ทนายความอภิสิทธิ์ เตรียมยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ต่อ ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ญาติคนตายเตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น เปิดคำสั่งศาลเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง 53 ให้ ป.ป.ช.
28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้ ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แย้ง ระบุศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาจากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ทนายความของอภิสิทธิ์ เตรียมนำคำสั่งยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อ
ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ โดยนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับพรรคทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนก็จะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย
นายวันชัย รุจนวงศ์ รักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปตนจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่าขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า
ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ชี้การฆ่าคนไม่ใช่หน้าที่ นายกฯ รองนายกฯ
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตหรือโจทย์ร่วม ปิดเผยว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีอย่างแน่นอน โดยมีกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์ 1 เดือน
นายโชคชัย มองว่า คำสั่งดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการสืบพยาน เพราะหากอุทธรณ์ก็ต้องรอฟังผลอีก รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสอบสวน เนื่องจากกรณีของโจทย์ร่วมหรือญาติผู้ตายนั้น ต้องอาศัยพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน แต่คำสั่งดังกล่าวได้ยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม จึงต้องรอผลการอุทธรณ์ก่อนที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากไปดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย ก็จะติดเรื่องสอบสวน เพราะศาลมองว่ามองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ในการสอบสวนเหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาสำนวนสอบสวนทั้งหมดกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้สอบสวนมา ฉะนั้นก็จะมีแง่ทางกฏหมายที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก
นายโชคชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่ศาลมองว่าการกระทำของอภิสิทธิ์และสุเทพในคดีเป็นการกระทำในหน้าที่ จึงเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการสอบสวน และทั้ง 2 คน เป็นนักการเมืองจึงต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เหตุที่ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะการฆ่าคนไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกหรือรองนายก หรือ ผอ.ศอฉ. ที่จะทำได้
นายโชคชัย กล่าวว่า ในเหตุการณ์นี้มีการไต่สวนการตายมาแล้ว และเมื่อไต่สวนแล้ว ก็ส่งให้ พนง.สอบสวน สอบสวนต่อและให้อำนาจอัยการในการฟ้องคดี ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งฟ้องตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อีกมุมหนึ่งที่ศาลยกมาวินิจฉัยเรื่องปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ทั้งที่ในการฟ้องเราก็ระบุว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ และต้องเป็นสิ่งที่ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่วินิจฉัยทันที แม้ในขณะเกิดเหตุโจทย์จะเป็นนายกและรองนายก แต่การฆ่าคนก็ไม่ใช่หน้าที่ของทั้ง 2 ตำแหน่งนี้
ญาติคนตาย เตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม
นายณัฐภัทร อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุการสลายการชุมนุม ปี 53 บริเวณวัดปทุมฯ กล่าวถึงความกังวลหนังมีคำสังศาลกรณีนี้ว่า เกรงว่าจากคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจะกลายเป็นเพียงคดีทาการเมืองไป ทั้งๆที่มีคนจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้นจึงเตรียมปรึกษาหารือกับฝ่ายกฏหมายและญาติผู้เสียชีวิต เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ยื่นในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เคยเป็นคณะกรรมการของ ศอฉ. ที่ย่อมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเชื่อว่าท่านเองก็ต้องการให้ทหารเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นได้รับความเป็นธรรมด้วย
นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น
นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฏหมาย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘
Phuttipong Ponganekgul’ ระบุว่า “กรณีศาลยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่น มาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา ศาลบอกว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ก่อนอื่นเราต้องพิเคราะห์ว่า การฆ่าผู้อื่น ไม่ว่าจะในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ การใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การสั่งฆ่าผู้อื่น นั้นเป็นการหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างไร
เคยมีคดีหนึ่ง ตำรวจจับผู้ต้องหาหญิงและควบคุมตัวไว้ ตกกลางคืนตำรวจแอบเข้าไปในห้องขังขึ้นนั่งคร่อมตัว เลิกผ้า จับนม ต่อมาตำรวจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การคร่อมตัวเลิกผ้าจับนมไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเลย ฉะนั้นจึงไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
หรือตำรวจใส่กุญแจมือไขว้หลังแล้วทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับ การทำร้ายร่างกายก็ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตำรวจเช่นกัน ไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ
ในกรณีอภิสิทธิ์-สุเทพ ก็เช่นกัน แม้จะสวมหมวกนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มีอำนาจในการสั่งสลายการชุมนุม แต่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการสั่งฆ่าผู้อื่น ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เสมือนหนึ่งมีอำนาจสั่งสลายการชุมนุม แต่ไปฆ่าคนนั่นเอง เช่นเดียวกับตำรวจมีอำนาจจับกุม แต่กลับไปกระทืบผู้ถูกจับกุม ก็ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ เช่นนี้ คดีอภิสิทธิ์-สุเทพ จะเป็นคดีกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อย่างไร เป็นการตัดสินคดีที่ตลกมาก”
ศาลเคยสั่งเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง53 ให้ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200 กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างปี 2551 – 2553 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถ.ราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย
โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง