วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ป.ป.ช.ยันไม่มี คดี ปรส. ที่อยู่ในมือ หลัง ‘เรืองไกร’ จี้เร่งให้ฟ้องก่อนหมดอายุความ 30 พ.ย.นี้

หลังจากที่ ‘พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์-เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ยื่นหนังสือต่อประธาน ป.ป.ช. จี้เร่งรัดฟ้องคดี ปรส. ก่อนหมดอายุความในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ด้าน ป.ป.ช.แจงไม่มีคดี ปรส. อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกแต่อย่างใด
วันนี้ (11 พ.ย.57) หลังจากที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่าน นายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.เพื่อให้ ป.ป.ช.เร่งรัดฟ้องคดีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่จะหมดอายุความในวันที่ 30 พ.ย.นี้
โดยนายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ระบุว่าชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาหมดแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในชั้นของอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่ง ป.ป.ช.ควรใช้อำนาจหน้าที่ฟ้องคดีเอง เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงก่อน เพราะความเสียหายรวมดอกเบี้ยประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ประชาชนแบกรับเป็นเวลา 50 ปี ก็ใช้ไม่หมด และกองทุนฟื้นฟูภาระหนี้กระทรวงการคลัง ก็โยนกันไปมาไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนแก้ไข จึงจำเป็นที่ ป.ป.ช. จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้อายุความสะดุดหยุดลง
ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ขอเรียนว่าเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มีการร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. และผู้บริหาร ปรส. ประกอบด้วย นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ นายอมเรศ ศิลาอ่อน นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ นางวชิรา ณ ระนอง นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นางเกษรี ณรงค์เดช นางจันทรา อาชวานันทกุล นางนงนาท สนธิสุวรรณ และนายมนตรี เจนวิทย์การ มายังสำนักงาน ป.ป.ช. รวม 6 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 6 เรื่อง ดังกล่าวแล้ว ผลการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. และผู้บริหาร ปรส. คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป จำนวน 3 เรื่อง และมีมติไม่ยกขึ้นพิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลประทับฟ้องไว้แล้วและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 1 เรื่อง
สำหรับอีก 2 เรื่อง เป็นกรณีกล่าวหานายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาธิการ ปรส. ว่าดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์ให้กองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล และกรณีจำหน่ายสินทรัพย์ให้บริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายมนตรี เจนวิทย์การ ดังกล่าว มีมูลความผิดทางวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามข้อบังคับขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2540 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ เห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด พิจารณาฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจและอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีนายมนตรี เจนวิทย์การ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งสองคดีแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
ปัจจุบันจึงไม่มีคดีกรณีกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. หรือผู้บริหาร ปรส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกแต่อย่างใด

ตัดสินประหารชีวิต 'ครรชิต ทับสุวรรณ' คดียิงนายก อบจ.สมุทรสาครปี 54

หลังพิจารณาคดีกว่า 3 ปี เช้าวันนี้ศาลจังหวัดสมุทรสาครอ่านคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร คดียิงอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร เสียชีวิตในปั๊มน้ำมัน
ศาลจังหวัดสมุทรสาคร (แฟ้มภาพ/Google Maps)
12 พ.ย. 2557 - รายงานว่าเมื่อเวลา 11.37 น. ศาลจังหวัดสมุทรสาคร อ่านคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ คดีฆ่านายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสาคร เหตุเกิดในปั๊มน้ำมันกลางเมืองมหาชัย โดยนายครรชิต คว้าปืนมายิงนายอุดรจนเสียชีวิตทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ข่าวสด
มีรายงานว่า หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความนายครรชิตได้ใช้สิทธิยื่นประกันตัว และศาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 นายอุดร ตำแหน่งในขณะนั้นเป็นนายก อบจ.สมุทรสาคร เดินทางไปที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขามหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
ต่อมาพนักงานสอบสวนขออนุมัติศาลจังหวัดสมุทรสาคร ออกหมายจับนายครรชิต โดยนายครรชิตเดินทางมามอบตัววันที่ 27 ธันวาคม 2554 และให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งประกันตัวขอต่อสู้คดี โดยมีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นทนายในการเข้ามอบตัว  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
จากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2555 อัยการจังหวัดสมุทรสาครฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ดังกล่าว
โดยภายหลังการเสียชีวิตของนายอุดร ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรสาคร ผลการเลือกตั้งปรากฎว่านายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ บิดาของนายอุดรชนะการเลือกตั้งได้ 114,776 คะแนน ชนะคู่แข่งอย่างนายอัคคเดช สุวรรณชัย และนายกันตวีร์ ทับสุวรรณ

สปช.ตั้งกมธ.18คณะ ‘สมบัติ’ แกนนำ กปปส. นั่งประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ‘เนาวรัตน์’ หัวโต๊ะศิลปฯ


สปช.ได้ประธานด้านต่างๆ ‘สมบัติ’ แกนนำ กปปส. นั่งประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ‘เนาวรัตน์’ หัวโต๊ะศิลปฯ 'พงศ์โพยม' หัวโต๊ะการปกครองส่วนท้องถิ่น 'ปราโมทย์' หัวโต๊ะทรัพยากรฯ 'สารี' หัวโต๊ะคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
วานนี้(11 พ.ย.57) สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ประชุมตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 18 คณะ โดยมีการเลือกประธาน ซึ่งหลายคณะแข่งขันสูง โดยเฉพาะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง พลังงาน แรงงาน ค่านิยมศิลปวัฒนธรรม
ด้านการเมือง เป็นการแข่งขันระหว่างนายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ และนายชัย ชิดชอบ ที่สุดนายสมบัติ เฉือนชนะไป 1 คะแนน โดยคะแนน 13 ต่อ 12 คะแนน
ตัวอย่างวิดีโอคลิปการปราศรัยของ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.57 สวนลุมพินี เสนอแนวทางปฏิรูปการเมืองและล้มระบอบทักษิณ
สำหรับ สมบัติ เป็น แกนนำ กปปส. อดีตอธิการบดีนิด้า ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (หลังสลายการชุมนุมเสื้อแดงโดย ศอฉ. ปี 53)
ด้านพลังงาน แข่งขันกันระหว่างนายทองฉัตร หงศ์ระดารมภ์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ปรากฏว่านายทองฉัตรได้รับเลือก
นายทองฉัตร เป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. คนแรก  ประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ/ กรรมการตรวจสอบ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการ บมจ. ลินเด้ (ประเทศไทย)
ขณะที่กรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน มีคู่แข่งคือ พล.ท.เดชา ปุญญบาล กับนายประสาร มฤคพิทักษ์ ที่สุด พล.ท.เดชา ได้รับเลือก พล.ท.เดชา เป็นเลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ เจ้ากรมการอุตสาหกรรมทหารฯ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านค่านิยมศิลปวัฒนธรรม ชิงกันระหว่างนางตรึงใจ บูรณสมภพ และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ประชุมเลือกนายเนาวรัตน์เป็นประธาน
โดยนายเนาวรัตน์ เคยร่วมเวที กปปส. และเป็น ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ
คลิปนายเนาวรัตน์ เขียนกลอนสดบนเวที กปปส. เมื่อวันที่ 28 มี.ค.57

