วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

ไอลอว์เปิดรายงานสิทธิ 5 เรื่อง ชี้คดี 112 พุ่ง - ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีอาวุธ


โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ นำเสนอรายงานประจำปี 2557 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การเรียกบุคคลรายงานตัว การจับกุมและควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 2.คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว 3.เสรีภาพการชุมนุม การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง 4.การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 5.เก็บตกเหตุการณ์ก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ การปิดวิทยุชุมชนและอื่นๆ
ในประเด็นการเรียกรายงานตัวและคุมตัวตามกฎอัยการศึกษานั้น รายงานระบุว่ามีหลายกรณีที่ถูกควบคุมตัวเกินอำนาจตามกฎอัยการศึก 7 วัน รวมถึงมีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีอาวุธระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
ตัวอย่างกรณีที่ถูกซ้อมทรมาน เช่น ‘ชัชวาล’ ถูกจับกุมพร้อมภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะ อีกราว 3 - 4 ชั่วโมง มีการนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก อีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์
กรณี ‘กิตติศักดิ์’ ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ถูกชาย 3 คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ ระหว่างการควบคุมตัว ถูกสอบสวนโดยใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน ถูกตบหัวและตบปาก ถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่น โดยเขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้น แต่ก็ยังถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา
ในประเด็นคดีตามมาตรา 112 นั้น รายงานระบุว่า สถานการณ์การจับกุมและการพิพากษาคดีนี้ในช่วงก่อนรัฐประหารดูเหมือนจะมีความก้าวหน้าในแง่บทลงโทษที่น้อยลง แต่ภายหลังการรัฐประหารการณ์กลับตรงข้าม หลังการรัฐประหาร พบว่ามีการเร่งรัดจับกุมและดำเนินคดี ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จนปริมาณคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคมก่อนการรัฐประหารมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ในเรือนจำ เท่าที่ทราบ 5 คน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 24 คน ในช่วงปลายปี ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งมีการพิจารณาปิดลับ อีกทั้งยังพบว่าศาลทหารลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้หนักกว่าศาลยุติธรรมปกติถึงเท่าตัว
ในประเด็นเสรีภาพในการชุมนุมนั้น รายงานระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประกาศฉบับที่ 7/2557 อย่างน้อย 48 คน เป็นผู้ถูกจับกุมในกรณี “ขอนแก่นโมเดล” 24 คน เหลือคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกในที่สาธารณะอย่างน้อย 24 คน แบ่งเป็น 15 คดี คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วมีอย่างน้อย 12 คดี ข้อสังเกตต่อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วคือ ทุกคดีศาลพิพากษาให้รอลงอาญา แม้แต่กรณีที่ขึ้นศาลทหารก็ลงโทษเท่ากันหมดทั้ง 11 คดี คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 นอกจากนี้จำเลยคดีนี้ส่วนใหญ่ได้ประกันตัวระหว่างการสอบสวนด้วยหลักทรัพย์ 10,000 - 40,000 บาท
ในประเด็นการฟ้องหมิ่นประมาทและการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น รายงานระบุว่า ปี 2557 มีคดีหมิ่นประมาทที่เป็นประเด็นสาธารณะ 12 คดี มีการถอนฟ้อง 6 คดี ยกฟ้อง 2 คดี รอการลงโทษ 1 คดี และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี 4 คดี โดยจะเห็นได้ว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ล้วนเป็นองค์กรที่มีฐานะอยู่เหนือกว่าผู้ถูกฟ้องคดีในแง่ต้นทุนในการต่อสู้คดี ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ หรือกรณีบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ยื่นฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งยังมีปรากฏการณ์ว่าหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานหรือบุคลากรของหน่วยงาน เช่น กรณีกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” กรณีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และกรณีสำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิศรา เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายคือเก็บตกการละเมิดสิทธิหรือเซ็นเซอร์ตัวเองอื่นๆ เช่น การคุกคามการำงานของสื่อโดยประชาชน, ประกาศต่างๆ ของคสช.ที่มีผลจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชนและรูปธรรมที่ทหารควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน, กรณีสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง, กรณีสื่อท้องถิ่นขนาดเล็กต้องปิดตัวตามประกาศ 1/2557, การปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ ตลอจนการห้ามจำหน่วยหนังสือ เป็นต้น 

‘ปณิธาน’ แนะแลกตัวผู้ร้ายข้ามแดนคนหนี ม.112 แจงต่างประเทศเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง

รมต.นิวซีแลนด์ ชี้ไม่เหมาะสม ออกความเห็นปม ‘ตั้ง อาชีวะ’ เผยกระทบสิทธิส่วนบุคคล ‘ปณิธาน’ ที่ปรึกษารองนายกฯ แนะแลกตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับคนหนี ม.112 แจงต่างประเทศเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง
7 ม.ค.2558 ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการติดตามตัวผู้หลบหนีคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ที่ต่างประเทศว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่ด้วยบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเขาก็ต้องระวังตัว สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นคือการทำความเข้าใจกับต่างประเทศว่าคดีที่มีการหลบหนีเป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีที่เป็นคดีกระทบกระเทือนกับประเทศไทย และไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ และคนเหล่านั้นยังไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศของคุณ ก็ต้องถามประเทศนั้นว่าเขาจะช่วยอะไรได้บ้างในฐานะมิตรประเทศ เพราะบางรายมีหมายจับและได้สิทธิพิเศษในการได้พาสปอร์ตเพื่อลี้ภัยแต่ยังไปเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เป็นการทำผิดกฎหมายประเทศนั้นด้วย
“ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นการนำเอามาเป็นประเด็นการเมือง เราก็ต้องขอให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ ช่วยดูแล เพราะคนเหล่านี้ไปดึงเรื่องของสถาบันมาเป็นประเด็นโจมตีกันไปมา โดยใช้พื้นที่ของประเทศนั้นๆ เป็นฐานที่อยู่ ก็ต้องบอกเขาว่าประเด็นนี้คนไทยจำนวนมากรู้สึกและรับไม่ได้ เราต้องแยกแยะให้ฝรั่งได้รู้และเข้าใจว่าถ้าเป็นเรื่องวิชาการหรือพูดคุยทั่วไปเราไม่เคยไปยุ่งกับเขาเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปใส่ร้าย ไปกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเล่นการเมือง เราก็ต้องบอกเขาเลยว่า เรามีกฎหมายแลกเปลี่ยนกันไม่ใช่เหรอ คนพวกนี้ทำผิดกฎหมาย ขอให้คุณช่วยหน่อย คุณจะทำอะไรได้บ้าง” ปณิธาน กล่าว
ปณิธาน กล่าวถึงการขอให้ต่างประเทศช่วยส่งตัวคนกลุ่มคนดังกล่าวกลับมาว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น เขามีหมายจับหรือไม่ หรือถ้าไม่มีหมายจับแล้วหากเขาเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณจะอนุญาตหรือไม่ ปกติคนเหล่านี้เข้าเมืองจะมีเงื่อนไขอยู่แล้วว่าถ้าเข้าเมืองเขาให้สิทธิพิเศษ ให้พาสปอร์ต แต่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถ้าเป็นแบบนี้เขาก็ต้องไปจัดการกันเอง เราไม่ไปยุ่งเพียงแต่เราเตือนเขาว่านี่เห็นหรือไม่ว่าคนเหล่านี้ทำอะไร
“แต่ในกรณีที่มีหมายจับ ก็ต้องมาเทียบคดีว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เพราะคดีไม่เหมือนกัน เราก็ต้องขอความร่วมมืออีกแบบหนึ่ง เช่น อาจจะเป็นลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือถ้าสนธิสัญญาไม่มีก็อาจจะมีการแลกเปลี่ยนวิธีพิเศษ เหมือนที่เราทำกับกัมพูชาที่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมาย ทำได้หรือไม่ และถ้าไม่ได้คุณจะร่วมมืออย่างไรในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดี คุณต้องเข้าใจก่อนว่าคนเหล่านี้ทำผิดหรือเปล่า เขาออกมาพูดหมิ่นสถาบันฯ อย่างเสียๆ หายๆ กับคนธรรมดาเขายังไม่ด่ากันอย่างนี้ ใส่ชื่อ ใส่อะไรแบบแปลกๆ คุณเห็นด้วยหรือไม่ ขนาดมีคนด่าประธานาธิบดี ด่านายกฯ คุณ คุณยังไม่ยอมเลย อย่างนี้คุณจะทำอะไรได้บ้าง และถ้าไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ที่หนีไปอยู่บ้านคุณ”
ปณิธาน กล่าวว่า เขาอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมาย และต้องเข้าใจว่ากลุ่มที่ต้องการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มีหลายกลุ่ม ถ้าเป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้าก็ไม่เป็นไร บางคนไม่กล้าพูดเพราะกลัวถูกเหมารวม แต่ความจริงพูดได้ เพียงแต่เราต้องแยกแยะให้ดี แต่กับกลุ่มที่ต้องการสร้างเงื่อนไขให้คนออกมาเผชิญหน้ากัน และมาเป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลก็ต้องดำเนินการ
“ท่านทรงเคยรับสั่งแล้วว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องดูให้ดีว่ากฎหมายนี้มีไว้เพื่ออะไร จะใช้อย่างไร อย่าเอาไปใช้เป็นเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ บางทีก็กลัวเมื่อมีคนไปแจ้งความก็ไม่กล้าจะทำอะไร ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ถึงได้การตั้งคณะกรรมการที่มีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานขึ้นมาดูว่าคดีไหนควรจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง” ปณิธาน กล่าว
ปณิธานกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในเรื่องของการพูดคุยกับประเทศต่างๆ คิดว่าทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่และเขาก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นเพราะมันมีทั้ง 2 เรื่อง คือ เรื่องทางการเมือง และเรื่องปกติทางอาญา ต่างประเทศเขามีความเข้าใจมากขึ้นและรัฐบาลที่มาจากทหารทำให้เขาระวังขึ้น

รมต.นิวซีแลนด์ ชี้ไม่เหมาะสม ออกความเห็นปม ‘ตั้ง อาชีวะ’ เผยกระทบสิทธิส่วนบุคคล
วันเดียวกัน ทอดด์ แม็คเคลย์ หนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลนิวซีแลนด์และหน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมือง ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อกรณีกระทรวงการต่างประเทศไทยได้สอบถามไปยังสถานทูตนิวซีแลนด์ถึงสถานภาพของ เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยรัฐมนตรีแม็คเคลย์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ขณะที่หน่วยงานด้านตรวจคนเข้าเมืองอ้างว่าการแสดงความเห็นใดๆจะเป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล และกฎหมายของนิวซีแลนด์

‘สมชัย’ ค้านแนวคิดมหาดไทยจัดเลือกตั้ง ยกนิทานจันทรโครพ เทียบนางโมรายื่นดาบให้โจร

‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ระบุ กรณีเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะจะชัดเจนภายใน 27 ม.ค.นี้ ชี้ไม่ควรให้การจัดเลือกตั้งไปอยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ เพราะไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะจัดเลือกตั้งได้เป็นกลาง ยกนิทานจันทรโครพ เทียบนางโมรายื่นดาบให้โจร
7 ม.ค.2558 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงข้อเสนอที่จะให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้งว่า สิ่งสำคัญเราพูดถึงอำนาจหน้าที่ซึ่งกกต.มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยตรง แต่กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ถ้าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้แต่จะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการจัดการเลือกตั้งไม่ใช่แค่ทำให้สำเร็จ แต่ต้องทำให้ดี สามารถคัดกรองคนดีมีคุณภาพเข้าสู่ระบบการเมือง ซึ่งกกต.มีประสบการณ์มา 16 ปี รู้ถึงเล่ห์กลที่ฝ่ายการเมืองจะใช้เพื่อให้ตัวเองได้รับเลือกตั้งเข้ามา ทำให้เชื่อว่าจะสามารถคัดกรองคนดีเข้ามาได้ แต่ถ้าจะให้กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงศึกษาฯจัดการเลือกตั้ง คงทำแค่ให้การเลือกตั้งสำเร็จและรับรองความชอบธรรมให้ฝ่ายการเมืองหรือได้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง
สมชัย  กล่าวอีกว่า หากจะใช้มหาดไทยและศึกษาฯ จัดการเลือกตั้ง ถามว่าทุกวันนี้ใครจะเป็นผู้ว่าฯ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองในพื้นที่หรือไม่ ขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กล้าปฏิเสธหรือไม่ว่า ไม่ใช่หัวคะแนนนักการเมือง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เป็นเครือญาตินักการเมือง ส่วนบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ก็ใช้เส้นสายนักการเมืองในการเติบโต ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ยังคงมีอยู่ก็ไม่ควรให้การจัดเลือกตั้งไปอยู่ภายใต้หน่วยงานราชการ เพราะไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะจัดเลือกตั้งได้เป็นกลาง
สมชัย กล่าวว่า แนวคิดที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาจากคน 3 กลุ่ม 1. กลุ่มร้อนวิชา เป็นพวกอยากลองของใหม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่มีปัญหา ทั้งที่เรื่องการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาทดลองกัน การแก้ปัญหาต้องมองถึงทางออก คิดถึงอนาคต ไม่ใช่ทำอะไรเป็นการถอยหลังเข้าคลอง 2. กลุ่มบ้าอำนาจเป็นพวกนักการเมืองที่มองการณ์ไกลว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าสามารถเข้าไปกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะสามารถควบคุมการเลือกต้ังได้ และ 3.กลุ่มที่มีอำนาจในปัจจุบันซึ่งตนไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไร แต่กลุ่มนี้คิดที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควบคุมกลไกต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ไม่ได้มองระยะยาว
“จริงอยู่ว่าคนของกระทรวงมหาดไทยและศึกษาฯ เข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของกกต.ที่ใช้กลไกที่มีอยู่ในการดูแล จะไม่เหมือนกับแนวคิดใหม่ที่กกต.จะกลายเป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น การคิดใหม่ในเรื่องนี้ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนนิทานจันทรโครพ สปช.ท้ายสุดจะเหมือนนางโมราที่ยื่นดาบให้กับโจร สิ่งที่เราคิดว่าจะให้เกิดคือจัดการกับโจร คนทุจริต เราก็สร้างกลไกขึ้นมา แต่กลายเป็นว่าฝ่ายโจรกลับได้ดาบนั้นไปแล้วเอาดาบนั้นมาทิ่มแทงเรา ก็เท่ากับว่าเรายื่นดาบให้กับโจร ดังนั้นการจะร่างอะไร ประสบการณ์ในอดีตต้องเป็นตัวชี้ ไม่ใช่แค่มองปัญหาในปัจจุบัน จึงอยากให้คนคิดมีสติ เพราะการสร้างกลไกขึ้นมาไม่ได้อยู่ครั้งเดียว แต่จะอยู่ไปเรื่อย ๆ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้คิดเพื่อ กกต.หรือหวงอำนาจ แต่คิดตามหลักสากล หน่วยงานที่จะจัดการเลือกตั้งจะเป็นหน่วยงานใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกกต.แต่ขอให้มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กำกับนักการเมืองหรือหน่วยราชการ เพราะประวัติศาสตร์ชี้แล้วว่าราชการประจำไม่อยู่ในฐานะที่จะไว้ใจว่าเป็นกลางทางการเมือง” สมชัย กล่าว
สมชัย ยังกล่าวถึงการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเลือกตั้งว่า ต้องไม่เป็นลักษณะเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้องค์กรเอกชนไม่ได้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ทำให้การตรวจสอบเหมือนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและกลายเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น  ขณะที่การจะให้เข้ามามีส่วนเป็นกกต.จังหวัดก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการสรรหาที่มองว่าต้องได้หัวหน้าส่วนราชการมาเป็น กกต.เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯหรือผู้กำกับ ซึ่งตรงนี้ทำให้ตนไม่ไว้ใจกกต.จังหวัดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าจะสร้างกลไกที่ไว้ใจได้ต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นกกต.จังหวัดในสัดส่วนที่เป็นเสียงข้างมาก
ระบุ กรณีเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะจะชัดเจนภายใน 27 ม.ค.นี้
สำหรับ ความคืบหน้าในการฟ้องร้องค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาทกับผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ว่า คณะทำงานของสำนักกฎหมายกกต.เสนอจะเสนอเรื่องดังกล่าวในวันที่ 20 มกราคมนี้ สมชัย กล่าวว่า “หากข้อมูลชัดเจนจะทราบว่าจะฟ้องใคร ข้อหาอะไร มูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ แต่ถ้าข้อมูลยังไม่ชัดเจน จะให้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม แต่ต้องไม่เกินวันที่ 27 มกราคม ซึ่งหลักคิดคือใครผิดก็ฟ้อง” 

'อัมสเตอร์ดัม' ตั้งกลุ่มรณรงค์อิสระ เดินหน้าดำเนินคดีคณะรัฐประหาร-สลายชุมนุม 53 สิ้นสุดสัมพันธ์ ‘ทักษิณ’

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ประกาศตั้งกลุ่มรณรงค์อิสระกลุ่มใหม่ มุ่งนำตัวเจ้าหน้ารัฐไทยมารับผิดในเขตอำนาจศาลต่างประเทศ กรณีรัฐประหาร-สังหารหมู่ ปี 53 ระบุสายสัมพันธ์การทำงานระหว่างเขากับ ‘ทักษิณ’ ได้สิ้นสุดลง หลังรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ‘robertamsterdam.com’ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จากสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์พาร์ทเนอร์ส ที่ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยระบุว่า “มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม” รายงานว่า โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ประกาศจัดตั้งกลุ่มรณรงค์อิสระกลุ่มใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำตัวเจ้าหน้ารัฐไทยมารับผิดในเขตอำนาจศาลต่างประเทศ
โดยระบุถึงวัตถุประสงค์หนึ่งของการเคลื่อนไหวใหม่นี้ ว่า การดำเนินคดีอาญาต่อคณะผู้นำรัฐประหารและกลุ่มบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ ที่กรุงเทพฯ ปี 2553 รวมถึงการหาแนวทางลงโทษในรูปแบบอื่น เพื่อนำความรับผิดชอบและความยุติธรรมมาให้เหยื่อ การรณรงค์นี้จะดำเนินโดยปราศจากค่าตอบแทน มีความเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงและไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลทางการเมืองหรือพรรคการเมืองใดในประเทศไทย
“เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการกวาดล้างอันน่าสะพรึงกลัวภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในปัจจุบัน เราจะต้องไม่ละทิ้งความพยายามที่จะนำกลุ่มคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและคณะบุคคลที่ฉีกทำลายประชาธิปไตยอันเปราะบางของไทยมาลงโทษ” นายอัมสเตอร์ดัมกล่าว “เรามองว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ – ความหวังในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นกลุ่มอำมาตย์ถูกดำเนินคดีและลงโทษจากอาชญากรรมที่พวกเขากระทำเท่านั้น”
ก่อนหน้านี้ สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์พาร์ทเนอร์สได้รับการว่าจ้างจากอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตรเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเสื้อแดง รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่าประเทศ (ICC) หลังจากการสังหารหมู่อันโหดเหี้ยมในกรุงเทพฯ ซึ่งการสังหารหมู่ดังกล่าวส่งผลให้พลเรือนมือเปล่ากว่า 90 รายเสียชีวิตจากการสังหารของทหารไทย
เว็บไซต์ ‘robertamsterdam.com’ ระบุด้วยว่า หลังจากที่กองทัพก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนได้ถดถอยลงอย่างรุนแรง สายสัมพันธ์การทำงานระหว่างนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตรได้สิ้นสุดลง
“เรารู้สึกขอบคุณคุณทักษิณสำหรับโอกาสในการทำงานนี้ และหวังว่าคุณทักษิณจะประสบความสำเร็จในด้าน ตอนนี้เราให้ความสนใจกับการติดตามสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มภาคประชาชน เอ็นจีโอ และกลุ่มอิสระทางการเมืองกลุ่มอื่นเพื่อส่งเสริมสิทธิพลเรือนผ่านทางทุกช่องทาง พันธสัญญาของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง” อัมสเตอร์ดัม กล่าว

‘ทีนิวส์’ อ้าง ‘เดโมเครซีแรงกิ้ง’ ซูฮก อันดับปชต.ไทยทะยานที่ 63 ที่แท้สมัยยิ่งลักษณ์


เว็บไซต์ ‘ทีนิวส์การเมือง’ อ้าง ‘เดโมเครซีแรงกิ้ง’ ระบุปี 57  อันดับปชต.ไทยทะยานที่ 63 ขึ้นจากปีก่อน 11 อันดับ ที่แท้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ ปี 55-56 สมัยยิ่งลักษณ์ กับ ปี 52-53 สมัยอภิสิทธิ์
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ‘ทีนิวส์การเมือง’ เผยแพร่ข่าว โดยพาดหัวว่า “น่าซูฮก !!! อันดับปชต.ไทยทะยานที่ 63 ดีดขึ้นมา 11 อันดับ -รั้งที่ 3 ในอาเซียน” พร้อมระบุว่า ผู้สื่อข่าว(ทีนิวส์การเมือง)รายงานว่า เว็บไซต์เดโมเครซีแรงกิ้ง ได้เผยแพร่การจัดอันดับประชาธิปไตย 112 ประเทศ ทั่วโลกกว่า ประจำปี 2557 โดยในปีนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 63 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 11 อันดับ ส่วนประเทศที่ได้คะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด คือ นอร์เวย์ มีคะแนน 87.8 คะแนน ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ 85.9 คะแนน ฟินแลนด์ (85.8) ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 16 ได้ 76.9 คะแนน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบแหล่งที่มา เว็บไซต์เดโมเครซีแรงกิ้ง ตาม URLhttp://democracyranking.org/wordpress/ranking/2014/data/Scores_of_the_Democracy_Ranking_2014_a4.pdfพบว่าอันดับดังกล่าว เป็นการขยับขึ้นจาก 2009-2010(พ.ศ.2552-2553) ซึ่งไทยได้ 50.1 คะแนน เป็น 54.0 ในปี 2012-2013(พ.ศ.2555-2556) ทำให้อันดับขยับขึ้นมา 11 อันดับ จนกระทั่งอยู่ที่ 63 เป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นรองสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับที่ 39 ได้ 65.3 คะแนน และฟิลิปปินส์ อันดับ 50 ได้ 59.2 คะแนน
นอกจากนี้พบว่าการเสนอภาพตารางการจัดอันดับของทีนิวส์การเมืองนั้นเสนอเฉพาะอันดับที่ 60-72 ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดของปีที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงการจัดลำดับดังกล่าว
ทั้งนี้ Voice TV รายงานด้วยว่า สมาพันธ์จัดอันดับประชาธิปไตย หรือ Global Democracy Ranking Association ที่จัดอันดับประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 112 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย องค์กรนี้จัดอันดับประชาธิปไตยทั่วโลกเพื่อส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตยในสังคม และทำให้ทั่วโลกมีความเข้าใจในความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยการจัดอันดับจะดูจาก 6 ปัจจัยหลัก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือระบบการเมืองในประเทศนั้นๆ แต่อีก 5 ปัจจัยที่ Global Democracy Ranking ให้น้ำหนักรองลงมา เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากระบบการเมือง และประชาธิปไตย นั่นก็คือความเท่าเทียมและเสรีภาพทางเพศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษาและการเสริมสร้างความรู้ในสังคม ระบบสาธารณสุข และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยเพิ่งได้รับการจัดอันดับครั้งแรกในปี 2010 แล้วก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้อยู่ในอันดับที่ 63 จาก 112 ประเทศ ถือว่ามีประชาธิปไตยอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ต่ำและไม่สูง เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับอยู่ในช่วงปี 2013 ซึ่งยังไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น

รองสมุหราชองครักษ์’ แจ้ง ม.112 ‘สมุหราชองครักษ์’ หลังสั่งพ้นราชการ ระบุเป็นพระราชอำนาจเท่านั้น

พล.อ.สายัณห์ คัมภีร์พันธ์

‘รองสมุหราชองครักษ์’ แจ้งกองปราบเอาผิด ‘สมุหราชองครักษ์’ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  หลังออกคำสั่งให้ตนเองพ้นราชการ ชี้ไม่มีอำนาจ ระบุการจะให้พ้นจากหน้าที่เป็นพระราชอำนาจเท่านั้น
7 ม.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อ.ชาญศักดิ์ นิวาศะบุตร รองสมุหราชองครักษ์ พร้อมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ดำเนินคดีกับ พล.อ.สายัณห์ คัมภีร์พันธ์ สมุหราชองครักษ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดย พล.อ.อ. ชาญศักดิ์ ระบุว่า พล.อ. สายัณห์ ได้ออกคำสั่งให้ตนเองพ้นราชการ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557  ทั้งที่ ไม่มีอำนาจจึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจกระทำได้  เพราะการจะให้พ้นจากหน้าที่ราชการของข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สมุหราชองครักษ์ และรองสมุหราชองครักษ์ เป็นพระราชอำนาจเท่านั้น

ตร.แถลงจับผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊กผิด ม.112 อีก 1 ราย ‘อารีย์ เฟซบุ๊คชุดดำ’ ลาออกแล้ว หลังถูกกดดัน

ตำรวจแถลงจับกุม ‘พงษ์ศักดิ์’ แนวร่วม นปช. ผู้ต้องหาโพสต์เฟซบุ๊กผิด ม.112 เจ้าตัวสารภาพ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและการสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ มข. เผย ‘อารีย์ เฟซบุ๊คชุดดำ’ ลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์ ลาออกแล้ว หลังถูกกดดัน
7 ม.ค.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ รายงานว่า เวลา 13.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ดร.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.ผบช.ก. พร้อม พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบก.ปอท. ได้แถลงข่าวการจับกุม พงษ์ศักดิ์ (ประชาไท ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดโดยใช้สื่่อสังคมออนไลน์ในการยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวาย
ทั้งนี้ พงษ์ศักดิ์ เคยถูกเรียกรายงานตัวด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 58/2557 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 57
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม ว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวถึง พงษ์ศักดิ์ผู้ต้องหารายนี้ ว่า ได้ใช้เฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อเฟสบุ๊ค sam parr เผยแพร่รูปภาพและข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบัน ทางตำรวจจึงขออนุมัติขอหมายจับ ทั้งนี้ พงษ์ศักดิ์ได้หลบหนีคำสั่ง ของ คสช. ที่เรียกมารายงานตัว
ด้าน พงษ์ศักดิ์ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากได้รับการยุยงจากกลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊ก และเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมเตือนคนที่กระทำการเช่นนี้ ให้ยุติการกระทำเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ
‘อารีย์ เฟซบุ๊คชุดดำ’ ลูกจ้าง รพ.ศรีนครินทร์ ลาออกแล้ว หลังถูกกดดัน
หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. ได้เชิญตัว อารีย์ (ขอสงวนนามสกุล) ลูกจ้างประจำ ตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์ ของ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปสอบสวน ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา หลังจาก อารีย์ถูกกล่าวหาจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เปลี่ยนรูปโพรไฟล์ในเฟซบุ๊คเป็นภาพตัวเองสวมชุดดำ และเปลี่ยนภาพปกเป็นรูปตนเอง สวมชุดดำร่วมกับคนอื่นๆ รวมทั้งถูกกล่าวหาว่าการโพสต์ข้อความระหว่างวันที่ 4-5 ธ.ค. หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด วันนี้ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า รศ.วิทูรย์ ประเสริฐเจริญสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและการสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อารีย์ ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ มข. และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ได้ลงนามอนุมัติให้ลาออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภายหลังเกิดเหตุ อารีย์ ได้รับความกดดันจากสังคมรอบข้างค่อนข้างหนัก น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องลาออกจากงานเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีความนั้นเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

‘ประยุทธ์’ เตือนเด็กอย่าให้โซเซียลมีเดียครอบงำชี้นำชีวิต แนะยึดค่านิยม 12 ประการ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอวาทเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เตือนอย่าให้โซเซียลมีเดีย-เทคโนโลยีมาครอบงำ และชี้นำการใช้ชีวิต แนะยึดค่านิยม 12 ประการ นำประเทศชาติดีขึ้น-ครอบครัวมีความสุข
7 ม.ค.2558 เว็บไซต์ ‘ทำเนียบรัฐบาล’รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้โอวาทพร้อมมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติบัตรให้แก่เด็กและเยาวชนดีเด่น และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 771 คน เพื่อเป็นเกียรติประวัติและเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เด็กและเยาวชนต่อไป โดยมี พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ เป็นผู้นำคณะเด็กและเยาวชนดีเด่นดังกล่าวเข้าเยี่ยมคารวะ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2558
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวรายงานว่า การจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2558 กำหนดให้มีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) เป็นการนำเด็กและเยาวชนดีเด่น และเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเยี่ยมคารวะและรับโอวาท พร้อมทั้งรับมอบรางวัลในวันพุธที่ 7 มกราคม 2558 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และ 2) เป็นการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 โดยกำหนดให้มีการจัดงาน ณ สนามเสือป่า สำนักพระราชวัง
สำหรับการดำเนินงานในวันนี้ คณะกรรมการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2558 มีมติให้นำเด็กและเยาวชนผู้ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะและรับโอกวาทจากนายกรัฐมนตรี พร้อมรับมอบโล่รางวัล โดยมีเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือก 2 ประเภท คือ 1) เด็กและเยาวชนดีเด่นซึ่งได้รับการคัดเลือกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชน รวม 545 คน โดยพิจารณาคัดเลือกจากเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี เรียนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด กตัญญูช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง และอุทิศตนเพื่อส่วนรวม และ2) คือเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยพิจารณาคัดเลือกจากเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านศิลปะและดนตรี ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ด้านกีฬาและนันทนาการ และด้านทักษะฝีมืออาชีพ รวม 226 คน รวมเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 2 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 771 คน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้โอวาทแก่เด็กและเยาวชนฯ ว่า วันนี้รู้สึกยินดีและมีความสุขที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนเด็กและเยาวชนฯ จากทั่วประเทศ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซี่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558  และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นอนาคตของชาติในระยะต่อไป การที่เด็กและเยาวชนฯ ได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศในการประกวดและแข่งขัน หรือถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนั้นถือว่าทุกคนได้รับการกลั่นกรองมาระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับผู้ปกครองทุกคนที่มีบุตรหลานที่เอาใจใส่การเรียนและประพฤติปฏิบัติตนที่ดีจนได้รับรางวัลเป็นที่น่าภาคภูมิใจกับครอบครัวและวงศ์ตระกูล
อย่างไรก็ตามรางวัลที่ได้รับถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรี ต้องการบอกกับเด็กและเยาวชนคือขอให้ทุกคนเก็บความภาคภูมิใจไว้กับตัวเอง โดยเฉพาะเกียรติยศและเกียรติศักดิ์ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่กับตัวเราทุกคน และไม่มีใครเอาไปจากเราได้ นั่นคือความเป็นคนไทยที่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับทุกคน ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ในการที่จะขับเคลื่อนและนำพาทุกคนไปสู่อนาคตให้ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2558 “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” ว่า การที่เขียนคำว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม” เพราะความรู้และคุณธรรมทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ทันกันได้ ซึ่งคุณธรรมถือเป็นบ่อเกิดของจริยธรรมที่จะส่งผลให้เกิดคุณธรรมทั้งในระดับองค์กรและประเทศ โดยคุณธรรมนั่นสามารถเริ่มได้จากตนเองและครอบครัวก่อนขยายไปสู่ระดับประเทศก็จะทำให้เป็นสังคมที่มีจริยธรรมและคุณธรรม เพราะฉะนั้นความรู้จึงเป็นบ่อเกิดของทุกอย่าง ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญของทุกประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องมองอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญ “นำสู่อนาคต” ที่ต้องการบอกเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะเป็นในวันข้างหน้า ทั้งนี้วันข้างหน้าประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นในการพัฒนาเหล่านั้นจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือคนไทยทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชนทุกคนที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนที่จะดำเนินการพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นส่วนที่สำคัญที่จะพัฒนาและผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถที่จะไปสู่อนาคตได้อย่างมีคุณภาพคือมีความเข้มแข็งทั้งกายและใจสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิ่งที่จะได้รับจากการปฏิบัติตนตามค่านิยม 12 ประการที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ ว่า จะทำให้สังคมและประเทศชาติดีขึ้น ทำให้ครอบครัวมีความสุข ซึ่งความสุขนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีฐานะร่ำรวยทุกคน โดยให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการมีภูมิคุ้มกันที่ดี ความมีเหตุมีผล พอประมาณ มาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งขอให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตและใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะของตนเองและครอบครัว แต่หากบุคคลใดที่มีโอกาสดีอยู่แล้วก็ขอให้ใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุดและประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีคุณธรรม ไม่เกเร และเอาเปรียบคนอื่น ส่วนใครไม่สามารถที่จะมีโอกาสที่ดีดังกล่าวก็ขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้มากขึ้นทั้งในและนอกห้องเรียนไปพร้อมกันด้วย ซึ่งปัจจุบันการศึกษามีหลายช่องทางที่สามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ ทั้งการศึกษาในภาคบังคับ การศึกษาในระบบ การศึกนอกระบบ และการศึกษาที่ตามอัธยาศัย หรือการศึกษาที่จะเร่งต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในเวทีโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนมีความภาคภูมิใจว่าประเทศไทยเป็นแผ่นดินที่ดีที่สุด และเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง โดยได้มีการเรียกกันว่า “แหลมสุวรรณภูมิ” เพราะฉะนั้นแหลมสุวรรณภูมิจะมีคุณค่าก็อยู่ที่คนที่อาศัยอยู่บนที่แห่งนี้ซึ่งเป็นที่ที่บรรพบุรุษและบูรพมหากษัตริย์ได้ต่อสู้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีเพื่อรักษาและอยู่มาถึงจนปัจจุบันนี้ ดังนั้นหน้าที่ของทุกคนคือรักษาแผ่นดินนี้ให้ได้และพัฒนาให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองต่อไป ด้วยความรักความสามัคคีและความมีคุณธรรมจริยธรรม โดยทุกคนทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน ต้องร่วมมือกันพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า “เราจะต้องเป็นประเทศที่มั่งคั่ง และมั่นคง อย่างยั่งยืน” ภายใน 5 ปี (2015 – 2020) โดยทุกคนจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาคมอื่น ๆ ในโลก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการทุกอย่างภายใต้เวลาที่จำกัดในการบริหารประเทศเพื่อจะขับเคลื่อนประเทศไปให้ได้ในวันข้างหน้าและไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะฝากไว้กับเด็กและเยาวชนทุกคนคือ ให้ทุกคนใส่ใจและมองไปข้างหน้าว่าอนาคตต้องการเป็นและต้องการทำอะไร โดยมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินที่จะไปสู่จุดนั้นให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรหลายด้าน โดยเฉพาะนักวิจัยและพัฒนา ที่จะสามารถผลิตวิจัยและพัฒนาค้นคว้านวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้  ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยต้องกลับมามองย้อนดูว่าประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยและพัฒนาเพียงพอหรือไม่ โดยขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและกลุ่มบุคคลทุกภาคส่วนในการที่จะดำเนินการดังกล่าว เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
โดย ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังฝากถึงเด็กและเยาวชนในการใช้โซเซียลมีเดีย ว่า อย่าให้เทคโนโลยีมาครอบงำ และชี้นำการใช้ชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำอาชญากรรมเข้ามา และทำให้ประเทศถอยหลัง ทั้งนี้ ยังฝากถึงเด็กและเยาวชนว่าอย่าให้ใครมาปลุกปั่นให้เกิดการแตกแยก เพราะวันนี้จะนำประเทศเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป ซึ่งเราไม่มีเวลาอีกแล้ว ในการแก้ไขมีเพียงช่วงนี้เท่านั้น

คณะรัฐบุคคลเสนอเขียน รธน.ให้ ‘กองทัพ-รัฐบุรุษ’ รับสนองฯ แก้วิกฤตการเมือง

6 ม.ค.2558 พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานคณะรัฐบุคคล กล่าวว่า คณะรัฐบุคคลได้ทำหนังสือข้อเสนอส่งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญให้มีผู้สนองพระบรมราชโองการจากพระประมุขเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองสูงสุด และหากไม่สามารถแก้วิกฤตได้ก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระประมุข
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า อยากเสนอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องพระราชอำนาจของพระประมุข โดยขอให้เขียนโดยให้อำนาจองค์พระประมุขเข้ามาแก้ไขกรณีเกิดวิกฤตในบ้านเมือง โดยใช้พระราชอำนาจผ่านสถาบันกองทัพ หรือผู้ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไว้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งนี้ สถาบันประมุขถือเป็นสถาบันสูงสุด เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ แต่ที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดถึงเรื่องพระราชอำนาจอย่างชัดเจน และที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างถกเถียงกันถึงเรื่องขอบเขตพระราชอำนาจของพระองค์มาโดยตลอด จึงขอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเขียนเป็นหลักในรัฐธรรมนูญให้ชัด
พล.อ.สายหยุด กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐบุคคลไม่เคยขอให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร และเชื่อว่าทหารก็ไม่อยากทำเช่นกัน และการที่ต่างประเทศคิดว่าการรัฐประหารไม่ถูกต้องนั้น เป็นเพราะไม่รู้วัฒนธรรมของไทย ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำให้บ้านเมืองสงบได้ และมองว่าการแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทำไปแล้วก็เห็นอยู่ว่าเหวอยู่ข้างหน้า จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้
กรุงเทพธุรกิจกล่าวถึงรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานคณะรัฐบุคคลได้ออกแถลงการณ์ที่ 001/2258 เรื่อง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ตอนหนึ่งว่า คณะรัฐบุคคลมีความเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปที่กำลังดำเนินอยู่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ดังนั้นคณะรัฐบุคคลจึงเห็นว่าต้องยกร่างโดยใช้หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ แทนที่ร่างเฉพาะรัฐธรรมนูญแค่ลายลักษณ์อักษร เเละเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างที่แล้วมาสถาบันทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการขัดแย้งกัน สถาบันที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้คือสถาบันพระประมุข และกองทัพของจอมทัพ ซึ่งทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าสามารถปฏิบัติทางการเมืองได้
ทั้งนี้ เพราะเมื่อวิกฤตทางการเมือง ประชาชนของพระองค์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทำร้ายซึ่งกันและกัน จึงต้องบัญญัติให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ 1) บางครั้งพระองค์ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจโดยตรง แต่ใช้พระราชปรารภฯ พระราชดำริฯ หรือพระราชโองการฯ หรือพระราชอำนาจทางสังคมโดยพระบรมเดชานุภาพแห่งพระบารมีธรรม เช่น หมายเรียกหัวหน้ารัฐบาลมาเข้าเฝ้าเพื่อรายงานสถานการณ์ และวิธีแก้ปัญหาให้ทรงทราบ แต่การตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลและกองทัพว่าควรทำอย่างไรต่อไป
2) สถาบันกองทัพจะสนองพระบรมราชโองการฯ เพื่อให้เป็นในหลักจารีตประเพณีฯ โดยมีผู้รับสนองและรับผิดรับชอบแทนฯ 3) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจะรับสนองพระบรมราชโองการฯ เช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 2 ก็ย่อมกระทำได้ และ 4) หรือจะหมายรับสั่งฯ ให้เข้าเฝ้าแทนทั้งคณะทุกฝ่ายเพื่อรับพระบรมราชโองการฯ เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตามหน้าที่ขององค์ประมุขชาติ เพื่อให้การณ์ใด บุคคลใด หรือคณะบุคคลใดที่มีปัญหา หรืออาจจะก่อความเสียหายก็สามารถแก้ไขได้ทั้งสิ้นทั้งปวงได้โดยพลัน
มติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คณะรัฐบุคคลจะทำหนังสือไปยังคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้จำกัดความของคำว่า "กบฏ" และ "รัฐประหาร" เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่คิดอยากช่วยประเทศกลับถูกตัดสินว่าเป็นกบฏ และการรัฐประหารคือการมุ่งล้มล้างระบบการปกครองรวมถึงประชาชน แต่ที่ผ่านมาการรัฐประหารก็ยังคงเคารพกษัตริย์และประชาชน จึงไม่ครบองค์ประกอบ และไม่ทราบว่าจะเรียกว่ารัฐประหารได้หรือไม่
มติชนออนไลน์รายงานว่า ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องกฎอัยการศึก ประธานคณะรัฐบุคคลกล่าวว่าถ้ายกเลิกได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะดำเนินการหรือไม่ ส่วนการนำรูปแบบเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ เชื่อว่าไม่สามารถแก้วิกฤตได้ และจะทำให้เกิดวิกฤตเช่นเดิมอีก