วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ประวิตรเผยเตรียมรับมือหากร่างรธน.ไม่ผ่าน ไว้หมดแล้ว ให้คำมั่นเลือกตั้ง60 ตามโรดแมปแน่นอน


13 ก.ค.2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญปลอมไปตามบ้านเรือนประชาชน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะหาทางจับตัวให้ได้
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ายังคงมีขบวนการใต้ดินเคลื่อนไหวอยู่ใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น่าจะมี แต่เป็นส่วนน้อยเพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด พร้อมกล่าวว่า “เราต้องการความสงบ ไม่อยากความวุ่นวาย มีบางคนเท่านั้น และมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการรับรู้ของประชาชน เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ” 
ส่วนการเตรียมความพร้อมหาทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะที่ผ่านมาคิดเสมอว่ารัฐธรรมนูญจะผ่าน อย่างไรก็ตาม ให้คำมั่นว่าเลือกตั้งได้ในปี 2560 และรัฐบาลมีมาตรการรองรับทั้งกรณีผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะโรดแมปที่ชัดเจนมีเป้าหมายอยู่ที่การเลือกตั้ง

สมชัยเตรียมเสนอดึงการเคลื่อนไหวใต้ดินข้นมาอยู่บนดิน

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.) ว่า จะหารือกับกรธ.เกี่ยวกับเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ว่าเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 หรือไม่ว่าหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการอย่างไร เช่น ให้กรธ. แจ้งความดำเนินคดีเอง ส่งให้กกต.เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย หรือไม่ดำเนินการอะไรเลย
“ผมมองว่าหากกรธ.เป็นผู้แจ้งความเองน่าจะเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด เพราะการส่งมาให้กกต.ดำเนินการจะใช้เวลาพิจารณาหลายสัปดาห์อาจไม่ทันการ  หรืออีกวิธีหนึ่งถ้ากรธ.ยืนยันว่าจะให้กกต.ดำเนินการ ผมยินดีเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตนเองโดยไม่ผ่านมติกกต. แต่แนวทางนี้ผมต้องเห็นร่วมกับกรธ.ว่าเป็นความผิด หากผมเห็นว่าไม่ผิดก็จะไม่ทำ ผมมีจุดยืนแล้วว่าเอกสารต่างๆที่เผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา ชุดใดผิดหรือไม่ผิด แม้กรธ.และกกต.เห็นตรงกันว่าการกระทำนั้นมีความผิด แต่ผมก็อยากเสนอว่าควรให้โอกาสแก่กลุ่มที่ทำผิดได้ทบทวน  ยับยั้งชั่งใจในการกระทำนั้น ถ้ายุติการกระทำก็ถือว่าจบ แต่ถ้ายังดื้อดึงก็ต้องอาศัยช่องทางตามกฎหมายดำเนินการ” สมชัย กล่าว
สมชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีจดหมายส่งไปยังครัวเรือนใน จ.ลำปาง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รายงานให้ทราบแล้ว มองว่ากรณีนี้เข้าข่ายความผิดมาตรา 61 วรรคสอง  เนื่องจากมีหลายข้อความที่เป็นเท็จ ซึ่งกรธ.จะเป็นผู้ที่ระบุชัดว่าเท็จหรือไม่  หากยืนยันว่าเท็จ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญแบบใต้ดิน เช่น การส่งจดหมายไปตามบ้านหรือการโพสต์ข้อความทางอินเตอร์เน็ตที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดจนมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนออกเสียงของประชาชน จะนำข้อเสนอที่ทำให้การเคลื่อนไหวใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เพื่อให้ทุกคนออกมาพูดกันได้อย่างเปิดเผย เสนอที่ประชุม กรธ. ว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร

ปธ.สนช.เชื่อปชช.เข้าใจคำถามพ่วง ชี้ร่างไม่ผ่าน ต้องแก้รธน.เปิดทางร่างใหม่

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มั่นใจว่าประชาชนเข้าใจคำถามพ่วงประชามติของ สนช. ซึ่งการลงพื้นที่ชี้แจงนั้น ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และหากยังไม่เข้าใจ ขณะนี้ก็ยังมีเวลาชี้แจงกับประชาชน ส่วนปัญหาการแจกจ่ายสาระร่างรัฐธรรมนูญล่าช้า อาจเป็นเพราะปัญหาด้านการขนส่ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการเขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนจะใช้แนวทางใด ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ส่วนตัวไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้

ทหารเรียก 19 ชาวบ้านอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกงเข้าอบรมปรับทัศนคติ ขณะ 4แกนนำ ถูกดำเนินคดี


14 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (13 ก.ค. 59) เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี 4-5 นาย เดินทางไปที่บ้านของ วาสนา เคนหล้า บ้านหนองโก ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด แจ้งให้นัดชาวบ้านที่ปรากฏในภาพถ่ายวันเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติไปที่ สภ.โนนสะอาดในวันที่ 14 ก.ค.59 โดยตำรวจจะเอารถมารับที่ศาลากลางบ้านบ้านหนองโก ในเวลา 14.00 น. เมื่อวาสนาสอบถามว่า จะให้ชาวบ้านไปทำอะไร ตำรวจตอบว่า ผู้การฯ อำนวย (พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี – ผบ.มทบ.24) สั่งให้ตามชาวบ้านไป แต่ไม่รู้ว่าให้ไปทำอะไร วาสนาจึงแย้งไปว่า จะให้ชาวบ้านไปทำอะไร เจ้าหน้าที่น่าจะมีหนังสือมาแจ้งชาวบ้านเป็นทางการ ตำรวจชุดที่มาจึงกลับออกไป
ต่อมา ในช่วงเย็น พ.ต.ท.ลิขิต สมศรีทอง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.โนนสะอาด จึงได้มาส่งหนังสือเชิญชาวบ้านที่เข้าร่วมการเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงฯ จำนวน 19 คน เข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 14 ก.ค.59 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากได้รับการประสานจาก ผบ.มทบ.24 โดยมอบให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองโกดำเนินการส่งจดหมายเชิญดังกล่าว
ภาพเปิดศูนย์ปราบโกงฯ จ.อุดรฯ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่มาภาพ เพจศูนย์ปราบโกงประชามติ
กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติใน จ.อุดรธานี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่บ้านหนองโก ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด ซึ่งเป็นบ้านของ วาสนา อดีตเหรัญญิกสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน ใส่เสื้อสีดำที่มีสโลแกนของศูนย์ปราบโกงฯ ว่า “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ฯ เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ
ภริตพร หงษ์ธนิธร หรือ ดีเจเก่ง อดีตที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงฯ แกนนำในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เปิดเผยว่า หลังจบกิจกรรม ชาวบ้านแยกย้ายกันหมดแล้ว เหลือเพียงตนเอง สามี ลูกชาย และ วาสนา เจ้าของบ้าน ตนเองได้โทรศัพท์แจ้งทหารว่า ได้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ แล้ว ที่ทำเช่นนี้เพราะคาดว่ายังไงจะต้องถูกติดตามหรือเรียกตัว เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเอง วาสนา รวมทั้งแกนนำคนอื่นอีก 2 คน ถูกเรียกเข้าไปใน มทบ.24 เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ ปกครอง คุยไม่ให้เปิดศูนย์ฯ ตนเองถูกเรียกเข้าไปถึง 2 ครั้ง
“เราเก็บข้อมูลต่างๆ แล้วว่าไม่ได้ผิดกฎหมายเราถึงทำ เพราะอยากจะสื่อให้ประชาชนใน จ.อุดรฯ และทั่วประเทศรับทราบว่า ใน จ.อุดรฯ ของเรายังมีอุดมการณ์ที่แนวแน่และเข้มแข็งพร้อมที่จะตามหาระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทยให้ได้ รู้อยู่ว่าทหารต้องเล่นงานเราแน่นอน แต่ทุกคนก็พร้อมได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผล เป็นเรื่องปกติของการต่อสู้” ภริตพร กล่าว
หลังจากโทรแจ้งทหารได้ไม่นาน เวลาประมาณ 09.00 น. ผกก.สภ.โนนสะอาดก็มาที่บ้านของ วาสนา สถานที่จัดกิจกรรม และเชิญตัวทั้ง 4 คน ไป สภ.โนนสะอาด แจ้งข้อกล่าวหา “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558” หลังสอบปากคำโดยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงปล่อยตัวในเวลาประมาณ 18.30 น. และนัดหมายให้มาพบอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. 59
ต่อมา ตำรวจได้เรียกให้ชาวบ้านที่ร่วมถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงฯ มาสอบปากคำในฐานะพยาน โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ภายหลังจึงมาติดตามให้เข้ารับการอบรมหรือ “ปรับทัศนคติ” กับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 14 ก.ค. ดังกล่าวแล้ว
ส่วนผู้ต้องหา 4 คน ในวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไป เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะส่งตัวไปอัยการศาลทหารภายในวันทื่ 18 ก.ค.นี้
 
นอกจากการดำเนินคดีและติดตามให้เข้าอบรมหรือปรับทัศนคติแล้ว นางภริตพรให้ข้อมูลอีกว่า ภายในสัปดาห์นี้ได้มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดอุดรฯ และตำรวจมาที่บ้าน น.ส.วาสนา 2 ครั้งแล้ว และพูดคุยในทำนองข่มขู่ไม่ให้ วาสนาและพ่อ ซึ่งมีรูปถ่ายกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯด้วย เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก
 
สำหรับกรณีการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามตินี้ จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้รวบรวมผู้ถูกดำเดนินคดีไว้ โดยนอกจากแกนนำ นปช. ส่วนกลาง 19 คน ที่ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แล้วพบว่า ในจังหวัดต่างๆ มีการดำเนินคดีชาวบ้านและแกนนำ นปช. ในข้อกล่าวหาเดียวกันแล้ว ในอีก 7 จังหวัด อย่างน้อยอีก 69 คน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ปมพุทธะอิสระปลูกป่า กรมอุทยานฯ ชี้หากไม่ร่วมพุทธอุทยานฯ จะนิมนต์ออกพื้นที่


จากกรณีที่ พุทธะอิสระ ให้สัมภาษณ์ ผ่านรายงานเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ทางมูลนิธิธรรมะอิสระของวัดอ้อน้อย ได้ร่วมกับ บ.พฤกชเวช ซื้อที่ดินเนินเขา บริเวณบ้านใหม่วังผาปูน ต.แม่วิน อ.แม่วาง เชียงใหม่ จริง โดยซื้อในนาม มูลนิธิธรรมมะอิสระของวัดอ้อน้อย กับ บ.พฤกชเวช เมื่อปี 2556-2557 ในราคา 3 ล้านกว่าบาท เนื้อที่เพียง 300 กว่าไร่ ไม่ใช่ 3,000 ไร่ อย่างที่มีการเสนอข่าวผ่านสื่อโซเชี่ยล โดยพุทธอิสระอ้างว่าตัวเขาเองไม่มีรายชื่อเป็นกรรมการมูลนิธิธรรมมะอิสระ (แต่เป็นเจ้าของวัด)พร้อมยอมรับด้วยว่า บริเวณดังกล่าวเป็นเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนหวงห้ามจริง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถครอบครองได้ แต่ที่มูลนิธิไปซื้อไว้ ก็เพื่อนำมาปลูกป่า เพื่อมอบให้หลวง โดยมีหน่วยงานและข้าราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ความเห็นชอบ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา อรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ และมีเจตนาอย่างไร จากนั้นจึงไปเทียบกับข้อกฎหมายของกรมป่าไม้ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง โดยหลักๆ แล้วต้องดูถึงเจตนา หากเป็นพวกนายทุน จะเห็นอย่างชัดเจนว่ามีเจตนาบุกรุกเพื่อครอบครองหวังผลประโยชน์ เพราะมีการปลูกสิ่งก่อสร้าง รีสอร์ต บ้านพัก แต่กรณีนี้ต้องเข้าตรวจสอบก่อนว่ามีเจตนาอย่างไร
ด้าน ศิริ อัคคะอัคร ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ กล่าวถึงกรณี บก.ปทส. เตรียมเข้าตรวจยึดพื้นที่จากวัด 10 แห่งที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติ ว่า ทาง บก.ปทส.ได้ประสานข้อมูลและทำงานร่วมกรมอุทยานฯ มาตลอด โดยขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังเข้าดำเนินการตรวจสอบวัดที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่ามีรายชื่อเข้าร่วมโครงการพุทธอุทยานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือไม่ ซึ่งจะทราบข้อมูลในเร็วๆ นี้ หากตรวจสอบแล้วไม่พบรายชื่อว่าเข้าร่วมโครงการพุทธอุทยานฯ หรือมีการบุกรุกขยายพื้นที่เกินกว่าข้อตกลงและเงื่อนไขที่ทำไว้กับกรมอุทยานฯ ก็จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ต่อไป
ด้าน ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับวัดในพื้นที่ป่า ถ้าขึ้นบัญชีเข้าร่วมโครงการพุทธอุทยานฯ ก็สามารถอยู่ในป่าไม้ได้ โดยไม่ขยายพื้นที่เพิ่ม แต่หากไม่ร่วมโครงการก็ถือว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งไปบุกรุกพื้นที่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ เนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบและขอให้นำเอกสารมาแสดง ภายใน 30 วัน หากไม่มีหลักฐานและข้อตกลงในโครงการพุทธอุทยาน ที่ทำไว้กับกรมอุทยานฯ ตนก็จะนิมนต์ออกจากพื้นที่ต่อไป

