บรรยากาศงานครบรอบ 36 ปี มอส.
จอนวิพากษ์เอ็นจีโอกำลังเสียชื่อกลางงาน 36 ปี มอส. เหตุเข้าร่วม กปปส. ขวางเลือกตั้ง หวังทำความเข้าใจสถานกาณ์ เร่งแก้ภาพลักษณ์ ผู้อำนวยการ มอส. ยอมรับการเมืองเป็นเรื่องท้าทายที่สุด เอ็นจีโอเห็นปัญหาประชาธิปไตย แต่ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแตกต่าง วอนอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส. เพิ่งจัดงานครบรอบ 36 ปีไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2559 โดยมีอาสาสมัครรุ่นต่างๆ มาร่วมงาน กล่าวได้ว่า มอส. เป็นเสาหลักต้นหนึ่งของวงการเอ็นจีโอ เป็นโรงเรียนผลิตเอ็นจีโอป้อนสู่สังคมจำนวนไม่น้อยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหารปี 2558 ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของเอ็นจีโอต้องมัวหมองจากการที่มีบทบาทสนับสนุนให้เกิดรัฐประหารขึ้น ด้วยการเข้าร่วมการชุมนุมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. แม้จะไม่ใช่เอ็นจีโอทุกคนก็ตาม กลายเป็นคำถามสำคัญต่อประชาธิปไตยที่แวดวงเอ็นจีโอยังไม่อาจตอบแก่สังคมได้กระจ่างแจ้ง
จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธาน มอส. กล่าวในงานครบรอบ 36 ปีถึงบทบาทเอ็นจีโอของตนว่า “ผมภูมิใจในความเป็นเอ็นจีโอ”
อย่างไรก็ตาม จอน วิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า ปัจจุบัน เอ็นจีโอมีชื่อเสียงที่ไม่ดีในหลายกลุ่ม จากการเข้าร่วมขัดขวางการเลือกตั้งกับ กปปส. แม้ว่าจอนจะเห็นด้วยกับการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งและการปฏิรูปประเทศ แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจนนำไปสู่การรัฐประหาร
จอน กล่าวว่า การที่ทหารบอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปนั้น เขาไม่เห็นว่าเป็นการปฏิรูปตรงไหน มีแต่การถอยหลัง และสิ่งที่เขากังวลที่สุดจากความขัดแย้งที่ยาวนานก็คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและเฉยชาต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกมองว่าเป็นอีกฝ่าย
“กปปส. ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ แต่ถูกเตรียมไว้แล้ว”
เหตุนี้ จอนจึงต้องการให้เอ็นจีโอแก้ภาพลักษณ์ของตนและทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อถาม สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการ มอส. ว่า อะไรคือความท้าทายที่สุดของ มอส. ในปัจจุบัน เธอยอมรับว่า เป็นสถานการณ์ทางการเมืองและการที่ มอส. จะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมประชาธิปไตยผ่านงานที่ มอส. ทำกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร
“สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นการปกครองโดยทหาร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำยังไงจึงจะคืนอำนาจให้กับประชาชน คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร เราก็พบว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการแสดงออก สิทธิการรวมกลุ่ม ก็มีข้อติดขัดภายใต้สถานการณ์แบบนี้”
ถามต่อว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เอ็นจีโอถูกมองว่า สนใจเฉพาะประเด็นของตน โดยละเลยการเมืองภาพใหญ่และมิติประชาธิปไตย
สุภาวดี แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า ขึ้นอยู่กับการนิยามความหมายของการเมืองของแต่ละบุคคลว่าเป็นอย่างไร พัฒนาการของเอ็นจีโอที่อยู่คู่กับสังคมไทยมา 20-30 ปี สร้างคุณูปการต่อการแก้ไขปัญหาสังคมในหลายๆ มิติ ตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงระดับนโยบาย
“การที่มองว่าเอ็นจีโอไม่สนใจการเมือง ดิฉันคิดว่าเป็นการมองแบบตื้นเกินไป ปัจจุบันที่บอกว่าเอ็นจีโอไม่สนใจการเมือง เริ่มมาจากกรอบคิดแบบไหน กรอบคิดที่ว่าเอ็นจีโอไม่ได้สนใจการเมืองในมิติที่คุณคิดหรือเปล่า
“ดิฉันเห็นด้วยส่วนหนึ่งว่า 30 ปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอหลายส่วนอาจจะทำงานในประเด็นของตัวเองลึกลงไป แต่การมองประเด็นร่วมที่เป็นโครงสร้างปัญหาร่วมกันอาจจะขาดเวทีสำหรับการพูดคุยและขับเคลื่อนร่วมกัน แต่ดิฉันไม่คิดว่าเอ็นจีโอจะไม่ได้คิดเรื่องนี้ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดพื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างยาก แต่ก็เห็นความพยายามของเอ็นจีโอหลายๆ ส่วนที่จะลุกขึ้นมาพูดคุยว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำงานแต่เฉพาะประเด็นของตัวเอง แต่มองประเด็นร่วมของสังคม ประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องความเป็นธรรม”
สุภาวดี อธิบายต่อว่า ในปัจจุบันที่สังคมอยู่ภายการปกครองแบบนี้ ทุกคนเห็นปัญหาเหมือนกัน แต่การแสดงออกและยุทธศาสตร์อาจจะไม่เหมือนกัน
“ก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร อาจจะมีความเชื่อทางการเมืองที่จะออกมาเคลื่อนไหวในมิติต่างๆ กัน แต่พอหลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น เท่าที่คุยในหลายวง คนที่ทำประเด็นเย็นก็เห็นว่าเป็นปัญหาร่วม ทำยังไงที่จะขับเคลื่อนให้มีประชาธิปไตย คืนอำนาจสู่ประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ต่างกัน ซึ่งดิฉันมองว่าอาจจะต้องเคารพและต้องอดทนดู ไม่ตัดสินว่ายุทธศาสตร์ที่คุณทำมันไม่ถูก อาจจะต้องดูผลที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสินเร็วเกินไป แล้วนำมาสู่การสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น”
สุภาวดี กล่าวด้วยว่า มอส. พยายามทำงานเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาจะเลือกยุทธศาสตร์การสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบไหน มอส. ไม่มีสิทธิที่จะไปบอก มอส. เพียงแต่ทำหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เขารู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าภายใต้กระบวนการของ มอส. จะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมให้สังคมได้
เป็นเสียงสะท้อนต่อสถานการณ์ปัจจุบันจากผู้อำนวยการโรงเรียนผลิตเอ็นจีโอในวาระครบรอบ 36 ปี มอส.