วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ"วรชัย"-ร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯฉบับ"เฉลิม"

เปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ"วรชัย"-ร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯฉบับ"เฉลิม"


แนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของขั้วการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ที่เป็นประเด็นร้อนขณะนี้ ได้แก่ ร่างของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแห่งชาติ พ.ศ...ของ นาย วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.อีกกว่า 40 คน โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีจุดสำคัญ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 3 ของร่างฯดังกล่าวก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับมวลชนในทุกกลุ่มการเมือง โดยไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำเข้าพิจารณาเป็นวาระแรก ในวันที่ 1 ส.ค. ในการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญทั่วไป 

ขณะที่ ร่างกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งเป็นที่จับตาไม่แพ้กันก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันเข้าสู่สภาฯ สมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย 5 มาตรา โดยมีเนื้อหาสำคัญในคือ ม.4 ที่ระบุว่า การกระทำใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคมช.ในวันที่ 19 ก.ย.46 หรือการกระทำของหน่วยงานใด ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของคมช.ให้ถือว่า เป็นความผิดทางการเมือง และผู้นั้นจึงมิได้เป็นผู้กระทำผิด ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันภายหลังว่า เนื้อหาในพ.ร.บ.นี้มีผลเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น ไม่รวมคดีแพ่ง และไม่ใช่กฎหมายการเงิน ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา จึงตัดสินใจตัดเนื้อหาในมาตรา 5 ที่ว่าด้วยการเยียวยาออก ทำให้เหลือเพียง 5 มาตรา จาก 6 มาตรา ล่าสุด ส.ส. พรรคเพื่อไทย 163 คนได้ลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับของร.ต.อ.เฉลิม และยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

รายงานข่าวเหตุการณ์อำมาตย์ทมิฬ13-20พ.ค.2553 นาทีต่อนาที โดยทีมข่าวไทยอีนิวส์


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
19 พฤษภาคม 2556


รายงานข่าวเหตุการณ์อำมาตย์ทมิฬ13-20พ.ค.2553 นาทีต่อนาที โดยทีมข่าวไทยอีนิวส์

ต่อไปนี้เป็นรายงานข่าวและภาพเหตุการณ์ ทั้งภาพถ่าย คลิปวิดิโอเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า"19พฤษภาประชาภิวัฒน์"ในช่วงระหว่างวันที่ 13-20พ.ค.2553 ไล่เรียงนาทีต่อนาทีตลอด 24ชั่ วโมงของแต่ละวัน เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจมีใครบิดเบือนได้

นี่เป็นข่าวที่รวบรวมมาจากการเผยแพร่ครั้งแรกโดยไทยอีนิวส์ โดยเราขอนำเสนอแบบFlash back คือเริ่มจากวันที่ 20 พฤษภาคมย้อนกลับไปถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2553

ไม่มีการแก้ไขตัดทอนเสริมแต่งใดๆ จึงให้บรรยากาศเหมือนพาท่านผู้อ่านหมุนทวนเข็มนาฬิกากลับไปอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ณ เวลานั้น

-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีอำมาตย์อำมหิตประจำวันที่ 20 พ.ค.:ปิดฉากอำมาตย์อำมหิต (ภาพไฮไลต์:ผู้ชุมนุม รวมทั้งหน่วยกาชาดอาสาที่ถูกสังหารในวัดปทุมฯเขตอภัยทาน)





-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 19 พ.ค.:อำมาตย์ทมิฬบีบแกนนำจำนน แต่คุมไม่อยู่เกิดการจลาจลลุกลาม (ภาพไฮไลต์:รัฐบาลใช้กำลังบีบให้แกนนำยอมจำนน และประกาศยุติชุมนุมกะทันหัน ทำให้บานปลายเป็นการจลาจลที่ควบคุมไม่ได้)







-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 18 พ.ค.:อำมาตย์กระหายเลือดล้มโต๊ะเจรจาวุฒิสภา เปิดสงครามขยี้เสื้อแดง(ภาพไฮไลต์:ทหารที่ติดสัญลักษณ์สีชมพูที่หมวกและรถถังบุกเข้าพังบังเกอร์ผู้ชุมนุมเพื่อเข้าปราบปราม หลังจากรัฐบาลหักหลังล้มโต๊ะเจาจาที่วุฒิสภาเป็นคนกลาง)

-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 17 พ.ค.สูญเสียเสธ.แดง-เส้นตายมาร์คทมิฬไร้ผล ผุดเวทีย่อยหลายจุดต้านล้อมปราบ(ภาพไฮไลต์:ความพยายามช่วยชีวิตผู้ชุมนุมมีทั้งการตั้งเวทีย่อยหลายจุด ส่งหนังสือร้องเลขาUN พระสงฆ์บิณฑบาตขอชีวิต ขอพึ่งบารมีในหลวง)

-รายงานนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 16 พ.ค.:รัฐก่อการร้ายคนที่ตายล้วนแต่ผู้ชุมนุม กับหน่วยช่วยเหลือชีวิต ไม่มีทหาร ไม่มีปะทะมีแต่ฆ่าตามใบสั่งอำมาตย์ทมิฬ(ภาพไฮไลต์:พ่อแม่ผู้สูญเสียแสดงภาพลูกที่เป็นพนักงานมูลนิธิกู้ภัยแห่งหนึ่งถูกสังหาร)






-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่15พ.ค.:ทหารหน่วยซุ่มยิงระยะไกล(สไนเปอร์)ยิงสังหารผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ (ภาพไฮไลต์:หน่วยสไนเปอร์ยิงสังหารผู้ประท้วงมือเปล่า)


-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 14 พ.ค.:ทหารประกาศเขตกระสุนจริง และภาพ'ปะทะ'ที่ไม่มีในสื่อกระแสหลัก(ภาพไฮไลต์:ผู้ชุมนุมที่ต่อต้านใช้อาวุธตามมีตามเกิดคือหนังสติ๊ก และบั้งตะไลสู้กับทหารที่ใช้กระสุนจริงยิงสังหาร)





-รายงานข่าวนาทีต่อนาทีประจำวันที่ 13พ.ค.:พวกมันเรียกการฆ่าหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยว่า"กระชับพื้นที่" เริ่มจากสไนเปอร์สังหารเสธ.แดง(ภาพไฮไลต์:นาทีสไนเปอร์สังหารเสธ.แดงและคำบอกเล่าพยานต่างชาติถูกทหารห้ามพูดว่ารู้เห็นอะไร) และรายงานสดจากพื้นที่เพิ่มเติม(คลิ้ก)





-รายงานข่าวชนวนเหตุการณ์อำมาตย์อำมหิต:มาร์คฉีกสัญญาสันติภาพ ยกเลิกวันเลือกตั้ง14พ.ย.เดินหน้าปราบนองเลือด(ภาพไฮไลต์:อภิสิทธิ์กลืนน้ำลาย กร้าวยกเลิกวันเลือกตั้ง ยื่นคำขาดเสื้อแดงยุติชุมนุม ไม่เช่นนั้นต้องจัดการเด็ดขาด)

หมายเหตุ:ขอขอบคุณมิตรสหายผู้สื่อข่าวภาคพลเมืองภาคสนาม ภาพข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ท่านที่ส่งข้อเขียน และภาพถ่าย ภาพเหตุการณ์ทุกท่านไว้ในโอกาสนี้

พีมูฟ ประกาศยุติการชุมนุม เตรียมเดินทางกลับเย็นนี้


พีมูฟ ประกาศยุติการชุมนุม เตรียมเดินทางกลับเย็นนี้

พีมูฟ ประกาศยุติการชุมนุมหลังปักหลักชุมนุมยาวนานร่วม 18 วัน ระบุ MOU ที่ทำไว้ร่วมกับรัฐบาลถือว่าเป็นสัจจะสาธารณะในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน หวังรัฐบาลจากรากหญ้าจะจริงใจแก้ปัญหาประชาชน
 
วันนี้ (23 พ.ค.56) เวลา 10.00 น. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว หลังปักหลักชุมนุมยาวนานร่วม 18 วัน ระบุ MOU ที่ทำไว้ร่วมกับรัฐบาลถือว่าเป็นสัจจะสาธารณะในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน และรัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าจะมีการนำเอากรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว 2 กรณีคือ เขื่อนปากมูล และการคุ้มครองพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชนเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 พ.ค.นี้
 
คำแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ยืดเยื้อมายาวนาน ซึ่งเกิดจากความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมาจะถูกแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากรากหญ้าและได้อำนาจตามครรลองประชาธิปไตย และหวังว่ารัฐบาลจะตระหนักและเห็นความสำคัญในปัญหาของประชาชน
 
"เราจะกลับมาอีกครั้ง ตราบใดที่การพัฒนายังไม่เปิดโอกาสมีส่วนร่วม และสร้างปัญหาให้พี่น้อง" สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กล่าว
 
ด้าน ดิเรก กองเงิน ประธานกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนบ้านโป่ง กล่าวว่าการเจรจาในระหว่าการชุมนุมที่ผ่านมาแม้ประเมินแล้วชาวบ้านจะได้แค่ 1 ใน 10 ของข้อเรียกร้อง แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าและเห็นว่ามีความพยายามในการเจรจาของคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาชุดต่างๆ และใช่ว่าหากชาวบ้านมามากขึ้นปัญหาจะได้รับการแก้ไขมากขึ้น บางกรณียังต้องอาศัยเวลาและความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการออ่านแถลงการณ์ ตัวแทนพีมูฟได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนและกำลังใจมาโดยตลอด อีกทั้งมีการมัดมือและมอบดอกไม้ให้กำลังใจซึ่งกันรวมทั้งให้กับสื่อมวลชนที่มาทำข่าว
 
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมเดินทางกลับในเวลาประมาณ 5 โมงเย็น เนื่องจากยังมีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อการแก้ปัญหาของพีมูฟบางชุด และช่วงบ่ายวันนี้จะมีผู้ชุมนุมไปร่วมในเวที เสวนา: กฎหมาย อำนาจ(ดุลพินิจ)ในการมีคำสั่งที่ว่าด้วยการปล่อยตัว สอดคล้องกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรด้วย
 
อนึ่ง MOU ดังกล่าวเป็นข้อตกลงว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องต่าง 5 เรื่อง ดังนี้ 1.เร่งรัดเสนอเรื่องโฉนดชุมชน และเขื่อนปากมูล ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 28 พ.ค.56 2.เร่งรัดคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต และแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล รวมทั้งคณะอนุกรรมการอื่นๆ ให้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ พิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.56
 
3.คุ้มครองพื้นที่ที่กำลังดำเนินการแก้ปัญหา โดยให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน 4.ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง และคณะอนุกรรมการกับคณะทำงานจัดประชุมอย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง 5.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มีตัวแทนพีมูฟร่วมเป็นกรรมการ
 
 
แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
 
แถลงการณ์ฉบับที่ ๓๓
ยุติการชุมนุม สร้างมาตรฐานใหม่ กับการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล
 
การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเป็นความเดือดร้อนที่เกิดจากนโยบายการพัฒนา และโครงการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต พวกเราได้ใช้ความพยายามติดตามผลักดันการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ในรัฐบาลปัจจุบันนับตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พวกเราได้จัดการชุมนุม มาแล้ว ๗ ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๘ โดยการมาชุมนุมครั้งนี้ เกิดจากปัญหาหลัก ๓ ประการ ดังนี้
           
๑. การไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภา
๒. ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อ
๓. กลไก (อนุกรรมการ) ไม่ทำหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา
 
วันนี้ (๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖) เป็นวันที่ ๑๘ ในการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) การชุมนุมครั้งนี้ ได้ทำให้มีการเจรจากันหลายครั้ง รวมทั้งทำให้กลไกการแก้ไขปัญหา ในรูปของอนุกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มีความคืบหน้า และอีกหลายกรณีปัญหามีแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้น และเมื่อวานนี้ (๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖) ได้เกิดการทำข้อตกลง (MOU) ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักประกันในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ทำให้พวกเรามีความเชื่อมั่นพอสมควร
 
