วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีแจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ หนุนผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ

ศาลยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้ง แจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ ระบุผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ ไม่ได้อยู่ในงาน จำเลยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะจูงใจให้เลือก และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แม้จำเลยไม่ได้ลงพื้นที่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
30 ธ.ค.2557 พระสุเทพ ปะภากโร หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ และประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จากสวนโมกข์ จำนวน 2 รูป และผู้ติดตาม ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสินที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ชุมพล กาญจนะ จำเลยที่ 2 และประพนธ์ นิลวัชรมณี จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา4, 5, 57, 118 ริบผ้าขนหนูของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจำเลยทั้ง 3 เป็นระยะเวลา 10 ปี
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2551 ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.สุราษฎร์ธานีและสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งอำเภอเกาะสมุยเป็นเขตเลือกตั้ง 1ใน 30 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 มี มนตรี เพชรขุ้ม  ลงสมัครนายก.อบจ. หมายเลข 1 ธานี เทือกสุบรรณ ลงสมัครนายก.อบจ.หมายเลข 2 และ สุวพัฒน์ สมหวัง ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 1 สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 2 ในเขตอำเภอเกาะสมุย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ทางเทศบาลตำบลเกาะสมุยจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ในงานดังกล่าวทางจำเลยทั้ง 3 ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมงาน และเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรประชาธิปัตย์และพี่ชายของธานี โดยมีสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงาน โดยจำเลยทั้ง 3 นำผ้าขนหนูที่ปักอักษรว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ชุมพล กาญจนะ ส.ส.ประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ มามอบให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงานประเพณีรดนำดำหัว
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 มนตรี เพชรขุ้ม ผู้สมัครนายก.อบจ. และสุวพัฒน์ สมหวัง ผู้สมัครสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 ว่าการที่จำเลยทั้ง 3 และสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์และมอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ถือว่าเป็นการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน อันอาจคำนวนเป็นเงินให้กับผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้กับนายธานี และสุริญญา ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นพี่ชายของธานีอีกด้วย
ต่อมาทางกกต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามพรบ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545 ต่อมาศาลอุทรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิ่งถอนสิทธิ์การเลือกตั้งสุริญญา ยืนนาน เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.และสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุยใหม่ ซึ่งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เฉพาะส่วนที่จำเลยทั้ง3 มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 3 มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุนั้นน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุริญญา ส่วนการที่จำเลยทั้ง3มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุที่มีการปักข้อความว่าพรรคประชาธิปัตย์และจำเลยที่ 1 สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตน์ที่อาจจะสื่อความหมายในทำนองว่าให้สนับสนุนสุริญญาผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้นทางอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.สุราษฎร์ธานี เบิกความตอบโจทก์ว่าการที่สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุยนั้น นายสุริญญา ไม่มีหนังสือรับรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และทางปลัดอบจ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับแจ้งว่านายสุริญญา ก็ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองเป็นเวลา 30 ปี จำเลยที่ 1 ก็สวมเสื้อที่มีข้อความ หรือสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว
และตามที่บุคคลทั้งสามได้มาร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุยในขณะนั้น ศาลจังหวัดเกาะสมุย เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ได้เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุย จากการเชิญเข้าร่วมงานรดน้ำ และได้มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นพบว่า ธานี เทือกสุบรรณ ที่ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุริญญา ยืนนาน ผู้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย ไม่ได้อยู่ในพิธีในขณะนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่บ้านใต้ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย ทำให้การเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 3 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือก สุริญญา ยืนนาน และธานี เทือกสุบรรณ บุคคลทั้งสองแต่อย่างใด เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาชิกองค์บริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ถึงแม้บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ก็ตาม คะแนนการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังนำคู่แข่งในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้ง 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 ส่วนผ้าขนหนูของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินของกลางที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด จึงมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน

นับถอยหลังแบบใหม่ ‘เคาท์ดาวน์ เรารุ่ง 2558’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


            วันที่ 31 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ที่ “ร้านลาภ”  บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มนักกิจกรรมจัดงาน 'เคาท์ดาวน์ เรารุ่ง 2558'  (Coup Down People Rise 2015โดยการร่วมรับประทานอาหารนานาชาติที่รายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างจะมีกิจกรรม “สอยดาวน์”  เพื่อให้เข้ากับชื่อกิจกรรม  “เค้าดาวน์”  โดยมีของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มีผู้ร่วมบริจาคมาสมทบทุนการจัดงาน

            เวลา 20.00 น. มีกิจกรรม “สัมโมทนียกถา” โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักประวัติศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ว่าด้วยบทเรียนและอนาคตของการเมืองเมืองไทยเมื่อขึ้นปี 2558

           หลังจากนั้นจะมีกิจกรรม  ดนตรี กวี ศิลปะ   มาสลับรายการ  และการ  “ส้องเสพเสวนา”  โดยตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ที่ทำงานช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557,   

            ตัวแทนนักศึกษา ที่ร่วมเคลื่อนไหวมาอย่างโดดเด่น   รวมทั้งแขกรับเชิญด้านต่างๆ
ก่อนจะมีการแสดง ศิลปะ Street Performance   ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล นักแสดงและ ฮาเมอร์ ซาลวาลา นักดนตรี

ตบท้ายด้วย “เคาท์ดาวน์ จุดเทียนให้เรารุ่ง”  พร้อมอ่านบทกวีร่วมกัน

เค้า ลางปรากฏชัด                     ถนัดตา
ดาวน์   หล่นจากเวหา           เคลื่อนแล้ว
เรา   พี่น้องผองประชา              ร้องเล่น
รุ่ง   อรุณปีใหม่แพร้ว     เพริดพริ้งอิสรา

       ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดย นักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม  ทนายความ  นักธุรกิจ  ญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่รักในเสรีภาพ  โดยผู้จัดงานระบุว่า ถือโอกาส “ส่งท้ายปีเก่า (2557) ต้อนรับปีใหม่ (2558)”  ตามที่หน่วยงานต่างๆ จัดงานด้วยแนวคิดที่หลากหลายเป็นจุดเริ่มต้น

ปลัดไอซีทีเผย ครึ่งวัน คนโหลดสติกเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ กว่าล้านบัญชี


30 ธ.ค. 2557 สติกเกอร์ Line ค่านิยมหลัก 12 ประการ เปิดให้ดาวน์โหลดแล้ว โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีหลังจากกดเป็นเพื่อนกับบัญชี Digital Society ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 
สติกเกอร์มีทั้งหมด 16 ลาย เป็นแบบเคลื่อนไหวได้ และเป็นค่านิยมหลักและสัญลักษณ์ของประเทศไทยโดย 12 ลายเป็นค่านิยมหลัก 12 ประการ และอีก 4 ลาย จะเป็นสติกเกอร์โอกาสพิเศษ ทั้งนี้ สามารถโหลดได้ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.57- 28 ม.ค.58 และมีอายุการใช้งานหลังการโหลด 90 วัน
สำหรับสติกเกอร์ไลน์ค่านิยมหลัก 12 ประการ เป็นความร่วมมือ 3 กระทรวง คือ กระทรวงไอซีที กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนที่นิยมส่งสติกเกอร์ไลน์ได้แสดงความรู้สึกในโอกาสต่างๆ
ราคารวมของการจัดทำสติกเกอร์ค่านิยมหลัก 12 ประการอยู่ที่ 7.1 ล้านบาท ลดลงจากราคาเดิมที่ 7.8 ล้านบาท โดยนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ยืนยันว่า เป็นราคาที่ไม่แพง ถือเป็นการใช้ช่องทางไลน์เพื่อเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางเพราะจากสถิติการใช้ไลน์ในประเทศไทยอยู่ที่ 33 ล้านบัญชี มีการส่งข้อความวันละประมาณ 40 ล้านข้อความ โดยไลน์ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม จึงต้องการให้ประชาชนมีการปลูกฝังลงไปในจิตใจแล้วนำไปปฏิบัติตามหลักของค่านิยมที่ได้กำหนดไว้ 12 ประการ ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะมียอดดาวน์โหลด 3.5 ล้านบัญชีและหวังว่าจะทำให้ประชาชนเกิดค่านิยมรักความเป็นไทยมากขึ้น
นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า เบื้องต้น ณ เวลา 13.00 น.ของวันที่ 30 ธ.ค. มียอดการดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้นิยมแอปพลิเคชันไลน์ร่วมดาวน์โหลดและส่งต่อความรู้สึกถึงกันตามเป้าหมายที่รัฐบาลอยากจะคืนความสุขให้ประชาชน

กมธ.กฎหมายตั้ง 'พะจุณณ์' ปฏิรูปโครงสร้าง ตร.


กมธ.กฎหมาย สปช. ตั้ง 'พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป' เป็นประธานปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ชี้จะมีการหาข้อสรุปอีกครั้ง 6 ม.ค. 58
30 ธ.ค. 2557 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจ ว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ตั้งคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานของตำรวจ เพื่อประโยชน์ประชาชน มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปช. เป็นประธานฯ ซึ่งการปฏิรูปต้องเป็นไปตามแนวทาง กมธ.ชุดใหญ่ คือ
  • 1.ปฏิรูปรูปแบบการบริหาร เช่น เปลี่ยนเป็นตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต้องมีสภากิจการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กำกับดูแลเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงปฏิรูปรูปแบบการจัดการ เช่น กองบัญชาการ กองบังคับการ
  • 2.อำนาจหน้าที่ตำรวจที่ไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องดูว่าควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตำรวจหรือไม่
  • 3.ปฏิรูปกระบวนการการทำงานเรื่องสอบสวน จับกุม ต้องแบ่งส่วนให้ชัดเจนว่าจะมีองค์กรใดถ่วงดุลหรือไม่

นอกจากนี้ นายวันชัย ระบุด้วยว่า ผู้ที่จะเป็นตำรวจควรจะปฏิรูปด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิด้วย ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จะประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง วันที่ 6 ม.ค. 58 อย่างไรก็ตาม องค์กรตำรวจมีปัญหา ถ้าไม่ปฏิรูปประชาชนจะผิดหวัง

ICC เสนอลดระดับ 'กรรมการสิทธิไทย' จาก A เป็น B

คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะของ ICC ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบ-ประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิทั่วโลก เสนอลดระดับกรรมการสิทธิของไทย จาก A เหลือ B หลังพบปัญหา อาทิ กสม.ไม่สนองต่อปัญหาละเมิดสิทธิในประเทศทันท่วงที กระบวนการสรรหาไม่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ มิเช่นนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
31 ธ.ค.2557 วานนี้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมของคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) โดยมีมติเสนอให้ลดระดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย จากสถานะ A เป็น B
สำหรับ ICC ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่าได้ดำเนินการตามหลักการปารีส (Paris Principles) ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประเมินคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจาก 16 ประเทศ โดยมีเพียงไทยเท่านั้นที่ถูกลดระดับ ที่เหลือเป็นการเลื่อนขั้น คงระดับและบางส่วนถูกเลื่อนการประเมินไปครั้งหน้า โดยครั้งนี้ มีการเสนอให้รับรองสถานะของประเทศลิเบียเป็น B
สำหรับประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ ของ ICC ให้ความเห็นต่อ กสม. มีอาทิ
กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสม. พบว่า ไม่มีการกำหนดให้ต้องประชาสัมพันธ์การรับสมัคร กสม. คณะกรรมการสรรหา กสม. มาจากองค์กรสาธารณะไม่กี่แห่ง ไม่มีความเป็นตัวแทนที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดให้ปรึกษา หารือกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาคประชาสังคม ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรับสมัคร การคัดเลือกและกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และไม่มีเกณฑ์ที่ละเอียดและชัดเจนที่จะใช้ประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น กสม.
ด้านการตอบรับปัญหาด้านสิทธิมนุษย์อย่างทันสถานการณ์ กสม.ไม่สามารถตอบรับกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงได้ทันสถานการณ์ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ กสม.ใช้เวลาถึงสามปีในการทำรายงานเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีกรณีการชุมนุมในปลายปี 2556 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่า กสม.ได้ระบุว่ากำลังพยายามติดตามสถานการณ์สิทธิ แต่จะเห็นว่า ขณะนี้ กสม.ยังไม่มีรายงานการละเมิดสิทธิกรณีนี้ออกมา
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงบทบาทของ กสม. ในสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉินว่า องค์กรสิทธิควรมีหน้าที่เฝ้าระวังและธำรงความเป็นอิสระ รวมถึงส่งเสริมและยืนยันการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และส่งเสริมความแข็งแกร่งของหลักนิติรัฐในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้ ควรมีการเฝ้าระวัง การบันทึก ออกแถลงการณ์ และรายงานการละเมิดสิทธิผ่านสื่ออย่างทันท่วงที
ด้านความเป็นอิสระของ กสม. พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ กสม. แสดงความเห็นทางการเมืองขณะปฏิบัติหน้าที่ 
ทั้งนี้ กสม. มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ หากไม่ได้ดำเนินการตามนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
โดยผลกระทบจากการเป็น B status คือ
1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559

2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)

3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้