อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แนะคนไทยอย่าส่งต่อข้อมูลที่เป็นภัยต่อสังคม ขอให้จับตาหากพบเว็บไซต์ให้ข้อมูลเท็จ ให้ร้าย หรือหมิ่นสถาบัน ให้แจ้งสายด่วนทันที
24 พ.ย. 2559
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ขอเชิญชวนทุกคนในสังคมไทยเลือกเสพข้อมูลข่าวสารที่สร้างสรรค์ เลือกข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต การพัฒนาจิตใจ การปรับปรุงศักยภาพตนเองและประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อความก้าวหน้าของตนเองและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของประเทศชาติทั้งนี้หากพบเมื่อพบเจอข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ข้อมูลเป็นภัยต่อสังคม ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ ก็ควรละเว้นที่จะส่งต่อ แม้จะมีเจตนาเพื่อบอกต่อว่ามีเรื่องไม่ดี เรื่องไม่ถูกต้องแพร่กระจายไปก็ตาม เพราะเท่ากับเราได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ช่วยขยายข้อมูลอันไม่เหมาะสมเหล่านั้นให้กว้างขวางออกไป
พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือประชาชนว่าหากพบเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้ร้าย หรือหมิ่นประมาทสถาบันหลักของประเทศ ขอให้ช่วยกันแจ้งสายด่วน 1212 ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ กระทรวงดิจิตัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้ได้รับทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพื่อช่วยกันขจัดข่าวสารอันเป็นโทษ และสร้างพิษร้าย สร้างความวุ่นวายในสังคมให้หมดไป
มีการทำงานที่เป็นระบบ มีเจ้าหน้าที่ 90 นาย จับตาโลกออน์ไลน์ 24 ชั่วโมงตั้งแต่ 14 ต.ค. 2559
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2559 พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่ากองป้องกันและปราบปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ปท. มีเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน สนธิกำลังร่วมกับตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. อีกกว่า 60 นาย และเครือข่าย ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี โดยใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้านความมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์และบิดเบือนข้อความให้เกิดความเสียหายในประเทศ ซึ่งสั่งปิดเว็บไซต์ไปแล้วบางส่วน และตรวจพบเว็บไซด์ประมาณ 50 ถึง 60 เว็บไซต์ ซึ่งติดตามอยู่ และยังพบเว็บไซต์ที่เป็นเครือข่ายอีก 5 ถึง 6 เท่า และอยู่ระหว่างรวบพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนกับเว็บไซต์ที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ กรณีนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความตื่นตระหนก และลามกอนาจารที่ตรวจพบด้วย
ผบ.ทบ.เปิดศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก เน้นย้ำภารกิจตรวจตาเว็บไซต์เข้าค่าย ม.112
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานพิธีเปิดการแพรคลุมป้ายศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ภายหลังดำเนินเปลี่ยนชื่อหน่วยจากศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เป็นศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก โดย พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า กองทัพบกให้ความสำคัญเรื่องการดูแลภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนากองทัพบกให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหน่วยอื่น อีกทั้งเป็นการปกป้องหน่วยงานโดยเฉพาะการถูกแฮกเกอร์ต่างๆ แทรกแซง รวมถึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกองอำนวยการข่าวสารที่มีการแต่งตั้งไว้แล้ว ซึ่งตอนนี้สิ่งที่เน้นย้ำคือเรื่องการพัฒนาคนและเครื่องมือ เพราะที่ผ่านมากองทัพบกมีศักยภาพในการดูแลเรื่องการคุกคามทางไซเบอร์ แต่ก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับความมั่นคง โดยเป็นลักษณะการประชาสัมพันธ์ของฝ่ายตรงข้าม จากนั้นมีการนำไปสื่อสารกันต่อโดยขาดข้อเท็จจริง ซึ่งกระบวนการที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงและน่ากังวล
พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวถึงการติดตามกลุ่มคนที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เราจะใช้ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบกติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของคนที่บิดเบือนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งพบว่ายังมีอยู่มาก เพราะฉะนั้นต้องใช้กลไกดังกล่าวในการสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชน โดยแต่ละหน่วยก็มีศูนย์ไซเบอร์เป็นของตนเอง ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนตระหนักเรื่องการรับฟังข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะการแชร์และส่งต่อข้อมูลบางครั้งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงและจะไปสร้างความเสียหายให้กับบุคคลและประเทศชาติ โดยเฉพาะการใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรอง
เมื่อถามต่อว่าการติดตามข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจะครอบคลุมถึงงานวิชาการด้วยหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า “เรื่องใดที่มีการหมิ่นและไปกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 112 ผมอยากบอกประชาชนว่าโลกไซเบอร์มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงก็อย่าไปเผยแพร่ข้อมูลต่อ
พลอากาศเอกประจิน เผยประสานความร่วมมือกับเฟซบุ๊ก ติดตามการหมิ่นเบื้องสูง เผยข้อมูลพบเว็บหมิ่น 1,200 ยูอาร์แอล
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2559 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าการติดตามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเบื้องสูง ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างประสานกับทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กได้มีหนังสือส่งกลับมา 2 ฉบับ ว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงพร้อมที่จะตอบสนองต่อคำขอของไทยทันที เพราะเข้าใจสถานการณ์ และความรู้สึกของคนไทย อย่างไรก็ตาม เราก็ได้ประสานไปอีกครั้ง ว่า อยากพูดคุยกันต่อหน้า ซึ่งสถานที่จะเป็นไทยหรือสิงคโปร์นั้น อยู่กับประสานงานอยู่ โดยเราอยากพูดคุยภายในสัปดาห์นี้ แต่เฟซบุ๊กยังไม่พร้อม โดยจะไปคุยกับผู้บริหารระดับสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนไทยได้ตั้งศูนย์ประสานงานไซเบอร์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประสานงานอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำหน้าที่ประสานงานกับชุดปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่า หากมอนิเตอร์เจอเรื่องหมิ่นสถาบัน จะต้องมีการดำเนินการอย่างไร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. เป็นที่อยู่เว็บที่อยู่ไทย ก็ใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งปิดได้ทันที และ 2. ที่อยู่เว็บอยู่ในต่างประเทศก็ต้องออกคำสั่งศาลเพื่อขอให้ปิด รวมทั้งขณะนี้เราได้เชิญบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทุกสายงานเข้ามาร่วมทำงานด้วย
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 - 12 ต.ค. ที่ผ่านมา เราพบที่อยู่เว็บไซต์ (ยูอาร์แอล) ที่เข้าข่ายไม่เหมาะสมประมาณ 100 ยูอาร์แอล (ชื่อ) และช่วงวันที่ 13 - 31 ต.ค. ประมาณ 1,200 ยูอาร์แอล โดยเราได้ใช้อำนาจ คสช. ปิดไปแล้วทั้งสองช่วง 200 ยูอาร์แอล ส่วนที่เหลือใช้อำนาจศาล 700 ยูอาร์แอล จาก 1,150 คดี ถือว่าคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเราได้รับความร่วมมือจากศาลเป็นอย่างดีในการเร่งรัดการทำธุรการ รวมถึงผู้ให้บริการ ทั้งทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ภายในประเทศ และบริษัทใหญ่ที่เป็นต้นทาง ซึ่งเว็บไซต์ที่มียูอาร์แอลหมิ่นสถาบันมากที่สุด คือ เว็บไซต์ยูทูป แต่อย่างไรก็ตาม ยูทูปได้มีเปอร์เซ็นต์ปิดมากที่สุด
“ยืนยันว่า เราพยายามทำทุกทางในการดำเนินการ เพื่อป้องกันและลดการโพสต์ข้อความ หรือคลิปภาพ เสียง ที่ไม่เหมาะสม โดยเราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยดี ทั้งนี้ อยากให้ประชาสัมพันธ์ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ว่า ให้พิจารณาการกดไลก์กดแชร์ หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ควรหลีกเลี่ยง หรือลบทิ้ง รวมถึงอย่าไปให้ค่ากับผู้ที่ดำเนินการลักษณะมากนัก” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
เมื่อถามว่า แอปพลิเคชันไลน์ เว็บไซต์เฟซบุ๊ก เว็บไซต์กูเกิล ยืนยันว่า ยังเคารพสิทธิของผู้ใช้งาน และไม่ได้ร่วมมือเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ กับรัฐบาลไทย พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ที่เขาร่วมมือกับเรา คือ ภายใต้กฎหมาย ซึ่งผู้ให้บริการก็มีกติกาในการรักษาความลับของผู้ลงทะเบียน รวมถึงไม่เปิดเผยสิ่งที่ผู้ลงทะเบียนไม่อนุญาต ขอยืนยันว่าเขาไม่ได้ร่วมมือกับเราเพื่อไปบล็อกเสรีภาพของผู้ใช้
ยูทูป ใต้ดินแถลงขอพักการกระจายเสียง หลัง พลเอกประวิตร ขอความร่วมมือจากรัฐบาลลาว
จากรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'วงไฟเย็น' ได้เผยแพร่ แถลงการณ์จากสถานีไทยเสรีเพื่อสาธารณรัฐไทย เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่อง ขอพักการกระจายเสียง โดยระบุถึง สมาชิกผู้รับฟังรายการทั่วโลกทุกท่าน เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกราชอาณาจักร ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ในการนี้ได้มีหลายฝ่ายหลายภาคส่วนขอให้ทางสถานีพิจารณายุติการกระจายเสียงไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงทางสถานีขอน้อมรับความปรารถนาดีจากทุกๆ ฝ่าย และต้องขอยุติการกระจายเสียงทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงปลอดภัย และเพื่อความสบายใจของทุกๆ ฝ่าย
ล่าสุดวันที่ 21 พ.ย.2559 วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร รายงานผ่านเฟซบุ๊ก '
Wassana Nanuam' ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลลาว ที่สั่งปิดรายการวิทยุโจมตีสถาบันฯ-รัฐบาล
โดย พล.อ.ประวิตร คาดว่า เป็นเพราะตนเอง ขอกับกระทรวงกลาโหมของประเทศลาว ในการพบกันที่การประชุม รมว.กลาโหมอาเซี่ยน อย่างไม่เป็นทางการ ADMM retreat ที่เวียงจันทร์ ชี้เพื่อนบ้านร่วมมือดี
ส่วนจะสามารถส่งตัวให้ไทยได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่า อยู่ตรงไหนกัน แต่ได้บอกกับ กระทรวงกลาโหมลาวไปว่า ในประเทศลาวมี กลุ่มที่โจมตีรัฐบาล และสถาบันฯ อยู่ทุกวันนี้ จะทำยังไง เชื่อได้ว่า หากทางการลาวจับกุมตัวได้ ก็คงจะส่งให้เรา เพราะเรื่องนี้สำคัญที่ร่วมมือของเพื่อนบ้าน
ล่าสุดสั่งสอบคลิป ‘เทอดศักดิ์เจียม’ หากบิดเบือนข้อเท็จจริง ต้องดำเนินคดี
22 พ.ย. 2559 จากกรณี เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา อดีตแนวร่วมพันธมิตรฯ เชียงใหม่ และแกนนำสมาพันธ์วิทยุชุมชนภาคเหนือตอนบน ซึ่งปัจจุบันจัดรายการวิทยุผ่านทางยูทูบช่อง '
Vihok News' วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กลับถึงความถูกต้องของข้อมูลที่เทอดศักดิ์นำเสนอ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เขาต้องดูแล ดูแลหมดแล้ว ต้องเข้าไปดูแล แต่ว่าเดี๋ยวดูให้เกิดความชัดเจนก่อน มีหน่วยงานที่เขาดูอยู่ ซึ่งเขาก็คงมาให้รายละเอียด และจะให้โฆษกแจ้งให้ทราบ
"ถ้าบิดเบือนก็ต้องผิด ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงนะ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดีนะ" พล.อ.ประวิตร กล่าว พร้อมระบุด้วยว่ามีเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