MOU ที่ถูกทำไว้ จึงถึงว่าเป็นสัจจะสาธารณะ ระหว่างคนจนกับรัฐบาล ว่าจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน สร้างความเป็นธรรม โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล อย่างเท่าเทียม และต่อเนื่อง เพื่อแสดงความจริงใจ เชื่อใจ มั่นใจ โดยรัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า จะนำกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วทั้ง ๒ กรณี ( ๑.กรณีเขื่อนปากมูล ๒.การคุ้มครองพื้นที่ ฯ) เข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๖๕๖ นี้
 
อย่างไรก็ตาม พวกเราขอเรียนว่า สาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา ยืดเยื้อยาวนาน นั้น เกิดจากความไม่จริงใจของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา พวกเราหวังว่า รัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่มาจากรากหญ้า และได้อำนาจมาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย  จะได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญ เข้าใจในปัญหาความเดือดร้อนของรากหญ้าอย่างพวกเรา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องมุ่งมั่น จริงใจ ในการแก้ไขปัญหาของพวกเราให้ลุล่วง อย่างเป็นรูปธรรม อย่างทำเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา
 
ดังนั้น เพื่อก้าวข้ามความหวาดระแวง และเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงขอประกาศยุติการชุมนุมในครั้งนี้ เพื่อเดินทางกลับบ้านไปแก้ไขปัญหา ต่อไป
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
 

ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 3 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี

ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 3 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี
3 ปีสำหรับเหตุการณ์ที่ ศอฉ. “กระชับวงล้อม” พื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค. (13 – 19 พ.ค.53)ซึ่งมีพื้นที่การปะทะในวงกว้าง เช่น ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 วันนี้ร่องรอยกระสุนที่บ่งบอกถึงทิศทางการยิงยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นบ้างตามพื้นที่ดังกล่าว แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว เช่น จุดที่ทหารประจำการปั๊มเอสโซ่ที่ ถนนราชปรารภ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็กลายปั๊มคาลเท็กซ์ และปั๊ม ปตท. ที่ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดปะทะสำคัญ ปัจจุบันก็ปิดไปแล้ว
รอยกระสุนบริเวณปาก ซ.งามดูพลี – ซ.ปลูกจิต ถ.พระราม 4          
รอยกระสุนที่ทะลุเหล็กแป๊บหน้าทางเข้าคอนโด เดอะ คอมพลีท ถ.ราชปรารภ
ไม่เพียงสถานที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง กระบวนการแสวงหาความจริงและกระบวนการยุติธรรมที่แม้จะล่าช้า แต่ก็มีหลายกรณีเข้าสู่กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 โดยมี 8 คดีที่ศาลมีคำสั่งแล้ว ในจำนวนนี้มี 6 กรณีศาลระบุว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติการจากเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้ยังมีอีก 1 คดีคือคดีของฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พ.ค.นี้
ท่ามกลางภาพความตายที่ยังคงหลงเหลือในโลกไซเบอร์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนทดลองนำภาพเหตุการณ์บางส่วนเมื่อ 3 ปีก่อนมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันเพื่อทบทวนความทรงจำและฉากความโหดร้ายที่สุดฉากหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะนำภาพสำคัญๆ ย้อนกลับไปถ่ายตามจุดต่างๆ ที่เกิดเหตุ พร้อมอัพเดทความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวข้องกับภาพ
ภาพ 1 : ถ่ายจากบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ไปทางปั้ม ปตท.(ซึ่งขณะนี้รื้อไปแล้ว) เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ในภาพมุมไกลจะเห็นคนกำลังหามร่างชายเสื้อขาว เขาคือนายเสน่ห์ นิลเหลือ คนขับรถแท็กซี่ วัย 48 ปี ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดเข้าที่บริเวณหน้าอกทะลุเส้นเลือดใหญ่และปอด โดยที่มาภาพเหตุการณ์จาก BKlinK ซึ่งจะเห็นภาพต่อเนื่องอีก 3 ภาพ และสามารถดูภาพจากฝั่งผู้ชุมนุมได้ที่ Masaru Gotoรวมทั้งวิดีโอคลิปจังหวะเกิดเหตุ (ดู นาทีที่ 6.42 เป็นต้นไปจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น)
ภาพ 2 : บริเวณเสาเหล็กขาว-แดง หน้าไทยไพศาลเอนยีเนียริ่ง ถนนราชปรารภ เลยทางเข้าปั๊มเชลล์ประมาณ 10 เมตร ในภาพเป็นร่างของหน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล วัย 25 ปี บุญทิ้ง ปานศิลา ที่ถูกยิงเข้าที่คอด้านซ้ายทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่นอนเสียชีวิตจมกองเลือด เวลา 19.36 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ขณะขับมอร์เตอร์ไซด์เพื่อเข้าไปช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าเป็น กิตติพันธ์ ขันทอง(เสียชีวิตด้วย)
และวันรุ่งขึ้น(15 พ.ค.) รองผู้ว่า กทม. พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ยกมือขึ้นเพื่อบอกทหารว่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ระหว่างนั้นมีคนวิ่งเข้าออกบริเวณดังกล่าว จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้น"  (คลิกดูวิดีโอคลิปที่ถ่ายจากอีกฝั่งของถนน)
ภาพ 3 : ถูกถ่ายเมื่อเวลา 23.37 น. บริเวณปากซอยรางน้ำตัดกับถนนราชปรารภ ภาพรถกู้ชีพกำลังเข้าไปช่วยคนเจ็บที่อยู่บริเวณถัดไปไม่กี่เมตร (นอนเจ็บลำพังอยู่ปากซอยราชปรารภ 16) ซึ่งคนเจ็บคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา เขาคือ เหิน อ่อนสา โดยบาดแผลถูกกระสุนปืนลูกโดดเข้าบริเวณขาหนีบข้างซ้ายทำให้เส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด และกระดูกต้นขาซ้ายหัก พบบาดแผลกระสุนปืนลูกโดดทางออกบริเวณด้านข้างของทิศทางจากหน้าไปหลัง ขวาไปซ้าย
และจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช. อ้างถึงการสัมภาษณ์ผู้ถ่ายภาพนี้ว่า รถกู้ชีพคันดังกล่าวนี้ถูกทหารที่อยู่ในปั๊มเอสโซ่ปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าไปเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บ(ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา)
ภาพ 4 : เป็นภาพเหตุการณ์ช่วงเที่ยงคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงสกัดรถตู้ นายสมร ไหมทอง ที่วิ่งเข้ามา ซึ่งถ่ายเป็นวิดีโอโดยนายคมสันต์ เอกทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล(Voice TV ได้มีการนำวีดีโอดังกล่าวมาเผยแพร่ในบางตอนด้วย สามารถคลิกดูได้ที่นี่) ในเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากนายสมรจะได้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง(คลิกอ่านคำสั่งศาล) คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ(คลิกอ่านคำสั่งศาล) ที่อยู่บริเวณนั้นเสียชีวิตด้วย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร
ภาพ 5 : ช่วงสายวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณหน้าร้านกันสาดติดกับร้านไท่หยางตรงข้ามปั๊มเชลล์ ถนนราชปรารภ ในภาพจะเห็นชายเสื้อฟ้าที่นอนอยู่ใต้รถมอเตอร์ไซด์ เขาคือนายสุภชีพ จุลทรรศน์ คนขับรถแท็กซี่ วัย 36 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิต และขยับไปด้านหน้าอีกประมาณ 10 เมตร จะมีร่างของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ถูกยิงด้วยกระสุนเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกัน นอกจาก 2 คนนี้ยังมีนายอำพล ชื่นสี ถูกยิงเข้าที่ช่องท้องเสียชีวิตและมีผู้บาดอีกหลายคน โดยจากรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” ของ ศปช. หน้า 285 ระบุว่า เป็นจังหวะที่ผู้ชุมนุมพยายามเดินรุกเข้าไปบนสองฝั่งถนน จากด้านสามเหลี่ยมดินแดงมุ่งหน้าไปยังบริเวณปั๊มเอสโซ่(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคาลเท็กซ์) ในช่วงเวลา 8.00 น. ของวันนั้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ก่อนที่จะถูกยิงสวนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว ด้านคดีความของทั้ง 3 คนยังไม่มีความคืบหน้า
โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา นายศุภวัฒน์ เกตุสุวรรณ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้รับผิดชอบภาพรวมคดีบริเวณถนนราชปรารภ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีนายสมาพันธ์ ศรีเทพ ว่า ยังไม่ได้มีการดำเนินการส่งศาลเนื่องจากยังไม่ชัดเจนเรื่องทิศทางกระสุนและพยาน อย่างไรก็ดี ในส่วนคดีบริเวณถนนราชปรารภมี 3 กรณีที่ส่งศาลไปก่อนหน้านี้ คือพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และนายชาญรงค์ พลศรีลา เนื่องจากมีภาพและวิดีโอชัดเจน และศาลก็ได้ตัดสินแล้ว ดังนั้นกรณีของเฌอจึงต้องรอนโยบายของทางผู้บังคับบัญชาอีกที เพราะขณะนี้หลักฐานยังคงไม่ชัดเจนเกรงว่าส่งศาลไปแล้วอาจไม่สามารถระบุว่าใครยิง ส่วนเรื่องพยานในที่เกิดเหตุขณะนี้มีพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนอยู่ ซึ่งบริเวณที่เฌอถูกยิงในเวลานั้นนอกจากเฌอก็มีศพอื่นด้วย และต้องดูประกอบกัน
ภาพ 6 : 2  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณชั้น 2 อาคารหน้าสนามมวยลุมพินี (คลิกดูวิดีโอคลิป)
ภาพ 7 : ภาพร่างของอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รหัสทองหล่อ 016 หรือนายมานะ แสนประเสริฐศรี วัย 22 ปี ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมอง ที่บริเวณปากซอยงามดูพลี หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนพระราม 4 ช่วงเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค.56 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียง(ฝั่งตรงข้ามถนน)และต่อเนื่องกับเหตุการณ์  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” 2 นาย ในภาพที่ 6 โดยนอกจากมานะแล้ว ใกล้ๆ กันซึ่งมองไม่เห็นในภาพจะมีร่างของพรสวรรค์ นาคะไชย ซึ่งเป็นผู้ถูกยิงที่มานะพยายามเข้าไปช่วยพร้อมถือธงที่เป็นสัญลักษณ์กาชาดเข้าไปด้วย ก่อนจะถูกยิงและเสียชีวิตทั้งคู่ โดยคดีของทั้ง 2 คนถูกรวมเป็นคดีเดียวกันและมีการเริ่มการไต่สวนการเสียชีวิตแล้ว (คลิกอ่านเพิ่มเติม)
นอกจากนี้ภาพดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ค.53 ยังถูกพล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก นำไปใช้แถลงข่าวเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกยิงจากการพยายามเข้าไปดับเพลิงที่เซ็นทรัลเวิลด์  ทั้งๆ ที่เป็นภาพที่ต่างสถานที่ ต่างเวลา โดยพล.ท.ดาว์พงษ์ แถลงว่า “จังหวะเวลาที่เรารอยังไม่เข้าในช่วงนั้น ผู้ที่อยู่ข้างในบางส่วนก็เริ่มเผาทำลาย ภายในก็เริ่มเผาตรงเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซนทารา แกรนด์  ดับไปแล้วก็มาเผาใหม่ เราก็พยายามเอารถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ พอรถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ก็ถูกยิงออกมา ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าไป  ก็ทำให้เกิดความสูญเสีย  แต่เราก็พยายามเต็มที่ที่จะพยายามนำรถดับเพลิงเข้าไป  แต่มีการต่อต้านอยู่ตลอดเวลา” (พล.ท.ดาว์พงษ์แถลงพร้อมนำภาพมานะ ซึ่งถูกยิงวันที่ 15 ตรงปากซอยงามดูพลีมาแสดงประกอบ คลิกดูคลิปดังกล่าว)
ภาพ 8 : ปากทางเข้าปั๊มเชลล์ราชปรารภ จุดที่นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิง ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา และศาลได้มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุนของ เจ้าหน้าที่ทหารแล้ว(คลิกอ่านคำสั่งศาล) ภาพเหตุการณ์นี้ถ่ายโดยนิค นอสติทช์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ในภาพจะเห็นนายชาญณรงค์ สวมเสื้อขาวนอนอยู่บริเวณกองยาง ซึ่งขณะนั้นเขาถูกยิงแล้ว
ภาพ 9 : ประชาชนช่วยกันหามร่างนายสมชาย พระสุพรรณ ช่างซ่อมรองเท้าวัย 43 ปี ซึ่งถูกยิงโดยกระสุนปืนเข้าที่ศีรษะด้านหน้าทำลายสมองรุนแรง บริเวณเชิงสะพานลอยคนข้ามข้าง ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ถ.พระราม 4 เมื่อเวลา 9.30 น ของวันที่ 16 พ.ค. 53  ก่อนที่จะมีผู้หามร่างเขามาขึ้นรถกู้ชีพตามภาพที่ปรากฏ สำหรับคดีของเขาจะมีการไต่สวนการตายนัดแรก 26 ส.ค.นี้
ภาพ 10 : ผู้ชุมนุมพยายามเข้าช่วยเหลือนายถวิล คำมูล ที่ถูกยิงเวลาประมาณ 7.30 น. วันที่ 19 พ.ค.53 ตรงป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ใกล้สี่แยกศาลาแดงถนนราชดำริ ถือเป็นศพแรกของวันนั้น โดยผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส(คลิกดูอัลบั้มภาพชุดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ “หงส์ศาลาแดง” และคลิกดูภาพเคลื่อนไหว ) และไม่มีใครนำร่างถวิลไปส่งโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งถูกหน่วยกู้ชีพที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาทางศาลลาแดงนำร่างไป พร้อมกับร่างของชายถอดเสื้อไม่ทราบชื่อที่นอนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะบริเวณเต๊นท์ใกล้ร่างของถวิล (คลิกอ่านเรื่องของชายไม่ทราบชื่อ)
โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่าชายดังกล่าวเสียชีวิตก่อนหน้าการปฏิบัติการของทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว โดยนายสุเทพ ระบุว่า “.. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้างเต๊นท์ที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (ดูวิดีโอคลิปอภิปรายดังกล่าวในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ)
สำหรับคดีของทั้ง ถวิลและชายไม่ทราบชื่อขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการแล้ว
ภาพ 11 : บริเวณหน้าคอนโดหน้าบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ ภาพผู้ชุมนุมและอาสาสมัครพยายามช่วยเหลือนายนรินทร์ ศรีชมภู ซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงสายของวันที่ 19 พ.ค.53  ซึ่งหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าช่วยเหลือนั้นคือนายมงคล เข็มทอง คนซ้ายมือสุดในภาพ และเขาถูกยิงเสียชีวิตช่วงเย็นของวันเดียวกันที่วัดปทุมฯ สำหรับคดีของนรินทร์นั้น ศาลได้นัดไต่สวนนัดแรก 29 ก.ค.นี้ ส่วนคดีของมงคล ได้รวมเป็นคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ซึ่งมีการไต่สวนมาหลายนัดแล้ว
ภาพ 12 : ภาพฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพชาวอิตาลีที่ล้มลงหลังถูกยิง และมีช่างภาพพยายามช่วยเหลืออยู่ บริเวณถนนราชดำริ ขาเข้า ตรงข้ามอาคารบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ไม่ห่างจากจุดที่นรินทร์ถูกยิงที่อยู่อีกฝั่งของถนน ช่วงเวลา 10.45 น. ของวันที่ 19 พ.ค. โดยลักษณะบาดแผลที่ฟาบิโอถูกยิงนั้นกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอดตับ เสียโลหิตปริมาณมาก บาดแผลที่ 1 ลักษณะทางเข้าทะลุหลังด้านขวา ผ่านช่องซี่โครงด้านหลังขวา ทะลุปอดขวากลีบล่าง เฉียดกำบังลมและเนื้อตับฉีกขาด ทะลุเยื้อหุ้มหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด ทิศทางจากหลังไปหน้า ขวาไปซ้าย ล่างขึ้นบนเล็กน้อย
ขณะที่ฟาบิโอถูกยิงได้วิ่งหลบกระสุนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมหันหลังให้แยกศาลาแดงซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกำลังเข้ามาทางนั้น และฟาบิโอหันหน้าไปทางสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ คลิกดูภาพ(ภาพ 1ภาพ 2)อีกมุมจาก Masaru Goto คนสวมหมวกเหลืองเสื้อแดงที่เข้าช่วยฟาบิโอ และภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์จาก Bradley Cox  ประมาณนาทีที่ 1.12 (คลิกดู)
สำหรับคดีฟาบิโอได้มีการไต่สวนการตายเรียบร้อยแล้ว โดยศาลได้นัดฟังคำสั่ง 29 พ.ค.นี้
ภาพ 13 : ร่างหญิงวัยกลางคนอาชีพเก็บขยะ วัย 49 ปี คือ ประจวบ เจริญทิม ถูกยิงเมื่อเวลา 9.52 น. ของวันที่ 19 พ.ค. โดยกระสุนเข้าบริเวณขาซ้ายทะลุขาขวา กระสุนปืนถูกเส้นเลือดแดงขาด ทำให้เสียเลือดมากจนเสียชีวิต  บริเวณป้อมตำรวจสามเหลี่ยมดินแดง โดยภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดยผู้ใช้นามแฝงว่า “พระอินทร์”
ร่างของเธอถูกนำไปฝังในฐานะศพไร้ญาติที่สุสานสว่างประทีปธรรมสถานศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมกับผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งในเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ค.53 และสำหรับคดียังไม่มีความคืบหน้า

คนดังทั่วไทยร่วมเขียนไว้อาลัยงานพระราชทานเพลิงศพ "พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์"


คนดังทั่วไทยร่วมเขียนไว้อาลัยงานพระราชทานเพลิงศพ "พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์"



วันที่ 21 พฤษภาคม   ณ เมรุหลวงพลับพลาอิศริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาส  จะมีการเชิญโกศศพ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ขึ้นวอประเทียบ จากบ้านสนามบินน้ำ ไปยังพลับพลา วัดเทพศิรินทร์ 


จากนั้นในเวลา 17.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิง
การจากไปของ เสธ.หนั่น เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในวงการเมืองไทย

งานพระราชทานเพลิง เสธ.หนั่น มีการแจกหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรก รวมคำไว้อาลัย อีกเล่ม ชื่อเรื่อง ล้วนเป็น ผมลิขิต ชีวิตเอง  เป็นเรื่องราวของเด็กบ้านนอกมาเป็นทหารม้า จากบางขวางสู่ทำเนียบรัฐบาล   มีบุคคลชั้นนำ เขียนไว้อาลัย เสธ.หนั่น ได้อย่างน่าสนใจ และอาจเป็นอีกบันทึกประวัติศาสตร์ การเมืองไทย

มติชนออนไลน์ คัดเลือก คำไว้อาลัยของบางท่านมา เสนอ ณ ที่นี้

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

เรารู้จักกันมานาน เคยรับราชการในหน่วยเดียวกันมานาน  สนั่นเป็นทหารที่ดี เป็นนักการเมืองที่เก่ง สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจเขาเสมอ คือไม่ลืมบุญคุณของผู้ที่หยิบยื่นให้นับตั้งแต่เพื่อน ผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเขา
ขอให้เขาได้ขึ้นสวรรค์

ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 พี่สนั่นกับผมรู้จักและมีความสัมพันธ์กันมานานนับตั้งแต่ปี 2518 และมีใกล้ชิดกันมากขึ้น นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมตัดสินใจเข้าสู่การเมือง จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 เดือน  ก่อนที่พี่สนั่นจะจากไป ก็ยังได้รับประทานอาหารค่ำด้วยกันที่ลอนดอน ซึ่งวันนั้นพี่สนั่นได้บอกกับผมถึงความมุ่งมั่นที่จะกลับไปทำหน้าที่สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นงานสุดท้าย ก่อนจะอำลาการเมือง พี่สนั่นเป็นแบบฉบับของการเล่นการเมืองที่เคารพกติกา มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่เอาเป็นเอาตายกันเหมือนทุกวันนี้ 
ผมขอให้คุณงามความดีที่พี่สนั่นได้กระทำไว้ให้แก่บ้านเมือง รวมทั้งความปรารถนาดีที่อยากจะเห็นบ้านเมืองมีสันติสุขเกิดความปรองดองแม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต จงนำพาให้ดวงวิญญาณของพี่สนั่นไปสู่สุขคติในสัมปรายภพ เทอญ

นายพิชัย  รัตตกุล

เหมือนกับคนทั่วไป ผมมีเพื่อนฝูงไม่น้อยที่ประกอบไปด้วย เพื่อนที่แสนดี มีน้ำใจโอบอ้อมอารี มีความจริงใจต่อเพื่อนฝูง มีความเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เคยคิดไม่ดีต่อเพื่อน ขณะเดียวกันผมก็มีเพื่อนไม่น้อยในหลายวงการที่หาความจริงใจยาก
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเพื่อนคนหนึ่งของผมที่มีคุณสมบัติดีดังกล่าวข้างต้นและเป็นเพื่อนที่เคยตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมาหลายสิบปี เป็นเพื่อนรักที่มีน้ำใจแท้
เพื่อนเช่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นั้นหายากอย่างยิ่ง เรารู้จัก และเริ่มสนิทสนมกันมาเสมือนพี่น้องตั้งแต่ พล.ต.สนั่น เข้ามาร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน จน พล.ต.สนั่นได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการของพรรค และเป็นผู้มีความสามารถในการประสานงานต่างๆ กับพรรคการเมืองอื่นๆได้อย่างดีมาก และประสบความสำเร็จ จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ในการจัดตั้งรัฐบาลในอดีตได้หลายครั้ง
ผมไม่เคยเรียกขานชื่อ พล.ต.สนั่นว่าเป็น “เสธ.หนั่น” แต่เรียก พล.ต.สนั่นว่า “น้อง” ทุกคำและก็เรียกขานเช่นนี้ด้วยความจริงใจมาตลอดเวลา
ผมไม่ทราบว่า พล.ต.สนั่น มีความเหตุผลประการใดที่ภายหลัง ที่ต้องจำใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะขณะนั้นผมได้เกษียณตัวเองทางการเมืองไปแล้ว เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ค่อยๆถอนตัวออกมา จึงไม่ทราบเหตุผลอันแท้จริง และจากการที่ผมเคารพในการตัดสินใจของเพื่อน จึงคิดว่าน่าจะเป็นการเสียมารยาท หากเซ้าซี้สอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ พล.ต.สนั่นต้องจากพรรคประชาธิปัตย์ไป 

การที่ พล.ต.สนั่นต้องจากพรรคประชาธิปัตย์ไป ผมเห็นว่าเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นประโยชน์ยิ่งแก่พรรคใหม่ที่ พล.ต.สนั่น ย้ายเข้าไปและ พล.ต.สนั่นก็ทำหน้าที่ในพรรคใหม่นั้นอย่างเต็มกำลัง ในขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์ และความรักกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผมและครอบครัวของผมอย่างไม่เสื่อมคลาย
ผมคิดถึง พล.ต.สนั่น ผมคิดถึงความผูกพันที่เราทั้งสองมีต่อกัน ผมรักน้องของผมคนนี้มาก และขอให้เราได้เป็นพี่น้องอย่างแท้จริง โดยสายเลือดในภพหน้า และภพต่อๆไป

นายกล้านรงค์ จันทิกอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.

คุณศิริวัฒน์  ขจรประศาสน์ ได้มีหนังสือถึงผม ขอให้เขียนคำไว้อาลัย เพื่อรวบรวมไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ 
ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเขียนให้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง
ผมรู้จัก” พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์”มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว” พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์” ได้เมตตาให้ความรักผมเสมือนเป็นน้องชายคนหนึ่ง ผมเรียกท่านว่า “พี่หนั่น” 

ผมพบกับท่านในงานพิธีและในงานสังคมต่างๆหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ราชตฤณมัยสมาคมหรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สนามม้านางเลิ้ง”

เพราะที่ทำงานเดิมของผมอยู่ที่ถนนพิษณุโลกตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลอยู่ห่างจากสนามม้านางเลิ้ง เพียงไม่เกิน ๕๐๐ เมตร

ตอนเย็นเลิกงานในวันที่ว่าง ผมและพรรคพวกจะไปไดร์กอล์ฟและสังสรรค์กันต่อที่สโมสร เนื่องจากอาหารราคาไม่แพงนัก

หลายๆครั้งผมได้พบกับ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งท่านก็จะทักทายและพูดคุยกับผมอย่างเป็นกันเอง
แต่ในปี พ.ส. 2543  พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ได้ประสบกับมรสุมในชีวิตอย่างใหญ่หลวงและเป็นต้นเหตุให้ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์  ต้องหยุดพักจากชีวิตทางการเป็นนักการเมืองเป็นเวลาถึงห้าปี

นั่นคือ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติว่า “พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์” ได้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเงินกู้ 45 ล้านบาทเป็นเท็จ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 31/2543 วันที่ 30 สิงหาคม 2543 ชี้ขาดว่า “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295

ผมเองได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นผู้แทนผู้ร้องในการแถลงการณ์ตอบข้อซักถาม ซักค้านและดำเนินการอื่นๆในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

 ในทางส่วนตัว ผมมีความเคารพรัก “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” เหมือนพี่ชายดังได้กล่าวมาเบื้องต้น

 แต่ในการปฏิบัติหน้าที่เราต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกไปให้หมดเหลือแต่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียว ผมต้องขอคารวะและชื่นชมสปิริตความเป็นลูกผู้ชายและนักสู้ของ “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์”เพราะเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543  “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์”ได้ยอมรับมติของคณะกรรม ป.ป.ช. โดยในวันรุ่งขึ้นได้ลาออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ทั้งหมด นั่นคือ ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์

 “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ได้ยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายสู้คดีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยได้ขึ้นเบิกความและตอบข้อซักถามของผู้ร้องด้วยตนเอง พร้อมทั้งนำพยานบุคคลและเอกสารชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาอย่างเต็มที่

“พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ไม่ได้โกรธเคืองหรือมีจิตใจอาฆาตผมแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งในระหว่างที่สู้คดีกันและหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้ว

เมื่อพบกันในงานต่างๆ ท่านก็ยังทักทายและพูดคุยกับผมอย่างเป็นกันเองเช่นเดิม

ส่วนผมก็เข้าไปไดร์ฟกอล์ฟและทานอาหารที่สนามม้านางเลิ้งตามปกติ โดยไม่เคยได้รับการคุกคาม หรือแม้แต่จะมีอาการตอบโต้ไม่พอใจจากบุคลากรในสนามม้านางเลิ้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ผมได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใกล้ชิด “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ว่าได้มีคนที่รักใคร่ท่าน ได้แสดงอาการไม่พอใจและโกรธเคืองผมในการทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ แต่ “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ได้ห้ามปรามไว้ และบอกว่า

“กล้านรงค์” เป็นคนดี เขาทำงานตามหน้าที่ อย่าไปโกรธเคืองอะไรเลย

ผมได้พบกับท่านเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อผมไปอวยพรในงานแต่งงานของ “คุณศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์” เนื่องจากผมต้องไปราชการต่างจังหวัดไม่สามารถไปงานตามการ์ดเชิญได้

ผมไปพบท่านที่บ้านสนามบินน้ำ โดยให้คนที่รู้จักพาไป วันนั้นผมได้นั่งคุยกับท่านนานมากประมาณชั่วโมงเศษ เราได้คุยกันทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนในการต่อสู้คดี ที่ทำให้ท่านต้องแพ้คดี มีบางเรื่องที่ท่านได้รับฟังมาจากคำยุยงที่ไม่ถูกต้องทำให้ท่านเข้าใจผิดในคนบางคนว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและเข้ามามีบทบาทชี้นำการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องของท่าน ผมได้ยืนยันกับท่านว่าบุคคลคนนั้นไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องและไม่มีบทบาทในเรื่องนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น การพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปโดยสุจริต ปราศจากอคติและการชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น
 พิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฎ ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริงทางคดี”

“พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ได้ทั้งฟังและมองหน้าผมนิ่งตลอดเวลา เมื่อผมพูดจบท่านำได้ลุกขึ้นและยื่นมือมาให้ผมจับพร้อมกับพูดว่า
“ผมเชื่อคุณ”
นั่นคือประโยคสุดท้าย และเป็นประโยคที่สำคัญที่สุด
ผมเชื่อมั่นว่าจากคำพูดของผมจะทำให้ท่านได้เข้าใจในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และในวันนี้ท่านได้จากไป ด้วยจิตจี่สงบ ปราศจากการค้างคาในบุคคลที่ท่านเข้าใจผิดตลอดมา
ตลอดชีวิตของ “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์” ได้อุทิศตนทำงานหนักให้แก่ชาติบ้านเมือง ท่านเหนื่อยมามากแล้ว
บัดนี้ ท่านได้รับการพักผ่อนแล้ว
ขอให้ท่านได้นอนหลับให้สนิท อย่าได้กังวลใดๆต่อไปอีกเลย
ความอยู่รอดปลอดภัยของ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” จะต้องเป็นภาระของบุคคลในชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่จะต้องยืนหยัดต่อสู้และอุทิศทั้งชีวิตและเลือดทุกหยด เพื่อปกป้องและดำรงไว้ให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป
ขอให้ดวงวิญญาณของ “พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์”หรือ “พี่หนั่น” ของผม จงประสบแต่ความสุข สงบอยู่ในสัมปรายภพด้วยเทอญ และถ้าดวงวิญญาณของ “พี่หนั่น” มีญาณวิถีใดที่สามารถรับรู้ได้ ขอได้โปรดทราบว่า ผมยังรักและระลึกถึงน้ำใจและคุณงามความดีของ “พี่หนั่น” ตลอดเวลาและตลอดไป

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ โลดแล่นบนเวทีการเมืองตั้งแต่ก่อนผมเกิด พอเติบโตมาเป็นเด็กบ้านนอกที่สนใจการเมืองก็เห็นเส้นทางชีวิตของ “เสธ.หนั่น” เต็มไปด้วยสีสันและสัจธรรม ทั้งสูง ต่ำ สุข ทุกข์ ตามแบบฉบับของคนผู้เป็นตำนาน
มีโอกาสสัมผัสกับท่านโดยตรงตอนทำหน้าที่รองโฆษกรัฐบาลยุคนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ขณะนั้น “เสธ.หนั่น” ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทุกครั้งที่ได้สนทนาบรรยากาศเป็นกันเอง และท่าทีเปี่ยมเมตตาปรากฏจากคนจริงท่านนี้เสมอ จนมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบพร้อม 2 พรรคร่วมรัฐบาล ผมก็ไม่ได้พบกับท่านอีก เพราะเส้นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

กลับมาพบกันอีกครั้งผมอยู่ในฐานะผู้ต้องขังในคดีการเมือง ส่วน “เสธ.หนั่น” เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลชุดใหม่แต่บทบาทขณะนั้นกำลังเป็นที่จับตาและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะท่านชูธงปรองดองด้วยการประกาศเดินสายพบทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทราบจากข่าวตอนนั้นว่าท่านมีโครงการจะมาพบพวกเราในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วย ผมติดตามข่าวนี้ด้วยความสนใจ แต่ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าท่านรองนายกฯ จะฝ่ากระแสมาถึงเรือนจำได้

อีกครั้งหนึ่งที่ประสบการณ์ชีวิตผมต้องบันทึกว่า คนจริงเมื่อพูดได้ก็ต้องทำได้ “เสธ.หนั่น” ในชุดเสื้อแขนสั้นสีม่อฮ่อม กางเกงขายาวสีน้ำตาลอ่อน เดินช้าๆมาหาพวกเราซึ่งถูกเรียกตัวให้มารออยู่ก่อนถึงในเรือนจำ การทักทายโอภาปราศรัยเป็นไปตามมารยาท แล้วท่านก็ประกาศเจตนารมณ์สร้างความปรองดองพร้อมถามความเห็น เหล่าผู้ต้องขังทั้งหลายขานรับตามเนื้อข่าวที่ปรากฏในเวลานั้น

ผ่านวาระสำคัญ “เสธ.หนั่น” บอกพวกเราว่าเอามะขามหวานติดมือมาฝากด้วย พร้อมกระซิบกับผมว่า คืนก่อนมานี่ฝันเห็นเพื่อนรัก พ.อ.(พิเศษ) อาคม ใสสะอาด ลุงผู้ล่วงลับของภรรยาผมมาหาถึงบ้าน ท่านบอกสะดุ้งตื่นแล้วคิดอยู่ในใจว่า สงสัยพี่อาคมจะมาบอกให้ไปช่วยหลานเขย ผมยกมือไหว้ขอบคุณด้วยความซาบซึ้งในเมตตาและมิตรภาพระหว่างเพื่อนของผู้อาวุโส

หลังท่านกลับผมเอามะขามหวานของฝากแบ่งพรรคพวกแล้วแยกย้ายกลับแดนขัง ถึงแดน 4 ก็จัดแจงแบ่งมะขามหวานกินกับผู้คุมและเพื่อนผู้ต้องขัง เม็ดมะขามก็ขออนุญาตผู้คุมฝังไว้ในกระถางต้นไม้ของป้อมหลังแดน เวลาผ่านไปภารกิจปรองดองของ “เสธ.หนั่น” ยังกระท่อนกระแท่นแต่มะขามหวานในกระถางแดน 4 กลับโตวันโตคืน ผู้คุมคนหนึ่งมาเห็นเข้าก็เอ่ยปากขอไปปลูกในสวนที่ราชบุรี ผมตอบรับด้วยความยินดีพร้อมตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่า “มะขามหวานพันธุ์ปรองดอง” เข้าใจว่าคงเติบโตงอกงามรอความปรองดองอย่างแท้จริงตามความฝันของผู้เป็นเจ้าของจนถึงวันนี้
ระหว่างประสานงานกันก่อนได้รับการประกันตัว “เสธ.หนั่น” ฝากคำชวนมาบอกพวกเราว่า ออกไปแล้วมาเยี่ยมเยือนกันที่บ้านบ้าง ผมฝากคำตอบรับว่าวันแรกที่ออกไปจะมุ่งหน้าไปบ้านท่านทันที เป็นที่มาของการเยือนบ้านสนามบินน้ำครั้งแรกในชีวิตของผม พร้อมพี่น้องร่วมชะตากรรม เพื่อขอบคุณในความพยายามอย่างจริงใจที่จะหยิบยื่นอิสรภาพให้พวกเรา

หลังจากนั้น ผมแวะเวียนไปบ้านสนามบินน้ำอีกหลายครั้ง บางทีก็ฝากข้าวปลาอาหารผลไม้ประดามีให้ท่านและครอบครัว ทราบดีว่าท่านมีเหลือพอ แต่ผมเห็นว่านี่เป็นการแสดงออกหนึ่งว่าผมกับเพื่อนยังระลึกถึงหัวใจของท่านตลอดมา

“เสธ.หนั่น” เป็นคอไวน์ระดับอาจารย์ แต่ช่วงเวลาที่ผมเป็นแขกที่บ้านท่าน คำแนะนำของแพทย์ให้งดดื่มมีผลปฏิบัติแล้ว แต่ พล.ต.สนั่น ก็คือ พล.ต.สนั่น ท่านสั่งพนักงานเอาแก้วไวน์มา 2 ใบ แล้วเปิดไวน์อย่างดีมารอไว้ รินไวน์ตามกรรมวิธีให้ผมแล้วรินน้ำอัดลม (โค้ก) ในแก้วตัวเอง จากนั้นก็เชื้อเชิญผมดื่ม บอกว่าสีมันคล้ายๆกัน สำหรับผมนี่เป็นแบบฉบับของคนมากมิตรมากน้ำใจและไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมคนชื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ถึงได้ยืนหยัดอยู่กลางวงน้ำมิตรแม้จนชีวิตหาไม่

เวลาไม่นานนักที่ได้สัมผัสถือได้ว่า “เสธ.หนั่น” เป็นครูคนสำคัญท่านหนึ่งทางการเมือง แท้เวทีนี้จะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แต่ถ้าหัวใจคนเราแน่นอน ความถาวรแห่งมิตรภาพย่อมถูกสถาปนาขึ้นได้ ผมมั่นใจว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คือหนึ่งในจำนวนคนประเภทนั้น

ขอแสดงความอาลัยและเสียใจต่อครอบครัวขจรประศาสน์ ที่ประสบความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ขอแสดงความอาลัยต่อหนึ่งตำนานการเมืองไทยผู้จากไปหลังจากฝากสีสันแพรวพราวไว้บนเส้นทาง ขอคารวะต่อความปรารถนาดีที่มีต่อผมและครอบครัว ตลอดจนพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ตลอดมา