วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปิดฉาก "คอป." 2 ปี สูญเปล่าหรือสอบผ่าน?


ปิดฉาก "คอป." 2 ปี สูญเปล่าหรือสอบผ่าน?
Sun, 2012-07-15 10:43
ที่มา: ไทยโพส์ แท็บลอยด์ ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2555

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2555 นี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็จะหมดวาระสิ้นสุดการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว

หลัง คอป.เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ก.ค.2553 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งให้ คอป.มีเวลาการทำงาน 2 ปี จาก 15 ก.ค.53 ถึง 15 ก.ค.55 คอป.ที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 และทำงานมาแล้วในช่วงรัฐบาล 2 ชุด คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2 ปีที่ผ่านไปของ คอป. บนความคาดหวังว่า คอป.จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติการเมืองและทำให้เกิดความ ปรองดองสมานฉันท์ขึ้น ถึงวันนี้ ซึ่ง คอป.จะพ้นหน้าที่ สิ้นสุดพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย บางส่วนก็วิจารณ์ว่า ”ล้มเหลว-สูญเปล่า” ขณะที่บางส่วนก็เห็นว่า “ทำได้ดีระดับหนึ่ง-สอบผ่าน”

แต่สำหรับกรรมการ คอป.แล้ว 2 ปีที่ผ่านไป “สำเร็จหรือสูญเปล่า” จะ ”สอบได้หรือสอบตก”

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี หนึ่งในคณะกรรมการ คอป.และประธานคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความรุนแรง มาเล่าให้ฟังถึงปัญหา-อุปสรรคการทำงานของ คอป.ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่จะทิ้งไว้หลังจากการทำงานยุติลง

“โดยรวม ผมเห็นว่า คอป.ได้ทำงานประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งตามที่ตั้งใจจะทำไว้ เพียงแต่ว่าที่ทำงานไม่สำเร็จทั้งหมดเพราะมีข้อจำกัด ทั้งทางด้านงบประมาณและความร่วมมือ

คอป.ทำงานมา 2 ปี ตอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ รู้สึกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้ทำงานชิ้นหนึ่งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อ สังคมไทย”

แต่พันธกิจอย่างหนึ่งของ คอป.ที่ก็ถูกระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตั้ง คอป.ก็คือ ให้ คอป.ค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงการชุมนุมทางการ เมืองเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 53 ดูเหมือนว่าคำตอบนี้ยังไม่มีใครได้รับจาก คอป. เช่น เรื่องใครคือชายชุดดำ-กองกำลังติดอาวุธ ?

ต้องอธิบายก่อนว่า คอป.มีการจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานอย่างชัดเจน แบ่งอนุกรรมการทำงานเป็น 4 ชุดใหญ่

ชุดที่ 1 เป็นการทำงานที่สำคัญมาก ชุดค้นหาความจริง โดยนายสมชาย หอมละออ เป็นประธานอนุกรรมการ เป็นชุดที่สำคัญที่สุดของ คอป. เพราะความจริงเป็นเรื่องสำคัญและความจริงมีส่วนนำไปสู่ความเข้าใจในปัญหา เรื่องต่างๆ ลดข้อขัดแย้งลงได้และนำไปสู่การเยียวยาสังคมได้ คุณสมชายมีความพยายามอย่างมากในการหาข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ แต่ในการทำงานของอนุกรรมการ ที่ประชุมใหญ่ คอป.ก็ได้รับทราบข้อจำกัดใหญ่ของอนุกรรมการชุดนี้หลักๆ 2 ข้อ คือ


1.ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

2.งบประมาณการดำเนินการของ คอป.ไม่เพียงพอ การจัดสรรงบประมาณมีข้อจำกัดมาก การจ้างบุคลากรทำได้จำกัด ทำให้การทำงานลำบากและจำกัด

ชุดที่ 3 เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ โดยมีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ สามารถให้ความช่วยเหลือการทำงานของ คอป.ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาการทำงานของอนุกรรมการชุดนี้มีส่วนสำคัญทำให้มีผู้นำต่างประเทศมา ร่วมหารือ คอป.มีการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นอย่างดี อย่างเช่น นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ หรืออดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ และเอกอัครราชทูตหลายประเทศในประเทศไทยก็ให้การสนับสนุนงานของ คอป.

ชุดที่ 4 ชุดวิชาการ โดยมี รศ.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นประธานอนุกรรมการ สามารถขับเคลื่อนงานการวิจัยให้เห็นรากเหง้าของปัญหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการแถลงออกสื่อเป็นระยะๆ โดยรวมการขับเคลื่อนของ 4 อนุกรรมการก็สามารถขับเคลื่อนงานด้วยข้อจำกัด แต่ยังสามารถทำงานมาได้จนถึงขณะนี้

ประเด็นการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่าจะยึดแนวทาง คอป.แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะสร้างความปรองดอง แต่พบว่าหลายข้อเสนอของ คอป.ที่เสนอไป รัฐบาลก็ไม่ตอบรับนั้น ศ.นพ.รณชัยไม่ขอชี้ว่าตรงนั้นเป็นเรื่องจริงใจหรือไม่จริงใจ แต่ส่วนตัวขอตอบเป็น 2 ข้อ คือ

1.ขอขอบคุณที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญของ คอป.ตอบรับที่จะรับข้อเสนอของ คอป.ไปปฏิบัติและนำไปปฏิบัติออกมาแล้ว

2.คอป.นำเสนอตามหลักของวิชาการมีเหตุผล ฉะนั้นรัฐบาลจะไปทำเกินเลยจากนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องอธิบายให้กับสังคมได้รับทราบ ถ้าสังคมรับทราบและเห็นด้วยกับรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ ถ้าสังคมยังมีข้อสงสัยรัฐบาล ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงต่อสังคม

ศ.นพ.รณชัยที่เคยเสนอในนาม คอป.ว่า เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตควรอยู่ที่แค่รายละ 3,280,000 บาท แต่รัฐบาลให้รายละ 7.5 ล้านบาท ยังคงย้ำว่าหลักการเยียวยาที่ถูกต้อง ต้องทำหลายส่วนควบคู่กันไป เช่น การ ”ขอโทษประชาชน” ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินอย่างเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้

“เรื่องของการเยียวยา สังคมจะสนใจเรื่องเดียวคือเรื่องเงินชดเชย คอป.เรามีข้อเสนอแนะว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากมายควรได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงและมีการจัดการ เยียวยาให้เป็นระบบ เพราะหน่วยงานที่รักษาเยียวยามีอยู่มาก แต่เป็นการเยียวยาเฉพาะจุด ควรจัดกรรมการเฉพาะกิจทำเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

เราไม่มองในเรื่องผลประโยชน์ แต่มองในเรื่องของมนุษยธรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ขึ้นมา เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ การชดเชยจิตใจไม่ได้เป็นเรื่องของเงิน แต่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ คือรัฐบาลขอโทษประชาชนที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบโดยขอโทษประชาชนหรืออาจจะทำเป็นอนุสาวรีย์และ อาจเป็นสิ่งระลึกอะไรก็ได้ เมื่อได้รับเงินชดเชยค่าครองชีพไปแล้วจะต้องชดเชยทางด้านจิตใจด้วย"

รากเง้าความขัดแย้ง
รากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในสังคม เขาเผยว่าส่วนตัวเท่าที่ศึกษาติดตาม ข้อขัดแย้งสังคมไทยมีด้วยกัน 5 สาเหตุ คือ

1.ความยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทย ทั้งกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมของสังคม การไม่ได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน

2.ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของสังคมในตัวมันเอง เช่น คนรวยมีทรัพย์สินมากก็กระจุกอยู่แค่คนกลุ่มเล็กๆ ในสังคมแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย ทำให้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ถ้าไม่ลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ยังมีโอกาสสูงที่เรื่องนี้จะนำไปสู่ข้ออ้างที่นำไปสู่การชักจูงคนจำนวน หนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม 90 เปอร์เซ็นต์ ให้คล้อยตามจนเกิดความขัดแย้งได้ คนลำบากเมื่อถูกกระตุ้นเรื่องนี้มันก็ชักจูงได้ง่าย

3.เรื่องการเมืองก็คือสาเหตุสำคัญ การเมืองไทยยังเป็นการเมืองที่ยังไม่ได้มาตรฐานเหมือนสากล ปัญหาเรื่องคอรัปชั่นแบบนี้ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริง การเมืองก็ต้องแก้ไขตัวเองให้มีมาตรฐานกว่านี้ คนทำผิดก็ไม่ได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง

4.ฝ่ายอำนาจ เช่น ทหาร มาเกี่ยวข้องกับการเมือง การแย่งชิงอำนาจ เมื่อเป็นทหารก็ต้องเป็นทหารอาชีพ คือทำเรื่องการปกป้องประเทศ ทหารก็ต้องอยู่ในกรมกอง ทำหน้าที่ของตัวเอง ออกความเห็นได้ แต่ไม่ควรร่วมกิจกรรมการเมืองเต็มที่ ยังเชื่อว่ามีทหารอาชีพอีกมากที่ไม่ยุ่งการเมืองที่ทำให้เกิดปัญหา

5.สื่อก็มีส่วนสำคัญ ยิ่งไปเข้าข้างฝายใดฝ่ายหนึ่งแล้วออกข่าวบิดเบือน ไม่เป็นกลาง ไปชี้นำผิดๆ ก็ไม่เกิดข้อขัดแย้ง และสื่อก็เป็นกลไกสำคัญในการสะท้อนความเป็นจริงได้ เช่น ข้อขัดแย้ง 4 ข้อแรกที่ยกมา ถ้าสื่อสะท้อนดีๆ ก็แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้

กรรมการ คอป.ยังวิพากษ์เรื่องการผลักดันของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่นักการเมืองซึ่งพยายามผลักดันเรื่องนี้พยายามบอกว่ากฎหมายปรองดองเป็น ส่วนหนึ่งของบันไดหรือโมเดลไปสู่การสร้างความปรองดอง แต่ดูเหมือนฝ่าย คอป.กลับไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด

“การพูดโมเดลปรองดอง ต้องเอาฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาคุยกันก่อน ไม่ใช่ทำแต่แล้วเกิดความแตกแยกแบบนี้ไม่ใช่ปรองดองแล้ว ชื่ออะไรก็ได้ไม่สำคัญ แต่ต้องเอาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกคนทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกันแล้วหาจุด ปรองดองจริงๆ แล้วยอมรับในกติกา แล้วออกมาในสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากสุด

ผมไม่เชื่อเรื่องโมเดลอะไรต่างๆ ถ้าทำแล้วปรากฏว่าไส้ในของสิ่งที่ทำ พอทำแล้วเกิดความขัดแย้งแบบนี้ก็ไม่เห็นด้วย”

การคลี่คลายปัญหา ศ.นพ.รณชัยไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ให้มุมมองไว้ว่า สังคมไทยเป็นพลวัต มันต้องเคลื่อนไป สุดท้ายสังคมไทยก็จะก้าวข้ามเรื่องสีไปในอนาคต แต่ถ้ารากเหง้าที่ผมบอก 5 ข้อ เช่น การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมยังคงอยู่ความขัดแย้งมันจะเปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้งอีกรูป แบบหนึ่งในอนาคต

“อยากให้สังคมไทยต้องเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปใน ทางที่ถูกต้อง บทเรียนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มันเกิดมาแล้วซ้ำๆ แต่สังคมไทยไม่เคยจริงจังในการนำบทเรียนมาพัฒนา ประเทศรอบบ้านเราเขาเคยขัดแย้งกันมาก่อนเหมือนกับเรา ความขัดแย้งเขาก็มี

อย่างมาเลเซีย เขาก็เคยขัดแย้งเคยมีการฆ่ากัน แต่เขาก็เอาบทเรียนมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาจนเขาก้าวหน้ากว่าเราแล้ว แล้วประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม พม่าเขากำลังจะพัฒนาก้าวข้ามเราแล้ว แต่เรายังพูดเรื่องเดิมอยู่เลย เมื่อไหร่จะเอาบทเรียนมาเรียนรู้และพัฒนาเพื่อก้าวข้ามข้อขัดแย้งไปให้ได้”



แนวทางที่เป็นรูปธรรม
แนวทางสร้างความปรองดองที่แท้จริงทำอย่างไร ศ.นพ.รณชัยบอกว่า คอป.เสนอไปแล้วตามรายงานถึงรัฐบาลทุก 6 เดือน ถ้ารัฐบาลรับไปทำตามทุกข้อก็จะเกิดผลดีระดับหนึ่งกับสังคม เช่น เรื่องเยียวยาหรือข้อเสนอให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขัง ก็มีการใช้เงินจากกองทุนยุติธรรม แต่บางข้อก็ไม่ได้นำไปทำ ข้อสรุปฉบับสุดท้ายของ คอป.ครบรอบ 2 ปี ทางอนุกรรมการทุกคณะกำลังประชุมกันอย่างหนักตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อทำรายงานฉบับสุดท้าย

“อย่างของผมชุดอนุกรรมการเยียวยาแค่คณะเดียว ก็ไม่ต่ำกว่า 600 หน้า ก็จะมีรายงานสรุปทั้งหมดที่ทำมา 2 ปี ในเรื่องการเยียวยา รวมถึงข้อเสนอแนะ ปัญหา อุปสรรค

ในรายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.ที่จะสรุปผลการทำงานของ คอป.ในรอบ 2 ปี จะเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ คอป.จะเขียนอย่างระวังและชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ จะมีการบอกถึงข้อเสนอเรื่องแนวทางการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกติสุขต่อ ไป”

อย่างไรก็ตาม แม้รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ยังไม่ออกมา แต่กรรมการ คอป.ผู้นี้ก็ออกตัวไว้ก่อนว่าการทำงานที่ผ่านมา 2 ปี คอป.เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จึงทำให้การทำงานนับแต่วันแรกมีปัญหาพอสมควรในเรื่องการยอมรับในช่วงแรก โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น คนเสื้อแดง แต่ต่อมาปัญหาก็ดีขึ้น

“การเกิดขึ้นและการทำงานของ คอป.ขอแยกให้เห็น 3 ประเด็น คือ 1.ตอนตั้ง คอป.สังคมไทยอยู่ในช่วงนั้นกำลังอยู่ในภาวะขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ไข คู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ยังอยู่ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะแตกต่างจากคณะกรรมการที่เป็น ลักษณะการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองของนานาชาติที่อื่นอย่างชัดเจน ของต่างประเทศเวลามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คณะกรรมการค้นหาความจริงจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติ หมายความว่าทุกคนยอมรับผลที่เกิดขึ้น แล้วคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติทำ งานอย่างอิสระ ไม่มีข้อระวังสีไหน

เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ เกิดเหตุการณ์รุนแรงรัฐบาลก็สามารถจัดตั้งกรรมการลักษณะแบบ คอป.ขึ้นมาได้ ทุกคนยอมรับรัฐบาลและดำเนินกิจกรรมทางด้านของรัฐบาลได้อย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้ในหลายประเทศเขาจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพที่จะค้นหาความจริงและนำไปสู่การเปิดเผยได้อย่างไม่ต้องเกรงใจ ใคร เพราะไม่มีข้อขัดแย้งแล้วซึ่งต่างกับของเรา แต่ละประเทศจะเป็นแนวนี้

แต่ของไทยครั้งนี้ เป็นการจัดตั้งในภาวะการขัดแย้ง ซึ่งในขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันไม่จบ ตกลงกันไม่ได้ว่าปรองดองกันแบบไหนจะเห็นถึงความลำบากตั้งแต่ต้น

2. รัฐบาลขณะนั้น (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ต้องมีคำตอบให้กับสังคมว่าความไม่สงบขณะนั้นมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ว่าจะมีคำตอบให้สังคมอย่างไร ด้วยรัฐบาลเดิมตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาค้นหาความจริง ก็สามารถที่จะโยนโจทย์ให้กับ คอป. ฉะนั้น คอป.ตั้งขึ้นมา รัฐบาลขณะนั้นได้ซึ่งประโยชน์หรือมีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้แทนรัฐบาล

3. คอป. ทำงานบนความขัดแย้งต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สังคมมองว่าแต่งตั้งรัฐบาลจะมาทำงานเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล ด้วยบุคลิกและอุดมการณ์การทำงานของ อ.คณิต ณ นคร เราทำงานกันเห็นชัดเจนว่าไม่มีการเข้าข้างฝ่ายใด ช่วงแรกบางกลุ่มจะหาว่า คอป.เข้าข้างเสื้อแดง ต่อมาก็ถูกสังคมตราหน้าว่าเข้าข้างรัฐบาลว่าทำไมต้องเยียวยาผู้ที่สร้างความ วุ่นวาย”

ศ.นพ.รณชัย บอกอีกว่า สองปีที่ผ่านมา เชื่อว่า คอป.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำงานอยู่บนแนวกลางชัดเจน เพียงแต่ว่าฝ่ายไหนชอบใจก็บอกว่าเข้าข้างตัวเอง ฝ่ายไหนไม่ชอบใจก็หาว่าอยู่ตรงข้าม

ประเมินตัวเองให้คอป.สอบผ่าน

“สิ่งที่ คอป.ดำเนินการบนความขัดแย้งของสังคมแบบนี้เราทำมาได้ 2 ปี โดยผลสรุปตอนนี้ส่วนตัวรู้สึกว่า คอป.ทำงานสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง คอป.สามารถที่จะอยู่ในฐานะให้ข้อมูลกับสังคมได้เป็นระยะๆ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คอป.ทำให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง ไม่ได้มองว่าใครผิดใครถูก ต้องมองในแง่สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรม การมี คอป.ขึ้นมา ทำให้สังคมฉุกคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน”

ศ.นพ.รณชัย พยายามอธิบายว่า การลงพื้นที่ในลักษณะรับฟังความเห็นประชาชน ที่ตอนนี้นิยมใช้คำว่า “ประชาเสวนา” ทาง คอป. อาจไม่ได้รับการยอมรับในช่วงแรก โดยยกตัวอย่างการลงพื้นที่ในเขตที่ถูกมองว่าเป็น ”เสื้อแดง” แต่ต่อมา ปัญหานี้ก็หมดไป

“ช่วงแรกเราไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพื่อไปรับฟังความขัดข้องใจของประชาชน ปัญหาที่ไม่สบายใจ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในหลายด้านหลายมุมมอง

ช่วงแรกๆ ก็ดูเหมือนมีอารมณ์แต่พอพูดคุยกันต่อไปก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสามารถที่จะลดระดับความขัดแย้งต่าง สังเกตได้ว่าจังหวัดเหล่านี้ระดับความขัดแย้งก็จะน้อยลง

อาจารย์คณิต เดินทางไปพบกับผู้นำทางศาสนาเพราะไทยยังเคารพนับถือผู้ใหญ่ทางสังคม โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา ก็มีการให้ข้อคิดว่าสังคมต้องก้าวข้ามต่อไป ก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ต่างคนต่างยึดทิฐิ”

กรรมการ คอป.ผู้นี้ สะท้อนภาพการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐว่าไม่ได้ทำจริงจังและต่อเนื่อง สุดท้ายปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไขเสียทีจนถึงตอนนี้

“การเยียวยา คอป.ไม่ได้ทำแค่บางส่วนแต่เราทำทุกส่วน เราได้ไปพบจุดที่เกิดกระทบหรือมีการปะทะกันแล้วมีผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะในจุดคลองเตย ดินแดง เราส่งทีมที่ไปพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันทราบเลยว่าประชาชนยังมีความทุกข์ และมีปัญหามากมาย

หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในระยะแรก คือหน่วยงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในระยะประมาณ 8 เดือนก็ยุติบทบาทไป

คอป.จึงจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเยียวยาขึ้น หลังจากตั้งศูนย์ขึ้นมาสามารถรวบรวมคนที่ได้รับผลกระทบและปัญหาประมาณ 900 คน รวมทั้งร้านค้าที่ถูกไฟไหม้ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็มาขอความช่วยเหลือ คอป.เป็นตัวกลางรวมทั้งกระบวนการเยียวยายังส่งทีมเข้าไปพูดคุยกับทหารที่มาร่วมปฏิบัติการใน ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อรับฟังเรื่องที่เกิดผลกระทบทางจิตใจ ทั้งนี้เราเจอปัญหาว่าผู้เสียหายมีทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมเท่านั้น”

กรรมการ คอป.ผู้นี้ มีข้อเสนอท้ายสุดไปถึงรัฐบาลว่า หลังจากนี้ก่อนจะแยกย้ายกันไป หากฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องรับเสนอของ คอป.ไปพิจารณาจะจัดประชุมหรือพบปะกันของรัฐบาลกับ คอป.เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการทำงานบ้างก็จะเป็นเรื่องดีไม่ใช่ น้อย

“เมื่อเราทำงานเสร็จสองปีแล้ว ก็จะเปิดเวทีให้ตัวแทนสังคมต่างๆ มาตั้งคำถามกับ คอป.ถึงการทำงานช่วงสองปีและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะอยู่ในรายงาน ในลักษณะ live talk แล้วเราก็จะตอบคำถามทั้งหมด แลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย ใครเห็นอย่างไร

สิ่งที่ คอป.ทำก็แค่ให้สังคมรับรู้ เราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติต้องให้รัฐบาลรับไปทำ แต่ผมก็อยากเห็นการจัดประชุมสักครั้ง เช่น ประชุม ครม.นัดพิเศษ หรือประชุมนัดพิเศษระหว่าง คอป.กับตัวแทนรัฐบาล มาพบปะพูดคุยกัน“

“เราจะบอกว่าเรื่องต่างๆ เรามีข้อเสนอแบบนี้ รัฐบาลคิดอย่างไร เช่น เรื่องกฎหมายปรองดองที่มีข้อขัดแย้งสูง ถ้าทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ก่อนหน้านี้เราก็เคยเสนอไปแล้วในเรื่องการเสนอกฎหมายปรองดองถ้ามีโอกาสคุย กันเราก็จะได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลได้

มันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะคิดว่า คอป.ก็ทำงานไป สองปีหมดวาระก็หมดไป ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าเสียดาย”

จบการสนทนา ศ.นพ.รณชัย ทิ้งท้ายว่า ทำงานมาสองปียอมรับเหนื่อย ไปประชุม ไปเดินสายหลายจังหวัดเพื่อพบปะกลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็ดีใจที่ได้ทำงานในนามคอป.

“เรียนตรงๆ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็ยังไม่เข้าใจว่าผมไปทำอะไร เพราะผมก็ไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ เรียนตรงๆ เหนื่อยใจ และเหนื่อยกาย ทำงานตรงนี้ นับเป็นชั่วโมงไม่น้อยเลยแต่สุดท้ายก็ภูมิใจ”
http://redusala.blogspot.com

การเมืองในเสื้อแดง


การเมืองในเสื้อแดง


การเมืองในเสื้อแดง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
ในมติชน ออนไลน์ 

วันจันทร์ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:12: น.
ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ใน นสพ.มติชน รายวัน  9 กรกฎาคม 2555 )



..ปัจจัยเดียวที่จะรักษาขบวนการเสื้อแดงไว้ได้ คือปัจจัยภายนอก เช่นหากเกิดรัฐประหารขึ้น, ยุบพรรคเพื่อไทย, หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ..

..................................

           การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนที่ใหญ่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย ครอบคลุมผู้คนกว้างขวาง ทั้งในเขตเมืองและชนบท ด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  


           ความหลากหลายของจุดมุ่งหมายทางการเมือง เป็นทั้งพลังและเป็นทั้งความอ่อนแอ
 ในส่วนที่เป็นพลังอาจเห็นได้จาก เมื่อกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "แกนนำ" ถูกจับกุมคุมขัง มวลชนถูกล้อมปราบอย่างป่าเถื่อน แต่ชั่วเพียงไม่นานก็เกิด "แกนนอน" และการรวมตัวเคลื่อนไหวอย่างคึกคักและต่อเนื่องยิ่งกว่าเดิม ขบวนการฟื้นกลับมาใหม่ในเวลาไม่นาน 


           อันที่จริง การถูกล้อมปราบในเมษายน-พฤษภาคม 2553 กลับเป็นโอกาสให้ขบวนการเสื้อแดงได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกหลายรูปแบบ จนในที่สุดแม้ขาดการจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถเลือกพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

             ขบวนการเสื้อแดงเพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารเกือบ 2 ปี ในระหว่างที่ พธม.ยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่นั้น ในวันที่ 2 กันยายน 2551 ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร กลุ่มที่มีคุณเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้นำ ได้วางแผนยกกำลังไปล้อมทำเนียบ เพื่อตัดการส่งเสบียงอาหารให้ฝ่ายเสื้อเหลือง แต่แผนการนี้ไม่ได้แจ้งให้ผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐประหารอื่นๆ ทราบ ผลจึงเป็นความล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะเกิดการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่ม จนเป็นผลให้ผู้ประท้วงของ นปช.เสียชีวิตไปหนึ่งคน เกิดความตึงเครียดภายในของกลุ่ม นปช. 


            จากความล้มเหลวครั้งนี้ ในที่สุดก็ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี คือหันมาสู่การชุมนุมด้วยมวลชนจำนวนมหาศาล ซึ่งสวมเสื้อแดงพร้อมกัน และชุมนุมตามโรงคอนเสิร์ตใหญ่ๆ หรือสนามกีฬา นับจากนั้นจึงเกิดอัตลักษณ์ขบวนการคนเสื้อแดงอันเป็นที่รู้จักของทุกฝ่ายขึ้น
            นับจากเมื่อเกิดขบวนการเสื้อแดงในปลายปี 2551 การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงครั้งใหญ่คือ การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มาจากค่ายทหารในสงกรานต์เลือด 2552 (เพิ่ง 8 เดือนหลังรวมตัวเป็นเสื้อแดง) และการประท้วงใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าฯ-ราชประสงค์ใน 2553 (20 เดือนหลังรวมตัว) แม้ว่าประสบความล้มเหลวจนบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองครั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของขบวนการไปทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความอ่อนประสบการณ์ในการดำเนินการทางการเมืองไปพร้อมกัน เพราะประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ คือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง(ซึ่งการตัดสินใจของเขาก็มักถูกผู้มีอำนาจล้มล้างไปเสมอ) และการประท้วงบนท้องถนน


            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความอ่อนแอ (หรือในแง่ตรงข้ามจะถือว่าเป็นพลังก็ได้) ที่สุดของคนเสื้อแดง คือการจัดองค์กร


ดังที่กล่าวแล้วว่า ขบวนการคนเสื้อแดงประกอบด้วยคนหลากหลายมาก ล้วนมีจุดประสงค์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะกำเนิดของขบวนการมาจากการรวมกลุ่มคนที่ต่อต้านการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 หลายกลุ่มที่เคยต่อต้านก็ไม่ได้เข้าร่วมขบวนการ และที่จริงในช่วงแรกนั้น การต่อต้านก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ขยายไปครอบคลุมคนในเขตหัวเมืองและชนบทอย่างปัจจุบัน  


            การรวมตัวกันของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เกิดขึ้นจากความสมัครใจของแต่ละกลุ่ม โดยไม่มีการตกลงกันในเงื่อนไขรายละเอียด เป็นการรวมตัวกันทางยุทธศาสตร์ เพื่อให้มีกำลังมากขึ้น ภายใต้อุดมการณ์กว้างๆ เช่น "ประชาธิปไตย", การเคารพการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งแสดงออกด้วยผลการเลือกตั้ง, และการ "ไม่เอารัฐประหาร" เป็นต้น ฉะนั้นแม้แต่คนที่รังเกียจทักษิณก็อาจยอมให้กลุ่มอื่นชูทักษิณขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเป็นธรรม มองทักษิณเป็นยุทธวิธี เพราะรู้ว่าทักษิณมีฐานความนิยมกว้างขวาง

กลุ่มใดจะ "นำ" ความเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับ "สื่อ" ที่มีในมือ

             สื่อของขบวนการเสื้อแดงคือ สื่อประเภทที่เรียกกันว่า "สื่อใหม่" นับตั้งแต่ทีวีดาวเทียม, วิทยุชุมชน, และสื่อออนไลน์ ส่วนสื่อตามประเพณีหรือที่เรียกว่า "สื่อเก่า" นั้น ขบวนการเสื้อแดงมักจะเข้าไม่ถึง แต่ในขณะเดียวกันขบวนการก็ได้ประโยชน์จากสื่อ "โบราณ" อยู่ไม่น้อย นั่นคือการสื่อกันโดยตรงจากปากต่อปาก โดยเฉพาะปากแม่ค้าในตลาด, ปากแท็กซี่, และปากแม่บ้าน

            กลุ่มที่สามารถกุมการนำได้ คือกลุ่มที่เข้าถึงสื่อดังกล่าวได้มากสุด แม้ไม่ปฏิเสธความสามารถเฉพาะตัวของคนเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเหล่านี้มี "ทุน" ที่จะเข้าถึงได้มากสุด "ทุน" ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากทักษิณหรือครอบครัวชินวัตรเพียงอย่างเดียว บางส่วนซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่กว่า น่าจะมาจากนักการเมืองท้องถิ่น นอกจากนี้ความสามารถในการสร้างพันธมิตรกับสื่อท้องถิ่น ก็มีส่วนช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนรักอุดรได้เป็นต้น แม้แต่การชูทักษิณขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ก็ช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนรักทักษิณในสื่ออีกมาก

             สื่อทำให้ นปช.ขยายตัวจากกลุ่มต่อต้านรัฐประหารไปสู่มวลชนทั่วประเทศ แต่มวลชนที่เข้าร่วมก็หาได้มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ ตลอดเวลา 4 ปีที่ร่วมมือกันมา ก็ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้การเมืองไทยลึกซึ้งขึ้น จนสามารถมองเห็นอุปสรรคในเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยสำเร็จได้ยาก ต่างคนต่าง "ตาสว่าง" แม้ว่าจะ "สว่าง" กันคนละเรื่องก็ตาม แม้กระนั้น ต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองแต่ละอย่าง มวลชนคนเสื้อแดงต่างเลือกยุทธวิธีที่จะตอบโต้ไปในทิศทางที่ใกล้กัน แต่ไม่เหมือนกัน

             ความไม่เหมือนนี้ ทำให้การนำของ "แกนนำ" ยิ่งมีความสำคัญขึ้น แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ที่เรียกกันว่า "แกนนำ" ในเวลานี้ก็มีปัญหาที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกกันเองได้ง่าย เช่นนโยบายของพรรคเพื่อไทยมิได้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองของมวลชนคนเสื้อแดงไปทุกกลุ่ม "แกนนำ" ซึ่งเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคจะเลือกระหว่างอะไรมวลชนหรือพรรคที่ยังร่วมมือกันต่อไปได้ ด้วยเหตุผลของสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น คือการพลิกผันของสถานการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์อย่างเด่นชัด ทั้งกับพรรคเพื่อไทยและขบวนการคนเสื้อแดง

             ปัจจัยภายนอกต่างหากที่เป็นตัวกดดันให้ขบวนการคนเสื้อแดงต้องร่วมมือกันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันเช่นนี้ ไม่ได้เป็นลักษณะของขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเดียว ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในขบวนการของฝ่าย "อำมาตย์" เช่นกัน องคาพยพของฝ่าย "อำมาตย์" ต่างเคลื่อนไปในทิศทางที่ไม่สู้จะประสานกันนัก เช่นกองทัพซึ่งได้ความมั่นใจว่า พ.ร.บ.กลาโหมจะไม่ถูกแก้ไข และงบประมาณทหารจะไม่ถูกลดทอนในอนาคตข้างหน้า ก็ไม่มีเหตุที่จะเป็นหัวขบวนหรือหนังหน้าไฟให้แก่ฝ่าย "อำมาตย์" อีกต่อไป )

              แม้กระนั้น ก็พอสังเกตเห็นได้ว่า การนำของ "แกนนำ" ในช่วงนี้หาความชัดเจนไม่ได้ ในขณะที่มวลชนกำลังห่วงเรื่องการนำทักษิณกลับบ้าน และ/หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจริง "แกนนำ" ไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องเคลื่อนไหวอย่างไรกับสองกรณีนี้ แต่กลับแสดงความห่วงใยว่าพรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาว่า การแก้ไข ม.291 เป็นการล้มล้างการปกครอง
ฉะนั้นจึงต้องแสดงพลัง ด้วยการชุมนุมย่อยตามจังหวัดต่างๆ พร้อมทั้งเรียกร้องผ่านวิทยุชุมชนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้เช่นนั้น จะต้องรวมตัวกันออกไปชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า ชุมนุมเพื่ออะไร รังแต่จะถูกมองว่ากดดันศาลหรือขี้แพ้ชวนตี เพราะเมื่อคำชี้ขาดของศาลไม่ตรงตามความต้องการของตน ก็ใช้ม็อบช่วยกดดัน เนื่องจากขั้นตอนของการต่อสู้ได้ผ่านมาแล้ว คือการตัดสินใจแพ้มติของพรรคเพื่อไทยในสภา
             เช่นเดียวกับการเรียกร้องความสามัคคีที่กำลังโหมอย่างหนัก แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะสามัคคีไปทำไม เกือบไม่ต่างจากการเรียกร้องความสามัคคีที่มีมากว่า 100 ปีของฝ่าย "อำมาตย์" คือสามัคคีกันจำนนต่อผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น "อำมาตย์" หรือพรรคเพื่อไทยกระนั้นหรือ

              ขบวนการเสื้อแดงกำลังเผชิญกับวิกฤตที่หนักหน่วงที่สุด ความอ่อนแอและความเปราะบางทั้งหมดของขบวนการจะยิ่งซ้ำเติมวิกฤตให้หนักยิ่งขึ้น เราได้เห็นการล่มสลายของขบวนการเสื้อเหลืองมาแล้ว 


หากแก้วิกฤตไม่ได้ ขบวนการเสื้อแดงคงไม่ล่มสลายถึงขนาดนั้น แต่พลังที่เคยมีจะหดหายไปมาก กลายเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่ดำเนินการเป็นอิสระของตนเอง (ซึ่งก็อาจถือเป็นพลังอีกอย่างหนึ่งได้ และดีกว่าเดิมเสียอีก หากมีการจัดองค์กรที่ทำงานในลักษณะประสานกันแทนการ "นำ" อย่างโดดเดี่ยว)

             ปัจจัยเดียวที่จะรักษาขบวนการเสื้อแดงไว้ได้ คือปัจจัยภายนอก เช่นหากเกิดรัฐประหารขึ้น, ยุบพรรคเพื่อไทย, หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา, หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ 


เสื้อแดงทุกกลุ่มจะกลับมาร่วมมือกันอีก เพื่อเผชิญสถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า ผลักความต่างของแต่ละกลุ่มไว้เบื้องหลัง
http://redusala.blogspot.com

ความ ''''ตลก'''' ของ ''''ตลก.'''' ศาลรัฐธรรมนูญ


ความ ''''ตลก'''' ของ ''''ตลก.'''' ศาลรัฐธรรมนูญ
ความ ''''ตลก'''' ของ ''''ตลก.'''' ศาลรัฐธรรมนูญ

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ

เสนอบทวิเคราะห์ หลังศาลมีคำวินิจฉัยยกคำร้อง



กฎหมายกำหนดว่า คำวินิจฉัยให้มีผลในวันอ่าน ดังนั้น ต้องยึดถือว่าสิ่งที่ศาลอ่าน เป็นคำวินิจฉัย คำถามคือ สิ่งที่ ตลก. อ่านไป ฟังแล้ว ''''ตลก'''' ไหมครับ ?


*** ตลก ที่ 1 ***

           ศาลบอกบอกว่า ถ้าตั้ง สสร. แก้ทั้งฉบับ สภาจะ ต้อง (หรือ "ควร" ?) ไปถามประชาชนก่อน


           ในขั้นแรก รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เองไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาไปทำประชามติถามประชาชน ผู้ที่จะทำประชามติได้ คือ คณะรัฐมนตรี แล้ว ศาลจะให้ ''''ฝ่ายบริหาร'''' ไปก้าวล่วงถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญแทน ''''ฝ่ายนิติบัญญัติ'''' กระนั้นหรือ ?


หรือศาลจะให้สภา ไปตรากฎหมายที่ ''''เล็กกว่า'''' รัฐธรรมนูญ มาขอทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ''''ที่ใหญ่กว่า'''' ?


แล้วตอนไปถามประชาชน จะให้ถามว่าอะไรครับ จะให้เลือกระหว่าง
ก. เลือกเก็บ รธน 2550 ทั้งฉบับไว้


กับ


ข. เลือกร่างใหม่ ที่ยังไม่ทันได้ร่าง


แล้วจะให้ประชาชนเลือกอย่างไร ? ในเมื่อตัวเลือกมันยังไม่มีให้เลือก ?


**********************************************************

*** ตลก ที่ 2 ***


            ศาลบอกว่า แก้ทั้งฉบับ ต้องถามประชาชนก่อนแต่แก้ทีละมาตรา ไม่ต้องถามประชาชน


สรุปถ้า จะแก้ทีละมาตรา ทั้งหมดซัก 300 มาตรา สรูป สภาทำได้ ไม่ต้องถามประชาชน ?


ตรรกะนี้ ผิดเพี้ยน มาก เอาคำหรู เช่น "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" มาอ้าง ก็ไม่ได้ช่วยให้มีตรรกะแต่อย่างใด


***********************************************************

*** ตลก ที่ 3 ***


                หลังศาลอ่านคำวินิจฉัย โฆษกศาลแถลงว่า ข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัย คือ มาตรา 68 สรุปว่าไม่ได้มีการล้มล้างการปกครองฯ แต่พอถูกนักข่าวถามว่า ศาลวินิจฉัยเรื่อง มาตรา 291 ว่าห้ามแก้ไขทั้งฉบับ หรือไม่ โฆษกกลับตอบว่า เป็นข้อเสนอแนะ เป็นความเห็น หากรัฐสภาดำเนินการต่อ ต้องรับผิดชอบเอง


แล้วสรุป ถ้าจะ ยกคำร้อง แล้ว จะยึกยัก แสดงความเห็นนอกประเด็นไปเพื่อเหตุใด ?


*** ผมย้ำอีกครั้งว่า ***


                ประเด็นของคดีนี้ คือ มาตรา 68 ไม่ใช่ มาตรา 291 ศาลจึงไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงว่า มาตรา 291 แก้ไขอย่างไร


              ขนาดสมัยประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญทีละมาตรา แล้วเพื่อไทยนำไปร้องศาลตาม มาตา 154 ศาลยังปฏิเสธคำร้องเพื่อไทย บอกว่า มาตรา 291 เป็น "เรื่องเฉพาะ" ที่สภาต้องดำเนินการสามวาระ ศาลไม่เข้าไปก้าวล่วง


                มาตรา 291 กำหนดว่า เมื่อพ้น 15 วันหลังลงมติวาระ 2 ไปแล้ว สภามี "หน้าที่ตามกฎหมาย" ต้องเดินต่อไปยัง วาระ 3  และหากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะหลงตามศาลจนแตกเสียงกันว่า จะเดินหน้าวาระ 3 หรือไม่ ก็จะน่าเสียดาย


                ส่วนถ้าสภาเดินต่อวาระ 3 แล้วมีคนไปฟ้องซ้ำว่าขัดมาตรา 68 ศาลก็ต้องตอบให้ชัดเจนว่า ที่บอกว่า มาตรา 291 แก้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ เป็น "ความเห็น" ของศาล แต่ไม่ใช่ "คำวินิจฉัย" ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้ไม่ขัด มาตรา 68 รัฐสภาต้องเดินหน้าต่อวาระสามตามที่ มาตรา 291 กำหนดไว้ รัฐสภาจะนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะนอกคำวินิจฉัยไม่ได้


เพราะคำวินิจฉัย วันศุกร์ที่ 13 นี้ มีผูกพันเพียงประการเดียว คือ "ยกคำร้อง" !

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
ที่มา http://www.facebook.com/verapat
http://redusala.blogspot.com

จารึกอัปยศ ศุกร์ 13


ํYoutube ได้ร่วมจารึก บันทึกความอัปยศ ศุกร์ 13 บนแผ่นดินไทย








ความเห็นจาตุรนต์ ต่อความอัปยศนี้





http://redusala.blogspot.com