วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สำนักพระราชวังจี้ ตร.หามือปล่อยแถลงการณ์ปลอม นายกฯ ตู่สั่งล่า

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเผย ได้รับการประสานจากโดยตรงจากสำนักพระราชวังให้เร่งตรวจสอบกรณีเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ด้านนายกรัฐมนตรีสั่งเร่งเอาตัวคนผิดมาลงโทษ
3 ก.พ.2558 โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักพระราชวังได้ประสานมาโดยตรงยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งหาผู้เผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ทางด้านนายกรัฐมนตรีเผยเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำตัวคนผิดมาลงโทษแล้ว
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมีการเผยแพร่แถลงการณ์ปลอมจากสำนักพระราชวังว่า เรื่องดังกล่าวสำนักพระราชวังได้ประสานโดยตรงมายังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งตรวจสอบหาที่มาโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นพบว่าแถลงการณ์ดังกล่าวมีต้นทางมาจากต่างประเทศ  ทำให้การตรวจสอบติดตามจับกุมผู้ที่เผยแพร่ทำได้ยากขึ้น โดยขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์เจตนาการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวแต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด และยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มหรือบุคคลใด
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของนายบรรพตแต่อย่างใด ส่วนที่มีสำนักข่าวบางแห่งนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่จะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องไปดูที่เจตนาว่าเผยแพร่เพราะอะไร
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารของสำนักพระราชวังว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามนำคนผิดมาลงโทษแล้ว

ความคืบหน้า 6 ผู้ต้องหาคดี 112 “เครือข่ายบรรพต” บนเฟซบุ๊ก


Wed, 2015-02-04 01:58

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2558 โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 6 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 คน ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานภาพ โดยการเผยแพร่คลิปและข้อความหมิ่นฯ บนเฟซบุ๊ก
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. กล่าวว่า ทั้งหกเป็นสมาชิกของ “เครือข่ายบรรพต” มีจุดมุ่งหมายในการใช้สื่อออนไลน์ยุงยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและความเกลียดชังขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการหมิ่นสถาบัน เครือข่ายนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีระดับชั้นของการทำงานและการสั่งการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นผู้นำ เป็นผู้ผลิตแนวคิดในรูปของสื่อซีดี คลิปเสียง และบทความ ระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งรับฟังและช่วยกันเผยแพร่แนวคิดตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป และบล็อก ระดับแนวร่วม มีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน
โฆษก สตช. กล่าวด้วยว่า พวกเขามีการพบปะหรือประชุมลับกันอยู่เป็นระยะ และในการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะพยายามใช้ข้อมูลจริงเพียงบางส่วนมาผสมกับข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลเท็จที่ตรวจสอบได้ยาก
หลังการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ นายดำรงค์ (สงวนนามสกุล), นายไพศิษฐ์ (สงวนนามสกุล), นายเงินคูณ (สงวนนามสกุล), นางศิวาพร (สงวนนามสกุล) มาฝากขังยังศาลทหาร กรุงเทพฯ โดย 2 รายแรก คือ นายธารา (สงวนนามสกุล) และนางอัญชัญ (สงวนนามสกุล) นั้นเจ้าหน้าที่นำตัวมาขอฝากขังยังศาลทหารตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.แล้ว โดยนางอัญชัญได้ยื่นประกันตัวแต่ศาลปฏิเสธ ขณะที่อีก 4 รายนั้น มีเพียงนายดำรงค์ที่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน นอกนั้นให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่าจาการสอบถามจากตัวผู้ต้องหาพบว่า นายธาราถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 25 มกราคม เวลาประมาณ 13.00 น. โดยทหารในเครื่องแบบประมาณ 10 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอส 4-5 คน ในการควบคุมตัวไม่มีการต่อสู้ขัดขืน หลังจากเจ้าหน้าที่นั้นได้นำตัวธารามาที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ระหว่างการสอบสวนธารารับสารภาพทั้งหมด จากนั้นจึงขอศาลทหารฝากขัง อย่างไรก็ตาม ธารามีฐานะยากจนจึงเป็นเพียงคนเดียวที่ยังไม่มีทนายและไม่มีญาติมาเยี่ยม
ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับดำรงค์นั้นถูกจับกุมตัววันที่ 25 ม.ค.เช่นเดียวกับธาราและอัญชัญ แต่อยู่ในความควบคุมของทหารจนครบ 7 วัน ก่อนถูกนำมาฝากขังพร้อมกับไพศิษฐ์ เงินคูณ และศิวาพร ซึ่งทยอยถูกจับกุมหลังจากนั้น หลังการควบคุมตัวของทหารทั้ง 4 รายถูกนำตัวสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากนั้นจึงควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ทุ่งสองห้อง ขณะนี้ผู้ต้องหาชายทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนผู้ต้องหาหญิง 2 คนถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ญาติของผู้ต้องหาหลายคนกล่าวว่าจะพยายามหาหลักทรัพย์เพื่อมาประกันตัวผู้ต้องหาภายในสัปดาห์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาระบุว่าพวกเขาไม่ถูกซ้อมทรมาน หลายรายถูกใช้ผ้าปิดตาระหว่างทหารนำตัวไปที่คุมขัง ถูกคุมขังเดี่ยวในห้องที่ไม่รู้เวลา เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ทุกอย่างไปจากบ้าน ทั้งที่เป็นของตนเองและของคนในครอบครัว นอกจากนี้ทุกคนถูกบังคับใหบอกรหัสผ่านเข้าบัญชีเฟซบุ๊กอีกด้วย
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว พล.ต.ท. ประวุฒิ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า “บรรพต” คือผู้บงการเครือข่ายนี้ซึ่งกำลังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ บรรพตถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีทักษะในการผลิตสื่อ และผลิตสื่อหมิ่นสถาบันฯ นำมาเผยแพร่ให้เครือข่ายเผยแพร่ต่อ อย่างไรก็ตาม จากการหาข้อมูลเบื้องต้นของประชาไท พบว่า บรรพตคือชื่อของนักจัดรายการพอตแคสเสื้อแดงคนหนึ่ง ในเฟซบุ๊กมีเพจชื่อ Banpodj Thailand Clips ซึ่งเผยแพร่ข่าวและบทวิเคราะห์การเมือง บล็อกในชื่อเดียวกันถูกบล็อกโดยกระทรวงไอซีที
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังให้รายละเอียดในการแถลงข่าวอีกว่า ผู้ต้องหาหกคนที่ถูกจับได้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับผู้ปฏบัติการ ได้แก่
  • 1. ดำรงค์ อายุ 65 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Dam Samray และเป็นผู้ดูแลระบบของเพจ BANPOJ THAILAND CLIPS ซึ่งเป็นเพจสำคัญในลำดับต้นๆ ที่ใช้เผยแพร่ข้อมูล ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าภรรยาของดำรงค์ถูกจับกุมไปพร้อมกัน แต่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
  • 2. ศิวาพร อายุ 41 ปีอาชีพแม่บ้าน ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Siwaporn P. ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อความและภาพที่เข้าข่ายความผิดมานาน และมีการติดต่อกับกลุ่มผู้มีแนวคิดทางลบต่อสถาบันฯ จำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือ เจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Sam Parr (พงษ์ศักดิ์) ที่ได้ถูกจับกุมแล้วก่อนหน้านี้
  • 3. เงินคูณ อายุ 43 ปี อาชีพหมอดู ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก เงินคูณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในเครือข่าย โดยมีหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม เงินคูณถูกจับที่บ้านเป็นรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ม.ค.
  • 4. ไพศิษฐ์ อายุ 46 ปี อาชีพขายสี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Pradit Suksombul ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลสำคัญในเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปต่างๆ ที่เข้าข่ายความผิด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่หทารจับตัวน้องชายของไพศิษฐ์ไปด้วยและปล่อยตัวแล้ว นอกจากนี้ไพศิษฐ์ยังป่วยเป็นโรคต้อหินที่ตาข้างหนึ่ง ขณะที่ตาอีกข้างหนึ่งเสียไปแล้ว
  • 5. อัญชัญ อายุ 58 ปี เป็นข้าราชการกรมสรรพากร ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Patch PrachPrakary (เพชร ประกาย) และเป็นผู้ดูแลด้านการเงินของเครือข่ายทั้งที่ได้จากการขายสินค้าต่าง ๆ และรับการสนับสนุนมาจากบุคคลในเครือข่าย อัญชัน มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
  • 6. นายธารา อายุ 57 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเว็บ okthai.com และอีกหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิด ถูกกล่าวหาอีกว่าหลอกลวงหาเงินกับบุคคลอื่นโดยนำผลิตภัณฑ์ในเครือข่าย โดยเฉพาะจากอัญชัญมาจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่ง ตำรวจระบุว่าสถานภาพของเขาอยู่ในระดับแนวร่วมที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดมากกว่าแนวร่วมคนอื่นๆ

อ่านรายงานที่ถูกห้ามแถลงข่าว: 4 ประเด็น 'ดัชนีชี้วัดสื่อไทย'


"การห้ามเปิดตัวรายงานเป็นเรื่องน่าเสียดาย" กายาทรี เวนกิทสวารัน ผู้อำนวยการสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เลื่อนการจัดแถลงข่าว "ดัชนีสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2557" ซึ่งเดิมกำหนดจัดวันที่ 30 ม.ค. ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
"โอกาสในการทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อไทยได้สูญเสียไป ทั้งที่นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิรูปสื่อ" ผู้อำนวยการ SEAPA ขยายความ
ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย ดำเนินการโดย มูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท เป็นโครงการประเมินสถานการณ์สื่อของชาติต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งจะมีการประเมินทุก 2-3 ปี โดยสื่อและภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศเป็นผู้ทำการประเมินตนเอง โดยอาศัยมาตรฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อเป็นเกณฑ์ประเมิน และมีการให้คะแนนตั้งแต่ 1-5 เรียงจากไม่ได้มาตรฐานไปจนถึงได้มาตรฐานในทุกด้าน
รายงานดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อไทย แบ่งหัวข้อการประเมินออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.ภูมิทัศน์ของสื่อรวมถึงสื่อใหม่มีลักษณะของความหลากหลาย เป็นอิสระ และยั่งยืนมั่นคง 3. กิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปให้เป็นสื่อสาธารณะ และ 4. สื่อมีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง
โดยในส่วนที่ 1 เรื่อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.8 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยสูงสุด (4.19 คะแนน) คือการที่เว็บไซต์และเว็บบล็อกไม่ต้องจดทะเบียน หรือไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนคะแนนเฉลี่ยต่ำมากที่สุด (1.5 คะแนน) มี 2 ประเด็นคือ ยังมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น หรือกฎหมายแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนอย่างไม่มีเหตุผล และแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหรือโดยศาล
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า มีหลายดัชนีชี้วัดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง ซึ่งคะแนนที่ต่ำเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเผชิญกับการคุกคามเสรีภาพจากประกาศ คำสั่ง และแนวปฏิบัติของ คสช. การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และการคุกคามจากมวลชนในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง
ทั้งนี้ ส่วนบทวิเคราะห์ของบทนี้ระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ แต่ยังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช.อย่างกว้างขวาง ประกอบกับกฎอัยการศึกที่มีสถานะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงไม่มีความแน่นอนว่าประชาชนจะได้หลักประกันสิทธิเสรีภาพจริง
นอกจากนี้ ยังมีประกาศและคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่ควบคุมเสรีภาพในเผยแพร่ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน มีผู้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้น และไม่ได้รับการประกันตัวตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ มีการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ร่วมกับกฎหมายหมิ่นประมาท
กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว ยังมีการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทำให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระมีต่ำมาก
ส่วนที่ 2 ภูมิทัศน์ของสื่อรวมถึงสื่อใหม่มีลักษณะของความหลากหลาย เป็นอิสระ และยั่งยืนมั่นคง พบว่า โดยรวม ประเทศไทยได้มาตรฐานตามดัชนีชี้วัดเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.3 คะแนน ในบรรดาประเด็นย่อยทั้งหมด มีเพียงสองหัวข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 3 คะแนน คือ การที่พลเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวสารอย่างกว้างขวางได้โดยง่าย และการที่ข่าวสารจากสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ถูกจำกัดโดยหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลังมีแนวโน้มย่ำแย่ลงภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
ส่วนที่ 3 กิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีเจตจำนงทางการเมืองในการปฏิรูปให้เป็นสื่อสาธารณะ ในภาพรวม ประเทศไทยได้มาตรฐานเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2.3 คะแนนในบรรดาประเด็นย่อยทั้งหมด มีเพียงสามประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าครึ่ง คือ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการแพร่ภาพขององค์กรวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐและสาธารณะได้ในขอบเขตทั่วประเทศ องค์กรวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐและสาธารณะเสนอรายการที่มีรูปแบบหลากหลายสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ในขณะที่มีการเสนอเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลากหลายและรูปแบบที่สร้างสรรค์เท่าที่มีงบประมาณอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนหรือทุกกลุ่มความสนใจ เนื่องจากองค์กรสื่อของรัฐและสาธารณะแต่ละสถานี (ททบ.5, NBT, ไมเดิร์นไนน์, ไทยพีบีเอส) มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน
ส่วนประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในส่วนนี้คือ การที่องค์กรจัดสรรคลื่นและกำกับดูแลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ดิจิตอลชุมชน รวมทั้งการระบุแนวทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกองทุนวิจัยและพัฒนา ทั้งยังไม่มีการนิยามแบ่งประเภทวิทยุชุมชนภาคประชาชน กับวิทยุท้องถิ่นธุรกิจให้ชัดเจน ในขณะที่วิทยุชุมชนยังเป็นเป้าหมายในการปิดกั้นในช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองไม่ปรกติ
และ ส่วนที่ 4 สื่อมีความเป็นมืออาชีพในระดับสูง พบว่าโดยรวม สื่อไทยได้มาตรฐานเพียงบางด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 คะแนน มีเพียงสองประเด็นที่สื่อไทยได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 3 คะแนน ได้แก่ การที่องค์กรสื่อมวลชนส่งเสริมเรื่องการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยไม่เลือกเชื้อชาติ กลุ่มทางสังคม ความเป็นหญิง-ชาย และเพศสภาพ รวมทั้งความแตกต่างทางศาสนา ความพิการ และวัย และการที่นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมต่างๆ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะ
ประเด็นที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำมาก คือ ความเป็นอิสระของสื่อ ที่พบว่า นักหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการมีการเซ็นเซอร์ตนเองสูง เนื่องจากค่านิยมสังคม ทั้งผู้ปฏิบัติงานมีวิธีคิดที่ยอมรับการกระทำดังกล่าว อีกทั้งยังถูกกดดันจากรัฐ กลุ่มการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ โดยบทวิเคราะห์ระบุว่า สื่อมักเซ็นเซอร์ตัวเองและวัฒนธรรมนี้แผ่ขยายมาถึงแวดวงสื่อออนไลน์ เนื่องจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการเว็บต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและความเห็นในเว็บไซต์ ทำให้สื่อออนไลน์ต้องละเว้นการนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์บางเรื่องและปิดเว็บบอร์ด

ครม.เห็นชอบแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน - ขยายค่าจ้างรัฐวิสาหกิจสูงสุด1.42แสนบาท

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมาที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี   เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
เห็นชอบแก้ไขกฎหมายค้ำประกัน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม ครม. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ…. ว่าด้วยค้ำประกัน และจำนอง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อคุ้มครองสิทธิ์และให้ความเป็นธรรมผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรงมากขึ้น ขณะที่เจ้าหนี้จะมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายใหม่ลดทอนสิทธิ์เจ้าหนี้ในการบังคับหนี้จากผู้ค้ำประกันและผู้จำนองลงกว่าเดิมมาก โดยให้กฎหมายบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. จึงเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินจากผู้ค้ำประกันและรับผิดเหมือนลูกหนี้ร่วม รวมถึงหากมีสถาบันการเงินค้ำประกันสินเชื่อ เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมสามารถทำข้อตกลงล่วงหน้าให้ผ่อนผันเวลาได้ และกำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับประโยชน์จากกรณีเจ้าหนี้ลดภาระหนี้และชำระแล้วในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินกล้าตัดสินใจปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นหลังจากต้องกลับมาแก้ไขกฎหมายรอบที่ 2 ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
เป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกปี 59
ครม. มติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกปี พ.ศ. 2559 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงานว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nation World Tourism Oranization : UNWTO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขององค์การการท่องเที่ยวโลก
ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับการเสนอให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปี พ.ศ. 2550 – 2552 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2553 -2554 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 24 ณ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในเวทีระดับโลก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกขององค์การการท่องเที่ยวโลกจะเป็นการแสดงถึงศักยภาพและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงความปลอดภัยจากการท่องเที่ยว
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณาแล้วจึงได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกปี พ.ศ. 2559 ณ ประเทศไทย เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวและอารยธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์อันงดงามของประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourist) เข้าสู่ประเทศโดยการประชาสัมพันธ์และร่วมงานดังกล่าว
นำ ‘ข้อตกลงด้านคุณธรรม’ ระหว่างรัฐ-เอกชน กันทุจริตจัดซื้อฯ
ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
โดยโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมไทยเพื่อสร้างเครือข่ายที่จะร่วมกันสร้างมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โปร่งใส ลดการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นผู้เสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐมีการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งให้ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศมีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยได้นำแนวคิดข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานกับรัฐว่าจะไม่กระทำการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและร่วมกันทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีบุคคลภายนอกร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยข้อตกลงดังกล่าวจะมุ่งเน้นการตรวจสอบและลงโทษหากเกิดการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและถือว่าการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน โดยการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่อง เฝ้าระวังตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมอย่างแท้จริง
ขยายเพดานค่าจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจสูงสุด 142,830 บ.
ครม. มติเห็นชอบในหลักการการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ประกอบด้วย
                        1. กำหนดอัตราค่าจ้างต่ำสุด ขั้นที่ 1 อัตรา 9,040 บาท และอัตราค่าจ้างสูงสุดขั้นที่ 53 อัตรา 142,830 บาท
                        2. ลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างในอัตราเดิมตามขั้นของบัญชีโครงสร้างใหม่
                        3. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงจะต้องสอดคล้องกับขนาด ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจที่มีความแตกต่างกันตามความเหมาะสม ตลอดจนความสามารถในการรองรับภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นของรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 เสนอ
เห็นชอบร่างลงนามเจตนารมณ์สร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น-เมียนมาร์
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างลงนามเจนารมณ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์นี้ สำหรับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้เห็นพ้องกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านเศษฐกิจให้ลึกซึ้งมากขึ้นผ่านกลไกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ทั้งด้านสินค้า บริการ และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศพร้อมร่วมมือเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2558 โดยญี่ปุ่นพร้อมร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อถ่ายทอดให้กับประเทศไทยในองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมถึงการร่วมกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการร่วมมือกับไทยในการก่อสร้างระบบราง เพื่อเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค และทั้ง 2 ประเทศยืนยันความร่วมมือ 3 ฝ่าย ไทย ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย ด้วยการเริ่มสร้างถนนสายหลักเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกทวาย
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่อัตราเงินเดือน 340,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปี และสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป
รับทราบปรับลดราคากลาง หลังน้ำมัน-วัสดุก่อสร้างลด
สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ได้รายงานการปรับลดราคากลางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อกำหนดให้ส่วนราชการปรับลดวงเงินลงทุนก่อสร้างโครงการต่าง ๆ หลังจากราคาน้ำมันและดัชนีวัสดุก่อสร้างลดลงต่อเนื่อง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ทำให้ต้นทุนก่อสร้างลดลง โดยแผนดังกล่าวจะทำให้เงินลงทุนสร้างถนนและก่อสร้างต่าง ๆ ลดลงประมาณร้อยละ 5-10 ส่วนการสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างจะลดลงประมาณไม่เกินร้อยละ 2  ยอมรับแผนดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้งบประมาณปี 2559 เพราะโครงการลงทุนปี 2558  ส่วนใหญ่ลงนามสัญญาเกือบหมดแล้ว
จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหากรรม กล่าวว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าการก่อสร้างเหมืองแร่โปแตชอาเซียน หลังจากล่าช้ากว่า 30 ปี โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน กระทรวงการคลังของไทยมีสัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 20 ขณะนี้เตรียมพร้อมโครงการลงทุนคืบหน้าไปมากแล้ว เพราะได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมในเรื่องต่าง ๆ คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท และจะเริ่มลงทุนวางเครื่องมือเครื่องจักรได้ต้นปี 2559 นายกรัฐมนตรีต้องการผลักดันโครงการลงทุนเหมือนแร่โปแตชอาเซียน เพราะจะช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร  ทำให้ราคาปุ๋ยลดลงประมาณร้อยละ 10 และยังทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรอง เพราะผลิตสัดส่วนการซื้อปุ่ยได้เอง

ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. : ‘วรารัตน์’ เราไม่ได้สูญเสียแค่งบฯ แต่เราสูญเสียอำนาจ




เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่วิดีโอคลิปสัมภาษณ์ วรารัตน์ กระแสร์ ในฐานะหนึ่งในผู้ที่เห็นว่าการเลือกตั้งคือทางออกในการแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างสันติวิธี เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ให้สังคมเห็นว่าแนวคิด "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" รวมทั้งการขัดขวางการเลือกตั้งนั้นเป็นการสร้างเงื่อนไขให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง ซึ่งก็คือการรัฐประหารนั่นเอง
แฟนเพจ ‘คืนความจริง’ ระบุด้วยว่า อย่างที่ทราบกันคือถึงแม้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเกิดขึ้น แต่ก็ถูกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่คณะรัฐประหารยกมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร 1 ปี ผ่านไป ภายใต้ระบอบรัฐประหาร คืนความจริง จึงชวน วรารัตน์ กระแสร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากการโมฆะเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาสนทนาอีกครั้ง

เครือข่าย ส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนวิจารณ์สภานิติบัญญัติไทยไทยไม่มีความชอบธรรมออกกฎหมาย

4 ก.พ. 2558 จาการ์ต้า- เครือข่าย ส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ สภานิติบัญญัติไร้ความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงที่จะออกกฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ระบุไทยวันนี้เหมือนพม่าเมื่อทศวรรษ 1990 จี้คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งทันที
“องค์กรซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยทหารที่ทำการรัฐประหารเข้ามาสู่อำนาจ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดกันตามหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ” โดยชาร์ลส์ ซาติเอโก สมาชิกรัฐสภาของมาเลเซียและประธานเครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว
ทั้งนี้แถลงดังกล่าวของ เครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เช่นเดียวกันกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คสช. โดยผ่าน สนช. ได้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายใหม่หลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการทำการกดขี่สิทธิพื้นฐานนับตั้งแต่ คสช. เข้ามามีอำนาจได้มีฐานะเป็นกฎหมายถาวร
เครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงการจำกัดสิทธิในการชุมนุม การละเมิดความเป็นส่วนตัวและเปิดโอกาสให้รัฐได้เข้ามาสอดส่องพลเมืองโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ ที่การยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของชุมชนในการปกป้องตัวเองจากผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม
แถลงยังระบุด้วยว่า ภาคประชาสังคมไทยนั้นอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างยิ่งและถูกกดทับจากระบบภายใต้อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. อย่างไรก็ตามยังเห็นความพยายามที่จะส่งเสียงต่อต้านต่อกฎหมายที่ระบอบทหารต้องการผลักดัน โดยปราศจากการปรึกษาหารือ และยึดเอาประชาธิปไตยของประเทศไว้เป็นตัวประกัน
“เราได้เห็นทั้งความก้าวหน้าและล้าหลังในกระบวนการนิติบัญญัติของเราอยู่ตลอดเวลา และมันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ได้เห็นรัฐบาลเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ วอลเดน เบนโล สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ และรองประธานเครือข่ายส.ส. อาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ และกล่าวต่อไปว่า
“แต่แม้จะในระบอบการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาที่บกพร่อง แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งที่เป็นการถ่วงดุลอำนาจและมีหลักในการปกครองและการผ่านกฎหมาย การติดตามข่าวและการต้องพูดถึงประเทศไทยในวันนี้ทำให้นึกถึงพม่าในยุคทศวรรษที่ 1990 ที่มีการกดขี่ การจับกุม ศาลทหาร และนักวิชาการ ปัญญาชนและนักการเมืองขั้วข้ามถูกกดดันให้ต้องลี้ภัย”
“เผด็จการทหารของไทยนั้นมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเท่ากับศูนย์ และต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยทันที และต้องให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนที่ทำหน้าที่แทนพวกเขาในสภา” วอลเดน เบนโลกล่าว

ตร.ตั้งข้อหา ม.112+พ.ร.บ.คอมฯ หนุ่มเพชรบูรณ์ ผู้ต้องสงสัยปลอมแถลงการณ์สำนักพระราชวัง

4 ม.ค.2558 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.)  เปิดเผยว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ที่ทำแถลงการณ์ปลอมสำนักพระราชวัง ฉบับที่ 13 และมีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาได้แล้ว โดยเป็นชายชาว จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักดนตรี ขณะนี้เจ้าหน้าที่คุมตัวสอบสวนอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เบื้องต้น เตรียมดำเนินคดี 2 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 และความผิดความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ โดยจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น.เจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จำนวน 4 นาย ได้ควบคุมตัว กฤษณ์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.รับผิดชอบงานด้านมั่นคง พล.ต.ท.ประวุฒิ ร่วมกันสอบปากคำ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก่อนส่งตัวคืนให้เจ้าหน้าที่ทหารนำกลับไปควบคุมไว้ตามอำนาจกฎอัยการศึกไม่เกิน 7 วัน
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า กฤษณ์ ยอมรับโพสต์เฟซบุ๊กตัวเองจริง และทำที่บ้าน ซึ่งในเฟซบุ๊กของกฤษณ์มีเพื่อนมากกว่า 4-5 พันคน โดยเจตนา ต้องการให้เพื่อนรับทราบ
พล.ต.ประวุฒิ เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวได้ที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยพบข้อมูลว่านายกฤษณ์เป็นบุคคลในระดับต้นๆ เผยแพร่ประกาศปลอมฉบับนี้ ผ่านทางเฟสบุ๊คและลิงค์ไปที่ทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า Nest Oishi ทางตำรวจได้มีการไล่จากอันดับของการส่งต่อข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ ต่อเนื่องมาตั้งแต่เวลาประมาณ 21.33 น.ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยต้นทางที่ส่งนั้นมาจากต่างจังหวัด และทางตำรวจมีการยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของกฤษณ์ด้วย ซึ่งกฤษณ์ไม่เคยกระทำผิดหรือมีประวัติคดีใดๆมาก่อน สอบสวนมีเจตนา ให้เพื่อนได้รับทราบเนื่องจากเป็นข้อมูลใหม่ยังไม่ใครทราบและน่าจะเป็นที่ สนใจ แต่เมื่อโพสต์ไปมีการลบออกในเฟสบุ๊คเนื่องจากผิดความผิดปกติของภาษาและอักษร แต่ว่าในทวิตเตอร์ข้อมูลยังคงมีอยู่
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารจะควบคุมตัวไว้ 7 วันตามอำนาจในกฎอัยการศึก เพื่อสอบสวนขยายผลแกะรอยว่าต้นตอมา จากใครและออกหมายจับพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า เบื้องต้นทราบว่าบุคคลที่ผู้ต้องหารับข้อมูลมาเป็นสมาชิกกลุ่ม นปช. จ.เพชรบูรณ์ เช่นเดียวกัน มีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด แต่จากการตรวจสอบไม่พบประวัติการกระทำความผิดทางคดี เพียงแต่มีแนวคิดทางการเมืองสอดคล้องกับกลุ่มเสื้อแดงเพชรบูรณ์เท่านั้น และทราบว่า กฤษณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าขบวนการเสื้อแดง จ.เพชรบูรณ์ และเคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. เกือบทุกครั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงหัวหน้า นปช. จ.เพชรบูรณ์