอย่างเร็ว คือ1.การส่งออกไทยที่ทรุดอยู่แล้วก็ยากที่จะฟื้นเพราะการส่งออก 5 เดือนแรกของไทยปีนี้อยู่ที่ - 4.2% และจีนเป็นตลาดที่ส่งออกสำคัญของไทยคิดเป็นสัดส่วน 13% โอกาสกอบกู้ส่งออกให้เป็นบวกก็ยิ่งยากขึ้น อย่างไรก็ตามระยะสั้นก็คงมีปัญหา ระยะยาวก็น่าจะค้าขายกันต่อไป จีนก็จะเติบโต 6-7% ไปอีกหลายปี
2.การลงทุนของจีนที่ทำท่าจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นก็ชะลอตัวลง เพราะบริษัทจำนวนมากที่มีโอกาสเข้าลงทุนไทยก็เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน การลงทุนของจีนในไทยและจีนในอาเซียนก็จะชอตัวลง 3.ที่สำคัญมาก คือ ภาคการท่องเที่ยว ปีนี้ที่คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยราว 6-7 ล้านคนอาจไม่เป็นตามเป้า 4.ทำให้ตลาดหุ้นของไทยและในอาเซียน ประเทศอื่นปั่นป่วน สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยพอรับมือได้คือบริหารความเสี่ยง ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างระมัดระวัง ด้วยความรอบคอบวิเคราะห์ถูกต้อง ครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องไม่ได้มีปัจจัยเดียวจากจีน ภายในไทยเองก็มีปัญหาต่างๆ เช่น ภัยแล้ง คาดว่าการขยายตัวจีดีพีปีนี้ของไทยจะทรงๆ และอยู่ที่ 3% จากปัจจัยฐานการขยายตัวจีดีพีปีที่ผ่านมาต่ำ และปีนี้การลงทุนภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศคือตัวหลักที่จะช่วยดึงจีดีพี
รมว.การท่องเที่ยว เข้าใจการค้าขายแบบจีน อ้าแขนรับ "ทัวร์ศูนย์เหรียญ"
ขณะที่หันมาดูด้านการท่องเที่ยวแล้ว แม้ทัวร์จีนจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น แต่ยังมีกำลังซื้อน้อยและส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวตลาดล่างถึงระดับกลางเห็นหลัก เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวยุโรปที่จะใช้จ่ายมากกว่า   รวมทั้ง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ของธุรกิจทัวร์จีน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา[5] เปิดเผยถึงปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจีนในประเทศไทยว่า ต้องเข้าใจว่ารูปแบบการทำธุรกิจของคนจีนเป็นแบบนี้ คงไม่สามารถไปเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เมื่อใดที่สัดส่วนของนักท่องเที่ยว จีนที่เดินทางมาด้วยตัวเองสูงขึ้น เรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญก็จะลดลง
โดยต้องเข้าใจด้วยว่าทัวร์ศูนย์เหรียญไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นลักษณะของทัวร์จีนที่เกิดขึ้นกับการเดินทางไปท่องเที่ยวในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเป็นเรื่องที่ไม่ได้แอบพูด เป็นเรื่องพูดกันบนโต๊ะ เป็นการค้าขายหรือทำธุรกิจแบบคนจีนที่ยอมขายทัวร์ขาดทุน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้มาอยู่ในมือก่อน แล้วไปหากำไรเอาข้างหน้า เหมือนค่ายรถยอมขายรถยนต์ขาดทุน หรือค่ายโทรศัพท์มือถือที่ยอมขายเครื่องขาดทุน แล้วค่อยไปหากำไรจากการให้บริการ
“ในแง่ของค่าใช้จ่ายของทัวร์จีนที่นำมาใช้จ่ายในไทยก็ถือว่าไม่มีปัญหา และทัวร์จีนก็มีคุณภาพมากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น สิ่งที่เราจะทำได้คือต้องหาทางให้ได้เม็ดเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยตัวเอง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่จะไปปฏิเสธกรุ๊ปทัวร์ไม่ได้ และนักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์ ก็มักจะมาเป็นครั้งแรก ซึ่งคนที่มาครั้งแรกก็จะมีความจดจำและประทับใจ ที่รัฐบาลต้องทำก็คือการเสนอให้ไปแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆให้มากขึ้น” กอบกาญจน์ กล่าว
ททท. เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนระดับกลางถึงระดับบน
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์[6] รายงานว่า ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. เปิดเผยว่า ในปีนี้ททท.จะมุ่งผลักดันให้นักท่องเที่ยวจีนเป็นทัวร์คุณภาพมากขึ้น โดยมุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงระดับบน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีรายได้เฉลี่ย 2-6 หมื่นเหรียญสหรัฐ/ปี เทียบจากที่ผ่านมาคนจีนที่เดินทางมาไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวตลาดล่างถึงระดับกลางเป็นหลัก
ทั้งนี้ททท.เตรียมรุกตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยครั้งแรกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้สูงขึ้น โดยตั้งเป้าการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีนปีหน้า เฉลี่ย 5.01 หมื่นบาท/ทริป เทียบกับปีนี้ 4.48 หมื่นบาท/ทริป จะขยายฐานนักท่องเที่ยวในแถบจีนตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและบางส่วนยังไม่เคยเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งในปีหน้าตั้งเป้าคนจีนเดินทางมาไทยปีหน้า 8 ล้านคน สร้างรายได้ 4.01 แสนล้านบาท เทียบกับปีนี้ 7.5 ล้านคน สร้างรายได้ 3.3 แสนล้านบาท

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาให้ อสมท.ไม่ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บ.ไร่ส้ม


17 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (17 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยให้ยกฟ้องคดีที่บริษัทไร่ส้ม จำกัด ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ อสมท. ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินในการออกอากาศรายการ คุยคุ้ยข่าว เมื่อปี 2548-2549 จำนวน 253,026,691.12 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยของเงินต้นจำนวน 215,199,633.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
 
โดยศาลเห็นว่าการที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาที่เกินเวลาในอัตราร้อยละ 30 ให้กับบริษัทไร่ส้ม ไม่เป็นการผิดสัญญา เนื่องจากสัญญาร่วมรายการโทรทัศน์ ระหว่าง บริษัทไร่ส้ม กับ อสมท. ทุกฉบับมีลักษณะ เป็นการตกลงกันของคู่สัญญาที่จะจำหน่ายเวลาโฆษณาในอัตราราคาที่เท่ากันเพื่อไม่ให้จำหน่ายตัดราคา สำหรับส่วนลดและกลยุทธ์การขาย ให้เป็นไปตามที่บริษัทไร่ส้มตกลงไว้กับสำนักการตลาดของ อสมท. โดยให้คำนึงถึงภาวะการตลาดในเวลานั้น ขณะที่เวลาโฆษณาตามสัญญาที่ตกลงกันระบุว่า หากบริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่ได้รับ บริษัทไร่ส้มยินยอมที่จะชำระค่าโฆษณาให้กับ อสมท.ในอัตราที่กำหนดไว้ และบริษัทไร่ส้มสามารถจำหน่ายเวลาโฆษณาได้มากกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดได้ แต่สิทธิที่จะได้รับส่วนลดสัญญาไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนว่า บริษัทไร่ส้มจะได้รับส่วนลดหรือไม่ในอัตราใดแต่เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกันเป็นกรณีไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงตั้งแต่มีออกอากาศ บริษัทไร่ส้มมีการโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญามาโดยตลอด ซึ่งบริษัทไร่ส้มได้ส่งเพียงใบคิวโฆษณาให้ฝ่ายออกอากาศโทรทัศน์ แต่ไม่มีหนังสือขอซื้อเวลาและขอส่วนลดมายังสำนักการตลาด อสมท. ซึ่งใบคิวเป็นเอกสารที่มีเพียงรายการและเวลาโฆษณาไม่มีรายมือชื่อผู้รับผิดชอบ จึงไม่อาจเป็นการซื้อโฆษณาและขอส่วนลดได้ และเมื่อ อสมท. มีหนังสือเรียกให้ชำระค่าโฆษณา บริษัทไร่ส้มก็ฃจ่ายค่าชำระโดยไม่มีการโต้แย้ง จึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้มีการหักส่วนลดทางการค้าในอัตราร้อยละ 30 ของค่าโฆษณาส่วนเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาตามที่สัญญาได้กำหนดไว้ บริษัทไร่ส้มจึงไม่มีสิทธิได้ส่วนลดทางการค้า
 