พุทธะอิสระ ลงพื้นที่ facebook live ชี้แจง เล็งเอาผิดคนใส่ร้าย

ขณะที่วันเดียวกัน พุทธะอิสระ ได้ลงพื้นที่ดังกล่าว พร้อม ถ่ายทอดสดผ่าน facebook live ชี้แจง ระบุว่าหลังถูกกล่าวโทษว่ามีการบุกรุกป่า จึงขอพามาดูความจริง ซึ่งหลังจากนี้จะให้ทนายรวบรวมหลักฐานและฟ้องกลับทุกคนที่กล่าวหา ใส่ร้ายตนเองจนเสียหาย โดยพุทธะอิสระยืนยันว่าพื้นที่มีแค่ 300 ไร่ ก่อนจะพาไปดูและระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเมื่อ 3ปีก่อนเป็นเพียงเขาโล่งๆ แต่วันนี้กลับมีต้นไม้จำนวนมาก ส่วนที่ยืนต้นตายเพราะมีคนลอบมาเผา ทั้งยังได้นำอาจารย์ใหญ่ จากโรงเรียนแม่วินสามัคคี ที่มาช่วยตนเองปลูกป่าทุกปี เพื่อยืนยันว่าตนมีเจตนาดี ไม่มีการสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆมีแต่ต้นไม้ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการถือสิทธิ์ครอบครอง เพราะไม่มีการทำประโยชน์อะไร มีแต่ป่า สิ่งที่ตนทำเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ คนทั้งโลก
"เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่ใช่ป่าไม้ขออภัยที่พูดออกรายการสปริงนิวส์ของคุณดนัย (เอกมหาสวัสดิ์) ผิดว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน จริงๆ แล้วเขาบอกว่าเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อนุญาตให้ทำพื้ชผลการเกษตรได้" พุทธะอิสระ กล่าว
“จะใส่ร้ายอะไรก็ทำไปเถอะ แต่ช่วยลงชื่อจริงหน่อยแล้วกัน จะได้จัดให้สักดอกสองดอกตามเหตุตามปัจจัย ข้อหานำความเท็จเข้าสู่ระบบ” พุทธะอิสระ กล่าว
ส่วนผู้ที่ถามว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนซื้อคืนได้ด้วยหรือ ขอถามกลับว่าการปลูกป่ามันเสียหายตรงไหน ตนไม่ได้ปลูกโรงแรม การปลูกป่าเป็นประโยชน์คนทั้งชาติ หรือคนถามไม่ใช่คนไทย พระปลูกป่าเสียหายตรงไหน ในสมัยพุทธกาลก็มีพระดูแลป่าไม้ ขอแนะนำให้หายาบำรุงสมอง อย่ากินแต่หญ้า ถ้าผิดจริงขอให้ไปแจ้งความ พระที่รักษาธรรมวินัย ย่อมรักษาและผูกพันกับป่ายกเว้นพระไม่ดีที่พยายามทำป่าให้เป็นเมือง

ประยุทธ์ใช้ ม.44 ให้อำนาจ กสทช. ปิดสื่อ โดยไม่ต้องรับผิด


         ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เพื่อกําหนดห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางประเภท นั้น โดยที่ข้อมูลข่าวสารตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ออกอากาศตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการรับรู้และความเข้าใจในการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบการไปสู่ประชาชนทั้งในส่วนของประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามและมาตรการที่จะนํามาใช้ในการกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงจําเป็นต้องกําหนดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
          อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
  • ข้อ 1 ให้การเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระตามข้อ 3 (1) ถึง (7) ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี
  • ข้อ 2 ในกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือบุคคลที่ได้รับมอบอํานาจจากบุคคลดังกล่าว ได้กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น เพื่อควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 1 นับแต่วันที่ประกาศตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  • ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

พีอาร์ไม่ทั่วถึงทำปชช.พลาดลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจำนวนมาก ขณะที่ ร่างรธน.ยังไม่ถึงมือ ปชช.


14 ก.ค. 2559 เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) เปิดเผยข้อมูลปัญหาการของการลงประชามติในสองเรื่องคือปัญหาการลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดและการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญไม่ทั่วถึง เรื่องแรกปัญหาการลงทะเบียนออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค. - 7 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า มียอดผู้ขอใช้สิทธิจำนวนทั้งสิ้น 325,229 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาจากการออกเสียงประชามติปี 2550 จำนวน 82,767 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวนผู้มาขอใช้สิทธิลงทะเบียนฯ ทั้งหมด


แม้ว่าตัวเลขผู้ลงทะเบียนฯ จะเพิ่มขึ้นแต่ทางเว็บไซต์ประชามติ กลับพบปัญหาในการลงทะเบียนฯ โดยนับตั้งแต่ที่ กกต.ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจนกระทั่งวันนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อน ปัญหาผ่านเว็บไซต์ประชามติและเพจเฟซบุ๊กประชามติโดยปัญหาหลักคือ การประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอของหน่วยงานรัฐทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบ ว่าการลงทะเบียนฯ สิ้นสุดลงในวันใด ทำให้หลายคนต้องพลาดโอกาสการออกเสียงประชามติไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากติดงานไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ ขณะที่บางส่วนพยายามจะลงทะเบียนออนไลน์แต่ในช่วงใกล้วันปิดลงทะเบียนปรากฏ ว่าเว็บไซต์ล่มไม่สามารถเข้าถึงได้ช่วงเวลาหนึ่ง ประชาชนจำนวนมากจึงเข้ามาสอบถามผ่านกล่องข้อความเพจเฟซบุ๊กประชามติ ซึ่งทางเพจฯ แนะนำให้ติดต่อไปที่กกต. ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ประกาศไว้ในเว็บไซต์ของกกต. ซึ่งมีหลายคนสะท้อนกลับมาว่าหมายเลขที่ให้ไว้ไม่สามารถติดต่อได้

หลัง จากที่ กกต.ได้ปิดการลงทะเบียนการออกเสียงนอกเขตจังหวัดแต่ยังคงมีประชาชนจำนวนมาก ทยอยส่งข้อความเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับการลงทะเบียนฯ อย่างต่อเนื่องว่า ยังสามารถลงทะเบียนฯ และจะมีการขยายเวลาการลงทะเบียนฯ อีกหรือไม่ โดยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีคนจำนวนมากที่อยากลงทะเบียนใช้สิทธินอก เขตฯ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ทราบข่าวการลงทะเบียนฯ เลย และอยากให้มีการขยายเวลาลงทะเบียนฯ ออกไปอีก ที่น่าสนใจคือกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติเองก็เข้ามาถามว่าตนเองไม่ได้ลงทะเบียนฯ ไว้สามารถออกเสียงที่หน่วยที่ตนเองเป็นกรรมการได้หรือไม่ ประชาชนรายหนึ่งยังได้บอกเล่าปัญหาของการออกเสียงนอกเขตจังหวัดว่า สถานที่ที่กกต. จัดให้มีการออกเสียงนอกเขตจังหวัดมีอยู่เพียงจังหวัดละหนึ่งแห่งซึ่งตั้ง อยู่ในอำเภอเมืองส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ต่างอำเภอมีความอยากลำบากจากการเดินทางไปออกเสียง นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันซึ่งไม่สะดวกลงคะแนนที่อำเภอตัวเองเนื่องจากทำงานอยู่ต่างอำเภอก็ไม่สามารถลงทะเบียนได้ เพราะไม่ได้มีรายชื่ออยู่นอกเขตจังหวัด อย่างไรก็ดีการลงประชามติครั้งนี้ไม่ได้ให้สิทธิครอบคลุมไปถึงผู้ที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ

เรื่องที่ 2 คือการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ทั่วถึง โดยในวันที่ 9 ก.ค. 2559 เพจเฟซบุ๊กประชามติ โพสต์ถามว่า ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญหรือยัง? โดยมีผู้ติดตามเพจให้ความสนใจในการตอบคำถามดังกล่าวกว่า 100 คนและประมาณ 80 คนตอบว่า ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ ระบุว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กระจายตัวอยู่ในเขตปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, มุกดาหาร, หนองคาย, ศรีสะเกษ, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ขณะที่ผู้ร่วมตอบคำถามมีเพียง 5 คนที่ตอบว่า ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้รับจากงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของหน่วยงานภาครัฐ โพสต์ดังกล่าวได้รับการแชร์ไปจำนวน 116 ครั้ง โดยส่วนใหญ่โพสต์ข้อความประกอบว่า ยังไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน

สำหรับ การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญนี้ กกต.ได้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1,200,000 ฉบับ, สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 6,000,000 ฉบับและย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 17,000,000 ฉบับ ในส่วนของการแจกจ่ายเอกสารแก่ประชาชนได้จัดส่งผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยแบ่งเป็น 2 รอบคือรอบแรกในวันที่ 25 พ.ค. 2559 แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 1,000,000 ฉบับดำเนินการจัดส่งเสร็จสิ้นไปแล้วในวันที่ 27 มิ.ย. 2559 และรอบที่ 2 คือเอกสารสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญและย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเริ่มแจก จ่ายตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา

องอาจ ปัด ปชป.ทำภาพคนสำคัญพรรคประกาศไม่รับร่างรธน. วอน กกต.ตรวจสอบ หามือที่3

14 ก.ค.2559 จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพพร้อมข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยมีการใส่คำพูดพร้อมกับภาพบุคคลของพรรค เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค องอาจ คล้ามไพบูลย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ และสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ ซึ่งในข้อความที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมาก รวมทั้งภาพข้อความคำพูดดังกล่าวมีการใส่โลโก้ของพรรค ปชป.อีกด้วย
มติชนออนไลน์ รายงานว่า องอาจ กล่าวยืนยันว่า พรรค ปชป. ไม่ได้ทำถ้อยคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏในโซเชียล เท่าที่ดูเป็นการพยายามตัดต่อคำให้สัมภาษณ์ในโอกาสต่าง ๆ ของสมาชิกพรรค โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนทำ จึงอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประชามติ ช่วยตรวจสอบดูว่าใครเป็นมือที่สามที่ทำเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวไม่ทราบว่าสมาชิกพรรคแต่ละคนพูดอย่างนั้นหรือไม่ แต่หากเป็นถ้อยคำที่เราพูดก็ไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่ควรแจ้งให้เจ้าตัวทราบก่อนว่าจะนำไปทำข้อความภาพเช่นนี้ ที่สำคัญมีการติดโลโก้ของพรรค ทั้งที่ที่พรรคไม่รับรู้อะไรด้วย จึงไม่ทราบวัตถุประสงค์ของคนทำ
ขณะที่ นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ข้อความที่ปรากฏไม่ได้เสียหายอะไร เพราะแต่ละคนสามารถทำได้ แต่พรรคไม่ได้เป็นผู้ทำ ทั้งนี้ เรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกติกาที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมือง เราต้องมีจุดยืนและท่าทีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน เราจะไม่แสดงความเห็นไม่ได้ ขณะนี้ใกล้จะลงประชามติแล้วจึงต้องมีการแสดงท่าที โดยหัวหน้าพรรคต้องเป็นผู้แสดงท่าที และเมื่อหัวหน้าพรรคแสดงท่าทีออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคต้องเห็นด้วยในแนวทางนั้น และเราต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน

กรธ.-กกต. สรุปชัด 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ NDM บิดเบือนห้ามแจก


ประธาน กกต. แถลงผลการหารือร่วมกับ กรธ. สรุปชัด เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของ NDM ผิดกฎหมาย ห้ามแจก ห้ามเผยแพร่อีก ส่วนอดีตอย่าไปรื้อฟื้น ด้านความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ ยังสรุปไม่ลงตัว ขออย่าเพิ่งแจก-เผยแพร่
14 ก.ค. 2559 ที่อาคาร 3 รัฐสภา ได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันระหว่าง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในเรื่องการสร้างบรรยาการในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมทั้งหารือเรื่องเอกสารรณรงค์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)
15.35 น. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธาน กกต. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ได้มาพูดคุยหารือกันว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ และมีความเข้าใจ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่ทำประชาชนไปลงประชามติโดยรู้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญจะต้องมีการเปิดให้มีการถกเถียงกัน และเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดเห็นต่างกันมีโอกาสที่จะพูดคุยกัน ภายใต้กรอบกติกาที่เหมาะสม ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ไม่หยาบคาย ไม่มีข้อความที่เป็นเท็จ และไม่มีการปลุกระดม
สมชัยกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยได้อสรุปว่าจะมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ลงในหนังสือพิมพ์ประจำวันอย่างน้อย 3 ฉบับ ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติ สำหรับการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กกต. กำลังดำเนินการติดต่อกันสถานนีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เพื่อจัดเวทีสำหรับการพูดคุยถกเถียงในประเด็นเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยังเกิดความสงสัย หรือยังเข้าใจแตกต่างกัน โดยจะจัดรายการทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที โดยในแต่ละครั้งจะมีการเชิญคนจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ กรธ. และอีกฝ่ายอาจจะเป็นผู้ที่มีประเด็นความห่วงใยกับร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการทาบทามและดำเนินการ
สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารรณรงค์เรื่องประชามติของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น ได้มีการพูดคุยกันแล้วมีความเห็นตรงกันระหว่าง กกต. และ กรธ. ว่า เอกสาร 7 เหตุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่นั้น เป็นเอกสารที่ผิดกฏหมายหมายเนื่องจาก พบว่ามีลักษณะของการบิดเบือนข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นหลัก คือ เรื่องของ ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องการเรียนฟรี 12 ปี และเรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุ
“กกต. และ กรธ. ได้มีความเห็นร่วมกันว่าชิ้นนี้ (7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ) มีข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้นในขณะนี้เราขอแถลงต่อสาธารณะว่า เอกสารชิ้นนี้ไม่สามารถแจกจ่ายในที่สาธารณะได้ ผู้ที่ทำการแจกจ่ายจากนี้ไปถือว่ามีความผิด แต่ที่ผ่านอาจจะมีการแจกจ่ายเราเห็นว่ายังไม่มีเจตนา หรือยังไม่ทราบว่าเป็นความผิดหรือไม่ แต่ขออนุญาติว่าจากนี้ไปกลุ่มต่างๆ ที่จะทำการเผยแพร่เอกสารฉบับบนี้ ไม่ว่าจะเผยแพร่โดยการแจกจ่ายโดยมือ หรือทางอินเตอร์เน็ต ขอให้ท่านออกเอาจากเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย” สมชัย กล่าว
สำหรับเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมชัยระบุว่า ในส่วนของ กกต.ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคลยงไม่ได้เป็นมติของ กกต. มีความเห็นว่า เอกสารชิ้นดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย และสามารถแจกได้ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีข้อความที่เป็นเท็จ หรือมีลักษณะที่หยาบคาย แต่อาจจะมีบางข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาณตัวบุคคล ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอาญาต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามในชั้นของ กรธ. นั้นยังไม่มีข้อยุติในวันนี้ ฉะนั้นเอกสารความเห็นแย้งยังมีการพิจารณาไม่สิ้นสุด
“ถ้า กรธ. ชี้ว่าผิด ก็ต้องไปทำหนังสือแจง กกต. ให้ดำเนินการ และกรรมการการเลือกตั้งก็จะให้สำนักงานเป็นผู้พิจารณาอีกทีหนึ่ง ก่อนส่วนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา แต่ถ้าสำนักงานมีความเห็นว่าผิดก็สามารถดำเนินการ กล่าวโทษร้องทุกข์ได้เลย แต่ถ้าหากยังไม่มั่นใจก็อาจจะส่งมาให้ที่ประชุม กกต. 5 คน เพื่อพิจารณาอีกทีหนึ่งว่า กรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน คิดอย่างไร” สมชัยกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างที่รอการประชุมสรุปว่า เอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ มีความบิดเบือนหรือไม่ สามารถเผยแพร่ และแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวได้หรือไม่ สมชัยกล่าวว่า ยังไม่ควรแจกจ่าย จนกว่าความเห็นจะยุติชัดเจน

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ กกต. และ กรธ. กำลังประชุมอยู่นั้น ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้งหมด 4 คน ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือ โดยลูกเกด ชลธิชา ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า มีข้อเรียกร้องต่อ กรธ. และ กกต. 2 เรื่องคือ ต้องการให้ กรธ. ออกมาแถลงให้ชัดเจนในเวทีสาธารณะว่าเอกสารแต่ละชุดของ NDM มีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การคุกคามโดยการจับกุมผู้แจกเอกสารรณรงค์ และต้องการให้ กกต. พิจารณาว่าอะไรบิดเบือนหรือไม่บิดเบือน โดยรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง กรธ. และ NDM ด้วยเนื่องจากทั้งสองเปรียบเสมือนคู่ขัดเเย้งกัน การรับฟังความข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

รองหน.ปชป.หนุนไอเดียวิษณุ หากร่างรธน.ไม่ผ่าน ไม่ต้องประชามติอีก ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะร่างเลย


14 ก.ค.2559 หลังจากที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ วันที่ 7 ส.ค. นี้ ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่มาร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จในเวลาเท่าใดเพื่อให้ทันตามโรดแมปที่รัฐบาลกำหนดไว้ รวมถึงหลังจากร่างเสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เชื่อว่าคำตอบก็อาจจะไม่ใช่การกลับไปทำประชามติอีกแล้ว เพราะอาจจะทำให้เสียเวลาไปอีก นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า 13 ก.ค. ที่ผ่านมา สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิด วิษณุ ที่ไม่จำเป็นต้องทำประชามติอีก แต่สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.นั่งหัวโต๊ะ เป็นคนกลาง ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเล็ก ภาคประชาชน นักวิชาการ และเอกชน เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญ มีเป้าหมายเดียวกันคือหาทางออกให้ประเทศ โดยเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เป็นตัวตั้ง ฟังความเห็นทุกฝ่ายว่า มีจุดด้อย จุดดี อย่างไรแล้วปรับแก้ให้เกิดการยอมรับ เงื่อนไขสำคัญต้องไม่เขียนล็อคให้แก้ไขยาก เชื่อว่า ถ้าเอา 4 หลักเกณฑ์ที่รองนายกฯระบุ รวมกับโมเดลตน สังคมจะได้เริ่มต้นนับหนึ่งเสียทีไปสู่การเลือกตั้งเดินหน้าประเทศเสียที ไม่อย่างนั้นจะมีแต่การเอาแพ้เอาชนะกัน ประเทศไม่เดินไปไหน
.