วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ประยุทธ์งัด ม.44 ออก 3 คำสั่งหัวหน้า คสช. เลิกกม.สภาที่ปรึกษาศก.-สภาพัฒนาการเมือง - คปก

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ 

เลิกกม.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 จนกว่าจะมีมติเป็นอย่างอื่น ฯลฯ
13 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาศัย ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย คำสั่ง คสช. ที่ 71/2559 เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา และ คำสั่ง คสช. ที่ 73/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา (เพิ่มเติม) 
โดย สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ก่อนประชุมครม. ได้ประชุมคสช.ก่อน เนื่องจากจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3 ฉบับ คือ 1. เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่รัฐบาลกำลังรอพ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเร็ววันนี้ โดยจะมีคณะกรรมการเหมืองแร่แห่งชาติ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการประกอบการเหมืองแร่ เช่นของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัดที่จังหวัดพิจิตร ที่ผ่านมารัฐบาลรับทราบข้อเสนอจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ยังไม่มีมติใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความชัดเจน เนื่องจากใกล้ถึงเวลาต่ออายุสัปทานแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความเป็นธรรม ทำตามสัญญาการประกอบเหมืองแร่ แต่ต้องระมัดระวังการเป็นคดีฟ้องร้องด้วย
“ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เนื่องจากทั้ง 3 องค์กรนี้ครบวาระแล้ว จึงเห็นว่าควรให้บุคลากรไปทำงานยังหน่วยงานตัวเองส่วนหนึ่ง และองค์กรที่ยังขาดคนอยู่ส่วนหนึ่ง และฉบับที่ 3 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินการศึกษา (สมศ.) โดยก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมเป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะไม่มีงานทำ จึงให้เข้าไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนรักษาการผู้อำนวยการที่จะครบวาระเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้มีกระบวนการคัดสรรขึ้นใหม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เพื่อไทยไม่ร่วมเวทีฟังความเห็นกม.พรรคการเมือง อลงกรณ์แนะอย่าเกี่ยงงอน ยังมีเวลาแก้ไขปรับปรุง


ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุ ไม่เข้าร่วมเวทีชี้แจง และรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซัดชี้แจง 3 ชั่วโมง รับฟังแค่ 30 นาที ย้ำความเห็นต่างๆ บอกผ่านสื่อไปหมดแล้ว ด้าน รองประธาน สปท. แนะ พรรคการเมืองอย่าเกี่ยงงอน ไม่เข้าร่วม ระบุยังมีเวลาแก้ไขปรับปรุงได้
14 ธ.ค. 2559 ที่ศาลฎาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมเวทีชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ สโมสรสันนิบาตสหกรณ์ ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง หรือไม่ให้ความร่วมมือ แต่กระบวนการร่างกฎหมายจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ยิ่งลักษณ์ตอบว่า แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีจุดยืนที่เห็นต่าง แต่เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องแสดงเจตนารมณ์ แสดงความเห็นถึงข้อดีข้อเสีย  เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ส่วนการตัดสินใจขึ้นอยู่ที่กับประชาชน จึงเห็นว่าทำไมพรรคต้องพูดหรือต้องแสดงความเห็น เพราะนี่เป็นเสน่ห์ในระบอบประชาธิปไตย
ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมเวทีที่ กรธ. จัดขึ้น เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็น และหากเข้าร่วมก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป็นการรับฟังกรธ. ชี้แจงถึง 3 ชั่วโมง และซักถามเพียง 30 นาทีเท่านั้น ส่วนความเห็นต่าง ๆ พรรคแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว ก็ต้องขึ้นกับ กรธ. จะนำไปพิจารณามากน้อยเพียงใด จุดยืนของพรรค ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง และสิ่งที่จำเป็นขณะนี้ คือการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย
ในส่วนของการเดินทางมาขึ้นศาลในคดีความจำนำข้าวนั้น เป็นการมาเพื่อสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 9 โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน เป็นต้น ร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย
ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าศาลถึงการยื่นคัดค้านคำสั่งทางปกครอง กรณีการชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลปกครองว่า ยังอยู่ในกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะใช้สิทธิตามกรอบของกฎหมาย ขณะที่ทางทีมทนายความ อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ หากเรียบร้อยแล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ด้าน อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนการร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสปท. ว่า ในที่ประชุมวันนี้จะหารือเกี่ยวกับกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายปฏิรูป เพราะตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติกำหนดให้ตรากฎหมายดังกล่าวและประกาศใช้ใน 120 วัน หลังร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายชุดแรกที่ประกาศใช้เพื่อวางรากฐานการปฏิรูปประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มั่นใจจะทำได้ตามกรอบเวลา และก่อนที่สปท.จะสิ้นวาระ
มื่อถามว่าวิป 3 ฝ่ายได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายลูกที่อยู่ระหว่างการร่างหรือไม่ อลงกรณ์ กล่าวว่า วิป 3 ฝ่ายจะไม่มีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนที่พรรคการเมืองไม่ส่งคนร่วมเวทีรับฟังกฎหมายลูกนั้น การปฏิรูปประเทศต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้นพรรคการเมืองควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น อย่าเกี่ยงงอนหรือตั้งแง่ในการให้ความเห็น เพราะเป็นสิทธิ์ที่ควรรักษาไว้ ขณะนี้ยังมีเวลาปรับปรุงร่าง
เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นอดีตนักการเมืองเห็นด้วยหรือไม่กับการให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมาชิก อลงกรณ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในหลักการ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ และเป็นเจ้าของพรรคในการรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมของพรรคซึ่งจำเป็นต้องใช้เงิน การที่สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองอยู่ใต้อิทธิพลทุนทางการเมือง ที่เป็นปัญหาใหญ่ในอดีต

เหมืองทองอัคราฯ ประกาศเลิกจ้างพนักงานหลัง คสช.ใช้ ม.44 สั่งระงับการประกอบกิจการ

เกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เหมืองทองอัครา ชี้จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานเหมืองทองทุกคน หลัง คสช. ใช้ ม.44 สั่งระงับการประกอบกิจการทั้งหมดภายในสิ้นปี พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายระบุ
14 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวกรณีที่มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า อัคราฯ ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี รู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่มีการประกาศใช้คําสั่งหัวหน้า คสช. อาศัยอํานาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป
โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ผู้มีอํานาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สํารวจและทําเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคําและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงอัคราฯ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น
เกรก ฟาวลิส  ระบุว่า บริษัทฯ จำต้องยื่นจดหมายเลิกจ้างให้กับพนักงานทุกคนในบริษัท มีผลทันทีวันที่ 31 ธ.ค. 2559 และบางส่วนจะมีผลในวันที่ 31 ม.ค. และ 28 ก.พ. 2560 ตามลำดับ โดยบริษัทฯ จะรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างงานให้กับพนักงานทุกท่านตามกฏหมายระบุไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งพนักงานจะได้รับเงินค่าเลิกจ้างสูงสุดถึง 300 วัน สำหรับพนักงานที่ร่วมงานกับบริษัทฯ มาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเงินจำนวนเหล่านี้จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เพื่อนพนักงานได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม อัคราฯ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและถูกต้องเสมอมา ขอยืนยันว่าไม่เคยดำเนินการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ประกอบกิจการ
สำหรับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 เนื้อหาดังนี้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
โดยที่ได้มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากการประกอบ กิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในคำสั่งนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่ แห่งชาติ พ.ศ. 2559 หรือตามกฎหมายว่าด้วยแร่ แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ให้ผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคำและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำไว้จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ว่าพื้นที่ประทานบัตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็ตาม
ข้อ 4 ให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการให้ระงับ การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ (1) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแล การฟื้นฟูพื้นที่ตามข้อ 3 (2) กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง (3) กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับการประกอบกิจการ เหมืองแร่ทองคำและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ
ข้อ 5 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัย ข้อเท็จจริงและปัญหา พร้อมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
ข้อ 6 ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ที่ได้กระทำไป ตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้อง ค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ 7 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อ 8 ในกรณีเห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ประยุทธ์ มอบนโยบายการจัดทำงบฯ แนะไม่ทำอะไรนอกกรอบ จะทำให้คิดอะไรไม่ออก

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบฯ 

14 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ (14 ธ.ค.59)เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ เข้าร่วมงาน
โดยโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ ซึ่งเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลสรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เรากำลังเดินหน้าประเทศในทุกระบบเพื่อไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เพราะจำเป็นที่จะต้องให้ประเทศมีความยั่งยืนในทุกเรื่องทุกมิติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้มีความเข้าใจตรงกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศไปให้ได้โดยไม่คำนึงถึงตัวตนและวัฒนธรรมองค์กรมากเกินไป ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทางภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และในอนาคตจะมีโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ฉะนั้นเราจะต้องทำงานให้เกิดการประสานสอดคล้องกันให้มากที่สุด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้อยากให้ทุกคนมองอนาคตร่วมกันและทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าถ้าเรายังคิดแบบเดิมทำแบบเดิม ทำตามระเบียบข้อบังคับเดิม ๆ ไม่ทำอะไรนอกกรอบ จะทำให้คิดอะไรไม่ออก เพราะติดปัญหาทุกอย่าง ทั้งติดกฎระเบียบที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยให้สามารถดำเนินการได้ โดย 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการการทำงานทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องแผนงาน งบประมาณ วิธีการบริหารจัดการ การแก้ปัญหาร่วมกัน การทำกิจกรรมเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ นายกรัฐมนตรีจึงอยากให้ทุกคนสร้างความหวัง สร้างอนาคตร่วมกันให้กับประเทศไทย โดยทุกเรื่องขึ้นอยู่กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่ต้องได้รับความไว้วางใจและการตอบรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีสิ่งเดียวที่จะตอบแทนประชาชนได้คือทำให้ประชาชนมีเกียรติยศศักดิ์ศรี มีรายได้เพิ่มขึ้น มีการศึกษาที่ดี มีการสาธารณสุขที่ดีและเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนวาดหวังเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าการที่จะได้อะไรมาง่าย ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ในโลก จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันทั้งสิ้น ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยการคิดนอกกรอบ คิดแบบมีวิสัยทัศน์ และคิดเชิงรุกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การจัดทำงบประมาณได้มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ วันนี้ระบบงบประมาณของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาทำงาน โดยให้มีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง ซึ่งในวันนี้ทุกคนจำเป็นต้องร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนจัดทำงบประมาณปี 2561 ให้ได้ ด้วยการนำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2560 มาแก้ไขปรับปรุง พัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ต่อยอดสอดประสานกับงบประมาณใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมกันจัดทำมาโดยตลอด รวมทั้งให้คิดทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันของทุกภูมิภาคภายในประเทศและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุกคนมีความสุข รวมทั้งจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างครบวงจรในทุกเรื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเกษตร ระบบน้ำ การค้าชายแดน การท่องเที่ยว การพัฒนาเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่เกิดจากความยากจน การทุจริตผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล จะต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งข้าราชการทุกภาคส่วนจากทุกกระทรวง กรม จะต้องร่วมมือกันทำงานแก้ปัญหาเหล่านี้
พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นศาสตร์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีรับสั่งกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าขอให้รัฐบาลทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนมีความสุขให้มากที่สุดในรัชกาลปัจจุบัน โดยให้สานต่อแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงทำมาตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ไม่ให้น้อยลงไปกว่าเดิมที่มีอยู่ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีรับสั่งด้วยความห่วงใยในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย เรื่องการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสาธารณสุข การเสริมสร้างอาชีพรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และจะต้องทำให้ประเทศชาติสงบสุข สันติ ไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนจะต้องสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และใช้ศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลและทุกภาคส่วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งไว้ว่า การพัฒนาประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาคู่ขนานกันโดยต้องนำแบบแผนตะวันตกผสมผสานกับตะวันออกเพื่อการพัฒนาที่รอบด้านและยั่งยืน วันนี้จึงต้องนำการพัฒนาทั้งของตะวันตกและตะวันออกมาสู่การปฏิบัติ และต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศว่าอะไรคือข้อบกพร่องของการพัฒนาประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา เพื่อนำมาสู่การคิด วิเคราะห์ ในปัจจุบัน ศึกษาแล้วนำสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น รวมทั้งนำศาสตร์ของพระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข การใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้ความรู้คู่คุณธรรม มาสู่การปฏิบัติให้ได้ เพราะจะเป็นตัวตั้งที่สำคัญทำให้การพัฒนาไม่ล้มเหลว รวมทั้งจะต้องดูปัจจัยภายในภายนอกของประชาคมโลกและของภูมิภาคในวันนี้ เพื่อการวางแผนจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องทั้งภายในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศ ให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
ในตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าในการจัดทำงบประมาณปี 2561 จะเพิ่มเติมให้กลุ่มจังหวัดคิดโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์แบบบูรณาการโดยดึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับนายกรัฐมนตรีได้สั่งการมอบหมายให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เป็นผู้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการบูรณาการการปฏิบัติให้ชัดเจนในทุกกระทรวง โดยนายกรัฐมนตรีจะเรียกให้เข้ามาชี้แจงตอบคำถามกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องงบประมาณที่ใช้ แผนงานโครงการ ว่าทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อย่างไร มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นอย่างไร โดยจะต้องชี้แจงและตอบคำถามนายกรัฐมนตรีให้ได้

มีชัย เปรียบเอาหูแนบดินตอนร่าง พ.ร.บ.พรรคฯ เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาบัญญัติเป็นกฎหมาย

ภาพจากเว็บข่าวรัฐสภา

โฆษก กรธ. แถลงหลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ระบุมี 4 ประเด็นที่ต้องกลับไปพิจารณา อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ เสนอทบทวนการเก็บเงินบำรุงพรรคภายใน 150 วันเป็น 4 ปี ด้านกฎหมาย กกต. ได้เห็นร่างแรกพรุ่งนี้
14 ธ.ค. 2559 ที่ อาคารสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดเวทีชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ต่อ ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.บ.พรรคการเมือง) โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดโครงการสัมมนาชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมายกังกล่าวว่า ร่างกฎหมายเบื้องต้น ที่ กรธ. จัดทำขึ้นนั้น ได้รับฟังความเห็นประกอบการยกร่างฉบับนี้อย่างเอาหูแนบดิน เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาพิจารณา เมื่อเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ มีความเป็นไปได้ ก็จะนำมาบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย
มีชัย กล่าวด้วยว่า กรธ. ได้ยกร่างกฎหมายลูกตามกรอบของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ในมาตรา 45 และ 258 (2) ที่กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบได้ ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้แทนพรรคลงเลือกตั้ง ไม่ถูกครอบงำจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค พร้อมกำหนดมาตรการดูแล ไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองดำเนินการขัดต่อการเลือกตั้ง ให้สมาชิกมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมทางการเมือง คัดเลือกบุคคลที่มีคุณธรรมเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดให้มีกลไกความรับผิดชอบต่อนโยบายพรรค และให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง มีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น การกำหนดให้สมาชิกพรรคเสียค่าสมาชิกรายปี เพื่อประชาชนได้มีความเป็นเจ้าของพรรค และมีส่วนร่วมภายในพรรคอย่างแท้จริง

อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ขอให้ทบทวนการชำระเงินบำรุงพรรคฯ จากเดิมภาย 150 วัน เป็น 4 ปี

ทั้งนี้ มีชัย ได้รับการยืนหนังสือจาก ธนา ชีรวินิจ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ทบทวนกรอบเวลาในการจัดระเบียบสมาชิกพรรคการเมือง เรื่องการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองจากเดิม 150 วัน เป็น 4 ปี ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในกำหนดนั้น ไม่ควรกำหนดให้พ้นจากความเป็นสมาชิกโดยทันที เนื่องจากสมาชิกบางคนอาจไม่สะดวกในการชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด จึงต้องการให้กำหนดว่า หากไม่ชำระค่าบำรุงก็ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือสิทธิ์อื่นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ หากไม่ให้ชำระเงินผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะชำระเงินภายในเวลาที่กำหนดได้
ธนา กล่าวถึงส่วนที่กำหนดให้ทุกสาขาพรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกที่จ่ายเงินค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คนว่า เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ มีสาขาพรรคในแต่ละภาคเป็นจำนวนมาก และท้ายที่สุดจะบีบให้เหลือเพียงภาคละหนึ่งสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของ กรธ.ที่ต้องการให้มีสาขาพรรคจำนวนมาก

โฆษก กรธ. ระบุมีประเด็นกลับไปคิดต่อ 4 เรื่อง (จำนวนสมาชิก-ทุนประเดิม-ค่าบำรุง-บทลงโทษ)

ด้าน อุดม รัฐอัมฤต โฆษกกรธ. แถลงภาพร่วมของการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า กรธ. ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองต่างๆ มากกว่าการรับฟังความเห็นก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นที่รัฐสภา โดยประเด็นที่ กรธ. จะต้องนำกลับไปพิจารณา คือ 1.จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง 20,000 คนภายใน 4 ปีมากไปหรือไม่ 2.ทุนประเดิมพรรคคนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อให้ทุนประเดิมพรรคได้ 1 ล้านบาทนั้นมากไปหรือไม่ 3.ค่าบำรุงสมาชิกคนละ 100 บาทต่อปี ควรมีหรือไม่ 4.บทกำหนดโทษของผู้กระทำผิดต่อตามร่างนี้แรงเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ กรธ. ยืนยันว่าการยกร่างกฏหมายพรรคการเมือง กรธ. ไม่ได้คิดเอาเอง แต่ทำตามรัฐธรรมนูญ ผ่านการปรึกษาจาก กกต. รวมทั้งผ่านการดีเบตของ กรธ.มาหลายขั้นตอน เพื่อให้กฎหมายนี้ดีกว่าฉบับปี 2550 และเมื่อมีการปรับแก้ไขแล้วก็มีการสอบถาม กกต. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันและทำประโยชน์เพื่อประชาชน และยืนยันว่ากฎหมายนี้ กรธ. มีหลักการและเหตุผลรองรับทุกมาตรา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บรรยากาศการชี้แจงและรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีพรรคการเมืองส่งตัวแทนร่วมเวที ประมาณ 20 พรรคการเมือง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล เป็นต้น โดยไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

กรธ.เผยร่าง พ.ร.บ. กกต. ได้เห็นพรุ่งนี้ เชื่อเสริมเขี้ยวเล็บ กกต. เพิ่มเครื่องมือลุยงานเชิงรุก

ด้าน ประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังทบทวนเนื้อหาและความถูกต้องของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ... ร่างเบื้องต้น ซึ่งจะเปิดเผยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. เผยแพร่ต่อผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น ยังอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม ในเว็บไซต์ของกรธ.ได้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเบื้องต้น ก่อน
ประพันธ์ กล่าวว่า จากนั้นในวันที่ 16 ธ.ค. เวลา 12.00น.ที่รัฐสภา ทางกรธ. จะมีการจัดสัมมนา เรื่อง “ชี้แจงสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยกกต. พ.ศ...(ร่างเบื้องต้น) โดยขอเชิญผู้สนใจทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคการเมืองเมือง ประชาชน และทุกภาคส่วนมาร่วมในการเสวนารอบแรก เพื่อที่จะได้ดูว่าในเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอะไรแข็งเกินไป และควรมีอะไรปรับปรุงบ้าง จากนั้นทาง กรธ.ก็จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเวที 4 ภาค และถ้าใครสนใจต้องการแสดงความเห็นในร่าง พ.ร.บ. กกต. ก็สามารถส่งมาที่ กรธ. ได้โดยตรง เพราะเราเปิดกว้างรับฟังจากทุกภาคส่วน
“ผมมั่นใจว่าร่างกฎหมายที่กรธ.ได้ยกร่างขึ้นนี้ได้เพิ่มบทบาทและหน้าที่ของกกต.ให้เข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการเสริมเขี้ยวเล็บ ตลอดจนเพิ่มเครื่องมือที่จะทำให้กกต.ได้ทำงานในเชิงรุกและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน” ประพันธ์ กล่าว

