วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน 'ยกฟ้อง' 2 จำเลย คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ปี 53



ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง 2 จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ค.53

แฟ้มภาพ: ประชาไท 23 พ.ค.2553
4 ก.ย. 2557 เวลา 9.00 น ที่ห้องพิจารณาคดี 405 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น ในคดีหมายเลขดำ/แดงที่ 2478/2553, อ.1424/2556 จากที่่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไป
ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 25 มี.ค.56 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีดังกล่าว ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายสายชล แพบัว จำเลยที่ 1 อายุ 28 ปี (ในวันเกิดเหตุ) อาชีพรับจ้างและนายพินิจ จันทร์ณรงค์ จำเลยที่ 2 อายุ 26 ปี (ในวันเกิดเหตุ) อาชีพรับจ้าง ในความผิดร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นายกิตติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย  และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุเกิดที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยที่สายชลถูกจับกุมและถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.53 ส่วนพินิจถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.53 ทั้งสองถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง รวมแล้วสายชลถูกจำคุก 1,022 วัน ส่วนพินิจถูกจำคุก 1,041 วัน
สำหรับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเช่นกัน ที่ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวนลดเหลือ 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ถูกตัดสินโทษไปคดีก่อนหน้าแล้ว จึงให้ปล่อยตัวทั้งคู่ เนื่องจากถูกคุมขังมาสมควรแก่โทษแล้ว 
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นายวิญญัติ ชาติมาตรี ทนายจำเลย เปิดเผยว่าจะทำหนังสือยื่นขอความเป็นธรรมกับอัยการต่อไป เพราะคดีนี้ถูกชั่งน้ำหนักถึง 2 ศาลแล้ว จึงขอความเป็นธรรมไม่ดำเนินคดีกับจำเลยต่อ

สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล-สมาคมสิทธิเสรีภาพฯ จี้ รบ.ไทย ให้ผู้แทนพิเศษยูเอ็น เข้าตรวจสอบกรณีถูกทรมานระหว่างควบคุมตัว

4 ก.ย.2557 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล  (FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยต้องให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติมาเยือนประเทศและสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานระหว่างการควบคุมของทหารโดยด่วน
เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ของไทยต้องจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อเชิญศาสตราจารย์ Juan Méndez ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Special Rapporteur on Torture and other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment) ให้มาสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่า ได้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร นับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา
“เราเริ่มเห็นแบบแผนที่ชัดเจนของข้อกล่าวหาร้ายแรงว่ามีการซ้อมทรมาน” คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานของ FIDH กล่าวและว่า “ถ้านายกฯ ประยุทธ์ไม่มีสิ่งใดต้องหลบซ่อน เขาต้องอนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทย และดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระตามข้อกล่าวหาเหล่านี้”
แถลงการณ์ระบุว่า FIDH ได้รับข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเกิดขึ้นกับบุคคลอย่างน้อย 13 คน (ชาย 11 คน และหญิง 2 คน) ซึ่งได้ถูกทางการไทยจับกุมตัวไปไว้ยังค่ายทหารที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงไม่กี่วันหลังเกิดการรัฐประหาร
โดยผู้ถูกควบคุมตัวให้ข้อมูลว่าถูกทรมานเพื่อรีดข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงทางการเมืองหรือไม่ก็ถูกบังคับให้รับสารภาพว่าร่วมมือกับบุคคลอื่นในการทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ผู้ถูกควบคุมตัวให้ข้อมูลว่าถูกมัดมือและเท้าเป็นเวลาหลายวัน
และในบางกรณีมีการผูกผ้าปิดตา เจ้าหน้าที่มักซ้อมและเตะผู้ถูกควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวบางคนให้ข้อมูลว่าถูกซ้อมจนสลบ ส่วนคนอื่นๆ บอกว่ามีการนำถุงพลาสติกมาคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ และมีการใช้ไฟฟ้าช็อตที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังมีการทรมานด้านจิตใจ ทั้งการแกล้งจะนำไปฝัง และการแกล้งจะฆ่าให้ตาย รวมทั้งการข่มขู่ญาติพี่น้องในครอบครัว แม้จะไม่เป็นที่ปรากฏว่าผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายหรือจิตใจมากน้อยเพียงใด แต่มีอยู่หนึ่งกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยเป็นผลมาจากการซ้อมทรมาน
ข้อกล่าวหาเหล่านี้สอดคล้องกับข้ออ้างของผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ที่ระบุว่า ได้ถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร นส.กริชสุดา คุณะแสน อายุ 27 ปีอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้บอกว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง ในฐานะทำงานให้ความช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้บุกเข้าจับกุม น.ส.กริชสุดาที่จังหวัดชลบุรี ทางภาคตะวันออกของไทย ฐานไม่ไปรายงานตัวกับทหาร และมีการควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกในสถานที่ลับ จนกระทั่งมีการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน
ในระหว่างการสัมภาษณ์ผ่าน Skype โดยมีผู้สัมภาษณ์เป็นนักข่าวอิสระและมีการเผยแพร่วิดีโอเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นส.กริชสุดาบอกว่าถูกปิดตาและถูกมัดมือตลอดเวลาช่วงเจ็ดวันแรกของการควบคุมตัว เธอบอกว่าได้ถูกซ้อมหลายครั้งในระหว่างการสอบปากคำ มีการนำถุงพลาสติกและเศษผ้ามาครอบศีรษะจนทำให้เธอหมดสติ ในอีกตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ผ่าน Skype ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม น.ส.กริชสุดากล่าวว่าทหารให้กินยาพาราเซตามอนและยาแก้อักเสบเพื่อลบร่องรอยการซ้อมทรมานบนร่างกาย การควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาเป็นเวลา 29 วันเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ แต่รวมทั้งกฎอัยการศึกของเผด็จการทหารไทยด้วย เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไม่เกิน 7 วันโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา นส.กริชสุดากล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เธอถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารยืนยันว่าเป็นผู้ขอให้ทหารขยายระยะเวลาการควบคุมตัวออกไปเกินกว่า 7 วัน โดยอ้างว่าเพื่อ “เหตุผลด้านความปลอดภัย”
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม มีรายงานว่านายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ นักศึกษาและนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกขู่ว่าจะตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย และถูกสังหารระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร
เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
แถลงการณ์ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนใหม่และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นเผด็จการทหารได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาระบุว่า ทหารไม่ต้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่มีนโยบายซ้อมทรมานหรือทำอันตรายใคร พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช.ประกาศว่า ที่ผ่านมาไม่มีการปฏิบัติมิชอบหรือการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัวรายใด
“การปฏิเสธแบบเหมารวมและการไม่ยอมให้มีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทรมาน แสดงให้เห็นว่าเผด็จการทหารไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส.กล่าว
“เหตุผลดังกล่าวยิ่งทำให้การมาเยือนประเทศไทยของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง” เขากล่าวเสริม
ไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ตามข้อ 13 ของอนุสัญญา ไทยมีพันธกรณีจะต้องจัดให้มี “การสอบสวนโดยพลันและปราศจากความลำเอียง” กรณีที่ “มีเหตุผลน่าเชื่อถือ” ว่าการได้เกิดการทรมานขึ้นมาจริง
รัฐบาลชุดที่แล้วของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบต่อการเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการของนายเมนเดซที่เป็นผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเดิมมีกำหนดมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 4-18 สิงหาคม 2557 [1] อย่างไรก็ดี ภายหลังการรัฐประหาร กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าจะชะลอการมาเยือนของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติไปช่วงปลายปี
เมื่อเดือนมิถุนายน คณะกรรมการต่อต้านการทรมานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบและปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีกล่าวว่า มี “ความกังวลอย่างลึกซึ้ง” เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศของกองทัพไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม คณะกรรมการฯ กระตุ้นให้ประเทศไทย “ยึดมั่นอย่างจริงจังกับข้อห้ามโดยเด็ดขาดต่อการทรมาน” [2]
FIDH และ สสส. เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่ระบุให้ประเทศไทยใช้มาตรการที่เป็นผลเพื่อประกันให้ “ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นของการควบคุมตัว” โดยมาตรการคุ้มครองเหล่านี้ครอบคลุมถึงสิทธิที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระโดยพลัน รวมทั้งสิทธิที่จะติดต่อกับครอบครัวของตน


[1] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of
the High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR), 10 มีนาคม 2557 นาย Juan Mendez ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 และระบุไว้ในรายงานประเด็นหลักเกี่ยวกับ
“การใช้หลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมานและหลักเกณฑ์ที่ห้ามใช้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ (exclusionary rule)”
[2] คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ข้อสังเกตเชิงสรุปที่มีต่อรายงานเบื้องต้นของประเทศไทย 20 มิถุนายน 2557 UN Doc. CAT/C/THA/CO/1, ย่อหน้า 4

อัยการสูงสุดยังไม่ฟ้อง 'จำนำข้าว' ให้รวมพยานหลักฐานสมบูรณ์ก่อน


อัยการสูงสุดพิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวแล้วเห็นว่าคดีมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงมีหนังสือแจ้ง ป.ป.ช. และให้ตั้งคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด-ป.ป.ช. เพื่อพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ และหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องต่อไป
4 ก.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานวันนี้ (4 ก.ย.) ว่า นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้พิจารณาสำนวนคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท แล้วเห็นว่าสำนวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา เนื่องจากมีประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
1.ประเด็นโครงการรับจำนำข้าว ควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่
2.ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ควรทำการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ว่าโครงการรับจำนำข้าว ได้ถูกท้วงติงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินการตรวจสอบ ป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร และผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร
3.ประเด็นเรื่องการทุจริตเห็นว่าควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการรับจำนำข้าว พบการทุจริตในขั้นตอนใด และอย่างไร รวมถึงให้รวบรวมรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เนื่องจากในสำนวนมีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น โดยในวันนี้สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไปยัง ป.ป.ช. และตั้งผู้แทนอัยการสูงสุดเป็นคณะทำงานร่วม กับผู้แทนฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องต่อไป
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวย้ำว่า การทำคดีดังกล่าวไม่มีความกังวลใดๆ เนื่องจาก ทำตามข้อกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม พร้อมยืนยันว่าไม่มีการเมืองแทรกแซง

โฆษก กต.ชี้คงกฎอัยการศึกไม่กระทบชีวิต ปชช.-คสช.เล็งยกเลิก 22 เมืองท่องเที่ยว


โฆษก กต. เผยฝ่ายความมั่นคงระงับการจัดงานเสวนาของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะผู้จัดงานแจ้งฝ่ายความมั่นคงกะทันหัน จึงให้งดก่อน ชี้ปกติจัดเสวนาต้องแจ้งให้หน่วยงานความมั่นคงทราบล่วงหน้าก่อน
3 ก.ย.2557 นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายความมั่นคงส่งเจ้าหน้าที่ไประงับการจัดงานเสวนาเรื่องความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง ของศูนย์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศวานนี้ (2 ก.ย.) ว่า ปกติการจัดงานเสวนาจะต้องแจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทราบล่วงหน้าก่อนจึงจะจัดได้ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีการดำเนินการตามที่ได้มีการตกลงไว้ก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่กรณีของการจัดงานวานนี้ มีการแจ้งให้ฝ่ายความมั่นคงทราบอย่างกะทันหัน ฝ่ายความมั่นคงจึงขอให้งดจัดกิจกรรมไปก่อน แต่หากผู้จัดจะเดินหน้าต่อ หลังจากนี้ก็สามารถประสานไปยังฝ่ายความมั่นคงอีกครั้งเพื่อขออนุญาตได้ และสามารถเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการที่หลายองค์กรสิทธิมนุษยชนห่วงสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทยนั้น นายเสข กล่าวว่า อยากให้องค์กรต่าง ๆ เหล่านั้น ได้ดูข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะการคงกฎอัยการศึกก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน  สถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดขณะนี้ถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่า ช่วงก่อนการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอยากให้หลายองค์กรดูสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย มากกว่าการศึกษาจากตำรา เพราะสถานการณ์ในไทยไม่เหมือนกับต่างประเทศ
คสช.เล็งยกเลิกกฎอัยการศึก 22จ. ท่องเที่ยว
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องของการยกเลิกกฎอัยการศึก หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนนตรีและหัวหน้า คสช. มีแนวคิดที่จะยกเลิกกฎอัยการศึก ในจังหวัดท่องเที่ยวประมาณ  22 จังหวัดก่อน ซึ่งเรื่องนี้ คสช. ได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องและเห็นว่าหากมีรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 9 ก.ย. นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ยืนยันว่าการประกาศใช้กฎอัยกายศึกที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว แต่ยอมรับภาพรวมในสายตาของต่างชาติ จึงได้มีการชี้แจงเป็นระยะ พร้อมกล่าวด้วยว่า ทหารมีความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อจัดระเบียบของประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ยอมรับว่า ได้ให้กองกำลังในพื้นที่ไปประเมินสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดว่าจะสามารถผ่อนปรนกฎอัยการศึกได้หรือไม่ จากนั้นให้ทำเรื่องส่งไปยัง คสช.

