วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผบ.ตร.แถลงคดี 112 หมอหยองและพวกอ่วม 13 คดี-ยัน ‘ประวุฒิ’ ยังไม่ออก ไม่เกี่ยวข้อง


ตำรวจระบุเหตุจับกุมจากการแอบอ้างทำเข็มกลัด Bike For Mom และ Bike for Dad กินส่วนต่าง ให้บริษัทเอกชนจ่าย ตั้งข้อหาเพิ่มรวม 13 ข้อหา ด้านสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความผิดหวังสื่อมวลชน ฝากถามแต่ไร้ผล กรณีพล.ต.พล.ต.พิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุทธยา เสียชีวิตหรือไม่ เกี่ยวข้องหรือไม่
ภาพส่วนหนึ่งของการแถลง
28 ต.ค.2558 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมคณะได้แถลงข่าวคดีแอบอ้างสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และถูกแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งมีผู้ต้องหา 3 รายคือ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาท เลขาฯ ส่วนตัวหมอหยอง และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หรือสารวัตรเอี๊ยด อดีตสารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สว.กก.1 บก.ปอท.) ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เหตุเกิดสืบเนื่องจากการณีจัดทำเข็มกลัดในกิจกรรม Bike For Mom และ Bike For Dad และยังมีคดีอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 13 คดี
การแถลงข่าวได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวเป็นจำนวนมาก และมีการนำของกลางที่ตรวจยึดจากผู้ต้องหาทั้งหมดมาแสดง โดยมีทั้งอาวุธปืนหลาย 10 กระบอก วิทยุสื่อสารจำนวนมาก กีต้าร์ไฟฟ้ามูลค่าสูง และทรัพย์สินมีค่าหลายรายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่ขณะนี้อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และพ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ซึ่งถูกจับพร้อมพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์และเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงสิ่งของที่ตรวจยึดได้จากบ้านพัก คอนโดมีเนียม ของผู้ต้องหา อาทิ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในราชการ 11 คัน รถยนต์ที่ตรวจพบการกระทำผิด 10 คัน รถยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดา 3 คัน และรถยนต์รถจักรยานยนต์ที่ตรวจยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบอีกจำนวน 38 คัน
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า การเข้าจับกุมผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีเนื่องจากมีคนร้องเรียนว่าบุคคลทั้งหมดมีพฤติกรรมแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อมูล จากการซักถามพบว่ามีมูลกระทำความผิดจริง จึงแจ้งความร้องทุกข์กับกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าว
ส่วนกรณีของพล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ที่ปรึกษา สบ.10 ที่ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ลาออกจากราชการแล้วหรือไม่นั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ยืนยันว่า พล.ต.อ.ประวุฒิ ยังรับราชการอยู่ ยังไม่ได้รับใบลาออก และขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่าพล.ต.อ.ประวุฒิ เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ การเปลี่ยนตัวทีมโฆษกตร. เป็นเรื่องการบริหารภายใน เมื่อครบวงรอบก็เปลี่ยน ส่วนการลาพักสามารถลาได้ตามระเบียบ
สำหรับรายละเอียดการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดทำเข็มกลัดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำแผนภาพแสดงความเชื่อมโยงนายสุริยันหรือหมอหยองและบุคคลในองค์กรธุรกิจต่างๆ เนื้อหาในแผนภาพระบุว่า
วันที่ 17 กรกฎาคม นายสุริยันได้มีการติดต่อเจรจากับนางทิพวรรณ อัศวก้องเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทแมคบารา จำกัด ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรัชโยธิน เพื่อให้มีการจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกในกิจกรรมปั่นเพื่อแม่ โดยตัวแทนบริษัทแมคบารา ได้เสนอราคาค่าจัดทำเข็มกลัดในราคาชิ้นละ 3.70 บาท แต่ทางนายสุริยันได้สั่งให้เพิ่มราคาค่าจัดทำเข็มกลัดในราคา 5.70 บาท โดยมีการตกลงกันว่าเงินค่าส่วนต่างจะต้องโอนให้กับตัวเขาในภายหลัง จากนั้นนางทิพวรรณได้ทำใบเสนอราคาเข็มกลัดให้กับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ รวม 3 แสนชิ้น มูลค่า 3,049,500 บาท เมื่อมีการวางเงินมัดจำสั่งจัดทำ นางสาวทิพวรรณได้มีการถอนเงินออกไปกระจายให้กับนายจิรวงศ์ หรือ อาท และคนใกล้ชิดของนายสุริยันต์
วันที่ 30 กันยายน นายสุริยันได้มีการนัดพบกับนางทิพวรรณอีกครั้งที่สโมสรทหารบก เพื่อสั่งจัดทำเข็มกลัดแจกในกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ จำนวน 2 ล้านชิ้น โดยมีการเสนอราคาชิ้นละ 2.75 บาท จากนั้นได้มีการนำใบเสนอราคาส่งให้กับบริษัทในเครือเมืองไทยประกันภัยที่มีนางนวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้บริหาร ซึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินมัดจำ 50% มูลค่า 5.35 ล้านบาท ต่อมานางทิพวรรณได้ถอนเงิน 4.77 ล้านบาท ออกมาให้นายจิรวงศ์และเครือญาติของนายสุริยัน
พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 กล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกดำเนินข้อหา 13 คดี โดยมี พ.อ.วิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายส่วนรักษาความสงบ คสช. เป็นผู้ร้องทุกข์ในนามกองทัพ และมีผู้ต้องหาทั้ง 3 รายเป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่ง "หมอหยอง" และเลขาส่วนตัวมีข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ พ.ต.ต.ปรากรม มีข้อหาเกี่ยวกับการมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ทหารพบอาวุธ วิทยุ รถยนต์ ผิดกฎหมาย อีกทั้งร่วมกับ บริษัท สามารถเทเลคอม กับพวกตั้งสถานีวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ บังอาจแอบอ้างเบื้องสูงขอสนับสนุนหมายเลขโทรศัพท์เลขสวยจากกสทช.
ขณะที่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนคดีดังกล่าว กล่าวว่า มีผู้ร่วมขบวนการอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อขออนุมัติ ต้องมีการออกหมายจับเพิ่มจะทราบรายละเอียดต่อเมื่อศาลออกหมายจับ ทั้งนี้ ได้ชี้แจงว่า ของกลางได้ถูกแยกออกไปก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปตรวจยึด และจะต้องขยายผลการสืบสวนว่าใครเป็นคนที่นำพ.ต.ต.ปรากรม ไปเอาของกลางออกมา ซึ่งหากหลักฐานผิดถึงใคร ยืนยันว่าก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้น ก็ต้องตรวจสอบ ขอให้มีความชัดเจนก่อน ไม่ควรพาดพิงถึงใคร เนื่องจาก ทหารเป็นคนร้องทุกข์ และคดีนี้ก็มีเอกชนเข้ามาร่วมด้วยหลายหน่วย คาดว่าไม่เกิน 2-3 เดือน จะดำเนินคดีนี้เสร็จสิ้น
พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า การตรวจค้นเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากบุคคลเกี่ยวข้องไหวตัวพยายามใช้เทคนิคเพื่อลบหลักฐาน ยืนยันว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เช่นนี้จริง พยายามที่จะซ่อนเร้นทรัพย์สินไปยังญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบยาก แต่เจ้าหน้าที่ก็จะพยายามตรวจสอบต่อไปสำหรับ 8 นายตำรวจที่ถูกคำสั่งโยกย้ายไปก่อนหน้านี้ มีความเกี่ยวข้องกับพ.ต.ต.ปรากรม  ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงซ่อนเร้นทรัพย์สิน
ทั้งนี้ สำหรับคดีอื่นๆ ของผู้ต้องหาทั้ง 3 คนที่เกี่ยวเนื่องอีก 13 คดี ได้แก่
คดีที่ 1 ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นและให้ร้าย ผู้ต้องหาทั้ง 3 แอบอ้างเบื้องสูง นำการ์ดไปมอบให้บริษัทเอกชน
คดีที่ 2-6 ข้อหามีอาวุธปืนและใช้วิทยุสื่อสารโทรคมนาคมโดยไม่รับอนุญาต ซึ่งมีชื่อเกี่ยวข้องกับสารวัตรเอี๊ยด
คดีที่ 7 ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นและให้ร้าย ผู้ต้องหาทั้ง 3 แอบอ้างเบื้องสูง ขอรับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เพื่อทำสิ่งของ
คดีที่ 8-12 ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นและให้ร้าย ผู้ต้องหาทั้ง 3 แอบอ้างเบื้องสูง ขอรับการสนับสนุนทำสิ่งของและขอทุนตามหน่วยงานต่างๆ
คดีที่ 13 ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นและให้ร้าย ผู้ต้องหาทั้ง 3 แอบอ้างเบื้องต้น ขอหมายเลขโทรศัพท์เลขสวยจาก กสทช.
ด้านสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศและติดตามคดีนี้มาโดยตลอดได้โพสต์ภายหลังการแถลงข่าวดังกล่าว แสดงความผิดหวังต่อสื่อมวลชนไทยที่ไม่มีใครตั้งคำถามกับผบ.ตร.ในประเด็นที่เขาฝากถาม
ทั้งนี้ วานนี้ (27 ต.ค.) สมศักดิ์ ได้โพสต์สาธารณะถึงสื่อมวลชนเพื่อฝากคำถาม 2 คำถามไปยัง ผบ.ตร. ประเด็นแรก กรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.พิสิฐศักดิ์ เสนีวงศ์ ณ อยุทธยา นั้นเสียชีวิตจริงหรือไม่ เนื่องจากมีผู้แสดงหลักฐานจากทะเบียนราษฎร์และประกันสังคมว่าเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ต.ค. และการเสียชีวิตของพล.ต.พิสิฐศักดิ์เกี่ยวข้องกับคดีของผู้ต้องหาทั้งสามนี้หรือไม่ ประเด็นที่สอง กรณีการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปากรมที่ราชทัณฑ์แถลงว่าผูกคอตายในเรือนจำใน มทบ.11 ในห้องขังที่เป็นผนังทึบทั้งสี่ด้าน ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร

6 องค์กรสิทธิแถลง จี้ปิด 'เรือนจำ มทบ.11'-เปิดผลชันสูตร ปรากรม


         28 ต.ค. 2558 จากกรณีการจับกุมนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยองกับพวก จนถึงการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ศูนย์ข้อมูลชุมชน ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่นเนื่องจากการคุมขังพลเรือนในพื้นที่ของทหารขาดความโปร่งใส ขาดหลักประกันสิทธิผู้ถูกคุมขังและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่นได้ อันเข้าข่ายเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไร้หลักประกันสิทธิ ข้อ 10 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
         พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยกระบวนการและผลการชันสูตรพลิกศพของพ.ต.ต.ปรากรม พร้อมทั้งดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบถึงสาเหตุการตายโดยไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัว

รายละเอียด มีดังนี้
ความเห็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่อกระบวนการยุติธรรม
กรณีนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา
ตามที่วันที่ 16 ต.ค. 58 มีข่าวการควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ไปจากบ้านพัก โดยผู้บังคับการปราบปรามให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่ากองปราบไม่ได้จับกุมนายสุริยัน ต่อมาวันที่ 21 ต.ค. 58 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภาและนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ทั้งหมดถูกนำไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี
ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 58 ที่ผ่านมาว่าระหว่างการควบคุมตัวพ.ต.ต.ปรากรม สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เสียชีวิตจากการผูกคอกับลูกกรงโดยแถลงการณ์ข้อ 3.ระบุว่า “การเสียชีวิตของผู้ต้องขังในครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน จึงต้องดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งศพให้สถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”
อย่างไรก็ตามวันที่ 25 ต.ค.58 ญาติผู้ตายได้ไปติดต่อขอรับศพที่สถาบันนิติเวช แต่พบว่าไม่มีการส่งศพมายังสถาบันฯต่อมาวันที่ 26 ต.ค.58 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมชันสูตรพลิกศพพ.ต.ต.ปรากรมตามกฎหมาย และญาติได้เดินทางมารับศพยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วจึงไม่จำเป็นต้องส่งศพไปตรวจที่สถาบันนิติเวชอีก
องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้ายมีความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การจับกุมนายสุริยัน กับพวกจนถึงการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม ดังต่อไปนี้
  • 1. การควบคุมตัวนายสุริยัน ระหว่างวันที่ 16 – 21 ต.ค.58ในสถานที่ลับ โดยเจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธการควบคุมตัว ทำให้นายสุริยันไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายถือเป็นการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ ตามข้อ 2 อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องไม่ละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว หลังลงนามในอนุสัญญา แม้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม
  • 2. การควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสามรายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในค่ายทหาร โดยเป็นการขังเดี่ยวภายในห้องที่ปิดทึบผนังทั้งสี่ด้านไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้นอกจากการเปิดประตูนั้น เข้าข่ายการประติบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรรมหรือย่ำยี่ศักดิ์ศรี ตามข้อ 16 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งการควบคุมตัวบุคคลภายในสถานที่ซึ่งบุคคลภายนอกไม่อาจเข้าถึงภายในค่ายทหารนั้นยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอาทิการทรมาน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถตรวจสอบผู้กระทำความผิดได้ยาก
  • 3. การเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม นั้น ถือเป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานต้องปฏิบัติตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากล่าวคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานอัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย ในทางปฏิบัติทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมีการส่งร่างผู้ตายไปยังสถาบันนิติเวชดังที่ระบุขั้นตอนไว้ในแถลงการณ์ แต่กลับไม่มีการดำเนินการดังกล่าว แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่ามีการชันสูตรภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีญาติร่วมในกระบวนการชันสูตร
  •         ทั้งนี้ ตามมาตรา 150  กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ญาติทราบเท่าที่จะทำได้ก่อนมีการชันสูตรดังนั้น กระบวนการพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรมจึงยังมีข้อสงสัยและทำให้สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายจากอำนาจนอกกฎหมายแม้กระทั่งอยู่ระหว่างพิสูจน์การกระทำผิดตามกระบวนการยุติธรรมก็ตาม
  • 4. ตามข้อ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเรื่องหลักสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายว่ามีความผิด ดังนั้นผู้ต้องหาทั้งสามยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้
  • 1. ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี โดยย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่นเนื่องจากการคุมขังพลเรือนในพื้นที่ของทหารขาดความโปร่งใส ขาดหลักประกันสิทธิผู้ถูกคุมขังและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่นได้ อันเข้าข่ายเป็นการควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อ 9 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจไร้หลักประกันสิทธิ ข้อ 10 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังด้วยความมีมนุษยธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • 2. เปิดเผยกระบวนการและผลการชันสูตรพลิกศพของพ.ต.ต.ปรากรม พร้อมทั้งดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้ร่วมตรวจสอบถึงสาเหตุการตายโดยไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ศูนย์ข้อมูลชุมชน