วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างที่นำมาสู่ความความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง และยังเป็นเหตุผลหลักของการทำรัฐประหารเกือบทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


           การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างที่นำมาสู่ความความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง และยังเป็นเหตุผลหลักของการทำรัฐประหารเกือบทุกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังการรัฐประหารในปี 2549 และการปราบปรามการชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 ตัวเลขคดีตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตัวเลขจะไม่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คดีความที่ดำเนินอยู่แล้วก็เดินหน้าฟ้องร้องกันเรื่อยมา

          การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แม้คณะรัฐประหารจะไม่ได้อ้างเรื่องการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างออกหน้าออกตาเหมือนเคย แต่ก็คาดหมายได้ว่าการปราบปรามและตัวเลขจะพุ่งขึ้นอีกจังหวะหนึ่ง

         กล่าวกันว่า ช่วงเวลาหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีผู้ถูกจองจำด้วยข้อหามาตรา 112 มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาตร์

ผู้ถูกจองจำอยู่ก่อนการรัฐประหาร

           เท่าที่ทราบ ก่อนการรัฐประหารมีผู้ถูกจองจำด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 5 คน ได้แก่


             1. ดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปี จากการปราศรัย 3 ครั้ง ปัจจุบันคดีถึงที่สุด อยู่ระหว่างการรับโทษ

              2. สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 10 ปี จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 2 ชิ้น ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์


              3. เอกชัย ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน จากการขายซีดีที่บรรจุสารคดีของสำนักข่าว ABC Australia และ เอกสารจาก Wikileaks ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นฎีกา

             4. กิตติธน หรือ เคนจิ ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 5 ปี 20 เดือน จากการโพสข้อความและรูปภาพลงในเว็บไซต์ และการตระเตรียมจะโพส ปัจจุบันคดีถึงที่สุด อยู่ระหว่างดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษ


            5. ปภัสชนัญญ์ หรือ “เจ๊แดง โคราช” ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 3 ปี จากการเผาโลงศพที่มีข้อความเขียนเกี่ยวกับประธานองคมนตรี ปัจจุบันคดีถึงที่สุด อยู่ระหว่างดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษ


           6. "ยศวริศ หรือ เจ๋ง ดอกจิก" ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี จากการปราศรัยและแสดงท่าทางประกอบ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา

            นอกจากนี้ยังมีกรณีคธา ซึ่งถูกศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน จากการโพสข้อความข่าวลือลงในเว็บบอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


ผู้ถูกดำเนินคดี ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจของ คสช.

           1. อภิชาติ นักศึกษาปริญญาโท ถูกจับจากการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นคนแรกที่ถูกจับและเป็นคนแรกที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หลังทหารยึดมือถือไปตรวจค้นแล้วพบว่าเคยโพสเฟซบุ๊คเป็นข้อความเข้าข่ายผิดมาตรา 112 อภิชาติถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกจนครบ 7 วัน ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 26 วัน จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ


              2. จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก่อนรัฐประหารไม่กี่วันเคยถูก กอ.รมน.แจ้งความเอาผิดตามาตรา 112 ไว้แล้ว จากกรณีการปราศรัยที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 หลังการรัฐประหารสองวัน จ่าประสิทธิ์ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัว ก่อนถูกนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขัง ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

            3. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรมเสื้อแดง ถูก คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ให้มารายงานตัวแต่ไม่ไปตามกำหนด ต่อมาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ก่อนถูกควบคุมตัวครับ 7 วันและถูกแจ้งข้อหาปลุกปั่นยั่วยุงให้เกิดความแตกแยก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หลังได้ประกันตัวในข้อหาแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ดได้มาอายัดตัวต่อเพื่อไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ซึ่งคดีนี้มีผู้มาแจ้งความไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 หลังจากที่สมบัติได้เฟซบุ๊คบุกที่ถูกกล่าวหาไป ครั้งนี้สมบัติใช้เงินสด 300,000 บาทยื่นขอประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนและได้รับอนุญาตให้ประกันตัว


