วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ศาลยกคำร้อง 'จ่านิว-ศูนย์ทนายสิทธิ' ขอให้ไต่สวน กรณีคุมตัว 'ธเนตร' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


15 ธ.ค.2558 จากกรณีที่ วานนี้(14 ธ.ค.58) สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญาขอให้ศาลอาญาไต่สวนการควบคุมตัว ธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญารับเป็นคดีดำที่ ษ 98/2558 ซึ่งเป็นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัว โดยระบุว่าเนื่องจากมีบุคคลไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่แสดงตน ไม่ทราบสังกัด และไม่มีหมายจับ มาควบคุมตัวธเนตรไปจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.58 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 

วันนี้(15 ธ.ค.58) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งยกคำร้อง โดยมีความเห็นว่า พฤติการณ์ในคำร้องที่บรรยายว่านายปิยะรัฐ จงเทพ เพื่อนของนายธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด คุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 เวลาประมาณ 12.30 น. นั้น ต่อมา ผู้ร้อง คือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ทราบจากเพื่อนว่า ธเนตรถูกคุมตัวไปที่ พัน.ร.มทบ.11 โดยอ้างว่ามีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมายื่นคำร้องต่อศาล
ศาลเห็นว่า สิรวิชญ์ ผู้ร้อง เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าจาก ปิยะรัฐ อีกต่อหนึ่ง โดยไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ธเนตร ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่
 
นอกจากนี้ ตามเอกสารท้ายคำร้องยังระบุอีกว่า ธเนตรทราบข่าวว่าตนเองถูกออกหมายจับจากเพื่อนนำมือถือมายื่นให้ดู จึงไม่คิดจะหลบหนี และต้องการจะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตนเอง แต่กลับถูกคุมตัวในห้องศัลยกรรมทันที ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องว่าธเนตรถูกคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อเท็จจริงตามคำร้องจึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้ดำเนินการไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 จึงให้ยกคำร้อง
 
สำหรับ ธเนตร ตกเป็นผู้ต้องหาที่กดไลค์กดแชร์ข้อความ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาได้เข้ามาร่วมกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มต่างๆ โดยตลอด  การเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเกิดจากอาการป่วยลำไส้ใหญ่อักเสบ และไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งอยู่ระหว่างการรับยาปฏิชีวนะ

TPBS ออกแถลงการณ์ เสนอเหมืองทอง ถอนฟ้องเด็ก ม. 4


TPBS ออกแถลงการณ์ เสนอบริษัททุ่งคำ ถอนฟ้องนักข่าวพลเมือง ม.4 ให้เหลือแต่คดี TPBS และคณะ ด้านผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ระบุจะดูแลเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมยันจุดยืน การฟ้องร้องไม่ส่งผลต่อการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน
15 ธ.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ TPBS ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการฟ้องร้องของบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งดำเนินการฟ้องร้องดคีความต่อเยาวชนนักข่าวพลเมือง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังจากรายงานข่าวผลกระทบในพื้นที่ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง โดยบริษัททุ่งคำ เห็นว่าเป็นการรายงานข้อมูลเท็จ และทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
ทั้งนี้ใจความสำคัญในแถลงการณ์ระบุว่า “ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารแก่ประชาชน และส่งเสริมเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ มีนโยบายที่ชัดเจนในการเปิดพื้นที่ให้กับอาสาสมัครนักข่าวพลเมือง ให้ได้สื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงเรื่องราวของชุมชน ภายใต้กระบวนการกองบรรณาธิการที่ช่วยคัดกรองประเด็น เนื้อหา วิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์แต่เคารพในหลักเสรีภาพไม่ละเมิดสิทธิ์หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น
ยิ่งไปกว่านั้นการนำเสนอข่าวสารของเยาวชนนักข่าวพลเมือง ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329
แม้กระนั้นหากมีกลุ่ม องค์กร หรือบุคคลใดที่เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ไม่เฉพาะในส่วนของงานข่าวพลเมือง ก็มีช่องทางที่สามารถให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ท้วงติง กระทั่งขอให้มีการตรวจสอบแก้ไข ผ่านกลไกรับฟังความคิดเห็นหรือร้องเรียนโดยตรงต่อคณะอนุกรรมการรับและ พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หรือกระทั่งฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งทางบริษัท ทุ่งคำฯ ได้ดำเนินการไปแล้วดังรายละเอียดข้างต้น
หากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่มีเจตนาอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาสิทธิ์ของบริษัทฯ การดำเนินการฟ้องร้องไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรซึ่งมีผู้บริหารรับผิดชอบเข้า สู่กระบวนการยุติธรรมก็น่าจะเพียงพอ และเพื่อมิให้บริษัทฯ ถูกสังคมมองว่า มีเจตนาอื่นแอบแฝง จึงเสนอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการฟ้องร้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองซึ่งเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม. 4 ให้เหลือเฉพาะในส่วนของไทยพีบีเอสและคณะ”
ประชาไทได้สัมภาษณ์ สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ โดยระบุว่าทางสำนักข่ายสื่อสาธารณะ และนักข่าวพลเมือง ได้เริ่มปรึกษาพูดคุยกันถึงประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงที่มีกระแสข่าวว่า เหมืองแร่ทองคำมีการออกมาพูดว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี มีความเห็นร่วมกันว่า หากมีการดำเนินคดีกับเยวชน จริงๆ ทาง TPBS จะเข้ามาดูแลเรื่องคดีความ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และการให้กำลังใจ โดยในวันที่ 18 ธ.ค. 2558 จะมีการลงพื้นที่เข้าไปให้กำลังใจกับเยาวชนที่ฟ้องร้องถูกดำเนินคดี และประสานทีมทนายความด้วย
ต่อคำถามว่า การที่มีการฟ้องร้องนักข่าวพลเมืองนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อหลักการที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชน ลุกขึ้นมาพูด หรือนำเสนอประเด็นปัญหาในพื้นที่ของตัวเองหรือไม่ สมเกียรติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ไม่เคยมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อย่างใด จะมีแต่การร้อง ท้วงติง เพราะ TPBS มีช่องที่ให้ผู้ชม หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องราวที่นำเสนอไป ได้เสนอแนะท้วงติงได้ การฟ้องร้องเป็นคดีความครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก 
สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ และระมัดระวังมาโดยตลอด สำหรับกรณีนักข่าวพลเมืองนั้น ถือว่าเป็นประชาชนคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาสื่อสาร โดยส่วนมากเป็นชาวบ้าน ซึ่งตัวโครงการนักข่าวพลเมืองเองถือเป็นตัวที่เข้าไปเสริมพลังให้ชาวบ้านได้สื่อสารเรื่องราวปัญหาในพื้นที่ และสื่อสารในเชิงบวก แต่ว่าก็มีจำนวนไม่น้อยที่นักข่าวพลเมืองสื่อสารในประเด็นที่อ่อนไหว หรือประเด็นเปราะบาง แต่กรณีของเทปที่มีการถูกฟ้องร้อง ได้มีการให้ทีมกฎหมายดูแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีความรุนแรงถือขนาดนั้น แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของบริษัทที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หากเห็นว่าได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์ โดยเรื่องนี้ต้องมีการพิจสูจน์ความจริงออกมา โดยรวมถือว่าการเกิดคดีความและการฟ้องร้อง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหลักการ หรือจะส่งผลทำให้เรื่องต้องปิดพื้นที่การสื่อสารของประชาชนลงไป
ต่อคำถามว่า คณะกรรมการนโยบายมีท่าที หรือมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่าง สมเกียรติ ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการคุยกับทางคณะกรรมการนโยบาย เพราะโดยขั้นตอนปกติฝ่ายบริหารจะเป็นผู้เข้ามาดูแล
00000
เนื้อความในแถลงการณ์ฉบับเต็ม
แถลงการณ์ต่อกรณีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้อง หมิ่นประมาทเยาวชนนักข่าวพลเมือง
สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กำลังดำเนินการเพื่อฟ้องดำเนินคดีกับเยาวชนนักข่าวพลเมือง ชั้น ม.4 จากอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขออนุญาตฟ้องเยาวชนในคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ซึ่งในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ทางสถานพินิจฯ จะเชิญผู้ปกครองและเยาวชนดังกล่าวมาให้ถ้อยคำเพื่อพิจารณาหาเหตุสมควรให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่ ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น
ทั้งนี้สาเหตุของการฟ้องร้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองที่มีอายุเพียง 15 ปี เนื่องจากการเสนอข่าวเกี่ยวกับการออกค่ายของกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ออกอากาศในช่วงข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่า มีเนื้อหาที่เป็นเท็จใส่ร้ายให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ บริษัท ทุ่งคำฯ ได้ยื่นฟ้องไทยพีบีเอสและผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมืองและผู้บริหารองค์กร รวม 5 คน ไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 โดยเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน 50 ล้านบาท รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไทยพีบีเอสประกอบอาชีพโทรทัศน์เป็นเวลา 5 ปี
ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารแก่ประชาชน และส่งเสริมเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ มีนโยบายที่ชัดเจนในการเปิดพื้นที่ให้กับอาสาสมัครนักข่าวพลเมือง ให้ได้สื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคมถึงเรื่องราวของชุมชน ภายใต้กระบวนการกองบรรณาธิการที่ช่วยคัดกรองประเด็น เนื้อหา วิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์แต่เคารพในหลักเสรีภาพไม่ละเมิดสิทธิ์หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น
ยิ่งไปกว่านั้นการนำเสนอข่าวสารของเยาวชนนักข่าวพลเมือง ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ปอ. มาตรา 329
แม้กระนั้นหากมีกลุ่ม องค์กร หรือบุคคลใดที่เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ไม่เฉพาะในส่วนของงานข่าวพลเมือง ก็มีช่องทางที่สามารถให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ท้วงติง กระทั่งขอให้มีการตรวจสอบแก้ไข ผ่านกลไกรับฟังความคิดเห็นหรือร้องเรียนโดยตรงต่อคณะอนุกรรมการรับและ พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หรือกระทั่งฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งทางบริษัท ทุ่งคำฯ ได้ดำเนินการไปแล้วดังรายละเอียดข้างต้น
หากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่มีเจตนาอื่นใดนอกเหนือจากการรักษาสิทธิ์ของบริษัทฯ การดำเนินการฟ้องร้องไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรซึ่งมีผู้บริหารรับผิดชอบเข้า สู่กระบวนการยุติธรรมก็น่าจะเพียงพอ และเพื่อมิให้บริษัทฯ ถูกสังคมมองว่า มีเจตนาอื่นแอบแฝง จึงเสนอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทบทวนการฟ้องร้องเยาวชนนักข่าวพลเมืองซึ่งเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม. 4 ให้เหลือเฉพาะในส่วนของไทยพีบีเอสและคณะ
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
15 ธันวาคม 2558

ประยุทธ์ สั่งยกเลิกพิจารณากฎหมาย GMOs ชี้ยังไม่จำเป็น เพราะยังไม่มีสงคราม


พลเอกประยุทธ์ สั่งยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ ชี้ยังไม่จำเป็น เพราะไทยยังไม่มีภัยพิบัติ โลกร้อน หรือสงคราม ด้าน NGOs ออกแถลงการณ์ขอบคุณภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้านจนสำเร็จ
15 ธ.ค. 2558 เวลา 13.20 น. ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเลิกการพิจารณา พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. จีเอ็มโอ เนื่องจากเป็นพันธะสัญญาที่พูดคุยมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งต่างประเทศมีไว้เพื่อรองรับในภาวะเกิดสงคราม หรือผลิตสินค้าทางการเกษตรไม่ ได้ หรือเกิดโรคระบาด ซึ่งคาดว่าประเทศไทยคงยังไม่จำเป็นต้องใช้ จึงมีคำสั่งยกเลิกไปก่อน
"ยังไม่ชัดเจนในบ้านเรา เราหวังอย่าเกิดสงครามในบ้านเรา ภัยพิบัติ โลกร้อน น้ำไม่มี พวกนี้เค้าตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้ใช้น้ำน้อย ต้านทานโรคได้ มีผลผลิตสูง ข้าวโพดก็แมลงไม่กิน อันนี้เป็นตอนสงครามโลก จะเกิดหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าเกิดก็เตรียมตัว เพราะเรายังไม่ได้ทำ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในวันนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียนต่อที่ประชุม ครม. ว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการปฏิรูปด้านการเกษตรยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของอนาคต การจะออกกฎหมายในตอนนี้จึงยังไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาและสถานการณ์ ดังนั้น ครม.จึงได้มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน มูลนิธีชีววิถี ได้ออกแถลงการต่อกรณีดังกล่าว โดยได้ชื่นชมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และนักวิชาการ ที่สามารถทำให้นายกรัฐมนตรี ประกาศยุติการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
00000
แถลงการณ์มูลนิธิชีววิถี กรณีรัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ
มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) ขอชื่นชมการเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของภาคประชาชนและผู้ ประกอบการเกษตรและอาหาร 125 องค์กร การเคลื่อนไหวของประชาชนและองค์กรท้องถิ่นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ การรวมตัวกันรณรงค์ในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มนักวิชาการด้านการเกษตร กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่ได้แสดงออกเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายร่วมกันอย่างเข้มแข็งจนนายกรัฐมนตรีได้ ประกาศยุติการผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว โดยมีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันหลักเพื่อให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอนั้น มาจากกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ อุตสาหกรรมวัตถุดิบอาหารสัตว์ และบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะยังคงไม่ลดความพยายามจนกว่าจะ บรรลุผล ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มผลประโยชน์จากจีเอ็มโอจะหาช่องทางอื่นๆ เช่น การผลักดันให้มีการทดลองจีเอ็มโอผ่านมติคณะรัฐมนตรี 25 ธันวาคม 2550 ไปจนถึงการผลักดันผ่านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก(TPP) เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องร่วมกันเผย แพร่ความรู้เกี่ยวกับจีเอ็มโอทั้งมิติทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และผลกระทบต่อสุขภาพ/สิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจนโยบาย เกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ โดยไม่ปล่อยให้กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหารเป็นผู้กำหนดทิศทางของ ประเทศผ่านรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา
เป้าหมายของการขับเคลื่อนของเรามิได้อยู่ที่การหยุดพ.ร.บ.ความปลอดภัยทาง ชีวภาพที่เอื้ออำนวยต่อบรรษัท หรือการต่อต้านจีเอ็มโอซึ่งไม่เป็นประโยชน์และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเท่า นั้น แต่อยู่ที่การผลักดันให้มีกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองและส่งเสริมความหลาก หลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และระบบอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม ระหว่างเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รออยู่เบื้องหน้า
มูลนิธิชีววิถีจะเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวดังกล่าว จนกว่าเป้าหมายนั้นจะบรรลุผล
15 ธันวาคม 2558

ปมรายได้อาชีพในบัตรปชช. ใครทำสับสน? มท1.ชี้สื่อเพ้อเจ้อ ประยุทธ์รับพูดเร็วทำคนไม่เข้าใจ


มท1. ยันไม่โชว์อาชีพ-เงินเดือนในบัตรประชาชน ขอสื่ออย่าเพ้อเจ้อทำชาวบ้านสับสน ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ รับพูดเร็วทำคนไม่เข้าใจ 'ศิริโชค ปชป.' ชี้ต้นเหตุจากรัฐบาล ทำให้สังคมสับสน
จากกรณีเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุข ว่า "ปี 2560 นี้ น่าจะทำให้สำเร็จ บัตรประชาชนที่มีระบุอาชีพ รายได้ ไม่ต้องอาย มีรายได้น้อยรายได้มากก็คนไทยทั้งสิ้น" ต่อมา 13 ธ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เป็นการทำฐานข้อมูลที่มีการระบุรายได้และอาชีพแบบใหม่นี้จะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (อ่านรายละเอียด) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และล้อเลียนแนวคิดดังกล่าวจำนวนมาก
 
มท1. ยันไม่โชว์อาชีพ-เงินเดือนในบัตรประชาชน ขอสื่ออย่าเพ้อเจ้อทำชาวบ้านสับสน
 
ล่าสุดวานนี้(15 ธ.ค.58) MGR Online รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงถึงแนวคิดรัฐบาลให้ระบุอาชีพและรายได้ไว้ในบัตรประชาชนดังกล่าว ว่า จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับบัตรประชาชนเลย และไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายคณะ ซึ่งในส่วนของตนมีหน้าที่ทำ 2 เรื่อง คือ หาข้อมูลประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าอาชีพใดทั้งสิ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ใช้ในการบริหารงานของรัฐบาล และดูการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนที่มี เพื่อให้บริการ อย่างอาชีพเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับไปดูแล จะมีอยู่อาชีพเดียวที่ไม่ได้อยู่ในสาระบบคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายได้ต่ำ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ นายกฯ ต้องการเน้นกลุ่มนี้เพื่อให้การช่วยเหลือ
 
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ยื่นขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ต้องเอาเอกสารอย่างอื่นไป มีแค่บัตรประชาชนใบเดียวพอเพราะจะมีฐานข้อมูลทั้งหมด เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสามารถออกได้เลย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน หรือต่อไปถ้ากระทรวงพาณิชย์จะมาลิงก์กับกระทรวงมหาดไทย หลักๆ ก็มีแค่นี้ สื่ออย่าเขียนข่าวให้ประชาชนสับสนหรือไขว้เขว อย่าไปลงอะไรเพ้อเจ้ออีก ซึ่งนายกฯ พูดเปิดปลายไว้ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ถ้ามันลำบากและผิดกฎหมายก็ทำใหม่ อย่างทำเป็นบัตรในการรับบริการจากรัฐ เป็นต้น
 
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ รับพูดเร็วทำคนไม่เข้าใจ
 
ขณะที่วันเดียวกัน(15 ธ.ค.58) โพสต์ทูเดย์ดอทคอม รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ว่า  "ไอ้เรื่องบัตรที่พูด ผมก็พูดเร็วไปด้วย บางทีก็ไม่เข้าใจ มันจะมีใครเอาข้อมูลไปลงบัตรได้เยอะแยะขนาดนั้น มีคนเขียนมาในโซเชียล ว่าในบัตรเขียนชื่อ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ทำนองนี้ อาชีพ นักฆ่ามหาประลัย รายได้ สามสิบหลัก ปัดโธ่ อะไรของมัน นี่ไม่ใช่เรื่องตลกนะเนี่ย มันกลายเป็นเรื่องตลกไปหมด แล้วก็หาว่าผมคิดโง่ๆ ก็รู้หรือไม่ว่าข้อมูลคนมีรายได้เป็นยังไง รายได้ไม่ได้เอามาโชว์ มันอยู่ในแถบแม่เหล็ก ในชิพ..
 
..ถ้าใส่ในบัตรประชาชนไม่ได้ ก็หาบัตรอื่นมาอีกใบ บางคนถือบัตรเครดิตหลายใบอยู่แล้ว ก็มีอีกซักใบ ขึ้นรถเมล์ก็เอาไปเสียบที่เครื่องอ่าน ถึงจะขึ้นได้ หรือจะไปรถไฟฟ้าวันหน้า คนจนจะขึ้นไหวหรือ รัฐบาลก็ต้องดูแล ไม่งั้นคนจนก็ไม่มีสิทธิขึ้น มันต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่เอามาตีแผ่ว่าคนนี้รายได้เท่าไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า  บางคนบอกว่า อย่างนี้ก็เปลี่ยนอาชีพไม่ได้ ทำไมคิดแบบนี้ ถ้าจะเปลี่ยนก็ไปแจ้งเปลี่ยนเหมือนทำบัตรประชาชนหาย ไปทำใหม่ ข้อมูลก็อยู่ในเครื่องเหมือนกับในอดีต เรื่องข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ แต่มันไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจน ต้องให้เจ้าตัวมาแจ้งด้วยตัวเอง
 
'ศิริโชค' ชี้ต้นเหตุจากรัฐบาล ทำให้สังคมสับสน
 
ผู้จัดการรายวัน รายงานด้วยว่า ศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงประเด็นนนี้ว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองได้นำเสนอ จนทำให้สื่อสารกับประชาชนไปแบบผิดๆ ตนเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะดำเนินการก็คือ การทำให้เกิดสมาร์ทกัฟเวอร์เมนท์ (Smart Government)ขึ้น ถ้าหากทำได้นั้น ก็จะเป็นการบูรณาการข้อมูลของประชาชนที่ถูกเก็บไว้ในหน่วยงานต่างๆ ทุกอย่างจะสามารถเข้าถึงและดำเนินการอัพเดทข้อมูลต่างๆได้โดยใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว
      
"ผมขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลหากต้องการจะสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีและสารสนเทศนั้น รัฐบาลควรจะผลักดันให้มีความเป็นรูปธรรมโดยชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยมานำเสนอให้กับประชาชนได้รับทราบจะดีกว่ามานำเสนอแบบนี้ เพราะคราวก่อนรัฐบาลก็ได้นำเสนอเรื่องของ Single Gateway แบบที่ตัวรัฐบาลเองก็ยังไม่เข้าใจดี จนส่งผลทำให้สังคมเกิดความสับสนมาแล้วครั้งหนึ่ง" ศิริโชค กล่าว

ศาลยกฟ้องคดี ปตท. ฟ้องผู้แชร์เฟซบุ๊กน้ำมันไทยแพงกว่าสิงคโปร์-เพราะไม่มีมูลเพียงพอ


กรณี ปตท. ฟ้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อผู้แชร์เฟซบุ๊คช่วง มี.ค. 58 ว่าไทยใช้น้ำมันแพงกว่าสิงคโปร์ สิงคโปร์ลิตรละ 25 บาท ไทย 2 ลิตร 100 ฯลฯ ศาลชี้ว่าตอนที่แชร์เฟซบุ๊ค น้ำมันไทยลิตรละ 36.86 บาท สิงคโปร์ลิตรละ 49 บาท ข้อมูลที่แชร์จึงไม่ตรงกับความจริง แต่จำเลยไม่ได้ทำข้อมูลเอง เป็นการแชร์มาจากผู้อื่น ซึ่งในช่วงปี 56-57 ราคาน้ำมันในไทยเคยแตะลิตรละ 49 บาท ใกล้เคียงกับราคาที่แชร์ในเฟซบุ๊ค คดีจึงยังไม่มีมูลเพียงพอ ศาลจึงให้ยกฟ้อง
16 ธ.ค. 2558 ผู้จัดการออนไลน์เปิดเผยคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 11 พ.ย. 58 เป็นคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อ.1173/2558 หมายเลขแดงที่ อ.3733/2558 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลย ในฐานความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
โดยคดีนี้ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มอบอำนาจให้ สุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมายบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินคดี และสุพจน์ได้มอบอำนาจให้ สัจจะ คงรักษาสุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินคดี
ในคำพิพากษาศาล ปตท.ฟ้องว่า นายกมล ตันธนะศิริวงศ์ ได้ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก Kamol Tantanasiriwong โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ว่า “สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้น้ำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันไปสิงคโปร์ รายได้วันละ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงอันเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง + ปตท.”
ทำให้ประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเข้าใจว่า ประเทศไทยมีราคาน้ำมันสูงกว่าประเทศอื่นเพราะการบริหารกิจการของโจทก์ โจทก์ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอม หรือข้อมูลเท็จทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมัน วันที่ 7 มีนาคม 2558 นั้น ประเทศไทยมีราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 36.56 บาท ราคาน้ำมันเบนซิน 95 จำนวน 2 ลิตร จึงมีราคาเป็น 73.12 บาท ไม่ใช่ 100 บาท
ส่วนประเทศสิงคโปร์มีราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 49.03 บาท ไม่ใช่ 25 บาท นอกจากนี้ข้อมูลรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อปีของประเทศสิงคโปร์เท่ากับ 54,040 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 4,816.07 บาท และรายได้ประชากรประเทศไทยต่อหัวต่อปีเท่ากับ 5,340 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ 475.91 บาท ไม่ใช่ 5,000 และ 300 บาท ตวามลำดับ ดังนั้นข้อมูลที่จำเลยนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์จึงเป็นข้อมูลปลอมและข้อมูลเท็จทั้งสิ้น
การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากประสงค์ดำเนินคดีด้วยตนเอง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ อ.794/2557 ของศาลนี้
ในคำพิพากษาทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มี กรรมการ อำนาจกรรมการ และวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร มอบอำนาจให้นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดี ซึ่งมอบอำนาจให้นายสัจจะ คงรักษาสุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จำเลยเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลและผู้ใช้บริการเว็บไซต์เฟซบุ๊ก บัญชีชื่อ "Kamol Tatanasiriwong" ตามรายละเอียดบัญชีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์และประวัติส่วนตัวจำเลยเอกสารหมายเลข จ.4 ถึง จ.8
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 จำเลยนำภาพและข้อความของบุคคลอื่นเผยแพร่หรือแชร์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กในชื่อบัญชีจำเลย ซึ่งระบุว่า "สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้นำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันไปสิงคโปร์รายได้ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงที่แสนเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง+ ปตท." ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จ เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันประเทศไทย ณ วันที่ 4 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นราคาล่าสุดก่อนวันที่จำเลยนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จข้างต้นปรากฏว่าน้ำมันเบนซิน 95 มีลิตรละ 36.86 บาท ตามราคาขายปลีกน้ำมัน เอกสารหมาย จ.10 ไม่ใช่ราคาลิตรละ 50 บาท หรือ 2 ลิตร 100 บาท ส่วนน้ำมันประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2558 มีราคาลิตรละ 2.06 เหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 49 บาท ตามราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์พร้อมอัตราแลกเปลี่ยนเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ. 14 ทั้งข้อมูล รายได้มวลรวมประชาชาติของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลเท็จเช่นกัน เนื่องจากรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อวันของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 475.91 บาท ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 4,816.07 บาท ตามข้อมูลรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ไม่ใช่ 300 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับ ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสาร จ.9 จึงเป็นเท็จไม่ตรงกับความจริง การกระทำของจำเลยที่เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือเท็จเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ที่พบเห็นเอกสารหมาย จ.9 อาจเข้าใจว่าโจทก์และนักการเมืองร่วมกันกำหนดราคาน้ำมันของประเทศซึ่งไม่เป็นความจริง ราคาน้ำมันประเทศไทยกำหนดโดยกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ ไม่เกี่ยวกับโจทก์
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในขั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า ฟ้องโจทก์มีข้อมูลให้ประทับไว้พิจารณาหรือไม่ ทางไต่สวนโจทก์มีนายสัจจะ คงรักษาสุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นมายังหน้าเว็บไซต์เฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความว่า "สิงคโปร์ไม่มีน้ำมัน รายได้ต่อหัววันละ 5,000 บาท ใช้น้ำมันลิตรละ 25 บาท ไทยส่งออกน้ำมันสิงคโปร์ รายได้ 300 บาท ใช้น้ำมัน 2 ลิตร 100 ความจริงที่แสนเจ็บปวดของคนไทย ความจัญไรของนักการเมือง+ ปตท."ตามข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 ข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2558 น้ำมันเบนซิน 95 มีราคาอยู่ ที่ลิตรละ 36.86 บาท ไม่ใช่ราคาลิตรละ 50 บาท หรือ 2 ลิตร 100 บาท
ส่วนราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 6 และ 7 มีนาคม 2558 น้ำมันเบนซิน 95 มีราคาอยู่ที่ลิตรละ 2.06 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 49 บาท ตามประกาศราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศไทย ราคาเชื้อเพลิงประเทศสิงค์โปร์ และอัตราแลกเปลี่ยนเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 รวมทั้งข้อมูลรายได้ประชากรประเทศไทยและสิงคโปร์ที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลเท็จเช่นกันเนื่องจากรายได้ประชากรต่อหัวต่อวันของประเทศไทยอยู่ที่ 475.91 บาท ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวต่อวันของสิงคโปร์อยู่ที่ 4,816.07 บาท
ตามข้อมูลดังกล่าวเข้าใจได้ว่าประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีรายได้ของประชากรสูงกว่าประเทศไทย ใช้น้ำมันราคาต่ำกว่าประเทศไทย ประเทศไทยซึ่งมีรายได้ของประชากรต่ำกว่าแต่กลับต้องมาใช้น้ำมันราคาสูงกว่า เนื่องจากโจทก์และนักการเมืองร่วมกันกำหนดราคาน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดดังที่ระบุไว้ต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ดังกล่าว จึงต้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จ โดยรู้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ
ในคำพิพากษาระบุว่า “เมื่อพิจารณาข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสาร จ.9 โดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 ด้วยตนเอง จำเลยเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลเอกสารหมาย จ.9 จากบุคคลอื่น ได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความตอบศาลถามว่า โจทก์ไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายอนุตร โรจนานนท์ ซึ่งจำเลยนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 มาเผยแพร่ต่อ และไม่ได้ดำเนินคดีกับนายอนุตรแต่อย่างใด รวมทั้งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 จะมีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มานานเพียงใดและมีที่มาอ้างอิงจากแหล่งใด เมื่อพิจารณาราคาขายปลีกน้ำมันของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ปรากฏว่าในช่วงปี 2556 และ 2557 โจทก์ประกาศราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 หรือแก๊สโซลีน 95 สูงสุด อยู่ที่ลิตรละ 49.15 บาท ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันที่ปรากฏในข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 รวมทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลรายได้มวลรวมประชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์ เอกสารหมาย จ.15 พบว่าข้อมูลรายได้มวลรวมประชาขาติดังกล่าวเป็นข้อมูลปี 2556 ไม่ใช่ขณะจำเลยเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเป็นเพียงข้อมูลเฉลี่ยซึ่งคำนวณโดยหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารโลกกำหนด โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าข้อมูลข้อมูลรายได้มวลรวมประชาติต่อหัวต่อปี เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์เอกสารหมายเลข จ.15 ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องสมบูรณ์เพียงแหล่งเดียว อันจะทำให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากเอกสารหมายเลข จ.15 ต้องเป็นข้อมูลเท็จไปทั้งสิ้น เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังไม่พอฟังว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์เอกสารหมาย จ.9 เป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จ กรณีนี้จึงยังไม่พอให้ฟังว่าจำเลยมีเจตนานำเข้าสู้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์ คดีโจทก์ยังไม่มีมูลเพียงพอให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
พิพากษายกฟ้อง.”

ทนายค้านกระบวนพิจารณาคดีศาลทหาร คดีหญิงโพสต์ข่าวรัฐประหารซ้อน สั่งจำ 14 ปี 60 เดือน

ศูนย์ทนายฯ ระบุ ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.173 ชี้ปัญหา การขอคัดคำฟ้องเป็นไปอย่างล่าช้าเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งทนายความว่ายังไม่กำหนดวันนัด จำเลยยังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สุดท้ายทนายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว
15 ธันวาคม 2015 หลังจากที่ทนายความได้รับการโทรศัพท์แจ้งผลการพิพากษาจาก 'ชญาภา' ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แสดงท่าทีคัดค้านต่อกระบวนการและผลการพิจารณาคดีผ่าน รายงานเรื่อง ' พิพากษาคดีโพสต์ปฏิวัติซ้อน ศาลทหารไม่แจ้งวันนัด ทนายยื่นคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย'

โดยเนื้อหาได้ระบุว่า ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา ที่มีองค์คณะตุลาการ คือ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ โดยอ้างเหตุผลว่า ชญาภา จำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นคดีที่มีโทษจำคุก จำเลยต้องการทนายความ และได้แต่งทนายความเข้ามาเพื่อแก้ต่างในคดีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2558 กระบวนพิจารณาของศาลวันนี้จึงต้องมีทนายความของจำเลย
การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 173 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้
นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะต้องเดินทางมาศาลในคืนวันที่ 14 ธ.ค. 2558 จำเลยซึ่งถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ จึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือทนายความได้ทัน
ขณะเดียวกัน ทนายความจำเลยยังไม่ได้รับหมายนัด หรือได้รับแจ้งนัดสอบคำให้การจากศาลทหารกรุงเทพ ทั้งที่ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ทนายความจำเลยได้เดินทางมาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านคำร้องขอฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ ฝพ.38/2558 ปรากฏหลักฐานตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว และได้ขอรับหมายนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบแล้วได้แจ้งทนายความว่าคดีของชญาภายังไม่กำหนดวันนัด หากมีจะโทรแจ้งทนายความให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลแต่อย่างใด แต่กลับทราบจากจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตให้โทรศัพท์แจ้งทนายความว่าต้องการความช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว
การที่ศาลไม่แจ้งให้ทนายความทราบวันล่วงหน้า ทำให้จำเลยไม่มีทนายความเข้ามาแก้ต่างในคดีที่มีโทษจำคุกและมีอัตราโทษสูง ทั้งที่จำเลยต้องการทนายความ และมีทนายความอยู่แล้ว เป็นเหตุให้จำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจบทกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีในศาล ขาดโอกาสมีทนายความและปรึกษาทนายความในการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล หรือเพื่อบรรเทาโทษของจำเลย
จำเลยจึงต้องจำยอมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีโอกาสและไม่ได้รับสิทธิที่จะมีทนายความดังกล่าว กระบวนการพิจารณาคดีของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยหลักการแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติต่อจำเลยจึงต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จำเลยมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ และมีสิทธิที่จะพบญาติ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งรัฐไทยได้ให้การรับรอง รวมถึงระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการที่ประกอบด้วย น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ พิพากษาลงโทษจำคุกชญาภา 14 ปี 60 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 7 ปี 30 เดือน
อย่างไรก็ตาม ทนายความยังไม่ทราบรายละเอียดในคำพิพากษา เนื่องจากบ่ายวันนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารและตรวจสำนวนพร้อมกับการยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ศาลทหารยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดี ฉบับลงวันที่วันนี้ และบันทึกคำให้การของจำเลย รวมถึงคำพิพากษาของศาล
นอกจากนี้ ทนายความได้เคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาต โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องให้จำเลยอยู่แล้ว ก่อนจะได้รับคำฟ้องเมื่อขอคัดถ่ายซ้ำอีกครั้งในวันที่ 8 ต.ค. 2558 และได้ติดตามการนัดหมายคดีมาโดยตลอด ล่าสุด คือ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่แจ้งวันนัด รวมถึงไม่ได้รับหมายนัดให้จำเลยและทนายความ ทั้งที่มีการแต่งทนายความเข้ามาในคดีแล้ว
อีกทั้ง ศาลทหารยังมีกระบวนการพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลยุติธรรมที่ต้องนำตัวจำเลยมาในวันที่มีการฟ้องคดี แต่ในกรณีของศาลทหาร หากจำเลยอยู่ในการควบคุมตัว ศาลทหารจะเพียงส่งคำฟ้องไปที่เรือนจำซึ่งมักไปไม่ถึงจำเลย จำเลยจะทราบคำฟ้องจากทนายความ หรือบางรายอาจทราบคำฟ้องครั้งแรกจากการที่ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังในนัดสอบคำให้การ
สำหรับคดีนี้ ชญาภา ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนหน้าเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าจะเกิดการปฏิวัติซ้อน และข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14
ชญาภาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2558 ขณะจะออกจากบ้านไปทำงาน โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวไว้และนำตัวมาแถลงข่าวในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 แต่ชญาภามีอาการอิดโรย และเป็นลม เนื่องจากมีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพวันที่ 25 มิ.ย. 2558 และอนุญาตฝากขังจนครบ 7 ครั้ง กระทั่งอัยการศาลทหารจะมีคำสั่งฟ้องจำเลย และมีคำพิพากษาในวันนี้