วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เปิดห้องเรียนประชาธิปไตย (ที่เกือบไม่ได้จัด) ว่าด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว



เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" วิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วยบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ก่อนการจัดงานมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีคำสั่งห้ามการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ก่อนที่ผู้จัดจะเข้าเจรจากับทางตำรวจและมหาวิทยาลัย จนท้ายที่สุดทางมหาวิทยาลัยชี้แจงว่าได้อนุญาตให้จัดงานไปแล้ว และหากผู้จัดงานจะดำเนินการจัดเสวนาต่อก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหน้าที่ผู้สั่งห้ามเอง ซึ่งกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์ยืนยันที่จะจัดงานเสวนาวิชาการต่อไป 
เพื่อไม่ให้ ‘เสียของ’ ประชาไทรวบรวมการเสวนาวิชาการครั้งนี้เผยแพร่ผ่านคลิปวิดีโอและถอดเทปในบางส่วน

ปิยบุตร

จะแบ่งการบรรยายเป็นสองส่วนใหญ่ ส่วนแรกจะลงไปในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ57  ส่วนที่สองจะวิจารณ์ในแง่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมรัฐในโลกสมัยใหม่ต้องประกาศว่ามีรัฐธรรมนูญ
ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญ57 มี 48  มาตรา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. หรือสองเดือนหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ขอแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ ปัจจุบัน ส่วนที่สองคืออนาคต
ส่วนของปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ57 ให้กำเนิดสถาบันการเมืองขึ้นมา 5 สถาบัน หรืออย่างที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ผู้มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ชื่อเล่นของรัฐธรรมนูญนี้ไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำ 5 สาย องค์กรแรกคือ คสช. , สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ครม., สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) , คณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็จะทยอยตั้งและเริ่มทำงาน
ถามว่าทั้ง 5 สถาบันการเมืองทำงานกันอย่างไร ศาสตราจารย์กฎหมายของเยอรมนีท่านหนึ่ง คือ ศ.ดีเตอร์ กริมม์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งเขียนส่วนหนึ่งของตำราขนาดใหญ่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบไว้ มีบทหนึ่งที่วิเคราะห์เอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญในโลกใบนี้ถ้ายึดตามระบอบการเมืองการปกครองจะแบ่งได้กี่แบบ ท่านจับเอาเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเข้าไว้ด้วยกัน รัฐธรรมนูญในประเทศตะวันตกเป็นเสรีประชาธิปไตย คือมีองค์ประกอบของความเป็นเสรีนิยมด้วย และประชาธิปไตยด้วย องค์ประกอบความเป็นประชาธิปไตยคือ อำนาจมหาชนทั้งหลาย ตัวองค์กรที่จะใช้อำนาจมหาชนนั้นในนามรัฐต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน ในฐานะนี้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐสภาจึงมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วสภาผู้แทนราษฎรจึงไปเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วนายกรัฐมนตรีจึงไป form คณะรัฐมนตรีขึ้นมา นี่คือรูปแบบของประชาธิปไตย ส่วนความเป็นเสรีนิยมอยู่ตรงที่การรับรองสิทธิเสรีภาพให้แก่บุคคล มีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีองค์กรตุลาการ องค์กรอิสระต่างๆ มาคอยตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากมีครบทั้งสององค์ประกอบนี้ นั่นคือ รัฐธรรมนูญแบบเสรีประชาธิปไตย
แบบที่สอง ขออนุญาตเรียกเป็นภาษาไทยว่า อเสรีแต่เป็นประชาธิปไตย คือ ไม่เสรีนิยมแต่เป็นประชาธิปไตย หมายความว่ามีการเลือกตั้ง องค์กรผู้ใช้อำนาจมีความเชื่อมโยงไปที่ประชาชน แต่กลับรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้แบบไม่เคร่งครัด ไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอ ไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีนัก คือเน้นปีกอำนาจจากประชาชนเป็นหลักไม่เน้นปีกสิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
แบบที่สาม แบบเสรีแต่อประชาธิปไตย คือ มีระบบการเลือกตั้งโดยอ้อม ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง แต่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพ มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
แบบที่สี่ เป็บแบบที่ไม่พึงประสงค์ในโลกปัจจุบัน อเสรีและอประชาธิปไตย คือ ไม่รับรองสิทธิเสรีภาพและไม่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐ อีกทั้งองค์กรที่ใช้อำนาจต่างๆ ไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงกลับไปที่ประชาชน
รัฐธรรมนูญ2557 เป็นแบบไหนลองพิจารณาดูได้จากตัวบท ผมวิจารณ์รัฐธรรมนูญ57 ไม่ได้วิจารณ์ คสช.
รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำเนิดสถาบันการเมืองมา 5 อัน ตามหลักการแล้ว รัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีประชาธิปไตยต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ มีประชาธิปไตย มีนิติรัฐ มีการประกันสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของบุคคล ต้องมีเรื่องเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ ถ้าลองดูทั้ง 5 สถาบันการเมือง เรามีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกิดมาหลังรัฐประหาร ตลอดสองเดือน แม้ว่าแต่ละคนจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐประหารก็ตาม แต่ตามประเพณีที่ผ่านมาเขาคือรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้ทรงอำนาจในทางความเป็นจริง ตลอดสองเดือนที่ไม่มีรัฐธรรมนูญทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ คสช. ท่านจึงเห็นการออกประกาศ คำสั่งต่างๆ เต็มไปหมด พอหลัง 22 ก.ค. มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญขึ้น ก็มีมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญบอกว่า ให้คสช. ยังเป็นคสช.ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ57 นี่คือกำเนิดของคสช.ที่เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ
สถาบันการเมืององค์กรที่สอง เกิดขึ้นหมาดๆ คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรากฎหมายแทนที่รัฐสภาในเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญถาวร ปัญหาคือที่มาของ สนช. มาตรา 6 ระบุไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติตามคำแนะนำของคสช.” พูดง่ายๆ คือ คสช.เป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งแล้วให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง แล้วหัวหน้าคสช.ก็เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ต่อมา มาตรา 11 เขียนว่า “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” แต่ตามตำราที่เราร่ำเรียนมาการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การเลือกตั้งมั่วๆ ซั่วๆ ด้วย ต้องเป็นการเลือกตั้งที่วไป ทั่วถึง เท่าเทียม 1 คน 1 เสียง สุจริตและลับ
องค์กรที่สาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็จะเป็นคนลงมติเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคงจะเกิดในปลายเดือนสิงหาคมนี้ นายกฯ ก็จะฟอร์มคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหาร ต่างจากรัฐธรรมนูญปกติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วนายกฯ ไปฟอร์มทีมบริหาร
องค์กรที่สี่ คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นองค์กรใหม่ปรากฎในรัฐธรรมนูญนี้ ในรัฐธรรมนูญปกติจะไม่มี สภาปฏิรูปแห่งชาติมีที่มาอย่างไร มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่คสช.เลือกมา แล้วคณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อมากกว่า 250 ชื่อแล้ว คสช.ก็จะแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ
องค์กรที่ห้า คือ สภาปฏิรูปจะปฏิรูปหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ การเข้าไปมีบทบาททำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ได้ทำเอง ต้องมีองค์กรใหม่ขึ้นมาคือ คณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นคนทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาแทนที่ฉบับ 57 คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมี 36 คน ทั้งสนช. คสช. ครม.และสปช.จะเข้าไปมีส่วนในการเลือกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สภาปฏิรูปแห่งชาติเลือก 20 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติเลือกมา 5 คน คณะรัฐมนตรีเลือกมา 5 คน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเลือกมา 5 คน และเลือกประธานกรรมาธิการอีก 1 คน รวมเป็น 36 คน
คราวนี้มาดูว่า 5 สถาบันการเมืองหรือแม่น้ำ 5 สายของอาจารย์วิษณุจะทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นคนร่าง ดราฟท์สุดท้ายต้องส่งมาถามความเห็นสภาต่างๆ รวมถึงคสช.ด้วย แล้วหน่วยงานต่างๆ ก็เสนอให้แก้ไขได้ แต่จะแก้หรือไม่แก้ก็แล้วแต่คณะกรรมาธิการยกร่าง แล้วจะส่งกลับไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นก็ทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัติย์ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนที่รัฐธรรมนูญ 57 นี้
ท่านพอแยกออกไหมว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 นี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญก่อนๆ อย่างไร
ทั้ง 5 สถาบันการเมือง ลองเช็คดูว่ามีหลักการแบ่งแยกอำนาจไหม หลักการแบ่งแยกอำนาจต้องมีการแบ่งแยกองค์กรที่เข้าไปใช้อำนาจ เช่น คนออกกฎหมายต้องไม่ใช่คนบริหาร ศาลต้องเป็นอิสระตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอื่นได้ แต่เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า ในมาตรา 42 วรรคสาม ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติสั่งคณะรัฐมนตรีได้ด้วย “ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป”
คสช.ยังมีบทบาทเหนือจากทุกองค์กรตรงไหนอีกบ้าง นอกเหนือจากที่ตัวเองเป็นคนเลือก สนช. ซึ่งไปโยงกับการเลือกนายกฯ แล้ว, เลือก สปช.ซึ่งมีหน้าที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, คสช.ก็ยังสั่ง ครม.ได้, คณะกรรมาธิการยกร่าง คสช.ก็มีส่วนในการเลือก ทั้งหมดนี้ใครใหญ่ที่สุด หนีไม่พ้น คสช.
ประการถัดมาในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจที่มีข้อน่าวิพากษ์วิจารณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับ มาตรา 44 ระบุไว้ว่าหัวหน้าคสช.ทำได้อีกหลายอย่าง
“ในกรณีที่หัวหน้า คสช.เห็นว่าจำเป็นเพื่อการปฏิรูป ส่งเสริมความสามัคคีสมานฉันท์ของคนในชาติ ป้องกันระงับปราบปรามการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อง มั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจหรือราชการแผ่นดินต่างๆ ให้หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคณะคสช. มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการนั้นจะเป็นในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ”
คือมีอำนาจสั่งได้ทั้งหมดนั้นเอง แล้วก็แจ้งให้สนช.ทราบว่า หัวหน้าคสช.ขอใช้อำนาจเหล่านี้ เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่หัวหน้า คสช.นั่นเอง
ประการถัดมา รัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ต้องรับรองหลักการประชาธิปไตยไว้ คนที่ใช้อำนาจมหาชน นิติบัญญัติ บริหารต้องเชื่อมโยงไปหาประชาชน วิธีการที่เด่นชัดที่สุดที่รัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายต้องมีคือ การเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายซึ่งเป็นเจตจำนงของคนทั้งประเทศ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น สภานิติบัญญัติต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ คสช.เป็นผู้ถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว และเป็นข้อที่น่าวิจารณ์ กระนั้นก็ตาม ในมาตรา3 ก็ยังเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ปัญหาคือ การเขียนมาตรา 3 แค่นี้สามารถพิสูจน์ได้ไหมว่ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ รัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือก็เขียนแบบนี้ ไม่ว่าประเทศไหนก็เขียนแบบนี้ เราต้องมาดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั้นโดยละเอียดว่ามันเข้าองค์ประกอบหรือไม่
ประการถัดมา ขัดกับหลักนิติรัฐหรือไม่ หลักนิติรัฐรับรองไว้ว่าองค์กรของรัฐทั้งหลายจะทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับ ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย มีการประกันสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างๆ และต้องมีศาลที่เป็นกลาง เป็นอิสระ คอยตรวจสอบองค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ท่านจะเห็นได้ว่าตอนเราใช้รัฐธรรมนูญ 50 รัฐสภาตรากฎหมายมาก็จะเจอศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ นายกฯ ทำอะไรต่างๆ ก็จะมีการเข้าชื่อถอดถอน มีอภิปรายไม่ไว้ว่างใจ การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระอีกเต็มไปหมด รัฐธรรมนูญ57 ก็ไม่ได้ยกเลิกศาล ทุกศาล ทุกองค์กรอิสระยังอยู่ครบหมด เรื่องสิทธิเสรีภาพก็มีมาตราหนึ่งที่เขียนเต็มๆ เพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญ57 เขียนไว้ในมาตรา 4 “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ความเป็นมนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
แล้วมันมีปัญหาตรงไหนในเรื่องหลักนิติรัฐ การตรวจสอบและการประกันสิทธิเสรีภาพ
หนึ่ง ถ้าดูมาตรา 47 สรุปง่ายๆ ว่า คสช.ออกประกาศคำสั่งอะไรมาตั้งแต่วันรัฐประหาร จนวันที่รัฐธรรมนูญใช้ และต่อไปด้วย หรือกการะทำต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกาศของคสช.นั้นให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ตรงนี้มาตรา44 เขียนไว้ ซึ่งหากผมต้องการโต้แย้งว่าประกาศคสช.ขัดรัฐธรรมนูญ57 เพราะไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ผมโต้ไปที่ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญแล้วแต่ว่าเข้าเขตอำนาจศาลไหน คำตอบที่ตามมาคือ ศาลจะบอกว่าวินิจฉัยแล้ว มาตรา 47 บอกให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หรือสมตติ ปลัดกระทรวงถูกคำสั่งคสช.โยกย้าย หากเขาเห็นว่ากรณีถวิล เปลี่ยนศรี เป็นตัวอย่างอันดีขอทำแบบคุณถวิลบ้างโดยฟ้องไปที่ศาลปกครองว่าคำสั่งโยกย้ายของคสช.ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็จะตอบว่า มาตรา 47 บอกไว้แล้วว่า ประกาศ คำสั่งของคสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ดังนั้นสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราไม่สามารถโต้แย้งได้เลย อยากโต้แย้งก็โต้ไป แต่มาตรา 47 เขียนไว้แล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มันจึงกระทบกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการประกันสิทธิเสรีภาพต่างๆ
อีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 48 เรื่องการนิรโทษกรรม การกระทำตั้งแต่ 22 พ.ค.57 ของคสช. หากผิดกฎหมายก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย หรือที่เราเรียกว่านิรโทษกรรม ถ้า ณ เวลานี้คุณฉลาด วรฉัตร อยากไปฟ้องว่า คสช. ทำผิดตามมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นกบฏ ศาลก็จะบอกว่า นิรโทษกรรมเรียบร้อยแล้วตามมาตรา 48   อันนี้ก็กระทบกับหลักการตรวจสอบ
ย้ำอีกครั้ง ผมอธิบายจากตัวบทรัฐธรรมนูญ57 ยังไม่ได้วิจารณ์ คสช.แต่อย่างใด
ฉะนั้น เราจะนิยามรัฐธรรมนูญฉบับ 57 อย่างไร ท่านลองพิจารณาเอาเองตามที่ผมยกการจำแนกของ ศ.กริมมาแล้วข้างต้น
นั่นคือส่วนของปัจจุบัน แต่สิ่งที่อาจสำคัญกว่าคือส่วนของอนาคต เพราะทุกท่านอยู่ด้วยความหวัง “เอาน่า ทนๆ กันไป” “มันเป็นสถานการณ์ยกเว้น ชั่วคราว”  ยอมอดทนอยู่กับกลไกแบบนี้ไปเพื่อที่วันหนึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ ทุกคนเลยคิดว่า “อนาคตมันต้องดีกว่านี้แน่”
ลองดูที่มาตรา 38 คือกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือ ถ้าสภาปฏิรูปโหวตให้ไม่ผ่าน หรือร่างไม่ทันตามเวลา 20 วันจะทำอย่างไร คำตอบคือ ร่างใหม่ หากไม่ผ่านอีกก็ร่างใหม่ ร่างใหม่ ร่างใหม่ ร่างใหม่ไปเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอง ปกติรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะไม่มีเขียนเพราะรู้ว่ามาแป๊บเดียวหากจะแก้ให้ไปแก้กันในรัฐธรรมนูญถาวร แต่การให้แก้ในชั่วคราวได้ด้วยหมายความว่าถ้ามีการรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยให้ขยายเวลาทำรัฐธรรมนูญออกไปก็เป็นไปได้ แต่คิดว่าท่านคงไม่ทำ เพราะตามนโยบายอยากคืนความสุขให้กับประเทศน่าจะทำให้ได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 58-59 ตามโรดแมพของท่าน แต่ปัญหาคือ ระหว่างที่กมธ.ยกร่าง ประชาชนวิจารณ์กันเยอะ สภาปฏิรูปโหวตไม่ผ่าน ตกแล้วผลที่ตามมาคือ ร่างใหม่ คนที่ประท้วง ประชาชนก็ต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ57 ต่อไปก่อน ถ้าอย่างนั้นก็ยอมๆ ไปก่อน เหมือนตอนรัฐธรรมนูญ50 “รับๆ ไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังได้”
ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรให้เปิดไปดูมาตรา 35 ว่าด้วยกรอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีอยู่ 10 ข้อลองเปิดดูได้เอง  นศ.ที่เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกับผมจะเห็นว่าผมเน้นเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแล้วนำไปออกข้อสอบอยู่เป็นประจำ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคืออำนาจที่ก่อตั้งตัวรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการกำหนดว่ารัฐรัฐหนึ่งจะเดินหน้าไปในทิศทางแบบใด จะปกครองในระบอบได้ จะมีสถาบันทางการเมืองแบบใด จะประกันสิทธิเสรีภาพอย่างไร ดังนั้น อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในทางทฤษฎีมันจึงเป็นอำนาจที่ไม่มีเงื่อนไข ปราศจากข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะกำหนดประเทศเป็นแบบใดก็ได้ เป็นประชาธิปไตยก็ได้ เป็นเผด็จการก็ได้ แต่การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะตามมาปรากฏว่ามีเงื่อนไขอยู่ตามมาตรา 35 ว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีเนื้อหาตาม 10 ข้อที่กำหนด
มาตรา 35 ระบุว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย (1) (2)….(10) พูดง่ายๆ 10   ขขข้อนี้คือสเป็กของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หมายความว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อจำกัด ไม่ตรงกับทฤษฎี อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการทำรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย เขาจะมีการจำกัดอำนาจสถานปนารัฐธรรมนูญไว้เหมือนกัน ไม่ให้ร่างสะเปะสะปะ เดี๋ยวกลับไปร่างแบบเผด็จการอีกจะยุ่ง ก็เลยมีการเขียนล็อคเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า เวลาทำรัฐธรรมนูญถาวรต้องมีเนื้อหาอย่างน้อยดังต่อไปนี้ อย่างนี้รัฐธรรมนูญ57 ก็เหมือนกันใช่ไหมไม่ได้ต่างจากประเทศประชาธิปไตยอื่นแต่อย่างใด แต่เมื่อลองไปดูในรายละเอียด เราจะเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญ โลกใบนี้หลายรัฐเผด็จการก็จะทำตัวให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าขวาแบบฟาสซิสม์ นาซี ซ้ายแบบคอมมิวนิสต์ โลกมันบังคับให้เป็นเสรีประชาธิปไตยก็พยายามเปลี่ยนผ่านตัวเองเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยโดยผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญนี่แหละ เวลาเปลี่ยนผ่านก็ต้องมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาคั่น ซึ่งตัวนี้จะบอกว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดต้องมีเนื้อหาความเป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างน้อยอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง กัมพูชา ผ่านสงครามกลางเมืองเต็มไปหมด รบกันมานาน สุดท้ายไปสงบศึกจบกันได้ด้วยการเจรจา ไทยมีบทบาทมากในสมัยรัฐบาลชาติชาย ทำหนังสือเอาเขมรสามกลุ่มไปลงนามกันที่ปารีส เรียกว่า Paris Agreement  ซึ่งกำหนดว่าจะต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่แบบเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาและรัฐธรรมนูญจะต้องมีเนื้อหาอย่างน้อยคือ ประกันสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รับรองหลักประชาธิปไตยแบบมีทางเลือก มีความหลากหลาย รับรองความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาล รับรองเรื่องอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชนกัมพูชา แล้วจึงออกมาเป็น รัฐธรรมนูญ1993 ที่กัมพูชาใช้อยู่จนปัจจบันนั่นเอง
หรือรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสที่ใช้จนปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ปี 1958 ในฝรั่งเศสช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้าก็เขียนล็อคเอาไว้ว่า ในการทำรัฐธรรมนูญต่อไปต้องมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ เรื่องอำนาจมหาชนต่างๆ ต้องมาจากการเลือกตั้งแบบทั่วไป เท่าเทียม รับรองสิทธิเสรีภาพตามประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส การแบ่งแยกอำนาจสภาและฝ่ายบริหารออกจากกัน รับรองความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาล ทั้งหลายทั้งปวงเขาล็อคเอาไว้ พอรัฐธรรมนูญ 1958 เกิดขึ้นก็เดินตามที่ล็อคเอาไว้นั่นเอง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แอฟริกาใต้ ประเทศนี้ก็ผ่านสงครามกลางเมืองเกี่ยวกับชาติพันธุ์สีผิว สุดท้ายตกลงกันได้ ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 1993 รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เขียนล็อคสเป็กไว้ว่า รัฐธรรมนูญถาวรที่ตามมาต้องมี 34 หลักการ น่าจะเยอะที่สุดในโลก แต่ 34 เรื่องดังกล่าวเป็นการตอบปัญหาของแอฟริกาใต้ในเวลานั้นคือเรื่องฆ่ากันเองของคนในชาติ จึงต้องรับรองความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา อย่าเลือกปฏิบัติ เขียนเรื่องภาษาด้วยว่าภาษาราชการไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว
แล้วรัฐธรรมนูญไทย ปี 2557 มีปัญหาอะไร ไม่น่าจะแตกต่างเพราะมี 10 หลักการที่ล็อคสเป็กไว้ให้เดินตาม อยู่ในมาตรา 35 แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบปัญหาสำคัญ ปกติแล้วการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย หลักการที่ต้องล็อคเอาไว้ให้เดินตามจะต้องเป็นเรื่อง แบ่งแยกอำนาจ สิทธิเสรีภาพ นิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นอิสระของศาล แต่ของไทยเรามี
1.รับรองว่าไทยต้องเป็นราชอาณาจักร สะท้อนจากประมุขของรัฐ หรือพระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายโลหิต
2.ประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้
3.ต้องเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย คำว่า “ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย” เป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำนี้ในรัฐธรรมนูญ แต่เดิม รัฐธรรมนูญไทยกำหนดเรื่องนี้ไว้โดยใช้คำว่า ประชาธิปไตยเฉยๆ ต่อมาหลังปี 2490  เพิ่มเติมอีกวรรค คือ พระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาหลังปี 2534 เชื่อมต่อสองประโยค ให้เป็น ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และใช้ต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน แต่ปี 57 เติมเข้าไปอีก แต่ปัญหาคือ ไม่รู้ว่าที่เหมาะสมนั้นคืออะไร ถึงที่สุดประชาธิปไตยที่ว่าอาจไม่ได้มาจากเลือกตั้งทั้งหมดก็ได้ เพราะ “เหมาะกับสังคมไทย” สุดแท้แต่ว่า กมธ.ยกร่างจะคิดอย่างไร
4 กลไกตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบต่างๆ ตรวจสอบมิให้คนที่เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริตหรือโดนใบเหลืองใบแดงห้ามเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด คำนูณ สิทธิสมาน วิเคราะห์ข้ามช็อตไปแล้วว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุรเกียรติ เสถียรไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งใน สนช.ไม่ได้เพราะเคยอยู่บ้านเลขที่ 111 , คุณอินทรัตน์ ยอดบางเตย ก็ลาออกจาก สนช.ไปแล้วเพราะเคยอยู่บ้านเลขที่ 109 คุณคำนูณวิเคราะห์ต่อว่า ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนตาม (4) พวกบ้านเลขที่ 111, 109  ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กลับมาเป็นครม.ไม่ได้
5 เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างๆ จะต้องปฏิบัติหน้าที่อิสระ ปราศจากการครอบงำของบุคคลหรือคณะบุคคลใด
6 ต้องมีกลไกขับเคลื่อนระบบสังคมเศรษฐกิจที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน ป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนในระยะยาว ตรงนี้ กกต.เริ่มเสนอแล้วว่าต้องตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อนหาเสียงว่านโยบายของท่านสร้างความนิยมแบบทำให้ชิบหายวายวอดหรือเปล่า
7 มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐอย่างคุ้มค่าในการตอบสนองประโยชน์ส่วนรวม
9 กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ หมายความว่า สมมติกลับเข้าสู่ระบบปกติ นักการเมืองไทยเก่งมาก ไม่ว่าจะดีไซด์ระบบการเลือกตั้งพิเศษแบบไหนนักการเมืองก็ยังชนะอีก เมื่อชนะการเลือกตั้งมาจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเจอคนหน้าเดิม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นไปได้ว่าจากวงเล็บ9 อาจให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดทุกครั้งว่า มันกระทบกระเทือนกับหลักการสำคัญ 10 ข้อของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือเปล่า ฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งเสียงข้างมากในสภา หรือผ่านการประชามติต่างๆ ที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญในหลักการสำคัญที่อยู่ใน (1)-(10) ก็อาจจะแก้ไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ท่านจินตนาการได้เลยว่า มันจะเป็นฉบับที่แก้ไขยาก ฉบับปี 50 รับๆ ไปก่อนแก้ทีหลังจึงแก้ไขไม่ยากมาก ใช้กึ่งหนึ่งของรัฐสภาแก้ได้เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังแก้ไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยิ่งแก้กว่าเดิม เพราะมาตรา 35(9) ล็อคไว้แล้วว่าต้องมีกลไกป้องกันหลักการสำคัญ
ย้อนกลับมาที่มาตรา 38 ที่พูดไว้ หากโหวตกไปก็ร่างใหม่ ไม่เอา ตกไป ร่างใหม่ เอาไหมแบบนี้เพราะจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ57 ต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นว่า อย่าไปยุ่งกับเขาให้เขาทำกันให้เสร็จ ออกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วลุ้นว่าวันหน้า อาจเลือกกันทล่มทลายแล้วเข้าไปแก้ ท่านก็จะแก้ไม่ได้
นี่คือส่วนอนาคต ส่วนของปัจจุบันท่านอาจยอมอดทนกับมันในสถานการณ์พิเศษยกเว้น เพื่อรอรัฐธรรมนูญที่จะมาถึงวันข้างหน้า แล้วท่านก็จะเจอกับรัฐธรรมนูญที่หน้าที่เป็นอย่างไร ไม่ต้องสงสัยเพียงเปิดมาตรา 35 ดู หน้าตามันก็จะเป็นอย่างนั้นเอง นี่คือปัญหาเบื้องต้นที่จะพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 57  

 

บัณฑิต จันโรจนกิจ

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยเฉพาะมาตรา 4 ที่บอกว่า “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ความเป็นมนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้” เวทีวันนี้เราอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อาศัยเสรีภาพทางวิชาการที่พึงจะมี ณ เวลานี้ผู้มีอำนาจไม่ควรห่วงใยพวกเรามากนัก แต่ควรห่วงตัวเองมากกว่า เพราะฐานของรัฐธรรมนูญมันแคบลงเรื่อยๆ ทิศทางของสังคมไทยท่านก็เป็นผู้ตัดสินชะตากรรม พวกเราไม่มีอะไรน่าเป็ห่วง จะเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไร นักวิชาการอย่างพวกเราก็เป็นฝายค้านอยู่เสมอ
ผมคิดถึง 2-3 เรื่องที่เตรียมมา ผมเองเพิ่งเปิดชั้นเรียนวิชากระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งต้องฉีกเอกสารทิ้งบางส่วนเพราะจาก 2 สภาก็เหลือสภาเดียว ต้องทำตำราใหม่ ในเบื้องต้นผมคิดว่าการเกิดของรัฐธรรมนูญก็น่าสนใจ มีไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่กล้าประกาศว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในประการแรก จารีตทางการเมืองในสังคมไทย เราถือกันว่า ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะเรียกว่า ธรรมนูญการปกครอง เราถือขนบนี้มาเรื่อยๆ แต่มีกรณียกเว้นไม่กี่ครั้ง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 มีการรัฐประหารเสร็จก็ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้นาน กว่าจะมีฉบับถาวรก็ 2492 ฉบับอื่นก็มี คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2549 และ ฉบับ 2519 และฉบับปัจจุบัน
มันสะท้อนอะไร ตอนที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม เราคิดว่าจะมีฉบับถาวร จึงทำการเฉลิมฉลองจนคณะราษฎรหมดอำนาจ ในชั้นหลังตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา อะไรที่เราคิดว่าถาวรก็ไม่ถาวรอีกต่อไป  อะไรที่คิดว่าอยู่ยงคงยืนก็ไม่คงยืนเสมอไป มีการเล่นกลกับคำว่า ธรรมนูญการปกครอง แล้วใช้คำว่า รัฐธรรมนูญแทน ตรงนี้มีคำอธิบายว่า ไม่อยากให้คนอึดอัดคับข้องใจกับคำว่าธรรมนูญ ตรงนี้ก็น่าสนใจ เพราะโดยปกติถ้าเราบอกว่าเป็นฉบับชั่วคราวก็จะมีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น ฉบับปี 2520 กำหนดเวลายกร่างไว้ชัดเจนในมาตรา6 ให้สนช.ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและนิติบัญญัติ มาตรา 11 กำหนดว่าต้องเลือกตั้งภายในปี 2521 และหากจำเป็นก็ขยายได้อีก 120 วัน รวมความแล้ว การรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520 หรือ 1 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการรัฐประหารซ้ำตัวเอง ก็ยังระมัดระวังและกำหนดเงื่อนเวลาการใช้อำนาจอย่างจำกัด และกำหนดเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญชัดเจนมา ดังจะเห็นได้ว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มายาวนานฉบับหนึ่ง (2521-2534)