ทีมติดตามการร่าง รธน. กฎหมายประกอบ พรรคเพื่อไทย ชี้ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้ในวันนี้ พรรคเพื่อไทย จะไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ที่จัดขึ้นโดย กรธ. แต่เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย คณิน บุญสุวรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ถึง ร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ว่า หลักการและสาระสำคัญส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่บัญญัติให้การร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน เพราะแค่ที่บัญญัติให้ต้องมีการขออนุญาตต่อนายทะเบียนคือเลขาธิการ กกต. เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองซ้ำยังมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆมากมายรวมทั้งบทกำหนดโทษรุนแรงสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตนั้น นอกจากจะถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วยังเท่ากับเป็นการไปลดฐานะของสมาชิกพรรคการเมืองลงให้เป็นเสมือนพลเมืองชั้นสองอีกด้วย

เพราะทันทีที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนอกจากจะต้องเสียค่าบำรุงพรรคทุกปี และถ้าเป็นผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละ 2,000 - 500,000 บาทแล้ว ยังเสียสิทธิทางการเมืองหลายอย่างด้วย ทั้งนี้จะสมัครหรือไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก ส.ว. ยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งทางการเมืองสมัครเป็นองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ห้ามอยู่อย่างเดียว คือ เลือกตั้ง ส.ส. และสมัคร ส.ส. และโทษหนักตั้งแต่จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามพ.ร.บ.นี้เท่ากับเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่ในตรางโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

คณิน กล่าวด้วยว่า ร่างพ.ร.บ. นี้บังคับให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงพรรค และถ้าผู้ใดไม่ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลาสองปีติดต่อกันต้องสิ้นสภาพสมาชิกข้อนี้ถือว่าขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน และเท่ากับเป็นการกีดกันคนยากคนจน และคนที่มีรายได้น้อยไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สำหรับคนมีฐานะถ้าเขารู้ว่าเป็นสมาชิกพรรคแล้วต้องลำบาก และเสี่ยงคุกเสี่ยงตรางถึงขนาดนี้คงไม่มีใครอยากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแน่ตกลง กรธ. คิดจะสร้างพรรคการเมืองหรือทำลายพรรคการเมืองไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันแน่
คณิน กล่าวต่อว่า การที่บทเฉพาะกาลมาตรา 112 (4) บังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วจัดให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วันนับ แต่วันที่พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับมิฉะนั้นจะพ้นสภาพสมาชิก และถ้าสมาชิกพรรคมีเหลือไม่ถึง 5,000 คน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพนี่ก็เท่ากับไล่สมาชิกออกจากพรรคจนเหลือไม่ถึง 5,000 คน พรรคนั้นจะได้สิ้นสภาพและหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งนอก จากนั้นการที่มาตรา 45 ไม่ให้พรรคผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค หรือสมาชิกพรรคเรียกรับสินบนจากผู้ใดเพื่อแต่งตั้งหรือสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้ผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมกับกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง คือ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต น่าสงสัยเหลือเกินว่ากรธ. เห็นว่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นอาชญากรหรืออย่างไร

คณิน กล่าวต่อว่า การที่มาตรา 32 กำหนดให้พรรคที่ตั้งใหม่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนภายใน 4 ปีนับ แต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนขัดแย้งกับสิ่งที่ กรธ. พร่ำบ่นมาตลอดว่าไม่อยากเห็นนายทุนครอบงำพรรค และอยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนเพราะมันจะเป็นตรงกันข้ามเสียมากกว่า