ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554
พรรคกากเดนอำมาตย์ยังดำรงอยู่ประเทศชาติไร้ความสงบ | |
รำลึก 5 ปี รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศไม่ลืมได้เลย เพราะเป็นวันที่คณะทหารทำรัฐประหารรัฐบาลของประชาชน ซึ่งมีประชาชนถึง 19 ล้านเสียงเลือกให้เป็นตัวแทนของพวกเขามาบริหารประเทศชาติ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องจากการบริหารมาแล้วตั้งแต่ปี 2544 และปี 2548 ก็ได้รับเลือกตั้งต่อด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 377 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เป็นประวัติศาสตร์จริงๆ และจะมีเกิดขึ้นอีกหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ การได้รับการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเมื่อปี 2548 สร้างความวิตกกังวลให้พวกเหล่าอำมาตย์เป็นอย่างมาก และแล้วพวกอำมาตย์ก็หาทางวางแผนทำลายล้มล้างคณะรัฐบาลที่ประชาชนจำนวนมากได้เลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศต่อเนื่อง พวกอำมาตย์ได้วางแผนโดยใช้มวลชน วิธีการก็คือให้พรรคการเมืองที่เป็นกากเดนของพวกอำมาตย์เป็นผู้ดำเนินการ โดยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจัดจ้างมวลชนเข้ามาชุมนุมและมีการปราศรัยใช้ความเท็จบ้าง ความจริงบ้าง ส่วนมากเป็นความเท็จ ปลุกระดมมวลชนให้จงเกลียดจงชังคณะรัฐบาล โดยเน้นไปที่ตัวบุคคลคือ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นหัวหน้ารัฐบาล มวลชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมมีหลายส่วน แต่ในส่วนที่สำคัญคือ คนที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และสาวกของสันติอโศก รวมทั้งคนงานตามโรงงานต่างๆที่เข้ามาร่วม หลังจากเลิกงานแล้ว การเข้าร่วมชุมนุมของคนเหล่านี้ก็เพียงเพื่อเงิน เป็นการหารายได้เสริมจากงานหลักของพวกตนเท่านั้นเอง การชุมนุมมีการยืดเยื้อยาวนาน มีการกระทำความผิดในเกือบทุกฐานความผิดของกฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว สังคมเกิดความสงสัยแคลงใจว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น แต่ประชาชนก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ในขณะนั้น สำหรับรัฐบาลก็ไม่ยอมที่จะชี้แจงอะไรคืออะไรให้ประชาชนได้เข้าใจให้ชัดแจ้งได้ การชุมนุมไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลของนายก พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้ ผลสุดท้ายอำมาตย์จึงใช้ให้ทหารทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 อำนาจของประชาชน 19 ล้านเสียงก็หมดความหมายไปในวันนั้น เหตุเพราะประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ขาดการวางแผน หรือเตรียมแผนที่จะรับมือคณะรัฐประหารไว้ก่อน จึงทำให้อำมาตย์ทำการสำเร็จได้อย่างง่ายดาย จากความง่ายดายของพวกอำมาตย์ในวันนั้น ต่อมาความง่ายดายดังกล่าวไม่ได้เป็นความง่ายดายของพวกอำมาตย์ต่อมาอีกเลย มีขบวนการต่อต้านการรัฐประหารที่สนามหลวงเรียกว่ากลุ่มนปก.และต่อมาได้พัฒนาเป็นกลุ่มนปช. โดยใช้เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ หรือเรียกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ก็ร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยให้รัฐบาลยุบสภา ขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้สั่งปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง โดยใช้ให้ทหารติดอาวุธยิงประชาชนมือเปล่าล้มตายไปถึง 91 ศพและบาดเจ็บ 2,000 เศษ เป็นปฏิบัติการของรัฐบาลที่ไม่น่าเชื่อได้เลยว่าเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ผลกรรมที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย ซึ่งได้ปฏิบัติการทำร้ายประชาชนไปแล้วนั้น ท่านอย่าหวังว่าท่านจะหนีกรรมที่ท่านได้กระทำไว้ไปได้เลย ท่านและคณะของพวกท่านจะต้องได้รับผลกรรมที่ท่านได้กระทำไว้เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ผู้เขียนมีความเชื่อว่าจะได้รับในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน ถึงวันที่ท่านรับผลกรรมวันนั้น จะรู้ว่ากรรมที่ท่านทำไว้มันช่างสาสมกับการปฏิบัติการของท่านไม่น่าเชื่อจริงๆ แต่ท่านเชื่อเถิดว่า สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้เช่นนี้ ท่านไม่เชื่อก็เป็นสิทธิ์ของท่านแต่กรรมที่ท่านจะได้รับนั้นเป็นกรรมหนักมากเปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้ แต่ก็ได้มีลางบอกเหตุเริ่มต้นแล้วที่เห็นชัดก็คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป พรรคของท่านและพรรคพันธมิตรท่านก็ได้รับบทเรียนจากการเลือกตั้งคือพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ด้วยอำนาจของประชาชนช่างยิ่งใหญ่จริงๆ ทำให้พรรคของท่านและพรรคพันธมิตรต้องแพ้การเลือกตั้งแบบห่างกันเป็นเท่าตัว และอำนาจรัฐก็เปลี่ยนไปเป็นของพรรคประชาชนคือ “พรรคเพื่อไทย” ชนะการเลือกตั้งโดยเด็ดขาด และได้รับอำนาจจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาถึงวันนี้ยังไม่ครบเดือน แต่ก็ถูกท่านใส่ร้ายป้ายสีต่างๆนานาด้วยวาทะกรรมของท่านและคณะ พวกท่านทำเช่นนี้ได้อย่างไร ท่านยังมีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ ทบทวนตัวเองบ้างสิครับ หรือพูดตามโบราณก็คือ “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาตัวเองบ้าง” ฉายาของท่านที่ว่า “ดีแต่พูด” ก็ควรเพิ่มเป็น “ดีแต่พูดทำลายไร้ประโยชน์กับประเทศชาติ” นี่มีข่าวจากพวกของท่านที่อยู่แถวเพชรบุรีบอกว่าพวกท่านจะพยายามล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ได้ภายใน 6 เดือน เวลานี้ท่านสุมหัวกันคิดว่าจะใช้วิธีไหนที่จะล้มล้างรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใน 6 เดือนนี้ ผมขอบอกว่าขอเชิญนะครับท่านจะทำอะไรก็รีบทำเถิด เรื่องเลวร้ายทั้งหลายจะได้หมดไปจากประเทศนี้เสียที เมื่อเรื่องร้ายหมดไปก็คือ ไอ้พรรคกากเดนอำมาตย์ก็จะสูญสลายไปพร้อมกับเรื่องร้ายของประเทศด้วย ท่านอย่าคิดว่าท่านมีเส้น จะทำอะไรก็ได้เช่นที่เคยทำมาแล้วนั้น ท่านคิดผิดแล้วครับ ประชาชนเค้าตาสว่างแล้วว่าเส้นของท่านเป็นใคร กลุ่มไหน ประชาชนพร้อมเสมอที่จะร่วมกันกวาดล้างพรรคกากเดนอำมาตย์พร้อมกับเส้นของท่านด้วยไม่ว่าจะเส้นใหญ่แค่ไหน ก้าวเดินต่อไปของมวลมหาประชาชนพร้อมแล้วที่จะสัปยุทธ์กับท่าน ปัญหามีอยู่ว่าท่านพร้อมหรือยัง เมื่อพวกท่านพร้อมปฏิบัติการได้ทันที แล้วเราจะได้รู้กันว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป ทราบไหมไอ้กากเดนอำมาตย์และไอ้เส้นใหญ่ทั้งหลาย | |
http://redusala.blogspot.com |
นี่คือหน้าที่ฝ่ายค้านจริงหรือ ? | |
โดย แคน คนรากหญ้า ผมชมการอภิปรายนโยบาย รัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 54 ช่วงที่ ส.ส. คนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ (ผมจำชื่อเขาไม่ได้) อภิปรายพอดี เขาพูดถึง หน้าที่ ของ ฝ่ายค้าน ตามที่เขาถามอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเขาสมัยเป็นนักศึกษาเมื่อ 10 ปีมาแล้ว สรุปความเท่าที่ผมจำได้ว่า “ฝ่ายค้านมี หน้าที่ คัดค้านสิ่งที่รัฐบาลทำ ซึ่งตน เห็นว่าไม่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องพูดสนับสนุน แต่ทำเฉย ๆ เสีย....” ตีความว่า ค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่ตน (ฝ่ายค้าน) เห็นว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง ข้อความที่ ส.ส. คนนี้กล่าวจะผิดหรือถูกอย่างไร ผมไม่ทราบ และไม่คิดจะถามนักวิชาการหรือผู้รู้ทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมรู้สึกว่า มันขัดความรู้สึกของผมจริง ๆ ในฐานะคนรากหญ้าที่ไม่คิดอะไรให้ซับซ้อน เพราะผม รู้สึก ว่า ไม่ว่า ฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายรัฐบาล ต่างก็มีหน้าที่ทำงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เหมือนกัน เป้าหมาย การทำงานของนักการเมืองคือ “ประโยชน์ของประชาชน” ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะ ตัวของนักการเมืองโดยตรง ดังนั้น “ประโยชน์ของประชาชน” จึงเป็นตัว กำกับ หรือเป็น กรอบ ที่นักการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐจะต้องถือปฏิบัติหรือยึดเป็นอุดมการณ์ ถ้าการค้านมีความหมายดังที่ ส.ส. คนดังกล่าวพูด ก็นับว่าเป็นความ ใจแคบ อย่างยิ่งที่ไม่ต้องพูดสนับสนุน ถ้าฝ่ายรัฐบาลทำถูกต้องเพราะการพูด สนับสนุน มันมีความหมายอย่างยิ่งในการทำงานให้เป็นผลดียิ่งขึ้น มันเป็น กำลังใจ ของคนทำงานและอยากทำงานให้ดียิ่งขึ้น ส่วนฝ่ายที่กล่าวสนับสนุนก็เป็นการแสดงความใจกว้าง พลอยยินดีต่อฝ่ายที่ทำดี ซึ่งทางพระเรียกว่า “มุทิตา” นั่นเอง ผมเข้าใจว่า ฝ่ายค้านมีหน้าที่ คัดค้าน เมื่อฝ่ายรัฐบาลทำไม่ถูกต้อง (ตรงกับที่ ส.ส. คนนั้นพูด) แต่นั่น ยังไม่พอ จะต้องเสนอหรือแนะนำสิ่งที่ดีกว่า หรือวิธีการทำที่ดีกว่าการกระทำของฝ่ายรัฐบาล ซึ่ง ส.ส. คนนั้นไม่ได้พูดถึง อาจเป็นเพราะเกรงว่า ถ้าฝ่ายรัฐบาลทำตามข้อเสนอนั้นและประสบความสำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลจะได้คะแนนนิยมจากประชาชน ส่วนตน (ฝ่ายค้าน) ไม่ได้อะไรเลย การคัดค้านโดยไม่มีข้อเสนอแนะนั้น ผมคิดว่า ไม่ใช่การคัดค้าน แต่เป็นการ โจมตี ต่างหาก เมื่อเป็นการ โจมตี ก็จะขยายการโจมตีนั้นให้กว้างขวางออกไปอีก กลายเป็นเรื่องการ กล่าวหา การ ทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็จะนำไปสู่การ แตกแยก กันอันไม่เป็นผลดีแก่ประชาชนเลย ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ผมกล่าว คือ การอภิปรายของ ส.ส. คนนี้ก่อให้เกิดการประท้วง โต้เถียงกันและใช้อารมณ์ทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล วุ่นวายกันทั้งสภาจนประธาน พักการประชุมและเลิกประชุมไปในที่สุด นี่เพราะความเข้าใจคำว่า “ฝ่ายค้าน” ตามที่อาจารย์สอนมาแบบใจแคบดังกล่าวแล้ว ถ้าฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ยังเข้าใจในหน้าที่ของฝ่ายค้านเช่นที่กล่าวนี้ ก็อย่าหวังว่าการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบสร้างสรรค์เลย ใช่! ในอดีตเมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว การค้านจะมุ่งไปที่การใช้ “โวหาร” หรือ วาทะดุเดือด เผ็ดมัน (พูดใส่อารมณ์) ใครพูด เก่ง พูด ดุเดือด ก็จะได้รับเสียงปรบมือจากผู้ฟัง (ประชาชน) และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ ณ พ.ศ. นี้ สังคมเปลี่ยนไปมากและรวดเร็ว จนคนหัวโบราณตามไม่ทัน ทุกอย่างย่อม ขึ้นอยู่กับ ความจริง เหตุผล และ ข้อมูล แม้พูดเรียบ ๆ แต่มีเหตุผล ให้คนมองเห็นได้ตามที่พูด ก็จะได้รับการยอมรับจากประชาชน การอภิปรายนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ ตามที่ผมสอบถามคนทั่ว ๆ ไป (ไม่ใช่นักวิชาการ) เขาจะพูดคล้าย ๆ กันว่า น่ารำคาญ มีแต่โต้เถียง ทะเลาะกัน เป็นพฤติกรรมการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม ๆ บางคนปิด ที.วี. เลย เพราะทนดูพฤติกรรมการเมืองเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ถึงขั้นเลวร้ายมากมายนัก เมื่อเทียบ ส.ส. ของบางประเทศที่โต้เถียงกันรุนแรงสุด ๆ ถึงขึ้น ชกต่อย ฟาดปากกันจนเลือดสาดก็มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ คิดได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ส.ส. จะโต้เถียงหรือทะเลาะกันอย่างไร ประชาชนก็น่าจะทนดูได้ เพราะดู ละครทีวี (ละครน้ำเน่า) โต้เถียงกันมากกว่านี้ ผู้ชมยังทนได้ แต่คิดอีกทีก็น่าเห็นใจประชาชน เพราะเขาคาดหวังนักการเมืองสูงเกินไป ในทุก ๆ ด้าน สมกับที่พูดว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ ดังนั้น นักการเมืองเอง ควรสำรวจตนเองอย่างตรงไปตรงมาบ้าง และปรับปรุงส่วนที่ขัดหูขัดตาประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สมกับที่ประชาชนยอมรับนับถือ ข้อสำคัญ คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปสู่วงการเมืองจะถูกครอบงำโดยพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักการเมือง กลายเป็นมรดกตกทอดกันชั่วลูกชั่วหลาน คนรุ่นใหม่จะถูกคนรุ่นเก่ากลืนไปโดยอัตโนมัติ อย่างนี้ประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไรครับ! | |
http://redusala.blogspot.com |
23อ.นิติฯเปิดศึกชน'นิติราษฎร์' | |
23อ.นิติฯ ล่ารายชื่อรวมตัวออกแถลงการณ์ เปิดศึกชน 'นิติราษฎร์' ตั้งคำถามถึงเจตนา อุดมการณ์ หลักการ หลักกม. 'คณิต' วอนสังคมฟังความเห็นต่างของ“กลุ่มนิติราษฎร์” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 2 ต.ค.54 คณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 23 คน ได้รวมตัวกันลงรายชื่อออกแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ แสดงความเห็นโต้แย้งข้อเสนอของ กลุ่ม "นิติราษฎร์" โดยเนื้อหาตามแถลงการณ์ดังกล่าว มีดังนี้ "คำแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้เสนอแนวคิดในการลบล้างผลของการรัฐประหารในเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ โดยใช้ตรรกวิธีคิดในทำนองว่าเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นธารแห่งความเลวร้ายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ตรรกะวิธีคิดเช่นนั้น เป็นความถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ? หาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ถือว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบจนถึงขนาดต้องลบล้างการกระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงการทำรัฐประหารโดยคณะรสช. เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์ แบบเช่นเดียวกัน และหากมีการประกาศให้มีการลบล้างผลของการรัฐประหาร ผลพวงของการกระทำ การบัญญัติกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างหรือหลังการรัฐประหาร ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงผลประโยชน์ที่บุคคลบางกลุ่มได้รับจากการรัฐประหาร(สัมปทานโทรคมนาคม หรือกิจการต่างๆ)แล้ว ย่อมต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงของความเลวร้ายทั้งสิ้นและต้องถูกลบล้าง ให้สิ้นผลไปเสมือนเป็น “ผลไม้จากต้นไม้มีพิษ” หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะตามตรรกะวิธีคิดดังกล่าวด้วย แต่ด้วยเหตุผลใด “กลุ่มนิติราษฎร์” จึงมีตรรกะวิธีคิดว่าเฉพาะการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง แต่กลับไม่ได้ถือเอาผลพวงของการรัฐประหารทุกครั้ง ทุกประการเป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ หรือเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นต้น ข้อน่าสงสัยและน่าพิจารณาเชิงวิชาการในเบื้องต้นจึงมีว่า ข้อเสนอที่ประกอบขึ้นจากตรรกวิธีคิดที่ก่อให้เกิดผลประหลาดนี้เป็นไปเพื่อให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ !!! คณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ ใคร่ขอเสนอข้อสังเกตและความเห็นที่แตกต่างกับความเห็นของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนในประเด็นสำคัญบนพื้นฐานของหลักการทางจริยธรรมของนักวิชาการ หลักการทางนิติศาสตร์ และหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การพิเคราะห์ตรรกะวิธีคิดดังกล่าวข้างต้นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่? โดยขอนำเสนอต่อสาธารณชนผู้มีใจเป็นธรรมพิจารณาและทำความเข้าในหลักการสำคัญประกอบดังต่อไปนี้ ๑. หลักการทางจริยธรรมของนักวิชาการ ก่อนที่จะมีการสร้างตรรกวิธีคิดและวิเคราะห์ทางวิชาการไปสู่การชี้นำสังคมโดยนักวิชาการ นักวิชาการควรมีสำนึกสำคัญในทางวิชาการในหลักการสำคัญที่สำคัญของการเป็นนักวิชาการคือ ต้องมีคุณธรรมและมีสำนึกในทางจรรยา(วิถีการครองตนที่ดีงาม)ของการนำเสนองานทางวิชาการ หรืออีกนัยนึงคือมีสำนึกในทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงานวิชาการหรือวิชาชีพด้านกฎหมายนั้น ต้องเน้นถึงความสุจริต ความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรม และมุ่งต่อผลประโยชน์สังคม และประชาชนโดยรวม อันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด รวมถึงต้องต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมทุกรูปแบบ โดยการนำเสนอและตีแผ่ความเป็นจริงโดยอาศัยหลักวิชาและต้องไม่มีอคติความนิยมชมชอบใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามหลักวิชา แล้วจึงนำเสนอผลงานทางวิชาการอย่างกล้าหาญ โดยไม่เลือกการนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะเรื่อง ในศาสตร์ของตนที่นักวิชาการมีอคติในวิชาเป็นพิเศษ นักวิชาการต้องตีแผ่ถึงความไม่เป็นธรรม หรือการเอื้อประโยชน์อันมิชอบดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความเป็นจริง ไม่เสนอหลักการอันก่อผลประหลาดทางวิชาการ คลาดเคลื่อนต่อหลักการทางวิชาการที่ถูกต้องแท้จริง นักวิชาการที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางวิชาการ ถือว่าเป็นผู้ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณอันงดงามในวิชาการและวิชาชีพที่ดี จะสร้างค่านิยมผิดและทัศนคติที่ผิดพลาดให้แก่ประชาชน เป็นทำลายหลักการอันเป็นวิถีสำคัญอันดีงามในการดำรงตนเป็นนักวิชาการ นักวิชาการ ที่เลือกกล่าวแต่เรื่องที่เอื้อประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือพวกพ้องโดยเฉพาะ และงดเว้นการนำเสนออย่างกล้าหาญในหลักการที่ถูกต้องในเรื่องสำคัญ เป็นการสร้างความเสียหายต่อสังคมโดยรวมโดยมิอาจแก้ไขได้ ๒. หลักนิติธรรม หลักการพื้นฐานสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ เป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักในการกำหนดวิถีการใช้อำนาจของรัฐให้กระทำโดยชอบ ด้วยกฎหมายที่ชอบธรรมและสมเหตุสมผล หลักนิติธรรมถูกใช้เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบ ไม่สุจริตในการใช้อำนาจ ต่อต้านการทุจริตฉ้อฉลในการใช้อำนาจ และการแสวงประโยชน์ด้วยการกระทำที่ไม่ชอบของผู้มีอำนาจรัฐในทุกรูปแบบ หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญที่นักนิติศาสตร์ยึดถือในวิถีชีวิตของการดำรงตนเป็นนักนิติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐดังกล่าวต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประชาชนที่มีความสุจริต หลักความสุจริตจึงถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการพิจารณาประกอบหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองประชาชนคนดีที่มีความสุจริตจากการใช้อำนาจอันฉ้อฉลของผู้มีอำนาจรัฐ หาใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางวาทกรรมสำหรับผู้ซึ่งหวังผล ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องที่กระทำการอันทุจริตหยาบช้า ประพฤติมิชอบ และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักนิติธรรม จะใช้เพื่อกล่าวอ้างคุ้มครองตนจากกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรม โดยหวังแต่ได้ประโยชน์ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่เมื่อไม่ได้ประโยชน์ก็กล่าวอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม นักวิชาการที่ยึดถือหลักนิติธรรมและมีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในวิชาชีพ พึงนำเสนอความถูกต้องในหลักการอย่างแท้จริงอันปราศจากอคติแก่ประชาชน เพื่อสร้างความถูกต้องดีงามในทางความคิดอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป ๓. หลักประชาธิปไตย รูปแบบในการปกครองในโลกนี้มีหลากหลายรูป เช่น รูปแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยผู้มีอำนาจหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง การที่ประเทศใดควรที่จะยึดถือรูปแบบการปกครองใด ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองของคนในชาตินั้นๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ บทเรียน และบริบททางสังคมที่เป็นจริงในประเทศนั้นเป็นสำคัญ การกล่าวว่า รูปแบบการปกครองใดดีกว่ารูปแบบใดนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่มีการโต้เถียงทางวิชาการไม่จบสิ้น เพียงแต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเสรีนิยม อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ ยึดถือหลักการประชาธิปไตยโดยแท้หรือไม่ คงต้องพิจารณาทั้งในมิติของรูปแบบและเนื้อหาของหลักประชาธิปไตย ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้ต้องมีเนื้อหาที่เป็นการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ตลอดจนมีอุดมการณ์เพื่อให้เกิดการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นเป้าหมายสูงสุด คำนึงและรับฟังเสียงข้างน้อยหรือความเห็นที่แตกต่าง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมิได้ยึดถือเพียงแค่หลักการของเสียงข้างมากเป็นเสียงสวรรค์ โดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อยหรือไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมที่มีอยู่ตามกฎหมายและบรรทัดฐานอื่นๆ ที่สังคมร่วมสร้างกันมา ย่อมเป็นการยึดถือ แต่หลักเสียงข้างมากแต่ขาดสำนึกตามหลักนิติธรรมที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะหลักการที่กำกับความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรมของการปกครองแบบประชาธิปไตย การทำลายหลักกฎหมาย และความชอบธรรม การกระทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ชอบธรรม ทุจริตการเลือกตั้ง ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงปิดบังประชาชน แทรกแซงกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือพวกพ้อง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเนื้อหาที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นเพียงการปกครองในระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก ที่อาศัยรูปแบบแอบแฝงภายใต้เสียงข้างน้อยที่มากกว่ากลุ่มเสียงอื่นเป็นฐานเพื่อกระทำการอันเป็นประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อกล่าวการปกครองในระบอบเผด็จการนั้น นักวิชาการต้องศึกษา และกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการในทุกรูปแบบ มิใช่เฉพาะการกล่าวอ้างเผด็จการทหารว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแต่เพียงรูปแบบเดียว เพราะในสภาพความเป็นจริงทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ภายใต้บริบทของสังคมในขณะนั้น โดยเฉพาะบริบทในสังคมไทย ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาแล้วว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเชิงรูปแบบที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการในการเข้าสู่อำนาจแต่แอบแฝงเนื้อหาสาระการผูกขาดอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองบางกลุ่มหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงมีความเห็นแตกต่าง และมีข้อสงสัยในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ดังกล่าวข้างต้น ที่กล่าวอ้างเสมือนกับให้เหตุผลว่า การรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ นั้น เป็นต้นธารแห่งความเลวร้าย ไม่เป็นไปตาม หลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และเป็นเผด็จการทหาร โดยละเลยการกล่าวและวิพากษ์ถึงเหตุปัจจัยหรือบริบททางสังคมสืบเนื่องก่อนการรัฐประหารอันเป็นต้นเหตุของความเลวร้ายที่แท้จริง คือ พฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตก่อนการรัฐประหาร เป็นเผด็จการรัฐสภา มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง และแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ด้วยกระบวนการปกติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ได้ อันเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย จึงมีคำถามอย่างมากมายว่า ปัญหาเหตุปัจจัยดังกล่าวที่หาได้ถูกกล่าวขึ้น ยังคงอยู่ในอุดมการณ์หรือในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” หรือไม่ สภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบันได้ตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของคณาจารย์ที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” จากแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น ว่า ยังคงมีอุดมการณ์ที่ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศไทยยึดถือมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันหรือไม่ และหากยังยึดถืออุดมการณ์ดังกล่าวอยู่ คณาจารย์กลุ่มนี้ กระทำไปโดยวัตถุประสงค์อย่างไร หรือเพื่อบุคคลใด พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอเสนอความเห็นแตกต่างในหลักการทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ให้ฉุกคิดอย่างรอบด้านในข้อมูลเหตุปัจจัยพื้นฐานที่มาของเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น พวกเราไม่มีความประสงค์ เป็น “เผด็จการทางภูมิปัญญา” ที่จะประนามผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความเห็นแตกต่างว่า ไม่รักชาติ ประชาธิปไตย หรือประชาชน หรือกล่าวหาว่าการไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเราต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องการให้เกิดความงดงามในวิถีประชาธิปไตยที่เคารพความแตกต่างทางภูมิปัญญาและทัศนคติที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต รองศาสตราจารย์ นพนิธิ สุริยะ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร รองศาสตราจารย์ นเรศร์ เกษะประกร รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม)ฟุ้งลัดดา รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ อาจารย์ เกศราภรณ์ ปานงาน อาจารย์ คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย อาจารย์ ฉัตรพร ภาระบุตร อาจารย์ จุมพล ชื่นจิตศิริ อาจารย์ นฤมล เสกธีระ อาจารย์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร อาจารย์ รัฐศักดิ์ บำรุงสุข อาจารย์ วศิน สุวรรณรัตน์ อาจารย์ ศักดิ์ณรงค์ มงคล อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ อัจฉรา จันทน์เสนะ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ "คณิต"วอนสังคมฟังความเห็นต่างของ“กลุ่มนิติราษฎร์” นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวเรียกร้องให้สังคมรับฟังในความเห็นที่แตกต่างด้วยใจเป็นธรรม ภายหลังจากที่มีกลุ่มอาจารย์นักกฎหมาย ในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ที่นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ออกมาเสนอมุมมองทางงวิชาการเกี่ยวกับการรัฐประหารในประเทศไทย ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม “ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ผมมองว่าสังคมต้องรับฟัง เพราะในปัจจุบันคนในสังคมประสาทรับฟังยังอ่อนมาก ซึ่งหากฟังแล้วต้องทำจิตให้ว่าง และพิจารณาด้วยเหตุและผล ซึ่งในส่วนของคอป. นั้นพร้อมที่จะรับฟัง และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานฉบับที่ 2 คาดว่าใน 1 - 2 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ” นายคณิต กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเสนอต่ออายุของ คอป. หรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า คงไม่มีการขอต่ออายุการทำงาน เมื่อถามว่าข้อเสนอด้านความปรองดองในสังคมเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า ข้อเสนอของ คอป. ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งตนเชื่อว่าหากภาครัฐให้ความร่วมมือ การสร้างความปรองดองจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี | |
http://redusala.blogspot.com |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)