วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

3 องค์กรสิทธิยื่น สนช. ห่วงแก้พ.ร.บ.คอมฯ ปิดกั้นสิทธิการแสดงออก-ความเป็นส่วนตัว


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซีอินเตอร์เนชั่นแนล ยื่นหนังสือ สนช. ชี้บางมาตราในร่างแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อาจปิดกั้นสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัว  
26 พ.ค. 2559 ตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล (Privacy International) ส่งจดหมายถึง สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตราของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่อาจกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัว
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" ของรัฐบาล และกำลังทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ว่า ทั้งสามองค์กรมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในบางมาตรา ที่อาจปิดกั้นสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
“เรามีความกังวลอย่างยิ่งในมาตรา 14 ที่อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลทางออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างและคลุมเครือ ดังนั้น การแสดงความเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงของประเทศก็อาจมีความผิดอาญาได้” พรเพ็ญ กล่าว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นในส่วนของมาตรา 15 ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ (Internet Service Providers) ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ และอาจทำให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censor) เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษปรับ ถูกสั่งระงับ หรือยุติการดำเนินกิจการ อันจะเป็นการไม่เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้อื่น

ส่วนมาตรา 20 เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม

“นอกจากนี้เราขอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยุติการเอาผิดกับประชาชนและหน่วยงานที่รับโทษ ต้องคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างสงบ เพราะถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้” อาทิตย์กล่าว
 
ข้อมูลพื้นฐาน
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
            ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
            ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์    (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
            (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
            (3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นได้ร้องขอ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            (4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
            คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรหนึ่ง (4) ให้มีจำนวนห้าคนซึ่งสองในห้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
            การยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ การไต่สวนคำร้อง และการทำคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง อาจกระทำได้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา
            ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
            รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลาและแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

Begin Again 'ซิงเกิลเกตเวย์' แฝงในร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


ปัจจุบัน เว็บไซต์ใหญ่ๆ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ใช้การเข้ารหัสข้อมูลโดยใบรับรองความปลอดภัย
สังเกตได้จากยูอาร์แอลที่ขึ้นต้นด้วย https และมีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจสีเขียวหน้ายูอาร์แอล 


"ซิงเกิลเกตเวย์ที่พูดกัน ก็ตัวนี้นี่แหละ" อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตสรุป
ถ้ายังจำกันได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการพูดถึง "ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี" ให้กระทรวงไอซีทีทำ "ซิงเกิลเกตเวย์" เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยเกิดความกังวลว่าการสื่อสารในช่องทางนี้จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไปจนเกิดการล่ารายชื่อคัดค้านผ่าน change.org และปรากฏการณ์ F5 ก่อนที่เรื่องนี้จะค่อยๆ เงียบไปและเราก็ไม่ได้ยินคำๆ นี้อีก
แต่หลังเครือข่ายพลเมืองเน็ตพบเอกสารแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในเวลา 60 วัน หลัง สนช.รับหลักการไปเมื่อ 28 เม.ย. คำๆ นี้ก็กลับมา
โดยในร่างแก้ไข มาตรา 20 ซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ขออำนาจศาลสั่งบล็อคเว็บได้ ระบุว่า "รัฐมนตรีอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และแนวทางการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันภายใต้พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป" (ดูเอกสารด้านล่าง)
ในคำอธิบายถึงเหตุผลของการแก้ไขระบุว่า แม้ว่าศาลจะสั่งให้บล็อคเว็บได้ แต่ในทางปฏิบัติ จะต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ตลอดจนขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้คำสั่งศาลสัมฤทธิ์ผล โดยมีการยกตัวอย่าง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เข้ารหัสด้วยเทคโนโลยี SSL (Secure Sockets Layer) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสื่อสารหรือส่งข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่มีการเข้ารหัสแบบ Public-key encryption ว่าจำต้องมีวิธีการและเครื่องมือพิเศษในการดำเนินการจึงจะกระทำได้สำเร็จ
เวลาพูดถึง SSL คือการที่คนรับและส่งข้อมูลสองฝ่ายต่างเชื่อใจกันและกันว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นคนนั้นๆ จริง โดยมีการแลกเปลี่ยนกุญแจเข้ารหัส ซึ่งกุญแจจะถูกใช้เข้ารหัสข้อมูลที่ส่งถึงกัน แต่การจะยืนยันต้องใช้ใบรับรองที่ต้องเรียกขอจากแต่ละฝ่ายก่อน เพื่อยืนยันตัวตน ใบรับรองนี้ออกโดยบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือ ใบรับรองนี้ทำปลอมได้ยาก เพราะต้องให้บุคคลที่สามออกใบรับรองปลอมให้ ซึ่งไม่มีใครทำให้ เพราะส่วนมากบุคคลที่สามนี้เป็นเอกชน หากมีการออกให้แม้เพียงกรณีเดียวบริษัทนั้นๆ จะหมดความน่าเชื่อและเจ๊งทันที ดังนั้น การขอให้บุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือออกใบรับรองปลอมให้จึงเป็นไปได้ยาก (ที่มา)
ประกอบกับมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเดิมกำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการที่จงใจ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 มีโทษเท่ากับผู้ที่กระทำผิดนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ มีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีแล้ว จะไม่ต้องรับโทษ
อาทิตย์ชี้ว่า เอกสารนั้นเขียนเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีเว็บจำนวนมากที่ปิดไม่ได้ เพราะเข้ารหัส จะหาวิธีพิเศษที่จะช่วยให้ปิดกั้นได้ เท่าที่เข้าใจการใช้สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องให้ไอเอสพีให้ความร่วมมือบางอย่างเพื่อใช้อุปกรณ์ได้
"ตีความว่าถ้ารัฐขอความร่วมมือปิดกั้น ก็เท่ากับต้องถอดรหัส ถ้าไอเอสพีไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีความผิด เท่ากับไอเอสพีต้องช่วยถอดรหัส" อาทิตย์บอก
การถอดรหัสนั้น ทำได้เช่น ในระดับผู้ให้บริการอย่างเว็บขายของที่เข้ารหัสอยู่ เนื่องจากเป็นเว็บของตัวเอง เข้าเอง ก็ถอดรหัสเองได้ ในระดับเอไอเอส หรือทรู ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะจัดการอย่างไร อาจใช้วิธี Man-in-the-middle attack ให้ไอเอสพีออกใบรับรองปลอม เช่น มีเซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊กปลอม ใครก็ตามจะเข้าเฟซบุ๊ก เมื่อเรียกข้อมูลไปที่เฟซบุ๊ก ก็จะถูกเปลี่ยนทางไปที่เซิร์ฟเวอร์เฟซบุ๊กปลอม เพื่อความเนียนก็จะต้องสร้างใบรับรองปลอมขึ้นมาด้วย ซึ่งต้องทำที่ระดับเกตเวย์จึงจะทำได้
นั่นคือข้อมูลของผู้ใช้ทั่วไปจะถูกดูได้หมด
สอดคล้องกับคำสั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ 163/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ ที่ระบุว่า มีอุปสรรคในการตรวจสอบและปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสป้องกันข้อมูล (SSL: Secure Socket Layer) จึงเห็นควรให้มีการจัดหาและทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานด้านสื่อออนไลน์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
"ก่อนหน้านี้เป็นการตั้งคณะกรรมการเพื่อทดสอบ" อาทิตย์บอกและว่า คราวนี้เป็นการให้อำนาจตามกฎหมายที่จะใช้จริง





เด็กอนุบาลคอสเพลย์ชุดทหาร หวังปลูกฝังระเบียบวินัย


27 พ.ค.2559 WorkpointNews และ Bright News รายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เด็กนักเรียนอนุบาลแต่งชุดทหารมาเรียนโดย อรุณ โพธิ์ศรี หัวหน้าสายอนุบาล เปิดเผยว่า สาเหตุที่ให้เด็กนักเรียนแต่งชุดทหารมาโรงเรียนคือ ทางโรงเรียนได้จัดทำโครงการ "ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง" เพื่อเป็นการสำนึกในแม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย โดยการปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีระเบียบวินัย สร้างจิตสำนึกของเด็ก เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ ยิ้ม ไหว้ ทักทาย จิตอาสา โดยให้เด็กแต่งชุดทหารมาทุกวันพฤหัสบดี โดยช่วงเช้าจะทำการรวมเด็กเกี่ยวกับการมีระเบียบวินัย ออกทำการเก็บขยะบริเวณโรงเรียน โดยเป็นการปลูกฝังนิสัยให้เด็ก ๆ ด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าวโครงการนี้มีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 ชายหญิง 3 ห้องเรียน จำนวน 134 คน ได้รับการตอบรับจากเด็กและผู้ปกครองเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ให้เด็ก ๆ สวมเครื่องแบบทหาร มาโรงเรียนสร้างความสดชื่นให้กับตัวเด็ก ๆ แต่ละคนก็จะอวดชุดซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะเข้าห้องเรียนได้จัดกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย ซึ่งขณะเดียวกันก็ได้ให้เด็กฝึกการออมเงินคนละห้าบาทด้วย สำหรับโรงเรียนชุมชนดูนสาด เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนชั้น ป.1 ถึง ม.6 ก็จะแต่งชุดลูกเสือเนตรนารีมาโรงเรียนกันเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า กรณีการแต่งชุดทหารของนักเรียนอนุบาล เคปรากฏเป็นข่าวแล้วเมื่อ ธ.ค.2556 โดย สปริงนิวส์ รายงานว่า โรงเรียนอนุบาลกองทัพบกอุปถัมภ์บริบูรณ์ธนวัฒน์ ตั้งอยู่ในค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ได้จัดชุดเครื่องแต่งกายให้เด็กนักเรียนทั้งหญิงและชายแต่งกายในชุดทหารเพื่อไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ โรงเรียนดังกล่าว ในปัจจุบันเปิดสอนเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล จนถึงอนุบาล 3 มีนักเรียนทั้งหมดกว่า 700 คน ซึ่งมีทั้งบุตรหลานของกำลังพล และบุคคลทั่วไป โดยมี มิ่งขวัญ กระแซง เป็นครูใหญ่ การเรียนการสอนเน้นไปที่การปลูกฝังระเบียบวินัยแบบทหารให้กับเด็ก และการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงให้เด็กสามารถตัดสินใจการปฏิบัติตัวในสภาพสังคมปัจจุบัน

"เป็นคนไม่ได้มีบารมี" ประวิตรปัดข่าวจับมือเจ้าของเลสเตอร์ตั้งพรรค คสช.


พล.อ.ประวิตร ยันไม่เป็นความจริง กรณีกระแสข่าวจับมือคิงเพาเวอร์ ตั้งพรรค คสช. ยันไม่ได้หนุนพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้ง ย้ำไม่อยากเล่นการเมือง บอก "ผมก็เป็นคนไม่ได้มีบารมี อย่างที่พวกคุณมาถามกัน”
27 พ.ค.2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวตั้งพรรคการเมืองร่วมกับ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และเจ้าของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ต่อกรณีคำถามว่ามีสายสัมพันธ์และมีแนวคิดที่จะทำพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีและไม่เคยคิด ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าไม่อยากเล่นการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาตนทำงานให้ประชาชนมาหลายปี ยังมาด่าใส่อีก ส่วนที่มีข่าวว่า จะหนุนพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่มีและไม่เคย ทั้งนี้ยังได้หยอกสื่อมวลชนว่าหากถามเรื่องนี้อีกจะชก
“ต่อไปอย่าถามอีกนะ ห้ามถามเรื่องนี้อีก ถ้าถามชกเลยนะ เบื่อ เบื่อ เบื่อ เรื่องนี้ไม่ให้ถามแล้ว และทีหลังก็จะไม่ตอบอีก ผมไม่เล่นการเมือง เอาชื่อผมไปโยงคงสนุกมั้ง และผมก็เป็นคนไม่ได้มีบารมี อย่างที่พวกคุณมาถามกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ศาลยกฟ้องกลุ่มทหารเมืองกาญจน์ คดีซุ่มยิง 'ขวัญชัย ไพรพนา' ชี้หลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ


26 พ.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้ายิง ขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร/ประธานชมรมคนรักภาคอิสาน ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 ที่บริเวณบ้านพัก อ.เมือง จ.อุดรธานี หลังเกิดเหตุตำรวจชุดสืบสวนภาค 4 และชุดสืบสวน ภ.จว.อุดรธานี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 6 คน ประกอบด้วย 1.ร.ต.ปรัชญา จันทร์รอดภัย สังกัด ม.พัน.19 ค่ายสุรสีห์ พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี 2.จ.ส.อ.มาวิน ยางบัว สังกัด ม.พัน.19 ค่ายสุรสีห์ พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี 3.จ.ส.ท.วิโรจน์ พิมพ์สิงห์ สังกัด ม.พัน.19 พล.ร.9 4.ส.อ.ชานนท์ ทับทิมทอง สังกัดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 พล.ร.9 5.จ.ส.อ.จุฑาทร เนียมทอง สังกัด พล.ร.9 และ 6. มะดือนัง มะแซ หรือ มะ อายุ 39 ปี อาสารักษาดินแดน (อส.) จ.นราธิวาส
 
เดลินิวส์และ MGR Online รายงาน โดยช่วงเช้าวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้เดินทางมาพร้อมทนายความ และนายทหารรัฐธรรมนูญ และมีตัวแทนของสมาชิกชมรมคนรักอุดร เดินทางมาพร้อมทนายความของชมรมคนรักอุดร เพื่อฟังคำพิพากษาแทนขวัญชัย ต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เนื่องจากหลักฐานรถยนต์ของกลางไม่สามารถยืนยันได้ ว่าเป็นรถคันเดียวกับคันที่ใช้ก่อเหตุ ทำให้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
 

ศาลฎีกาสั่งออกหมายจับ 'ขวัญชัย' เบี้ยวฟังคำพิพากษารื้อเวที พธม.อุดรฯ

ขณะที่วานนี้ (25 พ.ค.59) MGR Online และมติชนอนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดอุดรธานีได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี เจริญ หมู่ขจรพันธุ์ ฟ้องขวัญชัย กับพวกคดีรื้อเวทีและทำร้ายร่างกายผู้ร่วมชุมนุมเวทีที่หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าขวัญชัยเดินทางมาศาล มีเพียงภรรยาและบุตรชายเดินทางมาพร้อมกับทนาย
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า เวลา 11.00 น. ได้มีคำสั่งศาล ให้ออกหมายจับขวัญชัย เนื่องจากผิดนัดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง หรือขอเลื่อนคดี พฤติกรรมมีเหตุน่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายขวัญชัย ให้นำตัวมาฟังคำพิพากษาในเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. 2559 และให้ปรับนายประกันเต็มอัตรา ศาลจะนัดหมายแจ้งให้มาเสียค่าปรับภายใน 15 วัน
       
โดยอาภรณ์ สาระคำ ภรรยาขวัญชัยเปิดเผยว่า ติดต่อกับขวัญชัยไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยขวัญชัยบอกแต่เพียงว่าจะขอไปปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจก่อนไปฟังคำพิพากษา แต่ไม่ได้ระบุว่าไปปฏิบัติธรรมที่ไหน และไม่ได้นำโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วย
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำคุกขวัญชัยเป็นเวลา 4 ปี ไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 8 เดือน ปรับ 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งภายหลังอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จขวัญชัยได้ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมิน 300,000 บาทประกันตัว และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
       
คดีดังกล่าวเป็นคดีที่อัยการและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง ขวัญชัย กับพวก ในข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่น กรณีที่ขวัญชัยได้นำมวลชนไปรื้อเวทีและทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เปิดปราศรัยที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เมื่อปี 2551