วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มติเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี56-57 รายละ 4 แสน



Thu, 2015-05-28 01:32


คณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีมติเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี56-57 รายละ 4 แสน ‘วิษณุ’ ยันจะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา

ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงิน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2547 – 2553 และระหว่างปี 2556 – 2557 โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ภายหลังการประชุม วิษณุ กล่าวว่า ตอนแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลระบุว่า จะพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมการต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาคนเหล่านี้ โดยการเยียวยา จะแยกเป็น 2 ช่วงเวลา แต่จำเป็นต้องนำช่วงเวลา ระหว่างปี 2556 - 2557 ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะปลอดภัยกว่า ไม่เหมือนช่วงระหว่างปี 2547 – 2553 ที่การพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งอาจไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยนัก เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ ชี้ว่านายกฯ และครม.ขณะนั้นมีความผิด ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ จะไปพิจารณาเพื่อทำผิดซ้ำอีกคงไม่ถูก ต้องหยุดเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้มีความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงระหว่างปี 2556 – 2557 ได้นำบทเรียนจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้วางหลักเอาไว้มาพิจารณา และเอาหลักเกณฑ์และกฎหมายที่มีมาเป็นฐานรองรับ ประกอบด้วย กฎหมาย 4 ฉบับ และ 1 หลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2543 รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจ่ายมาแล้วมาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มโน หรือจินตนาการไปว่า เอาไปเลย 7 ล้านบาท สำหรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ในกรณีเสียชีวิตจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิตและมีบุตรต้องมีการสงเคราะห์บุตรด้วย กรณีได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหล่านี้ ต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน คาดว่าจะใช้วงเงินอยู่ที่หลักร้อยล้านบาท ซึ่งเตรียมจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

วิษณุ ยังกล่าวถึง กระแสข่าวจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติ ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการประชุม ครม.วันที่ 29 พ.ค. ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ คงต้องถามเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 57 แต่จะดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนนั้น ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จ จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา หรือจะเป็นการประชุม ร่วมคสช. และ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก็ได้ โดยการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะบรรจุการขยายระยะเวลา ให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อีก 30 วัน จากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของส่วนต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลให้การลงมติรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สปช. ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งไม่เกิน 30 วัน จากเดิมที่ สปช. จะโหวตลงมติในวันที่ 6 ส.ค.

“ยืนยันว่า การเยียวยากลุ่มปี 2556-2557 จะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา คาดว่า การเยียวยาในครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในหลักร้อยล้านบาท เพราะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มาก” วิษณุ กล่าว

ส่วนผู้เสียหายทางการเมืองในปี 2547-2553 นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติยังไม่นำกลุ่มผู้เสียหายชุดนี้มาพิจารณา เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบหลักเกณฑ์การเยียวยา ซึ่งบางรายที่ได้รับการเยียวยาไปแล้ว และพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงรอให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน

คุก 2 ปี 6 แกนนำพันธมิตร ‘บุกทำเนียบ’ ปี 51 ทนายจำเลยยันสู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์ ศาลให้ประกัน 2 แสนบาท


Thu, 2015-05-28 14:47


"แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง" ศาลสั่งจำคุก 2 ปี สนธิ, จำลอง, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส คดีบุกทำเนียบรัฐบาลปี 2551 ทนายจำเลยยันสู้คดีต่อ ศาลให้ประกัน 2 แสนบาท ไร้เงื่อนไข

28 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล พิภพ ธงไชย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา 6 แกนนำ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษา คดีที่อัยการยื่นฟ้องทั้ง 6 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปและร่วมกันทำให้ให้เสียทรัพย์ กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาล เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้ง 6 เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร ชักชวนให้ผู้ชุมนุม กดดันให้ สมัคร สุนทรเวช รัฐบาลในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการวางแผนดาวกระจาย ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกไปยังสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้ชุมนุมได้ปีนรั้ว ตัดโซ่คล้องประตู ผลักดันแผงเหล็ก บุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัย และชุมนุม ด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2551

ซึ่งพยานโจทก์เบิกความอีกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในทำเนียบรัฐบาล อาทิ สนามหญ้าระบบสปริงเกอร์ ระบบกล้องวงจรปิด และทรัพย์สินอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ซึ่งพยานโจทก์ เป็นเจ้าพนักงาน เชื่อว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความตามความจริง

และแม้จำเลยทั้ง 6 จะต่อสู้ ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นการบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มผู้ชุมนุม และได้เข้าไปห้ามปรามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมก่อความเสียหายภายในทำเนียบรัฐบาล ศาลเห็นว่า เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุรับฟัง ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ศาลเห็นว่า การบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง พิพากษา จำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 3 ปี แต่การนำสืบเป็นประโยชน์ ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 2 ปี

ภายหลัง สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความเปิดเผยว่า จะใช้หลักทรัพย์ เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ วงเงินคนละ 2 แสนบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท

สำหรับคดีกลุ่มพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตร ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้ให้เสียทรัพย์กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 91 , 358 , 362 และ 365 คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ

‘อำนวย ปะติเส’ เชื่อ โค่นยางพาราไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ทำราคายางดีขึ้น



Thu, 2015-05-28 18:38


รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ระบุราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากผลงานเร่งโค่นยางกว่า 1 ล้านไร่ คาดผลผลิตทั้งปีลดลง 5 แสนตัน พร้อมเตรียมถกมาตราการรับมือรอบ 57/58 ดันบัฟเฟอร์ฟันด์ ส่วนข้อเสนอเกษตรกรเรื่องชดเชยส่วนต่าง กระทรวงไม่เห็นด้วย

28 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันของไทยที่ปรับขึ้นถึง กก.ละ 60 บาทในปัจจุบัน ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ยางที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากมาตรกรเร่งโค่นยางในพื้นที่ป่า เขตอุทยาน รวมทั้งการโค่นยางในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) 1 ล้านไร่ แยกเป็น เขตป่าสงวนอุทยาน รวม 6 แสนไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานได้ใช้มาตรการเร่งรัดกลุ่มนายทุนให้ดำเนินการอย่างรีบด่วน ในขณะที่ ส.ก.ย. คาดว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้นคาดว่าในปี 2558/59 นี้ ผลผลิตของไทยจะลดลงเหลือ 3.9 ล้านตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 4.4 ล้านตัน นอกจากนี้ยังคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะไม่ปรับตัวลดลงอีกต่อไป ปริมาณยางสังเคราะห์จะลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ราคายางโดยปกติจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอยู่แล้ว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตตาม ดังนั้นแนวโน้มยางพารายังดี

"ราคายางที่ต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิต อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยไปกว่าไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ เดิมไม่ค่อยจะตื่นเต้นกับรายางที่ตกต่ำมาก โดยอินโดนีเซีย ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะปลูกในเขตป่าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ มาเลเซียเป็นประเทศที่จัดการกับปัญหาได้ดีเพราะมีพื้นที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ แต่การตกต่ำของราคาครั้งนี้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเช่นเดียวกับเวียดนามที่แม้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดไม่มาก ก็หันมาที่จะเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ จากเดิมที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่มทุกครั้ง แม้แต่จีนที่ปลูกได้แต่กรีดได้น้อยก็ต้องการเข้ามาแก้ปัญหานี้" อำนวย กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะลดพื้นที่ปลูกไปมาก แต่การขยายพื้นที่ปลูกของประเทศเพื่อนบ้านยังมีอยู่ ดังนั้นความเสี่ยงของปัญหาราคาตกต่ำยังคงจะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยางในประเทศไทยได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องใช้มาตรการลดการพึ่งพาการส่งออก แล้วหันมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่ามีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตัน จากเดิมที่จะใช้เพียง 300,000 ตัน นั้นคิดว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการสำรวจตามต่างจังหวัดมีการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสำรวจอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ในหมวดว่าด้วยการแปรรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชุมชนจาก พรบ.เดิมจะต้องขอตั้งงบประมาณในส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการ และห้ามไม่ให้มีการประกวดราคารับจ้างข้ามถิ่น ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมน้อย ผลงานจึงไม่เกิดขึ้น ตาม พรบ.ใหม่นี้ จะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วม วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศได้มากขึ้น

ส่วนการเตรียมรับมือผลผลิตยางปี 57/58 นั้น ในวันที่ 29 พ.ค. จะหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายสภาเกษตรกรฯนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาชดเชยส่วนต่างของราคายางในตลาดกับราคาที่กำหนดโดยต้องการให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อที่กก.ละ70บาทแทน แนวทางเดิมที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้คณะกรรมนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่จะใช้วงเงินที่มีอยู่12,000 ล้านบาทในโครงการมูลภัณฑ์กันชน หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ต่อ เนื่องจากจีนมีข้อตกลงใหม่ ที่จะซื้อยางจากไทยถึง 2 แสนตัน โดยพร้อมจะบวกราคาเพิ่มสูงกว่าราคาตลาดทำให้โครงการบัฟเฟอร์ฟันด์จะมีรายได้ จากตรงนี้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้มาตรการชดเชยส่วนต่างตามที่สภาเกษตรกรเสนอนั้น ต้องใช้งบประมาณถึง 39,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมากและรัฐบาลไม่มีงบดำเนินการแล้ว ข้อเสนอของสภาเกษตรกรฯครั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรจึงไม่เห็นด้วย แต่พร้อมจะหารือเพื่อรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ

สำหรับราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 57.89 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันแตะระดับ 60.60 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้น 0.62 บาท/กก. และ 0.05 บาท/กก. โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปี ประกอบกับอุปทานยางยังคงออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและนักลงทุนเทขายทำกำไร เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจบางรายการออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางในในระดับหนึ่ง

สนช. เสนอแก้ไขร่าง รธน. ชี้ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด แต่ลดอำนาจเสนอกฎหมาย ยันเห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก




Thu, 2015-05-28 20:55


รองประธาน สนช. เผย คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมี 24 ประเด็น ด้านเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ระบุ สนช. เห็นด้วยที่จะมีนายกรัฐมนตรี คนนอกแก้วิกฤตบ้านเมือง แต่ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ว. ให้ทำหน้าที่แทน ส.ส. ช่วงมีนายกรัฐมนตรีรักษาการ และ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด

28 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมอบรายงานรวบรวมความความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสมาชิก สนช. ซึ่งมีทั้งหมด 24 ประเด็น โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากสัดส่วนของ สนช. เป็นผู้รับมอบ

ขณะที่สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เปิดเผยเพิ่มเติม ว่า จำนวน 24 ประเด็นที่ สนช. ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีหลายประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เช่น ประเด็นเรื่องการกำหนดว่า “พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. มีความเห็นให้ตัดคำออก เพราะมีลักษณะเชิงอุดมคติ และให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทน ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น สนช. เห็นด้วย แต่ให้ระบุความชัดเจนมากขึ้น เช่น ในกรณีที่ห้วงเวลานั้นไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการที่เกิดเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรักษาการ ได้ และเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออก ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภา ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งได้ และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติใดต่อสภา หากสมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้เข้าชื่อร่วมกันขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลง มติ ภายใน 48 ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากสภาผู้แทน ราษฎร พร้อมว่า กรณีที่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้เพิ่มขั้นตอนหรือเงื่อนไขการสรรหาจากกลุ่มอาชีพให้ชัดเจน เพิ่มคณะกรรมการสรรหาให้มากขึ้น และควรให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรแต่ละวิชาชีพเข้ามาอีกด้วย และตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ และการถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบ

สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของบทเฉพาะกาลเสนอ สนช. เห็นว่าควรบัญญัติเงื่อนไขห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญนี้ ในระยะเวลา 5 ปี ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้บังคับแล้ว โดยนำแนวคิดจากบทเฉพาะของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ และเสนอเห็นควรบัญญัติให้ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 และยังไม่ครบวาระ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้ โดยไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ครอบคลุมถึง ส.ว. ที่เข้ารับหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี2551-2557 โดยเทียบเคียงรัฐธรรมนูญปี2550