            4. คฑาวุธ นักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับการเมือง ถูก คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 ให้มารายงานตัว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขัง เนื่องจากเนื้อหาในคลิปรายการของเขาจากเว็บไซต์ youtube เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

            5. เฉลียว ช่างตัดกางเกง ถูก คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 ให้มารายงานตัว เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกแจ้งและฝากขังด้วยข้อกล่าวหาจากการเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ต่อลงในเว็บไซต์ youtube และ 4share ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ


          6. สิรภพ หรือนักเขียนและกวีในโลกออนไลน์ที่ใช้นามแฝง “รุ่ง ศิลา” ถูก คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 41/2557 ให้มารายงานตัวแต่ไม่ไปตามกำหนด ต่อมาถูกจับกุมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขังจากข้อความที่เข้าข่ายผิดมาตรา 112 ซึ่งเขียนลงในเว็บไซต์ ปัจจุบันยังไม่ได้ยื่นประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

7. ชายไม่เปิดเผยชื่อซึ่งถูกทหารบุกไปจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันยังไม่ได้ยื่นประกันตัว และถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ



ผู้ถูกดำเนินคดี ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจของ คสช.


           1. ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ เขาพูดคุยเรื่องการเมืองกับผู้โดยสารคนหนึ่งซึ่งขณะพูดคุยผู้โดยสารอัดคลิปเสียงไว้ และมีการแจ้งความที่ สน.พญาไท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 หลังรัฐประหารเขาถูกตำรวจจับกุมตัวที่อู่แท็กซี่ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 พนักงานสอบสวนขอฝากขังตัวไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ยุทธศักดิ์ถูกส่งฟ้องต่อศาล และให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบันรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ


            2. นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่ถูกพลเมืองดีแจ้งความไว้ที่ สน.สุทธิสาร หลังเขาโพสเฟซบุ๊คเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ต่อมาตำรวจ สน.สุทธิสารไปจับกุมตัวที่บ้านเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 พนักงานสอบสวนขอฝากขัง ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ



           3. สมัคร ชายชาวเชียงรายที่ทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ อ.เทิง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ก่อนถูกตำรวจตามไปจับกุมตัวได้ ปัจจุบันยังไม่ได้ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คดีนี้การกระทำความผิดเกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ดังนั้นจึงต้องพิจารณาที่ศาลทหาร และเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกภายหลังการรัฐประหารที่จะขึ้นศาลทหาร


           4. “ทอม ดันดี” หรือ นายธานัท ซึ่งเคยถูก คสช.เรียกไปรายงานตัวแล้วจากคำสั่งฉบับที่ 53/2557 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 และมีคดีติดตัวจากการไม่มารายงานตัวตามกำหนด ถูกตำรวจบุกไปจับกุมตัวที่บ้านอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 จากกรณีมีคลิปการปราศรัยซึ่งเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ปัจจุบันยังไม่ได้ยื่นประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ


          5. ชายไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งมีคดี “โยนธงลงน้ำ” ตั้งแต่ปี 2553 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสุขภาพของจำเลยไม่เอื้ออำนวยไม่สามารถเดินทางไปศาลได้ อัยการจึงเลื่อนการสั่งฟ้องมาเป็นเวลาหลายปี และมายื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จำเลยได้รับการประกันตัว 

          6. ชายไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งมีคดี “นักรบไซเบอร์” จากการเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊คตั้งแต่ปี 2555 ที่จังหวัดอุบลราชธานี อัยการส่งฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี


            7. ธเนศ ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกกล่าวหาว่าส่งอีเมล์ที่มีลิงก์ไปยังเว็บบล็อกซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาท ถูกทหารและตำรวจไปจับกุมตัวที่บ้านเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 หลังถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาที่ปอท.และถูกฝากขัง ปัจจุบันศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ


          8. ปติวัฒน์ หรือ แบงก์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับละครเวที "เจ้าสาวหมาป่า" ของกลุ่มประกายไฟการละคร ซึ่งแสดงในงานรำลึก 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกแจ้งความไว้ 13 โรงพักว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดมาตรา112 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ปติวัฒน์ถูกกำลังตำรวจไปควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัย และนำตัวเข้ากรุงเทพ ปัจจุบันฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

          9. ภรณ์ทิพย์ หรือ กอล์ฟ ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับละครเวที "เจ้าสาวหมาป่า" ของกลุ่มประกายไฟการละคร ซึ่งแสดงในงานรำลึก 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกแจ้งความไว้ 13 โรงพักว่าเนื้อหาเข้าข่ายผิดมาตรา112 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมภรณ์ทิพย์ได้ที่สนามบินหาดใหญ่ ขณะกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ และนำตัวเข้ากรุงเทพ ปัจจุบันฝากขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ
 

iLaw: คดีมาตรา 112 กำลังถูกเข็นให้ไปขึ้นศาลทหาร



หลังการยึดอำนาจได้ 3 วัน วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มาตรา 107-112 หมวดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118 และความผิดตามคำสั่งและประกาศของคสช. ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
การประกาศให้ศาลทหารเข้ามาดูแลคดีความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และความมั่นคง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ คสช. ที่จะปราบปรามการกระทำความผิดในประเด็นเหล่านี้ให้หนักหน่วงและจริงจังในระดับที่กระบวนการยุติธรรมปกติตอบสนองความต้องการของคสช.ไม่ได้
กระบวนการพิจารณาคดีศาลทหารคล้ายกับศาลพลเรือน มีจุดแตกต่างที่สำคัญคือ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกไม่มีการอุทธรณ์หรือฏีกา ตัดสินอย่างไรให้ถือเป็นที่สุดทันที \สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ ความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งล้วนมีที่มาจากทำเนียบนายทหารทั้งสิ่น ยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้ จำเลยหรือผู้ต้องหาทางการเมืองซึ่งถูกผลักให้ขึ้นศาลทหารจึงย่อมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมของตนเอง
ความผิดที่ขึ้นศาลทหาร ต้องเกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557
อย่างไรก็ตามในประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารนั้นต้องเกิดขึ้น “ในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ” คือหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป จนกว่าประกาศนี้จะถูกยกเลิก ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นและจบลงไปก่อนหน้าวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 นั้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานใด ก็ให้พิจารณาที่ศาลพลเรือนไปตามปกติ
ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับหลักของกฎหมายอาญาที่ต้องพิจารณาวันที่ลงมือกระทำความผิดเป็นหลัก หากมีกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดมีผลเป็นโทษกับจำเลย เช่น การให้ไปขึ้นศาลทหาร กฎหมายที่ออกมาภายหลังนี้ย่อมบังคับใช้กับจำเลยไม่ได้
การตีความเช่นนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมในคดีของนายวีระยุทธ ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร ที่ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีของวีระยุทธ จึงถูกพิจารณาที่ศาลแขวงปทุมวันซึ่งเป็นศาลพลเรือน และศาลตัดสินแล้วให้จำคุก 1 เดือน รอลงอาญา
หรือคดีของนายยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ที่ถูกผู้โดยสารแจ้งความตามมาตรา 112 ซึ่งการกระทำเกิดขึ้นตั้งแต่ 28 มกราคม 2557 ก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 คดีของยุทธศักดิ์จึงถูกพิจารณาที่ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลพลเรือน และศาลตัดสินแล้วให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน­
คดี 112 กรณีสมัคร – ทอม ดันดี ขึ้นศาลทหารไปแล้ว           
หลังการรัฐประหาร คดีความมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีคนถูกจับและคุมขังเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14 คน คดีเก่าอีกอย่างน้อย 2 คดีที่ถูกเร่งให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว มีหนึ่งคดีที่ถูกฝากขังที่ศาลทหาร คือ คดีของนายสมัครซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงราย ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 จึงอยู่ในอำนาจของศาลทหาร เป็นไปตามที่ประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดไว้
ส่วนคดีอื่นๆ เกือบทุกคดีพนักงานสอบสวนขออำนาจฝากขังกับศาลพลเรือน เพราะการกระทำความผิดล้วนเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ยกเว้นคดีของนายธานัท หรือ “ทอม ดันดี” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปราศรัยผิดมาตรา 112 การปราศรัยหรือการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2556 แต่ในเดือนมิถุนายน 2557 มีคนนำคลิปการปราศรัยมาอัพโหลดขึ้นบนยูทูบ เจ้าหน้าที่จึงตีความว่าการกระทำของทอม ดันดี เกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 หรือ หลังประกาศฉบับที่ 37/2557 ใช้บังคับ จึงนำตัวไปฝากขังกับศาลทหาร ซึ่งคดีนี้ทนายความได้ทำเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหารไปแล้ว
คดี112 ที่ศาลพลเรือน กำลังทยอยย้ายมาที่ศาลทหาร
คดีของชายไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งความผิดเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความลงบนอินเทอร์เน็ตและเป็นการโพสต์ก่อนการรัฐประหาร เขาถูกจับเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกับการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางกระทำความผิดหลังการออกประกาศได้ ก่อนหน้านี้เขาถูกฝากขังที่ศาลอาญามาตลอด และศาลอาญาก็รับรองว่าตัวเองมีอำนาจพิจารณาคดีโดยการอนุญาตให้ฝากขัง แต่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ใกล้จะถึงกำหนดวันส่งฟ้อง เขากลับถูกพาตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังใหม่ ทราบภายหลังว่าอัยการพลเรือนเป็นคนสั่งไม่รับคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน พนักงานสอบสวนจึงต้องรีบเปลี่ยนทิศทางส่งตัวไปฝากขังกับศาลทหาร และทำสำนวนส่งให้อัยการทหารเป็นผู้สั่งฟ้องแทน
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2557 คดีของนายคฑาวุธ ก็ถูกพาไปที่ศาลทหารเป็นคดีต่อมา คดีนี้เกี่ยวข้องกับคลิปรายการวิทยุบนอินเทอร์เน็ตอีกเช่นกัน แต่คลิปทั้งหมดถูกทำขึ้นและเผยแพร่ก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้านี้เขาจึงถูกฝากขังที่ศาลอาญามาตลอด และศาลอาญาก็รับรองว่าตัวเองมีอำนาจพิจารณาคดีโดยการอนุญาตให้ฝากขัง จนเมื่อใกล้จะถึงกำหนดวันส่งฟ้องเขาถูกพาตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังเช่นเดียวกับกรณีของชายไม่เปิดเผยชื่อ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า อัยการพลเรือนไม่รับคดีนี้เพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน จึงต้องย้ายเรื่องมาอาศัยอำนาจศาลทหารแทน
ชายไม่ทราบชื่อและนายคฑาวุธยื่นขอประกันตัวต่อศาลทหาร แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนไม่อยู่ที่ศาลขณะยื่นประกันตัวและพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ศาลนำมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าหากปล่อยชั่วคราวอาจจะเป็นอุปวรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่การสอบสวน หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
และในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 นี้เอง มีรายงานว่า คดีของชายไม่เปิดเผยชื่อนั้นอัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหารเรียบร้อยแล้ว โดยในกระบวนการส่งฟ้องไม่มีการเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาตามฟ้อง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการปกติในศาลพลเรือน
การโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ต อาจถูกตีความขยายว่าวันที่กระทำความผิดมีอยู่ตลอดไป
คำร้องขอฝากขังที่ยื่นต่อศาลทหาร ในคดีของนายคฑาวุธ พนักงานสอบสวนระบุว่า “พนักงานสอบสวนได้ควบคุมผู้ต้องหานี้ไว้ทำการสอบสวนตลอดมา และได้นำตัวผู้ต้องหายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญามาแล้วรวม 7 ครั้ง คดีนี้พบการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 27พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องปฏิบัติตามนัยของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร”
มีการอ้างว่าพบการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นการอ้างเพื่อให้วันกระทำความผิดยืดออกจนเลยวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นวิธีหาเหตุให้คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งการตีความเช่นนี้ เท่ากับว่าการโพสต์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นการกระทำต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่เนื้อหาเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง
เพราะการกระทำความผิดโดยการโพสต์เนื้อหาลงบนอินเทอร์เน็ตเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วินาทีแรกที่โพสต์สำเร็จแล้ว จึงต้องนับวันที่โพสต์เนื้อหานั้นเป็นวันกระทำความผิดเพียงวันเดียว ส่วนเนื้อหาที่ยังปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ว่าจะปรากฏอยู่นานเพียงใดก็เป็นเพียงผลของการกระทำความผิด การโพสต์ไม่มีลักษณะเป็นความผิดต่อเนื่องที่วันเวลาของการกระทำความผิดจะสามารถตีความให้ยืดออกไปหลายวันได้
หากตีความให้ถูกต้องว่าวันที่กระทำความผิดต้องนับวันที่โพสต์เพียงวันเดียวแล้ว คดีของนายคฑาวุธและชายไม่เปิดเผยชื่อก็ต้องถือว่าความผิดเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 และไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งเชื่อว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีก็ตีความกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ตั้งแต่ต้น จึงขอฝากขังทั้งสองคดีไว้ที่ศาลอาญา และผู้พิพากษาศาลอาญาก็เห็นพ้องด้วยจึงสั่งอนุญาตให้ฝากขังมาตลอด 7 ผลัดทั้งสองคดี
ขณะที่อัยการพลเรือน อัยการทหาร และผู้พิพากษาศาลทหารเห็นว่าคดีนี้สามารถตีความให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารได้
จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง ถ้าคดี112 ต้องขึ้นศาลทหาร
หากบรรทัดฐานการตีความเรื่องวันที่กระทำความผิดและเขตอำนาจศาลทหารเช่นนี้ได้รับการยอมรับ คดีความมาตรา 112 หรือมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เนื้อหาลงในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ที่เดิมอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลพลเรือนก็จะถูกย้ายมาอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร
เท่าที่ทราบมีอีกอย่างน้อยสี่คดี คือ คดีนายอภิชาติ คดีนายเฉลียว คดีนายธเนศ และคดีนักศึกษาเทคโนโลยีมหานคร ที่มีลักษณะเป็นการโพสต์เนื้อหาลงบนอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน และอาจจะมีคดีอื่นๆ อีกตามมาในอนาคต
ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาของศาลทหารออกมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าแนวทางการพิจารณาคดี การตีความ และการกำหนดโทษ ในคดีมาตรา 112 หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อทางการเมืองนั้น ศาลทหารจะมีแนวทางการใช้อำนาจเหมือนศาลพลเรือนหรือไม่ ซึ่งภายในเวลาไม่นานนี้คงจะได้เห็นกัน
แต่ระหว่างนี้ จำเลยที่ถูกโอนคดีมาขึ้นศาลทหาร คงไม่อาจยอมรับวิธีการใช้อำนาจตีความกฎหมายเช่นนี้และไม่อาจรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในกระบวนการสรรหาความยุติธรรมให้กับตัวเองได้ และคงเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ “ความสุข” ยังมาไม่ถึง


อ่านรายละเอียดคดีของคฑาวุธ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/581
อ่านรายละเอียดคดีของยุทธศักดิ์ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/575
อ่านรายละเอียดคดีของนายวีระยุทธ คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/588
อ่านรายละเอียดคดีของนายสมัคร คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/584
อ่านรายละเอียดคดีของทอม ดันดี คลิกที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/585

รายงานการปรากฎตัวของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังรัฐประหาร 2557
ดูข้อมูลเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และการปิดกั้นการใช้เสรีภาพการแสดงออกที่ freedom.ilaw.or.th