ประธานด้านกฎหมาย คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นอดีต ส.ว.ปี 43 และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50
ประธานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ นายพงศ์โพยม วาศภูติ ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยขึ้นเวที กปปส. เดลินิวส์รายงานด้วยว่า เคย 24 พ.ย. 56 ได้ฝากสารถึงข้าราชการ ให้ เลือกระหว่างประชาธิปไตยหรือเผด็จการรัฐสภา เลือกระหว่างมวลมหาประชาชนหรือระบอบทักษิณ และเคยรวมตัวในชื่อกลุ่มรักประเทศไทยไปให้กำลังใจ ป.ป.ช.ในการปฏิบัติหน้าที่
คลิปที่นายพงศ์โพยม ขึ้นเวที กปปส. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.56
ด้านปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง คือ นายสมชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นสสร.50 อดีตอธิบดีกรรมสรรพสามิต ประธานมูลนิธิพัมนาสยาม น้องชายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้าไปเป็นสมาชิก คสช.
ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร คือ นายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ประธานกรรมการ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
ด้านปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ คือ นายปราโมทย์ ไม้กลัด ซึ่งเคยขึ้นเวที กปปส. (นำข้าราชการกรมชลประทานกว่า 300 คน มาสมทบกับกลุ่ม กปปส. ที่แยกปทุมวัน (ดู)/ อดีต ส.ว. กทม. / อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
คลิปนายปราโมทย์ ขึ้นเวที กปปส. เมื่อวันที่ 24 ม.ค.57
ประธานปฏิรูปสื่อสารมวลชน คือ นายจุมพล รอดคำดี ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อำนวยการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประธานปฏิรูปและปราบปรามการทุจริต คือ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ซึ่งเป็นประธาน บ.โตโยต้า และประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ อดีต สนช. 49
ประธานปฏิรูปการกีฬา คือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลทักษิณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม
ประธานปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค คือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ประธานปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา คือ นายศักดิ์รินทร์ ภูมิรัตน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านไบโอแก๊ส, ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ประธานปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ นายพารณ อัครเสนา ณ อยุธยา อดีตวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ประธานปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คือ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ซึ่งเป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด และกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ประธานปฏิรูปสาธารณสุข คือ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
ประธานปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็กเยาวชน เด็กสตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส คือ นายอำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เคยร่วม กปปส.
นายอำพล จินดาวัฒนะ คนซ้าย (ที่มาภาพ : Techid Chawbangpom)

สนช.มีมติเลื่อนพิจารณาถอดถอน ‘ยิ่งลักษณ์’ ปมจำนำข้าว ไป 28 พ.ย. นี้

'สนช.' เห็นชอบเลื่อนการพิจารณากระบวนการถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ปมจำนำข้าว เป็นวันที่ 28 พ.ย. เปิดโอกาสให้ศึกษาสำนวน ป.ป.ช. หลังทีมทนายยิ่งลักษณ์เข้าแจงเหตุผล
12 พ.ย.2557  การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ผู้ถูกกล่าวหา (ตามข้อบังคับการประชุม สนช. 2557 ข้อ 132)
ทั้งนี้ สนช.ได้อนุญาตให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายเอนก คำชุ่ม ทีมทนายผู้ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีโครงการรับจำนำข้าว มาชี้แจงถึงเหตุผลการขอให้ที่ประชุม สนช.เลื่อนการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 12 พ.ย. ออกไปอีก 30 วัน
โดยนายเอนก ชี้แจงถึงเหตุผลการขอเลื่อนการประชุมต่อ สนช.ว่า ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ข้อ 149 และ 150 ระบุว่า สนช.ต้องส่งรายงาน และสำนวนของ ป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันประชุมนัดแรก คือ วันที่ 12 พ.ย. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ทราบว่า มีวาระถอดถอนอยู่ใน สนช. เนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อกลับถึงประเทศไทย วันที่ 2 พ.ย. ได้หารือกับทีมทนายความว่า ยังไม่ได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช. จึงทำหนังสือถึงประธาน สนช. เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เพื่อขอเลื่อนการประชุมนัดแรกออกไปก่อน เพราะการประชุมนัดแรกมีความสำคัญต่อผู้กล่าวหาที่เป็นวันกำหนดแถลงเปิดคดีของผู้กล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้ง คัดค้าน และยื่นขอให้สอบพยานเพิ่มเติมล่วงหน้า ดังนั้นโอกาสของอดีตนายกฯ ที่จะได้ศึกษาสำนวน ป.ป.ช.แทบจะไม่มีเลย เพราะเวลาหมดไปตามระยะที่ข้อบังคับกำหนด
นายเอนก กล่าวว่า หนังสือจากประธาน สนช.ที่ส่งให้กับอดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา หากนับถึงวันที่ 12 พ.ย. อดีตนายกฯ มีเวลาเตรียมตัวแค่ 5 วันเท่านั้น ทั้งที่ข้อกล่าวหาที่ สนช. แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบ มีเนื้อหาประมาณ 100 กว่าหน้า ซึ่งพวกตนเพิ่งได้รับเมื่อวานนี้ ยังไม่มีโอกาสได้ดู จึงขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อน จึงขอให้สมาชิก สนช.ปฏิบัติตามข้อบังคับ 149 และ 150 ให้โอกาสอดีตนายกฯ ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ระบุพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามกระบวนการ ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรม และผู้กล่าวหา นอกจากนี้สำนวนของ ป.ป.ช.ที่ให้สมาชิก สนช.ศึกษา มีจำนวน 3,870 หน้า เป็นเอกสารลับทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถถ่ายเอกสารได้ ทีมทนายความก็ตกใจว่า จะทำอย่างไร ถ้าถ่ายเอกสารไม่ได้ ต้องมานั่งจดอย่างนั้นหรือ ถ้านั่งดูให้จบถือเป็นเรื่องยากมาก จึงขออนุญาตประธาน สนช.ขอถ่ายเอกสารดังกล่าวเพื่อความรวดเร็ว หากตีเป็นลับทั้งหมด และไม่อนุญาตให้ถ่ายเอกสาร ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ทีมงานเท่าไร เพื่อดูเอกสารทั้งหมด
นายนรวิชญ์ ชี้แจงเสริมด้วยว่า วันนี้ไม่ได้มาเอาโทษ หรือเอาผิดใคร มาเพื่อปกป้องอดีตนายกฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นลูกความเท่านั้น ที่ผ่านมา วันที่ 30-31 ต.ค.มีเจ้าหน้าที่ประสานมายังตนให้มารับสำเนารายงานของ ป.ป.ช. แต่ขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้มอบหมายให้ตน และทีมทนายความมาดูแลคดีถอดถอน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่รู้ว่ามีวาระการถอดถอนบรรจุในสภาแล้ว ขณะนั้นตนยังไม่ได้รับมอบอำนาจ จึงไม่อาจมารับสำเนาของ ป.ป.ช.แทนอดีตนายกฯ ได้ จึงไม่มีเจตนาประวิงเวลาใดๆ เมื่ออดีตนายกฯ เดินทางกลับมา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้ทีมทนายความดำเนินการ จึงมีการยื่นหนังสือคัดค้าน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.
ภายหลังที่ทีมทนายชี้แจงเหตุผลแล้ว นายพรเพชร ได้เปิดให้สมาชิกได้ซักถามข้อสงสัยจากทีมทนายความ โดยมีสมาชิกร่วมซัก 4 คน อาทิ นางเสาวณี สุวรรณชีพ ถามว่า ทีมทนายความได้รับการประสานจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องให้มาทำคดียาวนานแค่ไหน เพราะเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมต่อสู้คดีมายาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งประสานกัน ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน ถามว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ต่างประเทศ แต่เหตุใดทีมทนายความไม่โทรศัพท์แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบข่าวก็สามารถสั่งการมายังทีมทนายความได้ทันที กรณีการถอดถอนดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศทราบดีว่า จะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.วันที่ 12 พ.ย. มานานแล้ว
ขณะที่นายนรวิชญ์ ชี้แจงข้อซักถามว่า การให้เหตุผลว่า มีการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า สนช.ได้บรรจุวาระถอดถอนในวันที่ 12 พ.ย. แสดงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบวาระการถอดถอนแล้ว ถือว่า ไม่ถูกต้อง เพราะการรับทราบ ต้องได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการโดยตรงจาก สนช. ตามข้อบังคับเท่านั้น เมื่อ สนช.ร่างข้อบังคับเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการพิจารณาแล้ว จะละเลยข้อบังคับที่ตนเองร่างขึ้นมาหรืออย่างไร
ต่อมานายพรเพชร ได้ขอมติจากที่ประชุมว่า จะให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติด้วยเสียง 167 ต่อ 16 งดออกเสียง 7 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกออกไป และที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช. ได้เสนอว่า ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. ตามมติวิปสนช. ทั้งนี้นายพรเพชร แจ้งว่า เมื่อเลื่อนการพิจารณาออกไปแล้ว ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาไปตรวจเอกสาร และคัดสำนวน จำนวน 3,870 หน้า ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเวลาราชการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมของ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งจำนวน 17 คน

