วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โดนอีก! 112 ฝากขังศาลทหาร นักธุรกิจโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทหาร พาดพิงสถาบัน

         25 ธ.ค.2557 ที่ศาลทหาร  พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำผู้ต้องหา นักธุรกิจชายวัย 58 ปี (ผู้ต้องหาขอสงวนชื่อนามสกุล) จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาขออำนาจศาลทหารฝากขังผลัดที่ 1 หลังแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
          พนักงานสอบสวนระบุว่า “ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และโจมตีการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่อยมา โดยมีการทำกราฟฟิคภาพพร้อมข้อความที่มีเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน และพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้รับความเสียหาย”  พร้อมทั้งยกข้อความที่เข้าข่ายดังกล่าวมา 3 ข้อความ 
              ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค.ฝ่ายความมั่นคงจึงใช้อำนาจกฎอัยการศึกเข้าค้นบ้านผู้ต้องหา ยึดคอมพิวเตอร์-โทรศัพท์และเชิญตัวผู้ต้องหาพร้อมภรรยามาสอบปากคำ จากนั้นทหารจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาจนกระทั่งวันที่ 23 ธ.ค.เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงของศาลออกหมายจับและนำตัวมาอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนนำตัวมาขอฝากขังยังศาลทหารในวันนี้ (25 ธ.ค.) เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวเนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง ด้านญาติผู้ต้องหายื่นประกันตัวด้วยเงินสด 4 แสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีร้ายแรงมีโทษสูง ผู้ต้องหาจึงถูกส่งไปควบคุมตัวยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเย็นวันนี้

‘ประยุทธ์’ โวยสื่อทำ ‘เสียมาดผู้นำ’ ขู่ใช้กฏอัยการศึกปิดบางฉบับ



25 ธ.ค.2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 3 เดือน โดยในช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงสื่อมวลชนด้วยว่า ต้องปฏิรูป พร้อมระบุว่าขณะนี้ยังมีสื่อมวลชนบางฉบับที่นำเสนอข่าวในทางที่ไม่สร้างสรรค์ สร้างความขัดแย้งในสังคม ซึ่งหากยังไม่หยุดการกระทำในลักษณะนี้ รัฐบาลจะนำกฎอัยการศึกมาบังคับใช้เพื่อปิดสื่อ โดยขอให้ทุกคนเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และความเป็นมนุษย์ ตนเองยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ไม่ใช่การใส่ร้าย หรือปลุกระดมโจมตี
"ผมอดทนมานาน เป็นไร บ้าหรือไง ไม่ว่าใครเป็น ด่าทั้งหมด แล้วมันจะดีตรงไหนวะ ผมไม่อยากอ่าน อ่านแล้วมันโมโห ทำให้เสียกริยา เสียมาดผู้นำหมด คราวนี้ผมจะปิดจริงๆ ไม่งั้นจะมีกฎอัยการศึกไว้ทำไม มาตรา 44 ใช้ในทางสร้างสรรค์ ผมยังไม่เคยเอาใครมาติดคุกสักคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า หลังการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา มีกระบวนการควบคุม แทรกแซงและปิดสื่อมาโดยตลอด เช่น คำสั่งระงับสื่อทั้งทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวมวลชนฝ่ายต่างๆ แม้ภายหลังจะมีการเปิดให้ดำเนินการได้บางสื่อก็ตาม รวมไปถึงการเรียกสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและสื่ออิสระเข้ารายงานตัว และที่สำคัญประกาศ คสช. ฉบับที่ 97(ประกาศเมื่อ 18 ก.ค.57) และ 103(ประกาศเมื่อ 21 ก.ค.57) ที่เป็นอุปสรรคของสื่อในการเชิญบุคคลไปออกรายการทีวี โดยประกาศดังกล่าวให้งดนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่ส่งผลต่อความมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะห้ามสื่อเสนอ “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ” เป็นต้น

กมธ.ยกร่างฯ เผยใช้สูตรเลือกตั้งเยอรมนีโมเดล หวังคุมเสียงข้างมากในรัฐสภา



คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยมีมติใช้ระบบเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมนี หรือระบบผสมแบบอิงสัดส่วน กำหนดจำนวน ส.ส. 450 คน แบ่งเขต 250 สัดส่วน 200 พร้อมระบุไม่ได้มีเจตนาทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งเกินไป
25 ธ.ค. 2557 เมื่อวานนี้ ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง ระบบการเลือกตั้งและผู้นำทางการเมืองที่ดี ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ใช้ระบบการเลือกตั้งระบบผสมแบบอิงสัดส่วน(Mixed Member Proportional - MMP) โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบระบบสัดส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่ควรมีทั้งผู้แทนของประชาชนในเขตจังหวัด และเป็นผู้แทนของประชาชนที่ไม่มีฐานเสียงในเขตจังหวัด โดยให้การเลือกตั้งแบ่งเป็น แบบแบ่งเขตจำนวน 250คน และการเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนจำนวน 200คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 450 คน แต่ทั้งนี้ อาจจะมีส.ส.เกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้ ประมาณ 20-30 คน
“ยกตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนของระบบสัดส่วนคิดเป็น 10 % เท่ากับจะได้จำนวน ส.ส. 45 คน โดยถ้าพรรคยังได้ ส.ส. แบ่งเขตไม่ถึง 45 คน ก็จะนำจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนมาเติมให้ได้ครบ 45 คน แต่ในทางกลับกันถ้าพรรคนี้ได้ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเกิน 45 คนแล้วก็จะไม่มีการเพิ่ม ส.ส.จากระบบสัดส่วนให้อีก อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งลักษณะนี้อาจทำให้มี ส.ส.เกิน 450 คน เพราะมีสาเหตุจากการที่พรรคการเมืองได้ ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งจำนวนมาก”พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
ทั้งนี้พล.อ.เลิศรัตน์ได้กล่าวต่อไปว่า ไม่ได้มีเจตนาทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งเกินไปจนถูกตรวจสอบไม่ได้ ถ้ามีพรรคการเมืองใหญ่มากๆมี ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งไปตั้งรัฐบาลจะทำให้เสียงของ ฝ่ายนิติบัญญัติอ่อนมาก เพราะทำตามสิ่งที่รัฐบาลต้องการดังนั้น รูปแบบนี้จะทำให้การตรวจสอบสามารถทำได้ ซึ่งอาจมีรัฐบาลผสมประมาณ 2-3 พรรค เพื่อให้มีเสียงในสภาเกิน 60 % ในอดีตก็มีรัฐบาลผสมมาแล้ว และการให้มีพรรคเล็กมี ส.ส.เข้าสภาพรรคละ 3-4 คน จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมให้มีสิทธิมีเสียงในสภา ดีกว่าอยู่บนถนน
ส่วนการแบ่งโซนพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วน จะแบ่งเป็น 8 กลุ่ม โดยใช้ภูมิภาคเป็นตัวแบ่งเขต และจะพยายามให้มีจำนวนประชากรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ใกล้ เคียงกัน นอกจากนั้น ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เห็นพ้องกันว่าให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการคัดเลือกคณะรัฐมนตรี ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อความเป็นอิสระในการทำงานในสภา แต่สามารถสมัครเป็นกลุ่มได้ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบวิธีการลงทะเบียนกลุ่มอีกครั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใน ประเด็นดังกล่าวข้างต้นด้วย
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 9 ประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวได้แก่ เยอรมนี แอลเบเนีย เลโซโท โบลิเวีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เวเนซุเอลา อิตาลี ฮังการี

กมธ.ยกร่างฯ เคาะที่มา ส.ว. 4 สายสรรหา 1 สายเลือกตั้งทางอ้อม พร้อมเผยที่มา นายกฯ



              คำนูณ เผยข้อสรุปที่มา ส.ว. ระบุมาจาก 5 ช่องทาง จำนวนไม่เกิน 200 คน เพิ่มอำนาจตรวจสอบประวัติ ครม. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอร่างกฏหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ตรวจสอบจริยธรรมหัวหน้าส่วนราชการ และร่วมลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการระดับสูงได้ พร้อมเผยที่มานายกรัฐมนตรี

              25 ธ.ค. 2557 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการพิจารณาที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ว่า ที่ประชุมมีฉันทามติให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200คน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยคัดเลือกจาก 5ช่องทาง ประกอบด้วย

  • 1.อดีตผู้นำในอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • 2.อดีตข้าราชการตำแหน่งสำคัญ เช่น อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ อดีตปลัดกระทรวง
  • 3.ประธานองค์กรวิชาชีพหรือผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประธานหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม
  • 4.กลุ่มภาคประชาชน เช่น สหภาพต่างๆ องค์กรภาคประชาชน
  • 5.คัดสรรจากกลุ่มวิชาชีพที่หลากหลาย โดยใช้เลือกตั้งทางอ้อม
           ส่วนอำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่แตกต่างออกไปจากเดิม คือ สามารถเสนอร่างกฎหมายได้ พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และที่สำคัญได้เพิ่มอำนาจการตรวจสอบประวัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมถึงตรวจสอบประวัติจริยธรรมของหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน ก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีสามารถร่วมลงมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของ สมาชิกวุฒิสภา

           คำนูญ ยังกล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า ให้มาจากการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540และ 2550 โดยไม่บังคับว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เพื่อเปิดช่องไว้หากเกิดกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ

ทหารสั่งหยุด ขบวนเดินเพื่อสายน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำชี


ทหารอ้างกฏอัยการศึกสั่งหยุดเดิน เพื่อศึกษาเรียนรู้และศึกษาเส้นทางน้ำ ของขบวนเดินเพื่อสายน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำชี สั่งให้นั่งรถไปแทน และห้ามชูป้ายผ้ากับธงที่เป็นสัญลักษณ์ในการเดินเพื่อสายน้ำระหว่างทาง
 25 ธ.ค. 2557  เมื่อเวลา 08.00 น. ที่วัดธรรมวิเวก (วัดดงหัวชี) ต.ขุมเงิน อ.เมือง จ.ยโสธร ขบวนเดินเพื่อสายน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำชี ตอนล่าง จ.ยโสธร ประมาณ 30 กว่าคน ได้ร่วมกันทำบุญตักรบาตรแก่พระสงฆ์ และร่วมกันรับประทานอาหารเช้า ก่อนออกเดินเพื่อสายน้ำต่อในวันที่สอง เพื่อศึกษาเส้นทางน้ำให้เสร็จตามที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ หลังจากเมื่อวานเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร เพื่อศึกษาเรียนรู้และศึกษาเส้นทางน้ำกุดนางช่วย ปากร่องบ่อ  ฝายท่ากุ่ม ฯลฯ เพราะทางคณะอยากเห็นปัญหาการจัดการน้ำด้วยตนเองเพื่อจัดทำข้อเสนอทางเลือกในการจัดการระบบน้ำตามวิถีชาวบ้าน
จนกระทั่งเวลา 09.30 น. ได้มีทหารจากกรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา 2 คันรถ ประมาณ  8 นาย ปลัดป้องกันจังหวัดยโสธร และตำรวจ ได้เข้ามาถามหาแกนนำชาวบ้านและได้เกิดการเจรจากันโดยทางทหารเสนอว่าให้หยุดการเดินเพื่อสายน้ำต่อเพราะการกระทำผิดต่อกฎอัยการศึก และทางหน่วยงานราชการจังหวัดก็ขอให้ทางคณะหยุดเดินโดยอ้างว่าบ้านเมืองอยู่ในช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติ ซึ่งการเจรจานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปว่าสามารถให้คณะเดินเพื่อสายน้ำนั่งรถไปสำรวจเส้นทางน้ำต่อ แต่ให้ชาวบ้านใช้รถได้เพียง 1 คัน และทหารห้ามชูป้ายผ้ากับธงที่เป็นสัญลักษณ์ในการเดินเพื่อสายน้ำครั้งนี้ด้วย
นิมิต หาระพันธ์ ผู้ประสานงานขบวนเดินเพื่อสายน้ำ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ขบวนเดินเพื่อสายน้ำต้องหยุดชะงัก และไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้ ซึ่งตามกำหนดเดิมขบวนชาวบ้านจะเดินลัดเลาะตามเส้นทางน้ำ และทุ่งนา เหมือนเช่นเมื่อวานที่เราเดินมา แต่ในวันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาให้หยุดกิจกรรมการเดินเพื่อสายน้ำ ทำให้ชาวบ้านเดินได้วันเดียว ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจาต่อรองขอเดินต่อตามกุด ห้วย ตลอดจนการลัดเลาะตามทุ่งนา ซึ่งไม่ใช่เส้นทางหลัก แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่ให้เดิน โดยอ้างว่าช่วงนี้เป็นกฎอัยการศึก และการดำเนินกิจกรรมของชาวบ้านก็ไม่ได้ทำหนังสือขอ หากว่าชาวบ้านขืนจะเดินต่อก็จะขอเชิญตัวแกนนำเข้าไปจังหวัดเพื่อพบผู้ว่าราชการยโสธร  แกนนำจึงได้เจรจาต่อรองอีกเพื่อให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นั้นก็คือถ้าทหารไม่ให้ชาวบ้านเดินก็จะเปลี่ยนรูปแบบจากเดินเป็นนั่งรถแทน ซึ่งทหารเขาก็ตกลง แต่ทหารและหน่วยงานราชการจะไปด้วยพร้อมมีเงื่อนไขว่าให้ชาวบ้านนำรถไป 1 คัน ห้ามชูป้ายผ้าและธงที่เป็นสัญลักษณ์ในการไปเที่ยวนี้ด้วย
"ที่จริงการเดินเพื่อสายน้ำในครั้งนี้พวกเรามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ระบบนิเวศที่ถูกโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกระทำจนทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนทิศทาง เพราะพวกเราได้ยื่นหนังสือไปในระดับจังหวัดหลายครั้งแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เห็นจะให้ความสำคัญ หรือจริงใจในการแก้ไขปัญหา การเดินของพวกเราก็ไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายให้กับใครเพราะพวกเรามีเจตนาที่จะเรียนรู้และศึกษาเส้นทางน้ำจริงๆ เพื่อจะได้จัดทำข้อเสนอหรือทางเลือกในการจัดการน้ำ"
สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี กล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเนื่องจากการเดินเพื่อสายน้ำในครั้งนี้แทนที่ทหารหรือหน่วยงานราชการจะให้ความร่วมมือในการเดินด้วยกัน เพื่อให้เห็นระบบนิเวศ ทิศทางการไหลของน้ำที่เปลี่ยนไป และปัญหาการจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐ ตลอดจนนำข้อมูลการศึกษาไปแก้ไขปัญหาร่วมกัน กลับสั่งให้ชาวบ้านหยุดการเดิน ทั้งๆ ที่ผ่านมาขบวนเดินเท้าเพื่อสายน้ำก็ไม่ได้ใช้เส้นทางหลักในการเดินแต่เป็นเส้นทางเดินตามลำกุด ลำห้วย ป่าทาม ตลอดจนการลัดเลาะตามทุ่งนา การกระทำของเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจควรจะให้ความร่วมมือกับเจตจำนงของชาวบ้าน และสนใจแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านมากกว่า เพื่อทำให้ชาวบ้านไว้ใจการทำงานของรัฐ เพราะเรื่องการจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจะต้องลงพื้นที่ศึกษาจริงและเรียนรู้ระบบน้ำทั้ง 2 ช่วงคือฤดูน้ำหลากกับฤดูน้ำแล้งเป็นการใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก จึงจะทำให้การกำหนดรูปแบบการจัดการน้ำออกมาในทิศทางที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้บางหน่วยงานนำงบประมาณมาละลายน้ำโดยไม่เกิดประโยชน์และไม่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ขบวนเดินเพื่อสายน้ำก็บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ถึงแม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงจากการที่ทหารสั่งห้ามเดิน