วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศาลฎีการับฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว พิจารณานัดแรก 19 พ.ค.นี้


19 มี.ค. 2558 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน รองหัวหน้าคณะทำงานอัยการ ที่รับผิดชอบคดีโครงการจำนำข้าวและระบายข้าว เดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย
ล่าสุด ศาลฎีกานักการเมือง สั่งรับคดีอัยการสูงสุด ฟ้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบโครงการจำนำข้าว นัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ 19 พ.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้อง กรณีละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาทหรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค. ว่า การดำเนินการในวันที่ 19 มี.ค. เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานอัยการ ในกรณีที่ศาลจะพิจารณาคำฟ้องของพนักงานอัยการว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปที่ศาล ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายความ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปที่ศาล แต่จะรอฟังผลการพิจารณาของศาลก่อนว่าจะออกมาอย่างไร จากนั้นจึงค่อยมาว่ากันอีกทีว่า ทีมทนายความจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไร


ยิ่งลักษณ์แถลงผ่านเฟซบุ๊ก สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ขาดหายไป
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 11.26 น. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
 มีรายละเอียด ดังนี้
"ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องดิฉันในคดีเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าวในวันนี้นั้น
ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ดิฉันทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับใช้พี่น้องประชาชนตามที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างครบถ้วนถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ข้อกฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของทางราชการทุกประการ และต้องการเห็นประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่ชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด
ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งว่า คดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่กล่าวหาดิฉันนี้ ถือเป็นคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ อันเป็นนโยบายที่ประชาชนได้มอบหมายความไว้วางใจตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยให้ดิฉันมาดำเนินการ และเมื่อมีการเสนอนโยบายดังกล่าวต่อประชาชนและเกิดเป็น “ฉันทามติ” ของประชาชนที่ต้องการให้ “กลไกตลาด” เป็นธรรม สะท้อนความเป็นจริงและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา เพราะที่ผ่านมาชาวนาเป็นผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองในตลาดได้ การกำหนดราคาตกอยู่ในมือของผู้ซื้อโดยสิ้นเชิง คดีนี้จึงเป็นคดีที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีผลต่อบรรทัดฐานและการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในอนาคต
ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” ที่พึงต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาเพื่ออำนวยความยุติธรรมนั้น ได้ขาดหายไปในคดีที่เกี่ยวกับตัวดิฉัน เห็นได้จากรายงานและสำนวนคดีพร้อมความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เองก็ระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีพยานหลักฐานว่าดิฉันกระทำการทุจริตหรือสมยอมให้ผู้ใดทุจริต” แต่ก็มีการชี้มูลความผิดกับดิฉัน และก่อนหน้าที่อัยการสูงสุดจะฟ้องคดี อัยการสูงสุดได้ชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของคดีนี้หลายเรื่องตามที่เป็นข่าวทราบกันโดยทั่วไป และต่อมาทั้งที่ทางอัยการยังไม่ได้มีการสืบพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะฟ้องคดีนี้ แต่กลับมีการเร่งรีบที่จะส่งฟ้อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นไปตามกระบวนการปกติที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ดี แม้เมื่อศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้ ดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์และเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่จะนำมาพิสูจน์ความจริงต่อศาลตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลตามที่กฎหมายกำหนดว่า ดิฉันมิได้กระทำความผิดใดๆทั้งสิ้น
ดิฉันเพียงหวังว่าในการพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกาฯ ดิฉันจะมีสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และมีโอกาสเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของดิฉันในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ

ที่สำคัญดิฉันขอให้มีการพิจารณาอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ปราศจากอคติใดๆ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดิฉันเห็นว่า ดิฉันยังไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในชั้นที่ถูกกล่าวหา และมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่จะทำลายดิฉันเข้ามาแทรกซ้อนโดยตลอด
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้โปรดยุติการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ หยุดกดดันหรือชี้นำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนกว่ากระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ จะเสร็จสิ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกลับคืนสู่สังคมไทยต่อไป"

สปสช.แจงผลสอบดีเอสไอไม่พบทุจริต กรณีใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ

18 มี.ค.2558 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่มีรายงานข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมของ(อภ.) ที่ให้แก่สปสช. นั้น สปสช.ขอชี้แจงว่าประเด็นที่ดีเอสไอตรวจสอบนั้น สืบเนื่องจาก กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้เสนอให้ดีเอสไอสอบสวนการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐดังกล่าว ตั้งแต่ 3 ก.ย. 56 ต่อมา 9 ก.ย. 56 ดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวน และ 31ต.ค. 56 ดีเอสไอได้แจ้งผลการสืบสวนไปยังปลัดสธ. ต่อมาวันที่ 13 ม.ค. 57 ดีเอสไอได้เสนอรายงานการสอบสวนให้ รมว.สธ.ขณะนั้นรับทราบ จากนั้น 15 ม.ค.57 รมว.สธ.ขณะนั้นได้สั่งการให้ประธานบอร์ดอภ.ขณะนั้นหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในประเด็นการใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ อภ.ที่มอบให้สปสช. และได้ข้อสรุปที่เป็นไปในทางเดียวกับผลสรุปของดีเอสไอว่า ไม่พบพิรุธหรือทุจริตการใช้เงิน แต่ให้ดำเนินการให้ถูกตามระเบียบ ดังนี้
สตง.ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและแจ้งให้ อภ.ทราบว่า เงินที่ อภ.จัดสรรเป็นเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐให้แก่ สปสช. เป็นเงินที่เกิดมาจากการที่ สปสช.ได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์ยาด้วยเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับมาตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงเป็นสิทธิของ สปสช.โดยชอบที่จะต้องพิจารณาจัดสรรเงินที่ได้รับมาด้วยตนเองให้ไปยังหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยบริการภาครัฐทั้งที่อยู่ในสังกัด สป.สธ. และอยู่นอกสังกัด สป.สธ. และหน่วยบริการภาคเอกชนตามข้อเสนอแนะของ สตง. และยังระบุตอนท้ายว่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง หาก สปสช.พิจารณาให้สป.สธ. เป็นผู้ดำเนินการแทนอาจถือเป็นการขัดต่อข้อบังคับของ อภ.ไม่ตรงประเด็นตามข้อเสนอแนะของ สตง. และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้
“เมื่อ สตง.มีข้อเสนอแนะ สปสช.ก็ปฎิบัติตามนั้น ไม่มีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ สป.สธ.แต่อย่างใด ทั้งนี้ สปสช.ขอชี้แจงว่า สตง.ไม่ได้ท้วงติงว่า สปสช.มิได้ส่งเงินนี้ให้กับหน่วยบริการ และนำไปจัดสรรให้กลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการแต่อย่างใด ประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิด นอกจากนั้น บอร์ด สปสช.ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจาก อภ.ให้เป็นการนำไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ ตามที่ สตง.ได้เสนอแนะเพิ่มเติมอีกด้วย” ทพ.อรรถพร กล่าว
โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอชี้แจงประเด็นที่มีการเข้าใจผิดว่า เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐเป็นเงินส่วนลดจากการซื้อยานั้น ข้อเท็จจริงคือ เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อบังคับของอภ.นั้น เป็นเงินที่ อภ.จัดสรรให้สปสช.เพื่อเป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ไม่ใช่เงินที่ได้จากส่วนลดในการซื้อยา และต้องย้ำว่าเป็นเงินคนละส่วนกับส่วนลดจากการซื้อยา ที่ผ่านมา สปสช.มีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวม ซึ่งวิธีการนี้สามารถซื้อยาได้ราคาถูกลง และเงินที่ประหยัดได้ หรือที่หลายฝ่ายอาจจะเรียกว่าเป็นเงินส่วนลดนั้น ก็กลับเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพในรูปแบบว่าการซื้อยาได้ราคาถูกลง ก็ทำให้ซื้อได้มากขึ้น และทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยานั้นเพิ่มมากขึ้น แต่เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐนี้เป็นไปตามข้อบังคับของ อภ.ที่มอบให้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการบริหาร การพัฒนาวิชาการ การศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในการจัดสรรนั้น จะมีคณะกรรมการบริหารเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า เป็นเงินที่สนับสนุนให้แก่องค์กรที่นอกเหนือจากหน่วยบริการได้ และใช้เป็นสวัสดิการสำหรับสำนักงานได้ ซึ่งสวัสดิการสำนักงานนี้ เป็นไปตามระเบียบการดำเนินงานที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล กระทรวง กรมต่างๆ ต่างมีงบประมาณสวัสดิการ ดังนั้นการที่มีการอ้างระบุว่า  สตง.ทักท้วงว่า สปสช.มิได้ส่งเงินนี้ให้กับหน่วยบริการ และนำไปจัดสรรให้กลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ได้ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

สนช. มีมติผ่านวาระ 3 พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการทหาร ไร้เสียงไม่เห็นด้วย

สนช. ผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหารฯ ไร้เสียงไม่เห็น หวังปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการทหารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน พร้อมนัดประชุมกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอน กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ วันพฤหัสบดี ที่ 2 เม.ย.นี้
19 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธาน สนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุม ว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. 2558 ที่ประชุม สนช. ได้บรรจุคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (ผู้กล่าวหา) ซึ่งจะเป็นการกำหนดวันแถลงการณ์เปิดคดี กรณีถอดถอน บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (ผู้ถูกกล่าวหา) พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป.ป.ช. โดยส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติทำให้รัฐเกิดความเสียหาย จากกรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ภายหลังการพิจารณาที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหารฯ วาระ 3 ด้วยคะแนน 163 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 14 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 177 คน ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมาย
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ...เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร ตั้งแต่ปี 2521 ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเป็นการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เหมาะสมเป็นธรรม และได้มาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

ศนปท.แจง ทหารขอคุย 2 น.ศ.จริง

19 มี.ค. 2558 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจง กรณีทหารขอพบ น.ศ. โดยระบุว่า วานนี้ (18 มี.ค.) มีผู้ติดต่อมาโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 เพื่อขอพูดคุยกับเพื่อนของ ศนปท. 2 คน ซึ่งมีสถานะนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 19 มีนาคม 2558 ล่าสุด ทั้งสองได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของฝ่ายทหารเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการพูดคุยเจรจาเป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหา หรือการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยทหารได้ให้ผู้ปกครองของทั้งสองคนรับรู้ถึงการพูดคุยในครั้งนี้ด้วย
ล่าสุด เพจ ศนปท. แจ้งเพิ่มเติมผ่านเพจว่า เมื่อเวลา 14.10 น. หนึ่งในสอง ที่ได้นัดหมายกับ จนท. ได้มีการยกเลิกการพูดคุยกันแล้ว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศนปท. ร่วมกับนักศึกษาจำนวนหนึ่งรวมตัวหน้าศาลทหารเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 ผู้ต้องหาที่คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก หลังอัยการทหารฝากขัง เมื่อเย็นวันที่ 16 มี.ค.
 

นับตั้งแต่เย็นวันที่ 18 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ มีการแพร่กระจายข่าวเกี่ยวกับการที่มีนักศึกษา ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทหารนั้น

.....ทางเรา ขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 นั้น มีเจ้าหน้าที่ทหารจาก กองพันทหารม้าที่ 3 (ปลายสายแจ้งเช่นนั้น) ได้ติดต่อมายัง นักศึกษาจริง โดยเบื้องต้น ทหารจากหน่วยเดียวกันนี้ ได้ติดต่อไปยังเพื่อนของเรา สองคน ซึ่งมีสถานะนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแจ้งว่า ขอพูดคุยทำความเข้าใจในวันที่ 19 มีนาคม 2558

......หลังจากเราได้ทราบข่าว และมีการประเมินความเสี่ยงแล้ว จึงมีการนัดหมายพูดคุยกับ จนท. ชุดดังกล่าว ....

......ล่าสุด ทั้งสอง ได้มีการพูดคุยกับ ตัวแทนของฝ่ายทหารเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการพูดคุยเจรจาเป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหา หรือการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยทหารได้ให้ผู้ปกครองของทั้งสองคน รับรู้ถึงการพูดคุยในครั้งนี้ด้วย

เราจึงขอเรียน ชี้แจงถึงเพื่อนๆ และประชาชน ที่ส่งความห่วงใย และคำถามมามากมาย ขอขอบคุณเป็นอย่างมากในความห่วงใย หากมีประเด็นอื่นๆ เราจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ: มีการเพิ่มเติมเนื้อข่าวหลัง ศนปท.แจ้งเพิ่มเติม เมื่อเวลา 16.19 น. 19 มี.ค.58

วิจารณ์ 8 ปัญหาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุม-จี้หยุดกฎหมายจำกัดสิทธิ ในยุคประชาชนไร้เสียง

19 มี.ค. 2558 กลุ่มองค์กรสิทธิออกแถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  .... ในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ผู้ออกแถลงการณ์ ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย, เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม, เครือข่ายสลัมสี่ภาค 
00000
แถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....
เผยแพร่วันที่ 19 มีนาคม  2558
       
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขอแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างขวางมากเกินไป  เนื่องจากนิยามตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสอง ครอบคลุมถึงผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แต่การบัญญัติให้รวมถึงบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบัญญัติที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะตีความรวมไปถึงผู้ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นัดหมายให้มีการชุมนุม หรือเห็นด้วยกับการชุมนุมและช่วยประชาสัมพันธ์แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในความเป็นจริง ซึ่งการเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นจะมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายตามมา
2. นิยามศาลและการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามของศาลว่าหมายถึงศาลแพ่งและศาลจังหวัด รวมถึงมาตรา 13 และมาตรา 26 กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าพนักงานไม่เป็นคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลสองประการคือ ไม่สามารถนำมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ และศาลปกครองไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น
3. การกำหนดห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบ ศาลและห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากการชุมนุมของภาคประชาชนส่วนใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากประชาชนต้องการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่แล้ว การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เลย
4. การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในการชุมนุม เนื่องจากบางกรณีเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น การชุมนุมของแรงงานซึ่งนายจ้างปิดสถานประกอบการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แม้จะขอผ่อนผันระยะเวลาการชุมนุมได้แต่ระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถใช้ระยะเวลาได้ถึง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน รวมถึงหากไม่แจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้ทันทีทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็ได้
5. การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด อาจทำให้เป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงได้ การชุมนุมจะไม่เป็นเอกภาพและจะยิ่งก่อความไม่สะดวกแก่ประชานในการใช้พื้นที่
6. การเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง การจำกัดการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งในบางกรณีผู้ชุมนุมนั้น เริ่มการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงกลางคือเพื่อมาให้ถึงตอนเช้า
7. การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม ตามมาตรา  21  และมาตรา 22 นั้นอาจทำให้ศาลกลายเป็นคู่กรณีกับประชาชนในการชุมนุม ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหากประชาชนต้องการฟ้องว่าการสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลัง
8. การกำหนดโทษทางอาญา เนื่องจากการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา โทษที่รุนแรงที่สุดตามพระราชบัญญัตินี้นั้นควรเป็นการสั่งเลิกการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินคดีด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่การบัญญัติในลักษณะการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพ  เช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม การสร้างกลไกในการรับข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  .... ในช่วงเวลานี้  หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
สมานฉันท์แรงงานไทย
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
เครือข่ายสลัมสี่ภาค

โฆษก คสช. ยันไม่มีซ้อมผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา ลั่นทหารโดนใส่ร้าย

19 มี.ค.2558 พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวถึง กรณีที่มีข่าวทางสื่อ กล่าวถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ระบุว่าตามที่เกิดเหตุระเบิดหน้าศาลอาญา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องหาว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ระหว่างการถูกควบคุมตัว ช่วง 9-15 มีนาคม จากการตรวจสอบพบว่าไม่เป็นความจริง และการให้ข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะใส่ร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว หรือมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่อาจไม่หวังดี พยายามสร้างข้อมูลเท็จดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายอาจต้องเข้ามาดูในรายละเอียดต่อไป
มั่นใจไม่มีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องไปบังคับขู่เข็นอะไรโดยเฉพาะข้อมูลในชั้นนี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช้ข้อผูกมัดหลักในทางคดี และที่สำคัญข้อมูลในชั้นนี้จะเน้นนำไปใช้เพื่อดูแลป้องกัน ระงับยับยั้งเหตุ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมอีก ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับความผิดในทางคดีนั้น จะอยู่ในขั้นตอนของทางตำรวจที่จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป
สำหรับการส่งมอบผู้ที่ถูกควบคุมตัวให้กับทางตำรวจนั้นจะมีระบบกระบวนการตรวจเช็คร่างกาย บันทึกผลไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อย คงไม่มีใครสามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ ยืนยันเจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างด้วยหลักสากลตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น การออกมากล่าวในลักษณะนี้ เทียบเคียงได้เหมือนกับการฟังข้อมูลด้านเดียวแล้วกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ซึ่งดูจะผิดวิสัยในคุณลักษณะทางวิชาชีพนักกฎหมายที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งก่อน อีกทั้งโลกปัจจุบันการทำร้ายผู้ต้องหา หากเกิดขึ้นจริงก็สามารถตรวจสอบตามหลักทางการแพทย์ได้อยู่แล้ว
อยากให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ใช้มุมมองที่เป็นธรรม ปราศจากอคติ โดยเฉพาะไม่อยากให้มองว่า เจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นฝ่ายตรงข้ามจนดูไม่เป็นธรรมชาติ มิฉะนั้นสังคมอาจกำลังตั้งข้อสงสัยว่า อาจมีเจตนาแฝงในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้