ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายทางการศึกษา มช. กลุ่มพลเรียนและชุนชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ลดสิทธิด้านการศึกษา 4 ประเด็น ยันจะไม่หนุนร่าง เว้นยกร่างฯใหม่ ให้การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรียนฟรีที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายทางการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม ม. เชียงใหม่ กลุ่มพลเรียน (Eduzen) และ ชุนชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ได้จัดงานเสวนา "การศึกษาในรัฐธรรมนูญไทย" ณ ห้อง 4509 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมี รศ.ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์การศึกษา จากวิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มช. และ ชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก นำอภิปราย
โดย ผู้จัดงานเสวนาฯ ระบุว่าข้อสรุปที่ได้จากการวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ระบุไว้ในความตาม หมวด 5 มาตรา 50 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ได้มีการยกร่างขึ้นมานั้น ทางเครือข่ายผู้จัดงานเสวนา ได้มีเห็นร่วมกันว่า ความที่ระบุไว้ตามมาตราดังกล่าว นำไปสู่การ “ลดทอนสิทธิทางการศึกษา” ในมิติด้านต่างๆ ดังที่ได้เคยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และ 2550 โดยจะส่งผลกระทบต่อ “แนวนโยบายและรูปแบบการปฏิบัติทางการศึกษา” ดังต่อไปนี้
- 1. นำไปสู่การลดทอนโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กเร่รอนและเด็กผลัดถิ่น ทั้งนี้ความในมาตรา 50 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ระบุว่า “การจัดการศึกษาให้ฟรีอย่างถั่วถึงจะครอบคลุมเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ (ซึ่งหมายถึง ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น)” เท่านั้น นั่นก็หมายความว่า เด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต้องการศึกษาระดับมัธยมตอนปลาย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ได้แก่ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าหนังสือเรียน ตําราเรียน ค่าชุดเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทางไปเรียน และค่าอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าว ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น ฉะนั้น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งในสายสามัญและสายอาชีวศึกษาของเด็กชายขอบและเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ก็จะถูกลิดรอนหรือลดทอนลง ทั้งนี้ก็เป็นปัญหาที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการศึกษาของชาติได้
- 2. นำไปสู่การลดทอนสิทธิ อำนาจและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ องค์กรศาสนาและองค์กรเอกชน ทั้งนี้ ความตามในมาตรา 50 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ” ซึ่งหมายถึงว่าให้รัฐมีสิทธิ์ “ผูกขาด” ในการการจัดการศึกษาเพียงเท่านั้น การจัดการศึกษาจึงไม่ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเหมือนในทศวรรษที่ผ่านมา
- 3. นำไปสู่การลดทอนคุณภาพการศึกษา ดังที่กล่าวมาข้างต้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด บทบาทในการจัดการศึกษา จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ถูกลดทอนลง โดยกำหนดให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการจัดการศึกษาผ่านนโยบายรวมศูนย์ที่จัดระบบการศึกษาให้เหมือนๆกันกับทุกโรงเรียน และกับผู้เรียนทุกกลุ่ม โดยไม่คำถึงบริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนที่อยู่บนพื้นที่สูงประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเฉพาะ การออกแบบและใช้นโยบายการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาที่มองข้ามบริบทเฉพาะและการขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากพื้นที่นั้นๆ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาในการจัดการศึกษา ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษา
- 4. นำไปสู่การลดทอน การเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาในส่วนของคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชน ซึ่งนับแต้มีการก่อตั้ง “วิทยุชุมชน” ก็ถูกใช้เป็นเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของผู้เรียน เช่น พื้นที่ ภาษา วัฒนธรรม เป็นต้น การจัดการและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อการศึกษา จึงถือเป็นสิทธิและหน้าที่ของปวงชน ทว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและไม่ได้ระบุว่าคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชนสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา
เครือข่ายผู้จัดงานเสวนาฯ จึงมีความเห็นร่วมสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า จะไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ยกเว้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะมีบัญญัติให้การจัดการศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยระบุให้มีการจัดการศึกษาฟรีที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 12 ปี และเปิดโอกาสให้ “ประชาชนในทุกภาคส่วน” ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง