วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทหารนั่งประกบ วงเสวนา 'สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์'


1 ก.พ. 2558 ที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม มีการจัดเสวนา "สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์" ร่วมเสวนาโดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบเข้าฟังการเสวนาข้างๆ วิทยากรด้วย
ทั้งนี้ก่อนหน้างานจะเริ่ม ผู้จัดงานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารว่า ให้สามารถจัดงานต่อไปได้ แต่จะขอเข้ามาฟังการเสวนา บันทึกภาพ พร้อมร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

ทหารเรียกแกนนำ สกต. ปรับทัศนคติ 3 วัน อ้างนำไปสู่ความปรองดอง

จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี เรียก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ แกนนำ สกต. ผู้นำการเรียกร้องสิทธิในที่ดินสวนปาล์มหมดสัญญาเช่าให้กับชาวบ้าน เข้าประทัศนคติ 3 วัน อ้างเพื่อความสงบสุข และความปรองดองในพื้นที่
 1 ก.พ. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ แกนนำกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ว่ามีจดหมายเรียกรายงานตัวจาก ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฏร์ธานี ส่งมาที่สำนักงาน สกต. โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดี ในการคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ได้มีนโยบายให้หน่วยทหารรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อสร้างความเข้าใจ ขจัดปัญหาข้อขัดแย้งกับราษฏรในพื้นที่รับผิดชอบ อันนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ตามแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อนำความสุขกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว โดยในการนี้จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดพังงา
จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี จึงขอเชิญตัวนายเพียรรรัตน์ บุญฤทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 1ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี มารายตัวเพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 วัน ณ กองบังคับการ จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี โดยให้รายงานตัววันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างวันที่ 10.00-11.00 นาฬิกา จักขอบคุณเป็นอย่างสูง”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เพียรรัตน์  แกนนำกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เป็นผู้นำชาวบ้านในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย และประกอบอาชีพ ในพื้นที่พิพาทระหว่างบริษัทไทยบุญทอง จำกัด ซึ่งหมดสัญญาเช่าพื้นที่มาแล้ว 14 ปี แต่ยังไม่ได้ย้ายออกนอกพื้นที่ จนกระทั้งชาวบ้านได้เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือน และที่ทำกิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของสำนักปฏิรูปที่ดิน โดยได้ยึดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ทั้งนี้ได้มีมติจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 ว่า ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่า กระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ
หมายเหตุ: ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากเพียรรัตน์ ว่าพร้อมที่จะเข้าไปรายงานตัวในวันที่ 3 ก.พ. นี้
หมายเหตุ2 : ขออภัย เนื่องจากได้มีการแก้ไข้ เปลี่ยนจาก มทบ.22 เป็นจังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี เพื่อความถูกต้อง

พลเมืองโต้กลับ’ ปล่อยคลิปหีบบัตร ‘วัตถุอันตราย เก็บให้ห่างไกลประชาชน’ 1ปีเลือกตั้ง 2 ก.พ.

2 ก.พ.2558 ในโอกาสครบ 1 ปี การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557  เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' ได้เผยแพร่คลิป วัตถุอันตราย !!! เก็บให้ห่างไกลประชาชน  ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม ญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่รักในเสรีภาพ และประชาธิปไตย ที่ได้รวมกันด้วยวัตถุประสงค์เพื่อ  ทำลายบรรยากาศแห่งความกลัว ที่คณะรัฐประหารได้สร้างขึ้น
คลิป  วัตถุอันตราย !!! เก็บให้ห่างไกลประชาชน  เป็นการบันทึกการแสดงสดของศิลปินนิรนาม กับหีบบัตรเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันได้กลายเป็น"วัตถุต้องห้าม"  ในการเมืองไทยภายใต้ระบอบรัฐประหาร    ณ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่เรียกร้องให้ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างสันติ
อนึ่งทางกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen   จะได้จัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ลัก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558   ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 16.00-18.00 น.

องค์กรผู้บริโภคยื่น กสท. สอบกรณี SLC ถือหุ้นเนชั่น-แกรมมี่ หวั่น ปชช.ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

องค์กรผู้บริโภคขอให้ กสท. ตรวจสอบการถือหุ้น SLC หวั่น ประชาชนถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
2 ก.พ. 2558 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้แก่ นางสาวชลดา บุญเกษม นางมณี จิรโชติมงคลกุล พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 3 คน ได้แก่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เพื่อขอให้ตรวจสอบการเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์(1988) จำกัด (มหาชน)  หรือ SLC
นางสาวชลดา กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการติดตามสถานการณ์ จากกรณีที่ บ. SLC ได้เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทเครือแกรมมี่  และ บริษัทสื่อเครือเนชั่น โดยที่ บริษัท SLC มีสถานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ ช่องข่าวสปริงนิวส์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล และได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อย 10 ของบริษัทเครือเนชั่น ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารเช่นกัน นอกจากนี้ SLC ได้เข้าไปซื้อหุ้น บริษัทเครือแกรมมี่ ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทใหญ่ของบริษัทที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ช่องจีเอ็มเอ็ม หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(SD) และช่อง One  หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ในสัดส่วนร้อยละ 1.22 นั้น จากกรณีนี้ เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนมีความกังวลว่า การเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อเกินกว่าถึง 3 กลุ่มบริษัท อาจขัดต่อเจตนารมณ์ในการป้องกันครอบงำกิจการ และเรื่องผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตามที่กำหนดไว้ก่อนการประมูลตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556
ทั้งนี้  ข้อ 7.2 ของประกาศฉบับดังกล่าวฯ กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัติ นิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในข้อ 8.4 กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ จะเห็นได้ว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 และ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ทั้งสองประกาศได้อ้างอิงฐานกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาดไว้อย่างชัดแจ้งตามที่ปรากฏในมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดว่า เพื่อป้องกันมิให้บุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกันหรือ ครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเข้าถือหุ้นเกินกว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลที่ตั้งไว้ในกิจการโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารสาระถึง 2 ช่อง เป็นการกระทำที่อาจขัดต่อประกาศ กสทช. และข้อกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอความร่วมมือมายังหน่วยงานของท่านในฐานะองค์กรกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงตามมาตรา 27 (17) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการกำหนดลักษณะการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้การกระทำที่ผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน โปรดพิจารณานำความเห็นและข้อกังวลของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหานี้เพิ่มเติม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านในการคุ้มครองการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และ ขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้
ด้านนางสาวสุภิญญา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 ก.พ. นี้ ทาง กสทช.จะเปิดเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูล รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้หลายๆฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้

กฤษฎีกาเสนอ รองนายกฯ นั่ง ปธ.คกก.ดิจิทัลฯ แทนนายกฯ-'พลเมืองเน็ต' เตรียมยื่นรัฐสภา ร้องทบทวน กม.พรุ่งนี้

กฤษฎีกาเสนอให้รองนายกฯ ด้านศก. นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการดิจิทัลฯ แทนนายกฯ ที่ปรึกษาปลัดฯ เผย มีคำสั่งยุบ "ซิป้า" แล้ว ตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแทน คาดกฎหมายดิจิทัล 10 ฉบับใช้งานได้ไตรมาส 2 ของปี ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ตเตรียมยื่นหนังสือ ขอให้ทบทวนการร่างกฎหมาย ที่รัฐสภา พรุ่งนี้
2 ก.พ.2558 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายมนู อรดีดลเชษฐ์ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนา 360 องศา ดิจิทัล อีโคโนมี จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้เปลี่ยนตำแหน่งประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี จากเดิมที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.... กำหนดให้ตำแหน่งประธาน คือ นายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้เปลี่ยนเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าตำแหน่งนายกฯ อาจมีภารกิจรัดตัว จนไม่มีเวลามาขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าว
"ทางคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี กำลังพิจารณาว่าจะเปลี่ยนตำแหน่งประธานหรือไม่ เพราะเบื้องต้นคณะทำงานฯ ยังต้องการให้นายกฯ ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ เพื่อแสดงถึงความจริงจังในการขับเคลื่อนนโยบายฯ และการสั่งงานผ่านนายกรัฐมนตรีนั้นมีน้ำหนักมากกว่า แต่หากไม่มีเวลาจริง อาจให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่แทนได้" ที่ปรึกษาปลัดไอซีที กล่าว
นายมนู กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างของไอซีที ผ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แล้ว โดยไอซีทีจะยุบสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นแทน เพื่อช่วยคณะกรรมการดิจิตอลอีโคโนมี ขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ โดยโอนพิจารณาโอนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและตรงกับภารกิจมาจากซิป้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด การพิจารณากฎหมายเศณษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และประกาศใช้ได้เร็วสุดภายในไตรมาส 2 ของปีนี้
เครือข่ายพลเมืองเน็ตเตรียมยื่นหนังสือ ร้องทบทวนชุดกฎหมาย 'เศรษฐกิจดิจิทัล'
พรุ่งนี้ (3 ก.พ.) เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พร้อมด้วย องค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กรณีร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต่อ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ "หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล' เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผ่านทาง change.org โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,678 ราย