ในคำพิพาษากระบุว่า การที่บริษัทไร่ส้มชำระโฆษณาส่วนเกิน เต็มตามจำนวนโดยไม่โต้แย้งคัดค้านถึง 2 ครั้ง ทั้งที่ อสมท.ระบุในหนังสือลงวันที่ 20 ต.ค. 2549 ว่าไม่สามารถพิจารณาส่วนลดได้ เพราะบริษัทไร่ส้มไม่ปฏิบัติตามสัญญา ย่อมแสดงว่าบริษัทไร่ส้มไม่ติดใจในส่วนลดการค้าดังกล่าว หากมีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับส่วนลด ก็ไม่สมควรต้องชำระเงินดังกล่าวและย่อมเป็นหน้าที่ของ อสมท. ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาหรือฟ้องต่อศาล กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าบริษัทไร่ส้มได้ชำระเงินเพื่อป้องกันข้อครหาของสาธารณชน เพื่อไม่ให้มีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทไร่ส้มดังที่ศาลปกครองกลางวินิฉัย เนื่องจากบริษัทไร่ส้มอาจชำระเฉพาะค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลา โดยไม่ชำระในส่วนลดทางการค้าที่บริษัทไร่ส้มเห็นว่ายังมีข้อต่อสู้อยู่ได้ ซึ่งไม่มีผลต่อความเชื่อถือของประชาชน ดังนั้นการที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาส่วนที่เกิน ให้บริษัทไร่ส้มจึงไม่เป็นการผิดสัญญาและ อสมท. ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนลดดังกล่าวให้บริษัทไร่ส้มแต่อย่างใด
 
สำหรับ อสมท. มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญา ให้บริษัทไร่ส้มหรือไม่ ศาลฯเห็นว่าสัญญาที่ทั้งสองตกลงกันในเรื่องของการแบ่งเวลาโฆษณาเป็นลักษณะไทม์แชร์ริ่ง หรือแบ่งในสัดส่วนที่เท่าๆกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีรายได้เท่าเทียมกัน หรือมีสิทธิหารายได้เพียงเท่าที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ ซึ่งในกรณีที่ อสมท. จำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนด ในสัญญาก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่าให้ อสมท.ต้องชำระเงินค่าโฆษณาให้บริษัทไร่ส้มแต่อย่างใด เพราะการที่กำหนดเช่นนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เมื่อมีการใช้เวลาโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดในสัญญาผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มคือ อสมท. ที่เป็นเจ้าของสถานีและเจ้าของเวลาออกอากาศ เพราะไม่ว่า อสมท. จะจำหน่ายค่าโฆษณาได้น้อยกว่าหรือเท่ากับหรือเกินเวลาในสัญญาก็ไม่เกี่ยวกับการหารายได้เวลาจำหน่ายเวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้ม เนื่องจากสัญญากำหนดชัดเจนว่า บริษัทไร่ส้มต้องชำระโฆษณาส่วนที่เกินเวลาให้กับ อสมท. ดังนั้น อสมท.จึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินส่วนแบ่งเวลาตามสัญญาให้กับบริษัทไร่ส้ม
 
สำหรับประเด็นบริษัทไร่ส้มจะต้องชำระเงินค่าส่วนลดทางการค้าของค่าโฆษณา ส่วนที่เกินเวลาในเดือน ก.ค.2549 ให้กับ อสมท.หรือไม่ ศาลฯเห็นว่า แม้บริษัทไร่ส้มจะไม่แจ้งโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาไปยังสำนักการตลาดของ อสมท. แต่ตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ลงวันที่ 29 ส.ค. 2550 และสัญญาท้ายคำให้การว่าบริษัทไร่ส้มและ อสมท. ได้ทำสัญญาโฆษณาของเดือน ก.ค. 2549 จำนวน 2 ฉบับในวันที่ 26 ก.ค. 2549 จึงเป็นกรณีที่ อสมท. ตกลงยินยอมให้ส่วนลดทางการค้า แก่บริษัทไร่ส้มตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว และแม้จะพบว่าสัญญาดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ ของ อสมท. อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ แต่ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายใน ไม่มีผลให้สัญญาโฆษณาหรือส่วนลดเป็นโมฆะ จนนำมาอ้างลบล้างสิทธิในการที่บริษัทไร่ส้มจะได้รับส่วนลด แต่เนื่องจากกรณีส่วนลดทางการค้านี้ อสมท. ได้ฟ้องเป็นคดีและศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้นางสาวบุณฑณิก บูลย์สิน เจ้าหน้าที่ของ อสมท.รับผิดชดใช้เงินที่ให้ส่วนลดแก่บริษัทไร่ส้มไปแล้ว ดังนั้นบริษัทไร่ส้มจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาชำระเงินให้ส่วนลดทางการค้าแต่อย่างใด การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้ อสมท. ชำระเงินจำนวน 55,777,019.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยล 7.5 ต่อปีของเงินต้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

พิพากษากลับยกฟ้อง 'ชวนนท์' หมิ่น 'สุรพงษ์'


ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง"ชวนนท์"หมิ่น"สุรพงษ์" ปมกล่าวหาเอื้อประโยชน์กัมพูชา ชี้เป็นการตั้งคำถาม
 
