วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แถลงการณ์นกพิราบ lll

หกเดือนรัฐประหารสืบชะตา
เหล่าอีการุมทึ้งพิราบขาว
ไล่ล่าแห่ประจานจับขึงราว
บิดข่าวสารเบือนความจริงอ้างปรองดอง

จับหนึ่งเพิ่มข้อหาหากฝ่าฝื
แล้วจะคืนความสุขให้ไทยทั้งผอง
คนเป็นคนแค่เห็นต่างถูกจำจอ
ส่งฟ้องหนึ่งหนึ่งสองเป็นว่าเล่น

ดีแต่ข่มดีแต่ขู่สร้างความกลัว
ชั่วแต่พูดชั่วแต่พล่ามห้ามความเห็น
คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวบีบให้เซ็น
ขู่เข็ญด้วยภัยมืดตามคุกคาม

ไล่ผู้คนออกจากถิ่นที่อยู่
ตู่ว่าปฏิรูปอยู่อย่าได้ถาม
หากนอกลู่นอกยามต้องปราบปรา
ชูสามนิ้วเข้าล้อมจับทั้งกรมกอง

วาทกรรมปรองดองเคลือบยาพิษ
ได้แต่ลิดรอนสิทธิชนทั้งผอง
กฎอัยการศึกคงอำนาจไว้คะนอง
คอยจับจ้องฟ้องข้อหาประชาชน

ทบทวีนักโทษการเมืองจนล้นคุ
นี้จะปลุกผู้คนล้นท้องถนน
ทั้งสามัญชนผู้ไม่ยอมจำนน
อีกผองชนให้ลุกตื่นจากฝันร้าย

เหล่าพิราบถูกหักปีกแหว่งวิ่น
แต่ยังโบยบินไม่สิ้นสูญสลาย
ท่านฆ่าเราเกิดใหม่ใช่ตกตาย
ปลุกสหายนกพิราบอีกร้อยพัน
.................................................................

           “แม้แต่ระบอบเผด็จการทหารที่เข้มแข็งในฟิลิปปินส์ปี 1986 ก็ยังถูกโค่นล้มลงได้เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นและปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ”

#WeAreEverywhere #เราอยู่ทุกหนแห่ง
…………………………………………………………….

แถลงการณ์นกพิราบ lll
เราขอเรียกร้องให้คณะรัฐประหาร คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

  • 1. ยกเลิกกฎอัยการศึก
           กฎอัยการศึกคือเครื่องมือคุกคามสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน การใช้กฎอัยการศึกปิดปากผู้คนรังแต่จะทำให้สังคมไทยตกอยู่ในวงจรความขัดแย้งรุนแรงไม่สิ้นสุด เราเชื่อว่ากระบวนการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ตราบที่ความยุติธรรมบังเกิด ตราบที่ผู้คนได้แสดงออกซึ่งความคิดความเห็นที่แตกต่างอย่างมีเสรีภาพ
  • 2. ปล่อยนักโทษการเมือง
        ให้พวกเขาได้มีสิทธิสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หยุดนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ประชาชนมิใช่เชลยศึก พวกเขาเพียงแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง พวกเขามิใช่อาชญากรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
  • 3. คืนอำนาจให้ประชาชน
        เราเห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย วิธีจัดการความขัดแย้งตามกลไกประชาธิปไตยคือการที่คนทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันโดยถ้วนหน้า ขอให้เราได้เดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศด้วยกันโดยถ้วนทั่ว เพราะเราเป็นประชาชนของประเทศนี้เท่าๆ กับท่าน

จากฉันถึงเธอ
ในห้วงเวลา 6 เดือนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
25 พ.ย. 2557

ทีมโฆษก คสช. เตือน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" โพสต์ลบหลู่กองทัพไม่ใช่วิสัยอาจารย์


พ.อ.วินธัย สุวารี เตือนพาดพิงกองทัพใช้แต่ความรู้สึก ข้อมูลไม่ครบ ไม่ใช่วิสัยอาจารย์ จะกระทบความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพ - มั่นใจโรงเรียนการทหารในประเทศได้มาตรฐานระดับสากล บุคลากรประสบความสำเร็จ มีผลงานจับต้องได้จริง ด้าน 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' โพสต์ตอบล้ม รธน.- ผิด ม.113 มีสิทธิอะไรมาเตือนคนอื่น
24 พ.ย. 2557 - หลังจากเมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์กรณีกองทัพเรียกคนจำนวนมากไปรายงานตัว และคนที่ถูกเรียกรายงานตัวได้เล่าว่าทหารที่มาสอบสวนพูดอะไรบ้าง ซึ่ง "บอกตรงๆ ฟังแล้วก็ได้แต่ "สายหน้า" นะ คนเหล่านี้ "ไม่ฉลาด" เอามากๆ สิ" พร้อมวิจารณ์การแสดงความเห็นทางรายการคืนความสุขให้คนในชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า "หมอนี่ไปอยู่ที่ไหนมา? เกิดเมื่อศตวรรษที่แล้วหรือไง?" นั้น
ต่อมาวันนี้ (24 พ.ย.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมงานโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยไทยรัฐออนไลน์ รายงานความเห็นของ พ.อ.วินธัย ที่ระบุว่า นายสมศักดิ์มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ สถาบันที่มีชื่อเสียง การแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ ควรเป็นในเชิงสร้างสรรค์ บางลักษณะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควรต้องระมัดระวัง อย่างกรณีที่ใช้คำว่า "โง่" ก็ไม่อยากเชื่อ เพราะลักษณะคำพูดดังกล่าวเป็นการพูดในเชิงลบหลู่ ดูหมิ่นดูแคลน ไม่ใช่วิสัยของบุคลากรระดับอาจารย์ ซึ่งอาจมีลูกศิษย์มากมาย การเสนอข้อมูลใดๆ ในขณะที่มีข้อมูลไม่ครบไม่เพียงพอ หรือใช้เพียงความรู้สึกความเข้าใจเฉพาะในมุมมองของตัวเอง ไปพาดพิงบุคคล และองค์กรอื่นๆ อยากให้ได้ระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจจะกระทบภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาชีพได้
"มั่นใจว่าเรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนทหารทุกแห่งในประเทศไทย มีพัฒนาการมาตามกาลสมัย มีมาตรฐานในระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ นำไปสู่เมื่อบุคคลากรสำเร็จออกปฏิบัติราชการ จะมีผลงานให้เห็นสามารถจับต้องได้จริง ตั้งแต่การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน การพิทักษ์ปกป้องสถาบัน และการช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช้ล้มเหลวอย่างที่กล่าวอ้าง"
หลังจากนั้นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ทางเฟซบุ๊คตอบ พ.อ.วินธัยว่า "แต่คุณวินธัยครับ คนที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรงที่สุดของประเทศ คือล้มรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายมาตรา 113 (โทษประหารชีวิตทั้งนั้น) มีสิทธิอะไรในการ "เตือน" คนอื่นเรื่องทำผิดโน่นผิดนี่อีกครับ?"
"ปล. สำหรับ "ข้ออ้าง" ของ คสช ประเภท "จำเป็นต้องทำ" คือ ผิดกฎหมาย 113 ล้มรัฐธรรมนูญ อะไร .. แหม ไม่มีกฎหมายอาญาไหน เขียนว่า ไม่สามารถกบฏได้ "ยกเว้นแต่มีความจำเป็น" อะไรแบบนั้นนะ คือ ใครคิดว่าข้ออ้างประเภทนี้มีความหมายอะไร ก็บ้าแน่ ปล.2 อ้อ แล้วกรณีที่มีมือปืนไปยิงผมถึงบ้าน ไม่กีวันหลังจากคุณวินธัย ในนามกองทัพบอกออกมาขู่ว่า ต้อง "ใช้มาตรการทางสังคม" เล่นงานผมน่ะ มีวี่แววจะจับได้หรือยังครับ?" สมศักดิ์โพสต์ตอบ

รวบ 8 น.ศ. โปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' ที่ท่าพระจันทร์

             24 พ.ย. 2557 มีรายงานว่า นักศึกษา 6 คน ซึ่งทำกิจกรรมโปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' และนักศึกษาอีก 2 คนที่ถ่ายภาพกิจกรรม บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงครามแล้ว
            ข้อความในใบปลิวความว่า "ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน...แต่คนย่อมเป็นคน.." -จิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำมาจากภาพ cover ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเงียบไปหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. และกลับมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา

            ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 19.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวนักศึกษา 2 คนสุดท้าย ที่ สน.สำราญราฏษร์ แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีการปล่อยตัว นักศึกษา 6 คนที่ สน.ชนะสงคราม โดยนักศึกษาทั้ง 8 ราย ต้องเซ็นรับในบันทึกการปรับทัศนคติ โดยไม่มีการดำเนินคดี แต่ถูกห้ามไม่ให้กระทำการดังกล่าวอีก หากกระทำอีกจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป
บันทึกการปรับทัศนคติ
หลังจากนักศึกษาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ได้รวมตัวกันกินลาบที่ร้านอาหารใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนควบคุมสถานการณ์อยู่ด้วย
ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ที่มาภาพ เพจ LLTD)

‘พรเพชร’ เผยยังไม่ได้รายงานถอด 38 ส.ว. และยังไม่ได้กำหนดแถลงเปิดคดี ‘สมศักดิ์ – นิคม’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’


ปธ. สนช. เผยยังไม่ได้รับรายงานถอดถอน 38 ส.ว. จาก ป.ป.ช และยังไม่ได้กำหนดแถลงเปิดคดี ‘สมศักดิ์ – นิคม’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ โดยจะหารือในที่ประชุม สนช. ในสัปดาห์นี้
24 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถอดถอน  นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา 38 คน ภายหลังจากให้การรับรองนายขิ่น อ่อง มินต์ ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
พรเพชร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และคดีถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยต้องรอหารือในที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 27-28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังการรับฟังความเห็นของคู่ความทั้งสองฝ่ายประกอบกับการพิจารณาพยานหลักฐาน เอกสารเพิ่มเติมที่ได้มีการยื่นเข้ามาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ยืนยันว่า กรอบเวลาการพิจารณาที่ปรากฏในข่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ของสื่อมวลชนเท่านั้น เท่านั้น ส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการไต่ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งหากได้รับรายงานก็จะดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ รับไว้พิจารณาตามข้อบังคับ ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่อยู่ในกลุ่ม 38 อดีตส.ว.นั้น ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ได้

แอมเนสตี้ฯ ร้องไทยยกเลิก กม.จำกัดสิทธิ-ยุติปราบปราม ปชช.

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 หลังจากที่กองทัพได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารมากว่าหกเดือน โดยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าว และให้ยุติการปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
21 พฤศจิกายน 2557
ประเทศไทย: ผู้นำทหารต้องยุติการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นหลังหกเดือนรัฐประหาร
ทางการไทยแถลงว่าไม่มีแผนการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในเร็ววันนี้ หลังจากที่กองทัพได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารมากว่าหกเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าว และให้ยุติการปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การปฏิเสธสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการไทยยังคงใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อจับกุมคุมขังบุคคลหลายร้อยคนโดยพลการ และมีการนำตัวขึ้นไต่สวนในศาลทหารอย่างไม่เป็นธรรมที่ซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี รวมทั้งยังมีข้อกล่าวหาการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการ

ผลจากมาตรการจำกัดสิทธิโดยสิ้นเชิงตามกฎอัยการศึก ซึ่งเดิมมีการประกาศว่าจะใช้เป็นมาตรการชั่วคราว เป็นเหตุให้มีหลายร้อยคนอาจได้รับโทษรวมทั้งการจำคุก โดยเป็นผลมาจากการใช้ สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ ทั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม

ทางการใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อลงโทษบุคคลที่แสดงออกอย่างสงบ และยังปฏิเสธไม่ให้สิทธิประกันตัวตามกฎหมายต่อบุคคลจำนวนมากขึ้นที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี สำหรับการกระทำที่ถือว่าเป็น การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นให้ทางการแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงหกเดือน ที่ผ่านมา โดยต้องอนุญาตให้ประชาชนแสดงความเห็นและประท้วงได้อย่างสงบ ฟื้นฟูหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกกฎหมายที่กดขี่ปราบปรามทั้งปวง และให้ยกเลิกบทลงโทษที่ไร้เหตุผลต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ โดยรัฐอ้างว่าต้องลงโทษเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้ทางการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย โดยให้ยุติการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร และให้คืนความยุติธรรมและให้เยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการควบคุมตัวโดยพลการ การซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ชาวบ้านศรีสะเกษเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล หลัง จนท.อ้างคำสั่ง คสช.รุกที่ทำกิน


ชาวบ้านศรีสะเกษเดือดร้อน เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลกรณีถูกไล่ออกจากที่ทำกิน หลังเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 ไล่รื้อ-ดำเนินคดีชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ชาวบ้านจาก ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางกู่ จ.ศรีสะเกษ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มาร่วมประชุมเพื่อเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาตามนโยบายโฉนดชุมชน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64 /2557  เพื่อเข้ามาทำการขับไล่ชาวบ้านให้ รื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง และอพยพออกจากพื้นที่ รวมทั้งมีการแจ้งความดำเนินคดี โดยอ้างว่าบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกป่าแดง ทั้งที่ได้มีการวัดแนวเขตร่วมกันและปักเสารั้วเป็นที่ชัดเจน ขณะที่ชาวบ้านชี้แจงว่าได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาแต่สมัยบรรพบุรุษ จนบางพื้นที่ได้มีการออกเอกสารสิทธิให้แล้ว
นายโสม ศรีวัง ชาวบ้านจาก ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า โดยแท้จริงแล้วตามแนวเขตเดิมชาวบ้านไม่ได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด โดยช่วงนั้นประมาณปี 2515 ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งประชาชนในหมู่บ้านได้ร่วมกันทำขึ้น เพื่อกำหนดเป็นแนวเขตระหว่างที่สาธารณประโยชน์กับที่ชาวบ้าน แต่ต่อมามีความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงมีหนังสือคำสั่งอำเภอที่ 357/2539 แต่งตั้งคณะกรรมการชี้แนวเขต โดยได้ทับรวมเอาที่ดินทำกินของชาวบ้านและที่มีเอกสารสิทธิเข้าไปด้วย นอกจากนี้ได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิชาวบ้านเมื่อปี 2551 โดยที่ชาวบ้านได้ถือครองและใช้ประโยชน์ทำกินมาก่อน
นายโสมกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับจังหวัดภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร  เสนเนียม) เป็นประธานลงนามคำสั่งวันที่ 7 มีนาคม 2554 มีมติให้ชะลอและยุติการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านไว้ก่อน ล่วงมาถึงปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้อาศัยจังหวะ โดยอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64 / 2557 เข้ามาดำเนินการให้ชาวบ้านรื้อถอน และอพยพออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน กล่าวหาบุกรุกที่สาธารณประโยชน์อีกครั้ง
“แม้จะมีหนังสือจากจังหวัดศรีสะเกษ ให้ชะลอการไล่รื้อและยุติดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ตามมติที่ประชุมระหว่างพีมูฟกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เมื่อ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ด้วยชาวบ้านเกรงว่าจะมีความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาอีก เพราะหากถูกขับไล่ และถูกดำเนินคดีอีก ชาวบ้านรวมทั้งลูกหลานก็จะไม่มีที่อยู่ จึงมีการประชุมกันเพื่อเรียกร้องให้ยุติการไล่รื้อ และขอให้รัฐบาลร่วมแก้ไขปัญหาตามนโยบาย และตามที่ได้มีการดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชนมาแต่รัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการต่อไป” นายโสม กล่าว

‘วรเจตน์’ ยื่นตีความประกาศคสช.ขัดรธน. ศาลทหารเลื่อนตรวจหลักฐาน ม.ค.ปีหน้า

‘วรเจตน์’ ขึ้นศาลทหาร นัดตรวจพยานหลักฐานสู้คดีขัดคำสั่งคสช. พร้อมทำคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจศาลทหาร ชี้ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ขัดรธน.ชั่วคราว ศาลฯนัดอีกครั้ง 26 ม.ค.58
24 พ.ย.2557 ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ถ.หลักเมือง คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ 32 ก./2557 ที่อัยการทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 ซึ่งความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอัยการทหารยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา
จากนั้นเวลา 11.00 น. นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายโจทย์ ส่วนทางตนและทนายความได้มีการยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศของคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พันธะกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย ทั้งนี้ในไอซีซีพีอาร์ระบุไว้ว่าศาลต้องเป็นอิสระ และในคดีอาญาทางจำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน ในกรณีของตนนั้นมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล เพราะศาลทหารกรุงเทพเป็นองค์กรอยู่ในกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์ อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นการขึ้นศาลทหารฯช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก คือเมื่อศาลทหารฯตัดสินคดีก็จะจบทันที ตนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญฯและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะสามารถโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯนั้นบัญญัติให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมายดังนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียวไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ดังนั้นประกาศของคสช.จึงถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4 และมาตรา 26 ตนจึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทย์
“วันนี้เราพูดถึงเรื่องประกาศของคสช.และอำนาจของศาลทหาร ที่ต้องดูว่าศาลทหารจะพิจารณาอย่างไรต่อไป เพราะยังไม่ทราบต้องรอวันที่ 26 ม.ค. 2558 ว่าจะเดินสถานะใดต่อไป ประกาศคสช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว และเขียนข้อความทำให้เห็นได้ว่ามีการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพาะฉะนั้นต้องมีองค์กรชี้ก่อนว่าประกาศคสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายวรเจตน์ กล่าว
ทั้งนี้ โดยการนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ ทางคณะตุลาการศาลฯได้อนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมัน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย แต่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องบันทึกเทป หรือสมุดจดเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด

'เทียนฉาย' ไม่หวั่นกระแสต้าน คสช. เชื่อไม่กระทบการปฏิรูป


ปธ. สปช. มั่นใจกระแสต้านรัฐบาลและคสช. ไม่กระทบการเดินหน้าปฏิรูป ด้านศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปเผยตัวเลข ประชาชน เสนอความคิดเห็น หลักพัน
ที่มาภาพ : เว็บข่าวรัฐสภา
24 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากรับฟังการยื่นข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูปประเทศไทยเพื่อประชาชน ถึงประเด็นที่มีกลุ่มคนออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า มั่นใจว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวมความเห็นของ สปช. และการปฏิรูปประเทศรวมทั้งไม่กังวลว่ากระแสต่อต้านดังกล่าวจะทำให้การปฏิรูปต้องสะดุดลง
เทียนฉายกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อเสนอแนะเข้ามาจำนวนมาก ครอบคลุมทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และตั้งแต่สัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนว่าจะเริ่มปฏิรูปในด้านใดก่อน โดยวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะเป็นวันเริ่มต้นในการรวบรวมประเด็นจากคณะกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง 18 คณะและจะมีเวลาถึง 20 วัน ก่อนจะสรุปประเด็นข้อเสนอแนะทั้งหมดจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 19 ธ.ค. เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการจะเสร็จทันตามกรอบเวลา
ขณะเดียวกันศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เปิดเผยตัวเลขขจำนวนครั้งที่ประชาชนได้เสนอความคิดเห็นเข้ามาที่ศูนย์ฯ ในสัปดาห์แรก ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน 1,680 ครั้ง ผ่านช่องทางทั้ง 9 ช่องทาง โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเว็บไชต์ www.parliament.go.th/publicopinion ขณะที่ข้อมูลสถิติแบบแยกประเภทช่องทางการเสนอความคิดในช่วง 4 วันแรก (17-20 พ.ย. 2557) มีดังนี้
1. ยื่นด้วยตนเอง จำนวน 15 ครั้ง
 2. ทาง Call Center จำนวน 47 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 44 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 1ครั้ง
 3. ทางโทรศัพท์ 19 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฎิรูป 12 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 6 ครั้ง
 4. ทางไปรษณีย์ แยกเป็นทางตู้ ปณ.999 จำนวน 4 ครั้ง ไปรษณีย์ทั่วไป 12 ครั้ง
 5. ทางเว็บไซต์ มีผู้เข้าใช้บริการ 621 คน มีจำนวนผู้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 6 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 1 ครั้ง
6. ทางอีเมล์ 12 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 8 ครั้ง
7. ทางไลน์ พบว่ามีจำนวนผู้แอดไลน์ 244 ไลน์ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 28 ครั้ง และ
8.ทางเฟซบุ๊ก พบว่า มีผู้กดไลค์แฟนเพจ 323 เฟซบุ๊ก เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 16 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 6 ครั้ง

นายกรัฐมนตรีมอบหมายปลัด ศธ. ดูแลภาพรวมนักศึกษาเคลื่อนไหวการเมือง

สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 

Tue, 2014-11-25 13:57

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ศูนย์เสมารักษ์ทั่วประเทศ เร่งตรวจตราเชิงรุก-ป้องกันนักศึกษาแสดงออกทางการเมืองไม่เหมาะสม ให้ สกอ. ดูแลนักศึกษาที่มีความเห็นต่าง ย้ำแสดงออกได้ แต่ต้องเหมาะสมมีกาละเทศะ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายสถาบันพระปกเกล้า และสภาปฏิรูปทำเวทีให้นักศึกษามาแสดงออก
นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถูกห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยนักข่าวภาพสนาม/แฟ้มภาพ) (ชมภาพทั้งหมด)
กลุ่มนักศึกษา "ดาวดิน" จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกนำไปปรับทัศนคติ หลังชูสามนิ้วและสวมเสื้อยืดมีข้อความเรียงกันว่า "ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร" ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างตรวจราชการ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 (ที่มา: นักข่าวพลเมือง/แฟ้มภาพ)
25 พ.ย. 2557 - กรณีที่สัปดาห์ที่แล้วมีนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พ.ย. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ หรือ เทียบเท่าที่มี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยดูแลภาพรวมของนักเรียนและนักศึกษาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสม
ทั้งนี้ ได้กำชับเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ช่วยดูแลนักศึกษาที่ออกมาแสดงความเห็นต่างทางการเมือง เพราะเรื่องการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มนักศึกษาทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมและกาลเทศะ ซึ่งทุกคนมีสิทธิหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน แต่การแสดงออกต้องเคารพสิทธิหน้าที่ของผู้อื่นด้วย ซึ่งตนเองเข้าใจว่าเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มีความคิดเร็ว ทำเร็ว อาจไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น จะเร่งปลูกฝังเรื่องหน้าที่และพลเมืองให้แก่เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองให้มากขึ้น
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้ศูนย์เสมารักษ์ของ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีอยู่ 13 แห่งทั่วประเทศ ช่วยตรวจตราเชิงรุกมากขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กและนักศึกษาแสดงออกทางการเมืองอย่างไม่เหมาะสมอีก ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องค่านิยมหลักคนไทย12 ประการ ได้เข้าถึงผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื่องจาก วช.มีการทำวิจัยในเรื่องนี้นำร่องไปแล้วว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ใช่แค่การท่องจำ หรือ ร้องเพลง แต่การให้ค่านิยมหลัก 12 ประการเข้าถึงผู้เรียนจะต้องเกิดจากการปฎิบัติ เพราะจะทำให้เด็กและเยาวชนได้รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเองตามหลักประชาธิปไตยด้วย
นายกรัฐมนตรีมอบหมาย สปช. สถาบันพระปกเกล้าทำเวทีให้นักศึกษามาแสดงออก
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ว่านายกรัฐมนตรีเตรียมเปิดเวทีเพื่อให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ โดยมอบหมายให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และสถาบันพระปกเกล้า หาแนวทางและรูปแบบของเวที ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ โดยไม่ต้องผ่อนปรนกฏหมายเนื่องจาก สปช. สามารถดำเนินการไปตามกรอบของกฏหมายพิเศษได้ ทั้งนี้มองว่าการแสดงออกต่างๆ เป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากการข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแสดงออกในลักษณะดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาลสามารถควบคุมได้และไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งสถานการณ์ด้านความมั่นคงในส่วนตัวนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้บ่อยครั้งเพราะไม่เหมาะสม

ใบปลิวต้าน คสช. โผล่ ห้องน้ำตึก อ.มช. นอกเครื่องแบบเฝ้าจับตากว่า 30 นาย






            25 พ.ย. 2557 – มีรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โปรยใบปลิวต้าน คสช. บริเวณห้องน้ำในตึกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่(อ.มช.) หลังจากไม่สามารถจัดงานเสวนา "กินข้าวถกปัญหา กิจกรรมนักศึกษา ภายใต้กฏอัยการศึก" ได้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่หารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาเฝ้าจับตาอยู่บริเวณโดยรอบอาคารกว่า 30 นาย ซึ่งข้อความในใบปลิวระบุว่า “หยุดคุกคาม นักศึกษา” “Dictator get out” และ “No coup” เบื้องต้นยังไม่มีการเข้าควบคุมตัวนักศึกษาแต่อย่างใด


           หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมเสวนาให้ข้อมูลว่า วันนี้ตามเดิมจะมีการจัดเสวนาขึ้น โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษามาพูดคุยกัน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้ามาบริเวณตึกอ.มช. จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้จัดกิจกรรมประดับธงตึก อ.มช. ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของนักศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน แต่มาจัดวันเดียวกับวันที่จะมีการจัดเสวนา