วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

ภาคประชาสังคมจากไทยประกาศถอนตัวพบผู้นำอาเซียนที่มาเลเซีย

หนึ่งในป้ายข้อความจากผู้เข้าร่วมชาวไทย ในขบวนเดินอาเซียน หรือ "ASEAN Walk" ในพิธีปิดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2558 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แจ้งถอนตัวกิจกรรมภาคสังคม 10 ประเทศพบผู้นำอาเซียนจันทร์นี้ เนื่องจากผิดหวังรัฐบาลกัมพูชา-สิงคโปร์เลือกคนเพื่อเข้าพบผู้นำอาเซียนเอง โดย กป.อพช. ตัดสินใจแสดงความสมานฉันท์กับภาคสังคมกัมพูชา-สิงคโปร์ ด้วยการไม่ขอเข้าร่วม และขอให้ทั้ง 2 รัฐบาลพิจาณาทบทวน
26 เม.ย. 2558 - รายงานจากเว็บไซต์ของการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในนามตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนที่เข้าร่วมในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/สมัชชาประชาชนอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งว่าภาคประชาชนไทยถอนตัวจากกำหนดการพบผู้นำอาเซียน ในการประชุมผู้นำอาเซียน วันจันทร์ที่ 27 เม.ย. นี้ เพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาและสิงคโปร์ ที่เป็นผู้คัดเลือกคนฝ่ายตนเข้าพบผู้นำอาเซียน โดยมิได้เคารพกระบวนการของภาคประชาสังคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
000
ภาคประชาสังคมไทยถอนตัวจากการพบผู้นำอาเซียนปี 2015 ประท้วงการกระทำของรัฐบาลอาเซียน
เราภาคประชาสังคมจำนวน 125 คนผู้เข้าร่วมในการประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference and ASEAN People’s Forum (ACSC/APF) ปี 2015 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงวันที่ 21-24 เมษายน 2558 เขียนแถลงการณ์นี้ เพื่อประกาศถึงการตัดสินใจร่วมกันที่จะถอนตัวจากการเข้าร่วมในการพบผู้นำอาเซียน ซึ่งมีกำหนดการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนที่จะถึงนี้
พวกเราขอแสดงความผิดหวัง ต่อการที่รัฐบาลกัมพูชาและสิงคโปร์ ยังคงเลือกตัวแทนด้วยตนเองเพื่อเข้าพบผู้นำอาเซียน โดยมิได้ให้ความเคารพต่อหลักการและกระบวนการของภาคประชาสังคม และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น พวกเราผิดหวังอย่างที่สุดในรัฐบาลอาเซียนทั้งมวล ในความล้มเหลวที่จะร่วมกันทำให้หลักการในการพบผู้นำของภาคประสังคม เป็นไปได้ด้วยหลักการและเจตนารมณ์ที่ดีได้อย่างแท้จริง
เราเชื่อว่า การนำเอาตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวแทนเข้าพบผู้นำ ในกรณีของกัมพูชา และนำตัวแทนจากกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วม และไม่ได้แสดงความเห็นพ้องกับแถลงการณ์ของ ACSC/APF ในกรณีของสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นการทำลายหลักการที่ได้รับการยอมรับของ ACSC/APF โดยสิ้นเชิง  ทั้งนี้ หลักการคือมีดังต่อไปนี้
1.      การกำหนดและตัดสินใจด้วยตนเอง และการคัดเลือกตัวแทนด้วยตนเอง
2.      การเคารพซึ่งกันและกัน
3.      การมีการพบกันอย่างมีความหมาย
4.      การยอมรับในเนื้อหาของแถลงการณ์ ACSC/APF 2015 และ;
5.      การเข้าร่วมในกระบวนการ ACSC/APF
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มภาคประชาสังคม โดยการผ่านทางกระบวนการ ACSC/APF ได้พยายามชี้แจงหลักการดังกล่าวต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน โดยการเสนอว่า ในท้ายที่สุด แม้รัฐบาลประเทศหนึ่งใดจะไม่ยอมรับตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากภาคประชาสังคม แต่สิ่งที่ควรเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย คือการปล่อยให้ที่นั่งของตัวแทนประเทศนั้น ๆ ว่างลง และรัฐบาลจักต้องไม่แทนที่ตัวแทนภาคประชาสังคมด้วยบุคคลที่รัฐบาลจัดหามาเอง หลักการสำคัญนี้ ได้ถูกทำลายลงอีกครั้งในปีนี้
เราประสงค์จะแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาลไทย ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับหลักการการตัดสินใจด้วยตนเอง การคัดเลือกตัวแทนด้วยตนเอง และการเคารพซึ่งกันและกัน ภาคประชาสังคมไทยประสบความสำเร็จในการคัดเลือกตัวแทนภาคประชาสังคม และเราขอแสดงความขอบคุณ
อย่างไรก็ตาม เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการและกระบวนการของอาเซียนโดยรวม เราจึงถอนตัวจากการพบผู้นำอาเซียนในปี 2015 นี้ เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับเพื่อนจากกัมพูชาและสิงค์โปร์ และด้วยการตัดสินใจดังกล่าว เราขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อภาคประชาสังคมมาเลเซีย รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ  ในการร่วมกันทำให้การจัดงาน ACSC/APF 2015 เกิดขึ้นได้ และสำเร็จลงด้วยดี
ในท้ายที่สุด ด้วยแถลงการณ์ฉบับนี้ เราขอยืนยันข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.      ขอให้รัฐบาลไทยปล่อยเก้าอี้ของตัวแทนไทยในที่ประชุมกับผู้นำอาเซียนในวันพรุ่งนี้ให้ว่างลง และไม่จัดหาคนเข้าแทนตัวแทนประเทศไทย และ;
2.      ขอให้รัฐบาลสิงค์โปร์และกัมพูชา ทบทวนความตั้งใจของตนในการร่วมมือกับภาคประชาสังคมในประเทศของตนเองและกับภาคประชาสังคมอาเซียนทั้งมวล รัฐบาลทั้งสองควรตระหนักว่า การกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อภาคประชาสังคม และต่อการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชน เป็นสิ่งที่จะทำลายความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างกันของรัฐบาลอาเซียนและประชาชนอาเซียน การกระทำของทั้งสองรัฐบาล จะทำให้เป้าหมายที่อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หากจะเป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่าที่ไร้ความหมาย
ด้วยความสมานฉันท์กับประชาชนในอาเซียนและกลุ่มภาคประชาสังคม
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ในนามตัวแทนภาคประชาสังคมและประชาชนที่เข้าร่วมในการประชุม ACSC/APF ปี 2015
000
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ซึ่งจัดระหว่าง 22-24 เมษายน ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียนั้น ในวันแรกก่อนพิธีเปิด มีการสัมมนาหัวข้อย่อย "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" จัดโดย กลุ่มรณรงค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยและผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนอาเซียน ทั้งนี้หลังการสัมมนามีการออกแถลงการณ์ "เพื่ออาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร"
โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ "1. อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร 2. อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง 3.อาเซียนต้องทบทวนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

ดาบ2สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ‘Peace TV’ แล้ว -ประธานกสท.แจงเหตุทำผิดซ้ำ


ประธานกสท. แจง พีซ ทีวี ออกอากาศยังมีเนื้อหาละเมิดต่อข้อตกลงฯ ในลักษณะเช่นเดิม จึงมีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ระบุการพิจารณาตามกระบวนการมาเป็นลำดับ ชี้เข้าข่ายการกระทำที่เป็นความผิดซ้ำซาก
27 เม.ย.2558 หลังจาก ช่อง Peace TV ถูกปิดชั่วคราวตั้งแต่ 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 10 เมษายน 2558 ครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 16 เมษายน 2558 เวลา 24.00 น ตามมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) ที่มีมติให้พักใช้ใบอนุญาตของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Peace TV)
ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่มี พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน ได้มีมติให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานี พีซทีวี แล้ว
โดยพันเอก ดร. นที โพสต์รายละเอียดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Natee Sukonrat’ กรณีการเพิกถอนใบอนุญาต PEACE TV (27 เม.ย. 58) รายละเอียดดังนี้
1. วันนี้ กสท. ได้พิจารณาข้อร้องเรียนช่องรายการพีซ ทีวี ซึ่งเป็นการพิจารณาตามบันทึกข้อตกลงที่ทาง บ. พีซ เทเลวิชั่น จำกัด กับทาง กสทช.
2. หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 22 พ.ค.57 ได้มีช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมจำนวนหนึ่งถูกยุติการออกอากาศตามคำสั่ง คสช.
3. เหตุของการถูกสั่งยุติการออกอากาศเนื่องมาจากช่องรายการเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศมาโดยต่อเนื่อง
4. ต่อมาช่องรายการเหล่านี้ได้รับการอนุญาตให้ออกอากาศอีกครั้งโดยจะต้องมีการยอมรับข้อตกลงกับทาง กสทช. ในการระมัดระวังการออกอากาศ
5. โดยช่องรายการตกลงที่จะไม่ออกอากาศเนื้อหาที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างให้เกิดความแตกแยก
6. กรณีของช่องรายการพีซ ทีวี ก็เป็นช่องรายการหนึ่งที่ได้ทำข้อตกลงดังกล่าว และได้มีข้อร้องเรียนการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อตกลงมาตามลำดับ
7. ได้มีการตักเตือน ทำความเข้าใจ ในระดับของอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ ของ กสทช. หลายครั้ง/หลายวาระด้วยกัน ตั้งแต่ ต.ค.57
8. แต่ พีซ ทีวี ก็ยังคงนำเสนอเนื้อหาในลักษณะเช่นเดิมจนอนุกรรมการฯ ได้เสนอ กสท. เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของ พีซ ทีวี เมื่อ 23 มี.ค.58
9. โดย กสท. ได้มีมติในการประชุมเมื่อ 23 มี.ค.58 ให้ตักเตือน พีซ ทีวี เป็นลายลักษณ์อักษรให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และที่กำหนดในข้อตกลง
10. ต่อมา พีซ ทีวี ยังคงออกอากาศรายการที่ยังขัดต่อข้อตกลงดังกล่าวอีก จนกระทั่ง กสท. ได้มีมติในการประชุมเมื่อ 30 มี.ค.58 ให้พักใช้ใบอนุญาต
11. โดยการพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวส่งผลให้ พีซ ทีวี ต้องยุติการออกอากาศเนื้อหารายการตั้งแต่ 10 เม.ย.58 จนถึง 17 เม.ย.58
12. เมื่อ พีซ ทีวี ออกอากาศอีกครั้งใน 18 เม.ย.58 ก็ได้มีการออกอากาศเนื้อหาใน 18 เม.ย.58 มีเนื้อหาละเมิดต่อข้อตกลงฯ ในลักษณะเช่นเดิม
13. ดังนั้นสำนักงานได้นำเสนอวาระต่อที่ประชุม กสท. เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้มีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ
14. ซึ่งมติดังกล่าว กสท. เป็นการพิจารณาตามกระบวนการมาเป็นลำดับ ด้วยการทำความเข้าใจ แจ้งเตือน พักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ
15. เมื่อ กสท. ได้พิจารณาถึงการกระทำโดยถี่ถ้วนว่าเป็นลักษณะเข้าข่ายการกระทำที่เป็นความผิดซ้ำซาก ที่ประชุมจึงได้มีมติดังกล่าว 

ภาคประชาชนปรับทัศนคติ ‘นายกฯ’ ย้ำ บัตรทองไม่ใช่ระบบอนาถา เป็นสิทธิพื้นฐาน ต้องไม่แยก จน-รวย

27 เม.ย. 2558 เมื่อเวลา 10.30 น. จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา โดยขอให้คนรวยเสียสละไม่ใช้สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อทำกุศลให้กับคนจน และให้สิทธินี้มีไว้เพื่อคนจนเท่านั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชน ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน” เพื่อชี้แจงหลักการการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องเป็นของคนไทยทุกคน
นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแม้แต่ในกลุ่มผู้บริหารประเทศเอง ยังเป็นกลุ่มที่เข้าใจและไม่เข้าใจต่อหลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการรับรู้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่จะเป็นภาระงบประมาณประเทศ จึงเห็นควรจัดให้เป็นระบบรักษาพยาบาลเฉพาะคนจน และให้คนมีเงินเสียสละออกจากระบบ ซึ่งในข้อเท็จจริงหากนำคนเหล่านี้ออกเมื่อไหร่ จะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศทันที คุณภาพการรักษาพยาบาลจะลดลง รวมถึงประสิทธิภาพการบริการ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะถือว่าเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องมีการอธิบายให้ผู้นำประเทศได้เข้าใจ
นายจอน กล่าวว่า หลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักการ ซ้ำยังมองว่าเป็นระบบสำหรับคนจนเท่านั้น ทั้งนี้อาจมาจากภาพรอคิวการรักษาที่ยาวและใช้เวลารอนาน ต่างจากการรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน แต่ปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขลงโดยการปรับระบบการรอคิว การขยายการให้บริการคลินิกชุมชนซึ่งต้องใช้เวลา อีกทั้งหากต้องการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีประสิทธิภาพ จะต้องนำคนเข้าสู่ระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงิน หรือไม่มีเงิน ซึ่งที่ผ่านมาคนในวัยหนุ่มสาวเองคงยังไม่เห็นความสำคัญของระบบนี้ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ และครอบครัวที่มีผู้ป่วยเรื้อรังจะเห็นคุณค่าของระบบนี้อย่างมาก
ทั้งนี้หลักการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือต้องไม่ใช่ระบบสงเคราะห์ แต่เป็นระบบบริการรักษาพยาบาลของรัฐสำหรับคนทุกคนในสังคมที่เข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหลักการที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้กันอยู่ ทั้งนี้ปัจจุบันงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ครอบคลุมทุกโรค และดูแลประชากรกว่า 48 ล้านคน ซึ่งหากทำประกันสุขภาพเอกชนก็ยังไม่ครอบคลุมเท่า ทั้งยังมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากหากเปรียบเทียบกับสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบมากกว่าถึง 5 เท่า หรือ 12,000 บาทต่อคน หากจะประหยัดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ ก็ควรจะที่จะรวมและบริหารเป็นกองทุนเดียว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลของประเทศ
“หากมีการเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วทำให้กลายเป็นระบบสงเคราะห์ เชื่อว่าภาคประชาชนจะต่อสู้และไม่ยอม ซึ่งหากดูปรากฏการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทุกครั้งที่มีการดำเนินนโยบายที่ลดคุณภาพการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ประชาชนจะลุกขึ้นคัดค้านทันที เพราะประชาชนต่างเห็นคุณค่าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ปรึกษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวและย้ำว่า การทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบรักษาพยาบาลชั้นสอง ถือว่าเป็นการล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเมื่อไหร่นำคนมีเงินออกจากระบบ ระบบก็จะล้ม เพราะหลักการถูกต้องคือต้องนำคนมีเงินเข้ามา เพื่อเฉลี่ยการรักษาที่ต้องได้รับสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต สว.สมุทรสงคราม หนึ่งในกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจประชาชนและผู้มีอำนาจบริหารประเทศ อย่ามองว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นนโยบายประชานิยม หรือของพรรคการเมืองใด แต่ระบบนี้เกิดจากปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่กระตุ้นให้หลายฝ่ายมาร่วมกัน จนทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น
“ผู้บริหารไม่ใช่ฟังเพ็ดทูลจากหน่วยงานัฐ แต่ควรต้องดูผลจากการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ทุกคนในประเทศเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาลได้บนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในระบบยังมีปัญหาอีกมาก ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำประเทศต้องทำ คือต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่มองเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเป็นภาระ แต่ต้องทำให้เป็นระบบที่เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ที่คนจนคนรวยมีสิทธิเท่ากันหมด และต้องลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียว เพราะยังมีบางกองทุนที่มีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 12,000 บาทต่อคน ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเฉลี่ยที่ 3,000 บาทเท่านั้น”
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทำลายภาพลักษณ์ว่าการักษาแพงถึงจะดี เพราะที่ผ่านมาจากการบริหารระบบที่มีประสิทธิภภาพ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แต่ยังทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง อย่างการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งกรมบัญชีกลางแต่เดิมต้องจ่ายค่าเส้นเลือดเทียมให้กับข้าราชการที่ต้องผ่าตัดหัวใจถึง 80,000 บาทต่อเส้น ซึ่งกรมบัญชีกลางไม่เคยต่อรอง แต่พอมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้เกิดการต่อรองราคา โดยปัจจุบันราคาลดลงเหลือเพียง 12,000 บาทต่อเส้น ดังนั้นรัฐบาลต้องฉลาด ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร เพื่อให้ระบบรักษาพยาบาลเข้าถึงประชาชนทุกคน และรัฐต้องทบทวนว่ารัฐบาลจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรวมกองทุนเพื่อเฉลี่ยงบประมาณรักษาพยาบาลประเทศมีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นธรรมกับคนทุกคนในประเทศหรือไม่
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยผู้ป่วยได้จ่ายภาษีเพื่อเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพก่อนที่จะป่วยแล้ว ดังนั้นเราไม่ได้ใช้บริการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าโรคเอชไอวีมีค่ายาที่แพงมาก แต่ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบต่อรองราคายา ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ ทั้งส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจที่มีการบอกว่าเป็นระบบสุขภาพสำหรับคนจน เพราะเป็นการนำไปสู่การตีตราที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นางสายชล ศรทัตต์ แกนนำเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการจัดสรรงบเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาราคาแพงอย่างยามะเร็งได้ แม้จะไม่ทุกรายการ แต่ระบบนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้และตายอย่างมีศักดิ์ศรี โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับเป็นแม่แบบให้กับระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ ทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาได้
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตอยู่ในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 50,000 ราย ทั้งผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องและฟอกไตผ่านเครื่อง ซึ่งจากเดิมผู้ป่วยไตต้องเสียค่ารักษาเดือนละกว่า 6,000 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งหากไม่มีระบบนี้ผู้ป่วยจะเข้าไม่ถึงการรักษา หรืออาจต้องล้มละลายจาการรักษาได้
ด้าน น.ส.บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารประเทศควรมองการบริหารให้ครอบคลุม ซึ่งประเทศไทยมี 3 ระบบ โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท ดูแลประชากร 48 ล้านคน แต่ระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการใช้งบ 60,000 ล้านบาท ดูแลคนประมาณ 5 ล้านคน จะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ขณะที่ระบบประกันสังคมเองก็ใช้งบมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นผู้บริหารประเทศจึงต้องมองอย่างครอบคลุมทุกระบบ ไม่ใช่แค่มองระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว

นอกจากนี้ในเพจ "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ได้เผยแพร่คำอธิบาย 8 เหตุผลของการคงไว้ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ระบุให้คนรวยเสียสละไม่ใช้สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อทำกุศลให้คนจน และให้สิทธินี้มีไว้เพื่อคนจนเท่านั้น
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่า นายกรัฐมนตรียังมีความไม่เข้าใจในหลักการ และหัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความเป็นธรรมและความสุขในสังคมอย่างแท้จริง จึงขอแถลงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นของรักษาไว้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่แปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการรักษาพยาบาล สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ
ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ประชาชนไม่ยอมให้รัฐบาลไหนมาทำลาย
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน แบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่จนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค โดยประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี เป็นระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทำให้ทุกคนได้รับการรักษา ทุกคนได้ประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ศ.อมาตยา เซน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้เขียนบทความเรื่อง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ฝันที่สามารถจ่ายได้ (Universal healthcare: the affordable dream) เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ นสพ.เดอะการ์เดียน ซึ่งเป็น นสพ.ชั้นนำของประเทศอังกฤษ ยกย่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศร่ำรวย ก็สามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ และหลักประกันสุขภาพไทยก็ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถลดความยากจน ลดการล้มละลายจากการเจ็บป่วยลงได้อย่างรวดเร็วหลังจากดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่นาน รวมถึงตัวชี้วัดสุขภาพของประชากรก็ดีขึ้น
2. ปกป้องการล้มละลาย เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังในครอบครัว
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดําเนินการประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545- 2554) พบว่าปี พ.ศ.2553 ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ.2538 เหลือ ร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ.2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน นอกจากนี้กลุ่มผู้ให้บริการที่เคยมีระดับความพึงพอใจต่อระบบนี้ค่อนข้างต่ำในระยะแรกร้อยละ 39 ในปี พ.ศ.2547 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี พ.ศ.2553
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปกป้องไม่ให้คนไทยต้องล้มละลายมากกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้คือ ผู้ป่วยไตวาย 34,000 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส 230,000 คน ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจวายได้รับยาละลายลิ่มเลือด 1,631 คน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด 1,451 คน ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแล 8,157 คน ได้รับเคมีบำบัด 2,560 คน ผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดแล้ว 26,863 คน คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นคนที่พอมีฐานะ แต่หากต้องใช้เงินกับค่ารักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง อาจจะทำให้ล้มละลายได้
3. เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีอำนาจต่อรองราคายาและอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้รักษาได้ทุกโรค
ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีอำนาจต่อรองราคายาและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นพลังการต่อรองที่มหาศาล ทำให้คนเข้าถึงยาจำเป็นได้ โดยประเทศไม่สูญเสียงบประมาณเกินความจำเป็น
จากประสบการณ์การต่อรองราคายาต้านไวรัสเอชไอวี ในปี 2550 ทำให้ต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลลดลง จนสามารถนำงบประมาณไปพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยไตวายได้ และมีคณะกรรมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนชนเข้าถึงยาราคาแพงที่จำเป็นได้ ซึ่งจากการต่อรองราคาในปี 2555 สามารถต่อรองราคายาจำเป็นและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาได้มากกว่า 10 รายการ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,170 ล้านบาท
นอกจากนี้ กลไกการต่อรองราคายา ยังทำให้เห็นประสิทธิภาพของระบบที่เหนือกว่าระบบอื่น ยกตัวอย่าง Stent สำหรับโรคหัวใจที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซื้อได้ในราคา 12,000 บาท ในขณะที่สิทธิราชการต้องจ่ายในราคา 40,000 บาท
4. บริษัทยาข้ามชาติ บริษัทประกัน และโรงพยาบาลเอกชนเสียประโยชน์
เมื่ออำนาจต่อรองสูง บริษัทยาข้ามชาติที่เคยได้กำไรมหาศาลจากราคายาที่ไม่เป็นธรรม ก็สูญเสียทั้งอำนาจต่อรอง และผลกำไรส่วนเกินที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลไปด้วย รวมไปถึงเมื่อประชาชนพึงพอใจกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน โรงพยาบาลเอกชนที่เคยตั้งราคาค่ารักษาพยาบาลได้ตามใจ ก็มีฐานลูกค้าลดลง
หากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถอยหลังกลับไปเป็นระบบสำหรับคนจน เป็นระบบอนาถาสำหรับคนจนเท่านั้น อำนาจการต่อรองต่างๆ ของประเทศก็จะลดลงไป จนในที่สุดผลประโยชน์ต่างๆ ก็จะเอื้อกับบริษัทยาข้ามชาติ บริษัทประกัน และโรงพยาบาลเอกชนเช่นเดิม
5. สุขภาพเป็นสิทธิของทุกคน ที่รัฐต้องจัดให้ ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า
แนวคิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งอยู่บนหลักการของการรักษาสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่รัฐต้องจัดให้ ไม่ใช่บริการที่จะจำหน่ายให้ตามจำนวนเงินในกระเป๋า ดังนั้นมาตรฐานและคุณภาพการรักษาย่อมต้องเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน และมุ่งสู่การรักษาให้สามารถคงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรัฐต้องมีหน้าที่พัฒนาระบบ และหางบประมาณจากการนำเงินภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม บนหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข คนป่วยช่วยคนไม่ป่วย ทุกคนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษี
6. ความเหลื่อมล้ำของระบบสุขภาพที่ต่างกัน เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข
ระบบหลักประกันด้านสุขภาพของไทยมีหลายระบบและยังมีความเหลื่อมล้ำ เช่น เหลื่อมล้ำจากเงินที่รัฐสนับสนุน ข้าราชการได้มากกว่าคนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม แต่ละระบบมีความเหลื่อมล้ำจากการรับบริการจากประชาชนที่อยู่ในสวัสดิการสุขภาพที่ต่างกัน รัฐจึงควรลดความเหลื่อมล้ำที่ต้นเหตุ คือบริหารที่ต่างกันของแต่ละระบบ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันของการรับบริการ และมาตรฐานการรักษา
จากกราฟแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ใช้บริการมากกว่าคือกลุ่มข้าราชการ ในขณะที่งบประมาณที่ใช้ต่อหัวประชาชนก็สูงกว่าถึง 5 เท่า ในแง่ประสิทธิภาพก็พบว่า ยาตัวเดียวกันหลายรายการ สิทธิข้าราชการต้องจ่ายในอัตราที่แพงกว่า
7. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีส่วนช่วยพัฒนาสิทธิประโยชน์และมาตรฐานการรักษาของสวัสดิการด้านสุขภาพของประเทศ
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ระบบการรักษาแบบอื่น มองเห็นแนวทางการจัดการและพัฒนาในส่วนที่ด้อยกว่า เช่น ระบบข้าราชการและประกันสังคมปรับวิธีการจ่ายเงินมาใช้วิธีระบบจ่ายเงินแบบค่าวินิจฉัยโรครวม (DRG/Rw) การจัดทำระบบบัญชียาหลักของประเทศ ที่ทำให้ทุกระบบการรักษามาใช้บัญชียาหลักเดียวกัน เข้มงวดเรื่องยาไม่จำเป็นต่างๆ รวมไปถึงความต่างของสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบเคียงกับบัตรทอง จนนำมาสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
8. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการบริหารภาครัฐเดียวที่มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ในการพัฒนานโยบาย สิทธิประโยชน์ และบริหารจัดการมาตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด เขต และระดับชาติ
ประชาชนเป็นผู้ร่วมออกแบบกฎหมายมาตั้งแต่ต้น มีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมกำหนดนโยบาย และบริหารงบประมาณในกลไกกรรมการในแต่ละระดับท้องถิ่น ระดับเขต ควบคุมและกรรมการระดับชาติ รวมทั้งมีการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่

‘ชัย ราชวัตร’ เปรียบเฟซบุ๊กเป็น ‘โต๊ะสังสรรค์ส่วนตัว’ อัดพวก ‘เสือก’ แสดงความเห็นปมทัวส์แผ่นดินไหว


27 เม.ย.2558 หลังจากวานนี้ ชัย ราชวัตร เป็นนามปากกาของ นักวาดการ์ตูนชาวไทย มีผลงานเป็นที่รู้จักกันคือ ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน โดย เป็นการ์ตูนรายวันตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 12 ประจำปี 2547 โพสต์เฟซบุ๊กแบบสาธารณะใน ‘Chai Rachwat’ ระบุว่า “รู้งี้ยอมขายบ้านขายรถซื้อทัวร์ให้พวกซาตานรกแผ่นดินบ้านเกิดทั้งแก๊ง ไปเที่ยวเนปาลและปีนเขาเอเวอร์เรสต์ตรงกับวันแผ่นดินไหว คงทำให้ชีวิตเรารู้สึกตื่นเต้นมีลุ้น เหมือนนั่งลุ้นหน้าจอทีวีวันหวยออก แค่ฝันเล่น ๆ ก็เป็นสุขแล้ว”
วันนี้(27 เม.ย.58) ชัย โพสต์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า การพูดคุยกันในเฟซบุ๊กเปรียบเหมือนการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในห้องอาหาร มันเป็นโต๊ะจองส่วนตัวเพื่อสังสรรค์ ส่วนคนอื่นไม่ได้รับเชิญอาจแอบได้ยินบ้าง ถ้าตั้งใจเงี่ยหูฟัง แต่คนมีสมบัติผู้ดีจะไม่สอดเสือกเรื่องคนอื่นที่ไม่ได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็น
เมื่อวานผมรำพึงรำพันให้เพื่อน ๆ ฟังบนโต๊ะอาหารเรื่องความฝันใฝ่ส่วนตัว อยากให้พวกซาตานเนรคุณแผ่นดินบ้านเกิดไปทัวร์ที่เนปาลในวันเกิดแผ่นดินไหว โดยไม่ได้เอ่ยชื่อใครหรือกลุ่มคนใดทั้งนั้น ก็มีเพื่อนสื่อที่แสนดีในมติชนออนไลน์แอบมาเอาไปเปิดประเด็น เขี่ยลูกให้เพจเสื้อแดงไปเห่าหอนต่อๆ กันเกรียวกราวยังกะฤดูติดสัด
ผมก็งง มันรู้ได้ไงที่ผมเอ่ยถึงซาตานเนรคุณแผ่นดินนั่นหมายถึงพวกมัน เป็นซาตานก็เป็นซาตานใจเสาะโคดๆ ยังไม่ทันเอ่ยชื่อเสือกชิงสารภาพก่อนเป็นแถวๆ
ไอ้คนแถวๆ นี้ที่เจอผมก็เห็นมันยกมือไหว้ผมประหลกๆ ลับหลังก็ผสมโรงไปติดสัดกะพวกนั้นทุกที กรูก็เลยรู้ตอนพวกนั้นติดสัดเมิงไปร่วมกลุ่มในฐานะตัวเมีย อย่าให้กรูแฉเมิงไปขอเศษเงินจากนักการเมืองชั่วๆ คนไหนบ้าง
ตรงไหนที่กรูไปย่ำยีคนเนปาลที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก พวกเมิงไปอ่านเพจทุกเพจในกลุ่มพวกกรูว่ากรูรู้สึกยังไงกับโศกนาฎกรรมของชาวเนปาลคราวนี้ และก็ขอบอกให้พวกเมิงรู้ก่อนคนอื่น ตอนนี้กรูกับศิลปินระดับแนวหน้าของประเทศหลายท่าน กำลังเร่งดำเนินการผลิตเสื้อยืดจำหน่ายเป็นการด่วน เพื่อหาทุนช่วยซับน้ำตาชาวเนปาลโดยส่งผ่านสภากาชาดไทย
แผ่นดินบ้านเกิดตัวเองยังไม่รัก อย่าดัดจริตมีคุณธรรมรักและห่วงใยแผ่นดินชาติอื่น”

ยกฟ้องมัลลิกาหมิ่นประมาทยิ่งลักษณ์ประชุมโฟร์ซีซั่น-ศาลถือว่าติชมด้วยความเป็นธรรม



Mon, 2015-04-27 17:37


กรณีฟ้องหมิ่นประมาทมัลลิกา บุญมีตระกูล แถลงข่าวกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตรประชุมนักธุรกิจโฟร์ซีซั่น ศาลพิเคราะห์แล้วสงสัยว่ามีการประชุมนักธุรกิจจริงหรือไม่ เพราะไม่มีการแจ้งสื่อมวลชน ยอมเป็นที่สงสัยแห่งสาธารณชน มัลลิกาแถลงข่าวติชมด้วยความเป็นธรรม จึงยกฟ้อง

27 เม.ย. 2558 - ที่ศาลอาญา มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลอ่านคำพิพากษาคดีซึ่งอัยการเป็นโจทก์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นางมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2555 นางมัลลิกา ได้แถลงข่าวหมิ่นประมาท นางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ว่ามีพฤติการณ์ และความประพฤติผิดจริยธรรม กรณีประชุมร่วมนักธุรกิจ ว.5 โรงแรมโฟร์ซีชั่น

ในคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้นำนักธุรกิจ ที่เข้าร่วมประชุมมาเบิกความเป็นพยาน ยังมีข้อสงสัยว่าเข้าประชุมจริงหรือไม่ และไม่ได้แจ้งกำหนดการประชุมให้สื่อมวลชนทราบ ยังเป็นที่สงสัยแห่งสาธารณชน ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือแถลงข่าว

นางมัลลิกา จำเลย ในฐานะ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ แถลงข่าวติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังนางมัลลิกา ระบุว่าขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม และตนในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

กสทช.เล็งชง คสช.ใช้ ม.44 เรียกคืนคลื่นกรมประชาสัมพันธ์




Mon, 2015-04-27 19:06


กสทช. เผย อสมท พร้อมคืนคลื่นที่ถือครองอยู่ 35 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาใช้ประมูล 4G แต่ยังต้องการอีก 35 เมกะเฮิรตซ์จึงเตรียมเสนอ คสช. ใช้มาตรา 44 เรียกคืนคลื่นความถี่จากกรมประชาสัมพันธ์ เพราะกฎหมายเดิม กสทช. ไม่มีอำนาจนำเงินไปจ่ายค่าเยียวยา

27 เม.ย. 2558 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัท อสมท กรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ว่า อสมท พร้อมที่จะคืนคลื่น จำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์ กลับมาให้ กสทช. ใช้สมทบจัดประมูล 4G โดยมีการจ่ายค่าเยียวยา แต่เนื่องจากการนำคลื่นไปใช้ประโยชน์ในด้านโทรคมนาคม จะต้องนำคลื่นอีกส่วนที่กรมประชาสัมพันธ์ถือครองอยู่อีก 35 เมกะเฮิรตซ์ มาใช้งานด้วยจึงจะเกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น กสทช. ต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาลเจรจาขอคืนคลื่นจากกรมประชาสัมพันธ์ หากต้องจ่ายค่าเยียวยา

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หากเจรจาขอคืนคลื่นไม่สำเร็จ เนื่องจาก ขั้นตอนดังกล่าวผู้ถือครองคลื่นอาจเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งตามกฎหมายเดิม กสทช. ไม่มีอำนาจนำเงินไปจ่ายค่าเยียวยา ดังนั้น กสทช. จะทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อให้การเรียกคืนคลื่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