แถลงนิติราษฎร์ชี้ ศาลรธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย วิพากษ์ลายละเอียดของคำวินิจฉัยละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่อิงหลักกฎหมาย ขยายเขตอำนาจตามอำเภอใจ อ้างหลักนิติธรรมเลื่อนลอย
แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์
เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ กรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔ ซึ่งเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และมีผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนี้
- ๑. -
ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นองค์กรของรัฐที่จัดอยู่ในหมวดศาล ซึ่งหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเหมือนกับศาลอื่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอานาจหน้าที่ในเรื่องใดนั้นย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถก่อตั้งอำนาจของตนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในการพิจารณาพิพากษาคดีศาลรัฐธรรมนูญต้องสำรวจตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อนว่าคดีที่มีผู้ร้องมานั้นอยู่ในเขตอำนาจที่ตนจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น หากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเช่นนั้น ย่อมจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเสียก่อน หลักการดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดการดุลและคานอำนาจตามหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตนไปตามหลักการข้างต้นไม่ แต่กลับอ้างอิงหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง และใช้การอ้างอิงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวนั้นไปเชื่อมโยงกับ “หลักนิติธรรม” ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ซึ่งไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
คณะนิติราษฎร์เห็นว่า สาระสาคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน การแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นการใช้อำนาจโดยตรง การใช้อำนาจโดยผู้แทน และการใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากซึ่งมีเจตจำนงทางการเมืองและความคิดเห็นตลอดจนผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป การค้นหาเจตจำนงของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติโดยความเห็นพ้องต้องกันของทุกคนโดยเอกฉันท์ในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องคิดค้นวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อยุติ นั่นคือ การถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อให้ข้อยุติที่ได้จากเสียงข้างมากนั้นเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้ การคุ้มครองเสียงข้างน้อยหมายถึงการเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็นโน้มน้าวใจให้บุคคลอื่นเห็นด้วยกับตน เพื่อที่ความเห็นของเสียงข้างน้อยที่มีเหตุมีผลจะได้มีโอกาสในการเป็นเสียงข้างมากในวันใดวันหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะต้องยอมตามเสียงข้างน้อยตลอดเวลา
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งที่สร้างหลักประกันให้เสียงข้างน้อยได้ใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบเสียงข้างมาก แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องช่วยสนับสนุนให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการเสมอ ตามหลักของการจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีฐานะเป็น “ผู้แทน” ของเสียงข้างน้อย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “คนกลาง” ซึ่งมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเจตจำนงของเสียงข้างมากและประกันเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติมอบอำนาจไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยนี้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้พรรณนาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบถ่วงดุล และการคุ้มครองเสียงน้อยอย่างยืดยาว และสรุปอย่างง่าย ๆ โดยนัยว่าเสียงข้างน้อย “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนว่าในขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเสียงข้างมากหรือไม่คุ้มครองเสียงข้างน้อยจน “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” อย่างไร กล่าวโดยจำเพาะเจาะจงกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ หากเสียงข้างมากได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งแล้วเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย เสียงข้างน้อยก็ยังคงมีโอกาสในการรณรงค์ในการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเป็นเสียงข้างมากและกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของตนที่ต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บังคับว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งในรูปแบบที่ฝ่ายเสียงข้างมากได้ดำเนินการแก้ไขไปตลอดกาล
นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสมควรต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างของสถาบันการเมืองว่าจะมีลักษณะอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หาใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองให้เป็นไปตามทัศนะของตนไม่
ในคำวินิจฉัยนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง “หลักนิติธรรม” อย่างเลื่อนลอยเพื่อสร้างอำนาจให้ตนเองเข้าควบคุมขัดขวางเสียงข้างมากจนทาให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผล จึงมิใช่การปรับใช้ “หลักนิติธรรม” เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เป็นการช่วยเหลือเสียงข้างน้อย จนมีผลทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก รังแกเสียงข้างมาก เบียดขับให้เสียงข้างมาก “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” และสถาปนา “เผด็จการของเสียงข้างน้อย” ขึ้นในที่สุด
- ๒. -
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง “หลักนิติธรรม” ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา ๖๘ นั้น หากพิจารณาจากถ้อยคำของบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แล้ว เห็นได้ว่า มาตรา ๖๘ เป็นกรณีที่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ทราบเรื่องดังกล่าว ผู้นั้นสามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ จึงต้องเป็นกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้เป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่กรณีที่ “บุคคล” หรือ “พรรคการเมือง” ใช้ “สิทธิและเสรีภาพ” ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่อย่างใด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ไม่ได้มีการยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่เป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องไว้พิจารณาทั้ง ๆ ที่ตามข้อเท็จจริง ผู้ร้องไม่ได้เสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ในคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตำหนิว่า รัฐสภาได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการขั้นตอน แต่เมื่อพิจารณาการรับคำร้องในคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นศาลรัฐธรรมนูญเองต่างหากที่ไม่เคารพกระบวนการขั้นตอนก่อนการยื่นคำร้องดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๘ อีกทั้งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพกระทาการของบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งคดีตามบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แต่ประการใด
ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีอานาจรับคำร้องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการขยายแดนอำนาจออกไปจนศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทาลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอานาจสูงสุดเด็ดขาด ความร้ายแรงดังกล่าวย่อมส่งผลให้คาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลใด ๆ ในทางกฎหมาย
- ๓. -
นอกจากจะปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว ในการดำเนินกระบวนพิจารณายังปรากฏความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะของตุลาการผู้พิจารณาคดีอีกด้วย กล่าวคือ ในชั้นของการรับคำร้องไว้พิจารณานั้น นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการผู้หนึ่งที่นั่งพิจารณาคดียังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมต้องถือว่านายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องคดีนี้ไว้พิจารณา เมื่อนายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องไว้ จึงย่อมไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ได้เริ่มต้นไปแล้วก่อนที่ตนจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ การออกเสียงลงในคะแนนในประเด็นแห่งคดีของนายทวีเกียรติจึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยอมให้ตุลาการที่ไม่ได้เป็นองค์คณะในชั้นรับคำร้องไว้พิจารณา ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในชั้นวินิจฉัยคดี กรณีอาจส่งผลให้มติในคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
นอกจากจะปรากฏปัญหาความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะที่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ยังปรากฏว่าตุลาการอีกสามคน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ ภักดีธนากุล เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้เคยอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๐/๒๕๕๐ (เป็นพิเศษ) วันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการสรรหา และแสดงทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่อการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงถือได้ว่า นายจรัญ ภักดีธนากุลมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นกลาง นายจรัญ ภักดีธนากุลจึงไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคดีนี้ได้ โดยสามัญสานึกของความเป็นตุลาการ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นายจรัญ ภักดีธนากุลย่อมต้องถอนตัวออกจากการเข้าร่วมเป็นองค์คณะ ดังที่ได้กระทำมาแล้วในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๒/๒๕๕๕
โดยเหตุที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ลงมติเป็นเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ เสียงในประเด็นที่ว่าเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรค ๑ ดังนั้น หาก ๕ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ได้จึงย่อมทำให้มติเสียงข้างมากดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเสียงข้างน้อยคือ ๓ ต่อ ๔ เสียง
- ๔. -
ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง เพราะเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอนั้น ไม่ใช่ร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ แต่เป็นร่างที่จัดทำขึ้นใหม่โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๖ วรรคสอง และมาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง จนมีผลให้ผู้เคยดารงตาแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา ๒ ปี ซึ่งถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ขัดกับหลักการของร่างเดิม จึงจำเป็นต้องมีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเสนอมาเป็นร่างใหม่ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ไม่มีการเสนอมาเป็นร่างใหม่ ย่อมส่งผลให้การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง นั้น
ตามกระบวนการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีผู้ยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในชั้นนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ และเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ หลังจากที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาแล้วไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขหลังจากนั้นอีกแต่อย่างใด ทั้งนี้ประธานรัฐสภาได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนและสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นฐานในการพิจารณาลงมติวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่นนอกจากฉบับที่ประธานรัฐสภาได้ส่งไปให้ในการพิจารณาลงมติ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นฐานในการพิจารณานั้นไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนร่วมเสนอ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้มีความบกพร่อง
- ๕. -
ประเด็นการกำหนดวันในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาภายหลังการรับหลักการในวาระที่ ๑ นั้น เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ได้กาหนดให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้สมาชิกผู้นั้นเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อ ๖ ประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น
กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ ได้มีการลงมติให้ใช้กำหนดเวลาในการเสนอคำแปรญัตติภายใน ๑๕ วันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้มีการลงมติให้กาหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติจึงเป็นไปตามที่ข้อบังคับการประชุมได้กาหนดเอาไว้ คือ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ โดยระยะเวลาสิ้นสุดนั้นเป็นไปตามผลของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาให้มีการนับเวลาย้อนหลังตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแต่อย่างใด นอกจากนี้สิทธิในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภานั้นได้เริ่มขึ้นทันทีนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการโดยผลแห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติได้ตลอดเวลาจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๕ วัน ไม่ใช่มีเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง ๑ วันดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ ทั้งตามข้อเท็จจริงยังปรากฏชัดเจนว่ามีสมาชิกรัฐสภาได้เสนอคำแปรญัตติเป็นจานวน ๒๐๒ คน อันแสดงให้เห็นว่าการนับระยะเวลาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาแต่อย่างใด การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาจึงเป็นการดำเนินกิจการไปตามข้อบังคับ ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ แล้ว
สำหรับการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นในการอภิปรายวาระที่ ๒ เป็นจำนวน ๕๗ คนนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำเสนอแปรญัตติของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกตัดสิทธินั้นเห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ ๑ มาแล้ว จึงเป็นการเสนอคำแปรญัตติที่ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรค ๓ การไม่ให้สิทธิแก่สมาชิกจานวน ๕๗ คนในกรณีนี้จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
สมควรกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาคาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ พบว่ามีปัญหาในการหยิบยกข้อเท็จจริงและอ้างข้อกฎหมายอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า “การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง ๑ วัน เป็นการดำเนินที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ วรรค ๑ และวรรค ๒ ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรค ๒ ด้วย” โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายว่าข้อบังคับการประชุมฯข้อใดที่กำหนดว่าการนับระยะเวลาในการแปรญัตติต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป ตรงกันข้าม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรคแรก บัญญัติว่า“การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ๗ เพิ่มเติมขั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้ำวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น” กรณีนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐสภาได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดกับข้อบังคับดังกล่าว โดยที่ไม่ปรากฏข้อบังคับข้อใดเลยกำหนดให้นับระยะเวลาตามแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง คำวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงปราศจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง มีผลให้คำวินิจฉัยนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๔ เท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามอำเภอใจ ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาลตามมาตรา ๑๙๗ วรรคแรก
- ๖. -
ในประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่ามติของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่มีการสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องว่ามีสมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งได้แสดงตนและลงมติในที่ประชุมรัฐสภามากกว่าหนึ่งครั้ง โดยเป็นการใช้สิทธิลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ดังนั้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขัดต่อหลักการที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ สาหรับคำวินิจฉัยในส่วนนี้ สมควรชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นฐานในการพิจารณานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากผู้ร้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยที่ไม่ได้มีการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกร้องปฏิเสธอานาจในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ จึงไม่ได้เข้ามาในกระบวนพิจารณา ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลฟังเป็นยุติดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผ่านการโต้แย้ง หรือถูกหักล้างจากผู้ถูกร้อง และอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้จริง คือ มีการแสดงตนและเสียบบัตรแทนกันโดยสมาชิกรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าบุคคลที่ไม่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ณ ขณะนั้นและให้ผู้อื่นลงมติแทนโดยการเสียบบัตรเป็นบุคคลใด และมีจำนวนเท่าใด ซึ่งย่อมทำให้การลงมติเฉพาะในนามของบุคคลนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลงมติแทนผู้อื่นก็ย่อมต้องมีความรับผิดเป็นส่วนตัวตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาเพียงบางคนย่อมไม่สามารถทำลายการแสดงเจตนาลงมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ๆ ที่ได้กระทำการไปในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทย จนถึงขนาดทำให้กระบวนการลงมติของรัฐสภาในกรณีนี้กลายเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาจำนวนเพียงเล็กน้อยมีผลเป็นการทำลายการลงมติของสมาชิก ๘ รัฐสภาส่วนใหญ่ที่กระทำการโดยชอบเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลเป็นการทำลายการปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๒ ลงในที่สุด
- ๗. -
ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเรื่องที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น
เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตย การออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ประชาชน ในแง่นี้ ประชาชนย่อมเป็นผู้แสดงเจตจำนงกำหนดที่มา คุณสมบัติ และลักษณะของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งประชาชนอาจใช้อำนาจนั้นโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติ หรือผ่านผู้แทน เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจใด ๆ ในการเข้ามาชี้นำหรือกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยเฉพาะกับกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในการกำหนดบังคับไว้ในคำวินิจฉัยว่าประเทศไทยควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือหากมีวุฒิสภา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปด้วยวิธีการใด
การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีเจตจำนงให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหานั้น แม้ขณะนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีฐานะเป็นองค์กรผู้จัดทารัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดให้ที่มาของบุคคลผู้จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย” มาจากการแต่งตั้งนั้น โดยรากฐานย่อมขัดแย้งกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเป็นสาระสาคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลจึงทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้เข้ามาแก้ไขโดยกาหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกำหนดไว้เช่นนี้เป็นเจตนารมณ์สาคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งส่งผลให้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีฐานของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ เนื่องจากหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจานวนหนึ่งไปตลอดกาล ก็ต้องบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนวิธีการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วจะเห็นได้ว่า มาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง ห้ามมิให้มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐเท่านั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่อาจกระทาได้เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกาหนดข้อห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเองตามอำเภอใจ หากปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปได้ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องใดสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และบทบัญญัติในเรื่องใดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ถึงแม้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจะเห็นว่า ควรคงรูปแบบของวุฒิสภาคงเดิมไว้คือ ให้มีสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมีที่มาจากการสรรหา ก็เป็นความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตุลาการผู้นั้น ซึ่งอาจโต้แย้งถกเถียงกันได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมจะเอาความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตน เข้าแทนที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้วนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตนมิได้ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องรูปแบบที่เป็นอยู่ของวุฒิสภา ก็ต้องละทิ้งสถานะความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและไปรณรงค์ร่วมกับฝ่ายเสียงข้างน้อยตามวิถีทางประชาธิปไตย
นอกจากนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยห้ามมิให้เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมืองและพรรคการเมือง และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ การที่สมาชิกรัฐสภาตามคำร้องในคดีนี้แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตัดลักษณะต้องห้ามดังกล่าวออกไป เป็นการทำให้วุฒิสภากลับกลายไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัว หรือสภาผัวเมีย สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ทำลายสาระสาคัญของการมีสองสภา เปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการซึ่งถูกร้องในคดีนี้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น เห็นว่าประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอันจะแก้ไขมิได้เหมือนกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐหรือระบอบการปกครองของประเทศซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนเหตุผลข้างต้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นแน่นอนเสมอไป เพราะวุฒิสภาก็เป็นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกต่างสภาหรือสภาเดียวกันลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ก็ได้ และเมื่อการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่ประชาชนชาวไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยการให้เหตุผลเช่นนี้มาเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้จินตนาการเรื่องราวที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าข้อเท็จจริงแห่งคดี นอกจากนี้ยังเป็นการคาดเดาล่วงหน้าว่าประชาชนจะเลือกบุคคลใดเป็นสมาชิกวุฒิสภาและดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนว่าไม่มีความรู้ความสามารถและวิจารณญาณในการเลือกบุคคลมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่าการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้กระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภา ๑๐ ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ให้ดาเนินการประกาศใช้บังคับต่อไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบเสียก่อน เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการถ่วงดุลและคานอำนาจ ทำให้ฝ่ายการเมืองออกกฎหมายได้ตามชอบใจ
เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เป็นคำวินิจฉัยที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการที่รัฐสภาซึ่งทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจดังกล่าวกำหนดกฎเกณฑ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ย่อมถือเป็นดุลพินิจของรัฐสภาผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นการวินิจฉัยในประเด็นนี้ก็เป็นการวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนได้เสียโดยตรงอีกด้วย เพราะเป็นการวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเอง
- ๘. -
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๕ ซึ่งกำหนดให้คาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐนั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการต้องพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๗ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือได้ว่ามีผลเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรอื่นของรัฐนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกาหนด ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือตามอาเภอใจ เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและทำการตัดสินไปโดยที่ไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นการใช้อำนาจซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติตามมาตราที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อกล่าวอ้างสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้แก่การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้
โดยเหตุที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี คำวินิจฉัยนี้จึงเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแต่อย่างใด
ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และในขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยโดยปราศจาอำนาจว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราและเนื้อหา ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงสถานะของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น ๙๐ วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมาพิจารณาใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน ๓๐ วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
สมควรกล่าวด้วยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่าน “คำวินิจฉัย” ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ออกสู่สาธารณะแล้ว บรรดากลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางการเมืองย่อมฉวยโอกาสนาคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไปใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตนต้องการได้
หากองค์กรของรัฐทั้งหลายยอมรับให้คำวินิจฉัยนี้มีผลในทางกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจอย่างมีดุลยภาพ ทำให้รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้ ประการสาคัญ ย่อมมีผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และประเทศไทยจะกลายเป็น “รัฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ในที่สุด
คณะนิติราษฎร์เห็นว่า การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ นอกจากจะไม่มีผลเป็นการช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในสังคมแล้ว ยังเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติในทางรัฐธรรมนูญ อันนามาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายต่อระบบกฎหมายและสถาบันทางการเมือง จนยากแก่การเยียวยาให้กลับฟื้นคืนดีได้ในอนาคต
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