วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาลโลกวันแรก กัมพูชาชี้ปัญหาเกิดจากการเมืองภายในของไทยเอง


ศาลโลกวันแรก กัมพูชาชี้ปัญหาเกิดจากการเมืองภายในของไทยเอง

กัมพูชาแถลงด้วยวาจาวันแรก ชี้ ไทยทำให้เกิดความคลุมเครือในการอ้างแผนที่ ระบุปัญหาการเมืองภายในไทยเป็นเหตุความขัดแย้ง ด้านกลุ่ม 'กำลังแผ่นดิน' นัดระดมพลปักธงชาติไทยที่ผามออีแดงวันที่ 17 เม.ย. นี้
เวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ศาลโลก กรุงเฮก เริ่มการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร ฝ่ายกัมพูชาได้เริ่มการแถลงด้วยวาจา โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาต่างเข้าร่วมในการพิจารณาวันแรก
สำหรับคำร้องของกัมพูชานั้น กัมพูชาอ้างว่าคำพิพากษาเดิมไม่ชัดเจน และไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยยังมิได้ถอนกำลังทหารหรือตำรวจออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยกัมพูชาให้เหตุผลว่า วรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเดิมไม่ระบุชัดเจนว่า “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน ดังนั้น กัมพูชาจึงขอให้ศาลฯ ตัดสินว่า ขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฏบน “แผนที่ภาคผนวก 1” ซึ่งแนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ตามที่กัมพูชาถ่ายทอดเส้นดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเห็นว่าบริเวณดังกล่าว มีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร
โดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ชี้แจงด้วยวาจาระบุถึงสาเหตุที่กัมพูชาต้องยื่นให้ศาลโลกตีความ คำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ.2505 (ค.ศ. 1962) เนื่องจากกัมพูชาต้องการความชัดเจนในเรื่องของเขตแดน อธิปไตยและบูรณภาพ อีกทั้งเป็นที่ทราบกันดีว่า ศาลโลกตัดสินไปแล้วว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในการครอบครองของกัมพูชา
ทนายความของฝายกัมพูชา ระบุด้วยว่าปัญหาระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของไทยเอง ซึ่งปี 2006 (พ.ศ. 2549) นั้น นายกรัฐมนตรีทักษิณ เป็นนายกนั้นไทยได้เห็นชอบกับการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ในเดือนกันยายนปี 2006 มีการรัฐประหาร ในวันที่ 17 พ.ค. 2007 (พ.ศ.2550) ประเทศไทยได้ส่งบันทึกช่วยจำมายังกัมพูชา มีการพูดถึงเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และอ้างเรื่องเขตแดนตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนที่ L7017 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ไทยจัดทำขึ้นมาฝ่ายเดียว และเป็นแผนที่ใหม่ที่เขียนว่า “ลับ” ไม่ได้เป็นแผนที่ที่อยูในเอ็มโอยู ปี 2000 (พ.ศ.2543)
พอมาถึงปี 2008 (พ.ศ.2551)ไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง และผู้แทนสองรัฐบาลได้ลงนามในแถลงการร่วมปี 2008 โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของทางกัมพูชา และ 7 ก.ค. ปี 2008 คณะกรรมการมรดกโลกได้เตรียมขึ้นทะเบียน แต่ ศาลปกครองของไทยได้ระบุให้ลงนาม MOU ระหว่างไทย-กัมพูชา ของรมต.ต่างประเทศไทยขณะนั้น (นพดล ปัทมะ) เป็นโมฆะ
กัมพูชาจึงต้องทำการประท้วงไปยังสมัชชาสหประชาชาติ ว่าแผนที่ใหม่ของไทยไม่สอดคล้องกับภาคผนวก และไม่สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาล และสิ่งท่ำไทยกำลังทำตอนนี้คือการพยายามรื้อฟื้นการตีความคำพากษาของศาลโลก
และนำมาสู่การร้องขอต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาศาลโลกอีกครั้ง
กลุ่มกำลังแผ่นดิน เตรียมปักธงที่ผามออีแดง 17 เม.ย.
สำหรับการเคลื่อนไหวในส่วนของประชาชนไทย เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า กลุ่มพลังจะรวมตัวกันในวันที่ 17 เม.ย. เพื่อรวมพลังนำ"ธงชาติไทย" ไปปักในพื้นที่เขาพระวิหาร โดยนายกิติศักดิ์ พ้นภัย หัวหน้ากลุ่มกำลังแผ่นดิน กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้นัดหมายกับกลุ่มพลังมวลชนทวงคืนแผ่นดินเขาพระวิหารทุกกลุ่มทุกเครือข่าย โดยในวันที่ 17 เมษายนนี้ จะรวมพลังชาวไทยผู้รักชาติจำนวนประมาณ 10,000 คนนำเอาธงชาติไทย ความสูง 21 เมตรขึ้นไปปักที่บริเวณเขาพระวิหาร หรือบริเวณภูมะเขือให้ได้ ซึ่งจะเริ่มรวมพลังกันตั้งแต่เวลา 07.00 น. บริเวณศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ จากนั้นจะเคลื่อนขบวนขึ้นไปบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งหากมีการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จะทำไม้ง่ามประมาณ 50 อันเพื่อใช้สำหรับผลักดันลวดหนามหีบเพลงที่ขวางถนนให้พ้นทาง เพื่อนำขบวนขึ้นไปบริเวณผามออีแดงให้ได้
ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่ไทย-กัมพูชา
หลังจากศาลโลกเคยมีคำสั่งเมื่อปี 2505 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่พิพาทบริเวณเขาพระวิหารก็ได้เกิดขึ้นระลอกใหม่ในปี 2551
โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ขณะเดียวกันพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ในปี 2551 ก็นำประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารมาเป็นประเด็นหนึ่งในการขับไล่รัฐบาล
และหลังจากที่ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็นำมาซึ่งความตึงเครียดอีกครั้งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยและกัมพูชา ได้ต่างเพิ่มกำลังทหารที่บริเวณชายแดน กระทั่งหลังเปลี่ยนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความขัดแย้งที่ชายแดนได้ลุกลามเป็นการปะทะเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2552
และต่อมาการปะทะระหว่างกองกำลังไทยและกัมพูชาได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในปี 2553 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ทำให้ต่อมารัฐบาลกัมพูชาต้องขอคำสั่งคุ้มครองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาได้ออกคำสั่งให้ทั้งสองประเทศต้องถอนกำลังทหารในวันที่ 18 กรกฎาคม 2554
กระทั่งล่าสุดเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555 หรืออีก 1 ปีต่อมาทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชามีการถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารรอบปราสาทพระวิหารเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
























ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ถ่ายทอดสดการให้การทางวาจา พร้อมแปลเป็นภาษาไทยทันทีคำต่อคำ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะถ่ายทอดผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ (๑) เว็บไซต์ที่กระทรวงฯ จัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ทาง www.phraviharn.org  (สามารถเลือกฟังเสียงภาษาที่ใช้จริง เสียงภาษาอังกฤษ และเสียงภาษาไทย) (๒) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑) (๓) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM ๙๒.๕ และ AM ๘๙๑ และ (๔) สถานีวิทยุสราญรมย์ AM ๑๕๗๕
โดยวันนี้เป็นการแถลงด้วยวาจาของฝ่ายกัมพูชา ส่วนกำหนดการแถลงด้วยวาจาของทั้ง 2 ฝ่ายมีดังนี้
วันจันทร์ 15 เมษายน 2556 - โดยกัมพูชา
เวลากรุงเฮก   เวลากรุงเทพ
10.00 น. – 13.00 น. 15.00 น. – 18.00 น.
15.00 น. – 16.30 น. 20.00 น. – 21.30 น.
           
วันพุธ 17 เมษายน 2556 - โดยไทย
เวลากรุงเฮก   เวลากรุงเทพ
10.00 น. – 13.00 น. 15.00 น. – 18.00 น.
15.00 น. – 16.30 น. 20.00 น. – 21.30 น.
           
รอบสองของการให้การทางวาจา
วันพฤหัสบดี 18 เมษายน 2556 - โดยกัมพูชา
เวลากรุงเฮก   เวลากรุงเทพ
15.00 น. – 17.00 น. 20.00 น. – 22.00 น.
           
วันศุกร์ 19 เมษายน 2556 - โดยไทย
เวลากรุงเฮก   เวลากรุงเทพ
15.00 น. – 17.00 น. 20.00 น. – 22.00 น