วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พล.อ.ประยุทธ์เผยผลประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี-คสช. ครั้งที่ 2

การประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

พล.อ.ประยุทธ์ เผย ครม. ประชุมร่วมกับ คสช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน-รับฟังข้อเสนอแนะจาก คสช. และคัดเลือก กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าผู้ถูกคัดเลือกล้วนมีความรู้ด้านกฎหมาย และผู้ที่ไม่ได้เป็น สปช. 7 พันคนจะเข้ามาช่วยงานปฏิรูป
4 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานวันนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ว่า เป็นการติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงาน และรับฟังข้อเสนอแนะของ คสช. ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้แถลงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยเป็นไปตามแนวทางและเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน และเป็นการประชุมพิจารณาวาระปกติของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการขออนุมัติให้ความเห็นชอบหลักการในการเดินทางไปประชุมต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีและคณะในโอกาสต่างๆ ในสัปดาห์หน้า คือการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการแถลงการณ์ร่วม ไม่มีภาระผูกพันตามกฎหมาย และจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของอาเซียน
นอกจากนั้น เป็นการรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องของกฎหมาย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาและดำเนินการ จนกว่าจะมีผลบังคับใช้ต่อไป
ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า ที่ประชุมได้คัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ คสช. และรัฐบาล จำนวน 11 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมาย โดยการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวต้องรับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมไปถึงภาคประชาชนอย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างธรรมาภิบาลในอนาคต นอกจากนั้น ได้มีการอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 7,000 กว่าคน เพื่อเป็นคณะทำงานช่วยเหลืองานปฏิรูปประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวชี้แจงต่อไปถึงเหตุผลการเลือกนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นไปตามมติของที่ประชุม โดยได้มีการพิจารณาคัดเลือกมาตามกระบวนการแล้ว พร้อมกล่าวว่า ทุกคนล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนเดียวไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความเห็นจากสมาชิก และต้องเป็นไปตามมติที่ประชุม จึงขอโอกาสให้คนที่ได้รับคัดเลือกได้ทำงาน

เฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้เข้าเว็บผ่านเครือข่าย Tor

เฟซบุ๊กเปิดตัวลิงก์ .onion เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานเว็บไซต์ผ่านเครือข่าย Tor ได้อย่างราบรื่นขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานเฟซบุ๊กบนเครือข่าย Tor ด้วยการพิมพ์ที่อยู่เว็บไซต์ https://facebookcorewwwi.onion/ ลงในเบราว์เซอร์ Tor
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าแรกในซิลิคอนวัลเลย์ ที่สนับสนุนการใช้งาน Tor อย่างเป็นทางการ

แม้ก่อนหน้านี้ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้จากเบราว์เซอร์ Tor อยู่แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ได้สื่อสารผ่านเครือข่ายปิดทั้งหมด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตำแหน่งที่อยู่และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้ถูกเปิดเผย แต่การใช้งานเฟซบุ๊กผ่านลิงก์ดังกล่าวจะทำให้ข้อมูลทั้งหมดถูกเข้ารหัส และทำให้ผู้ใช้ได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัวทั้งหมดจาก Tor รวมทั้งเฟซบุ๊กจะไม่เข้าใจคิดผิดว่าผู้ใช้ที่ใช้เฟซบุ๊กผ่าน Tor เป็นบัญชีที่ถูกเจาะระบบด้วย

ดร.สตีเวน เมอร์ด็อก ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการดังกล่าวของเฟซบุ๊กกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า แม้ว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะยังคงต้องล็อกอินโดยใช้ชื่อจริง แต่การที่ผู้ใช้บอกชื่อจริงกับเฟซบุ๊กไม่ได้ทำให้ที่ตำแหน่งที่อยู่และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ถูกเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ Tor เป็นเครือข่ายที่ปกป้องความเป็นนิรนามของผู้ใช้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บเพจต่างๆ ได้โดยไม่ทิ้งร่องรอย และยังทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่ปรากฏในเสิร์ชเอนจินได้ด้วย ซึ่งการทำงานหลักของ Tor คือสลับสับเปลี่ยนเส้นทางการรับส่งข้อมูลไปในหลายๆ เส้นทาง ทำให้เป็นการยากที่จะหาพบว่าผู้ใช้กำลังใช้งานจากที่ใด

แต่วิธีการทำงานดังกล่าวของ Tor มีปัญหากับการใช้งานเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เพราะหนึ่งในวิธีรักษาความปลอดภัยของเฟซบุ๊กคือ หากเฟซบุ๊กเห็นว่าผู้ใช้ล็อกอินจากตำแหน่งที่ดูผิดปกติ ระบบจะคิดว่าบัญชีผู้ใช้อาจถูกเจาะระบบ แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง การล็อกอินจากตำแหน่งที่ผิดไปจากปกติอาจเป็นเพราะผู้ใช้เปลี่ยนตำแหน่งการเข้าเว็บไซต์จริงๆ อย่างการไปพักผ่อนต่างประเทศ ผู้ใช้จึงมักต้องยืนยันตัวตนผ่านหลายขั้นตอน อาทิ การระบุชื่อเพื่อนตามที่เห็นในรูป ก่อนจะสามารถล็อกอินเข้าไปใช้งานบัญชีได้ตามปกติ

อีกปัญหาหนึ่งของการใช้งานเฟซบุ๊กผ่านเครือข่าย Tor คือปัญหาเกี่ยวกับการแสดงฟอนต์ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้งานเฟซบุ๊กผ่านเครือข่าย Tor ไม่สะดวกนัก

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเฟซบุ๊กเป็นผลดีต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นในจีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และคิวบา ที่ต่างก็พยายามปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะจีนที่มีความพยายามในการขัดขวางการใช้งานเบราว์เซอร์ Tor ด้วย

อ่านวิธีติดตั้งและใช้งาน Tor เบื้องต้นได้ที่ https://thainetizen.org/tor/

ทหารบุกห้องประชุม 'สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ' ที่ขอนแก่น

Wed, 2014-11-05 13:10

            ตร.สันติบาล-เจ้าหน้าที่ทหาร จ.ขอนแก่น บุกเข้ามาระหว่างการประชุมหัวข้อ “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



 
5 พ.ย. 2557 เวลาประมาณ 10.00 น. มีรายงานว่า มีตำรวจสันติบาล 2 คน จากจังหวัดขอนแก่นเข้ามาในบริเวณห้องประชุมเรื่อง “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ต้นหว้ารีสอร์ท จ.ขอนแก่น
ผู้จัดการประชุม ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนเข้ามาในขณะที่ผู้ร่วมประชุมประมาณ 30 คนอยู่ในห้องประชุมกันหมดแล้ว โดยด้านนอกห้องที่โต๊ะลงทะเบียนยังมีใบลงทะเบียนและเอกสารการประชุมที่วางทิ้งไว้สำหรับคนที่ยังมาไม่ถึง
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาอยู่ในห้องประชุมก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้น คาดว่าน่าจะเป็นเวลา 09.50 น. ซึ่งผู้จัดงานตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านคนหนึ่งแต่ก็ไม่รู้จัก ในขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนยืนอยู่หน้าห้องที่โต๊ะลงทะเบียนกำลังยืนตรวจรายชื่อในใบลงทะเบียนอยู่ หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที ผู้จัดงานได้เห็นเจ้าหน้าที่คนที่อยู่ข้างในเดินออกมาหาเจ้าหน้าที่คนที่อยู่ด้านนอกซึ่งยังยืนอยู่ที่เดิม ดังนั้นทางผู้จัดก็เลยเดินเข้าไปสอบถามว่าเป็นใครมาทำอะไรที่นี่ เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คนก็ไม่มีใครตอบอะไร แต่ผู้จัดบางคนเริ่มคุ้นหน้าว่าเป็นสันติบาลจังหวัดขอนแก่น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ 2 คนก็เดินออกไปด้านนอก
ผู้จัดมองออกไปเห็นมีเจ้าหน้าที่รออยู่อีก 4 คน ต่อจากนั้นประมาณ 5 นาทีก็มีรถหนึ่งเข้ามาจอดมีเจ้าหน้าที่ลงมาสมทบอีก 2 คน หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 นาทีก็มีนายทหาร 2 นายมาถึง แล้วก็เดินเข้ามาที่ห้องประชุม แต่ยังไม่ทันที่จะเข้าห้องประชุมก็เจอผู้จัดงานก่อนซึ่งทางทหารถามว่า “มาจัดเวทีเรื่องอะไรกัน?” ผู้จัดงานบอกว่า “จัดเวทีเรื่องสิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญเพื่อนำข้อเสนอที่ได้ไปสู่ส่วนกลางมีการจัดทั่วไปหลายจังหวัด” ทหารสอบถามอยู่ประมาณ 5-10 นาที ก็ออกไป แต่สายข่าวยังอยู่ต่ออีกครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นสายข่าวทั้งหมดก็ออกไป
สำหรับการประชุมนั้นดำเนินไปตามปกติ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าสายข่าวหรือทหารนั้นจะยังอยู่แถวนั้นหรือจะกลับเข้ามาอีกหรือไม่
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าจากการที่เจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาเช็ครายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมนั้น เป็นเพราะทางทหารกำลังพยายามติดตามตัวบุคคลทั้ง 17 คนที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “ไม่ปฏิรูปใต้ท๊อปบู๊ท คสช.” ซึ่งผู้ลงชื่อส่วนใหญ่นั้นเป็นคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสานแทบทั้งสิ้น
ต่อมา เวลา 12.17 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 นาย และทหาร 3 นาย กลับเข้ามายังที่ประชุมอีกครั้งเพื่อเข้ามาถ่ายเอกสารออกไป
ล่าสุด 13.00 น. กำลังตำรวจทหารเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ตำรวจ 5 ทหาร 3 และเพิ่มมาอีก 2 คันรถเมื่อสักครู่

เฟซบุ๊กเผย รบ.ไทย ขอข้อมูลผู้ใช้ 1 ราย-ขอปิดกั้นเนื้อหาวิจารณ์กษัตริย์ 5 รายการ

เฟซบุ๊กเปิดรายการคำขอจากรัฐบาลทั่วโลก 84 ประเทศ รอบครึ่งปีแรก ปี 57 พบว่า คำขอข้อมูลผู้ใช้เพิ่ม 24% สหรัฐฯ ขอข้อมูลผู้ใช้มากสุด 15,433 ครั้ง ขณะรัฐบาลไทยขอข้อมูลผู้ใช้ 1 ราย แต่เฟซบุ๊กไม่ได้ส่งให้ นอกจากนี้เฟซบุ๊กได้ปิดกั้นเนื้อหาวิจารณ์กษัตริย์ตามคำขอของกระทรวงไอซีทีของไทย 5 รายการ
5 พ.ย.2557 เฟซบุ๊กเปิดรายการคำขอจากรัฐบาลทั่วโลก 84 ประเทศ ในรอบครึ่งปีแรก (เดือน ม.ค.-มิ.ย.2557) โดยพบว่า มีคำขอข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก (ได้แก่ ข้อความแชต, ไอพีแอดเดรสและข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้) จากรัฐบาลทั่วโลก จำนวน 34,946 ครั้ง เพิ่มขึ้น 24% จากครึ่งปีหลังของปี 2556 ขณะที่คำขอให้ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา มีจำนวน 8,774 รายการ
สำหรับประเทศไทย เฟซบุ๊กระบุว่า รัฐบาลไทยส่งคำขอข้อมูลผู้ใช้ 1 ราย แต่เฟซบุ๊กไม่ได้ส่งข้อมูลให้ โดยเฟซบุ๊กระบุว่า จะทำตามคำขอซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีอาญา โดยจะมีการตรวจสอบถึงความเหมาะสมของกฎหมายทุกครั้ง ทั้งนี้ จะปฏิเสธหรือขอให้มีการเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในกรณีที่มีการร้องขอที่กว้างหรือคลุมเครือมากเกินไป
ด้านการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีของไทยขอให้เฟซบุ๊กปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในเว็บ 5 รายการเนื่องจากขัดกับกฎหมายไทยที่ห้ามการวิจารณ์กษัตริย์
ทั้งนี้ ประเทศที่มีการขอข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในรอบนี้คือสหรัฐอเมริกา จำนวน 15,433 ครั้ง โดยเป็นการขอข้อมูลผู้ใช้  23,667 ราย และเฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลไป 80.15%
ก่อนหน้านี้ กูเกิลออกรายงานเพื่อความโปร่งใส รอบครึ่งปีแรกของปี 2557 ระบุมีคำขอของรัฐบาลไทยให้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้จากบัญชีหรือบริการของกูเกิล 10 ครั้ง เป็นผู้ใช้ 15 บัญชี แต่กูเกิลไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว

ทหารเรียกคุยผู้จัดงานที่ขอนแก่น หวั่นจัดเวทีการเมือง



5 พ.ย. 2557 กรณีมีตำรวจสันติบาล-ทหาร จำนวนหนึ่ง เข้าไปงานประชุมเรื่อง “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้นหว้ารีสอร์ท จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
อภิสิทธิ์ พันธ์วิไล นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า วันนี้ตำรวจและทหารเข้ามาที่การประชุม 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ได้เชิญตนเองในฐานะผู้จัดงานไปพบ พ.อ.ประกิจ ทับทอง รองผู้บัญชาการ มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ ที่ค่ายฯ ขณะที่การประชุมนั้นดำเนินต่อไปตามปกติ
อภิสิทธิ์ ระบุว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี โดยทหารชี้แจงว่า มีผู้โทรไปแจ้งว่ามีการจัดสัมมนาในพื้นที่โดยไม่ได้ขออนุญาตและเมื่อเดินทางไปถึงการประชุมครั้งแรก ทหารเข้าไปสังเกตการณ์ไม่ได้ เพราะมีผู้เข้าร่วมปิดประตูไม่ให้เข้า ทำให้สงสัยว่ามีการพูดคุยเรื่องการเมืองหรือไม่ เมื่อไปครั้งที่สอง จึงเชิญผู้จัดมาสอบถามและขอให้หาตัวผู้ที่ปิดประตูด้วย  
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาเองไม่ทราบว่ามีการปิดประตูเนื่องจากนั่งอยู่ในห้องประชุมและไม่ทราบว่าเป็นใครด้วย ทั้งนี้ได้ชี้แจงถึงเป้าหมายการจัดงานว่าเป็นไปเพื่อการระดมความเห็นต่อประเด็นสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอต่อ สนช.และ สปช.ต่อไป และการประชุมเมื่อช่วงเช้าก็เป็นการบรรยายเรื่องประวัติของสิทธิชุมชน ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง
ส่วนที่มีความกังวลว่าทหารจะมาถามหาตัวบุคคลและองค์กรภาคประชาชนอีสานที่ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรัฐประหารนั้น เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้ถามถึงกลุ่มบุคคลดังกล่าว เพียงแต่กล่าวถึงว่า หากมีกลุ่มบุคคลนั้นเข้าร่วม เวทีก็จะมีอคติ เพราะพวกเขาได้แสดงออกว่าไม่ได้สนใจการปฏิรูปแล้ว
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับงานพรุ่งนี้สามารถจัดได้ตามปกติ แต่ทหารได้ขอรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกคน ซึ่งหลังจากกลับมาจากค่าย ตนเองก็ได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมสัมมนาแล้ว
 
ส่วนการประชุม “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา อภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้จะดำเนินไปตามปกติ แต่มีการเปลี่ยนกำหนดการ เนื่องจากวิทยากรบางส่วนซึ่งเป็นบุคคลที่ร่วมลงชื่อไม่ร่วมปฏิรูปกับ คสช. กังวลว่าจะถูกจับหรือเรียกตัว จึงเดินทางกลับไปก่อน

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มภาคประชาชนอีสานที่ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคณะรัฐประหาร ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และเคารพนิติรัฐในการปกครองประเทศ

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ได้รับข้อมูลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ว่าบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่และบางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังพร้อมอาวุธไปที่บ้านเพื่อเชิญตัวบุคคลดังกล่าวไปให้ข้อมูลแต่ในวันดังกล่าวมีเพียง 2 รายได้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารแล้วที่ค่ายประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้สอบถามถึงสาเหตุและความคิดเห็นในการออกแถลงการณ์ดังกล่าว พร้อมให้ลงนามว่าหากเจ้าหน้าที่เรียกไปพบเมื่อใดต้องไปพบในทันที ส่วนรายอื่นๆ มีนัดหมายในวันถัดไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น เป็นต้น