แสนUp! ต่อเดือน เจาะเงินประจำตำแหน่ง+เงินเพิ่ม ‘คสช.-สปช.-สนช.’


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 รวม 11 มาตรา ให้ไว้ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยหัวหน้า คสช.และประธาน สนช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท/เดือน และได้เงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน ขณะที่ คสช. และประธาน สปช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท/เดือน และได้รับเงินเพิ่ม 45,500 บาท/เดือน นอกจากนี้รองประธาน สนช.และรองประธาน สปช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท/เดือน และได้รับเงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน ส่วนสมาชิก สนช.และสมาชิก สปช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน และได้รับเงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน
นอกจากนี้ได้กำหนดเบี้ยประชุมให้ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับ 9,000 บาท/ครั้ง ส่วนกรรมาธิการยกร่างฯ ได้รับ 6,000 บาท/ครั้ง ขณะที่กรรมาธิการ สปช. และกรรมาธิการ สนช.ได้รับ 1,500 บาท/ครั้ง สำหรับอนุกรรมาธิการยกร่างฯ อนุกรรมาธิการ สปช. และอนุกรรมาธิการ สนช.ได้รับ 800 บาท/ครั้ง กำหนดสิทธิให้สมาชิกสปช. สนช.และกรรมาธิการ ได้รับค่าพาหนะเช่นเดียวกับ ส.ส. และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ตามภาระหน้าที่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. สนช.และ สปช. หลายรายยังดำรงตำแหน่งในฐานข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ รวมไปถึงพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่มีเงินเดือนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งต่างจาก ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 50 นั้นจะห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนดังกล่าว

ฝากขังผลัด3 คดี 112 ลุงเขียนผนังห้องน้ำห้าง ศาลทหารไม่ให้ประกัน


12 พ.ย.2557 ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวนายโอภาส อายุ 67 ปี จำเลยคดี 112 จากกรณีเขียนฝาผนังห้องน้ำห้างซีคอนสแควร์มายังศาล โดยพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปรามปรามได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ระบุว่ายังต้องสอบพยานบุคคลอีก 4 ปาก และยังตรวจสอบลายนิ้วมือของจำเลยไม่เสร็จสิ้น ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ
ทนายจำเลยยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่สอง โดยใช้หลักทรัพย์เดิมคือโฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้าน พร้อมเหตุผลเพิ่มเติมว่า จำเลยทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนึกผิดและทำจดหมายแสดงเจตนาถึงสำนักราชเลขาธิการแล้ว
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยสั่งไม่อนุญาต โดยมีเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีและกรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิม จึงไม่อนุญาต”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติผู้ต้องหาได้ขอประวัติการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจากโรงพยาบาลที่ผู้ต้องหารักษาตัวอยู่เพื่อมาประกอบการยื่นประกันตัว ใบประวัติการรักษาระบุว่า ผู้ต้องหาต้องได้รับยาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สามารถวัดความดันโลหิตผู้ต้องหาและให้ญาติไปรับยาแทนเพื่อนำมาให้ผู้ต้องหาที่เรือนจำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ผู้ต้องหามาศาลด้วยอาการไข้หวัด นอกจากนี้เขายังถูกย้ายจากแดน 1 ไปยังแดน 5 ซึ่งมีสภาพแออัดกว่าเดิมมาก การอาบน้ำต้องอาบจากท่อน้ำที่เจาะรูซึ่งจะเปิดน้ำเพียง 1 นาทีกว่า