21 ม.ค.2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. นัดประชุมวาระพิเศษเพื่อแถลงปิดสำนวนถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ด้วยวาจา รวมทั้งแถลงเปิดคดีอดีต ส.ว.38 คนออกจากตำแหน่ง
ขณะที่วันพรุ่งนี้(22 ม.ค.)จะแถลงปิดคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ก่อนลงมติถอดถอนทั้งหมด วันศุกร์ที่ 23 ม.ค.นี้
ป.ป.ช. ระบุ ถอดถอนคือจุดเริ่มต้นการปฏิรูป
สำหรับการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา เริ่มจากฝ่ายผู้กล่าวหา โดย วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ย้ำว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการพิจารณาคำร้องถอดถอน ที่สมาชิกวุฒิสภาร้องเรียนว่า นิคมมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อภารหน้าที่ จากกรณีการบังคับปิดประชุม และตัดสิทธิผู้อภิปรายในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ยังมีผลยังคับใช้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 จะสิ้นสุดลง
วิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.จึงต้องดำเนินการตามภารหน้าที่ต่อไป และส่งสำนวนคดีอดถอน นิคม ที่ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ สนช.พิจารณาถอดถอน ตามที่ข้อบังคับการประชุมที่ระบุว่า สนช.มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการได้ พร้อมย้ำว่า การถอดถอนถือเป็นการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่ง และไม่เกี่ยวข้องกับโทษทางคดีอาญาแต่อย่างใด
“ป.ป.ช.ไม่อาจหยุดยั้งการไต่สวนได้ เพราะมีการกระทำทุจริต ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ ตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิก ไม่ให้อภิปราย รวบรัดเพื่อให้ลงคะแนน เป็นการใช้อำนาจมิชอบ เอื้อประโยชน์ฝ่ายข้างมาก โดยไม่เป็นธรรม ส่งผลเสียหายต่อระบบการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งกระบวนการในการถอดถอน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปประเทศ อันทำให้ประชาชนเห็นว่า การดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีคุณธรรมสูงเด่นกว่าบุคคลอื่น และต้องเป็นตัวอย่าง จะทำตัวเหมือนบุคคลทั่วไปไม่ได้” วิชา กล่าว
นิคม ยันวันเกิดเหตุมีการประท้วง เสมือนจงใจไม่ให้มีการแก้ รธน. จึงใช้ข้อบังคับการประชุม
ขณะที่นายนิคม ยืนยันไม่ได้รับผลประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และในอดีตเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว ทั้งมาตรา 190 และประเด็นเรื่องที่มา ส.ส.จากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก ก็ไม่มีปัญหาใดๆ
โดย แถลงปิดคดีว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นข้อกล่าวหาในอนาคต เพราะยังไม่มีอะไรยืนยันว่า เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ตนจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.อีกสมัยหรือไม่ และขอยืนยันว่า กระบวนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 291 ว่า มีผู้ที่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ คือ ครม. ส.ส. 1 ใน 5 ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อกัน และประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ซึ่งในอดีตเคยมีการแก้ไขมาตรา 190 และที่มาของ ส.ส.จากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก แต่ไม่มีการกล่าวหาว่าทำผิด
นิคม กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างแก่ไขรัฐธรรมนูญ มีการประท้วงกันวุ่นวาย เสมือนจงใจไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกไม่ยอมปฏิบัติตามมติของวิป 3 ฝ่าย อภิปรายฟุ่มเฟือย นอกประเด็น รวมทั้ง ฝ่ายค้านยังไม่ยอมส่งรายชื่อผู้ที่จะอภิปรายล่วงหน้า ดังนั้น ในฐานะประธานการประชุม จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
“กรรมาธิการซักถามส่วนหนึ่ง มาจากอดีต กลุ่ม 40 ส.ว. และเป็นคำถามที่เป็นอคติ เพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับผม และเป็นคำถามนอกข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ผมมาเพื่อปกป้องสถาบันนิติบัญญัติ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสภานิติบัญญัติ ผมจึงนำหลักฐานบันทึกการประชุมมาแสดง แต่ ป.ป.ช.ไม่เชื่อผม ไปเชื่อผู้ร้อง ท่านจะลงมติอย่างไรก็ได้ ผมจึงมาร้องขอความเป็นธรรม และหวังว่าท่านจะให้ความเป็นธรรม และเชื่อในหลักฐาน” นิคม กล่าว
หลังจากนี้จะเป็นการแถลงปิดคดีถอดถอนสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า สมศักดิ์จะไม่เดินทางมาแถลงด้วยตัวเอง และไม่ได้ส่งหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ สนช.ด้วย ดังนั้น ป.ป.ช.จะแถลงปิดคดีแต่ฝ่ายเดียว นอกจากนี้ สนช.ยังมีวาระพิจารณากำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา 38 คน เป็นวันที่ 25 ก.พ.58 ด้วย