วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่-สื่อเคารพสิทธิผู้ต้องหา ครอบครัวเหยื่อ คดีเกาะเต่า

<--break- />
15 ต.ค. 2557สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ยุติการละเมิดสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในคดีเกาะเต่า โดยระบุว่า ในชั้นสอบสวนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ มิใช่นำไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพออกสื่อ นอกจากนี้การสอบสวนโดยไม่ให้ผู้ต้องหามีทนายและการทำร้ายระหว่างสอบสวนทำให้คำให้การไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้ พร้อมวอนสื่อทำหน้าที่โดยเคารพสิทธิผู้ต้องหาและครอบครัว
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์
ขอให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิของครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา
กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนในคดีเกาะเต่า
             จากกรณีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 เกิดเหตุสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษถูกทำร้ายและเสียชีวิตอยู่ริมชายหาดเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นแรงงานชาวพม่าจำนวน 3 ราย โดยจากการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนทำผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหา 2 รายไปแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ ปรากฏตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนไปแล้วนั้น
          เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาจะกระทำเหมือนผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายมีความห่วงใยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนอาจเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้เสียหายและละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาตามหลักการดังต่อไปนี้

  • 1. การให้การในคดีที่มีโทษประหารชีวิต หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความ พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาตามมาตรา 134/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ข้อ 14 หากพนักงานสอบสวนไม่จัดหาทนายความ คำให้การดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
  • 2. ในการให้การต่อเจ้าพนักงาน หากมีการข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ คำให้การที่ได้มานั้นไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้กระทำการดังกล่าวย่อมมีความความผิดตามกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
  • 3. การนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ แม้พนักงานสอบสวนจะกระทำเพื่อการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ควรมีเป้าหมายว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไร มิใช่การนำผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเพื่อการแถลงข่าว เพราะถึงคดีดังกล่าวจะเป็นที่สนใจของสาธารณชนแต่เจ้าหน้าที่ยังคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในชื่อเสียงของผู้ต้องหา อีกทั้งตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 855/2548 ยังระบุว่าห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหายอีกด้วย
  • 4. การนำเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์รวมถึงบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดี ออกสู่สาธารณะเป็นจำนวนมากโดยในการนำเสนอข่าว ในบางสำนักข่าวมีการนำเสนอภาพข่าวหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ ซึ่งการนำข้อมูลของผู้ตายและภาพข่าวมาเผยแพร่ซ้ำย่อมเป็นการตอกย้ำถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนต่อครอบครัวของผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา รวมถึงอาจส่งผลต่อรูปคดี อาทิเช่น การสัมภาษณ์ล่ามถึงรายละเอียดคำให้การซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการรักษาความลับ การให้สัมภาษณ์กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่ใช่การให้สัมภาษณ์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในคดี

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรดังมีรายนามข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้
  • 1. การให้สัมภาษณ์ของบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในคดี ต้องตระหนักถึงบทบาทของตนในคดี จรรยาบรรณในการรักษาความลับของคดีในชั้นสอบสวน และเกียรติยศชื่อเสียงของผู้เสียหาย
  • 2. การนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนควรให้ความระมัดระวังในการนำเสนอ อีกทั้งพึงเคารพสิทธิส่วนบุคคลและไม่ละเมิดสร้างความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียหายและผู้ต้องหา โดยคำนึงเสมอว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำเสนอข่าวอาจส่งผลให้ผู้ที่รับรู้ข่าวตัดสินว่าผู้นั้นคือผู้ที่กระทำความผิด หากภายหลังผลปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้ความผิดตามข้อกล่าวหา การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ต้องสงสัยจะเป็นไปได้ยาก รวมทั้งขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกันอย่างเคร่งครัด

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

‘ประยุทธ์’ มอบ ICT ดูแลโซเชียลมีเดีย ไม่ให้ละเมิดซึ่งกันและกัน


รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ให้ส่วนต่างๆ หาแนวทางแก้ปัญหาโซเชียลมีเดียล เกรงจะกระทบกับงานด้านความมั่นคง ยันดูแล แต่ไม่ควบคุม ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ให้ละเมิดซึ่งกันและกัน
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม ครม. ให้ส่วนต่างๆ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไปช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาโซเชียลมีเดียล ที่ปัจจุบันใช้กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกรงจะกระทบกับงานด้านความมั่นคง
“ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) หามาตรการดูแลผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ให้ละเมิดซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะประเด็นการอ้างแหล่งข่าวทางสื่อโซเชียล ที่ไม่สามารถยืนยันแหล่งอ้างอิงได้จริง ICT จะต้องไปกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหานี้ ยืนยันไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นการดูแล ขอให้ทุกกระทรวงร่วมมือ ไม่เกี่ยงกัน ประสานข้อมูลและหารือ เพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสม” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในการดำเนินการนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จะไปฟ้องใครได้ ในเมื่อใช้เป็นแหล่งข่าว และที่ผ่านมาก็ไม่มีใครค้าความ ผ่านแล้วก็ผ่านไป ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบ นายกฯได้บอกว่า ขอให้ทำใจร่มๆ แล้วมองว่าเราอยากจะทำให้สังคมได้รับการดูแล ไม่ได้จ้องที่จะจับผิดใคร แต่อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพราะการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ก็ต้องมีทุกเรื่องด้วย   
"นายกฯบอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นดูแลเรื่องงานประชาสัมพันธ์ สำนักนายกฯ กระทรวงไอซีทีเชิญองค์กรสื่อ ไปคุยกันว่าจะทำอย่างไรแบบไม่ละเมิดกันและกัน ดูแลกันแต่ไม่ได้ควบคุม" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

รักษาการฯ ผบช.น. มอบนโยบายติดตามทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน

15 ต.ค.2557 พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมกุล รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัด ตั้งแต่รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจ 88 แห่ง โดยเน้นย้ำเรื่องการพิทักษ์รับใช้เทิดทูนสถาบัน พร้อมติดตามทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน รวมถึงคดีความมั่นคง ได้เร่งรัดให้จับกุมและติดตามอาวุธสงครามของทางราชการที่หายไปจำนวนมากช่วงการชุมนุมทางการเมืองกลับมาให้หมด ขณะเดียวกันผู้บังคับบัญชาต้องเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบในวงการตำรวจ รวมทั้งให้เดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ อย่างต่อเนื่อง และยึดการบริการประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนนโยบายเก่าที่ดีอยู่แล้ว เพียงกำชับให้สามารถปฏิบัติได้จริงและดำเนินการต่อเนื่อง
ส่วนกรณีการมอบรางวัลให้กับตำรวจจราจร ที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร และพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ พลตำรวจตรีศรีวราห์ ระบุว่า ขณะนี้ให้ระงับการดำเนินการ และอยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา แต่ในส่วนของงานจราจร ยังคงเน้นย้ำให้ลดอุบัติเหตุด้านจราจรอย่างเป็นระบบ และให้ทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ไม่เรียกรับผลประโยชน์ พร้อมฝากถึงประชาชนไม่เสนอสินบนให้เจ้าหน้าที่ด้วย

ศาลทหารเลื่อนพิจารณคดี ‘จาตุรนต์’ ขัดคำสั่ง คสช.

Wed, 2014-10-15 17:30

ศาลทหารเลื่อนพิจารณาคดี ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ขัดคำสั่ง คสช. หลังทนายยื่นคำร้องศาลวินิจฉัยคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และคำสั่ง คสช. ขัด รธน.
15 ต.ค.2557 สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 9.30 น. วันนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางตามกำหนดนัดสอบคำให้การในคดีหมายเลขดำ 31 ก./2557 ในความผิดฐานขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ไม่เข้ารายงานตัว, กระทำการยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบหรือละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.ว่าการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฯ รวม 3 ข้อหา
โดยก่อนการพิจารณา ทนายความของนายจาตุรนต์ได้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า คดีดังกล่าวน่าจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37/2557 (ความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร) และฉบับที่ 38/2557 (คดีที่ประกอบด้วยการกระทำที่เกี่ยวโยงอยู่กับอำนาจของศาลทหาร) ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 (ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค…ต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมญูและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ)
ต่อมา เวลา 11.30 น. ตุลาการได้ขึ้นนั่งบัลลังก์แจ้งว่า จำเลยแจ้งว่าไม่พร้อมจะให้การ และยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย โดยอัยการได้ขอเวลาทำความเห็นคัดค้านคำร้องของโจทย์เป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจะส่งเรื่องกลับมาที่ศาล เพื่อส่งเรื่องต่อให้ศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจึงให้เลื่อนการพิจารณาออกไป
โดยการพิจารณาคดีวันนี้ มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และองค์กรยุติธรรมระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพิจารณาว่า คำฟ้องระบุว่าตนทำผิด ตั้งแต่วันที่ 23 และ 24 พฤษภาคม 2557 ความผิดที่เกิดขึ้นกับตน เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังนั้น จึงไม่เข้าตามประกาศของ คสช. ว่ายกเว้นพื้นที่ที่ประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ดังนั้น หมายความว่า ระหว่างที่ตนถูกจับกุมวันที่ 27 พฤษภาคม กรุงเทพฯ จึงอยู่ในพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง จึงเข้าตามข้อยกเว้นตามประกาศ คสช.