อีกประการหนึ่งคือ เวลาพูดถึงคนที่มาใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญ2557 กำหนดคนที่ทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ จากเดิมเรากำหนดไว้ที่อายุ 35 ปี  สนช.ปี 2515 หรือปี 2549 ก็กำหนดอายุ 35 ปี  แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดว่า สนช.ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนจำนวนของสมาชิกสนช.ก็ลดลงด้วย ปี 2515 มีสนช. 299 คน ปี 2549 มี สนช. 250 คน ฉบับปัจจุบันมี 220 คน แต่ลาออกเพราะขาดคุณสมบัติรวม 3  ท่าน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นฐานที่คับแคบมากขึ้นและโน้มเอียงไปในทางอนุรักษ์นิยมด้วยเหตุที่กำหนดอายุของสนช.เพิ่มมาขึ้น และเป็นฉบับที่รังเกียจพรรคการเมืองอย่างถึงที่สุด ดังเห็นได้จากการกำหนดคุณสมบัติ สนช.ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่เป็นสมาชิกหรือตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมืองภายใน 3 ปีก่อนเป็น สนช. ความรังเกียจนักการเมืองยังสะท้อนในการกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่เรากันนักการเมืองออกจากกระบวนการทางการเมืองมากขนาดนี้
ต้องดูต่อไปอีกว่า การกีดกันนักการเมืองมันหมายถึงอะไร มันสะท้อนในเหตุผล คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ในตอนหนึ่งระบุว่า การตั้งสนช.และสภาปฏิรูป จะต้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและอื่นๆ เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่มีความเหมาะสม วางกติการทางการเมืองให้เหมาะสมรัดกุม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและเป็นธรรม ก่อนจะส่งมอบภารกิจนี้แก่ผู้แทนปวงชนชาวไทยและคณะผู้บริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป ในการดำเนินการดังกล่าวนี้จะให้ความสำคัญแก่หลักพื้นฐานยิ่งกว่าวิธีการในระบอบประชาธิปไตยเพียงประการเดียว .. พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้หรือเปล่า นี่คือการรังเกียจนักการเมืองและพูดอ้อมๆ ว่าไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้หรือไม่
นอกจากนี้เวลาเราพูดถึงการทำงานของ สนช. ในมาตรา 12 วรรค 2 มติของ สนช.จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด อันนี้น่าสนใจมากเพราะปกติแล้วกองทัพทั้งในและนอกประจำการ 105 คนนั้นเกือบ 2 ใน 3 แล้ว และต้องไม่ลืมว่าบรรดาคนที่ท่านตั้งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำที่มีงานประจำมากล้นอยู่แล้ว คำถามคือ เสียง 2 ใน 3 ในการลงมติแต่ละครั้ง อย่างน้อยก็ 130 กว่าคนขึ้นไป ถ้ามีใครเช็คองค์ประชุมอาจจะพบว่าล่มเหมือนกัน อันนี้ลองประเมินดูก่อน
ต้องโน้ตไว้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีเรื่องที่น่าสนใจ เป็นข้อดีเหมือนกัน คือ ในมาตรา 16 สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ตามรัฐมนตรีในเรื่องใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ก็ได้ ในธรรมนูญปี 2502 ไม่ได้ให้อำนาจ สนช.ตั้งกระทู้ได้ ฉบับนี้ถ้าจะให้ใช้ได้มากกว่านี้อาจต้องมีข้อความใดหรือไม่ที่จะระบุถึงการตรวจสอบของ สนช.จะมีมิติอื่นได้ด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเราไม่มีรัฐธรรมนูญปี50 แล้ว แต่พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ50 ยังบังคับใช้อยู่หลายฉบับ องค์กรหลายองค์กรก็ยังทำ น่าชื่นชมว่าเขาเลือกเก็บไว้หลายองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. แต่ไม่รู้ว่าเขาล้ม กสม.ไปแล้วหรือยัง ตรงนี้ก็น่าคิด ในความรังเกียจพรรคการเมืองเหล่านี้ สิ่งที่ สนช. และ คสช. อยากจะทำให้ดีกว่านักการเมืองที่ตัวเองรังเกียจ อาจต้องสำแดงมโนสำนึกบางประการ เช่น หนึ่งในอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดีด้วย และเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติด้วย ท่านเลือกรับเงินเดือนขาเดียว ตำแหน่งเดียว คำถามคือ มโนธรรมสำนึกนี้จะส่งผ่านไปยังคนที่อยู่ใน สนช.หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้สำคัญยิ่งกว่าตัวรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร วันก่อนได้ยินว่า สนช.กำลังคุยกันว่า สนช.อาจไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแบบที่นักการเมืองยื่น ประชาชนจะรับกันได้ไหม ในเมื่อคุณรังเกียจนักการเมืองที่ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทำไมท่านดื้อตาใส ท่านอ้างว่าไม่มีกฎหมาย เมื่อไม่มีกฎหมายก็ให้ใช้ประเพณีการปกครอง มาตราเหล่านี้ไม่ต้องเขียนก็ได้ ยื่นเองก็ได้  
ยิ่งเรารังเกียจนักการเมืองมากเท่าไร สิ่งที่นักการเมืองทำแล้วไม่ถูกต้องท่านต้องไม่ทำ และแสดงมโนธรรมสำนึกสำหรับท่านที่เราเชื่อกันว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง มีความเป็นคนดีมากกว่านักการเมืองที่เรารังเกียจ ดังนั้น น่าจะช่วยกันถามว่าท่านจะยินยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัว
นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ บทเรียนอันหนึ่งที่ผมเป็นห่วงคือ เรื่องระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพูดกระชับพอควรว่าให้เริ่มร่างเมื่อไร แต่บทเรียนที่ผ่านมาก็สะท้อนตัวอย่างที่น่าเป็นห่วง เช่น รัฐธรรมนูญ2502 ที่กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและเป็นสภานิติบัญญัติด้วย สมัยนั้นกว่าท่านจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญกันก็ปี 2504 เสร็จปี 2511 รวมระยะเวลาร่าง 7 ปีเศษและยังไม่ทันที่จะประกาศใช้ พลเอกหลวงสุทธิสารพลกร ประธาน สสร. เสียชีวิตระหว่างที่รัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านสภา ในระหว่างนั้นพระยาศรีพิสารวาจา ก็เสียชีวิตก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก่อน ผมก็เป็นห่วงเพราะอยากให้รัฐธรรมนูญเสร็จโดยเร็ว

คำถาม

นักศึกษา: มาตรา 44   ให้อำนาจมากจะทำอะไรก็ได้ กับมาตรา 4 รับรองสิทธิเสรีภาพ เป็นการเขียนกฎหมายขัดกันหรือไม่ ?
ปิยบุตร : อาจารย์วิษณุ อาจารย์พรเพชรก็พูดตอนแถลงข่าว บอกชัดเจนว่าไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำแบบสมัยจอมพลสฤษดิ์ มาตรา 17 หรอก แต่เขียนเอาไว้ก่อน เชื่อว่าท่านพลเอกประยุทธคงไม่เอาไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ เรามั่นใจท่านแต่เราดูจากตัวอักษร ดูตัวบท เพราะเราดูแบบภววิสัย subjective ไม่ได้แบบ objective ว่าท่านเป็นคนใช้อำนาจอย่างระมัดระวัง คงไม่ประพฤติปฏิบัติไปในทางเผด็จการ ถ้าท่านอ่านทั้งหมด จะเห็นว่ามีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้งในทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด เป็นที่สุดหมายความว่าท่านไปโต้แย้งที่องค์กรไหนเขาก็จะบอกว่ามันเป็นที่สุดแล้ว ไม่ว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ถ้าอ่านมาตรานี้ก็จะย้อนกลับไปเห็นมาตรา 17 สมัยธรรมนูญการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วถ้าคำสั่งต่างๆ มันกระทบกับมาตรา 4 ที่เขียนรับรองไว้จะทำอย่างไร ท่านว่ามาตราไหนใหญ่กว่ากัน ท่านลองดูมาตรา 4 นี่คือวิธีการเขียนกฎหมายสไตล์นักร่างรัฐธรรมนูญ ท่านรับรองสิทธิไว้เยอะมากแต่ก็เว้นสิทธิได้ทั้งหมดภายในมาตราเดียวกัน มาตรา 4 ขึ้นต้นว่า “ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” สมมติไม่มีคำว่าภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เริ่มต้นด้วยคำต่อไปว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค .... ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่เมื่อเติมประโยคนี้เข้ามา “ภายใต้บังคับแห่งบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้” ก็ต้องดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐธรรมนูญนี้มันไปเว้นสิทธิไว้ในมาตราอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมี 47 , 48 อีกที่รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม
บัณฑิต : พอดีเราพูดถึงมาตรา 17 เป็นเรื่องที่น่าคิด ตอนเขาร่างกันในปี 2502 นั้นแม้กระทั่ง ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ อาจารย์สมภพยังเคยพูดทำนองว่า ไม่คิดว่ามาตรา 17 จะออกอิทธิฤทธิ์ได้ขนาดนี้ แล้วท่านคิดว่าระหว่างจอมพลสฤษดิ์ กับจอมพลถนอม ใครใช้มาตรา  17 มากกว่ากัน ถูกต้องแล้ว จอมพลถนอม ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ประหารชีวิตโดยมาตรา 17 รวมแล้ว 5 คน และโดยประกาศของคณะปฏิวัติอีก 6 คน รวมทั้งสิ้น 11 คน แต่ในสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร มีการประหารชีวิตรวมทั้งสิ้น 65 คน จำคุกทั้งสิ้น 113 คน ต้องไม่ลืมว่าจอมพลถนอมนั้นมีการปฏิวัติวันที่ 17 พ.ย.2514 ด้วยแล้วก็การใช้อำนาจตามธรรมนูญการปกครองระหว่างปี 2508-2510 ฉะนั้นจำนวนของผู้ที่ถูกประหารชีวิตภายใต้ธรรมนูญปี 02 รวมถึงการปฏิวัติ 17 พ.ย.2514 มีผู้ถูกประหารชีวิต 65 คน  เรื่องนี้น่าคิด เพราะในภาพลักษณ์จอมพลถนอมเป็นคนธรรมะธรรมโม มีความอ่อนนุ่ม สุภาพ จนบางคนเรียกอาจารย์ถนอม และบางคนถึงขนาดพูดว่าอ่อนยวบยาบเรียก เจ๊หนอม ก็มี ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นบ่งชี้อะไรบางอย่างในมาตรา 17
นักศึกษา : ดูจากรัฐธรรมนูญแล้ว อยากทราบว่า คสช. กับศาลรัฐธรรมนูญใครใหญ่กว่ากัน ?
ปิยบุตร : ตอบว่าใครใหญ่กว่ากันนั้นคงตอบไม่ได้ เพราะที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ บทบาทหน้าที่ก็ต่างกันไป แต่ผมจะชี้ชวนให้ท่านลองดู ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตรวจสอบว่ากฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ในช่วงระหว่างที่ 22 พ.ค.-22 ก.ค.57 คสช.ออกประกาศ คำสั่งเต็มไปหมด หากมีคนต้องการโต้ว่าประกาศคสช.ฉบับหนึ่งซึ่งมีผลเทียบเท่าพระราชบัญญัตินั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ คำตอบที่ตามมา ศาลรัฐธรรมนูญก็จะอ้าง มาตรา 47 เราดูจากมาตรานี้แล้วท่านก็สามารถตอบคำถามได้เอง
ขออีกนิดเดียว เมื่อสักครู่อาจารย์บัณฑิตพูดถึงมาตรา 17 อาจารย์สมภพ โหตระกิตย์ เล่าไว้ว่า พระยาอรรถการีย์นิพนธ์เป็นคนเขียน โดยรับไอเดียมาจากรัฐธรรมนูญ1985 มาตรา 16 แล้วตอนที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม บรรยายตอนแถลงข่าวก็บอกอีกว่า มาตรา 17 นั้นเอามาจากฝรั่งเศสมาตรา 16 แต่จริงๆ แล้วมันไม่เหมือนกัน มาตรา 16 ของฝรั่งเศส กับมาตรา 44 ของไทยตอนนี้ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนที่เหมือนกันคือในสถานการณ์อย่างนี้ เรียกรวมๆ ว่า สถานการณ์จำเป็นแล้วกัน อำนาจจะเข้าไปรวมศูนย์ที่ประธานาธิบดี ของไทยก็รวมศูนย์ที่หัวหน้า คสช. แต่มันแตกต่างกันตรงที่ ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่หัวหน้า คสช.ท่านได้เป็นเพราะ ผมไม่ได้พูดเอง ดูคำปรารภก็ได้ที่ระบุว่า ท่านเข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พ.ค.2557 ข้อแตกต่างอีกประการสำคัญ ศาลฝรั่งเศสได้วางแนวไว้เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าประธานาธิบดีประกาศว่าตัวเองมีอำนาจรวมในมาตรา 16 แล้วต่อมามีการออกประกาศ คำสั่งต่างๆ ศาลจะเข้ามาตรวจสอบประกาศคำสั่งอื่นๆ เหล่านั้นได้ แต่ศาลไม่ตรวจสอบการตัดสินใจรวบอำนาจเข้าตัวเอง มาตรา 16 เป็นเรื่องทางการเมืองทางนโยบาย ศาลไม่ยุ่ง แต่คำสั่งอื่นๆ นั้นฟ้องศาลได้ แต่ของไทย มาตรา 44 ระบุให้คำสั่ง คสช.ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด นั่นหมายความว่า การตรวจสอบการใช้อำนาจของคสช.เป็นไปไม่ได้เลย ในขณะที่ฝรั่งเศสยังตรวจได้อยู่ นอกจากนี้ล่าสุด ฝรั่งเศสก็มีการแก้ไขมาตรา 16 ของเขาแล้วว่าถ้าประธานาธิบดีประกาศรวมศูนย์อำนาจเข้าตัวเองแล้ว ภายใน 2 เดือน ปธน.ต้องชี้แจงที่สภาว่ายังมีสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ต้องใช้ต่อ  แต่ครบ 4 เดือนเมื่อไร องค์กรอื่นๆ เช่น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสจะเข้ามาตรวจสอบว่าตอนนี้เลยสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วหรือไม่ต้องเลิกใช้มาตราดังกล่าวหรือยัง ดังนั้น เวลาจะอ้างว่านำมาจากไหนต้องตามไปดูต้นตอด้วย แล้วจะพบว่ามันไม่เหมือนกัน

รายละเอียดอื่นๆ ติดตามได้ในคลิปวิดีโอด้านบน


คุยกับยอดพล เทพสิทธา : อนาคตการกระจายอำนาจ หลังประกาศ คสช.แช่แข็งการเมืองท้องถิ่น


ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
หลังจากที่มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 85/2557 และ 86/2557 เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ขึ้นทดแทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระลง โดยกำหนดให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา และกำหนดให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่นใดที่เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดให้สิ้นสุดสภาพลง (อ่านรายละเอียด : ประกาศ คสช. งดเลือกตั้งสภาท้องถิ่น-ให้ใช้วิธีสรรหา-ผู้บริหารให้ปลัดทำแทน)
ประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการที่ศึกษาการเมืองการปกครองและกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงผลกระทบต่อระบบการเมือง การปกครองท้องถิ่น และมุมมองต่ออนาคตของการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาธิปไตยของส่วนท้องถิ่นหลังมีประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับ
0000
ประชาไท : จากประกาศ คสช. ที่ระงับการเลือกตั้งในการเมืองท้องถิ่นต่างๆ จะมีผลต่อพัฒนาการทางการเมืองและการกระจายอำนาจ หรือไม่อย่างไร?
ดร.ยอดพล : ประกาศนี้เป็นการยกเลิกการเลือกตั้งสมาชิกที่กำลังจะพ้นวาระ และให้แต่งตั้งเข้าไปเป็นสมาชิกในสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแทน โดยตามประกาศมีการกำหนดคุณสมบัติไว้ เช่น กรณีข้าราชการต้องอยู่ในระดับ C8 หรือเทียบเท่า อีกกรณีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีขึ้นไป การศึกษาขั้นต่ำจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ประกาศดังกล่าวมันระงับพัฒนาการท้องถิ่นแน่นอน เนื่องจากประกาศยังไม่ชัดเจน ว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นจะต้องอยู่ในวาระนานเท่าใด โดยถ้าหากยึดตาม พ.ร.บ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะกำหนดวาระการทำงานของผู้บริหารและสมาชิก 4 ปี แต่การแต่งตั้งนั้นไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน สมมติหมดวาระภายในสิ้นปีนี้ แต่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เท่ากับว่าคนที่จะได้รับแต่งตั้งจะต้องอยู่ไปอีก 4 ปี หากใช้ตาม พ.ร.บ.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาก็คือผู้บริหารหรือสมาชิกสภา อปท. ที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วสถานะของเขาจะหมดวาระไปด้วยกฏหมายฉบับไหน แลพการมีผู้แทนท้องถิ่นที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นจะมาด้วย วิธีการใด  ดังนั้นพัฒนาการของ อปท. จึงไม่มีแน่นอน
รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มาตรา66 และ 67 มีการเขียนถึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน คือโครงการที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ของคนในท้องถิ่น หรือกระบวนการที่มีก่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็น แต่กรณี รธน. ฉบับชั่วคราว กลับไม่มีกระบวนนี้  อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวถูกกำหนดไว้ใน รธน. 50 แต่ฏ้ไม่ได้มีการกำหนดในกฏหมายลูก ดังนั้นหลังจากยกเลิก รธน. 50 ไปปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะ สมมติกรณีในท้องถิ่นมีโครงการที่จะเกิดขึ้น ก็จะหมายความว่าเป็นเอกสิทธิ์ของผู้แทนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งสามารถดำเนินการได้เลย หรือในกรณีท้องถิ่นที่มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่น กรณีศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตของท้องถิ่น ในจังหวัดอุดรธานีกรณีเหมืองแร่โปแตช หากมีการแต่งตั้งผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่น ก็สามารถออกใบอนุญาตใหม่ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพราะตัวรัฐธรรมนูญ 50 ถูกตัดไปแล้ว ถึงแม้ชาวบ้านจะออกมาคัดค้าน ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดผลต่อทางกฎหมาย เพราะตัว รธน. ถูกตัดออกไปแล้ว
พัฒนาการท้องถิ่นมีผลกระทบแน่นอน เช่น การเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่น ต้องมีการปราศรัยหาเสียง และมีกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย เพราะฉะนั้นต้องมีการปราศรัยหาเสียงเพื่อนำเสนอนโยบาย ซึ่งการเมืองท้องถิ่นค่อนข้างสวิงตลอด   แต่ประกาศ คสช. ฉบับนี้ตัดการเลือกตั้ง ทำให้เป็นการวางฐานกลุ่มข้าราชการ กลุ่มพ่อค้าพานิชย์ในแต่ละท้องถิ่นที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมท้องถิ่นหรือภารกิจ ซึ่งกิจกรรมต่างๆของ อปท.
โดยที่ชาวบ้าน เดิมที่ผู้ที่เข้ามาเป็นผู้แทนท้องถิ่นไม่ถูกจำกัดการศึกษาขั้นต่ำไว้ เมื่อมีประกาศ คสช. ทำให้มีตัดคนพวกนี้ออกไปเพราะมีการจำกัดวุฒิการศึกษา เช่น สมมติผู้ใหญ่บ้านมีอยากเปลี่ยนสถานะจากที่เป็นตัวแทนของส่วนกลาง ในฐานะองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค จะมาเล่นการเมืองในท้องถิ่น แต่ไม่มีคุณสมบัติการศึกษาในระดับที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช. ทำให้ไม่มีโอกาสในการถูกแต่งตั้ง และยังไม่รู้ทิศทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างไร เพราะเราไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย มันกลายเป็นการตัดคนธรรมดาออกไป คือเรารู้กันอยู่แล้วว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่อยู่อาศัยในท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองระดับท้องถิ่น  ในการประกาศ คสช. นี้ ออกมาทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมดเลย เพราะเอาแต่ข้าราชการ
วัตถุประสงค์ของการมีการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหนีระบบข้าราชการส่วนภูมิภาค เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แม้กระทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วัตถุประสงค์ในการกระจายอำนาจหรือการปกครองส่วนท้งถิ่นมันต้องการให้ภารกิจหรือการตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นมันเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปได้อย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีแนวคิดการกระจายอำนาจ ทุกอย่างจะขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดหมด ไม่ว่าจะขอเสาไฟฟ้า โครงการสร้างถนนลาดยาง ถนนลูกรัง ถนนคอนกรีต ทุกอย่างต้องอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะทำเรื่องเป็นขั้นตอนไปเพื่อเสนอกระทรวงมหาดไทยที่จะผันงบประมาณลงมา แต่การกระจายอำนาจไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นการที่ชาวบ้านหรือผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นไปแสดงความจำนงต่อองค์การปกครองท้องถิ่น เมื่อ อปท. ผ่านการพิจารณามีอำนาจหน้าที่ มีเงินและสามารถทำได้ก็สามารถทำได้ทันที เป็นการกระจายเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น แต่ประกาศของ คสช. ที่ออกมายังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะตอบสนองของใคร
เวลาที่บอกว่าตัวผู้ที่เข้าสู่อำนาจการปกครองท้องถิ่นมันสวิงขั้วได้ แต่เหมือนว่าไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องการเมืองท้องถิ่น เพราะเขายังเข้าใจว่าเป็นระบบเครือญาติ ระบบผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จึงมีผู้สนับสนุนว่าควรแช่แข็งมันไปก่อนเพื่อที่จะหยุดยั้งระบบการเมืองท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับระบบการเมืองหรือไม่?
มีผู้ที่มองว่าการแช่แข็งการเมืองท้องถิ่นเป็นการล้างอิทธิพลของ อปท. ที่ใช้ระบบผูกขาด ซึ่งความจริงแล้วมี 2 ด้าน ลักษณะที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องถิ่นเดิมที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมีการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว และอยู่จนอายุครบ 60 ปี โดยไม่มีวาระกำหนด ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 60 ปีแล้วจนไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้อีก จึงข้ามไปเล่นการเมืองท้องถิ่น โดยการดันคนในครอบครัวขึ้นมาแทน เช่น ในพื้นที่จังหวัดตราด กำนันอายุใกล้ครบ 60 ปี แล้วดันลูกชายขึ้นมาเป็นกำนันแทน เพื่อที่จะสืบทอดตำแหน่ง โดยที่ตัวเองข้ามไปเล่นการเมื่องใน อปท. แทน ถือเป็นระบบการเมืองเครือญาติ แต่ความจริงก็ไม่ได้มีหลักประกันที่ลูกกำนันคนนั้นจะได้รับเลือกจากผู้ใหญ่บ้านหรือเปล่า เพราะผู้ใหญ่บ้านรายอื่นก็อยากขึ้นรับตำแหน่งกำนันเช่นกัน 
ลักษณะที่ 2 เป็นลักษณะของการสวิงขั้ว คือ ลักษณะการเมืองท้องถิ่นจะไปขั้วไหนก็ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางนโยบายและผลงานที่ผ่านมา เช่นเดียวกับงานศึกษาของ แคทเธอรีน บาววี่ ที่ศึกษาการเลือกตั้งของไทยพบว่าคนไม่ได้เลือกเพราะเป็นคนในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านดูว่าใครที่จะมีข้อเสนอที่ดีกว่าให้กับชาวบ้าน
ดังนั้นจึงมี 2 ลักษณะที่มีทั้งระบบครอบครัว แต่ก็มีลักษณะของการสวิงเหมือนกัน ไม่มีการผูกขาดในการเมืองท้องถิ่น แต่ขั้วการเมืองมีการสลับสับเปลี่ยน 
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการเมืองท้องถิ่นคือการเป็นเรื่องของอำนาจต่อรองระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาชนในท้องที่ เช่น ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ตามภูมิภาค นักศึกษาปี 1 จะต้องถูกบังคับให้อยู่หาพักของมหาวิทยาลัยโดยการย้ายทะเบียนบ้าน เพื่อมาอยู่มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดอำนาจต่อรอจากนักศึกษาหลายพันคน สามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจริงๆแล้วนักศึกษาที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นจะมีเจตจำนงอิสระหรือเป็นเพียงเครื่องมือของระบบข้าราชการหรืออุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยใช้ต่อรองกับ อปท.
ประกาศ คสช. ดังกล่าว ตอนนี้ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่ในปัจจุบันนอกจากการเมืองในท้องถิ่นจะหยุดชงักแล้ว ทุกกิจกรรมใน อปท. ก็หยุดชงักเช่นกัน เช่น มีเมื่อมีโครงการสักอย่างในท้องถิ่นแต่ชุดที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาไม่เห็นด้วยก็สามารถยกเลิกโครงการได้
อีกทั้งส่วนภูมิภาคอย่าง ผู้ว่าราชการ หรือนายอำเภอ ยังมีอิทธิพลต่อ อปท. แต่หากตอบตามตัวบทกฏหมายนั้นถือว่าไม่มีอิทธิพล เพราะตามกฏหมายนั้น ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจอะไร เป็นเพียงประชาสัมพันธ์ เป็นโฆษกกระจายข่าวจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น กลับอีกอย่างคือในกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ว่าฯ เป็นเพียงคนจัดการกระบวนการถอดถอน เช่น กระบวนการลงคะแนนถอดถอน แต่ไม่ได้เป็นคนชี้ขาด
จากที่เคยกระจายอำนาจในปี 40 เป็นต้นมา กระจายทั้งอำนาจ โอกาส ทรัพยากร แต่เมื่อมีประกาศ คสช. ดังกล่าว ทุกอย่างกลับไปสู่ผู้ว่าฯ เช่น คณะกรรมการที่เลือกตำแหน่งใน อปท. มีข้าราชการประจำจังหวัด เป็นข้าราชการจากส่วนกลางที่ส่งมาดูในส่วนภูมิภาค และยังล็อคคุณสมบัติให้เป็นข้าราชการอีก จึงเป็นไปได้ว่าผู้ว่าฯ จะแต่งตั้ง ผอ.สำนักใดสำนักหนึ่งในจังหวัดไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันของ อปท. ที่กำลังจะหมดวาระภายในปีนี้จะมีไม่กี่แห่ง แต่เราก็ไม่มีหลักประกันว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อไหร่ อีกทั้งหากมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศใช้แล้วสถานะของบุคคลที่ถูกแต่งตั้งมาแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วย
อปท. เน้นการปกครองที่ฟังเสียงของคนในท้องถิ่น หากมองในภาพรวมทำให้มี “รอยต่อ” มากขึ้น บางคนอาจมองว่าในการบริหารงานรัฐหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมันควรจะไร้รอยต่อ ทำแบบบูรณาการ การสั่งการจากส่วนกลางเมกะโปรเจคต่างๆ ได้ง่าย เช่น กรณีจัดการแม่น้ำ หากท้องถิ่นหนึ่งอยู่ปลายน้ำ ขณะที่ท้องถิ่นหนึ่งอยู่ต้นน้ำ ความเห็นของคน 2 ท้องถิ่นอาจไม่ตรงกันในการสร้างเขื่อน อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกันและความยากลำบากในหารบริหารงานของรัฐหรือไม่ จากการที่เน้นการฟังความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นเป็นหลักในการบริหารงาน?
หากจะมองเช่นนั้นก็สามารถมองได้ แต่เราต้องมองอีกแง่หนึ่งที่ยังไปไม่ถึงกัน หากส่วนกลางสั่งการนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องเวลาที่เสียไป เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำที่ล้มไปเพราะขาดกระบวนการตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 สิ่งที่เราได้เห็นคือคนในพื้นที่เมื่อได้เห็นโครงการเกิดการรวมตัวขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการอยู่ใน อปท. ใด อปท. หนึ่ง ทำให้เกิดการทบทวนเกิดขึ้น
แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้ก็ไม่ได้เร็วกว่าการสั่งการจากส่วนกลาง เพราะเมื่อมีโครงการจากรัฐบาลลงมาในท้องถิ่นก็จะเกิดการชั่งประโยชน์กัน เพราะมีคนที่ได้ประโยชน์และคนที่เสียประโยชน์ หากพูดตามทฤษฎี ผลประโยชน์ระดับชาตินั้นสูงกว่าผลประโยชน์ท้องถิ่นอยู่แล้ว หากรัฐบาลจะทำเลยก็สามารถทำได้ ทำให้ท้องถิ่นแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย หากฟันธงออกมาแล้วว่าจะทำ แต่ท้องถิ่นก็ยังมีกระบวนการที่จะตรวจสอบได้อยู่
ส่วนเรื่องไร้รอยต่อนั้น เป็นไปไม่ได้ที่การบริหารรัฐจะไร้รอยต่อ มันต้องมีรอยต่อควมคิดเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันความเห็นก็ยังไม่เหมือนกัน
แต่ในกฏหมายท้องถิ่นมันมีสิ่งที่เรียกว่า “สหการ” ขึ้น สิ่งนี้ในยุโรปที่มีการกระจายอำนาจประสบความสำเร็จอย่างดี เทศบาลในยุโรปถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริการสาธารณะแทบจะทั้งหมด โครงการทุกอย่างจะออกจากเทศบาลเป็นหลัก โดยจะมีปัญหาเรื่องรอยต่อระหว่างเทศบาล จึงมีการสร้างความร่วมมือกันระหว่างเทศบาลในบางกิจกรรม โดยจัดตั้งเป็นสหการ เช่น การขนส่ง เป็นต้น โดยอาจให้เทศบาลหรือ อปท. สักแห่งเป็นฐานในการบริการเรื่องดังกล่าว แต่ของไทยนั้นยังไม่มี กระบวนการดังกล่าวจะลดความขัดแย้งได้และโครงการสามารถรองรับความต้องการของคนในท้องถิ่นได้มากกว่า
ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับไปที่ส่วนกลางที่ฟันลงมาแล้วต้องทำอย่างเดียว เช่น โครงการจัดการน้ำ หาก อปท. 3 ที่ได้ประโยชน์ 100% ขณะที่อีก 2 แห่ง เสียประโยชน์ 70% ก็ต้องทำตามคำสั่งส่วนกลาง เป็นระบบเก่าก่อนปี 2540 จึงไม่มีการทำแผนคัดค้านแต่อย่างใด เพราะเป็นในลักษณะของ ‘คำสั่ง’ แต่การกระจายอำนาจมันเป็นเรื่องของ ‘การรับฟังความเห็นและหารือกัน’ นี่คือสิ่งที่แตกต่างกัน
การกระจายอำนาจนั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “Local Democracy” หรือประชาธิปไตยในท้องถิ่น แต่หากเป็นระบบเดิมเป็น “Hierarchy” สายบังคับบัญชา ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีรอยต่อ แต่สิ่งที่สำคัญคือเมื่อมันเป็นรอยแล้วมันต่อกันได้ไหม หรือมันกลายเป็นรอยร้าว ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ
จะมีแนวคิดเรื่องข้าราชการทั้งการศึกษาและสาธารณะสุข อนามัยที่กระจายตามท้องถิ่นต่างๆ จะมองว่าการกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครงส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ข้าราชการเหล่านั้นจบถึงปริญญาตรี ไปให้คนจบ ป. 4 ที่เป็น อบต. มาปกครองหรือบริหารได้อย่างไร?
มันเป็นมายาคติ ถึงแม้ผู้แทนท้องถิ่นจะมีไม่ได้เรียนจบการศึกษาขั้นต่ำ กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้เสนอนโยบายหรือควบคุมนโยบาย แต่ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงาน คนจบปริญญาตรีด้านสาธารณสุข แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ เป็นผู้ที่อยู่ในระดับปฏิบัติงานที่สนองนโยบาย แต่ไม่ใช่ผู้กำหนดหรือตรวจสอบนโยบาย
ประเทศไทยติดกับภาพคนที่เรียนสูงจะเก่งหรือมีความคิดที่ดีกว่าคนที่การศึกษาต่ำกว่า แม้จะมีในหลายกรณีที่ถูกต้อง แต่มองในมุมกลับกันเมื่อวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจก็คือการตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น  
มองอย่างไรกับกรณีที่มีคนเห็นว่า ก่อนที่จะมีการกระจายอำนาจนั้น ในท้องถิ่นหรือหมู่บ้านไม่มีการเลือกตั้งก็อยู่กันด้วยดี แต่เมื่อมีการเลือกตั้งกลับเกิดการแบ่งเป็นฝั่งฝ่าย ไม่ยอมให้กัน เกิดการขัดแย้งกันในท้องถิ่นมากขึ้น?
สังคมมีความเป็นพลวัต จะไปสต๊าฟชาวบ้านไม่ได้ จริงๆชาวบ้านก็รู้ตัวว่าต้องการมีถนนใช้ มีโทรศัพท์ มีทีวี ไฟฟ้าที่เข้าถึงหมู่บ้าน ภาพที่ชาวบ้านมาประชุมที่ศาลวัด ทำแกงหม้อใหญ่กินกันก็เป็นมายาคติที่ว่าเมื่อก่อนนั้นสังคมอุดมไปด้วยความสามัคคีสันติสุข ทั้งที่ความขัดแย้งมันมีอยู่ในทุกสังคม เพียงแต่มันแสดงออกมาแค่ไหน เช่น เมื่อก่อนมีการคุยกันว่าทุกบ้านไม่ว่าขัดแย้งกันอย่างไรก็มาร่วมทำบุญที่วัดนั้น สุดท้ายวัดกลายเป็นตัวประสานผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอยู่ดี ส่วนการเลือกตั้งมันไปทำให้ภาพของความต้องการชัดขึ้น เช่น ในพื้นที่ จ.อุดรธานีกรณีเหมืองโปแตซ ซึ่งจะมีชาวบ้านบางส่วนที่ปักธงเขียวและมีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้ปักธง ซึ่งคือกลุ่มที่สนับนุนและคัดค้านทำเหมืองแร่ แม้จะไม่ขัดแย่งกันจนอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่ก็ขัดแย้งกันเป็นประเด็นๆไป
การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้คนเกลียดกัน แต่เป็นการแสดงเจตจำนงค์ถึงความต้องการออกมา เนื่องการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จากคน 2 กลุ่ม หรือมากกว่านั้น แสดงให้เห็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคืออะไร ไม่ใช่สังคมในอดีตที่มีอะไรก็ไปที่วัดแล้วให้หลวงพ่อเป็นผู้ตัดสิน ทุกคนก็เชื่อ แต่ถ้าหลวงพ่อมรณภาพไปแล้วพระหนุ่มๆขึ้นมาจะยุติความขัดแย้งได้หรือไม่ และพระก็กลายเป็นนักการเมืองเอง เพียงแต่จะให้ใครเป็นคนกำหนดผลของมัน
ความต่างระหว่างระหว่างการปกครองท้องถิ่นในรัฐเดียวกับรัฐรวม?
มีความแตกต่างแน่นอน ในรัฐรวมพวกสหพันธรัฐ เช่น มาเลเซีย เยอรมัน สหรัฐ การกระจายอำนาจค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ผู้ว่าการรัฐสามารถออกกฏหมายเองได้ มีธรรมนูญของมลรัฐได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐรวมจะเกิดในรัฐเดี่ยวไม่ได้ ตัวอย่างในยุโรปภาคพื้นอื่น เช่น สเปนหรืออิตาลี ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ค่อนข้างชัดในแต่ละท้องถิ่นหรือแคว้นสามารถกำหนดนโยบายออกกฏหมายใช้เองได้เลยตราบเท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหลักของรัฐ
มันอยู่ที่รูปแบบโครงสร้างมากกว่า ว่าเรายินยอมให้มีการกระจายอำนาจมากน้อยเพียงใด ย้อนกลับมาดูของประเทศไทย กระจายอำนาจค่อนข้างดี โมเดลที่ถูกออกแบบมาถือว่าดี มีระบบการควบคุมตรวจสอบตัวแทนท้องถิ่น เช่น การถอดถอน ซึ่งหลายประเทศในยุโรปไม่มี มีการกระจายการจัดกิจกรรมการบริการสาธารณให้ท้องถิ่นค่อนข้างเยอะ แม้แต่ภาษีอย่างค่าทำเนียมโรงฆ่าสัตว์ ค่าทำเนียมการออกใบอนุญาตเก็บรังนกนางแอน เราก็มี ถือว่าก้าวหน้าพอสมควร นี่เป็นพูดถึงในแง่ของกฎหมาย
แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อิทธิพลหรือความสำคัญในท้องถิ่นไม่ได้อยู่ที่ อปท. เวลามีปัญหาในจังหวัดชาวบ้านมักนึกถึงผู้ว่าฯ ก่อน ทำให้ผู้ว่ามีบารมีมากในจังหวัด ทั้งที่ตามกฎหมายผู้ว่าเป็นแค่ประชาสัมพันธ์ของจังหวัด เป็นแค่คนจัดการงานบางอย่างเท่านั้นเอง ดังนั้นของไทยการปกครองท้องถิ่นออกแบบโครงสร้างไว้ดี แต่ในหลักความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างที่ออกแบบ
มีเรื่องจังหวัดจัดการตนเองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการกันเอง โมเดลเหมือนเป็นการแยกการบริหารจังหวัดออกมา ทำให้จังหวัดมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงขอแค่ อบจ. สามารถจัดกิจกรรมของท้องถิ่นได้ ตามที่ พ.ร.บ แผนการกระจายอำนาจกำหนดไว้ก็พอ แต่เหตุที่มาร่างใหม่เป็นการจัดโครงสร้างใหม่ เช่น ในจังหวัดจะมี อปท. ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันประเภทใดบ้าง สมมติไม่มี อบต. อาจจะมีการรวมตัวกันเป็นเทศบาล โดยการรวมหลายตำบลเข้ามา และให้จังหวัดบริหารกันเองโดยให้มีอิสระในการบริหารที่ไม่ขึ้นต่อส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค
ถ้าโครงการจังหวัดจัดการกันเองสำเร็จ อิทธิพลของการปกครองส่วนภูมิภาคจะลดลง นั่นหมายความว่า แพทย์ประจำจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด เกษตรจังหวัด ฯลฯ บทบาทจะลดลงในทันที เท่ากับว่าจะต้องปฏิรูปโครงสร้างข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยกันหมด ทำให้เห็นว่ามีการคัดค้านค่อนข้างรุนแรงในการกระจายอำนาจในลักษณะของจังหวัดจัดการตนเอง แม้ว่าจะผลักดันขนาดได้ ก็ตอบได้ว่ากระทรวงมหาดไทยก็ไม่ปล่อยแน่ๆอยู่แล้ว
ก่อนหน้าปี 2549 มีการพูดถึงการกระจายอำนาจกันมาก แต่หลังรัฐประหารปี 2549 กระแสในกาารพูดถึงการกระจายอำนาจเงียบไป มันเกิดอะไรขึ้น?
แวดวงในการพูดถึงการกระจายอำนาจถูกจำกัดวง ก่อนปี 2549 ประเทศไทยมีการตื่นตัว เพราะ รธน.ปี 40 เกิดจากการปฏิรูปทางการเมือง ที่มีการเรียกร้องในปี 2535 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรกเนื่องจากมันเป็นเรื่องใหม่ก็เลยฮิตกัน และรูปแบบโครงสร้างที่บัญญัติไว้ในกฏหมายถือว่าค่อนข้างดี แต่ปัญหามันอยู่ในการปฏิบัติจริง
เนื่องจากหลังปี 2549 บริบทตอนนั้นเกิดการรัฐประหาร การพูดถึงการกระจายอำนาจไม่ได้หายไปแต่ถูกจำกัดอยู่ในวงของผู้ที่สนใจมากกว่า เช่น จังหวัดปกครองตนเอง แม้จะมีการพูดกันมานาน แต่ก็เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาขยายในวงกว้างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในภาพย่อยนั้นหากลงไปในพื้นที่ของ อปท. มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาก่าวถึง เช่น การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการยื่นโดยประชาชนเกิดขึ้นในหลายกรณี แต่การพูดถึงก็จะอยู่ในแวดวงของคนที่สนใจ
นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ก็ให้ความสนใจการเมืองในระดับชาติมากกว่า เพราะหลังปี 2549 มองว่าเป็นการสู้กันระหว่าง 2 ขั้วหรือมากกว่า 2 ขั้ว ทางการเมือง เช่น การศึกษาว่ากลุ่มเสื้อแดงเป็นใคร คนเสื้อเหลืองมาจากไหน หรือวิกฤตปี 53 เกิดจากอะไร ฯลฯ
แต่ความจริงแล้วทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงกันหมด ในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีโครงการที่ลดบทบาท อปท. ลง เช่น โครงการธนาคารหมู่บ้าน ให้เป็นหน้าที่การดูแลของการปกครองส่วนภูมิภาคนการเข้ามากำกับดูแล แต่ไม่ใช่ว่าทุกโครงการของทักษิณจะเป็นการลดอำนาจ อปท. หมด เช่น โครงการ OTOP แม้คณะกรรมการจะเป็นผู้ว่าฯ กาชาดจังหวัด ฯลฯ แต่ในการขับเคลื่อนยังเป็นของ อปท. ดังนั้นจะเห็นว่ามี 2 ด้านเสมอ แต่หลายโครงการของทักษิณเป็นการลดบทบาท อปท. หลังรัฐประหารปี 2549 หลายโครงการของรัฐบาลทักษิณยังดำเนินอยู่และหลายโครงการไปหายไป
การปกครองส่วนท้องถิ่นเลยกลายเป็นแค่ประเด็นเล็กๆ ในส่วนของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ซึ่งจริงๆแล้วส่วนของท้องถิ่นไม่ควรไปอยู่ในจุดเล็กๆ แต่มันควรจะเป็นจุดที่เป็นฐานมากกว่าของการปฏิรูปการเมือง ท้องถิ่นเป็นโรงเรียฝึกหัดประชาธิปไตย จะเห็นความสำคัญของ อปท. แต่เรากลับมักมองการเมืองระดับชาติเป็นโจทย์ตั้งแล้วมองว่าอิทธิพลของการเมืองระดับชาติมันแผ่ไปถึงการเมืองท้องถิ่น จึงกลายเป็นหัวคะแนนของการเมืองระดับชาติ ทำให้เราไม่ได้มองไปไกลถึงว่าคนในท้องถิ่นมองการพัฒนาในท้องถิ่น ไม่ได้มองเรื่องของการปฏิรูประดับชาติ เพราะอย่างไรก็มีกลไกการตรวจสอบอยู่แล้ว
หากมองในมุมของรัฐ คนที่เข้ามายึดอำนาจอาจมองด้วยเจตนาให้ประเทศไทยสงบ ก็อาจมองว่าสภาพการณ์ที่ผ่านมา 10 ปี การเมืองท้องถิ่นอาจเป็นตัวสะท้อนจากการที่คนตื่นตัวทาการเมือง ทำให้ตัว อปท. กลายเป็นตัวสะท้อนขั้วขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย เขาถึงได้แช่แข็งการเมืองท้องถิ่นไปก่อนได้หรือไม่?
เราปฎิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นมีการเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ เช่น กรณีภาคเหนือ การเมืองท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย แต่ที่เชียงใหม่กลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่แตกออกมาจากพรรคเพื่อไทยก็มีหลายกลุ่ม  สุดท้ายแล้วชาวบ้านในท้องถิ่นก็จะเลือกบุคคลที่ตอบสนองความต้องการให้กับพวกเขา
หากไปดูกฏหมายในต่างประเทศ อย่างในฝรั่งเศส การได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของท้องถิ่น อย่างนี้เราจะพูดได้ไหมว่าการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเมื่อพูดถึงการเมืองก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าเครือข่ายกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการตรวจสอบนั้นทำได้เท่าไหนนั่นสำคัญกว่า
การที่จะแช่แข็งการเมืองท้องถิ่นเพื่อให้มีผลในการปฏิรูปการเมืองระดับชาติ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ผิด เพราะแยกปัญหาไม่ออก เรามี ส.ส. ก็ต้องถูกเลือกจากประชาชนในท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมโยงกัการเมืองระดับชาติ เช่น บรรหาร ศิลปอาชา เป็นตัวอย่างของนักการเมืองระดับชาติที่พัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดสุพรรณบุรีผ่านการดึงงบจากส่วนกลางลงไปพัฒนา จึงปฏิเสธไม่ได้ที่การเมืองระดับชาติจะสัมพันธ์กับการเมืองระดับท้องถิ่น ความคิดที่จะแช่แข็งการเมืองระดับท้องถิ่นจึงเป็นความคิดที่ผิดที่หลงทางจนหาทางออกไม่เจอ
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ได้มีการบริหารท้องถิ่นเป็นแบบเอกเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ การมองว่าการเมืองท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติทางการเมืองเกิดขึ้นมา เป็นการมองปัญหาที่ผิด
อาจมองว่าการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ของไทยมาพร้อมกับความพยายามที่จะผนวกเอาท้องถิ่นหรืออาณาจักรต่างๆ มาสู่กรุงเทพฯ และการวางรากฐานระบบราชการตั้งแต่สมัย ร. 5 จึงเป็นที่มาของความคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นพัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นจะมีผลต่อความมั่นคงตามความคิดเรื่อความมั่นคงแบบนั้นหรือไม่?
หากกระทรวงมหาดไทยตอบก็จะมองว่าการกระจายอำนาจมีผลกับความมั่นคงของประเทศจากการที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราตอบในฐานที่เราเชื่อมั่นในการแสดงออกของประชาชน ก็จะตอบได้ว่าการกระจายอำนาจไม่เกี่ยวอะไรกับความมั่นคง แต่มันเป็นลักษณะของการกระจายกิจกรรมที่รัฐเคยผูกขาดไปให้แก่คนในท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง คำว่าการจายอำนาจก็คือกระจายการตัดสินใจ จึงไม่เกี่ยวกับความมั่นคง  
กรณีจังหวัดจัดการตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ไปกระทบความมั่นคงหรือไม่ สำหรับตนคิดว่าไม่เลย เพราะสุดท้ายอยู่ภายใต้ความเป็นยูนิตี้ของรัฐอยู่ เราไม่มีกฏหมายเรื่อง “self determination” (การปกครองตนเอง) ถึงแม้เราจะเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่หากมีกรณี self determination เราต้องจัดให้มีการลงประชามติอย่างกรณีของยูเครน แต่เราไม่เคยมี
การออกกฏหมายเรื่องจังหวัดจัดการตนเองนั้นสุดท้ายก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากศาลฯเห็นว่าจะไปกระทบหลักการเรื่องเอกภาพของดินแดน กฏหมายนั้นก็ตกไป ก็กลับไปแก้กันใหม่เพื่อไม่ให้กระทบ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการยืดหยุนกัน แต่ไม่ใช่การกีดกัน เรามีค่ายทหาร มีตำรวจ มีข้าราชการส่วนภูมิภาคจำนวนมาก คนกลุ่มเล็กๆที่จะไปขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองจะไปกระทบต่อความมั่นคงได้อย่างไร
หากมีการกระจายอำนาจได้ดีเท่ากับว่าส่วนกลางก็จะลดบทบาทลงทั้งกิจกรรมและงบประมาณ เนื่องจากต้องกระจายกลับมาสู่ท้องถิ่น โอกาสในการทำรัฐประหารจะลดลงด้วยหรือไม่?
มองว่าโอกาสของการรัฐประหารเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัจจัยในการทำรัฐประหารมีเพียงปัจจัยเดียวคือทหาร เพราะตำรวจที่ง่อยเปลี้ยเสียขาขนาดนี้คงไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ ปัจจัยการทำรัฐประหารเป็นปัจจัยของการเมืองระดับชาติจากการที่เราไม่กล้าที่จะปฏิรูปกองทัพ ทุกวันนี้เราบอกว่ากองทัพต้องเป็นกองทัพอาชีพ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ที่อยู่ในกองทัพแค่มีอาชีพเป็นทหาร แต่ไม่ได้เป็นกองทัพอาชีพ อยากรัฐประหารก็มายึดอำนาจรัฐบาล
การกระจายอำนาจค่อนข้างไม่เกี่ยวกับปัจจัยในการทำรัฐประหาร แต่ถึงที่สุดแล้วก็มีผลหากกระจายอำนาจแบบเด็ดขาด ข้ออ้างในการทำรัฐประหารก็น่าจะลดลง แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ‘ข้ออ้าง’ ในการทำรัฐประหาร เพราะฉะนั้นก็สามารถเหตุผลอะไรก็ได้ เช่น เกิดภัยพิบัติรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ ทหารก็สามารถนำมาอ้างว่าเพื่อออกมายึดอำนาจได้
อุปสรรคของการกระจายอำนาจหรือพัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่นในสังคมไทยคืออะไร อย่างกรณีประกาศ คสช. 2 ฉบับดังกล่าวที่กระทบต่อท้องถิ่นโดยตรงก็ยังดูไม่มีพลังของท้องถิ่นที่จะมาต่อต้าน?
ตอนนี้เราไม่มีพลังในการต่อต้านอยู่แล้ว เรามีประกาศที่กำหนดห้ามกรชุมนุม แต่มีการแช่แข็ง อปท. ซึ่งมีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย
ส่วนคำถามที่ว่าอุปสรรคของพัฒนาการการปกครองท้องถิ่นคืออะไร คำตอบคือรัฐข้าราชการแบบคลาสสิค คือรัฐจะต้องเป็นผู้ริเริ่มเท่านั้น ประชาชนคือผู้อยู่ใต้ปกครองที่รอคอยคำสั่งและรอคอยสิ่งที่รัฐหยืบยื่นให้ เช่น แนวคิด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่มีแนวคิดตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เช่นเดียวกับแนวคิดของนักวิชาการหลายคนที่มองว่าการกระจายอำนาจยิ่งทำให้นักการเมืองมีช่องทางในการโกง เราติดกับวาทกรรมที่ว่าถ้าเป็นนักการเมืองมันต้องโกง ซึ่งไม่ใช่ เพราะนักการเมืองมีทั้งโกงและไม่โกง เราไปเหมารวมไม่ได้ ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่านักการเมืองที่โกงหรือทุจริตนั้น เราต้องใช้ระบบที่เราออกแบบไปควบคุมเขามากกว่าแทนที่จะไปยกเลิก
อุปสรรคจริงๆคือรัฐข้าราชการโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย แม้ในกระทรวงจะมีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม แต่โดยลึกๆแล้ว ความคิดของกระทรวงยังเชื่อมั่นอยู่ในความคิดแบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อมั่นในการรวมศูนย์อำนาจ เพื่อความง่ายในการรวมศูนย์การบริหารงาน ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เราไม่สามารถหาใครที่เป็นคนดีไปปกครองประชาชนในท้องถิ่นได้อีกแล้ว เพราะนี่มันยุคดิจิตอล ยุคที่สังคมไม่หยุดนิ่งแล้ว วันนี้เขาอาจมีความต้องการแบบหนึ่ง พรุ่งนี้อาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเราต้องการการบริหารงานที่ตอบสนองความต้องการอย่าทันเวลา ทันใจ เราไม่ใช่รัฐข้าราชการแบบคลาสสิคที่ชาวบ้านต้องคอยไปร้องหาผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯต้อมารับปัญหาแล้วส่งต่อกระทรวงมหาดไทย กระทรวงส่งต่อไปยังคณธรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณในการแก้ปัญหา
เราเข้าสู่ยุคการบริหารานที่จะตอบสนองความต้องการด้วยความฉับไว ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอุปสรรคของการกระจายอำนาจคือรัฐข้าราชการที่พยายามฉุดรั้งประชาธิปไตยของท้องถิ่นไว้
เหมือนว่าข้าราชการยังมองประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง ไม่ได้เป็นพลเมืองใช่ไหม?
ใช่ ถ้าพูดถึงความเป็นพลเมือง เรามองว่าเราต้องมีการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่าคำว่าพลเมือง หรือ citizen ในความหมายสากลคืออะไร เพราะ citizen คือ คนที่มี political life มีชีวิตทางการเมือง แต่ระบบข้าราชการกลับมองประชาชนในรัฐเป็นเพียงผู้รอคอยและเป็นคนที่มีหน้าที่ต่อรัฐ ไม่มีปากไม่มีเสียง เป็นไพร่ฟ้า แล้วให้ข้าราชการเป็นคนบรรดาลสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนให้