วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"หมอหยองทำอะไรผิด" ติดอันดับ 3 คำค้นในกูเกิล หมวดหาข้อมูลประจำปี 58


ขณะที่  'อุทยานราชภักดิ์' อันดับ 1 สถานที่ท่องเที่ยว คำค้นหาประจำปี 58 ของ Google ในไทย ส่วนดาวรุ่งพุ่งเเรงประจำปีนี้เป็น 'เพลงเชือกวิเศษ' ซีรีส์ไทยมาแรงคือ  'รักนะเป็ดโง่'  'เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน'
16 ธ.ค.2558 กูเกิล (Google) ประกาศสุดยอดคำค้นหาประจำปี 2558 เผยชีพจรของสังคมไทย และเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกที่คนไทยให้ความสนใจค้นหา โดยทั้ง 10 อันดับคำค้นดาวรุ่งพุ่งเเรงประจำปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวความสนใจในด้านบันเทิงเป็นหลัก ตั้งเเต่ เพลงเชือกวิเศษ ของวงลาบานูน ที่กลายเป็นมิวสิควิดีโอในดวงใจเเละสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังชาวไทยจำนวนมาก ขณะที่ซีรีส์ไทย 2 เรื่องที่มาแรงติดอันดับในปีนี้ ได้เเก่ รักนะเป็ดโง่ และ เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการค้นหาของคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบการฟังเพลง เคียงคู่การชมซีรีส์ฮิตบนออนไลน์ 
 
ภีท นุชนาฏนนท์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดกูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า "คำค้นหาในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวรอบตัวทั้งภายในเเละต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา เช่นเหตุการณ์เเผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลที่ได้รับความสนใจสูงสุดติดอันดับ 1 ของคำค้นหาดาวรุ่งพุ่งเเรงในหมวดข่าวต่างประเทศ เเต่ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงของไทยก็ยังฮิตและอยู่ในยุคเฟื่องฟู เหตุเพราะคนไทยเฝ้าติดตามผลงานการเเสดงละครเเละซีรีส์ต่างๆ รวมถึงรายการโชว์ดังๆ ที่พวกเขาชื่นชอบบนโลกออนไลน์"
 
โดยคำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงประจำปี (Desktop) 1. เชือกวิเศษ   2. รักนะเป็ดโง่    3. เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน 4. ทิ้งไว้กลางทาง  5. สุดแค้นแสนรัก   6. สงครามนางงาม 7. เพลงขัดใจ 8. ข้าบดินทร์  9. แอบรักออนไลน์  และ 10. ตัดพ้อ  
 
ส่วนคำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงประจำปี (Mobile) 1. เน็ต AIS 2. ดูดวงทะเบียนรถ 3. อ๊อฟ ปองศักดิ์ 4. จ๊ะ อาร์สยาม 5. อาเซ่นอลคลับ 6. ราคาทองวันนี้ 7. เพิ่มความเร็วเน็ต 8. รัสเซีย 9. แวมไพร์ทไวไลท์ ภาค 4 และ 10. เนย โชติกา
 
หมวดเพลงและมิวสิควิดีโอ  1. เชือกวิเศษ 2. ทิ้งไว้กลางทาง  3. เพลงขัดใจ 4. ตัดพ้อ 5. กาโว 6. ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน 7. See You Again 8. ไม่เคย 9. ใจหมา  และ 10. คู่ชีวิต 
 
หมวดคนดัง  1. หลวงพ่อคูณ 2. แอนนา รีส 3. ปอ ทฤษฎี 4. พลอย เฌอมาลย์ 5. แตงโม  6. โตโน่ 7. หมอหยอง 8. ดีเจโซดา 9. พอล วอล์คเกอร์ และ 10. ดีเจพุฒ
 
หมวดภาพยนตร์ 1. ฟาส 7  2. มินเนี่ยน 3. Jurassic World 4. Fifty Shades of Grey 5. เมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ   6. อาบัติ 7. แม่เบี้ย   8. ไอฟายแต๊งกิ้วเลิฟยู  9. ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ และ 10. ant man            
 
หมวดละคร-ซีรีส์ยอดฮิต 1.รักนะเป็ดโง่  2. เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน 3. สุดแค้นแสนรัก 4. สงครามนางงาม 5. ข้าบดินทร์ 6. แอบรักออนไลน์ 7. ลมซ่อนรัก 8. น้ำตากามเทพ 9. นางชฎา และ 10. บัลลังก์ เมฆ
 
หมวดข่าวดังในประเทศ 1. ข่าวแตงโม 2. งานแต่งชมพู่ 3. สรุปเหรียญซีเกมส์ 4. โรฮิงญา 5. ระเบิดราชประสงค์ 6. อุทยานราชภักดิ์ 7. หลวงพ่อคูณมรณภาพ 8. อาการไข้เลือดออก 9. ฟุตบอลโลกหญิง และ 10. Single Gateway
 
หมวดข่าวดังต่างประเทศ 1. แผ่นดินไหวเนปาล 2. ISIS 3. สัตว์ประหลาดล็อกเนสส์  4. ไวรัสเมอร์ส 5. ปาเกียว ฟลอยด์  6. ข่าวปารีส 7. ตูร์เดอฟร็องส์ 8. Charlie Hebdo 9. ดาวพลูโต และ 10. Wimbledon 2015
 
สถานที่ท่องเที่ยว 1. อุทยานราชภักดิ์ 2. วานา นาวา 3. ทะเลทรายเมืองไทย 4. สวนละไม 5. เขาคิชกุฏ จันทบุรี 2558 6. ท่ามหาราช 7. วัดเจ้าอาม 8. เกาะไม้ท่อน 9. วัดผาซ่อนแก้ว จ เพชรบูรณ์ 10. หาดน้ำใส
 
เสาะหาข้อมูล-ความรู้ 1.สตาบัคใช้กาแฟอะไรทำลาเต้ 2.บางระจันทำศึกกี่ครั้ง 3.หมอหยองทำอะไรผิด 4.เฉาก๊วยทำมาจากอะไร 5.โปรตีนเกษตรทำจากอะไร 6.ช่วงอายุกับการทำศัลยกรรม research 7.ทำไมถึงเรียกส้มตำ 8.ตับทำหน้าที่ 9. ปูอัดทำมาจากอะไร 10. สิ่งที่ควรทำก่อนอายุ 40
ขณะที่การค้นจากทั่วโลกในปี 2558 นั้น สามารถรับชมได้ที่ https://www.google.co.th/trends/story/2015_GLOBAL หรือวิดีโอคลิปด้านล่าง

เสนอตั้งศาลพิเศษยุคหลัง คสช. เอาผิดการละเมิดสิทธิ นานแค่ไหนก็รอ


16 ธ.ค. 2558 ปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความลงใน ‘บล็อกกาซีน ประชาไท’ เสนอให้รัฐบาลพลเรือนหลังการรัฐประหารตั้งศาลพิเศษ (Tribunal) เพื่อไต่สวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงย้อนหลังทั้งหมด และเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนรู้เห็นทุกคน ตั้งแต่นายทหาร นายตำรวจ ผู้พิพากษา เนติบริกร และแม้แต่แพทย์ที่อาจมีส่วนร่วมในการบิดเบือนกฎหมาย หรือปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยตกต่ำลง อาทิ ข่าวการจับนักกิจกรรมที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล และต้องการการผ่าตัดไปขังคุกในค่ายทหาร, ข่าวการฟ้องร้องคนแชร์แผนผังโกงอุทยานราชภักดิ์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ที่ศาลทหาร, ข่าวการฟ้องร้องผู้ต้องสงสัยหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง, กรณีนายพลตำรวจหัวหน้าทีมสืบสวนขบวนการค้ามนุษย์ที่ลี้ภัยไปออสเตรเลีย, กรณีศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานี ทั้งที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 1  ปีเป็นประหารชีวิต รวมถึงกรณีการรายงานสอบสวนการเสียชีวิตของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ใน "ศูนย์ซักถาม" ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ค่ายทหาร ซึ่งระบุว่า "ไม่ทราบสาเหตุการตาย" “
ปราชญ์เสนอว่า รัฐบาลพลเรือนจะต้องตั้ง Tribunal โดยอาจเป็นองค์คณะจากนานาชาติก็ได้เพื่อมาไต่สวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงย้อนหลังทั้งหมด และเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนรู้เห็นทุกคน ตั้งแต่นายทหาร นายตำรวจ ผู้พิพากษา เนติบริกร หรือแม้แต่แพทย์ที่อาจมีส่วนร่วมในการบิดเบือนกฎหมายหรือปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ผมอยากเห็นการไต่สวนสาธารณะที่คนเหล่านี้ถูกไต่สวนแบบเปิดเผย ถ่ายทอดสดผ่านสื่อไปทั่วประเทศ (เหมือนที่ Truth and Reconciliation Commission ของอัฟริกาใต้เคยทำ) ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนรู้เห็นจริง ผมอยากเห็นคนเหล่านี้ถูกลงโทษ ไม่ว่าคนนั้นจะอายุ 80 หรือ 90 หรือ 95 ...ต่อให้ในที่สุดแล้วคนเหล่านี้จะต้องติดคุกเพียงไม่กี่เดือน แต่ผมก็อยากเห็นคนเหล่านี้ถูกประวัติศาสตร์ตีตราไว้ว่าเป็นอาชญากร ...ผมอยากเห็นหน้าและชื่อของคนเหล่านี้ปรากฏในพิพิธภัณฑ์รำลึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะสอนลูกหลานถึงความอำมหิตของระบอบเผด็จการที่ใช้อำนาจโดยไม่มีใครตรวจสอบได้ ผมไม่หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดในเร็ววัน แต่ผมจะพยายามผลักดันเท่าที่ทำได้ และหวังว่าผมจะได้เห็นมันเกิดขึ้นก่อนผมตาย” บทความของปราชญ์ระบุ
หลังบทความเผยแพร่ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ส่งอีเมลถึงประชาไท แจ้งความจำนง ขอสนับสนุนข้อเสนอของปราชญ์ ปัญจคุณาธร อย่างเปิดเผยและเป็นทางการ
"ผมขอสนับสนุนคุณปราชญ์ ผมเอาด้วย นี่ไม่ใช่ความโกรธเคืองส่วนบุคคล นี่เป็นเรื่องหลักการที่สำคัญมาก” ธงชัย ระบุ

ศูนย์ทนายเปิดสำนวนคดี 'ชญาภา' โพสต์ข่าวปฏิวัติซ้อน



เปิดรายงานกระบวนและคำพิพากษาคดี ใช้เวลาเพียง 15 นาที ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาจำนวน 11 หน้า ศาลยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาอ้างจำเลยพร้อมให้การ  ทนายเตรียมอุทธรณ์ เหยื่อเผยผู้คุมแจ้งล่วงหน้ากระชั้นตอนสามทุ่มก่อนวันตัดสิน หลังพิพากษา จนท.ราชทัณฑ์ ให้เซ็นรับคำฟ้องและหมายนัดศาลย้อนหลัง
16 ธันวาคม 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS) ได้รายงานเพิ่มเติมหลังได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี  บันทึกคำให้การของจำเลย และคำพิพากษาของศาล ในคดีของ ชญาภา หญิงวัย 49 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้นามแฝงบนเฟซบุ๊กว่า "นินจารัก สีแดง" ข้อหาปล่อยข่าวปฏิวัติซ้อนและหมิ่นสถาบันฯ ที่ได้ตัดสินไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558

=============

16 ธ.ค. 2558  ทนายความของชญาภา ในคดีโพสต์ปฏิวัติซ้อน เดินทางไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อติดตามคำสั่งศาลต่อคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย และคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารในคดีดำที่ 154/2558 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบ แต่อนุญาตให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดี ฉบับลงวันที่ 15 ธ.ค. 2558 บันทึกคำให้การของจำเลย และคำพิพากษาของศาล
พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ ตุลาการพระธรรมนูญ มีคำสั่งยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังทนายความของชญาภา จำเลยในคดี ยื่นคำร้องวานนี้ โดยอ้างเหตุผลว่า คดีนี้ก่อนเริ่มพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายแล้ว จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้ว พร้อมที่จะให้การ
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่ถึงห้าปี ศาลจึงพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 56 (2) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 บัญญัติเรื่องการพิจารณาคดี นัดถามคำให้การเพียงว่า เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว ศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาได้แล้ว ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ยกคำร้อง
ด้านรายงานกระบวนพิจารณาคดี วันที่ 15 ธ.ค. 2558 ระบุว่า องค์คณะตุลาการ ได้แก่ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ ออกนั่งพิจารณาเรื่องนี้เวลา 10.30 น. โจทก์แถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เนื่องจากจะต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริง และพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลย หากพิจารณาตดีโดยเปิดเผย อาจก่อให้เกดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ
ศาลได้พิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ อนุญาตให้อยู่ในห้องพิจารณาได้เฉพาะโจทก์ จำเลย ทนายความจำเลย เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเท่านั้น
จากนั้น ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนาย จำเลยแถลงว่าได้แต่งทนายมาแล้ว พร้อมที่จะให้การในวันนี้ ศาลจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจดีแล้ว สอบถามคำให้การ จำเลยให้การว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อหา ไม่ขอต่อสู้คดี โจทก์แถลงไม่สืบพยาน คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา
กระบวนพิจารณาครั้งนี้ ใช้เวลาเพียง 15 นาที ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาจำนวน 11 หน้า ในเวลา 10.45 น. ขณะที่คำให้การจำเลย ส่วนเนื้อหาคำให้การ มีลักษณะพิมพ์ข้อความไว้บางส่วน และใช้วิธีเขียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยเพิ่มภายหลัง ระบุว่า จำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ดีแล้ว ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงทุกข้อกล่าวหา ไม่ขอต่อสู้คดี
นอกจากนี้ วันนี้ทนายความได้เข้าเยี่ยมชญาภา จำเลยในคดีที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทราบว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งให้ชญาภาทราบว่าต้องมาศาลวันที่ 15 ธ.ค.2558 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นคืนก่อนวันที่ศาลนัดสอบคำให้การ โดยชญาภาทราบจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในวันที่มาศาลว่า เจ้าหน้าที่ที่รับหมายนัดจากศาลทหารแจ้งว่าลืมส่งเอกสารให้
ทั้งนี้ ชญาภายังเล่าให้ทนายความฟังอีกว่า วันที่ 15 ธ.ค. 2558 ภายหลังศาลมีคำพิพากษาและเดินทางกลับเรือนจำแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำหมายนัด ฉบับลงวันที่ 8 ธ.ค. 2558 พร้อมทั้งคำฟ้องมาให้ตนลงลายมือชื่อ
ด้านรายละเอียดคำพิพากษา ศาลทหารพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดเป็น 5 กระทง แบ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษจำคุกลงกระทงละกึ่งหนึ่ง รวมโทษจำคุก 2 กระทง 4 ปี 12 เดือน
อีก 3 กระทง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) จำคุกกระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษจำคุกลงกระทงละกึ่งหนึ่ง รวมโทษจำคุก 3 กระทง 3 ปี 18 เดือน
โทษจำคุก 5 กระทงรวม 7 ปี 30 เดือน รายละเอียดข้อกฎหมายตามคำพิพากษา มีดังนี้
  • ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) รวม 2 ฐาน ฐานละ 2 กระทง แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นปประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษทุกกระทงเป็นโทษจำคุก 10 ปี ลดโทษที่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุเบาทรรโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงกระทงละกึ่งหนึ่ง เป็นโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน

  • ฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) (5) รวม 2 ฐาน ฐานละ 3 กระทง แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมโทษทุกกระทงเป็โทษจำคุก 9 ปี ลดโทษที่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงกระทงละกึ่งหนึ่ง เป็นโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน
รวมโทษ 5 กระทง คงให้จำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด 7 ปี 30 เดือน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางริบ
อย่างไรก็ตาม ทนายความจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ฮัมวี่บุกบ้าน 'อาจารย์ธเนศ' ฝากเตือนผ่านภรรยา ไปนอกขออนุญาต คสช.ด้วย

17 ธ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.40 น. วันนี้( 17 ธ.ค.58)  ที่หมู่บ้านจัดสรรธนากร 2 อ.บางกรวย จ.นนทบุรี นางเชอรี่ แบร์รี่ ภรรยาของ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์  และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ทหาร  4 นาย ขับรถฮัมวี่่มาจอดหน้าบ้าน โดยได้สอบถามและขอพบ ธเนศ แต่ได้ตอบไปว่า สามีไม่อยู่ที่บ้าน ติดทำธุระที่ต่างจังหวัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทหารมิได้เดินเข้ามาในบ้านแต่อย่างใด โดยยืนสอบถามอยู่นอกรั้วหน้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารยังกล่าวอีกว่า ต่อไปทุกวันที่ 15 ของเดือนจะเดินทางมาสังเกตการณ์และขอถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ปฏิเสธที่จะบอกว่าเป็นทหารสังกัดหน่วยไหน

นางเชอรี่ กล่าวอีกว่า  ทหารแจ้งอีกว่าให้บอก ธเนศ หากจะเดินทางออกนอกประเทศ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนทุกครั้ง  ตนได้ถามกลับด้วยว่า ทำไมถึงเดินทางมาที่บ้าน  ทหารไม่ยอมบอกเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เวลาสนทนากันประมาณ 20 นาที ก่อนจะกลับออกไป ทั้งนี้ได้แจ้งให้สามีทราบแล้วถึงกรณีทหารที่มาถึงบ้าน คงต้องสอบถามจากสามีเองอีกครั้งหนึ่งถึงสาเหตุที่ทหารเดินทางมาครั้งนี้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวสังกัดอยู่หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) กองบัญชาการกองทัพบก

โฆษกศาลยุติธรรมยันไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิต แกนนำแดงอุบลฯคดีเผาศาลากลาง


โฆษกศาลยุติธรรม เกรงประชาชนส่วนใหญ่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยันไม่มีคำพิพากษาประหารชีวิต แกนนำแดงอุบลฯคดีเผาศาลากลาง 
17 ธ.ค.2558 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ทีผ่านมา ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของ 13 จำเลยในคดีนี้เปิดเผยข้อมูลว่า ศาลฎีกากลับคำพิพากษาในส่วนของจำเลยหลายคน บางคนจากที่เคยยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็กลับถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในชั้นศาลฏีกา หลายรายได้รับโทษจำคุก 1-2 ปีก่อนหน้านี้ก็ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลย 4 รายเดิมที่ถูกคุมขังมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 ด้วยโทษ 33 ปี 12 เดือนนั้นศาลฏีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน 
โดยเฉพาะ ดีเจต้อย พิเชษฐ์ ทาบุดา ดีเจและแกนนำกลุ่มชักธงรบ ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนขนาดใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมที่ถูกตัดสินจำคุก 1 ปีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นั้น ในชั้นศาลฎีกาถูกพิพากษาให้ได้รับโทษจำคุกหนักที่สุดในบรรดาจำเลยทั้งหมด 13 ราย คือ ประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้(17 ธ.ค.) สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงผ่านเอกสาร ของกองสารนิเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม ว่า กรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.อุบลราชธานี นำโดยนายพิเชษฐ์ ทาบุตดา พร้อมพวก รวม 20 คน ซึ่งเป็นจำเลยในการก่อเหตุวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 และประชาชนส่วนใหญ่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำพิพากษาดังกล่าวว่าศาลฎีกาสั่งประหารชีวิต
จึงขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้ ให้นายพิเชษฐ์ ทาบุตดา จำเลยที่ 1 และนายชัชวาล ศรีจันดา จำเลยที่ 11 จำคุกตลอดชีวิต พิพากษาให้นางอรอนงค์ บรรพชาติ จำเลยที่ 2 นางสาวปัทมา มูลมิล จำเลยที่ 5 นายลิขิต สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 7 นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ จำเลยที่ 9 นายสนอง เกตุสุวรรณ จำเลยที่ 12 และนายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ จำเลยที่ 17 จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาให้จ่าสิบเอกสมจิตร สุทธิพันธ์ จำเลยที่ 16 จำคุก 1 ปี รวมจำเลยที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้ทั้งสิ้น 9 คน นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
ทั้งนี้ โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา ไม่ปรากฏโทษประหารชีวิตตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ศาลจังหวัดอุบัลฯ อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ไม่ใช่ 16 ธ.ค.2558 ดังที่โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว 

'ศูนย์ทนายสิทธิ' เผยคำแนะนำ หากถูกคุมตัวจากการโพสต์-แชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย


17 ธ.ค.2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยทางกฎหมายแก่ประชาชน มานับแต่รัฐประหาร 2557 พบว่า การควบคุมตัวและดำเนินคดีจากการใช้โซเลียลมีเดียมีเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนหลายรายถูกพาขึ้นศาล ทหารในข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 หรือพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และหลายรายถูกพิพากษาจำคุก
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงจัดทำคำแนะนำกรณีถูกจับกุมจาการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย[1]ขึ้น ดังนี้
คำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้นหากจะถูกจับกุมควรปฏิบัติดังนี้
          1) สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
          2) ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
          3) เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
          4) เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
          5) แจ้งให้ญาติหรือคนที่ใกล้ชิดทราบโดยด่วน
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้
          1) สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
          2) ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
          3) ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
          4) ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้ หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม
          1) คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
          2) สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟรชไดร์,แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
          3) ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
          4) ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
          5) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น
1)      บุคคลซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งเท่านั้นถึงเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หรือ“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558
2)   ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง
เมื่อถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารโดยเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ควรปฏิบัติเช่นไร ?
·   เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา
1)      ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆรือหากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆหรือรวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
2)      อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน  
3)      ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
4)      หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเอง หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
5)      โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
6)      ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น  หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
·       เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรกับพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ
1)      ไม่ควรให้การใดๆกับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้
2)      หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
3)      ข้อพึงระวัง 1. เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ และ 2. การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล  


[1] โซเชียลมีเดีย (Social Media) คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Twitter, Line, Youtube, และอื่นๆ

แอมเนสตี้ฯ ออกปฏิบัติการด่วนร้องทางการไทย ปล่อย 'ธเนตร' ที่ถูกจับไปจากโรงพยาบาล


17 ธ.ค.2558 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และกระตุ้นทางการไทยอนุญาตให้เขาและผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ทุกคน สามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้ ต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ตามที่เลือกได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น และให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น และให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ซึ่งการรณรงค์และดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 27 ม.ค. 2559
โดยปฏิบัติการดังกล่าวของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ทางการไทยควบคุมตัวนักกิจกรรมหรือ นายธเนตร อนันตวงษ์ ไปจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 58 ระหว่างเข้ารับการรักษาพยาบาล ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพ โดยไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือทนายความได้ ซึ่งเขาอาจได้รับโทษจำคุกนานถึง 27 ปีเนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก
เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ควบคุมตัว นายธเนตร อายุ 25 ปี จากห้องผู้ป่วยโรงพยาบาลสิรินธร กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 12.10 น. ของวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เขาได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งนี้เนื่องจากอาการป่วยหลายอาการ รวมทั้งลำไส้อักเสบ ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ โดยไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม  และไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือทนายความได้ ทางการแจ้งต่อครอบครัวของเขาว่าอาการของเขาแย่ลงและขอให้ครอบครัวนำยามามอบให้ แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม ที่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำแห่งนี้ ภายหลังจากมีผู้ถูกควบคุมตัวสองรายเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายธเนตร อาจได้รับโทษจำคุกนานถึง 27 ปีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกในเฟซบุ๊ก ซึ่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมงเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. หลังจากที่ทางการได้คุมตัวนักกิจกรรม 37 คนจากขบวนรถไฟระหว่างมุ่งหน้าไปยังอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นให้เห็นข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น การจับตัว นายธเนตร จากโรงพยาบาล และการปฏิเสธหรือหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เขาได้รับการรักษาพยาบาล อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
ทางการไทยยังคงดำเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะต่อรัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์บนอินเตอร์เน็ต ทางการไทยยังควบคุมตัวบุคคลในข้อหาเหล่านี้โดยเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างชัดเจนที่จะเกิดการทรมานและการปฏิบัติในรูปแบบอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
แอมเนสตี้ฯ จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงทางการไทยโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้ เรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวนายธเนตร อนันตวงษ์โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข กระตุ้นให้ทางการไทยอนุญาตให้เขาและผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ทุกคน สามารถติดต่อกับครอบครัวและทนายความได้ ต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ สามรถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เป็นอิสระตามที่เลือกได้อย่างเต็มที่ไม่มีการปิดกั้น และให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น และให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ และย้ำเตือนทางการไทยให้ทราบถึงพันธกรณีของตนที่จะไม่ควบคุมตัว คุกคาม หรือลงโทษบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือการสมาคมอย่างสงบ
พร้อมระบุที่อยู่ที่จะส่งจดหมาย ก่อนวันที่ 27 ม.ค. 59 ไปยัง นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย โทรสาร +66 2 282 5131 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย  กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย โทรสาร +66 2 643 5320 / +66 2 643 5314 อีเมล์ minister@mfa.go.th
แอมเนสตี้ฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยดังนี้ :
บุคคลที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการและในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมาน ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานหลายครั้งว่าเกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในสถานการณ์เช่นนี้ รวมทั้งนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทั้งยังมีความกังวลว่าผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ
ที่ผ่านมาทางการไทยตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับบุคคลโดยใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและใช้กฎหมายความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการยุยงปลุกปั่น ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบต่อการปกครองประเทศและการดำเนินงานของทางการ โดยมีการเอาผิดกับการกระทำอย่างเช่น การแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ การคลิกปุ่ม ‘ไลค์’ ภาพในเฟซบุ๊คที่เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ และการประท้วงอย่างสงบต่อการปกครองของกองทัพ
ทางการไทยได้ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากจากการแสดงความเห็นอย่างสงบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านเฟซบุ๊ก และได้ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มการปราบปรามมากขึ้น การควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ เกิดขึ้นภายหลังการควบคุมตัวและการหายตัวไปชั่วคราวของนายฐนกร ศิริไพบูลย์ คนงานโรงงานอายุ 27 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายฐนกรอาจได้รับโทษจำคุกถึง 32 ปีเนื่องจากการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกเดียวกันบนเฟซบุ๊ก และการคลิกปุ่มไลค์ภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับสุนัขทรงเลี้ยง และเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ 
ในขณะที่กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารงานยุติธรรม ทางการไทยกลับล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมตัวบุคคล ทางกองทัพยังใช้อำนาจอย่างกว้างขวางที่มีอยู่เพื่อจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนโดยพลการ พวกเขามักถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาและไม่สามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัว ทางกองทัพได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งในสถานที่ของกองทัพ และล่าสุดมีการควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งมีการจัดตั้งขึ้น นอกจากความกังวลเกี่ยวกับพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่ของกองทัพแล้ว ยังมีความกังวลร้ายแรงต่อความปลอดภัยของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในสถานที่เหล่านี้ ภายหลังเกิดการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสองคนเมื่อปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
บุคคลที่ถูกควบคุมตัวย่อมมีสิทธิเข้าถึงมาตรฐานด้านการดูแลสุขภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ การไม่อนุญาตให้มีการรักษาพยาบาลที่เพียงพอเป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพ รวมทั้งเป็นการละเมิดข้อห้ามต่อการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยัง กังวลว่า ทางการได้ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือน ในความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ และการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาศาลทหารกรุงเทพฯ ได้ยกคำร้องอย่างรวบรัดซึ่งเป็นคำร้องให้ทบทวนเขตอำนาจของศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือน และคำร้องเกี่ยวกับคำวินิจฉัยว่าการใช้ศาลทหารไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ทางการยังได้ปฏิเสธไม่ให้มีการประกันตัวผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเป็นระบบ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู  Martial Law Detainees at risk of torture (Index: ASA 39/1266/2015; https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/1266/2015/en/), Thailand, Attitude Adjustment(Index number: ASA 39/011/2014
https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/011/2014/en/) และ Thailand, Torture in the Southern Counter-insurgency (Index number: ASA 39/001/2009, https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/001/2009/en/).
โดยแอมเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า สมาชิกแอมเนสตี้ฯ ในประเทศไทยไม่ได้รับการร้องขอให้ส่งจดหมายยื่นข้อเรียกร้องสำหรับกรณีนี้ ปฏิบัติการด่วนนี้ใช้สำหรับเป็นข้อมูลแจ้งให้ทราบเท่านั้น

'พลเมืองเน็ต' ย้ำคลิกไลค์ไม่ผิด-ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท


17 ธ.ค.2558 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ ‘รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน’ โดยอธิบายเรื่องการกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายและเรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทออนไลน์โดยใช้มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การการแสดงความเห็นทุกกรณี
การออกแถลงการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจากการจับกุมผู้ต้องหาหลายรายโดยใช้อำนาจตาม ม.44 จากการแชร์ผังทุจริตโครงการราชภักดิ์ และเชื่อมโยงไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 116 มาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงมาตรา 112 หลังเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาไปคลิกไลคก์ข้อความหมิ่นสถาบันและเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง เครือข่ายพลเมืองเน็ตอธิบายเหตุการณ์ในภาพรวมพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า การคลิกไลค์เฟซบุ๊กไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้สนับสนุนการทำความผิดตามหลักกฎหมาย และไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำเพราะเป็นระบบซอฟท์แวร์ที่ทำการแสดงผลอัตโนมัติโดยไม่ใช่เจตนาหรืออยู่ในวิสัยที่ผู้กดไลค์จะดำเนินการอะไรได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า มาตรา 14 ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการจัดทำเพื่อนำมาดำเนินคดีหมิ่นประมาท หากแต่เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลเอกสารและอิเล็คทรอนิกส์
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

1. ความตื่นตัวของพลเมือง

จากความสงสัยของสาธารณะต่อประเด็นที่ว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นมีการทุจริตหรือไม่ และถ้าหากมีจริง การทุจริตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้าราชการ รัฐบาลทหาร หรือบุคคลในคณะรัฐประหารหรือไม่นั้น นำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจอย่างน้อยสามประการโดยสื่อและพลเมืองที่สนใจประเด็นทุจริตคอรัปชัน กล่าวคือ
1) การแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงการเปรียบเทียบกรณีทุจริตในรัฐบาลก่อนๆ และความคาดหวังกับการ “ปฏิรูป”
2) การพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐาน เช่น ผ่านช่องทางพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
3) การพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่ค้นพบดังกล่าว ซึ่งอาจซับซ้อนเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรจำนวนมากในเวลาที่หลากหลาย ผ่านการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับหรือการเล่าด้วยภาพ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในภาพใหญ่ หรือทำให้สังเกตเห็นถึงความขัดแย้งกันของข้อมูล
พลเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมในกิจกรรมติดตามตรวจสอบทั้งสามประการนี้ ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อกันไปสู่เพื่อนฝูงญาติมิตรของเขา ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ก็ตามกับข้อมูลดังกล่าว คนอีกจำนวนหนึ่งยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อข้อมูลที่พวกเขาเผยแพร่ต่อด้วย เพื่อชวนให้คนรอบข้างพิจารณาว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือเพียงไร

2. การปราบปรามผู้เห็นต่าง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เรื่องที่ไม่ควรเกิดระหว่างการปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่ประกาศว่ามุ่งมั่นจะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จับกุมนายฐนกร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของทหารสืบทราบว่านายฐนกรเป็นผู้เผยแพร่แผนผัง “เปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์” ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 และภาพ “อุทยานราชภักดิ์จะต้องใช้ใบบัว 5,920,000 ใบจึงจะปิดได้มิด” ซึ่งพาดพิงว่ามีบุคคลได้รับผลประโยชน์ เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นข้อมูลเท็จ จึงเข้าคุมตัวที่บริษัท ก่อนจะเข้าตรวจค้นภายในบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือของนายฐนกร ให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปตรวจสอบ และคุมตัวไปสอบปากคำที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ
หลังการสอบสวนและตรวจสอบ นายฐนกรถูกแจ้งความดำเนินคดีเมื่อเวลาประมาณ 17:30 น. ของวันที่ 9 ธันวามคม 2558 โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิด “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ “ยุยุงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ “1. กดไลก์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2. คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3. คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ”
โปรดสังเกตว่าเหตุการณ์ (1) (กดไลก์) และ (2) (สุนัขทรงเลี้ยง) นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏเพิ่มเติมหลังการจับกุม ตรวจค้นบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของนายฐนกรไปตรวจสอบ ซึ่งทั้งในข่าวกรองของทหารที่พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. กล่าวถึง และในการให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ธันวาคม ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็กล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์ (3) (แผนผังทุจริต) เท่านั้น ส่วนด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงประมาณก่อนบ่ายสามโมงของวันเดียวกัน ว่าทหารกำลังสอบสวนอยู่ และกล่าวถึงเฉพาะการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สำหรับข้อหาอื่นพล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่ายังต้องรอการตรวจสอบหลักฐาน​ โดยไม่ได้พูดถึงความผิดตามมาตรา 112 และ 116 แต่อย่างใดเช่นกัน
หลังการจับกุมข้างต้น พล.ต.ต. ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ หนึ่งในชุดสอบสวนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวว่า “ตามกฎหมายนั้นผู้ใดที่กดถูกใจ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กหรือในข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะต้องมีความผิดร่วมไปด้วย” และประกาศเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ดูแลกลุ่มและสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กที่นายฐนกรนำภาพไปเผยแพร่ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีการกดไลก์และแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ “ไม่เหมาะสม” ซึ่งปรากฏต่อมาว่ามีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมตลอดทั้งสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

3. การคุกคามการตรวจสอบด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท”

ไม่เพียงกรณีการจับกุมนายฐนกร และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์นี้เท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา ที่รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ พยายามใช้ข้อหา “หมิ่นประมาท” ไม่ว่าจะในรูปแบบการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทบุคคล” “หมิ่นประมาทกษัตริย์” “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ตาม มาคุกคามการนำเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบโดยสุจริต โดยปฏิเสธที่จะชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นเท็จอย่างไร และมักเบี่ยงเบนประเด็นการตรวจสอบไปเป็นเรื่องอื่น ด้วยการกล่าวหาลอยๆ ว่า ผู้พยายามเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว ทำไปโดยมีวาระทางการเมืองหรือมีขบวนการสนับสนุนเบื้องหลัง
เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา แจ้งความร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทต่อ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จากกรณีที่มูลนิธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า น.ส.พรเพ็ญ ทำให้ “กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” คดีนี้ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ฟ้อง
หรือกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการแทรกแซงการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ และการถูกข่มขู่คุกคาม จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังปรึกษา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่าการแสดงออกดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่
คดีสำคัญอีกคดีหนึ่งในเรื่องนี้ คือคดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อ นายอลัน จอร์น มอริสัน และนางสาวชุติมา สีดาเสถียร สองผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน จากการเสนอรายงานข่าวขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งแม้ต่อมาหลังจากสู้คดีมาสองปี ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ภูเก็ตหวานก็ตัดสินใจจะปิดตัวลงในวันที่ 31​ ธันวาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากบรรยากาศไม่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาได้ ยังมีสังคมบางส่วนที่ไม่เข้าใจการทำงาน อีกทั้งถูกข่มขู่เป็นระยะ กรณีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่มีอิสระในการทำงานของสื่อ บรรยากาศของความหวาดกลัว และการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

4. ความเห็นเครือข่ายพลเมืองเน็ต

การกระทำและความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลายประการ อีกทั้งได้ตีความกฎหมายจนเกินตัวบท เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นดังนี้
4.1 การกดไลก์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน
เครือข่ายฯยืนยันจุดยืนเดิมตามแถลงการณ์ “คลิกไลก์ไม่ใช่อาชญากรรม” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 และมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้เป็นความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระ ทำความผิด ซึ่งการกดไลก์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย
นอกจากนี้ การกดไลก์ก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์สื่อสังคมจะทำการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลก์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเจตนาของผู้กดไลก์ ผู้กดไลก์ไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ ในการทำงานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว อีกทั้งจะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็มิได้ มากไปกว่านั้น ผู้กดไลก์ไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางที่ตนกดไลก์ ซึ่งสามารถถูกแก้ไขโดยผู้สร้างข้อความนั้นๆ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ข้อความที่แสดงให้เห็น ณ เวลาหนึ่ง อาจแตกต่างไปจากเวลาที่ผู้ใช้กดไลก์
4.2 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่ใช่เรื่อง “หมิ่นประมาท”
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งระบุให้การ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็นความผิด ถูกนำไปใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมาก ทั้งที่เจตนารมณ์ของมาตรานี้ เขียนขึ้นเพื่ออุดช่องว่างที่ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารในประมวลกฎหมายอาญา ยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” และ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในมาตราดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย จึงหมายถึงข้อมูลอย่างอีเมลปลอมหรือเว็บไซต์แอบอ้าง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ตีความมาตรานี้ในทางที่ครอบคลุมการหมิ่นประมาทด้วย ส่งผลให้มาตรา 14 (1) นี้ถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อฟ้องร้องด้านเนื้อหา โดยจุดอ่อนสำคัญก็คือมาตราดังกล่าวมิได้ยกเว้นกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโทษฐานหมิ่นประมาทในกฎหมายอาญา
คดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน ถือเป็นคดีสำคัญที่ศาลพิจารณาตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยศาลระบุว่า “เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328”
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเรียกร้องให้ระงับการใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับเนื้อหาการแสดงออกในทุกกรณี
อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน