วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อุดมการณ์ กินไม่ได้แต่ตายแทนได้


ยุกติ มุกดาวิจิตร: อุดมการณ์ กินไม่ได้แต่ตายแทนได้



การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า

นัยยะต่างๆเหล่านั้นล้วนนำเรากลับไปสู่คำถามที่เกินเลยไปกว่าเพียงการตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย เป็นการนำสังคมไทยไปสู่คำถามใหญ่ๆที่ว่า อุดมการณ์คืออะไร ทำไมคนจึงยอมตายเพื่ออุดมการณ์

คำถามนี้ส่วนหนึ่งช่วยให้เราเข้าใจต่อไปด้วยว่า ทำไมเราจึงควรเข้าใจการต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ในฐานะที่เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ทำไมหลายกลุ่มจึงยืนยันว่าการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่การพิทักษ์ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ตลอดจนประเด็นที่ว่า ทำไมอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่ปฏิบัติได้จริง และเหมาะกับสังคมไทยปัจจุบัน


เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปพร้อมๆกันของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ นักประชาธิปไตยสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ (เสียชีวิต 31 ตค. 2549) และคลิฟฟอร์ด เกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลก (เสียชีวิต 30 ตค. 2549) ผู้เขียนขออาศัยแรงบันดาลใจจากคุณนวมทองมาทำความเข้าใจธรรมชาติของอุดมการณ์ ผ่านแนวคิดของเกียร์ตซ์

เกียร์ตซ์เสนอว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถูกยึดโยงอยู่ในเครือข่ายของการให้ความหมายที่ตนเองปลุกปั่นมันขึ้นมา" (Interpretation of Culture, 1973, p. 5) ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์จึงต้องอาศัยการ 'ตีความ' หรือเรียกอีกอย่างว่า 'การทำความเข้าใจ'

การที่คุณนวมทองอุทิศชีวิตตนเองเพื่อประกาศอุดมการณ์จึงเป็นการกระทำที่มีความหมายอย่างหนึ่ง ไม่สามารถประเมินได้ด้วยตัวเลขโพลล์ของสำนักต่างๆ เราต้องทำความเข้าใจความหมายที่คุณนวมทองสื่อ ไม่ใช่ไป "เพิ่มการประชาสัมพันธ์การทำงานของ คมช.ให้มากขึ้น" ดังคำกล่าวของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. (ไทยโพสต์, 2 พย. 2549) และ พ.อ.อัคร ทิพยโรจน์ โฆษกกองทัพบก (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 2549)

นั่นเพราะการกระทำของมนุษย์วางอยู่บนการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงต่างๆ เกียร์ตซ์กล่าวว่า "ความคิด เกิดขึ้นมาจากการเสกสรรค์และการจัดการของระบบสัญลักษณ์ ด้วยการที่ความคิดให้ความหมายหลักๆแก่การกระทำ ความคิดจึงเป็นต้นแบบให้กับการกระทำลักษณะต่างๆ อันได้แก่การกระทำทางกายภาพ การกระทำทางชีวภาพ การกระทำทางสังคม และการกระทำทางจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 214)


"แบบแผนของวัฒนธรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญา สุนทรียศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรืออุดมการณ์ ล้วนเป็นโปรแกรมที่เป็นแม่แบบหรือพิมพ์เขียวสำหรับการจัดการทางสังคมและจิตใจ" (เล่มเดิม, p. 216)

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเอาข้อเท็จจริงมากมายแค่ไหนไปกองต่อหน้าคุณนวมทอง ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความยึดมั่นต่ออุดมการณ์ของคุณนวมทองได้ เช่นเดียวกับที่ไม่ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจะนำข้อมูลมากมายแค่ไหนไปกองให้คณะรัฐประหารดู ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของคณะรัฐประหารได้ การกระทำของคุณนวมทองจึงไม่ได้เป็นผลมาจากการรู้ข้อมูลน้อยไป แต่เพราะเขาให้ความหมายต่อชีวิตและโลกต่างออกไปจากที่คณะรัฐประหารเข้าใจ

อันที่จริงหากเข้าใจดังนี้ เราจะไม่เพียงเข้าใจการกระทำของคุณนวมทองได้ แต่เราจะเข้าใจได้ด้วยว่า การกระทำของคณะรัฐประหารก็มีฐานะเป็นอุดมการณ์เช่นกัน เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่บนการให้ความหมายที่แตกต่างกัน และฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือ

ประการแรก มนุษย์ล้วนให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆ ล้วนใส่ความคิดฝันไปในการกระทำ 'ก่อน' ที่จะลงมือกระทำสิ่งใดทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนจึงกระทำไปโดยอาศัยหลักทฤษฎี หรือแนวทางอะไรบางอย่างเป็นเครื่องโน้มนำทั้งสิ้น (แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าการกระทำตาม 'สามัญสำนึก' เพราะสามัญสำนึกก็เป็นระบบความหมายอย่างหนึ่ง ถูกให้ความหมายก่อนแล้วเช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ใน Clifford Geertz "Common Sense as a Cultural System" In Local Knowledge)


อุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นแนวทางทางการเมือง เป็นโลกทัศน์ทางการเมือง ที่ทำให้ชีวิตทางการเมืองเป็นไปอย่างปกติธรรมดาแบบใดแบบหนึ่ง โลกทัศน์ดังกล่าวนี้แสดงชัดเจนในจดหมายและเสื้อที่คุณนวมทองสวมคืนนั้นว่า คุณนวมทองมองโลกประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหารว่ามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อย่างน้อย 14 ตุลาคม 16, 6 ตุลาคม 19 และ 17 พฤษภาคม 35 ในขณะเดียวกัน คุณนวมทองยึดมั่นในความเท่าเทียมกันของประชาชน ภายใต้อำนาจสูงสุดของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของทหารและตำรวจอย่างสิ้นเชิง

ประการที่สอง การกล่าวว่าอุดมการณ์บางอย่าง เพ้อฝัน เลื่อนลอย เป็นเพียงอุดมคติ ติดทฤษฎี ผิดยุค ไม่สมจริง เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เข้าใจความสำคัญของระบบความหมายของมนุษย์ เพราะในเมื่อการกระทำทางการเมืองใดๆล้วนเป็นการกระทำตามอุดมการณ์ แนวทางทางการเมืองที่อ้างกันว่า ปฏิบัติได้จริง ติดดิน เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของสังคม ก็ล้วนแต่เป็นการกระทำตามอุดมการณ์เช่นกันทั้งสิ้น

การกล่าวหาว่าอุดมการณ์ใดเพ้อฝัน จึงเป็นการทำลายความเชื่อถือระหว่างคนที่เชื่อในอุดมการณ์ที่ต่างกัน และบ่อยครั้งที่อุดมการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเพ้อฝัน เป็นอุดมการณ์ที่มีอำนาจในสังคมการเมืองด้อยกว่าอุดมการณ์ที่อ้างว่าสมจริง ความสมจริงของอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้ยึดครองอำนาจนำในสังคม


ดังนั้นการที่โฆษกทหารบกไม่เข้าใจว่า "ไม่มีคนไทยคนไหนที่มีอุดมการณ์สูงขนาดต้องทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับการปฏิรูปครั้งนี้" เพราะท่านคิดว่า "เนื่องจากคณะปฏิรูปฯ เข้ามา...ด้วยสันติวิธี มาด้วยการยอมรับของประชาชน ... ภายใต้เจตนาบริสุทธิ์" (กรุงเทพธุรกิจ, 1 พย. 49) นั้น

สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นคือ เป็นเพราะท่านหลงเชื่อไปเองว่า แนวทางทางการเมืองที่ตนยึดมั่นอยู่เท่านั้นที่ 'สมจริง' 'เหมาะกับสภาพความเป็นจริง' ทั้งๆที่ท่านก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า การล้มล้างอุดมการณ์ที่คนยึดมั่นอยู่ย่อมเป็นการล้มล้าง 'โลก' ที่คนๆนั้นเคยอยู่อย่างเป็นปกติธรรมดา คนๆนั้นจึงอาจยอมตายเพื่อปกป้องโลกของเขาได้ ทำนองเดียวกับที่ทหารยอมตายได้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จากการคุกคามของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในอดีต

ประการที่สาม ปกติแล้วบทบาทของอุดมการณ์มักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกียร์ตซ์กล่าวว่า "เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแสดงออกทางอุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ... ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องยืนยันให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม หรือไม่ก็เพื่อนำเสนออุดมการณ์ใหม่" (เล่มเดิม, p. 218)

ดังนั้น เมื่ออยู่ๆโลกประชาธิปไตยแบบที่คุณนวมทองอาศัยอยู่เป็นปกติธรรมดาถูกทำลายลง คุณนวมทองก็ต้องการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้คงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิม ไม่ต่างจากการเรียกร้องของพวกนักศึกษา หรืออภิสิทธิ์ชนอื่นๆ (รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้) ต่างกันที่นักศึกษาและอภิสิทธิ์ชนมีพื้นที่แสดงความเห็นในบรรยากาศเช่นนี้ได้ 

  

เมื่อไม่สามารถเรียกร้องให้คณะรัฐประหารฟังได้ คุณนวมทองจึงเสมือนถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในโลกที่เขาไม่คุ้นเคย เกิดความตระหนก กลายเป็นคนที่ตกไปอยู่ต่างวัฒธรรมต่างธรรมเนียมประเพณีที่เขาไม่สามารถปรับตัวได้ ยอมรับไม่ได้ จนถึงขั้นฝืนทนดำรงชีพอยู่ด้วยไม่ได้ต่อไป

หากคณะรัฐประหารปวารณาว่าได้กระทำรัฐประหารครั้งนี้เพื่อประชาธิปไตย แทนที่ท่านจะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจท่าน ท่านต่างหากที่เป็นฝ่ายต้องทำความเข้าใจประชาชนที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยจนอาจยอมตายเพื่ออุดมการณ์นี้ได้

และเพื่อแสดงความจริงใจที่จะทำความเข้าใจประชาชน สิ่งแรกที่ท่านต้องทำคือการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง ด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกและคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/yukti-mukdawijitra/post/5103#sthash.BGV7CwNy.dpuf

ยิ่งลักษณ์-ทักษิณไหว้บรรพบุรุษที่เหมยเซียน มณฑลกวางตุ้ง


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนจีนเดินทางไปเคารพบรรพบุรุษที่เหมยเซียน เมืองเหมยโจว ในมณฑลกวางตุ้ง
31 ต.ค. 2557 - เฟซบุ๊คเพจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ภาพยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุตรชาย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเคารพหลุมฝังศพบรรพบุรุษที่อำเภอเหมยเซียน เมืองเหมยโจว ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวจีนฮากกา หรือจีนแคะ อยู่ติดต่อกับเมืองซัวเถา ถิ่นฐานของชาวจีนแต้จิ๋ว ในมณฑลกวางตุ้ง
ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊คเพจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในเฟซบุ๊คเพจของยิ่งลักษณ์ยังมีการโพสต์สเตตัสว่า
"วันนี้เดินทางมาที่เมืองเหมยเซี่ยน มณฑลกวางโจว เพื่อมาเคารพหลุมฝังศพบรรพบุรุษที่เรียกว่ายายทวด และไปดูบ้านที่แม่เคยอยู่ตอนช่วงอายุ 9 ถึง 13 ขวบตอนตามคุณตามาอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนที่จะอพยพไปอยู่ที่ฮ่องกงและนั่งเรือจากฮ่องกงเพื่อมายังประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบญาติที่ยังเหลืออยู่ในรุ่นหลานซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับดิฉันและพี่ชาย ท่านทักษิณได้ใช้เวลาในการสืบหาสถานที่นี้ตั้งแต่ก่อนที่ท่านเป็นนายกฯจากคำบอกเล่าของคุณแม่และท่านก็เคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยที่มาเยือนเมืองจีนตอนเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญมาครั้งนี้มีข่าวดีเพิ่มคือมีโอกาสได้ไปเคารพหลุมฝังศพและบ้านที่เคยอยู่ของสายคุณพ่อซึ่งมีอายุเกือบ 300 ปี ต้องขอขอบคุณฝ่ายทางการจีนที่ช่วยสืบหาให้จนพบต้นกำเนิดบรรพบุรุษสายทางคุณพ่อด้วยค่ะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกที่บรรพบุรุษสายคุณพ่อและคุณแม่ มาจากมณฑลเดียวกัน อยู่ห่างกันเพียง 3 ชม หากเดินทางโดยรถยนต์"

ผบ.ทบ.ยันไม่เลิก 'อัยการศึก' ชี้ไม่กระทบชีวิตประจำวัน


ผู้บัญชาการทหารบก แจงสถานการณ์ยังไม่สงบจึงต้องคงกฏอัยการศึกไว้ก่อน เชื่อทุกฝ่ายเข้าใจ-ไม่ส่งผลกระทบชีวิตประจำวัน
 
30 ต.ค. 2557  สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมีความเข้าใจถึงข้อเรียกร้อง ในการขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศแล้ว มองว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้แนวทางที่จะทำให้มีความสงบมากที่สุด จึงยังคงต้องใช้กฎหมายพิเศษนี้ ซึ่งหากยกเลิกไป อาจจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ เพราะไม่ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้หากย้อนกลับไป 6 - 7 เดือนที่แล้ว จะเห็นว่าสถานการณ์ภายในประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพยายามทำงานให้ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้โอกาสและเวลา พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงาน

สำหรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2447 ทั่วราชอาณาจักร เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค. 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

ตำรวจห้ามจัดกิจกรรมระลึกลุงนวมทองแท็กซี่ประชาธิปไตย

ตำรวจกว่าร้อยคนตรึงกำลังสะพานลอยนวมทอง หน้า นสพ.ไทยรัฐ ห้ามจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 8 ปี 'นวมทอง ไพรวัลย์' กระทำอัตวินิบาตกรรม
31 ต.ค. 57 เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 คน เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานลอยนวมทอง หน้า สำนักพิมพ์ไทยรัฐ และอ้างกฏอัยการศึก สั่งห้ามจัดกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการต้านรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงการจัดกิจกรรมระลึกถึง นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ซึ่งผูกคอตายที่สะพานลอยแห่งนี้ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
แกนนำนักศึกษาจาก ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จำนวนเจ็ดคนได้เดินทางมาที่สะพานลอยดังกล่าว เพื่อวางหรีด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ยอมให้พวกเขาเข้าไปบริเวณสะพานลอย นึกษาจึงยืนสงบนิ่งไว้อาลัยหนึ่งชม. เพื่อทดสอบความอดทนของรัฐ ก่อนจะถูกนำตัวไปเจรจาบริเวณศาลาใกล้เคียงเป็นเวลาประมาณสองชม. สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมวางหรีด โดยก่อนที่จะเดินทางกลับได้ยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที
อย่างไรก็ตาม อานนท์ นำภา ทนายความนักโทษการเมือง ได้รับอนุญาตให้ไปวางหรีด หลังจากทำการเจรจากับตำรวจนานถึงครึ่งชั่วโมง และยังมีหญิงไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปวางดอกไม้ด้วยเช่นกัน 







ยกฟ้องคดีโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทรัฐบาลยิ่งลักษณ์


ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องในคดีบริหารงานโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
31 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องในคดีบริหารงานโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
โดยคดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก 45 คน ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 4 คน โดยศาลพิเคราะห์เห็นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่กระทบต่อประชาชน เป็นเพียงแผนแม่บทเท่านั้น และแผนไม่ได้กระทบต่อผังเมืองและภาคประชาชน ยังไม่มีการเวนคืนที่ดิน ส่วนประเด็นที่ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้จัดโครงการประชาพิจารณ์ ที่ผู้ฟ้องอ้างว่าอาจมิชอบนั้น ศาลเห็นว่าบริษัทเอกชนที่ว่าจ้าง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล หากมีความไม่โปร่งใส ก็เป็นอำนาจของรัฐที่จะกำกับดูแลอยู่แล้ว ส่วนการเอาผิดทางอาญา ศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 157
 
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาว่า รู้สึกเสียใจ ภาคประชาชนต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่จากคำพิพาษาวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานที่ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน พร้อมเดินหน้าตรวจสอบโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกโครงการ

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน ครม. พบ 'ประยุทธ์-คู่สมรส' มี 128 ล้านบาท


เปิดบัญชีทรัพย์สิน ครม. ประยุทธ์ 1 นายกฯ รวย 128 ล้านเปิดบัญชีทรัพย์สิน ครม. ประยุทธ์ 1 นายกฯ รวย 128 ล้าน
ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคู่สมรสมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128 ล้านบาท ขณะที่หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมีทรัพย์สินมากที่สุด 1.3 พันล้านบาท
 
31 ต.ค. 2557 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 จำนวน 33 ราย 35 ตำแหน่ง
 
โดยนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128 ล้านบาท พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สิน 87,373,757 บาท ไม่มีหนี้สิน หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 1,378,394,902.62 บาท ไม่มีหนี้สิน ซึ่งถือว่า มากที่สุดในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ รองลงมาคือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคู่สมรสมีทรัพย์สิน 1,315,332,228 บาท ไม่มีหนี้สิน
 
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ไม่มีหนี้สิน อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 116,847,346.51 บาท พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 186,033,607.07 บาท พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 37,709,130.47 บาท พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 54,634,679.28 บาท
 
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 51,789,420.88 บาท พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 93,959,333.05 บาท นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 830,523,789.33 บาท พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 33,280,755.90 บาท ไม่มีหนี้สิน พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 6,948,378.27 บาท ซึ่งถือว่ามีทรัพย์สินน้อยที่สุดในรัฐบาลชุดนี้
 
ทั้งนี้ ป.ป.ช. กำหนดเปิดแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินดังกล่าว ไปจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ระหว่างเวลา 08.30 น.–16.30 น. ที่ห้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือ เว็บไซต์ของสำนักงา ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH

ป.ป.ช. แถลงเปิดคดีถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ต่อ สนช. 12 พ.ย. นี้


"ปานเทพ" ประธาน ป.ป.ช. ระบุรัฐบาลสามารถขอข้าวที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบไปขายก่อนได้ พร้อมทำหนังสือถึงรัฐบาลขอตรวจสอบสต็อกข้าว พร้อมส่งตัวแทนแถลงเปิดคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ต่อที่ประชุม สนช. 12 พ.ย.นี้
 
31 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เบื้องต้น ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบสต็อกข้าว ซึ่งจะนำมาประกอบในการพิจารณาคดี ทั้งการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยเน้นที่การทุจริตเป็นหลัก เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารกลับจากรัฐบาล ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขอข้าวไปจำหน่ายก่อนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข้าวที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ หากไม่เกี่ยวข้องน่าจะสามารถอนุมัติให้ขายได้ แต่ต้องรอให้รัฐบาลประสานมาก่อน
 
“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการเร่งระบายข้าวก่อนที่จะเกิดการเสื่อมสภาพ และเกิดความเสียหาย ซึ่งทาง ป.ป.ช.พร้อมนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมทันทีหากรัฐบาลประสานมา ส่วนเรื่องข้าวหายจะใช้คณะกรรมการชุดเดิมในการตรวจสอบ” นายปานเทพ กล่าว
 
นายปานเทพ ยังกล่าวถึงสำนวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเข้าสู่วาระการประชุมพิเศษของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ว่า ป.ป.ช.จะส่งตัวแทนไปแถลงเปิดคดีที่รัฐสภา ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถส่งตัวแทนไปรับฟังคำแถลงเปิดคดีแทนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง

ศาลไม่ให้ประกัน รอบสอง คดี 112 ลุงวัย 67 ปีเขียนผนังห้องน้ำห้าง


          ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวนายโอภาส (สงวนนามสกุล) อายุ 67 ปี  ผู้ต้องหาคดี 112 จากกรณีเขียนข้อความในผนังห้องน้ำห้างสีคอนสแควร์ โดยผู้ต้องหาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.และถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวไปแล้วครั้งหนึ่งโดยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5   ล้านบาทแต่ศาลไม่อนุญาต

         ในวันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ที่ศาลทหารในช่วงเช้า ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผูต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก สอบผู้ร้องแล้วยืนยันตามคำร้องฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่ยื่นต่อศาล

          จากนั้นมีการสอบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนได้เร่งรัดทำการสอบสวนมาโดยตลอด แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลการพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องถูกหล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาร้ายแรงตามคำแถลงของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่ายังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวนต่อไป
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความผู้ต้องหาแจ้งว่าในช่วงบ่ายได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมแหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา

         ต่อมาเวลาประมาณ 16.00  น.ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งผู้ต้องหาและผู้ยื่นคำร้องทราบ”
ทั้งนี้ โอภาสถูกจับวันที่ 15 ต.ค.โดยเจ้าหน้าที่ของห้างซีคอนสแควร์เป็นผู้นำตัวส่งหทาร หลังเขายอมรับและเสียค่าปรับทำห้องน้ำห้างสกปรก 2,000 บาท ต่อมาพ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญได้นำตัวโอภาสมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามก่อนนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหาร

          โอภาส เป็นชายวัย 67  ปีชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายของเบ็ดเตล็ด เขากล่าวว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นผู้ติดตามการเมืองเพียงห่างๆ จนกระทั่งในราวปี 2552 ได้เจอคลื่นวิทยุชุมชนทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงโดยบังเอิญจึงรับฟังมานับแต่นั้นมา และพบว่าชอบฟังสถานีของฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า แต่ก็จะเลือกฟังเฉพาะดีเจบางคน เขายืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมองจากวิทยุชุมชนตามที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามแถลงข่าวไปในแนวทางดังกล่าว

        ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคดี 112 มีอยู่เกือบ 20 คดี ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คดีที่ถูกส่งไปดำเนินคดียังศาลทหาร คดีล่าสุดคือคดีของโอภาสนับเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดหลังรัฐประหาร (คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงรายนับเป็นกรณีแรก) นอกเหนือจากนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร