เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการใช้อาวุธโดยเฉพาะอาวุธสงครามเพื่อกระทำรุนแรงต่อกลุ่มผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง ประณามการใช้อาวุธโดยเฉพาะอาวุธสงครามเพื่อกระทำรุนแรงต่อกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุมกลุ่มของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้ง 2 แห่ง ที่มีผลทำให้เด็กเสียชีวิต ณ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 เวลาประมาณ 21.00 น. โดยผู้ก่อความไม่สงบใช้ระเบิดสังหาร อาวุธสงคราม จนกระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 35 ราย และเสียชีวิต จำนวน 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 5 ปี และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณแยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานครขึ้นอีก โดยผู้ก่อความไม่สงบใช้ระเบิดสังหาร จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 21 ราย และผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กอายุ 4 ปี และอายุ 6 ปี ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงสูงสุด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่โหดร้ายทารุณไร้มนุษยธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือ และขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียและญาติมิตรในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเหตุการณ์เหล่านี้ยังดำเนินต่อไป คาดว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง และความแตกร้าวยิ่งขึ้นในสังคมไทย จนยากที่จะเยียวยา อันเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทุกฝ่ายไม่ปรารถนา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความสงบและเรียบร้อยอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติ ดังนี้
- 1. ผู้ที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องยุติการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที เพราะการกระทำดังกล่าวนอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อมนุษยธรรมอีกด้วย
- 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเร่งดำเนินการสืบสวน และสอบสวน เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายในทุกเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บและทรัพย์สิน เนื่องจากหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น แต่ไม่ปรากฏความคืบหน้าในการดำเนินการให้เห็นผลใด ๆ จึงจำเป็นต้องแถลงให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และความคืบหน้าให้สาธารณชนได้รับรู้เป็นระยะโดยเร็ว
- 3. ผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานร่วมกันในการสร้างระบบการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม ตลอดจนมาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวังและป้องปรามผู้ไม่หวังดีที่ก่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม
- 4. รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องทำการสืบสวนสอบสวน จับกุม กวดขันและหาข่าวการนำอาวุธสงครามมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนหรือระเบิดที่ใช้ในสงคราม โดยที่ผู้กระทำไม่เกรงกลัวต่อความผิดกฎหมายบ้านเมือง กระทำต่อบุคคลที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีอาวุธ ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นการละเมิดหลักนิติธรรม ทั้งไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมสากลที่เป็นที่ยอมรับ
- 5. รัฐบาลจะต้องให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ การเยียวยาผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่เสียชีวิตจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้เป็นมาตรฐานเพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยการให้หลักประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมและเยียวยาทุกฝ่าย ทั้งในรูปเงินช่วยเหลือ การฟื้นฟู การช่วยเหลืออื่นๆ และการเยียวยาด้านจิตใจโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และเป็นที่คาดหวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันดำเนินมาตรการในอันที่จะใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และต้องช่วยกันสอดส่อง ระงับ ยับยั้ง แก้ไข และระมัดระวังถึงภยันตรายทั้งปวงที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประเทศต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 กุมภาพันธ์ 2557