สำนักข่าว TNN รายงานว่าวันนี้ (17ก.ค. 2558) ศาลอาญารัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กล่าวหาเอื้อประโยชน์กัมพูชา จากกรณีวันที่ 24-25 ก.ย. 2554 นายชวนนท์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทำนองว่า นายสุรพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีคำสั่งปลดนายอัษฎา ชัยนาม ประธานเจบีซี ออกจากตำแหน่ง และให้นายวีรชัย พลาศรัย ออกจากกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศกัมพูชา
 
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นายชวนนท์ 2 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ติดต่อกัน 7 วัน ต่อมานายชวนนท์ ยื่นอุทธรณ์ว่า เป็นการแถลงข่าวในทำนองตั้งคำถามเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
 
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแถลงข่าวของนายชวนนท์ เป็นการตั้งคำถามในเชิงสงสัยไปยังนายสุรพงษ์ ว่า เหตุใดจึงย้ายนายอัษฎา และนายวีรชัย เป็นการตั้งข้อสงสัย คาดการณ์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อุทธรณ์ของนายชวนนท์ ฟังขึ้น พิพากษากลับยกฟ้อง

สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง เพศที่ 3 ก็ไม่ยกเว้น


สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรองไว้พิจารณาด้วยคะแนน 189 เสียง แนะควรชี้แจงถึงกรอบหน้าที่ แนวทางปฏิบัติ ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับให้ชัดเจน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มี พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง รมช.กลาโหมชี้กำลังพลจะต้องเกณฑ์ทหารตามปกติ บุคคลเพศที่ 3 ตามบทบัญญัติไม่ได้ระบุให้ยกเว้น
 
17 ก.ค. 2558 วิทยุรัฐสภา รายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำลังพลสำรอง พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอโดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้และได้แสดงข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะไว้อย่างหลากหลาย อาทิ ควรชี้แจงถึงกรอบหน้าที่ แนวทางปฏิบัติ ระยะเวลาการฝึก ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ การรับบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรอง สิทธิของนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นกำลังผลสำรองอย่างละเอียดชัดเจน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีพ.ร.บ.กำลังพลสำรอง นอกจากนี้ได้เสนอว่า ควรให้ รมต.กลาโหมเป็นประธานคณะกรรมการกำลังพลสำรอง (คกส.) หรือไม่ พร้อมตั้งข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าหากเป็นกำลังพลสำรองแล้วไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารหรือไม่
 
ด้านพล.อ.ดุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการที่เห็นว่าควรให้ รมต.กลาโหมเป็นประธาน คกส.นั้น เนื่องจากกำลังพลสำรองไปเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ครอบคลุม การสั่งการมีประสิทธิภาพจึงกำหนดให้ผู้ที่เป็นประธานมีระดับสูงกว่าเจ้ากระทรวง และที่ว่าจำนวนกำลังพลสำรองมีกว่า ล้านคน ที่บรรจุทุกเหล่าทัพจะบรรจุในส่วนของกำลังพลเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์และในแต่ละปีจะใช้กำลังพลหมุนเวียนกัน 45,000 คน ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะดำเนินการบรรจุตามนี้ แต่หากมีเหตุจำเป็นเช่น เกิดสงคราม เกิดภัยพิบัติรุนแรง ก็อาจจะต้องเรียกเกินจำนวนที่ระบุไว้ ส่วนระยะเวลาการฝึกที่ระบุไว้ 2 เดือนก็เพื่อให้เกิดความครอบคลุม แต่ถึงเวลาฝึกจริงจะไม่ถึงที่ระบุไว้ จึงไม่กระทบกับภาระของนายจ้างและลูกจ้างมากนัก
 
รมช.กลาโหม ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า กำลังพลจะต้องเกณฑ์ทหารตามปกติ บุคคลเพศที่ 3 ตามบทบัญญัติไม่ได้ระบุให้ยกเว้น พร้อมกันนี้จะขอรับข้อเสนอที่ว่า ให้ประชาสัมพันธ์ความจำเป็นหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตและต้องเรียกกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่ให้ประชาชนทราบอย่างระเอียดเพื่อความร่วมมือในการปฏิบัติ ไปพิจารณา จากเหตุผลที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตราพ.ร.บ.นี้ ซึ่งเป็น ร่างพ.ร.บ.ที่รวบรวมเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อสะดวกต่อการบังคับใช้และแก้ปัญหาเหตุการณ์วิกฤติของประเทศชาติได้อย่างทันท่วงที
 
ภายหลังอภิปรายและรับฟังคำชี้แจงจากรมช.กลาโหม ที่ประชุมมีมติเห็นรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.กำลังพล พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 189 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 60 วัน 

ยกร่าง รธน. ตัดสิทธิผู้ถูกถอดถอนจากทุจริตสมัคร ส.ส.-ส.ว.ตลอดไป


ยกร่าง รธน. ยืนตัดสิทธิผู้ที่ถูกถอดถอนในคดีทุจริต หรือต้องคำพิพากษาฐานประพฤติมิชอบ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ลงเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ตลอดไป ตั้งคณะกรรมการประเมินผลหลังใช้รัฐธรรมนูญ 5 ปี
 
 
17 ก.ค. 2558 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา วันที่ 5 ว่าคณะกรรมาธิการได้พิจารณามาตราที่แขวนเอาไว้เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่าได้ข้อยุติแล้ว โดยยังคงมาตรา 111 (8)  ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าประพฤติมิชอบ หรือกระทำการให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ตลอดไป เช่นเดียวกับกรณีของผู้ที่เคยถูกถอดถอน จาก 4 ฐานความผิด คือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ห้ามลงสมัครส.ส.ตลอดไปเช่นกัน
 
“แต่หากถูกถอดถอนกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือหรือถูกถอดถอนอันเหตุมาจากการจงใจที่ใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะห้ามลงสมัครตามห้วงเวลาที่ศาลวินิจฉัย ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เป็นไปตามคุณสมบัติผู้สมัครส.ส.เช่นกัน” พลงองเลิศรัตน์ กล่าว
 
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 33/1 โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ย่อมมีเสรีภาพในการกระทำ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำการในลักษณะดังกล่าวให้เลิกกระทำและศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งยุบพรรคได้ แต่ห้ามใช้กับกรณีที่ส.ส. ส.ว.หรือพรรคการเมืองดำเนินการตามหน้าที่
 
“ส่วนเรื่องจริยธรรมในหมวดว่าด้วยผุ้นำการเมืองที่ดี บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และเพิ่มมาตรา 71 วรรคหนึ่ง โดยให้ตรวจสอบแบบฟอร์มการยื่นภาษีย้อนหลัง 5 ปีผู้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ โดยให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง
 
 
ตั้งคณะกรรมการประเมินผลหลังใช้รัฐธรรมนูญ 5 ปี
 
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจาณาภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยเห็นชอบร่วมกันว่าจะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ปฏิรูป และสร้างความปรองดอง เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งให้คณะกรรมาธิการฯพิจารณาและนำมาเสนอในสัปดาห์หน้า ว่าแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และสภาปฏิรูปและสร้างความปรองดอง รวมทั้งกรรมการด้านต่าง ๆ ควรจะมีโครงสร้างอย่างไร โดยยุบรวมเนื้อหาจาก 15 มาตราเหลือเพียง 4 มาตรา กำหนดเพียงหัวข้อและแนวทางที่อยากเห็นการปฏิรูปเดินหน้า แต่รายละเอียดจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก โดยให้อนุกรรมาธิการฯจัดทำให้แล้วเสร็จในวันที่ 22 ส.ค. ตั้งเป้าจะส่งร่างกฎหมายลูกเรื่องปฏิรูปและการสร้างความปองดองพร้อมร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ สปช.ในวันเดียวกันหากคณะกรรมาธิการยกร่างขยายการทำงานไป 30 วัน
 
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาในบทสุดท้ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังยึดแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญร่างแรก ในมาตรา 303 ที่จะกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าเมื่อครบรอบ 5 ปีให้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 6 เดือน และให้ส่งรายงานพร้อมข้อเสนอการแก้ไขไปให้สภาและคณะรัฐมนตรี โดยที่อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขหรือไม่ ยังเป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอโดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมรัฐสภาซึ่งในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังกำหนดเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่แก้ไขไม่ได้ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ แก้ไขได้โดยรัฐสภาใช้เสียง 2 ใน 3 และแก้ไขได้แต่ต้องนำไปทำประชามติ
 
สำหรับในวันนี้จะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6-7 เรื่องให้แล้วเสร็จ เช่น เรื่องเอกสิทธิของสมาชิกรัฐสภา เรื่องคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติในมาตรา 121 เรื่องการที่ ส.ส.มีคะแนนน้อยกว่าผู้ประสงค์ไม่ใช้สิทธิจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา และยังมีเรื่องบทเฉพาะกาลที่ต้องดำเนินการภายในวันถัดไป หากเสร็จก็จะทบทวนตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้ายต่อไป