วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

อับดุลการีม คอลิบ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ยังเห่าไม่เลิก


8 ก.ย. 2558 - มีการเผยแพร่คลิปของแผนกประชาสัมพันธ์ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ JABATAN PENERANGAN - BRN ความยาว 05.55 นาที ซึ่งต่อมามีผู้ระบุว่า ผู้แถลงคือ อับดุลการีม คอลิบ

โดยตามที่มีการแปลในเว็บไซต์ของสำนักข่าว Wartani ตอนหนึ่ง ผู้แถลงซึ่งสวมเสื้อสีม่วงและสวมหมวกซองก็อกสีดำแบบมลายู พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย โดยระบุว่า "ปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาที่มีความท้าทายในการเมืองภายในที่กำลังถูกรุมเร้า" รวมทั้งกดฝ่ายล่าวถึงการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำด้วย นอกจากนี้ยังระบุว่า "การสถาปนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความเคารพต่อแนวคิดของพลเมือง ที่เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ยังมิได้รับการดำเนินการแต่อย่างใด" และระบุด้วยว่า "ตรงกันข้ามกลับใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการปูทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ"

ผู้แถลงยังระบุว่า "นานาประเทศต่างประจักษ์ชัดแล้วว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น ไม่ได้ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในการกำหนดะตากรรมตนเองให้กับทุกชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชาวมลายูปาตานี นับประสาอะไรกับการเจรจาสันติภาพที่มิอาจเชื่อได้ว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้น จะไม่มีการหลอกลวงชาวปาตานีเหมือนอย่างที่แล้วมา ในเมื่อนักล่าอาณานิคมสยามเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสิบแปดมงกุฎและเป็นอาชญากร ยุคแล้วยุคเล่าที่นักล่าอาณานิคมสยามยังใช้ทฤษฎีเดิม ที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างชอบธรรมตามนโยบาย ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว เราในฐานะชาวมลายูปาตานี มิอาจที่จะให้ความไว้วางใจกับนักล่าอาณานิคมสยามที่ไร้ศีลธรรมนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่คอยทำลาย ที่มีความย้อนแย้งกับทุกชนชาติที่มีอยู่ในโลก"

"ตราบใดที่แนวคิดทางการเมืองของนักล่าอาณานิคมสยามยังไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ยอมรับในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมลายูปาตานีที่สอดคล้องกับกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ (UN) 1514 (XV) ได้ ตราบนั้นการต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีจักยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าชะตากรรมของชนชาวมลายูปาตานีจะได้รับอิสรภาพ"

"สุดท้ายนี้เราขอยืนยันว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเป็นที่รับรู้ของประชาชานของเราและประชาชาติของเราอย่างทั่วกันว่า จุดยืนของเราและแนวคิดของเราคือหนึ่งเดียว หนึ่งประชาชาติ หนึ่งภาษา หนึ่งรัฐชาติ ไม่เลี้ยวซ้าย ไม่เลี้ยวขวา เอกราช หรือ ชะฮีด"

ตอนท้ายผู้แถลงยังได้ตะโกนคำว่าซึ่งแปลว่าเอกราชด้วยว่า "MERDEKA! MERDEKA!! MERDEKA!!!"

บีบีซีไทย ได้สอบถามความเห็นจากอาบูฮาฟิส อัลฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี โดยอาบูฮาฟิส ตอบในนามส่วนตัวว่า คลิปวิดีโอนี้ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงกลุ่มมารา ปาตานีโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือปฏิเสธ อาบูฮาฟิสกล่าวว่า เขายังเห็นว่า สภาองค์กรนำหรือ DPP ของกลุ่มบีอาร์เอ็นยังคงไม่ได้ตัดสินใจ และยังคงมีท่าทีรอดูว่ากลุ่มมารา ปาตานีจะเดินหน้าทำงานได้ผลอย่างไรต่อไปเนื่องจากว่าที่จริงแล้วยังมีคนที่ถือได้ว่าเป็นสมาชิกตัวจริงระดับสูงของกลุ่มอยู่ในมารา ปาตานีเอง

อาบูฮาฟิสกล่าวอีกว่า ข้อความในคลิปวิดีโอย้ำว่ามีจุดยืนไม่ไว้วางใจกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และตั้งคำถามต่อความจริงใจของประเทศไทยในกระบวนการที่ผ่านมา รวมทั้งข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น 5 ข้อที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายไทย โดยไม่มีส่วนใดในข้อความที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยหนนี้

ในส่วนของแผนกประชาสัมพันธ์ บีอาร์เอ็นดังกล่าว เป็นแผนกหนึ่งใน 7 ฝ่ายภายใต้โครงสร้างของสภาองค์กรนำ หรือ Dewn Pimpinan Parti (DPP) (อ่านเพิ่มเติมที่ Deepsouthwacth, 11 พ.ย. 2555)

โดยก่อนหน้านี้หลังการเจรจา ระหว่าง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 มีการเผยแพร่คลิปที่ชื่อว่า "การประกาศของแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานี" (PENGISTIHARAN BARISAN REVOLUSI NASIONAL MELAYU PATANI) ซึ่งนอกจากการแถลงของฮัสซัน ตอยิบ ที่ระบุว่าเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นแล้ว ในคลิปยังมีอีกบุคคลหนึ่งคือ "อับดุลการีม คอลิบ" ซึ่งระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่คณะผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556

ในตอนนั้น อับดุลการีม ระบุเงื่อนไขว่าจะมีการพูดคุยภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อได้แก่ "
  • 1.รัฐสยาม (รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก
  • 2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น กับฝ่ายสยาม
  • 3.ในระหว่างการพูดคุยจะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน)
  • 4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และ
  • 5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ขณะที่ในวันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นการเผยแพร่คลิปของบีอาร์เอ็นขึ้นหารือด้วย นอกเหนือจากผลการพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี” ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

คสช. เตือนหยุดนำภาพผู้ต้องหาคดีระเบิดตัดต่อโยงการเมือง ขู่ดำเนินคดี


‘ประยุทธ์’ ยันคดีระเบิดราชประสงค์ไม่จับแพะ คสช. เตือนหยุดนำภาพผู้ต้องหาตัดต่อโยงประเด็นทางการเมือง เผยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
8 ก.ย. 2558 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดย พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ศูนย์ติดตามสถานการณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ติดตามสืบสวนคดียังคงมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยได้ส่งตัว เมียไรลี ยูซูฟู ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในคดีร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ตำรวจเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตำรวจยังได้ออกหมายจับเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ราย คือ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์มาน และชายต่างชาติไม่ทราบชื่อซึ่งปรากฏภาพจากกล้องวงจรปิด ในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดในครอบครอง เหตุเกิดที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ สรุปจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับไปแล้วทั้งสิ้น 11 ราย
สำหรับความคืบหน้าในการคลี่คลายคดี พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นผลมาจากความร่วมมือและการปฏิบัติการอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ ขอเรียนว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปมูลเหตุจูงใจหรือตัดประเด็นหนึ่งประเด็นใด จนกว่าจะมีพยานหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ในส่วนของสื่อมวลชนที่รายงานผลการสืบสวนคดีตามข้อเท็จจริง และติดตามความคืบหน้าของคดีมาอย่างต่อเนื่องนั้น ขอความร่วมมือพิจารณานำเสนอเฉพาะข่าวสารที่ได้รับการยืนยันและชี้แจงอย่างเป็นทางการเป็นหลัก เพื่อให้การรับรู้และความเข้าใจของสังคมเป็นไปอย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน
พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการนำภาพของผู้ต้องหาไปตัดต่อ เชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองนั้น ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว เพราะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความแตกแยกในสังคมไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการปฏิบัติล่าสุดของเจ้าหน้าที่ในวันนี้ มีการดำเนินการที่สำคัญ คือ จากผลการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัว และเบาะแสจากวัตถุพยาน ทำให้ในวันนี้ตำรวจได้นำตัว ยูซูฟู ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพใน 3 พื้นที่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่อาจมีความเกี่ยวโยงกับการก่อเหตุ
พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่าในวันนี้เวลา 15.00 น. ทางตำรวจนครบาล โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้นำผู้ต้องหา ประกอบกับ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ สน.หนองจอก และมีนบุรี ได้นำตัว ผู้ต้องหา ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ยังที่เกิดเหตุที่พบสารประกอบวัตถุระเบิด 2 แห่งคือ พูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ หนองจอก กับที่ ไมมูณา การ์เดนโฮม ที่มีนบุรี และร้านขายเคมีภัณฑ์ร้านหนึ่งในพื้นที่บึงกุ่ม ซึ่งผู้ต้องหาก็ได้ให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง สอกคล้องกับการให้การในสำนวนสอบสวนและหลักฐานต่างๆ ที่เพราะเก็บได้ในที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเข้าออกอาคารทั้ง 2 อาคาร ห้องพัก จุดเก็บสารและวัตถุที่ประกอบระเบิด รวมทั้งไปที่ร้านเคมีภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง และผู้ขายในร้ายเคมีภัณฑ์ก็ยืนยันได้ว่าเมียไรลีมาซื้อวัสดุเคมีภัณฑ์ที่นำไปใช้ในการประกอบระเบิดได้อย่างถูกต้อง
ประยุทธ์ ยันไม่จับแพะ
สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การคลี่คลายคดีระเบิดราชประสงค์ ไม่มีการจับผิดตัว หรือการจับแพะ เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานตามขั้นตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลการจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากข้อมูลหลักฐานไปถึงใคร ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ละเว้น คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีที่ต้องเข้าสู่ศาลทหาร เพราะเป็นคดีร้ายแรง เกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งคนไทยและต่างชาติ  และยังไม่ตัดประเด็นใดออกในขณะนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าของคดีนั้นจะต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองรับส่วยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงอยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ต้องดูทั้งหมดทุกหน่วยงานว่ามีการกระทำผิดหรือไม่  วันนี้ต้องกำหนดกรอบให้แต่ละหน่วยงานแก้ไขปัญหา และต้องมองอดีตที่นักการเมืองและรัฐบาลชุดก่อน ๆ ไม่เข้มงวด