วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

รอยปริ 'ชาตินิยมจ๋า ปะทะ เทคโนแครต' เมื่อ สปช. โหวตล้ม 'สัมปทานปิโตรเลียม'


ปีกชาตินิยมจ๋าใน สปช. นำโดยกลุ่ม 40 ส.ว. โหวตล้มเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรี พลัสตามที่เทคโนแครตสายพลังงานเสนอ แต่ท้ายสุด ‘ประยุทธ์’ ไฟเขียว ก.พลังงาน เดินหน้าเปิดสัมปทาน
“ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส” (Thailand (III) Plus) คืออะไร (คลิ๊กอ่านเบื้องต้น) และอ่านพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. (คลิ๊กอ่าน)
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในประเด็นพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือการโหวตล้มมติการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ
โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีรายงานว่า ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 4/2557 ได้พิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ  โดยได้ดำเนินการประชุม และอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เวลา 10.00 น. กระทั่งเวลา 19.32 น. ได้มีการลงคะแนน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม
ขณะที่นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน แถลงผลการศึกษาว่า ผลการพิจารณาสรุปเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทาน ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) ตามแผนงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.ยกเลิกการใช้ระบบสัมปทาน ในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และนำระบบแบ่งปันผลผลิต และ 3.ให้ดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ด้วยระบบสัมปทานระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) และให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการศึกษาและเตรียมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่ เหมาะสมกับศักยภาพของการผลิตปิโตรเลียมให้พร้อมไว้เพื่อเป็นทางเลือก แล้ให้รัฐบาลตัดสินใจในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนเป็นหลัก จึงมีมติเสนอทางเลือกที่ 3 ต่อที่ประชุม สปช.เพื่อพิจารณาเสนอ ครม.ต่อไป
ท้ายสุดที่ประชุมในวันนั้นได้มีการลงมติ โดยสมาชิก สปช. ส่วนใหญ่ มีมติไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสียงข้างมาก  ที่จะให้มีการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21  ด้วยคะแนน 130 ต่อ 79 คะแนน งดออกเสียง 21 เสียง

22 ต่อ 3 เสียงในชั้นกรรมาธิการ
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนต่อกรณีนี้ว่า
"กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน 25 คน มีจำนวน 22 คน ที่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และ 3 คนซึ่งเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนความคิดเห็น โดยในการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมใหญ่ของ สปช. ผู้อภิปรายส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดที่สนับสนุนการเปิดสัมปทานครั้งนี้ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วย ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะยึดเอาเหตุและผลตามรายงานที่มีการศึกษาของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ หรือจะทำตาม มติของ สปช.เสียงส่วนใหญ่ โดยเรื่องนี้หากรัฐบาลมีการชะลอการเปิดสัมปทานออกไปก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะได้มีการประกาศให้นักลงทุนได้ทราบเป็นทางการแล้วว่ารัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้"
นายคุรุจิต กล่าวว่า กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีแนวคิดที่จะเป็นล็อบบี้หรือขอเสียงจากสมาชิก สปช.คนอื่นๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ขอความเห็นจาก สปช. จึงน่าจะเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทำความเห็นส่งให้รัฐบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น แต่เมื่อกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อย ซึ่งเคยทำงานด้านการเมืองและมีความคุ้นเคยกับสมาชิก สปช.คนอื่นๆ สามารถที่จะรวมเสียงได้ ผลจึงออกมาว่ากรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมากแพ้มติ
"กรณีนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้การปฏิรูปพลังงานในเรื่องที่มีความสำคัญเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานของประเทศมีปัญหาตามมาด้วย เพราะสิ่งที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก นำเสนอขึ้นไป ก็อาจจะถูกเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของพลังงานโดยตรง ตีตกไปในลักษณะเดียวกันนี้อีก"
โดยนายคุริจิตระบุว่ากรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน ปิโตรเลียมรอบที่ 21 คือนายอลงกรณ์ พลบุตร,นายชาญณรงค์ เยาวเลิศ และนางสาวรสนา โตสิตระกูล [ดู: วิวาทะ 'สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21', กรุงเทพธุรกิจ, 15 มกราคม 2558]

130 ต่อ 79 ในที่ประชุม สปช.
รสนา โตสิตระกูล คีย์แมนสำคัญในการล๊อบบี้ 130 เสียงให้โค่นมติของ กมธ.ปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก ในที่ประชุม สปช. ได้ ระบุกับสื่อมวลชนภายหลังว่าหากกระทรวงพลังงานยืนยันจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงข้างมากของ สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานฯ แต่กลับไปยึดเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการพลังงาน (กมธ.) ที่เห็นชอบ ก็เท่ากับกระทรวงพลังงานอาศัย กมธ. เป็นการรับรองความชอบธรรมของตัวเองในการเปิดสัมปทานฯเท่านั้น
"ขอท้าให้กระทรวงพลังงานเอาเสียงข้างมากของ กมธ.ไปทำประชามติของประชาชน โดยถ้าคิดว่า สปช.ยังเป็นความเห็นที่ไม่เพียงพอ ก็จัดทำประชามติทุกภาคทั่วประเทศ จะได้เห็นกันว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร"
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สปช.จะนำมติของ สปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน 130 เสียงต่อ 79 เสียง เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
“ปกติการสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมใช้เวลาถึง 9 ปี ดังนั้นไม่เห็นความจำเป็นที่กระทรวงพลังงานจะต้องรีบเร่งเปิดสัมปทาน โดยไม่รอรัฐธรรมนูญ หรือ รอการปฏิรูปพลังงานให้เสร็จก่อน ซึ่งความจริงระหว่างที่รอแก้ไขกฎหมาย ทางกระทรวงพลังงานสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สำรวจแปลงสัมปทานปิโตรเลียมให้ชัดเจน หรือควรศึกษาถึงการนำระบบแบ่งปันผลผลิตก่อน จึงค่อยมาคิดเรื่องเปิดสัมปทาน จึงจะเหมาะสมกว่า” [ดู: วิวาทะ 'สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21', กรุงเทพธุรกิจ, 15 มกราคม 2558]
ท่าทีที่แข็งกร้าวและเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจนี้ เกิดจากการเกาะกลุ่มกันที่เหนียวแน่นและการแผ่ขยายอิทธิทางความคิดของกลุ่มการเมือง “40 ส.ว.” ที่มีเธอและคำนูณ สิทธิสมานเป็นแกนนำต่อ สปช. ส่วนใหญ่ได้ รวมทั้งการได้เสียง สปช. คนสำคัญหลายคน อาทิ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, นายชัย ชิดชอบ, นายมีชัย วีระไวทยะ ฯลฯ ให้ยืนข้างมากได้ถึง 130 ขณะที่ฝ่าย สปช. เทคโนแครตด้านพลังงานได้เพียง 79 เท่านั้น

เดินหน้าตามแนวทางเทคโนแครต
แต่หลังการออกมาระบุภายหลังของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา อาจทำให้ สปช. สายชาตินิยมจ๋าต้องสะอึกเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าในเรื่องของทางปฏิบัติเป็นเรื่องของ ครม. ของกระทรวงพลังงานที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง เพียงพอและไม่ให้ประสบปัญหาในเรื่องของวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต สอดคล้องกับการออกมาระบุแก่สื่อมวลชนก่อนหน้านั้นว่าการเตรียมพลังงานสำรองถือเป็นเรื่องดี เพราะหากไม่สามารถใช้พลังงาน ทั้งไฟฟ้าและก๊าซ ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็ยังมีพลังงานในประเทศสำรองไว้ใช้ การได้มาของพลังงานสำรองจากการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ก็จะสอดคล้องกับสัมปทานที่รัฐบาลเคยดำเนินการมาในอดีต ที่ขณะนี้ก็ทยอยที่จะหมดสัมปทานแล้ว
“การที่มีกลุ่มคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเกรงว่าจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์จากการเปิดสัมปทาน ก็อยากจะชี้แจงว่า การเปิดสัมปทานในแต่ละจุด ไม่มีใครรู้ว่าจุดไหนจะมีน้ำมันมากหรือน้อย คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะต้องเข้าไปสำรวจก่อน และหากขัดขวางจนสุดท้ายประเทศไม่มีพลังงานไว้ใช้ในอีก 6 ปี ข้างหน้า ก็ขอให้ผู้ที่คัดค้านออกมารับผิดชอบ โดยให้มาเซ็นสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานและเมื่อใดที่มีปัญหาด้านพลังงาน จะได้ให้คนกลุ่มนี้รับผิดชอบ”
และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่าจะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานและการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นปลุกระดม หรือเดินขบวน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และยึดหลักดำเนินการด้วยความโปร่งใส และพร้อมที่จะรับฟังและนำความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นของ สปช. หรือกลุ่มใดก็ตาม [ดู: “ประยุทธ์” ให้พลังงานชี้ขาดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21, โลกวันนี้, 16 มกราคม 2558]
ซึ่งความหมายของพล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะเป็นการใช้แนวทางของกระทรวงพลังงาน ตามที่ สปช.สายเทคโนแครตด้านพลังงานชงไว้ให้แล้ว แม้จะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ชุดใหญ่ก็ตาม
สำหรับประเด็นพลังงาน ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน (เป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย) ก็มักจะใช้แนวทางจากเทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีความผูกพันกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ปตท. กฟผ. หรือจากบรรษัทพลังงานต่างๆ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานี้เทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็น่าจะหนีไม่พ้นปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. คนปัจจุบัน
ส่วนคีย์แมนคนสำคัญของคณะกรรมธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ก็เป็นฝ่ายเทคโนแครตในอุตสาหกรรมพลังงานและส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหม้อของ ปตท. กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ด้วยเช่นกัน อาทินายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ คณะกรรมธิการปฏิรูปพลังงาน เขาเคยเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. คนแรก ประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ/ กรรมการตรวจสอบ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น ประธานกรรมการ บมจ. ลินเด้ (ประเทศไทย), นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน บอร์ด ของบริษัท ปตท. และเพิ่งรับการแต่งตั้ง จาก ครม. เป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา, นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการ ปตท., กรรมการไทยออยล์, สมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน, นายมนู เลียวไพโรจน์ ขึ้นเวที กปปส. / อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธานกรรมการ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน), นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานคณะกรรมการบริษัทการจัดการธุรกิจจำกัด นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน, อดีตผู้บริหาร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ปี 56 กรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ปี 55 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
สำหรับฝ่ายชาตินิยมจ๋าแม้จะชนะในโหวตในสภา แต่ท้ายสุดก็อาจจะเป็นผู้พ่ายแพ้ และนี่เป็นบทเรียนอีกครั้งว่าพวกเขา (ฝ่ายชาตินิยมจ๋า) ไม่ได้สู้แค่นักการเมืองเท่านั้น หากจะเปลี่ยนประเทศไทยไปตามที่พวกเขาฝัน เหล่าเทคโนแครตอันเป็นมันสมองระบบราชการไทย ก็ยังเป็นพลังเอกเทศ ที่แม้บางครั้งดูเหมือนจะเข้าได้กับฝ่ายชาตินิยม แต่ส่วนใหญ่แล้วเทคโนแครตเหล่านี้ก็ต้องเดินไปตามระบบทุนนิยมเสรีเป็นหลัก.

อาทิตย์ลับ: พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ถึงแก่อนิจกรรม


พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กำลังสำคัญปราบกบฏยังเติร์ก จนได้เลื่อนยศเป็น ผบ.ทบ. ควบ ผบ.สส. - ผู้งัดข้อ พล.อ.เปรม ลดค่าเงินบาท และผู้ถูก พล.อ.เปรม ปลดฟ้าผ่า ถึงแก่อนิจกรรมแล้วที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เช้าวันนี้
19 ม.ค. 2558 - พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตวุฒิสมาชิก จ.เลย ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เมื่อเวลา 06.20 น. ที่ผ่านมา ที่รพ.พระมงกุฎเกล้า ทั้งนี้ตามรายงานของ ข่าวสด
ผู้ปราบกบฎยังเติร์ก - งัดข้อ พล.อ.เปรม เรื่องลดค่าเงินบาท
ประวัติของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2468 สำเร็จชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพรหมวิทยามูล เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม 6 ในปี พ.ศ. 2484 และโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร เข้าศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารบก รุ่นที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2487 - 2491 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ พล.อ.บรรจบ บุนนาค และ พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์
ในปี พ.ศ. 2524 ฝ่ายทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก" ประกอบด้วยนายทหาร จปร. รุ่น 7 เช่น พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พ.ท.พัลลภ ปิ่นมณี พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล พ.อ.แสงศักดิ์ มงคละสิริ พ.อ.บวร งามเกษม พ.อ.สาคร กิจวิริยะ มี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รอง ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ ได้พยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 มีการจับ พล.อ.เสริม ณ นคร ผบ.ทบ. รวมทั้ง พล.ท.หาญ ลีนานนท์ พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.ต.วิชาติ ลายถมยา ไปควบคุมตัวไว้ที่หอประชุมกองทัพบก
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรม ได้หลบหนีไปตั้งกองบัญชาการตอบโต้ฝ่ายยังเติร์กอยู่ที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา โดยได้รับกำลังสนับสนุนจาก พล.ต.อาทิตย์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 2 นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ด้วย
โดยฝ่ายกบฎได้ยอมมอบตัวกับรัฐบาล พล.อ.เปรม ในวันที่ 3 เมษายน และภายหลังเหตุการณ์ พล.ต.อาทิตย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านฝ่ายกบฎยังเติร์ก ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.เปรม เป็นอย่างมาก โดยได้เลื่อนยศเป็น พล.ท. ตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในอีก 6 เดือนต่อมา
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 พล.อ.อาทิตย์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สืบต่อจาก พล.อ.ประยุทธ จารุมณี ที่เกษียณอายุราชการ จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สืบต่อจาก พล.อ.สายหยุด เกิดผล โดยเป็นการดำรงตำแหน่งทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ควบคู่กัน
พล.อ.อาทิตย์ ในเวลานั้นได้ออกมาวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล โดยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เขาได้วิจารณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์กรณีที่รัฐบาล พล.อ.เปรม โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รมว.คลัง ประกาศลดค่าเงินบาท จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ
 ถูก พล.อ.เปรม ปลดฟ้าผ่า - และเส้นทางการเมืองหลังเกษียณ
ในปี พ.ศ. 2527 นายทหารที่รับราชการและที่เกษียณอายุราชการ ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.อาทิตย์ ได้กดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายกองทัพเช่นกัน ต่อมาการเผชิญหน้าระหว่างขั้ว พล.อ.อาทิตย์ และ พล.อ.เปรม ยุติลงเมื่อ พล.อ.อาทิตย์ เสนอให้เลิกเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ
ในปี พ.ศ. 2529 พล.อ.อาทิตย์ พยายามล็อบบี้ให้มีการต่ออายุราชการของเขาในฐานะผู้บัญชาการทหารบก จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 ซึ่งจะทำให้เขามีอิทธิพลภายหลังรัฐบาล พล.อ.เปรม หมดวาระ แต่ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2529 รัฐบาลประกาศว่า พล.อ.อาทิตย์ จะเกษียณอายุในเดือนกันยายน พ.ศ. 2529 และในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พล.อ.เปรม ได้ประกาศปลด พล.อ.อาทิตย์ จากการเป็น ผู้บัญชาการทหารบก และให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทน
โดยในวันที่มีคำสั่งดังกล่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้พาดหัวใหญ่ว่า "สั่งปลด..อาทิตย์" และเป็นฉบับที่มียอดขายดีของ นสพ.ไทยรัฐ โดยจำหน่ายได้เกิน 1 ล้านฉบับ
พล.อ.อาทิตย์ คงเหลือเพียงการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยดำรงตำแหน่งนี้จนเกษียณอายุราชการในถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2529
เส้นทางการเมือง หลังจากเกษียณราชการ พล.อ.อาทิตย์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ ก็ถูกจี้จับตัวโดยคณะ รสช. นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคปวงชนชาวไทยของ พล.อ.อาทิตย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคชาติพัฒนา โดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นหัวหน้าพรรค

อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม : คำประกาศที่ประชุมกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานี

          หมายเหตุกองบรรณาธิการ: ข้อเขียนนี้เป็นเนื้อหาที่เผยแพร่ครั้งแรกในบล็อกของ Abu Hafiz Al-Hakim ที่ชื่อ “PENGISYTIHARAN SIDANG PEJUANG-PEJUANG PATANI”  ซึ่งอัพโหลดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา กล่าวถึงคำประกาศที่ประชุมกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานี (Pengisytiharan Sidang Pejuang-pejuang Patani) เมื่อ 25 ปีที่แล้ว จากคำประกาศ 9 ข้อ นำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานีหรือเบอร์ซาตู และจุดยืนปัจจุบันต่อกระบวนการสันติภาพจะเป็นอย่างไร ให้ร่วมกันติดตาม
           ในระหว่างที่เราเฝ้าติดตามกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Proses Dialog Damai) ระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนนักต่อสู้ปาตานีว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร หรือจะเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อใด คงจะดีไม่น้อยหากเราจะย้อนกลับไปย้อนพิจารณาคำประกาศที่ประชุมกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานี (Pengisytiharan Sidang Pejuang-pejuang Patani) ที่มีขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
         คำประกาศดังกล่าวที่แถลงขึ้นนอกพื้นที่ปาตานีนั้นเป็นผลมาจากการประชุมครั้งหนึ่ง – การประชุมของนักต่อสู้เพื่อปาตานี (Conference of Patani Freedom Fighters) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1989 ที่จัดขึ้นโดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีบรรดาแกนนำระดับสูงของกลุ่มนักต่อสู้กลุ่มหลักๆ เข้าร่วม ซึงต่อมาได้มีการลงนามในเอกสารครั้งประวัติศาสตร์อีกด้วย ผู้เข้าร่วมในครั้งนั้นมีดังต่อไปนี้คือ
  • 1. หัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็น (ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติ - BRN) คองเกรส
  • 2. หัวหน้ากลุ่มบีไอพีพี (ขบวนการอิสลามปลดปล่อยปาตานี–BIPP)
  • 3. หัวหน้ากลุ่มจีเอ็มพี (ขบวนการมูญาฮิดีนปาตานี - GMP) และ
  • 4. ผู้นำระดับสูงของกลุ่มพูโล (องค์การปลดปล่อยสหปาตานี–PULO)

เนื้อหาบางส่วนของคำประกาศดังกล่าวระบุว่า:
“ทั้งนี้เราขอประกาศว่า
  • 1.การต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีคือการต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงอิสรภาพที่เที่ยงแท้ เพื่อการสถาปนารัฐมลายูอิสลามที่มีอำนาจอธิปไตย (Berdaulat)
  • 2. การต่อสู้ของเราการญิฮาดที่ใช้กำลังอาวุธตามแนวทางของอิสลามและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวมลายูปาตานี
  • 3. เราคัดค้านนโยบายและกฎเกณฑ์ทั้งหมดของเจ้าอาณานิคมไทยที่มีมุ่งหมายจะขจัดความเชื่อศรัทธา เชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมมลายูปาตานี
  • 4. เราต่อต้านการกดขี่ ความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการฆาตกรรมการควบคุมตัวที่ไร้คำอธิบาย การซ้อมทรมาน และการเลือกปฏิบัติ
  • 5. เราต่อต้านการให้ความร่วมมือกับนักล่าอาณานิคมไทยจากหลายๆ ฝ่ายทุกรูปแบบ ของทุกๆ ฝ่าย ในการหยิบฉวยผลประโยชน์และความรื่นเริงกับแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจและความสมบูรณ์บนแผ่นดินปาตานี
  • 6. เราจะปฏิบัติขั้นเด็ดขาดสำหรับใครก็ตามที่ให้ความร่วมมือกับนักล่าอาณานิคมไทย ในฐานะผู้ที่กระทำการทรยศต่อการต่อสู้ของชาวปาตานี
  • 7. เราขอเรียกร้องให้ชาวมุสลิมให้การสนับสนุนการต่อสู้ที่บริสุทธิ์ของเรา
  • 8. เราขอเรียกร้องไปยังบรรดาประเทศและองค์กรต่างๆ ที่ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพความยุติธรรมและสันติภาพ เพื่อให้การสนับสนุนในด้านศีลธรรมและปัจจัยวัตถุต่อขบวนการต่อสู้ของชาวปาตานี
  • 9. เราจะให้ความร่วมมือกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพ และที่ใฝ่ฝันเพื่อสันติภาพต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม”

          ต้นฉบับของเอกสารคำประกาศดังกล่าวนี้เป็นภาษามลายู จากนั้นได้มีการจัดทำรวมเล่มใหม่อีกครั้งและเผยแพร่เป็นสามภาษาด้วยกัน คือภาษามลายู (รูมีและยาวี) ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ
         ทั้งนี้ ควรต้องสังเกตไว้ด้วยว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว คือมาจาก บีอาร์เอ็นคองเกรส(ปีกการทหารของบีอาร์เอ็นเดิม) และไม่ใช่บีอาร์เอ็นโคออดิเนต แต่อย่างใด ขณะที่ขบวนการพูโลที่ในช่วงเวลานั้นยังคงรวมเป็นหนึ่งเดียวและยังไม่ได้แตกตัวออกมาเป็นสามกลุ่มเช่นทุกวันนี้
          เป็นที่เข้าใจว่าหลังจากมีคำประกาศดังกล่าวนี้เพียงไม่กี่เดือน ก็มีการถือกำเนิดขึ้นขององค์กรร่มที่มีชื่อว่าแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี (Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามเบอร์ซาตู (BERSATU) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากขบวนการทั้งสี่กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยเหตุนี้พอที่จะสรุปได้ว่า การประกาศข้างต้นนั้นได้รับการสนับสนุนเบอร์ซาตูอย่างเต็มที่
            มีเหตุการณ์ไม่น้อยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่มีคำประกาศในวันนั้น ถึงแม้ว่าการจัดตั้งเบอร์ซาตูจะมิได้นำไปสู่การดำรงซึ่งการรวมตัวอย่างแท้จริงในแง่ของความเป็นองค์กรความเคลื่อนไหวและกองกำลังติดอาวุธ ทว่ามันได้ส่งผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ปาตานี กล่าวคือ ศักยภาพของผู้นำ ความสมัครสมานสามัคคี และจิตวิญญาณที่มีความอดทนอดกลั้นระหว่างกันในการสถาปนาขบวนแถวที่สามารถส่งเสียงบางอย่างก็สร้างความโกรธเคืองให้แก่เจ้าอาณานิคมได้บ้างแล้ว
          เจ้าอาณานิคมไทยเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) แน่นอนว่าจะไม่มีสันติสุขเกิดขึ้น ตราบใดที่บรรดานักต่อสู้ปาตานีต่างรวมกันเป็นหนึ่งในการต่อกรกับพวกเขา เจ้าอาณานิคมจะมีความยินดีอย่างยิ่งหากว่าฝ่ายขบวนการต่อสู้เกิดความแตกแยกและมีการขัดขากันเอง และแน่นอนว่า สิ่งนี้จะทำให้เสียงและความพยายามของพวกเขาไม่มีพลัง จนบัดนี้ เบอร์ซาตูยังคงเป็นฝันร้ายของเจ้าอาณานิคม ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีบทบาทใดๆ แล้วก็ตาม
         ประวัติศาสตร์การก่อตั้งขบวนการเบอร์ซาตูการขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจปกป้องชะตากรรมของประชาชาติที่ผ่านมา ตลอดจนการเผชิญกับปัญหาภายใน ที่สุดท้ายต้องลงเอยด้วยความสูญเปล่า ผู้เขียนเองมิได้ต้องการที่จะอธิบายอย่างยาวเหยียดเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว นอกจากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิจัยด้านการเมืองที่มีความสนใจที่จะลงลึกในรายละเอียดเรื่องดังกล่าว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ จิตวิญญาณอันแรงกล้า (SEMANGAT) และจุดมุ่งหมาย (CITA-CITA) ที่ได้ระบุไว้ในคำประกาศดังกล่าวนั่นเอง
         ข้อที่ 1 และ 2 เป็นถ้อยแถลงที่ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำที่ว่า การต่อสู้ที่ว่านี้มีเป้าหมายเพื่อรัฐปาตานีที่เป็นเอกราชและมีอำนาจอธิบไตย ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้กำลังอาวุธโดยประชาชนที่เป็นลูกหลานปาตานีเอง ซึ่งขบวนการต่อสู้ปาตานีทั้งหมดต่างสนับสนุนในหลักการดังกล่าวนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้นว่าท่าทีในวันนี้จะมีความโน้มเอียงในการเลือกวิธีการเจรจาหรือการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่นี่ก็เพียงเพื่อพยายามเสาะหาเส้นทางที่เอื้อต่อการนำพาสู่เป้าหมายเหล่านั้น และไม่เคยละทิ้งการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างแน่นอน
         ข้อที่ 3 ที่ 4 และ 5 เป็นการแสดงท่าทีการต่อต้านของขบวนการต่อสู้ปาตานีต่อทุกๆ นโยบาย การกระทำการแสวงหาผลประโยชน์ การกดขี่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าอาณานิคม ที่ปรารถนาจะคงเงื้อมมือเหล็กของพวกเขาไว้เหนือชาวปาตานีและรวมไปถึงแหล่งทรัพยากรในแผ่นดิน เราจะเห็นว่าในวันนี้ชาวมลายูปาตานีได้สูญเสียอัติลักษณ์ของความเป็นตัวตนเสียแล้วในฐานะมนุษยชาติที่มีศักดิ์ศรี มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นบนผืนแผ่นดินตัวเอง ภาษาและวัฒนธรรมเกือบจะสูญพันธุ์ พวกเขาถูกจับขัง ถูกอุ้มหาย หรือถูกฆาตกรรมตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและเป็นธรรม
         การต่อต้านยังหมายรวมถึงต่อความพยายามของฝ่ายที่ร่วมมือกันเพื่อลักลอบกอบโกยความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติจากผืนแผ่นดินปาตานี ถึงขั้นพร้อมที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับ "ผู้ฉ้อโกง" และพวกที่ทรยศต่อการต่อสู้ตามที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 6
         ข้อ 7 และ 8 เป็นการเรียกร้องและแสวงหาแรงหนุนช่วยและการสนับสนุนจากบุคคล องค์กรและพร้อมยื่นมือออกไปเพื่อให้มีความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่แสวงหาความยุติธรรมเสรีภาพและสันติภาพตามที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 9
          ถึงแม้จะผ่านเวลามาแล้วมาแล้วถึง 25 ปี ทว่าคำประกาศทั้ง 9 ข้อดังกล่าวก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในวันนี้ เพราะว่าความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง บรรดาผู้นำการต่อสู้มาแล้วก็จากไป องค์กรมีความเข้มแข็งและอ่อนแอ่ต่างสลับกันขึ้นๆ ลงๆ นักต่อสู้ในพื้นที่บางส่วนได้พลีชีพ (syahid) ที่มาก่อนก็ชราภาพ ที่โดดเดี่ยวก็เงียบสงบ สิ่งที่ยังคงอยู่คือความมุ่งมาดปรารถนาในการต่อสู้ของประชาชนทั้งมวลที่มิเคยมอดดับ ดังนั้นภารกิจดังกล่าวนี้ควรต้องสืบต่อโดยชนรุ่นหลังต่อไปพร้อมๆ กับการพัฒนาขีดความสามารถในการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมสันติภาพและเสรีภาพที่แท้จริงบนผืนแผ่นดินปาตานีดารุสซาลาม
         ทั้งนี้ เกี่ยวกับจุดยืนที่เป็นทางการของบรรดาองค์กรต่อสู้เพื่อปาตานีต่างๆ ต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ วันนี้นั้น ยังอยู่ในระหว่างการถกเถียง ซึ่งคาดว่าการประชุมอย่างเป็นทางการคงจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ และตามด้วยการประกาศอย่างเป็นทางการจากฝ่ายขบวนการต่อสู้ว่าพวกเขาจะเข้าร่วมในการพูดคุยในครั้งต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
เรามาร่วมกันติดตามต่อไป
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม
น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง – จากนอกรั้วปาตานี
17 รอบีอุลเอาวัล 1436 ฮ. / 8 มกราคม ค.ศ. 2015