สรุปคำให้การยื่นต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้าง
ข้าพเจ้า ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ต้องหาที่ 1 และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ต้องหาที่ 2 ขอยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ดังนี้
ข้อ 1. การออกแถลงการณ์เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะมารวมและร่วมกันออกแถลงการณ์เป็นการเฉพาะเจาะจงต่อรัฐบาลแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลมาจากการพบปะเพื่อประชุมวิชาการในโครงการวิจัยเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กระบวนการทำงานวิจัยจัดให้มีการประชุมเป็นระยะตลอดมา
ข้าพเจ้าทั้งสองในฐานะนักวิจัย ไม่ได้มีเจตนาที่จะมารวมกันเพื่อออกแถลงการณ์ดังกล่าว หากแต่เป็นการเตรียมการที่ดำเนินมาตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัย แต่ประเด็นของการออกแถลงการณ์นั้นเป็นผลโดยตรง มาจากการกล่าวของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการนัดหมายประชุมทางวิชาการ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสื่อและเป็นข่าวซึ่งรับรู้กันทั่วไป ว่าได้สั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไปทบทวนการเรียนการสอน เมื่อนักวิจัยทุกทีมได้พบปะกันในคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2558 จึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และทั้งหมดมีความเห็นพ้องต้องกันเกรงกันว่าการพูด/ คำพูดของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้จะทำให้สาธารณะ/สังคมเกิดความเข้าใจผิดในการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงได้ตกลงใจที่จะออกแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้น
ในประเด็นสำคัญก็คือ โครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว” เป็นการวิจัยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบท ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระบวนการ “ประชาธิปไตย” ซึ่งได้แสดงออกในระดับพื้นที่ว่าการยอมรับความแตกต่างของความคิดเห็นได้ชักนำให้ชุนชนในพื้นที่ต่างๆ มีโอกาสในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยขึ้นมา การเรียนรู้จากการทำงานวิจัยในพื้นที่แต่ละแห่ง ล้วนแล้วแต่มีความหมายให้ทุกคนตระหนักถึงการยอมรับฟังเสียงอื่นที่แตกต่าง
หากพิจารณาแถลงการณ์อย่างละเอียดก็จะพบว่าไม่ได้มีถ้อยคำหรือความ ณ จุดใดเลยที่จะมองได้ว่าเป็นการ “ปลุกปั่น”, “ยุยง” หรือกล่าวว่าร้าย ความทั้งหมดมีเจตนาอย่างชัดเจนว่ามุ่งอธิบายให้แก่สังคมว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าไปได้ นักวิจัยทุกท่านในฐานะนักวิชาการที่ผูกพันตนอยู่กับสังคมจึงปรารถนาที่จะให้สังคมทั้งหมดเข้าใจ มองเห็นบทบาทและความหมายของวิชาการต่อสังคม และได้พร้อมใจกันร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านแถลงการณ์ดังกล่าว
ข้อ 2. ความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการและความเชื่อมโยงกับงานวิจัย
ในฐานะของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่สร้างการเรียนรู้ รวมถึงการแสวงหาความงอกงามทางปัญญาให้กับสังคม เห็นว่าความสำคัญของเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญอันเนื่องมาจากความรู้เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งและสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่สิ้นสุดอันนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เท่าทันกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิม และเห็นว่าหลักการพื้นฐานของเสรีภาพมีความสำคัญต่อการสร้างความก้าวหน้าของสังคม ดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกัน อาจจะทำให้เกิดความสงบได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจ จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น หากพิจารณาจากเนื้อหาทั้งหมดจากแถลงการณ์เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นในทางวิชาการ เสรีภาพในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เสรีภาพในการถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลระหว่างฝ่ายๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน อันนับเป็นหลักการพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในโลกปัจจุบันและในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อความงอกงามทางปัญญา การยืนยันถึงเสรีภาพของเหล่าคณาจารย์จึงเป็นการยืนยันถึงความชอบธรรมพื้นฐานที่ดำรงอยู่โดยทั่วไป ซึ่งได้รับการเคารพและยอมรับให้เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนทุกกลุ่ม
ข้อ 3. ข้าพเจ้าทั้งสอง ขอให้การว่า แถลงการณ์ของข้าฯและเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่อง “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” เป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และไม่เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
3.1 ข้าพเจ้าทั้งสอง เห็นว่าการยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและชี้แจงต่อสังคมถึงหลักการดังกล่าวข้างต้น อันเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการตามปกติ ซึ่งหากได้อ่านแถลงการณ์นี้อย่างไม่มีอคติย่อมสามารถเข้าใจเจตนาของข้าพเจ้าทั้งสองได้ เพราะได้เขียนชี้แจงถึงเหตุในการออกแถลงการณ์ไว้อย่างชัดเจน และเนื้อหาในแถลงการณ์ก็เป็นความเห็นทางวิชาการเท่านั้น ไม่มีเนื้อหาที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้บุคคลออกมาชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง เช่น ไม่มีเนื้อหาที่เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมทางการเมือง ไม่มีเนื้อหาในเชิงการนัดหมายที่จะจัดการชุมนุมทางการเมืองเมื่อไหร่ อย่างไร เป็นต้น
อีกทั้ง เนื้อหาตามแถลงการณ์ก็เป็นเพียงความเห็นทางวิชาการ ที่คนทั่วไปในสังคมจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณและความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งข้าพเจ้าทั้งสอง หาได้เชิญชวนให้บุคคลต้องมาเชื่อตามแถลงการณ์เท่านั้นดังกล่าวไม่ และภายหลังการจัดแถลงการณ์ของข้าพเจ้าทั้งสอง ก็ไม่มีการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองของกลุ่มบุคคลใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแถลงการณ์โดยตรงแต่อย่างใด
3.2 ข้าพเจ้าทั้งสอง เห็นว่าการแถลงการณ์ “เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา” ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5/2558 ข้อ 12 ประกอบข้อ 3 (4)
เนื่องจาก การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะที่ข้าพเจ้าทั้งสอง และเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ไม่ใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมทางวิชาการทั่ว ๆ ไป ที่ถือเป็นธรรมเนียมและเป็นภารกิจที่สำคัญของนักวิชาการในสังคมไทยที่ต้องการสื่อสารต่อสังคม ข้าพเจ้าทั้งสอง ไม่ได้จัดให้มีการชุมนุมหรือเปิดให้บุคคลอื่นเข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด อีกทั้งสถานที่จัดแถลงการณ์ก็เป็นสถานที่ปิดไม่ได้กระทำในที่สาธารณะ การให้สื่อมวลชนรายงานข่าวก็เพื่อให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริงและความเห็นของข้าพเจ้าทั้งสอง ในฐานะความเห็นทางวิชาการเท่านั้น และภายหลังงานแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้วก็มิได้มีการดำเนินการอื่นใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และไม่มีการชุมนุมมั่วสุมใดๆ อันจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองเกิดขึ้น การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
หากกิจกรรมเช่นนี้ถูกตีความเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย ก็ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางวิชาการจำนวนมากที่มีขึ้นเพื่อความงอกงามทางปัญญาและเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม เช่น การเสวนาวิชาการ การประชุมวิชาการ การปาฐกถาทางวิชาการ การนำเสนองานวิจัย การอบรมให้ความรู้ต่อชุมชนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่อาจดำเนินการได้ด้วยเช่นกัน หากเป็นเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่อาจประเมินค่าได้
3.3 ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ความผิดเรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว เนื่องจากมีการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้ภายหลัง อันเป็นผลให้มีการยกเลิกกฎหมายเก่า ดังนั้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และการกระทำของข้าพเจ้าทั้งสองก็ไม่ใช่ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเหมือนกัน เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายโดยรัฐเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเหมือนกัน จึงเป็นกรณีที่มีการออกกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า
การจัดแถลงการณ์จัดขึ้นในโรงแรม IBIS ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเอกชน และไม่ใช่ที่สาธารณะตามคำนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ดังนั้น การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
ข้อ 4. การกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แห่งสหประชาชาติ ที่ประเทศได้ลงนามเป็นภาคีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม
เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ว่า สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว โดยประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แห่งองค์การสหประชาชาติ นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ทำให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว
ข้อ 5. หากพิจารณาเปรียบเทียบกับความหมายของการชุมนุมสาธารณะที่ปรากฏขึ้นในต่างประเทศก็จะพบว่าความหมายของการชุมนุมสาธารณะนั้นมีสาระสำคัญ คือ ต้องเป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะและเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง อันมีความมีแตกต่างอย่างสำคัญกับการแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นข้าพเจ้าทั้งสอง ขอยืนว่าการกระทำของข้าพเจ้าทั้งสอง เป็นการแสดงออกทางของเสรีภาพทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดสันติและความสงบสุขในสังคม เป็นการกระทำที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นการส่งเสริมประบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการลดสภาวะความตึงเครียดในสังคม ส่งเสริมบรรยากาศแห่งการปรองดอง จึงขอให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีข้าพเจ้าทั้งสองอันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
|