วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554


"สัก" นำสภาทนายความแถลงต้านนิติราษฎร์
ชี้นักการเมืองโกงเลวร้ายกว่ารัฐประหาร



วันที่ 27  ก.ย. เว็บไซต์สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2554 เรื่อง "คำแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์"โดยมีเนื้อหาระบุว่า


          ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์ประกอบด้วยอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน 7 คน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" และการชี้แจงเพิ่มเติมของกลุ่มดังกล่าวสรุปได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีตัวอย่างในต่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วนั้น

          สภาทนายความเห็นว่า ประเด็นการนำเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ อาจทำให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในระบบประชาธิปไตยภาคปฏิบัติของประเทศอย่างถ่องแท้ที่แตกต่างกับนักวิชาการและโดยที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ของสภาทนายความในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้รู้เท่าทันกลไกการเมืองและนักวิชาการบางท่าน

 สภาทนายความจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายอันอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปดังนี้


           1. สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรมเนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผล ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร

          รัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหารก็ดี สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้อำนาจตุลาการที่มีการดำเนินการหลังการรัฐประหาร มีส่วนที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน มีการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีส่วนในการสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่สังคม ซึ่งไม่ควรให้ตกเป็นเสียเปล่า หรือไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรัฐบาล และรัฐสภาในปัจจุบันต่างก็มีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารทั้งสิ้น อันไม่สมควรให้สิ้นผลตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์

         2. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นการช่วยให้การสอบสวนในคดีที่มีความสับสนและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่มีกลไกสนับสนุนจากนักการเมือง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปฟ้องยังศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาในศาลฎีกาดังกล่าว เป็นศาลและวิธีพิจารณาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และมีบางคดีที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่จาเลยได้เป็นอย่างดี

          3. ความผิดทางอาญาตามมาตรา112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นตัวบทกฎหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อยู่ในทุกรัฐธรรมนูญเมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงไม่อาจดำเนินการใดๆ โดยลำพัง การดำเนินการใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีบทบัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น มาตรา 112 ดังกล่าว จึงมุ่งที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้ความสำคัญเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษรุนแรง สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดังกล่าว

         4. การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย มีมาหลายฉบับแล้ว ในฉบับหลังๆ มักจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน การนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้บังคับ ย่อมทำให้ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนย่อมต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของกลุ่มนักการเมืองและพวกพ้องย่อมต้องได้รับการคัดค้านอย่างเต็มที่

          5. อย่างไรก็ตามการที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ชี้แจงเวลาต่อมาว่า มิได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป แต่ที่ให้ลบล้างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากมีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร สภาทนายความเห็นว่า เป็นการเลือกใช้หลักการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่ตนเองต้องการสนับสนุนเท่านั้น มิได้ยึดถือหลักการที่ต้องใช้เป็นการทั่วไป
          6. ตัวอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอว่าเคยมีกรณีลบล้างคาพิพากษาและการกระทำที่เสียเปล่าในนานาอารยประเทศนั้นเป็นกรณีการกระทาที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการที่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการรัฐประหารและทำการตรวจสอบความผิดของผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอีกทั้งในประเทศไทยก็เคยมีกรณีที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

           การยกตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ความเสียเปล่าของกลุ่มนาซี กลุ่มเสียเปล่าในระบบวิซี (Vichy) ในประเทศฝรั่งเศสรวมถึงคำพิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยนาซีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในประเทศกรีกและในประเทศตุรกีนั้นสภาทนายความเห็นว่า ระบบการเมืองและระบบกฎหมายของประเทศที่กล่าวอ้างมานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใดเพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่นทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา

            7. สภาทนายความขอตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ส่วนที่เป็นผลร้ายต่อนักการเมืองในอดีตเป็นอันสูญเปล่า เสียไป แต่กลับเป็นประโยชน์ต่ออดีตนักการเมืองมากกว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าการโกงบ้านโกงเมืองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคนและกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่ประชาชนให้การรับรองประชาชนควรต้องติดตามตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายสัก กอแสงเรือง
สภาทนายความ
27 กันยายน 2554
http://redusala.blogspot.com

อดีตคณบดีนิติฯ มธ. ตอบคำถามอธิการบดี 15 ประเด็น กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์
อดีตคณบดีนิติฯ มธ. ตอบคำถามอธิการบดี 15 ประเด็น กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์

         พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540 และ ส.ว. จากการเลือกตั้งสมัยแรก ตอบคำถาม 15 ประเด็นที่ ศ. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตั้งคำถามต่อนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาเสนอให้ลบล้างผลพวงแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน2549

          โดยเขาโพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งประชาไทขออนุญาตนำเผยแพร่อีกครั้ง และเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ประชาไทได้นำคำถามของ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเรียบเรียงในลักษณะ ถาม-ตอบ ดังนี้

1. เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่นการยกเลิก รธน. 2549

          ตอบ นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกรธน. 2549 แต่ให้ถือว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารตามมาตรา 37 ไม่เกิดผลตามกฎหมาย

2. ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่

          ตอบ ตามป.วิอาญา การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งโดยหลักการพิจารณาคดีก็ต้องถือว่าไม่ชอบทั้งหมด แต่ศาลไทยบอกไม่เป็นไร หากพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยได้ ซึ่งก็เหมือนกับการยอมรับว่าการรัฐประหาร(การกระทำความผิดฐานกบฎ)เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากทำสำเร็จนั้นเอง

3. ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่

          ตอบ ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของทักษิณ เกิดจากรธน. 2540 ที่มิได้มีที่มาจาการรัฐประหารเหมือน รธน.2550 หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าศาลตัดสินผิดก็น่าจะมีการออกกฎหมายมาให้รื้อฟื้นคดีใหม่ได้ โดยไม่ต้องยกเลิกรธน. 2540 ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายฐานกบฎ (การทำรัฐประหาร)

4. ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่


          ตอบ เป็นคำถามประเด็นเดียวกันกับคำถามที่ 1 คำตอบก็คือไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เป็นการยกเลิกเพิกถอนผลของการกระทำที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5. รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?

          ตอบ พูดได้ เพราะมีการหลอกลวงขู่เข็ญบังคับให้ประชาชนลงมติ จึงเป็นการลงประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่

          ตอบ คตส.ตั้งโดย คมช.แน่นอน ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่ง คมช.เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน ดังนั้น เมื่อการกระทำรัฐประหารของคมช.เป็นการกระทำที่ละเมิดบทบัญญัติมาตรา 63 แห่งรธน. 2540 และเป็นความผิดฐานกบฎตามป.อาญามาตรา 113 ทั้งคตส.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองจึงเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยกันทั้งคู่

7. การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกทักษิณเลยใช่หรือไม่
          ตอบ ตามที่นิติราษฎร์แถลง มีผลโดยตรงแน่นอน คือต้องพิจารณาคดีใหม่โดยกระบวนการยุึติธรรม ที่ชอบด้ยหลักนิติธรรม ถ้ากระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาก็ต้องถูกลงโทษ

8. มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่

          ตอบ ป.อาญา ม.112 เท่าที่มีการตีความและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีผลขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานตามรธน.ของประชาชนโดยสิ้นเชิง แต่อาจไม่ขัดแย้งกับรธน.2550 เพราะเจตนารมณ์ของผู้ร่าง (สสร. 2550) ไม่ถือว่าขัดแย้งอยู่แล้ว

9. ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่

          ตอบ ทุกประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศ แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเช่นเยอรมัน อังกฤษ อเมริกา เขาถือว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามหลักนิติธรรม ประมุขของประเทศจึงอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากมีการกระทำใด ๆที่มีผลต่อการเมืองการปกครองของประเทศไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

10. ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่

          ตอบ หากท่านคิดจะไปโต้แย้งกับนิติราษฎร์ ท่านอธิการก็จัดเวทีที่ธรรมศาสตร์สิครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าโห่ฮาท่านแน่นอน
11. ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาศ สฤษฏ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ

          ตอบ การประกาศให้ผลของการรัฐประหาร ไม่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดฐานกบฎ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนลงประชามติตามที่นิติราษฎร์เสนอ เป็นการยกเลิกการนิรโทษกรรมที่กำหนดไว้ใน รธน. 2550 ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่ถามว่าทำไมไม่ยกเลิกผลของการกระทำรัฐประหารของสุจินดา ถนอม สฤษดิ์ จอมพล ป. ปรีดี แล้วเอาตัวคนเหล่านี้มาลงโทษฐานกบฎด้วย เห็นด้วยว่าสมควรทำในสิ่งที่ยังพอกระทำได้ เช่นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำรัฐประหารเหล่านั้น (โดยเฉพาะผู้ที่ถูกลงโทษโดยไม่ผ่านการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม) แต่การนำตัวผู้กระทำรัฐประหารมาลงโทษคงกระทำไม่ได้แล้วเพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ตายไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่คดีก็ขาดอายุความหมดแล้ว

12. ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่

          ตอบ ช่วยเสนอให้หน่อยว่าความเห็นของท่านที่ดีกว่าของนิติราษฎร์ คือ อย่างไร ถ้าดีกว่าจริงจะขอสนับสนุนเต็มที่เลย ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วยกัน
13. ศาลรธน. ช่วยนายกทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่


          ตอบ ตุลาการภิวัตน์ คือตุลาการที่ยอมตนเป็นเครื่องมือและอาวุธให้แก่ผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ใช้เพื่อประหัตประหารและทำลายล้างศัตรูของตน ตุลาการศาลทั้งในคดีซุกหุ้นและคดียึดทรัพย์ทักษิณ จึงเป็นตุลาการภิวัฒน์ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าในคดีซุกหุ้นตุลาการภิวัตน์เป็นฝ่ายแพ้

14. บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่

          ตอบ บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรธน.2550 และฉบับอื่นทุกฉบับไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่มีฉบับใดดีกว่ากัน เพราะตราบใดที่ตุลาการไทยยังยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือผู้ที่ได้อำนาจอธิปไตยมาโดยรถถังและปืนและอำนาจอธิปไตยไม่ใช่อำนาจของประชาชน
15. คมช. เลว สสร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก สสร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่สสร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็นสสร.ที่ดีใช่หรือไม่”

          ตอบ ไม่ใช่เรื่องใครดีใครเลว แต่เป็นเรื่องของหลักการในทางนิติศาสตร์ ที่จะต้องมีการยืนยันว่าระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของประชาชนและระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย นักกฎหมายควรจะยืนอยู่ข้างใดมากกว่า

------------------------------------------------------------------------------------------------------

ต่อไปนี้เป็นคำตอบของคุณ : พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 ตัดตอนมาจาก "บทวิพากษ์ ข้อโต้แย้งของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ : กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์ (สังเขป)" 


 1. สมคิด ถามว่า "เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน. 2549"

คำตอบ คือ ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ 49 ถูกรับรองการก่อผล (ของรัฐธรรมนูญปี 49) ให้ดำรงอยู่โดยชอบด้วยมาตรา 309 ตามรัฐธรรมนูญ 50 หมายความว่า รัฐธรรมนูญ 50 ได้ผนวกเอา "สภาวะทางกฎหมาย" ของรัฐธรรมนูญ 49 เข้าไว้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 50 นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ 7841/2553 (คดีที่คุณฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คมช.) เพิ่งพิพากษาเมื่อปี 53  (ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 แล้ว) ก็ได้อ้าง ผลบังคับของรัฐธรรมนูญ 49 ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย ในปัจจุบัน

2. "ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"

ตอบ ดูตอนท้าย ในส่วนที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ ปรกติ (คลิกอ่านที่นี่)

3. "ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. 2540 ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่"

ตอบ ได้ถ้าคุณใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ

4."ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่"

ตอบ ย้อนไปดูคำตอบในข้อ 1.

5. "รธน.2550 ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. 2550 ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?"

ตอบ สมคิด ได้อ่านข้อเสนอนิติราษฎร์หรือไม่ เพราะหากอ่านแถลงการณ์ นิติราษฎร์ไม่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของ รธน 49 และ 50 และไม่ปฏิเสธความชอบธรรมในระดับหนึ่งของประชามตินั้นด้วย แม้จะไม่เป็นประชามติโดยแท้ (เลือกในสิ่งที่ไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน) ,  และนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไปลงประชามติ อีกครั้ง เช่นนี้ สมคิด จะตื่นเต้นอะไรครับ? เนื่องจาก นิติราษฎร์ มุ่งกำจัดสิ่งปฏิกูลของคณะรัฐประหาร และนำตัวพวกเขาเหล่านั้นมาลงโทษก่อกบฎ ทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน

6. "คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่"

ตอบ ไม่ใช่ แต่ คตส. ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศ คปค. เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนพิจารณาของศาล และนิติราษฎร์กล่าวชัดว่า ศาลฎีกาฯ ตัวองค์กรตั้งมาก่อนแล้ว แต่กระบวนการทางคดี มิชอบ (โปรดดูตอนท้าย ที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ เพิ่มเติม - คลิกอ่านที่นี่)

7. "การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกฯทักษิณเลยใช่หรือไม่"

ตอบ การกระทำความผิดหรือไม่ผิด ของทักษิณ ยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่กระทำ และอายุความก็ยังคงนับไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ป.ป.ช. ซึ่งต้องถูกรีเซ็ตองค์กรใหม่ จะฟ้องทักษิณ ก็ยังคงทำได้จนกว่าจะหมดอายุความ ทั้งนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ การลบล้าง คือ ไม่เคยมีการฟ้อง มาก่อน

8. "มาตรา 112 ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. 2550 ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่"

ตอบ ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทุกฉบับครับ สมคิด ควรตอบให้ตรงๆ เลยว่า ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดทางวาจา (มาตรา 112) กับ โทษ เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นรากหรือแก่น ของรัฐธรรมนูญในนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือมาตรชี้ ที่นิติราษฎร์เสนอว่า ขัดรัฐธรรมนูญครับ (ไม่ว่าจะมี รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 หรือไม่ก็ตาม)

9. "ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่"

ตอบ คุ้มครองครับว่า จะจับกุมคุมขังมิได้ เป็นเอกสิทธิ์ประมุขแห่งรัฐ เช่น ประมุขรัฐหนึ่ง เอาปืนยิงคน เช่นนี้จับกุมไม่ได้ ต้องถอดจากตำแหน่งเสียก่อน (เช่นการประหาร พระเจ้าหลุยส์ ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ freedom of expression เป็นคนละเรื่องกับ immunity of head of state ใน sense แบบนิติรัฐเสรีประชาธิปไตย นะครับ

10. "ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่"

ตอบ ผมไม่ใช่หมอดู หมอเดา หรือสุนัขรับใช้รัฐประหาร ที่จะตอบคำถามแบบนี้นะครับ

11. "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"

ตอบ นิติราษฎร์ เสนอว่า ให้ยกเลิกบรรดา "รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถ้ากรณีใดเข้าข่าย ต้องเอาผิดทั้งสิ้น, แต่บางกรณีบังคับการไม่ได้โดยสภาพ เช่น นำ ผิน ชุณหะวัณ มาประหารชีวิตตอนนี้ ซึ่งเขาตายไปแล้ว ผลคือ คดีอาญาระงับ ไงครับผม, สำหรับกฎหมาย เราให้ล้างหมด แล้ว valid ทีหลัง (ในทางสัญลักษณ์)

12. "ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่"

ตอบ ไปถามรัฐบาลนะครับ อย่าคิดเอาเองแบบพวกนักรัฐประหาร นะครับ

13. "ศาลรธน. ช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่"

ตอบ ผมไม่สนว่าใครช่วยใคร แต่ทุกคนจะถูกดำเนินคดีต่อเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติ ไม่ถูกก่อตั้งสถานะและอำนาจโดยการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งสถานะและอำนาจดังกล่าว เป็นบ่อเกิดของตุลาการภิวัตน์) ถามว่า กรณีซุกหุ้น ศาลพิพากษาโดยผ่านกระบวนการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่? ตอบคือ ไม่ ศาลพิพากษาในระบบกฎหมายปกติ และไม่ล้มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การล้มผลการเลือกตั้ง โดยขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นต้น

14. "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. 2550 แย่กว่า รธน. 2540, 2475 ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่"

ตอบ สมคิด ครับ รัฐธรรมนูญ เกิดทีหลัง ประชาชน ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก่อนแล้ว ; ฉะนั้น แม้จะไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพ ถามว่า ประชาชน จะไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือ? คำตอบคือ ไม่ เขายังมีบริบูรณ์ทุกประการ ; สังเกต จากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของอเมริกา นะ เขียนเชิง negative ตลอดเลย คุณไม่ต้องไปเขียน เพราะยิ่งเขียน มันยิ่งแสดงอำนาจรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพเข้าไปเรื่อยๆ ล่ะครับ

15. "คมช. เลว ส.ส.ร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.2550 ที่มาจาก ส.ส.ร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่"

ตอบ รัฐบาล ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ นะครับ รัฐบาลคลอดมาจาก เจตจำนงของประชาชน , รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฐานรับรองที่มาของรัฐบาล (ว่าให้มาจากการเลือกตั้ง แบ่งเขตอย่างไร) เป็นเพียง "วิธีการ" ซึ่งจะเลวหรือไม่ ต้องถามประชาชน หรือถ้าตอบว่า เลว แล้วถามต่อไปว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เลวหรือไม่ ในเมื่อคลอดรัฐธรรมนูญ (อย่างน้อยในการยกร่างฯ) มาจาก ผู้ร่างฯ ตรรกะเดียวกัน

16. "ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร.ที่ดีใช่หรือไม่”

ตอบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า วรเจตน์ บอกว่า เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทราบเพียงว่า ถ้าเข้าแล้วทำได้ตามประกาศนิติราษฎร์ ก็จะไป ซึ่งจะเป็นส.ส.ร. ที่ดีหรือไม่ ผมตอบคุณสมคิด ไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่า ส.ส.ร. ชุดที่มาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสถาบันการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่ ตอบว่า ส.ส.ร. ซึ่งมีที่มาดังกล่าว ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ครับ

---------------------------------------------------------------------------------
ต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นของ : อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


 "สมคิด เลิศไพฑูรย์ กับ ความเป็นมาของ สิทธิ มิแรนด้า"


ขอเรื่อง สมคิด นิดนะ พอดี มีข้อหนึ่งที่เขาเขียน เดิมผมเตรียมจะพูดในงานนิติราษฎร์ แต่ไม่มีเวลา นี่เสียดายไม่ได้พูดไป จะได้ไม่ต้องมาเขียน

"ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"
ความจริง การเรียบเรียงคำของสมคิดนี้ไม่รัดกุมเลย (เสียทีที่เป็น...ศาสตราจารย์กฎหมาย) ตอนแรกที่ใช้คำว่า "ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด" นั้น คลุมเครือเกินไป ไม่สอบสวนโดยละเอียด ความจริง ไม่ใช่ปัญหากระบวนการทางกฎหมาย (due process of law) เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ (incompetence) ของพนักงานสอบสวนหรืออัยการ ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ศาลจะบอกว่าเป็นไรหรือไม่เป็นไร และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการดีเบตนิติราษฎร์เท่าไร

ถ้าให้ดีสมคิดควรเรียบเรียงคำใหม่ ยกตัวอย่างซึ่งจะเกี่ยวกับกรณีทีกำลังดีเบตนิติราษฎร์อยู่ และเป็นปัญหาสำคัญมากๆ (ที่เดิมผมคิดจะพูด) ในลักษณะนี้ คือ สมมุติว่า

- คนร้ายทำความผิดจริง 

[ในตัวอย่างนี้ ผมจะข้ามประเด็นเรื่อง presumed innocent ไปเลย คือ ให้สมมุติกันเลยว่าคนที่โดนดำเนินคดีนี้ ผิดแน่ๆ ใครๆ ก็เห็น ใครๆ ก็รู้ เช่น นาย ก ข่มขืน แล้วฆ่าเด็กหญิงคนหนึ่ง ทุกคนรู้ แบบไม่มีข้อโต้แย้งเลยว่า ทำจริงๆ]

- ในระหว่างการสอบสวน พนักงานตำรวจได้ทำหรือใช้วิธีการที่ไม่ค่อยชอบมาพากลทางกฎหมาย (คือไม่ใช่แค่ "ไม่ละเอียด" เท่านั้น)


- คดีขึ้นศาล และศาลตัดสินว่าผิด


คำถามคือในกรณีแบบนี้ (ซึ่งนี่คือสิ่งที่สมคิดตั้งเป็นคำถามสมมุติข้างต้น) เราควรถือว่า "คำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่" (ขอย้ำว่า ให้สมมุติตกลงร่วมกันเลยว่า หมอนั่นที่ถูกตัดสิน "ทำผิดจริง" (คำของสมคิด) แน่ๆ)
คำตอบที่ถูกต้อง และควรจะเป็น ต่อคำถามของสมคิดว่า "คำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่" คือ "ไม่" NO ตัวใหญ่ๆ เลย (ในการตั้งคำถามของสมคิดเห็นได้ชัดว่า เขาต้องการจะบอกว่า "ให้ใช้ได้สิ")

นี่เป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนมาก หรืออาจจะส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ไม่เข้าใจ คือประเด็นเรื่องความสำคัญของ "วิธีการ" ในการดำเนินการเอาผิดคน

ในประเทศอารยะ ที่มีระบบบกฎหมายเข้มงวดนั้น ควรถือว่า "วิธีการ" สำคัญมากๆ สำคัญยิ่งกว่าตัวคำตัดสินเสียอีก


ทำไม?


ก็เพราะว่า ถ้าเรายอมรับ "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" ที่ไม่ชอบมาพากล ที่ผิดหลักการแล้ว ต่อให้ในเฉพาะกรณีที่พูดถึง คนที่ถูกตัดสิน "ทำผิดจริง"


ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่คนอื่นๆ ที่บริสุทธิ์ ที่อาจจะต้องมาผ่าน "กระบวนการ" แบบนี้สักวันหนึ่ง ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของคนที่ "ทำผิดจริง" นั้นด้วย (คนทำผิดจริง ก็มีสิทธิบางอย่างที่ละเมิดไม่ได้ เช่นเดียวกับคนทั่วไป - นี่เป็นประเด็นที่ "สังคมไทย" ไม่เข้าใจเช่นกัน การละเมิดสิทธิของ "คนทำผิดจริง" ก็จะเป็นผลเสียต่อบรรทัดฐาน ที่จะต้องใช้ปฏิบัติต่อคนที่ไม่ทำผิดด้วย)


อย่างที่ผมบอกว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญ ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ เรียกว่า เป็น "วัฒนธรรม" ทางกฎหมายหรือทางสังคมอย่างหนึ่งก็ได้

ที่น่าเศร้าคือ ประเด็นนี้ แม้แต่คนที่ "มีการศึกษา" จบเมืองนอกเมืองนา ก็ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมให้ความสำคัญ
.....
แต่ยิ่งกว่าน่าเศร้า (น่ากลัว น่าห่วงด้วย) คือ คนระดับศาสตราจารย์ทางกฎหมาย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดในเมืองไทย (นิติ มธ.) ก็ยังไม่เข้าใจ ยังอุตส่าห์ ตั้งเป็นคำถามและตอบในลักษณะเดียวกันด้วย


ให้ผมเล่ากรณีสำคัญทางประวัติศาสตร์มากๆ ในสหรัฐ ที่รู้จักกันในนาม   "สิทธิ   มิแรนด้า" (Miranda right)


ใครที่ชอบดูหนังฮอลลิวู้ด เกี่ยวกับตำรวจหรือศาล (cop show, legal drama) จะต้องเคยเห็นว่า ในระหว่างการจับผู้ต้องหานั้น ตำรวจจะต้อง "อ่าน" คือบอกคนถูกจับ ทำนองนี้
"คุณมีสิทธิที่จะเงียบ อะไรที่คุณพูดขึ้นมาต่อจากนี้ สามารถใช้เล่นงานคุณในศาลได้ คุณมีสิทธิที่จะมีทนาย ถ้าคุณไม่สามารถหาทนายได้ เราจะจัดหาทนายให้..."
เรื่องนี้มีความเป็นมา ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นทักษิณ และข้อเสนอนิติราษฎร์ ระหว่างอ่าน ผมขอแนะนำให้ผู้อ่าน ลองนึกในใจ เรื่องคดีทักษิณ (ที่ดินรัชดา, ยึดทรัพย์) และข้อเสนอนิติราษฎร์ (โมฆะคำตัดสิน แต่ให้ฟ้องใหม่ได้) แล้วก็คำถามสมมุติของสมคิดข้างต้น ตามไปด้วย

ในทศวรรษ 1960 นายโกเมซ มิแรนด้า ได้ทำการลักพาตัวหญิงสาวอายุ 18 ปีคนหนึ่ง แล้วข่มขืนเธอ (นี่คือ "ทำผิดจริง" ตามคำสมคิด และเป็นการผิดที่แรงมากๆด้วย)
ในระหว่างการสอบสวน 2 ชั่วโมงของตำรวจ มิแรนด้า ไม่ได้รับการบอกเรื่อง "สิทธิในการเงียบ" และ "สิทธิในการมีทนาย"

หลังจาก 2 ชั่วโมงของการสอบสวนของตำรวจผ่านไป มิแรนด้า ได้ลงนามในคำรับสารภาพ ว่าลักพาและข่มขืนจริง

ในเอกสารคำรับสารภาพที่ มิแรนด้า ลงนามไปนั้น ความจริง มีตัวอักษรพิมพ์กำกับอยู่ด้วยว่า "ข้าพเจ้าขอสาบานว่า ข้าพเจ้าลงนามเอกสารสารภาพนี้ ด้วยความสมัครใจ โดยไม่ได้ถูกข่มขู่ หรือบังคับ ... และด้วยความตระหนักเต็มที่ถึงสิทธิทางกฎหมายของข้าพเจ้า..."
ปรากฏว่า เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาลที่อริโซน่า ทนายความของนายมิแรนด้า (เป็นทนายที่ศาลตั้งให้) ได้ยื่นต่อศาลว่า คำสารภาพที่ลงนามไปนั้น ใช้ไม่ได้ เพราะระหว่างการสอบสวน ตำรวจไม่เคยบอก มิแรนด้า ว่า เขามีสิทธิจะเงียบ และมีสิทธิจะมีทนายความปรึกษาด้วยระหว่างการให้การกับตำรวจ

ศาลชั้นต้นอริโซน่า ไม่ยอมรับข้ออ้างนี้ (โปรดนึกถึงตัวอย่างของสมคิดในใจ) แล้วตัดสินว่า มิแรนด้า ผิดจริง จากหลักฐานคำให้การรับสารภาพที่ลงนามนี้ ให้จำคุก 20-30 ปี (รวมแล้วหลายๆ สิบปี เพราะหลายกระทง ศาลให้นับต่อกัน สมมุติ กระทงหนึ่ง 20 อีกกระทงหนึ่ง 30 ก็คือต้องติดคุก 50 ปี)

ฝ่ายจำเลย ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงของอริโซน่า ศาลสูงอริโซน่ายืนตามศาลชั้นต้น
(นึกถึงตัวอย่างสมคิด นี่เป็นสิ่งที่เขาสนับสนุน มองในแง่คนไทยทั่วไป ก็คงรู้สึกว่า การตัดสินเช่นนี้ เป็นเรื่อง "ดีแล้ว" เพราะ มิแรนด้า "ทำผิดจริงๆ" มิหนำซ้ำ ยังลงนามในเอกสารคำรับสารภาพด้วยซ้ำ)

แต่ปรากฏว่า เรื่องนี้ จำเลยได้ยื่นให้ ศาลสูงสุดของสหรัฐ (Supreme Court) พิจารณา ....

ในการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ ศาลสูงสุดของสหรัฐ ได้ลงมติ ยกเลิกคำตัดสินของศาลอริโซน่า (โมฆะคำตัดสินนั้น) เพราะถือว่า ตำรวจได้ทำผิด ไม่บอกให้มิแรนด้า รู้อย่างชัดเจนก่อนว่า เขามีสิทธิจะเงียบ และมีสิทธิจะมีทนายอยู่ด้วย ระหว่างให้การ เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ (ข้อแก้ไขที่ 5 และ 6)
ผลคือ คำตัดสินจำคุกหลายสิบปีของมิแรนด้า ถูกยกเลิกไป


มิแรนด้า ถูกดำเนินคดีใหม่ ขึ้นศาลใหม่ และฝ่ายอัยการ ต้องใช้หลักฐานอื่น ไม่สามารถใช้หลักฐานเอกสารคำสารภาพของมิแรนด้า แต่ในที่สุด มิแรนด้า ก็ถูกตัดสินว่าผิดจริง (โทษตามเดิม แต่ในที่สุด ได้รับการปล่อยตัวก่อน หลังจากนั้นไม่นาน ไปมีเรื่องกับคนอื่น แล้วถูกแทงตาย)

นี่คือ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากๆ ที่เป็น "เบื้องหลัง" ของสิ่งที่เรามาได้เห็นกันในหนังฮอลลิวู้ด ที่ตำรวจต้องอ่าน "สิทธิ มิแรนด้า" ให้คนที่ถูกจับก่อนเสมอ และต้องถามเจ้าตัวก่อนว่า "เข้าใจที่บอกนี้ไหม" และถ้าคนถูกจับ เรียกร้องขอมีทนาย จะต้องหาทนายให้ ทำการสอบสวนต่อไม่ได้ ฯลฯ (ผมเล่าแบบคร่าวๆ จริงๆมีรายละเอียดน่าสนใจกว่านี้).............................

ประเด็นที่อยากจะย้ำคือ วิธีการ หรือ "กระบวน" ที่ถูกต้อง (due process) เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำคัญยิ่งกว่า เรื่องที่ว่า "คนทำผิดจริง" (คำของสมคิด และนึกถึงตัวอย่างที่เขายกมา) สำคัญกว่าตัว "เนื้อหา" ของคดี หรือคำตัดสินด้วยซ้ำ


เพราะเรื่อง due process นี่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้กับทุกคน ไม่ว่าใครทั้งนั้น ต่อไปอีกในอนาคต รวมทั้งคนที่บริสุทธิ์ ที่จะต้องมีโอกาสเจอด้วย

นี่เป็นเรื่องของ "บรรทัดฐาน" ของสังคมโดยรวมว่า เราต้องการสังคมแบบไหน
แบบที่ไม่คำนึงถึง "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" อะไร ขอแต่ให้ ในเมื่อ "หมอนั่นผิดจริง" ก็ไม่ต้องสนใจว่า ในการนำเขามาขึ้นศาล และมีคำตัดสินนั้น มี วิธีการ ที่ "หละหลวม" หรือ ไม่ชอบมาพากลอย่างไร


หรือ เราต้องการสังคมที่เคารพในสิทธิของทุกคน แม้แต่คนที่เรามั่นใจเต็มที่ว่า "ผิดจริง" (ขอให้นึกถึงกรณี มิแรนด้า ว่า เขาทำผิดร้ายแรงขนาดไหน) สังคมที่สร้างบรรทัดฐาน หรือ กระบวนการที่ถูกต้อง ในการได้มาซึ่งคำตัดสิน เพราะกระบวนการที่ถูกต้องนั้น จะใช้บังคับกับคนอื่นๆ ทุกคนด้วย
http://redusala.blogspot.com

"กลุ่มทนายความและนักกม.เพื่อสิทธิมนุษยชน"
สวน "สัก กอแสงเรือง"-แถลงหนุนนิติราษฎร์


           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภาทนายความ ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน" ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ อาศัยชื่อสภาทนายความ ออกแถลงการณ์โจมตีข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยาฯ 49 ของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ มีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
เรื่อง คัดค้านแถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554

อ้างถึง แถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554ลว. 27กันยายน 2554

          ตามที่สภาทนายความได้ออก แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2554 ขอแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ความละเอียดปรากฏตามที่อ้างถึงนั้น

          กลุ่มทนายความและนักกฎหมายดังปรากฏรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2548 และนักกฎหมายที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมีความวิตก กังวลต่อสาระสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว ที่อาจนำความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของทนายความโดยรวม โดยเหตุที่สภาทนายความมี 2 สถานภาพทางสังคมกล่าวคือ สภาทนายความเป็นสถาบันวิชาชีพที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ที่จะเป็นทนายความ ซึ่งทนายความถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการเพื่อส่ง เสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) ร่วมค้นหาความจริงกับอัยการและผู้พิพากษาต่อการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีอาญาเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และยังมีหน้าที่ “ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และปฏิบัติตน ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ”[1] อีกสถานภาพหนึ่ง
          สภาทนายความพึงเป็นสถาบันของสังคมในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สภาทนายความเป็นแถวหน้าของผู้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยมและผลักดันให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สภาทนายความจึงเป็นสถาบันของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและเสาหลักหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย สภาทนายความจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมแก่เกียรติภูมิของสมาชิกและประชาชนในสังคมประชาธิปไตย สภาทนายความต้องยึดมั่นในหลักการสำคัญของหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันนานาอารยประเทศยึดถือด้วย แต่จากแถลงการณ์ของสภาทนายความ ตามที่อ้างถึง กลุ่มทนายความฯ ขอแสดงความคิดเห็น ดังนี้

          ข้อ1 แถลงการณ์ของสภาทนายความ ข้อ 1 กล่าวว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรม ....สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ...สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจ เงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหาร และอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร”

          กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า“การรัฐประหารทุกครั้งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและทำลายกลไกของระบอบ ประชาธิปไตย” ที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องออกมาประณามการกระทำที่ไร้เกียรติ ไร้สติ และมิอาจอ้างมูลอันชอบด้วยหลักการใดๆในสังคมรัฐเสรีประชาธิปไตยได้ และต้องถือว่า “การรัฐประหาร” ถือเป็นอาชญากรรมต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ทั้ง ผู้ก่อการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันตามความหนักเบาแห่งการกระทำ โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ตามแถลงการณ์ดังกล่าวการที่สภาทนายความยอมรับการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยอ้างว่า หากรัฐบาลฉ้อฉล ใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็สามารถให้อำนาจนอกระบบล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชนได้ ซึ่งเท่ากับสภาทนายความสนับสนุนอาชญากรรมต่อความมั่นคงของรัฐ และระบอบประชาธิปไตย

          ข้อเสนอของสภาทนายความ ในข้อนี้ กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า เป็นการทำลายหลักนิติธรรม และระบอบประชาธิปไตย อันนำความเสื่อมเสียมาสู่เกียรติภูมิของสภาทนายความ

          ข้อ 2 แถลงการณ์สภาทนายความที่เห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ คือ เมื่อ คตส.สอบสวนเสร็จแล้ว ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในที่สุด นั้น

          กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ที่มาของ คตส. มาจากการการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ในขณะนั้น คมช. ถือเป็นองค์กรของอาชญากร ที่ยึดอำนาจโดยมิชอบมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คมช.จึงไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศมาตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้ดำเนินการใด ตามอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย เทียบเคียงได้กับภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผลของต้นไม้พิษ (Fruit of the poisonous tree) ย่อมมีพิษ” การดำเนินการของ คตส. โดยมาจากต้นไม้ที่ไม่ชอบ คตส.ย่อมเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่า คตส. ได้ดำเนินกระบวนการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หรือไม่ เพราะมีที่มาโดยมิชอบ

          ประการต่อมา นายกสภาทนายความ (นายสัก กอแสงเรือง) มิอาจอ้างเหตุผลข้อนี้มาอ้างความชอบธรรมในแถลงการณ์ของสภาทนายความได้ เพราะนายกสภาทนายความมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการได้รับการแต่งตั้งจากคมช. ให้เป็นหนึ่งในกรรมการ คตส. การปกป้องตนเองที่ทำหน้าที่ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยมิชอบ อาจทำความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของทนายความโดยรวม และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนทนายความรุ่นหลัง

          ข้อ 3 สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น

          กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า สภาทนายความจำเป็นต้องแสดงจุดยืนในการเคารพต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากมีการใช้กฎหมายข้อหานี้ ทำลายผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากตน และเป็นการให้อำนาจแก่ใครก็ได้ในการแจ้งความดำเนินคดีบุคคลอื่น โดยอาศัยกฎหมายข้อหานี้ การแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อประเพณีของชาติ หรือขัดแย้งต่อประวัติศาสตร์หรือขนบธรรมเนียมของประเทศ หรือเป็นการลดเกียรติยศของพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ตรงกันข้าม การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการทำลายพระเกียรติ และทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสังคม ขณะเดียวกัน การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนในสังคมไทย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

          กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนว่า สังคมใดจะเป็นสังคมที่เจริญและสงบสุขได้นั้น สถาบันต่างๆในสังคมต้องยึดมั่นต่อ หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านอำนาจที่มิชอบ เช่น การรัฐประหาร ดังเหตุผลข้างต้น และขอเรียกร้องให้สภาทนายความ ในฐานะสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคม จงเป็นที่พึ่งแก่คนยากไร้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย และเป็นสถาบันที่ธำรงไว้ซึ่ง หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตย ตลอดไป

ณ วันที่ 28 กันยายน 2554

ลงชื่อ
          นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ์    ทนายความ
          นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า   ทนายความ
          นายศราวุฒิ ประทุมราช     นักกฎหมาย
          นางสาวพูนสุข พูนุสขเจริญ   ทนายความ
          นายพนม บุตะเขียว       ทนายความ
          นางสาวภาวิณี ชุมศรี       ทนายความ
          นายอานนท์ นำภา        ทนายความ
          นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี   ทนายความ
          นายสนธยา โคตปัญญา     นักกฎหมาย
          นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ  นักกฎหมาย
          นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์    นักกฎหมาย
          นางสาวเกศรินทร์ เตียวสกุล   นักกฎหมาย

...................................................................................

[1] พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528มาตรา 12สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาทนายความ
(4) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
http://redusala.blogspot.com