คตร.สั่งยกเลิกโครงการแท็บเล็ต เหตุไม่คุ้มค่า ให้ ศธ.เสนอโครงการใหม่ ก.ย.นี้


คตร. สั่งทบทวนระเบียบการจ่ายเบี้ยประชุมสมาชิกรัฐสภา ชี้โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. จำนวนครัวเรือนไม่ชัดเจน โครงการเครือข่ายโทรศัพท์ยุค 3 ไม่โปร่งใสเอื้อประโยชน์ผู้รับจ้าง ฯลฯ
3 ก.ย.2557  ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.)เป็นประธานการประชุม คตร.ครั้งที่ 11/2557 โดยในที่ประชุมได้สั่งการให้คณะทำงานเร่งติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ที่ คตร. ได้นำเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เพื่อให้สำเร็จโดยเร็ว รวมถึงโครงการที่ คตร. มอบหมายให้คณะทำงานไปเร่งตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการด้วย โดยโครงการที่ คตร. ได้สรุปผลการติดตามและตรวจสอบแล้วจำนวน 20 โครงการ อาทิ
โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. วงเงิน 25,976.75 ล้านบาททบทวนแล้วเหลือ 16,165.265 ล้านบาท โดยทาง คตร.ตรวจพบว่า จำนวนครัวเรือนไม่ชัดเจน ความเหมาะสมของมูลค่าคูปองวิธีการแจกจ่ายไม่ชัดเจน จึงให้ กสทช.กลับไปทบทวน
โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 วงเงิน 19,980 ล้านบาท ซึ่งผลการตรวจสอบมีความไม่โปร่งใสและมีการเอื้อประโยชน์ให้แก้ผู้รับจ้าง จึงต้องส่งเรื่องให้ สตง.ติดตามผลการดำเนินการของ ป.ป.ช.ต่อไป
โครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่เชิงพาณิชย์จำนวน 115 คันของ รฟท.วงเงิน 4,981.02 ล้านบาท ได้สั่งให้ชะลอและทบทวนโครงการใหม่
โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ จำนวน 50 คันของ รฟท.วงเงิน 6,562.50 ล้านบาท ได้แจ้งให้ รฟท.ตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางและร่าง ทีโออาร์.ใหม่มีรายละเอียดชัดเจนโปร่งใส โดยจะต้องลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนก.ย.2557
โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของทอท.วงเงิน 8,313,900,000 บาท , โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของ ทอท. วงเงิน 60,741.61 ล้านบาท โดยคตร. มีมติให้แจ้งให้ ทอท.ทบทวน TOR และดำเนินการให้สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.2557
ส่วนโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต)ของ ศธ.วงเงินรวมปี 2555 จำนวน 1,794.83 ล้านบาท และในปี 2556 จำนวน 4,616.25 ล้านบาท ซึ่งมีประเด็นที่ตรวจพบว่า ไม่คุ้มค่า บุคลากรที่เกี่ยวข้องขาดทักษะ การซ่อมบำรุงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งหลังการตรวจสอบต้องยกเลิกและให้เสนอโครงการใหม่ทดแทนและให้จัดทำโครงการใหม่และจะต้องสามารถ ลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ก.ย. 2557
นอกจากนี้ยังมี กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2556 คตร.ตรวจพบว่ามีการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้กับผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาในอัตราที่สูงมาก ทำให้เป็นภาระทางด้านงบประมาณ จึงสมควรแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับเงินใกล้เคียงกับข้าราชการ รวมถึงเรื่องการเบิกค่าเบี้ยประชุมของรัฐสภา เพราะมีการแก้ไขระเบียบว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการพ.ศ.2555 โดยปรับอัตราเบี้ยประชุมทำให้ค่าใช้จ่ายในการประชุมมีแนวโน้มสูงขึ้น คตร.จึงให้ทบทวนระเบียบให้เหมาะสมโดยเร็วและให้สตง.ตรวจสอบย้อนหลังหากมีการปฏิบัติผิดระเบียบให้เรียกเงินคืน ตามมติ คสช. 15 ก.ค.2557
โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 181 โครงการ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 2,459,793,166 บาท ผลการดำเนินงานให้มีการกระจายงานไปยังภูมิภาคและประกวดราคาโดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเลคโทรนิค โดยคณะอนุกรรมการฯด้านพัสดุและการจัดซื้อจัดจ้างเข้าตรวจสอบและสรุปผลเสนอที่ประชุม คตร.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.57 มีมติให้ดำเนินการต่อไปและกำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส , โครงการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 23 โครงการ คตร.ให้เลิกและให้เสนอโครงการใหม่ทดแทน , สำหรับโครงการกิจกรรมการเพาะชำกล้าไม้ตามแผนฟื้นฟูป่าและนิเวศฯของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 481.55 ล้านบาท คตร.เห็นว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องการบำรุงรักษาและแจกจ่ายและมีความสูญเสียของกล้าไม้จำนวนมาก ซึ่งผลการตรวจสอบเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้สำหรับโครงการตามแผนฟื้นฟูและระบบนิเวศ ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เงินกู้ 350,000 ล้านบาทปีงบประมาณ 25555 ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งให้ทบทวนโครงการ จึงทำให้โครงการหยุดชะงัก ทางกระทรวงทรัพยากรฯได้ของบกลางจากรัฐบาลเพื่อที่จะนำมาบำรุงรักษากล้าไม้ในโครงการนี้จำนวน 170 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับทำให้กล้าไม้ร้อยละ 20-30 เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ยังมีโครงการที่ คตร.อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตามและตรวจสอบอีกจำนวน 13 โครงการ อาทิโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา วงเงิน 12,280 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วงเงิน 5,087.91 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา คลองสิบเก้า แก่งคอย ของรฟท.วงเงิน 11,135.52 ล้านบาท ,โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ catamaran ขนาด 80 ฟุต จำนวน 1 ลำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 200 ล้านบาท ได้ขอปรับลดวงเงินเหลือ 150 ล้านบาท และที่ขอตรวจสอบเพิ่มอีก 3 โครงการ อาทิ โครงการซ่อมแซมสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงหัวหินของ องค์การสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วงเงิน 114,928,784 บาท ,โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี)จำนวน 3,183 คัน ของ ขสมก.กระทรวงคมนาคม วงเงิน 13,162 ล้านบาท เป็นต้น

ไม่ร่วมประชุมตามเทียบเชิญทหาร ยันร่างข้อตกลงแก้ปัญหาเหมืองทองฉบับชาวบ้าน




3 ก.ย.2557 ตามที่ พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ได้เชิญกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านในพื้นที่โครงการเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เข้าร่วมการประชุมวันที่ 4 กันยายน 2557 และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ส่งหนังสือถึง นายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง แจ้งให้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะของบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำบันทึกข้อตกลงนี้มาใช้เป็นแนวทางในการที่จะลดข้อขัดแย้งและป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ตำบลเขาหลวง
ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้แสดงจุดยืนต่อกรณีการจัดประชุมดังกล่าว โดยได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า  จากาการประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงนามข้อตกลงการแก้ปัญหาที่จัดมาแล้ว 2 ครั้งแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากชาวบ้านไม่รับทราบเนื้อหาของข้อตกลง จึงเสนอให้ร่างข้อตกลงใหม่ให้เป็นไปตามที่ชาวบ้านได้ทำประชาคมไว้แล้วเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2557 (รายละเอียดอ่านในล้อมกรอบ) และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้พิจารณารายละเอียดข้อตกลงอย่างทั่วถึงจากนั้นให้มีการประชาคมคัดเลือกตัวแทนไปลงนามข้อตกลง  ดังรายละเอียดแถลงการณ์ที่ปรากฏด้านล่าง
ทั้งนี้ เหมืองดังกล่าวเป็นโครงการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย และพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าสำหรับการทำเหมือง ต่อมาได้รับประทานบัตรหรือหนังสือรับรองให้ทำเหมืองจากกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2545 เป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่ 6 แปลง หรือ1,308 ไร่ ของภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ก่อนจะเปิดดำเนินการทำเหมืองอย่างเป็นทางการในปี 2549
อย่างไรก็ตามการประกอบกิจการดังกล่าวนำมาสู่การร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านรอบๆ เหมือง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยผุก หมู่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา และเกิดการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองภายใต้ชื่อ 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด' ในปี 2550 ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงการเฝ้าระวังเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน
แถลงการณ์
การปฏิบัติการของทหาร (คสช.) ในพื้นที่ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่าง ผู้ประกอบการเหมืองทองคำ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการจัดประชุมเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 แต่การจัดประชุมทั้งสองครั้งไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดเผยเนื้อหารายละเอียด และยังไม่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำยึดหลักสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ และการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ ที่หน่วยงานราชการได้ทำขึ้น จะต้องเป็นไปตามรายละเอียด ขั้นตอน และเงื่อนไข ในเอกสารประชาคมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ที่ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน ได้ลงมติเห็นชอบแล้ว (ดังเอกสารที่แนบมานี้) และจะต้องเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดร่างบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวให้ประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้านได้พิจารณาอย่างทั่วถึง
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เนื้อหาในบันทึกข้องตกลงฯ ไม่ตรงตามเอกสารประชาคมฯ ดังที่กล่าวในข้างต้น ให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวมิชอบ และไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ ในกรณีที่หน่วยงานราชการใดนำบันทึกข้อตกลงฯ ที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารประชาคมฯ ไปใช้ในการกระทำการใดๆ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ
2. การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีความถูกต้องและชอบธรรม โดยยึดหลักสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน
ดังนั้น กระบวนการในการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน 6 หมู่บ้าน  เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาในร่างบันทึกข้อตกลงที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้าน
เมื่อตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้พิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนทั้ง6 หมู่บ้าน เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงฯ
ในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องมีการจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากประชาชน 6 หมู่บ้าน  เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ แทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 6 หมู่บ้าน
หากผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน หรือข้าราชการในท้องถิ่น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบ  
และหากมีการใช้อำนาจในทางปกครองที่มิชอบไม่ว่ากรณีใด ประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จะนำคดีขึ้นสู่ศาล
แถลงโดยตัวแทน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน
วันที่ 3 กันยายน 2557

มติประชาคม 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557
1. ให้มีการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาขึ้นเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษร ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ร่วมลงนามใน “สัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่า
1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ)
1.2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว
1.3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม
1.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่
2.1 ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย
2.2  ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร
2.3 ส.ป.ก.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.4 ทสจ.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดิน ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.5 อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก
2.6 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน
2.7 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก
2.8 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว
2.9 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่ แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น
2.10 หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด
2.11 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยขั้นตอนการดำเนินการ ตามมติความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในครั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. หลังจากการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และตัวแทนชาวบ้าน ลงนามในสัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐานให้เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2. ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จ และรายงานต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ตามข้อ 2.8 ก่อนจะมีการขนแร

ทหารยื่นคำขาดม็อบยึดสวนปาล์มกระบี่ต้องออก 15 ก.ย.นี้ ชาวสวนยางนัด 16 ก.ย. ปัดปิดถนน


นายกสมาพันธ์สวนยางฯเผย ชาวสวนยางนัดประชุม 16 ก.ย. แจงไม่ใช่การชุมนุมปิดถนน ด้าน ผบ.ร.15 พัน.1 เข้าเจรจากับม็อบยึดสวนปาล์ม ให้ออกภายใน 15 ก.ย. หลังจากยื่นเงื่อนไข พร้อมขู่หากไม่ปฏิบัติตามจะนำกำลังเข้าสลาย
3 ก.ย.2557 พ.อ.จรูญ จตุรงค์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน1) จ.กระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางทหารพร้อมด้วยตำรวจ ฝ่ายปกครอง และป่าไม้ ได้เข้าเจรจากับกลุ่มชาวบ้านที่ยึดสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ที่บริษัทยูนิวานิช จำกัด มหาชน เช่าและหมดสัมปทาน เนื้อที่กว่า 1 หมื่นไร่ให้ออกจากพื้นที่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยเจรจา และให้เวลาไปแล้วรอบหนึ่งแต่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ยอมออก โดยได้เข้าประกาศให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ หากไม่ออกจะสนธิกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางทหารได้มีการหารือกับทางกลุ่มชาวบ้านมาโดยตลอด และไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเจรจากันอีกรอบหนึ่ง แต่รอบนี้เป็นการเข้าไปแจ้งให้ทราบ โดยกำหนดการแจ้งคือวันที่ 3 วันที่ 8 และ 11 ก.ย. จากนั้นในวันที่ 15 หากยังพบมีกลุ่มชาวบ้านอยู่ในสวนอีก ก็จะจับกุมและควบคุมพื้นที่ทันที
ชาวสวนยางนัดประชุม 16 ก.ย. แจงไม่ใช่การชุมนุมปิดถนน
ขณะที่วานนี้ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ชาวสวนยางได้นัดหมายที่จะมาประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงกรณีปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอไปยังรัฐบาลใหม่ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับชาวสวนยางต่อไป
นายบุญส่ง กล่าวว่า 16 ก.ย.นี้ไม่ได้นัดปิดถนน แต่เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ชาวสวนยางควนหนองหงษ์ ชุมนุมปิดถนนเมื่อ 16 ก.ย.ปีก่อน พี่น้องชาวสวนยางจึงถือโอกาสนัดหมายมาประชุมกันเพื่อหารือเรื่องราคายางตกต่ำในขณะนี้ และจะส่งแนวทางการแก้ปัญหานี้ให้รัฐบาลรับทราบว่าจะตกผลึกกันอย่างไรในประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง

ยูเอ็นแถลงกังวลอย่างยิ่ง กรณีผู้ปกป้องสิทธิฯ ไทยถูกจำกัดสิทธิ เสวนาถูกระงับ



3 ก.ย.2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(The United Nations Human Rights Office for South East Asia  - OHCHR) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง จากกรณีผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถูกจำกัดสิทธิ์มากขึ้นในการชุมนุมอย่างสันติและแสดงความคิดเห็น
หลังจากที่วานนี้หน่วยงานของทหารได้สั่งให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย งดจัดงานแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังจากการรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. รวมทั้งการเสวนาในหัวข้อ ‘ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
แถลงการณ์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติฯ ระบุว่าการสั่งงดจัดงานดังกล่าวก็เป็นเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งที่ส่อว่าภาวะแวดล้อมผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศย่ำแย่ลง ประเทศไทยในฐานะผู้ให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและการเมืองพึงเคารพคำประกาศของสหประชาชาติเรื่องผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยคำประกาศดังกล่าวกำหนดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลหรือร่วมกับผู้อื่น และมีสิทธิ์ที่จะเสวนาตลอดจนรายงานสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้สาธารณชนรับรู้