วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554


กองทัพกำลังมัดตัวเองกับการเมือง!

         รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการที่ติดตามทั้งด้านการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง จึงมีมุมมองถึงการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมว่าจะทำให้การเมืองเกิดความปรองดองได้หรือไม่ บทบาทของกองทัพกับการเมืองจะออกมาในรูปใด รวมทั้งตุลาการภิวัฒน์ที่เคยมีบทบาทอย่างมากหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มองสถานการณ์การเลือกตั้งอย่างไร


การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเห็นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ด้านหนึ่งคงมีข้อสังเกตและมีข้อถกเถียงอยู่พอสมควรว่า ยุบสภาแล้วจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และก่อนที่จะยุบสภาก็มีข้อถกเถียงว่าจะยุบสภาจริงหรือไม่ ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทย ที่จริงแล้วการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 และผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายจนนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของการเมืองไทย


ประเด็นเหล่านี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะแต่เดิมจะเห็นว่าพอยึดอำนาจเสร็จหลายคนก็มีข้อกังวลว่าการเลือกตั้งจะเกิดได้หรือไม่ ในท้ายที่สุดปลายปี 2550 การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นจริงๆ แต่พอการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะเห็นตัวแบบของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งสุดท้ายนำพารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่อำนาจ แต่ในขณะเดียวกันตั้งแต่การมีอำนาจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นปมขัดแย้งของการเมืองไทยที่ไม่มีข้อยุติ


โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เป็นผลพวงจากการล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประเด็นเหล่านี้สะท้อนชัดว่ายิ่งนานวันการเมืองไทยยิ่งไร้เสถียรภาพ หลายคนจึงเรียกร้องว่า ในความไร้เสถียรภาพนั้นการเมืองไทยน่าจะถอยกลับไปตั้งหลักด้วยหลักการพื้นฐานเดิมของระบอบประชาธิปไตย คือให้รัฐบาลคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน


คิดว่าหลายท่านที่เป็นคนเฝ้าดูการเมืองไทยก็มีความกังวลว่า โอกาสของการจะถอยกลับสู่การเลือกตั้งนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลว่ากลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจต่างๆยังเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือไม่ใช่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเกิดการเลือกตั้งแล้วประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วผลของการตัดสินใจนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับความต้องการของชนชั้นนำ หรือกลุ่มทหาร หรือบรรดาผู้มีอำนาจ ปัญหานี้ก็เป็นที่ถกเถียงว่าในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกหรือไม่


แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่ารัฐบาลเมื่อไม่สามารถทานต่อข้อเรียกร้องและแรงกดดันทางการเมืองได้ ในที่สุดนายกฯอภิสิทธิ์ก็ตัดสินใจยุบสภา เมื่อยุบสภาอย่างที่ผมเรียนตอนต้น ข้อถกเถียงก็คือ ยุบสภาแล้วได้เลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งในที่สุดเราก็เห็นว่าการเลือกตั้งได้เกิดขึ้นจริงในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ที่จะนำไปสู่ข้อถกเถียงอีกแบบหนึ่งว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง แล้วการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นจริงจากเสียงของประชาชนหรือไม่ ตรงนี้ผมคิดว่าคงเป็นอะไรที่ต้องติดตามดูต่อในอนาคต


ถ้าวันนี้เราดูการเมืองไทย แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้เป็นความกังวล แต่ผมคิดว่าถ้าผลของการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เกิดจากเสียงของประชาชน นั่นน่าจะกลายเป็นปมปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่งในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจบางส่วนที่ว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดไม่จำเป็นต้องมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พยายามที่จะเสนอวาทกรรมว่า กลุ่มที่รวมเสียงได้มากที่สุดต่างหากที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล


ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะสร้างทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ หรือกลุ่มทหาร หรือกลุ่มที่ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แน่นอนว่าถ้าเราพิจารณาอย่างนี้การเมืองก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันที่ 3 กรกฎาคมนั้นน่าจะยิ่งมีความเข้มข้น และในระยะสั้นๆ ยิ่งใกล้วันที่ 3 กรกฎาคมเท่าไร ความเข้มข้นของการเมืองจะมีมากขึ้น แน่นอนเราไม่ใช่หมอดู แต่สิ่งที่เราเห็นชัดก็คือ ในความเข้มข้นนี้ด้านหนึ่งจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายฝ่ายพยายามสกัดกั้นเพื่อไทย


การที่มีกลุ่มเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ (อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.) ออกเอกสารเชิญร่วมกล่าวโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย) ซึ่งเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีกลุ่มเสื้อหลากสี นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์จากคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดจากความคาดหมายเท่าไร


ในส่วนของคดีซุกหุ้นมีความพยายามที่จะก่อกระแสในสื่อหนังสือพิมพ์บางส่วนมาก่อน แต่ถ้าเราสังเกตกระแสนี้คนหลายส่วนมองว่าน่าจะจบไปแล้ว เมื่อนักหนังสือพิมพ์บางส่วนก่อกระแสขึ้น ก็จะเห็นว่าหลังจากนั้นมีกลุ่มบางกลุ่มพยายามใช้ประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวต่อ ในภาพรวมของสังคมไทยเชื่อว่าประเด็นนี้ไม่เป็นประเด็น ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้กระบวนการตุลาการภิวัฒน์กลับเข้ามาเล่นหรือกลับเข้ามามีบทบาทใหม่
แต่เชื่อว่าถ้าถามคนโดยทั่วไป หลายคนมีความรู้สึกคล้ายๆกันว่าเรื่องนี้จบแล้ว ปัญหานี้น่าจะยุติลงไปแล้ว ไม่น่าจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการไล่ล่าหรือทำลายล้างพรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณอีกต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่หรือไม่ ก็ไม่ได้ผิดความคาดหมายอะไร กลุ่มที่ออกมาก็รู้อยู่ว่ามีความสัมพันธ์และมีเครือข่ายอย่างไร พูดง่ายๆเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549


วันนี้มีความพยายามที่จะฟื้นกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีประเด็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากกรณีการซุกหุ้นอย่างไร ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมคิดว่าเป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาเหมือนกับการตีปลาหน้าไซ เพราะว่าทุกฝ่ายมองว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณก็คงเป็นผลพวงที่สืบเนื่องตามมา แต่ทั้งหลายทั้งปวงประเด็นนี้ต้องดูในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยชูนโยบายที่จะนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ


ถ้าเกิดพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากและเป็นรัฐบาล คำถามก็คือ เรายอมรับได้หรือไม่ว่าเสียงข้างมากนั้นสามารถทำให้เรื่องนี้กลายเป็นนโยบายได้ แล้วนำไปสู่การเสนอทิศทางที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับ แต่คิดว่าประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นแล้วประชาชนรับไม่ได้ คงจะเป็นปัญหาสำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ในท้ายที่สุดยังเป็นประเด็นที่ต้องนำไปพิจารณากันจริงๆหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว


ขอย้ำว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยเป็นประเด็นที่ไม่ได้ผิดคาด เพราะเราเห็นมาตลอดว่ามีความพยายามที่จะสกัดการเติบโตของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยมาตรการต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น อย่างที่ผมบอกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทยทวีความเข้มข้นมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งมาตรการต่างๆที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อต้านพรรคเพื่อไทยนั้น ในข้อพิจารณาอาจน่าสนใจว่ายิ่งต่อต้านมากเท่าไร ถ้าเกิดประชาชนรับไม่ได้จะยิ่งเป็นผลในด้านกลับ


ขณะเดียวกันมาตรการในการไล่ล่าอย่างนี้ ด้านหนึ่งทำให้คนบางส่วนเริ่มรู้สึกว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ไม่อาจยอมรับได้ ฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายที่พยายามขัดขวางพรรคเพื่อไทยด้วยการใช้มาตรการเหล่านี้อาจรู้สึกว่ามาตรการเหล่านี้เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการเติบโตของพรรคเพื่อไทยได้ แต่คำตัดสินสุดท้ายก็อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน เพราะยิ่งเคลื่อนไหวต่อต้านเท่าไร แล้วเกิดผลกลายเป็นผลักดันให้ประชาชนเป็นแนวร่วมมุมกลับให้พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ยิ่งได้คะแนนเสียงและเติบโต จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องนำมาชั่งใจดู
เป็นห่วงกองทัพแทรกแซงอีกหรือไม่


ไม่ว่าจะใช้คำว่า “อำนาจนอกระบบ” หรือ “อำนาจของฝ่ายทหาร” ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าหลายครั้งหลายคราวมีความพยายามที่จะยืนยันจากผู้นำฝ่ายกองทัพว่าทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง แต่ด้านหนึ่งเราก็เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าโครงการ 315 ออกมาเคลื่อนไหวกับชุมชนในกรุงเทพฯ แล้วอีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน (กอ.รมน.) ในพื้นที่ต่างจังหวัดและชนบทนั้นก็เป็นตัวแบบของปัญหา


คิดว่าคำพูดเฉยๆในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าจะบอกว่าทหารไม่ยุ่งกับการเมือง ในเชิงน้ำหนักของคำพูดไม่ค่อยทำให้คนเชื่อเท่าไร เนื่องจากสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ทหารมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ทำให้วาทกรรมที่บอกว่าทหารไม่ยุ่งกับการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นภาษาซึ่งคนไม่ให้น้ำหนักเท่าไร


ในทางกลับกันมีคำถามว่า ทำไมโครงการ 315 และโครงการต่างๆของ กอ.รมน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าเป็นโครงการปราบปรามยาเสพติดนั้น ผมไม่ได้ต่อต้านบทบาทของทหารกับการปราบปรามยาเสพติด แต่จังหวะเวลาของการนำโครงการเหล่านี้เข้าไปในชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและชนบทเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าบอกว่าการเคลื่อนไหวของทหารต้องลงพื้นที่ในภาวะที่จะมีการเลือกตั้ง แน่นอนไม่ว่าทหารจะตั้งใจดีอย่างไร ก็จะถูกมองด้วยสายตาที่เคลือบแคลงว่ากองทัพพยายามเข้าไปมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทั้งในเมืองและชนบท เพื่อหวังผลว่าจะทำให้เสียงของการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้นำทหารต้องการ
มีผลกระทบต่อการเมืองไทยแค่ไหน


เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็จะหวนกลับมาสู่ประเด็นเดิม หลายคนกลับมาตั้งโจทย์เก่าว่า ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ตรงใจกับที่ผู้นำทหารและผู้มีอำนาจต้องการ กลุ่มทหารจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร พูดในสถานการณ์ปัจจุบันคงตอบได้ยาก เพราะถ้าตอบแล้วเหมือนกับการนั่งทำนายเหมือนดูดวง แต่สิ่งที่เป็นความกังวลของหลายฝ่ายก็คือ ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ตรงกับความต้องการของฝ่ายทหาร และถ้ากองทัพตัดสินใจเข้าแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อกองทัพจะมีมากขึ้น


การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าด้านหนึ่งกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองสูง ผมเองใช้คำพูดว่า กองทัพในปัจจุบันนั้นกำลังพันธนาการตัวเองกับการเมือง ทำให้ทหารปลีกตัวออกจากการเมืองได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นมีแต่ยิ่งผูกมัดกองทัพ ขณะเดียวกันต้องถามใจคนในสังคมไทยว่าถ้าผลเลือกตั้งออกมาไม่เป็นดั่งใจทหาร แล้วผู้นำทหารตัดสินใจแทรกแซง คำถามใหญ่ก็คือ สังคมไทยในอนาคตอย่างการเลือกตั้งนั้นยอมรับได้หรือไม่


ถ้าไม่ยอมรับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ต้องการเปรียบเทียบว่าการแทรกแซงเหล่านั้นอาจทำให้สังคมไทยกลายเป็นตัวแบบเหมือนประเทศตูนิเซีย อียิปต์ หรือสถานการณ์ในหลายประเทศของตะวันออกกลางในปัจจุบัน แต่ก็เป็นประเด็นที่น่านำมาพิจารณาสำหรับกลุ่มมีผู้อำนาจทั้งหลายว่า การแทรกแซงผลการเลือกตั้งในท้ายที่สุดอาจส่งผลเสียและผลกระทบต่ออำนาจของพวกเขามากขึ้น


ส่วนคำถามที่ว่ากองทัพจะยอมหรือไม่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคเพื่อไทยชนะ ก็คงต้องดูว่าชนะมากน้อยเพียงใด หรือชนะในลักษณะที่ภาษาการเมืองเรียกว่าเสียงปริ่มน้ำ ประเด็นนี้คงต้องมีการถกกันจริงๆในสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เมื่อตัวเลขจริงๆออกมาให้เห็น ขอย้ำว่าแม้มีความพยายามที่กองทัพจะกระทำการบางอย่างโดยหวังว่าการเลือกตั้งจะส่งผลตามที่ผู้นำทหารปรารถนา ถ้าผลออกมาเป็นอย่างอื่นแล้วมีความพยายามที่จะทำรัฐประหารเงียบ หรือมีความพยายามที่จะเดินเกมผ่านกลไกตุลาการภิวัฒน์ ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นปมของความขัดแย้งที่มากขึ้น


ถ้าเรามองสถานการณ์การเมืองไทย คิดว่าวันนี้กลุ่มผู้มีอำนาจต้องชั่งใจมากขึ้น และพยายามที่จะผูกมัดอำนาจไว้ในมือของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีลักษณะของการที่จะทำให้ระบบการเมืองถอยคืนสู่ภาวะปรกติ ในทางกลับกันจะยิ่งทำให้ระบบการเมืองกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในตัวระบบเองมากขึ้น แล้วสิ่งที่น่ากังวลคือ ความขัดแย้งเหล่านี้ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แล้วนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองในวงกว้าง จะส่งผลให้เป็นปัญหาเหมือนในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน


ถ้าหากมีการใช้กลไกตุลาภิวัฒน์จริง ผมอาจไม่กล้าตอบรูปแบบการใช้กลไกตุลาภิวัฒน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ แต่ถ้าเราดูกลไกการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารปี 2549 เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งว่า มี 2 ส่วนที่ผมเรียกเสมอว่ากลไก 1 คือกลไกเสนาภิวัฒน์ เป็นรูปแบบการใช้ทหารในลักษณะของการกดดันทางการเมือง เพื่อหวังผลตามที่ฝ่ายตัวเองต้องการ กับอีกด้านหนึ่งที่คู่ขนานกันคือ ตุลาการภิวัฒน์ ถ้าเราสังเกตให้ดีการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร กลไกอีกส่วนหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนและให้ผลเชิงนโยบายอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการได้มากเป็นกลไกตุลาการภิวัฒน์


ขณะนี้หลายฝ่ายก็นั่งดูว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าผลออกมาเป็นอย่างอื่น ถ้าสถานการณ์นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเผชิญปัญหาเดียวกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือไม่ บทเรียนจากรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายเป็นตัวแบบที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้นก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วจริงๆ แล้วขั้วเดิมถูกทำลายทิ้งด้วยการอาศัยกลไกตุลาการภิวัฒน์


มุมอย่างนี้แน่นอนว่าคอการเมืองมีความกังวลไม่ต่างกันว่า ถ้ากลไกเสนาภิวัฒน์ทำงานได้ไม่เต็มที่ กลไกหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอนาคตก็คือ ตุลาการภิวัฒน์ เช่น ผู้มีอำนาจอาจใช้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ทำโน่นทำนี่ แต่ผมเชื่อว่า กกต. ได้เห็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหลายรูปแบบ เชื่อว่าคงไม่มีการนำ กกต. มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง ไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่ปัญหาที่คนอาจไม่ยอมรับกกต. และจะกลายอีกปมปัญหาหนึ่ง โดยภาพรวมปัญหาจะไม่หนีจากเดิม ไม่ว่าจะใช้กลไกเสนาภิวัฒน์หรือตุลาการภิวัฒน์ คำถามใหญ่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับกลไกที่ถูกนำมาใช้เหล่านั้นจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่มากขึ้นในสังคมไทยหรือไม่


แนวโน้มถึงขั้นยุบเพื่อไทยอีกหรือไม่


หลายฝ่ายก็มีความกังวลในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน และเป็นประเด็นที่คาดการณ์ว่า อันแรกเราจะได้ยินข้อถกเถียงว่า พรรคเพื่อไทยชนะแล้วตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีได้หรือไม่ ประเด็นถัดไปตั้งรัฐบาลได้จริง แต่จะถูกยุบพรรคหรือไม่ คิดว่าดีที่สุดต้องไปดูกันในอนาคตอย่างที่เรียนตอนต้นว่า หลายฝ่ายกังวลว่าถ้าพรรคเพื่อไทยชนะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชะตากรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์จะจบลงแบบเดียวกับรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายหรือไม่


แต่อย่างที่มีการกล่าวถึงเสมอว่าการตัดสินทางการเมืองที่มีนัยสำคัญต่ออนาคตของประเทศและระบบการเมืองนั้น ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและความเที่ยงธรรม ถ้าการตัดสินเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและพรรคการเมืองคู่แข่ง ยิ่งนานวันอาจจะยิ่งทำให้เกิดผลด้านกลับ และไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเองในท้ายที่สุด


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 
หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข
http://redusala.blogspot.com

‘ผังล้มเจ้า’ผังกำมะลอ!ความรับผิดชอบทางกฎหมาย?
 http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11066

       รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 314 ประจำวัน จันทร์ ที่ 13 มิถุนายน 2011
         โดย สาวตรี สุขศรี
         ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 23 ในเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com โดยอาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตคำสารภาพเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” ของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกและอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เมื่อนายสุธาชัยรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยที่ 3 จึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3


พ.อ.สรรเสริญกล่าวต่อศาลในทำนองว่า “แผนผังล้มเจ้า” แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเรื่องที่ ศอฉ. คิดขึ้นเองแบบทันทีทันใด โดยยังไม่มีข้อยืนยันว่ารายชื่อที่อยู่ในแผนผังคือคนที่คิด “ล้มเจ้า” หรือ “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” จริงๆ และกล่าวโทษสื่อมวลชนที่นำแผนผังดังกล่าวไป “ขยายความ” เองจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ก็แสดงความเชื่อมั่นต่อการใช้ “ดุลยพินิจและวิจารณญาณ” ของสังคมและประชาชนไทยว่าคงจะสามารถพิจารณาได้ว่าผังล้มเจ้าของ ศอฉ. หมายความว่าอย่างไรกันแน่ จึงควรตั้งเป็นข้อสังเกตและนำไปปฏิบัติหลายประการดังนี้


1.สังคมที่ร้องหาคนดี โดยไม่มีคำตำหนิต่อผู้กล่าวความเท็จ


ประการที่ 2 ในช่วงเวลานั้นมีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่าท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ (ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ) ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. อยู่ตลอดเวลาให้ดำเนินการนานัปการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น หมายความว่ามีความพยายามจะสร้างภาพให้สังคมเห็นว่าพระองค์ท่านมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ซึ่งมิได้เป็นความจริง ศอฉ. ก็มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร”


คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญคำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. ในประเด็นเรื่องความพยายามในการช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่อาจไม่เป็นความจริงและน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ “ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์” นั้น อันที่จริงต้องถือเป็นเรื่องถูกต้องดีแล้วหาก ศอฉ. จะแสดงความเป็นสุภาพบุรุษหาทางชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลที่อาจได้รับความเสียหายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการกระทำหรืออำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง และจะยิ่งถูกต้องที่สุดถ้าความเป็นสุภาพบุรุษของ ศอฉ. เยี่ยงนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าผู้นั้นจะมียศถาเป็น “ท่านผู้หญิง” หรือเป็นเพียง “สามัญชนคนธรรมดา”


อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่ควรยอมรับได้เลยหากคำชี้แจงเพื่อปกป้องบุคคลคนหนึ่งกลับกลายเป็นการกล่าวหาหรือ “เสมือนกล่าวหา” บุคคลอีกคนหรืออีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บน “มูลความจริง” เพราะนั่นย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นอาจได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกับท่านผู้หญิง 


เราย่อมไม่อาจให้อภัยได้เมื่อพบว่า “ความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร” อันเป็นคำชี้แจงของอดีตโฆษก ศอฉ. นั้น กลับไม่ใช่การชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่เป็น “ความจริง” เพื่ออธิบายให้สังคม “ทราบความจริง” แต่กลายเป็นการกล่าว “ความไม่จริง” เรื่องหนึ่งเพื่ออธิบาย “ความไม่จริง” อีกเรื่องหนึ่ง คำถามก็คือเช่นนี้แล้วเมื่อไรที่สังคมไทยจะได้รับทราบ “ความจริง”


อนึ่ง ไม่ว่าในความเป็นจริงจะมีขบวนการล้มล้างสถาบันอยู่หรือไม่ หรือใครเป็นผู้คิดล้มล้าง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ประเด็นหรือข้อแก้ตัวให้กับการกล่าวหาบุคคลใดๆโดยขาด “ข้อเท็จจริง” ที่จะมายืนยันความผิดที่ผู้ถูกใส่ความจนอาจได้รับโทษหรือถูกเกลียดชังจากสังคม ฉะนั้น ศอฉ. จึงต้องมีความรับผิดชอบบางประการต่อเรื่องนี้ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) ในขณะที่คนอื่นใดที่เพิกเฉยต่อการกระทำของ ศอฉ. โดยยกข้ออ้างทำนองว่า “แผนผังอาจไม่จริง แต่ก็ใช่ว่าขบวนการล้มเจ้าจะไม่มีอยู่จริง” ควรต้องนับว่าเป็นผู้บกพร่องทางตรรกะ วิจารณญาณ และออกจะไร้สติสัมปชัญญะอยู่มาก


นับเป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกันเมื่อปรากฏการณ์นี้มาพร้อมกับความเงียบงันโดยพร้อมเพรียงกันของผู้คนทั้งที่มีอาวุโสและไม่มีอาวุโสทั้งหลาย ที่มักคร่ำครวญหาผู้มีศีลธรรมความดีงามให้เข้าสู่อำนาจและทำตนเป็นแบบอย่าง เป็นหลักเป็นฐานกับบ้านเมือง 


เขาเหล่านี้ทำเหมือนกับว่า “การไม่กล่าวคำเท็จ การไม่พูดจาส่อเสียด หรือการไม่นำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน รวมทั้งการกล่าวคำที่อาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย” เหล่านี้ไม่ได้เป็นข้อหนึ่งที่ผู้มีธรรมควรยึดถือปฏิบัติ หรือเป็นหมุดหมายหนึ่งของคุณลักษณะแห่งการเป็น “คนดีมีศีลธรรม” บุคคลเหล่านี้คือคนที่พร้อมยกมือสนับสนุนให้จำกัดจัดการเสรีภาพของสามัญชนอย่างถึงที่สุด หากคำพูดของมันผู้นั้นทำท่าว่าจะก่อความเสียหายให้แก่อภิสิทธิ์ชน แต่กลับหดมือซุกกระเป๋าเมื่ออภิสิทธิ์ชนเป็นคนทำให้สามัญชนต้องเสื่อมเสีย


ฤาคำว่า “ศีลธรรมและความดีงาม” ของประเทศนี้ไม่ได้รวมถึงการ “ห้ามกล่าวความเท็จ”



2.บทบาทของสื่อกระแสหลัก


น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยต้องพบว่า ณ เวลาที่ ศอฉ. แถลงข่าวต่างๆในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อกระแสหลักทุกช่องต่างทำจ้องทำหรือต้องทำข่าวเพื่อนำเสนอต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดสดการแถลงข่าว (อันเป็นเสมือนหน้าที่ของสื่อเหล่านั้น) แล้วยังมีการสรุปความและนำเสนอในช่วงเวลาเช้า บ่าย เย็นอีกด้วย แต่การณ์กลับปรากฏว่าสื่อกระแสหลักทุกช่อง สื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างประชาชน ต่างพร้อมใจกันเพิกเฉยและไม่ทำข่าวการสารภาพของโฆษก ศอฉ. ว่าแท้ที่จริงแล้ว “แผนผังล้มเจ้า” (ที่สำนักข่าวตนเคยนำไปขยายความเองตามคำซัดทอดของ พ.อ.สรรเสริญ) นั้น ศอฉ. มิได้พูดหรือมิได้ตั้งใจให้หมายความว่าคนซึ่งมีรายชื่อในผังนั้นมีพฤติกรรมหรือมีความคิดที่จะล้มล้างสถาบันจริง ๆ


คงมีเพียงสื่อทางเลือกหรือสื่อกระแสรองเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่เขียนข่าวถึง
ไม่ว่าการ “ขยายความต่อ” จะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด หรือจากความสมัครใจหรือไม่ แต่เมื่อปรากฏว่าสิ่งที่นำไปขยายความนั้นไม่เป็นข้อความจริง หรืออย่างน้อยที่สุดอาจ
ทำให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนอาจทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย คำถามก็คือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ การทำข่าวนำเสนอ “ความจริง” เพื่อแก้ไข “ความไม่จริง” หรือแก้ไข “ความบิดเบือน” ที่ตนเคยเสนอออกไปในอดีต มิได้เป็นสิ่งที่ควรทำหรือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการทำหน้าที่ของ “สื่อไทย” ฉะนั้นหรอกหรือ



ฤาว่าผู้มีรายชื่อในแผนผังกำมะลอฉบับนี้และได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวของสื่อเหล่านี้ควรต้องดำเนินการฟ้องร้องสื่อจริงๆตามคำแนะนำของ พ.อ.สรรเสริญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานแก่สังคม พร้อมๆกับเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่อ


3.โปรดใช้วิจารณญาณแบบไทยๆ
“...แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมต้องตัดสิน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจะฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของ ศอฉ  ก็สุดแล้วแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิจารณา...” คำให้การช่วงหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญ


เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2553 สถานีวิทยุชุมชนถูกปิดจำนวน 26 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ถูกยุติการออกอากาศจำนวน 6 แห่ง ปรากฏชื่อในข่ายมีความผิด 84 แห่งในพื้นที่ 12 จังหวัด ราวเดือนเมษายน 2554 วิทยุชุมชนเสื้อแดง 13 แห่งถูกปิดหรือให้ยุติการออกอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากการสำรวจสถิติการปิดกั้นเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงกลางปี 2553 มีเว็บเพจถูกคำสั่งศาลปิดกั้นการเข้าถึงอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 74,686 ยูอาร์แอล เลขหมายยูอาร์แอลดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักพันเป็นหลักหมื่นในช่วงปี 2552 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการชุมนุมและมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง


ข้อเท็จจริงเบื้องต้นคือ สื่อต่างๆที่ถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงเหล่านี้ นอกจากฝ่ายรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ปิดกั้นแล้ว ไม่มีใครมีโอกาสได้รับรู้เลยว่าเนื้อหาที่เผยแพร่อันเป็นสาเหตุของการถูกปิดกั้นนั้นเป็นอย่างไร หรือขัดต่อกฎหมายอย่างไร


สื่อที่ถูกปิดกั้นบางสื่อนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย มีทั้งที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดได้ และเรื่องทั่วๆไปที่ไม่น่าจะเป็นความผิด (เพราะเนื้อหาในลักษณะเดียวกันสามารถนำเสนอได้ในสื่ออื่นๆที่ไม่ถูกปิดกั้น) แต่ด้วยเหตุผลบางประการ “สื่อเหล่านั้น” ก็กลับถูกปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงทั้งหมดแบบไม่เลือกเนื้อหา


จำนวนตัวเลขยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งศาลจากผลการสำรวจดังกล่าวยังมิได้นับรวมเว็บเพจอีกจำนวนมหาศาลที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งของ ศอฉ. ซึ่งไม่ได้ขอคำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (มาตรา 20) แต่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อเท็จจริงเบื้องต้นอีกเรื่องหนึ่งคือที่ผ่านมาแม้สื่อจำนวนมากจะโดนปิดกั้นไปแล้ว (ปัจจุบันหลายแห่งยังถูกปิดกั้นต่อไป แม้จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม) หรือห้ามไม่ให้ดำเนินการ หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน แต่กลับมีผู้ที่ต้องรับผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นเจ้าของสื่อเหล่านั้นถูกฟ้องร้องหรือถูกศาลพิพากษาว่าเผยแพร่สิ่งที่เป็นความผิดตามกฎหมายจริงๆในจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสื่อที่ถูกปิดกั้นไป จึงนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าตกลงแล้ว “เนื้อหา” ที่ถูกปิดกั้นนั้นเป็นความผิดหรือว่าไม่ผิด



ตัวเลขสถิติ (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) รวมทั้งรูปแบบและวิธีในการปิดกั้นสื่อเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถสะท้อนได้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐไม่ได้ต้องการให้ประชาชนรับสื่อโดยใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินความน่าเชื่อถือของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง รัฐหาได้พยายามเปิดพื้นที่หรือให้โอกาสในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารสำหรับทุกๆฝ่ายไม่ ทั้งที่ข้อมูลที่หลากหลายเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้การคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งของประชาชนและสังคมเป็นไปได้อย่างถูกต้องหรือไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และด้วยสถานการณ์การไล่ล่าสื่อที่เห็นต่างจากฝ่ายรัฐดังกล่าว ประกอบกับพฤติกรรมดูถูกหรือไม่ไว้วางใจสติปัญญาของประชาชนไทยของภาครัฐ จึงนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจยิ่งว่าเมื่อมาถึงกรณี “แผนผังล้มเจ้า” แล้ว พ.อ.สรรเสริญกลับร้องหาและเชื่อมั่นอย่างมากในวิจารณญาณของผู้คนในสังคม


ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ประเด็นคงมิใช่เรื่องที่ผู้เขียนอยากตัดพ้อหรือประชดประชันการใช้อำนาจรัฐแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญที่อยากชี้ชวนให้ตั้งคำถามดังๆก็คือ ในท้ายที่สุดแล้วประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับข้อมูลข่าวสารอย่าง “ครบถ้วนรอบด้าน” จากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากันหรือไม่ อย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจหรือใช้วิจารณญาณต่อเรื่อง “แผนผังล้มเจ้า” (รวมทั้งเรื่องอื่นๆในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาด้วยว่าฝ่ายใดผิดถูก) หากพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงความย้อนแย้งในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ ศอฉ. เรียกร้องการตัดสินใจจากสังคมโดยวิเคราะห์จากข้อมูลอื่นๆที่มีอยู่ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลานั้นรัฐ ศอฉ. และสื่อที่เห็นด้วยกับรัฐแทบจะเป็นฝ่ายเดียวที่มีพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่


เช่นนี้แล้ว ศอฉ. จะต้องแปลกใจด้วยหรือ หรืออันที่จริง ศอฉ. ควรคาดหมายได้อยู่แล้วด้วยซ้ำไปว่าด้วยการใช้ “วิจารณญาณแบบไทยๆ” ผลลัพธ์ที่ออกมาต่อกรณีแผนผังล้มเจ้าของตนและพวกจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร



4.ว่าด้วยความรับผิดชอบในทางกฎหมาย


ไม่ว่าเสธ.ไก่อู ศอฉ. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า “แผนผังล้มเจ้า” มีหน้าที่ “ทางการเมือง” ประการสำคัญ (ดังที่เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้แล้ว) เพราะนอกจากผังดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเคยใช้ผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการอ้างอิงความชอบธรรมสำหรับการกระทำของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำรุนแรงต่อคนไทยด้วยกัน ในฐานะองค์กรผู้ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ ทั้งนี้ รายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่ปรากฏอยู่ในแผนผังจำนวนหนึ่งคือชื่อของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี รวมทั้งผู้ที่อาจยังไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ถูกประณามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง


ด้วยพลังการทำลายล้างของ “แผนผังล้มเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมจนมีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมากถึงสองครั้งสองครา การสร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ตำรวจ ทหาร การดำเนินคดีกับบุคคลฝ่ายต่างๆโดยมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับการล้มล้างสถาบัน ส่งผลให้บุคคลจำนวนไม่น้อยถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว หมายรวมกระทั่งความไม่พอใจต่อสถาบันที่เริ่มแผ่ขยายไปในหมู่ประชาชนมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 


เราจึงไม่อาจเพิกเฉยหรือไม่ตั้งคำถามใดๆต่อเรื่องนี้ได้เลย และกลุ่มบุคคลผู้เต้าแผนผังจะสามารถลอยตัวเหนือปัญหา โยนภาระให้ฝ่ายต่างๆได้อย่างง่ายดายแบบที่เป็นอยู่กระนั้นหรือ หากวิเคราะห์จากพฤติการณ์และเจตนาแล้ว การกระทำของ ศอฉ. และพวกจึงน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 326, 328 กล่าวสรุปให้สั้นและง่ายสำหรับบทบัญญัติทั้ง 3 มาตรานี้ได้ว่า มาตรา 157 คือบทที่ว่าด้วย “ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” กล่าวคือ เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปในทางมิชอบก็ดี ไปในทางทุจริตก็ดี เพียงเพื่อใส่ร้าย กลั่นแกล้ง หรือก่อให้เกิดความเสียหายในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี เจ้าพนักงานของรัฐเหล่านั้นจะต้องมีความรับผิดทางอาญา เช่นนี้แล้วเมื่อ ศอฉ. รู้ทั้งรู้ว่ารายชื่อที่นำมาจับโยงใยไปมาในเอกสารแล้วตั้งชื่อว่า “แผนผังเครือข่ายล้มเจ้า” เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมูล หรือยังไม่มีข้อยืนยันได้ว่าคนเหล่านั้นคิดล้มล้างสถาบันจริงๆ แต่ยังนำมาแถลงให้เป็นข่าวใหญ่ครึกโครม แจกจ่ายเอกสารแก่สื่อมวลชน จึงย่อมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่มิชอบ มุ่งแต่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และทำให้บุคคลในแผนผังได้รับความเสียหาย


นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเข้าข่ายเป็นการ “ใส่ความ” ตามมาตรา 326 คือการกล่าวร้ายต่อบุคคลอื่นใดกับบุคคลที่สาม ในประการที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาท 


บทบัญญัตินี้มีความน่าสนใจอยู่มากตรงที่ผู้ถูกใส่ความสามารถร้องขอความเป็นธรรมจากศาลได้ แม้จะไม่ปรากฏ “ความเสียหาย” ที่เป็นรูปธรรมขึ้นจริงก็ตาม เพราะกฎหมายใช้คำว่า “น่าจะ” เท่านั้น 


จากกรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าประเทศไทยและสังคมยังคงอ่อนไหวกับเรื่องราวใดๆที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ (พิจารณาได้จากสถานการณ์เชียร์และต้านมาตรา 112) ดังนั้น ไม่ว่าในความเป็นจริงบุคคลต่างๆที่มีรายชื่ออยู่ในแผนผังจะได้รับความเสียหายหรือถูกใครเกลียดชังจริงหรือไม่ แต่คำว่า “ล้มเจ้า” นี้ห้วงยามปัจจุบันย่อมเป็นถ้อยที่ “น่าจะ” ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเสียหายหรือถูกเกลียดชังได้ทั้งสิ้น อนึ่ง พฤติการณ์ในการ “ใส่ความ” ดังกล่าวได้ปรากฏชัดเจนว่า ศอฉ. กระทำด้วยการแถลงต่อ “สื่อ” หรือด้วยการ “โฆษณา” ดังนั้น จึงอาจต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 328 (หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา)


อย่างไรก็ตาม จากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญที่ว่า


“ข้าฯได้รับมอบหมายให้นำเอกสารเหล่านั้นไปแจกแก่สื่อมวลชน ซึ่งเอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง...ซึ่งมิได้แถลงเลยว่าบุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม...”


ผู้เขียนจึงเห็นควรต้องอธิบายถึงบทที่ว่าด้วย “เจตนา” ในทางอาญาโดยสังเขปไว้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ศอฉ. ไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยคำแก้เกี้ยวง่ายๆดังกล่าว


ในทางกฎหมายอาญานั้น “เจตนา” ในการกระทำความผิดอันถือเป็นองค์ประกอบ (ภายใน) สำคัญที่จะตัดสินได้ว่าผู้กระทำต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนหรือไม่นั้น มิได้มีแค่เพียง “เจตนาประสงค์ต่อผล” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเจตนาอีกประเภทหนึ่งที่ผู้กระทำสามารถ “คาดหมาย” หรือ “เล็งเห็น” ผลเสียหายจากการกระทำของตนด้วย หรือที่เรียกว่า “เจตนาเล็งเห็นผล” ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ยิงปืนไปที่นาย ข. เพราะต้องการฆ่านาย ข. ให้ตาย ปรากฏว่านาย ข. ตายจริง เช่นนี้ย่อมชัดเจนว่านาย ก. มีเจตนาที่ประสงค์ต่อผลคือความตายของนาย ข. นาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผล


แต่ในอีกกรณีหนึ่ง นาย ก. ยิงปืนไปในฝูงชนโดยมีความประสงค์แค่ต้องการ “ข่มขู่” ไม่ได้อยากให้ใครตาย แต่ในความเป็นจริงการยิงปืนไปเช่นนั้นนาย ก. ย่อมสามารถคาดหมายหรือเล็งเห็นผลได้ว่าต้องมีหรืออาจมีใครตาย ปรากฏว่านาย ข. ซึ่งยืนอยู่ในฝูงชนนั้นตายจริงๆจากลูกกระสุนของนาย ก. เช่นนี้นาย ก. จะโบ้ยใบ้ว่าไม่ได้เจตนาให้นาย ข. ตาย หรืออย่างมากก็แค่ประมาทเลินเล่อ (ซึ่งมีโทษน้อยกว่าเจตนา) มิได้ ในทางกฎหมายอาญานั้นนาย ก. ต้องรับผิดฐานฆ่านาย ข. ตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล


เมื่อนำตัวอย่างดังกล่าวมาพิจารณากับกรณี “แผนผังล้มเจ้า” จะเห็นได้ว่าด้วยห้วงยามแห่งการแถลงข่าว ด้วยความที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากสำหรับประเทศไทย ด้วยรายชื่อที่เกี่ยวข้อง (คนที่โดนพิพากษาว่าหมิ่นแล้ว โดนข้อหา แกนนำ นปช.) ด้วยข้อมูลอื่นที่ ศอฉ. และฝ่ายรัฐโหมเสนอต่อประชาชนก่อนหน้า ซึ่งแวดล้อมแผนผังอยู่เช่นนี้ แม้ ศอฉ. ไม่ได้กล่าวถ้อยคำด้วยตนเองตรงๆชัดๆว่า “เอกสารที่ไปแจกนั้นหมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ก็ย่อมเป็นกรณีที่ ศอฉ. สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าสื่อและสังคมจะเข้าใจไปเช่นนั้น และเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏในหลายๆกรณีว่าได้เกิดความเข้าใจไปเช่นนั้นจริงๆ ศอฉ. ย่อมมิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้โดยอาศัยหลักการในเรื่อง “เจตนาเล็งเห็นผล” นี้เอง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 423 สำหรับคนที่มีรายชื่อในแผนผังและความเสียหายได้เกิดขึ้นจริงจนอาจพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมถึง “ค่า” แห่งความเสียหายนั้นน่าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยมาตรา 420 และมาตรา 423 ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องละเมิดโดยทั่วไป และการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง เพราะจากคำรับสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญเองย่อมชัดเจนแล้วว่าเป็นการ “กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง”


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาเคยมีการนำเอกสารหรือแผนผังดังกล่าวไปเผยแพร่หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยหน่วยงานของ ศอฉ. หรือหน่วยงานของรัฐบาลเองด้วยหรือไม่ แต่หากมีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้เช่นกัน ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน...”


ปฏิเสธได้ยากว่าข้อหา “ล้มเจ้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝ่ายรัฐ (ไม่มีฐานความผิดนี้ปรากฏอยู่ที่ใดในกฎหมาย) เป็นคำกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกล่าวหานี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เกิดกระแสการคัดง้างกันระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าและไม่นิยมเจ้าอยู่เนืองๆ ในขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปก็เริ่มรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงในเสถียรภาพ เมื่อจู่ๆหน่วยงานของรัฐ (ศอฉ.) เป็นผู้ลุกขึ้นมาปั้นแต่งว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่จริง โดยทำทีชี้ชัดได้ว่ามีใครในขบวนการนี้บ้าง ย่อมต้องก่อให้เกิด “ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ได้เป็นธรรมดา


สำหรับคำถามที่ว่าแผนผังล้มเจ้ากำมะลอฉบับนี้สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานชี้ได้เลยหรือไม่ว่าฝ่ายรัฐกระทำผิดกฎหมายในการสั่งให้ทหารสลายการชุมนุมจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย หรือใช้เพื่อสั่งการให้จับกุมหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลอื่นไว้โดยมิชอบ โดยความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ณ ปัจจุบันโดยตัวของเอกสารเองคงไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อชี้ชัดเช่นนั้นได้ เว้นแต่มีเอกสาร “คำสั่ง” ชิ้นอื่นใดมาประกอบว่าการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมหรือการดำเนินการต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยแผนผังนี้เป็น “ข้อหา” หลัก หรือข้อหาพื้นฐาน ไม่ใช่ข้อหาอื่นใด 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหาการ “ก่อการร้าย” ที่รัฐบาลมักกล่าวถึงเสมอๆ หากในที่สุดแล้วข้อเท็จจริงยังมีแค่เพียงว่า ศอฉ. หรือฝ่ายรัฐใช้แผนผังนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการ “กล่อมเกลา” หรือ “ชักจูง” ให้ตำรวจ ทหารปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ เพราะรู้สึกว่าตนกำลังกระทำใน “สิ่งที่ถูกต้อง” หรือกำลัง “กำจัดอริราชศัตรู” การดำรงอยู่ของแผนผังนี้คงเป็นได้แค่เพียงเอกสาร “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda) ของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายนิยมเจ้าเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมการสร้างเรื่อง แต่งผังฯ รวมทั้งการแถลงข่าวแบบเล็งเห็นผลในความเสียหายที่อาจมีต่อบุคคลอื่นได้ดังกล่าวไปแล้วนั้น ย่อมใช้เป็น “หลักฐานประกอบ” ในประเด็นชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำพูดและการกระทำในช่วงที่ผ่านมาของฝ่ายรัฐได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐมีข้อพิพาทกับประชาชน, ปัญหาการยัดเยียดข้อกล่าวหา, การบิดเบือนคลิปภาพ เสียง หรือวิดีโอ, การกระพือข่าวการพบอาวุธหนักในที่เกิดเหตุ ฯลฯ เพราะคำสารภาพโดย ศอฉ. ครั้งนี้ย่อมเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยได้ว่าการให้ข่าวก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆก็ดีของฝ่ายรัฐที่ผ่านมาตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีมูลเหตุที่ไม่สุจริต มีเป้าหมายอื่นใดแอบแฝง หรือทำไปเพื่อความสงบสุขหรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริงหรือไม่


สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่าถ้าสื่อไทยมีจรรยาบรรณกว่านี้อีกนิด ถ้าคนไทยเปิดตากว้างกว่านี้อีกหน่อย และถ้าสังคมไทยมีวุฒิภาวะกว่านี้อีกเพียงเล็กน้อย กรณีแผนผังล้มเจ้ากำมะลอของ ศอฉ. ก็น่าจะพอมีคุณูปการได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเครื่องเตือนสติคนไทยว่าอย่างมงายหลงเชื่อถ้อยแถลงของฝ่ายรัฐไปเสียทุกเรื่อง


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7
ฉบับ 314 วันที่ 11-17 มิถุนายน 2554 พ.ศ. 2554 
หน้า 5-8 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย สาวตรี สุขศรี 


http://redusala.blogspot.com

ที่นี่ความจริงจาก2อาจารย์สาว:กลโกงเลือกตั้ง


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา Asia Update TV

รายการที่นี่ความจริง ตอนวันที่ 23 และ 24 พฤษภาคม ทางโทรทัศน์ Asia Update-DNN ดำเนินรายการโดย 2 นักวิชาการสาวหัวใจประชาธิปไตย ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาจารย์หวาน) และ รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาจารย์ตุ้ม)

ส่วน ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก อาจารย์พิเศษคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์จา)งดดำเนินรายการ เนื่องจากลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

รายการที่นี่ความจริงวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม:สารพัดกลโกงเลือกตั้ง








มีผลโพลล์ต่าง ๆ ออกมาก่อนการเลือกตั้ง เป็นการพยายามชี้นำให้ประชาชนคิดไปในทางเดียวกับผลโพลล์ แต่การสำรวจในแต่ละโพลล์นั้นสำรวจแค่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง และมักมีการใช้วิธีการเลือกกลุ่มผู้ตอบและตั้งคำถามเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จึงไม่สมควรจะเชื่อมากนัก

ในกรุงเทพฯ ผู้ว่ากทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ได้นำทหารเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้ง แม้จะอ้างเรื่องผู้ก่อการร้ายในสายบินลาเด็น แต่ก็น่าสงสัยว่าอาจมีวาระซ่อนเร้นบางประการอยู่

ขณะเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มือร่างรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหาร ออกมาแสดงความไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.จังหวัด ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในจังหวัด กลับเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่าต้องให้ตุลาการคัดเลือกกกต. จังหวัด ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันอำนาจตุลาการก็เป็นที่สงสัยในความเป็นธรรมอยู่แล้ว อีกทั้งยังอาจมีความรู้แต่เพียงเรื่องกฎหมาย ต่างจากผู้คนธรรมดาที่รู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับจังหวัดของตน

แม้องค์กรอันเฟรล หรือองค์กรเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรีได้เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย ซึ่งอาจารย์โคทม อารยาจะเป็นผู้พาไปสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตามอาจจะมีการเล่นตุกติก พาอันเฟรลไปดูจุดที่ไม่มีการโกงเลือกตั้ง ขณะที่มีการใช้ทหารเข้ามาคุมการเลือกตั้งในสถานที่อย่างในกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ทหารของกอ.รมน.ก็ได้มีการเข้าทำร้ายประชาชนและเผากุฏิพระในบุรีรัมย์ โดยอ้างเรื่องจัดการที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ในประเทศไทยก็มีหน่วยงานอย่างกรมที่ดินอยู่แล้ว เป็นการแสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยทหารได้เข้ากุมอำนาจโดยเบ็ดเสร็จแล้วและไม่สนใจในสวัสดิภาพของประชาชนแต่อย่างใด


รายการที่นี่ความจริง วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม:จับตากลโกงเลือกตั้ง









ระเบียบการเลือกตั้ง:เฝ้าระวังกลโกง

เริ่มตั้งแต่การเลือกสส. แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่ทุก ๆ คะแนนมีความหมายมาก และไม่ควรมองข้าม ประมาทเห็นว่าได้แน่นอนหรือไม่เลือกเพราะเหตุผลใด ๆ ก็ตาม และการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่แม้จะมีการลดเวลาเหลือวันเดียว และให้ลงทะเบียน แต่ก็ยังคงส่อแววว่าจะมีการทุจริต เช่นการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งระหว่างรอถึงเวลานับ

การที่บริษัทบังคับให้พนักงานเลือกตั้งล่วงหน้า การที่หน่วยราชการขนคนมาเลือกตั้งล่วงหน้า เช่นเดียวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่อาจจะโกงกลับมาโดยการเปลี่ยนบัตร ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนและข้าราชการก็ต้องร่วมตรวจสอบการทุจริต

สำหรับการหาเสียงนั้น การหาเสียงด้วยวิธีอย่างการติดป้ายหาเสียงมีกฎกำหนดไว้แล้วโดยกกต. ทั้งปริมาณและขนาด ซึ่งการที่ประชาชนจะไปช่วยทางพรรคที่ตนสนับสนุนก็เป็นการไม่ควร เพราะหากช่วยไปแล้วผิดกฎหมายเลือกตั้งอาจจะเป็นผลเสียต่อพรรค

นอกจากนี้ วิดีโอที่กกต.จัดทำขึ้นเพื่อเตือนการทำผิดในการเลือกตั้ง กลับเลือกใช้คนใส่เสื้อแดงเล่นเป็นฝ่ายผู้กระทำความผิด และคนใส่เสื้อเหลืองเป็นฝ่ายจับ ซึ่งเป็นการสื่อความหมายบางอย่างได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ควรโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเอง

นอกจากนี้ยังมีกฎเล็ก ๆ น้อยๆ อีกหลายข้อเช่นห้ามเอกชนขนคนไปเลือกตั้ง ห้ามพนันผลการเลือกตั้ง ห้ามฉีกบัตร แจกเอกสารได้แต่ห้ามวางให้หยิบเอง ห้ามใช้กลไกของรัฐหาเสียง เป็นต้น ซึ่งประชาชนทุกคนก็สมควรจะทำความเข้าใจ และนอกจากจะคอยระวังไม่ล่วงละเมิดแล้ว ยังต้องเฝ้าดูหากผู้อื่นกระทำผิดและตักเตือนหรือบันทึกหลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันความผิดได้ เพื่อป้องกันทั้งตัวเองและพรรคของตนเองและสกัดกลโกงของพรรคตรงข้าม
http://redusala.blogspot.com

No Coup, Fair Election:ปากคำเหยื่อใจร้าววัดปทุมฯ
และคำให้การพ่อแม่วีรชนซอยรางน้ำ


โดย FORD เรด ทรู้ธ โอนลี่
29 พฤษภาคม 2554

โครงการเส้นทางสีแดง No Coup, Fair Election รณรงค์เลือกตั้ง ต้านรัฐประหาร (ราชประสงค์-อุดรธานี-เชียงใหม่-ชุมพร) 4 ภาค 42 วัน 39 จังหวัด ระยะทาง 3,693 กม. ดำเนินการระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม-19 มิถุนายน 2554 ผมจะขอรายงานกิจกรรมเป็นระยะตามเส้นทางเพิ่มเติมจากเส้นทางตอนก่อน(ดูลิ้งค์ท้ายรายงานนี้)ดังนี้

กิจกรรมระหว่างวันที่ 23-25 พค.บาดแผลเหยื่อวัดปทุม-สัมภาษณ์พ่อแม่วีรชน 

พวกเราเดินทางมาถึงหนองบัวลำภูในเวลาเย็น พักค้างคืนหนึ่งคืน และออกเดินทางไปเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 2 ราย

รายแรกเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในวัดปทุมวนาราม ในวันที่ 19 พค.และเห็น 1 ใน 6 ศพที่ถูกทหารยิงตายต่อหน้าต่อตา เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านที่หนองบัวลำภูมีอาการเหม่อลอย หวาดผวา เห็นภาพหลอน ลุกเดินไปมาโดยไม่มีสาเหตุ นอนไม่หลับ ญาติต้องพาไปวัดรดน้ำมนต์

ปัจจุบันอาการดีขึ้น ไม่กลัวที่จะเป็นคนเสื้อแดงและพร้อมจะออกมาต่อสู้อีก

ส่วนอีกรายพวกเราต้องไปสัมภาษณ์ในป่าเขา เป็นครอบครัวที่สูญเสียบุตรชายเนื่องจากถูกทหารยิงตายที่ซอยรางน้ำ ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 
หลังจากเสร็จการสัมภาษณ์พวกเราได้ปั่นจักรยานมาจังหวัดเลย ระยะทาง 110 กม. ฝนตกตั้งแต่เวลา 15.00 น. พวกเราถึงเลยในช่วงเวลา 18.00 น.ทราบจากคุณป้าดวงตาและป้าอี้ดซึ่งเป็นแกนนำที่จังหวัดเลยว่าต้องยกเลิกขบวนแรลลี่รอบเมืองเนื่องจากสภาพอากาศ

ที่เลยไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ พวกเราออกเดินทางจากเลยในเช้าวันที่ 25 พค. ปั่นจักรยานขึ้นภูเรือตลอด 3 ชม. ถึงภูเรือในเวลา 12.00 น.



ได้พักค้างคืนที่สปันงารีสอร์ทที่มีเจ้าของเป็นคนเสื้อแดง 1 คืน เช้าวันนี้ได้ออกทักทายพี่น้องเสื้อแดงที่ตลาดภูเรือ ได้มีโอกาสรับประทานอาหารเช้ากับรองผู้กำกับสภอ.ภูเรือ และได้ทำคลิปสัมภาษณ์แม่ค้าที่ตลาดภูเรือเพื่อเผยแพร่


กิจกรรมระหว่างวันที่ 26-27 พค.

ระยะทางจากภูเรือมาพิษณุโลกไม่ต่ำกว่า 200 กม. และฝนที่ตกตลอดวันทำให้เราต้องเลือกนั่งรถบขส.จากภูเรือมาที่พิษณุโลกเข้าพักที่วัดราษฎร์บูรณะ กางเตนท์นอนข้างเจดีย์ใต้ต้นโพธิ์

ที่วัดแห่งนี้มีห้องอบไอน้ำสมุนไพรทำให้คลายกล้ามเนื้อได้ดี คืนนั้นฝนตกเวลาประมาณตี 3 ทำให้ต้องตื่นมาย้ายเตนท์กลางดึกและต้องทนนอนในเตนท์ที่มีละอองฝนและเปียกชื้นตลอดทั้งคืน

พวกเราออกจากพิษณุโลกในเวลา 8.00 น.และปั่นจักรยานมาที่อ.พิชัย จ.พิษณุโลก แวะสักการะอนุเสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักทั้งสองแห่งคือที่บ้านเกิดและในตัวเมืองพิชัย

คืนนั้นได้มีโอกาสสนทนากับชาวบ้านเสื้อแดงที่เป็นเกษตรกรชาวนา ชาวบ้านบอกว่าสมัยรัฐบาลนายกทักษินข้าวเปลือกราคาเเกวียนละ 12,000 บาท ไม่เคยต่ำกว่า 9,000 บาท แต่สมัยรัฐบาลโจรนี้ราคาข้าวเปลือกเหลือเพียงเกวียนละ 5,000 บาท ในขณะที่ปุ๋ยและค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพทุกอย่างขึ้นพรวดๆ ทำให้มีหนี้สิน เลือกตั้งเที่ยวนี้จะตั้งใจเลือกเบอร์ 1 กันทั้งหมด

เช้าวันต่อมาปั่นจักรยานจากอุตรดิตถ์ไปจ.แพร่ระยะทาง 118 กม. ช่วงที่ขึ้นเขาก่อนถึงเด่นชัยเป็นภูเขาสูงชัน เราใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชม.เพียงเพื่อข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า พวกเรามาถึงอ.เด่นชัยในเวลา 16.00 น. และเดินทางเข้าจังหวัดแพร่ แวะพักที่ทำการคนเสื้อแดงแพร่ที่เพิ่งเปิดได้ 3 วัน

ที่นี่เราพบคนเสื้อแดงที่อยู่ในวัดปทุมในวันที่ 19 พค.ซึ่งจะได้ทำการสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลต่อไป

รู้จักกิจกรรมNo Coup, Fair Election รณรงค์เลือกตั้ง ต้านรัฐประหาร 

โครงการนี้จะดำเนินการระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม-19 มิถุนายน 2554 เส้นทางสีแดง No Coup, Fair Election รณรงค์เลือกตั้ง ต้านรัฐประหาร (ราชประสงค์-อุดรธานี-เชียงใหม่-ชุมพร) 4 ภาค 42 วัน 39 จังหวัด ระยะทาง 3,693 กม. โครงการเส้นทางสีแดง(Red Path) นำทีมโดยคุณ FORD จัดกิจกรรม รายละเอียดคลิ้กที่ที่ภาพโปสเตอร์ด้านบน

ผู้สนใจติดต่อ 081-5836964 ผู้สนใจบริจาคสมทบทุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรม เพื่อนำไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ธนาคารกรุงเทพ สาขาอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ชื่อบัญชี นายสมชัย เหยี่ยวฟ้า บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 940-0-38411-2

*******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-รายงานกิจกรรมNo Coup, Fair Electionรณรงค์เลือกตั้ง-ต้านรัฐประหาร3,693กม.ทั่วประเทศ วันที่8-15พ.ค.54

-รายงานกิจกรรมNo Coup, Fair Electionรณรงค์เลือกตั้ง-ต้านรัฐประหาร3,693กม.ทั่วประเทศ(เส้นทางจากปราจีนฯ-ชัยภูมิ) 

-No Coup, Fair Election รณรงค์เลือกตั้ง-ต้านรัฐประหาร:จดหมายจากปลายฟ้าถึงยิ่งลักษณ์ 

-Red Pathปั่นถึงหนองคาย:เยี่ยมครอบครัวแม่หม้ายกับลูกกำพร้าวีรชน ฝากความหวังยิ่งลักษณ์เยียวยา 

-กลุ่มเส้นทางสีแดงขอโทษกรณีขึ้นเวทีเสื้อเหลือง
http://redusala.blogspot.com

'ลิเบีย ตูนีเซีย อียิปต์ ไทยแลนด์'!กระหึ่มแดนจิงโจ้

โดย Thai Red Australia
30 พฤษภาคม 2554

ไทยเรดออสเตรเลีย ผนึกกำลังหลายประเทศ ต่อสู้เผด็จการ 

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กลุ่มประชาธิปไตยไทยออสเตรเลีย หรือ Thai red Australia ได้ไปร่วมงาน Culture of Resistance Green Left Weekly " A tribute to the revolutions in the Middle East, Africa and Latin America " , Ukrainian Assoc Hall, 59 Joseph St, Lidcombe ซึ่งเป็นงานระดมทุน และเป็นการจัดงานเพื่อความร่วมมือกันของประเทศต่างๆ ที่ต้องการปลดปล่อยประเทศตนให้พ้นจากอำนาจเผด็จการ อย่างเช่น ซีเรีย ลิเบีย อิหร่าน ปาเลสไตน์ ตูนีเซีย อียิปต์ และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา





ภายในงาน ทางกลุ่มพลังประชาธิปไตยไทยออสเตรเลีย ยังได้จัดบอร์ด แสดงถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทย ตั้งแต่คศ.1932 (พ.ศ.2475) จนถึง ปัจจุบัน อย่างเช่นเหตุการณ์ 14ตุลา 6ตุลา พฤษภาทมิฬ รวมไปถึงเหตุการณ์10เมษา และ19พฤษภาของปีที่แล้วด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ ที่อยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ได้ให้ความสนใจ และพร้อมให้การสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนไทยอย่างเต็มที่

พร้อมงานนี้ ได้มีการลงชื่อ เพื่อให้ยกเลิก กฎหมายมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายริดรอนสิทธิมนุษยชน และเป็นกฎหมาย ข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม เป็นปัญหาของประเทศ อยู่ทุกวันนี้

เชิญชมวีดีโอจากงาน


******
ข่าวเกี่ยวเนื่อง:ไพร่ยุโรปเลือกเบอร์1เตือนอำมาตย์เลิกฝืนมติ 



http://redusala.blogspot.com

ไพร่ยุโรปเลือกเบอร์ 1 เตือนอำมาตย์เลิกฝืนมติ


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
29 พฤษภาคม 2554

คนไทยในต่างประเทศตื่นตัวขานรับกระแสการเลือกตั้ง ไปพร้อมกับการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ทั้งนี้จากรายงานของอาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำนปช.ที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองในยุโรป เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ไปพบปะกับกลุ่มเสื้อแดงดอร์มูน เยอรมนี เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ผู้ร่วมงานได้นำป้าย และเสื้อรณรงค์ยกเลิกมาตรา๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญา งานนี้มีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีต ส.ส.สุนัย จุลพงศธร อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และคุณดารุณี กฤตบุญญาลัย ได้สกายส์เข้ามาร่วมกับที่ประชุมด้วย

งานนี้คุณอริสมันต์ได้ร้องเพลงใหม่ ชื่อเพลงทักษิณ และเพลงยิ่งลักษ์ ด้วย บรรยากาศคึกคัก

อาจารย์จรัลกล่าวถึงบทบาทของเขาในช่วงนี้ว่า ได้พยายามให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓ กรกฎาคม แก่บุคคลและองค์การประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยเมื่อวันอังคารที่แล้วได้พบกับ M. Bernard Saugey สมาชิก และเลขาธิการวุฒิสภา ฝรั่งเศส ซึ่งM.Saugey ต้องการรับทราบว่า ทำอย่างไรวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยจึงจะคลี่คลายลง ซึ่งผมแจ้งไปว่า หากชนชั้นปกครองยอมรับเจตจำนงและเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไทย ปล่อยให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์ก็น่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น"

กระแสตื่นตัวของไพร่เสื้อแดงในต่างประเทศ


ไพร่อังกฤษกับยุโรปเลือกเบอร์1
http://redusala.blogspot.com

แถลงการณ์จากคุก:
กรณีจับชาวบ้าน-นักศึกษาต้านกฟผ.สร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง

ผ่านที่นาในอุดรธานี



โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
29 พฤษภาคม 2554

นายณัฐวุฒิ พรมภักดี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คนที่ถูกจับกุมกรณีคัดค้านการก่อสร้างเสา และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (ขนาด 500 กิโลโวลต์ (kv.) น้ำพอง2-อุดรธานี3) ได้เขียนแถลงการณ์จาก “ คุก ” ณ สถานกักขังเสรีภาพและความถูกต้อง สถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรอุดรธานี ลงในเฟซบุ๊ค ดังต่อไปนี้

พวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และให้เกิดความเท่าเทียม จากกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนที่การไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง2-อุดรธานี3 พาดผ่านที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี จึงนำมาซึ่งการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในนาม คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวของ กฟผ.

ด้วยเพราะหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเสียสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีกทั้ง กลุ่มชาวบ้านได้เล็งเห็นว่าการดำเนินการของ กฟผ. ไม่ชอบธรรม และมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิชาวบ้าน เสมอมา

ดังปรากฏมาแล้ว เช่น กรณีการบังคับขู่เข็ญเพื่อเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และตัดโค่นต้นไม้ของนางจันทร์เพ็ญ ที่จ.ร้อยเอ็ด เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเธอและครอบครัวมาตราบจนทุกวันนี้ และเหตุการณ์ล่าสุด ก็คือ การเข้าไปเหยียบย่ำ และทำลายแปลงนาของชาวบ้านที่อ.ภาชี จ.อยุธยา อย่างไม่มีความละอายต่อบาป และไม่สำนึกถึงบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงพวกเขาให้ได้เติบใหญ่มา

ถึงแม้ชาวบ้านจะวิงวอน ร้องขอแล้ว อย่างไรก็ดี เสียงท้วงติงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสาธารณชน ว่าจะเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ์ หากว่า กฟผ.จะดื้อดึงลงไปดำเนินการในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และขอให้ชะลอการดำเนินการเพื่อรอผลคำตัดสินของศาลปกครองเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์อัปยศในครานี้

ที่บ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กว่า 200 นาย ได้ร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยการใช้กำลังข่มขู่ บังคับ และทำร้ายร่างกายก่อนเข้าจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาที่มีจำนวนไม่ถึง 20 คน พร้อมยึดกล้องบันทึกภาพและลบภาพถ่ายทั้งหมดทิ้ง เพื่อทำลายหลักฐานอันเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนของพวกเขา ก่อนนำมาฝากขัง และยัดเยียด ข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กฟผ. ในการสำรวจและวางรากฐานเสาไฟฟ้า ทั้งที่ในความจริงกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาได้ร่วมกันปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญโดยการร่วมกันชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

พวกเราในนามเครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เเละประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรม และปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการของรัฐและนายทุนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

จากข้อเท็จจริงที่พวกเราได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และถูกเจ้าหน้าที่ กฟผ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำ เฉกเช่นเดรัจฉาน จึงมีข้อเรียกร้องและมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

ประการแรก พวกเราขอประณามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมกันปล้นทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น อย่างไร้ยางอายต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนแก่เฒ่า ที่ร่วมกันออกมาปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ประการที่สอง พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน มาดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการต่อกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกกระทำในครั้งนี้

ประการที่สาม พวกเราขอเชิญชวนและเรียกร้อง ให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว และบุคคลสาธารณะทุกกลุ่มองค์กร มาร่วมกันในภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ประการสุดท้าย พวกเราขอประกาศก้อง กังวาน ต่อความอยุติธรรม ที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุน กระทำต่อชุมชนและสังคม ว่าพวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและให้เกิดความเท่าเทียม ณ บัดนี้ และตลอดไป

ด้วยจิตคารวะ
27 พฤษภาคม 2554

เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เเละประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
- กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
- กลุ่มอาศรมบ่มเพาะแนวความคิดและจิตวิญญาณ
- ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- กลุ่มนกกระจอก
- กลุ่ม Friend For Activity (FAN)
- กลุ่มไทยอิปูตาเย
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
- กลุ่มสื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อุดรธานี
- กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

นักกิจกรรมออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง จี้ปล่อยตัวชาวบ้าน-นศ.

ประชาไท รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 54 ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง ร่วมแสดงจุดยืนให้ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไขโดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน:ร่วมคัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าอุดรธานี-น้ำพอง ร่วมแสดงจุดยืนให้ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข!!!

วันที่ 27 พฤษภาคม 2554

สืบเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ กฟผ. ตำรวจและฝ่ายปกครอง จังหวัดอุดรธานี เข้าสลายการชุมนุมชาวบ้านในนามคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสาย ส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.)จ.อุดรธานี จับกุมชาวบ้านและนักศึกษาที่คัดค้านโครงการข่ายไฟฟ้าน้ำพอง-อุดรธานี จำนวน 15 คน ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2554

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน (ศปช.) ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายแรงงาน เกษตรกร นิสิตนักศึกษาเยาวชน ขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้

ประการแรก การดำเนินโครงการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างร้ายแรง

จากการดำเนินโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เกิดความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิประชาชนจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่ง ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 5 พฤษภาคม และวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้ารื้อถอนทำลายทรัพย์สินชาว บ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน พฤติกรรมดังกล่าวแสดงถึงเจตนาในการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าและความรุนแรง และเป็นการทำลายทรัพย์สินของประชาชน

ประการที่สอง เร่งรัดดำเนินการโครงการโดยไม่รอการพิจารณาของศาล

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นเมื่อ พ.ศ.2551 และยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการดำเนินโครงการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการโครงการฯ เพื่อบีบให้ประชาชนยินยอมหรือมัดมือชกประชาชน หากผลการพิจารณาของศาลระบุว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของ หน่วยงานรัฐและ กฟผ. และร่วมลงชื่อให้กำลังใจต่อผู้บริสุทธิ์ทั้ง 15 คน โดยมีจุดยืนร่วมกันดังนี้

1. ปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษา 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข !!!

2. ยุติการดำเนินการโครงการไว้ก่อน เนื่องจากโครงการได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง การละเมิดสิทธิประชาชน และการทำลายทรัพย์สินของประชาชน

3. เจ้าหน้าที่ กฟผ. ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยุติการกระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดลักษณะเผชิญหน้า ข่มขู่ ยั่วยุ ต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จ.อุดรธานี

ด้วยจิตคารวะ

องค์กรร่วมลงชื่อองค์กร

1. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน (ศปช.)
2. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
3. ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยม-ประชาธิปไตย (YPD)
4. กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
5. กลุ่มลูกชาวบ้าน (ม.บูรพา)
6. กลุ่มสะพานสูง (ม.ธรรมศาสตร์)
7. ซุ้มลาดยาว (ม.รามคำแหง)
8. ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
9. คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
10. คนรุ่นใหม่ภาคกลาง
11. กลุ่ม FAN
12. เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคม
13. เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบเหมืองแร่แห่งประเทศไทย


ลงชื่อบุคคล

1.Dechawat Kajonnetiyut
2.กันต์ แสงทอง นักศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
3.จิตตินันท์ สุขโน ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
4.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษา/เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่แงประเทศไทย
5.ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา
6.ชาติชาย แกดำ
7.ชุตินาถ ชุนวิมลศิริ
8.ณัฐพงศ์ พงศ์เสาวภาคย์
9.ณัฐพงษ์ ราชมี
10.ณัฐพล ไทยสะเทือน
11.เดชาวัต ขจรเนติยุทธ
12.เทวฤทธิ์ มณีฉาย
13.เทิดพันธุ์ พวงเพ็ชร
14.ธนิสสร มณีรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ รามคำแหง
15.นครินทร์ วิศิษฎ์สิน
16.นิรุทธ์ ธรรมธิ จ.เชียงใหม่
17.ประดิษฐ์ ลีลานิมิต
18.ประสิทธิ์ชัย มากพิณ
19.ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์
20.ปฤณ เทพนรินทร์ครับ
21.พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
22.ภมร ภูผิวผา จ.อุดรธานี
23.ไม้หนึ่ง ก.กุนที
24.รัฐกานต์ ขำเขียว
25.รัฐพล เจริญพงษ์
26.ฤทัยชนก สิมมะระ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
27.วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กองบรรณาธิการนิตยสาร Democrazy
28.วันเพ็ญ ก้อนคำมงคล ไชยบุญแก้ว นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
29.วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
30.วิภา มัจฉาชาติ กลุ่มคนงาน Try Arm
31.สุกัญญา ใสงาม
32.สุธัมมะ ธรรมศักดิ์
33.อธิปัตย์ จันทร์ใส รัฐศาสตร์ มศว
34.อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552-2553
35.อานนท์ ชวาลาวัณย์ ประชาชน
36.การันตี ดีเป็นแก้ว นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อได้ที่http://www.facebook.com/event.php?eid=176358792417359

ในวันเดียวกัน (27 พ.ค.54) เครือข่ายนักศึกษากลุ่มต่างๆ ได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ต่อกรณีการจับกุมกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษา โดยระบุให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ กฟผ.และหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการทั้งทางตรง ทางอ้อมหรือในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประท้วงในการกระทำดังกล่าว


แถลงการณ์ต่อกรณีการทำร้ายร่างกายและจับกุมตัวพี่น้องชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษา ที่ทำการประท้วงการก่อสร้าง
ระบบโครงการข่ายไฟฟ้า ๕๐๐ กิโลโวลต์ น้ำพอง ๒-อุดรธานี ๓ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พาดผ่านบ้านเรือนและที่ดินทำกินของประชาชน

สถานการณ์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 5 และวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าไปรื้อถอน ทำลายทรัพย์ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน

วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า แถลงข่าวกรณีการกระทำดังกล่าวว่า ถือเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ และมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังนี้

1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยุติการดำเนินการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ร้องหรือทรัพย์สินของผู้ร้อง จนกว่าคดีในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญจะถึงที่สุด รวมทั้งยุติการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองกระทำการใดๆ ในลักษณะเผชิญหน้า ยั่วยุกับกลุ่มผู้ร้อง เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

2. ขอให้ศาลปกครอง ควรพิจารณามาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน

3. กฎหมายดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังมีประชาชนในอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในลักษณะดังกล่าว หากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญไม่เร่งพิจารณาคดีความให้เป็นที่ยุติ การดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นการขยายความขัดแย้งจากโครงการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าให้ลุกลามไปในอีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดอยุธยา เป็นต้น

สถานการณ์ล่าสุด

วันที่ 27 พฤษภาคม 54 ปรากฏว่าทาง กฟผ. ไม่ได้ปฏิบัติตามและละเลยต่อข้อเสนอ จากแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่านำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมแล้วกว่า 100 นาย เข้าพื้นที่เพื่อเดินหน้าก่อสร้างระบบโครงการข่ายไฟฟ้า ๕๐๐ กิโลโวลต์ ต่อไป

ในขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ได้ทำการประท้วง โดยการนั่งในพื้นที่ที่ดินทำกินของตนเองเพื่อยืนยันสิทธิของตนเอง จนเป็นเหตุให้เกิดการเผชิญหน้ากัน นำไปสู่การนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บ และนำตัวผู้ชุมนุมไปกักขังที่สถานีตำรวจ

การดำเนินการดังกล่าวของ กฟผ. เป็นการไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และละเมิดสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารและสิทธิชุมชน นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเปลี่ยนแนวสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้พ้นที่ดินและบ้านเรือนตามอำเภอใจ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งไม่รอการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพี่น้องชาวบ้าน ได้ทำการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2551

ทั้งหมดนี้ แสดงถึงการใช้อำนาจ จากภาครัฐที่ไม่เป็นธรรม อย่างต่อเนื่อง เราขอเรียกร้อง

1.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชาวบ้านและนักศึกษาทั้งหมด

2.กฟผ.ต้องดำเนินการตามข้อเสนอ จากแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554

3.ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำทั้งหมดของ กฟผ. หรือหมดความหวังต่อการเรียกร้องใดๆ จากภาครัฐดำเนินการปฏิบัติการในด้านใดๆก็ตาม ที่ส่งผลทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือในเชิงสัญลักษณ์ ต่อการทำลายความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ กฟผ. เพื่อประท้วงในการกระทำดังกล่าว

เพื่อสิทธิของผู้ถูกกดขี่
27 พฤษภาคม 2554

องค์กรร่วมลงชื่อ

1. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
2. ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้
3. คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
4. คนรุ่นใหม่ภาคกลาง
5. กลุ่ม FAN
6. เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคม (ภาคใต้)
7. เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบเหมืองแร่แห่งประเทศไทย
8. กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
9. กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
10. ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัย ขอนแก่น
11. กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
12. กลุ่มระบายฝัน
13. กลุ่มลูกชาวบ้าน (ม.บูรพา)
14. กลุ่มสะพานสูง (ม.ธรรมศาสตร์)
15. ซุ้มลาดยาว (ม.รามคำแหง)


http://redusala.blogspot.com