วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลทหารออกหมายจับ ม.112 'ณัฏฐิกา-หฤษฏ์' 2 ใน 8 ผู้ต้องหาทำเพจล้อประยุทธ์เพิ่ม


 
29 เม.ย.2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้อนุมัติหมายจับ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และ หฤษฏ์ มหาทน 2 ใน 8 ผู้ต้องหา จัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพิ่มเติม ให้ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ด้วย หลังพบหลักฐานมีการสนทนากันในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวและดำเนินคดีต่อไป
 

ทหารฟ้อง 'บุรินทร์ อินติน' 2 ข้อหา 'ม.112 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'  

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า บุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม ยืนเฉยๆ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ ปล่อยตัว 8 ผู้ต้องหาจัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าว เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ผ่านมา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำตัว บุรินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ข้อหา ม.112 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) นำส่งพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผกก.(สอบสวน)กก.3บก.ปอท. ดำเนินคดี
โดย พ.อ.บุรินทร์ เปิดเผยว่า ทหารเฝ้าติดตามพฤติกรรม บุรินทร์ หลังจากสายข่าวพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Burin Intin” ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 กระทั่งวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.13 น. บุรินทร์ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 40 นาที พร้อมข้อความ “นู๋อยากโดนอุ้ม#ปล่อยเพื่อนเราที่โดนอุ้ม” ก่อนจะมีบุคคลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปดังกล่าว และ บุรินทร์ ตอบความคิดเห็นในลักษณะหมิ่้นเบื้องสูง หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ช่วงเวลา 18.00 น. บุรินทร์ เดินทางมาร่วมกิจกรรม "ยืนเฉยๆ” ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ก่อนจะเป็น 1 ใน 16 รายที่ถูกตำรวจสน.พญาไทควบคุมตัว
พ.อ.บุรินทร์ กล่าวว่า จากนั้นทหารจึงเดินทางไปยังสน.พญาไท เพื่อเชิญตัว บุรินทร์ มาควบคุมตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ทหารมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนบก.ปอท.เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ บุรินทร์ และวันนี้ศาลทหารจะออกหมายจับ เมื่อตรวจค้นตัวกลับไม่พบโทรศัพท์ของ บุรินทร์ จึงสอบถาม บุรินทร์ ได้ความว่าฝากโทรศัพท์ให้กับเพื่อนชื่อว่าน (นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อน สิรวิชญ์ เสรีวัฒน์ หรือ จ่านิว) อยู่ระหว่างติดตามตัว ว่าน จากนั้นจึงขยายผลตรวจค้นที่ร้านอัดรูปสปอร์ตดิจิตอลโฟโต้ ปากซอยปลูกจิตร 1 ถนนพระราม4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ที่ บุรินทร์ อาศัยอยู่ พบซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง ที่ใช้ในการเล่นเฟซบุ๊ก และขันแดง(ที่แจกในวันสงกรานต์) 1 ใบ
มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์และเดลินิวส์ ยังรายงานตรงกันด้วยว่า บุรินทร์ ผู้ต้องหา รับว่า ตนเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ 19 ก.ย. 2558 จากนั้นจึงมีโอกาสรู้จักกับ สิรวิชญ์  และติดต่อพูดคุยกันมาตลอด จนรู้จักกับแม่สิรวิชญ์ และแชตพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าร้ายสถาบันจริงเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตนโพสต์ข้อความต่างๆ ผ่านโทรศัพท์และโพสต์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27  เม.ย. ก่อนถูกจับกุม ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันและสาเหตุที่นำโทรศัพท์ให้เพื่อนชื่อว่านนั้น เพราะแบตโทรศัพท์จะหมด จึงให้ไปเพื่อชาร์จแบตเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะทำลายหลักฐาน จึงอยากฝากผ่านสื่อไปถึงว่านและจ่านิวว่า ให้นำโทรศัพท์กลับมาคืนด้วย
ด้าน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร กล่าวว่า รับตัว บุรินทร์ จากทหาร ก่อนจะสอบปากคำ พร้อมตรวจสอบซีพียูคอมพิวเตอร์ที่ได้มาว่ามีข้อมูลใดบ้าง ทั้งนี้จะนำตัวนายบุรินทร์ฝากขังศาลทหารก่อนเวลา 09.00 น.ในวันที่30 เม.ย. พร้อมขยายผลหากพบบุคคลใดเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทันที 

รายงาน: หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ = มาตรา 116? หัวหน้า คสช. = รัฐ ?


ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดมาแถลงข่าวที่กองปราบ (28 เม.ย.)


เพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ใช่เพจโด่งดังอะไรมากมายในโลกโซเชียล คนไลค์สามสี่หมื่น และเมื่อเกิดการอุ้ม ‘ทีมงาน’ หลายคน คนก็กดไลค์เพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดหมื่นกว่า
เนื้อหาของเพจนี้เทียบกับการต่อต้านรัฐบาลทหารในโลกโซเชียลแล้วนับว่า “ขำๆ” และดูเหมือนเพจก็ตั้งใจผลิตเนื้อหาทำนองนั้น ไม่มีประเด็นเป็นชิ้นเป็นอัน และเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก
ผู้ต้องหา 8 คน (เป็นหญิง 1 คน) ถูกกล่าวหาว่าเป็นทีมทำเพจ พวกเขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบตามมาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลเท็จตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเนื่องจากศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง ทำเป็นขบวนการ”
มาตรา 116 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคง และหลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้คดีความมั่นคงลักษณะนี้ขึ้นศาลทหาร
การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งโจมตี กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วโดนข้อหามาตรา 116 ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น กรณีที่ใกล้เคียงกันและศาลทหารเคยมีคำสั่งไว้แล้วว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 116 คือ คดีของรินดา ปฤชาบุตร
6 ก.ค.2558 มีการโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท
8 ก.ค.2558 ทหารบุกจับตัวที่บ้าน
10 ก.ค.2558 ตำรวจรับมอบตัวรินดาจากทหาร และแจ้งข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)
10 ก.ค.2558 ทนายความยื่นขอประกันตัว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกัน
13 ก.ค.2558 ทนายยื่นประกันใหม่อีกครั้งและศาลทหารอนุญาต
21 ธ.ค.2558 ศาลนัดสอบคำให้การ และวินิจฉัยว่าข้อความไม่เข้ามาตรา 116 โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้บันทึกไว้ว่า

“ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่อ่านคำฟ้องของโจทก์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท" ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ 
"จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะไปอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีอีกที ขณะที่อัยการโจทก์ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี  จากนั้นจึงกลับเข้าอีกครั้ง พร้อมอัยการอีกคน ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้อัยการฟังอีกครั้ง และย้ำว่าคดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย ความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี อัยการจึงแถลงค้านต่อศาลสั้นๆ ว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่าอัยการโจทก์ค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณา ให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว  และรอฟังคำสั่งศาลอีกที ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีไปให้ฟ้องที่ศาลอาญาแทน”
นี่เป็นคดีหนึ่งในสองคดีที่ศาลทหารวินิจฉัยเองว่าข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ นับเป็นการหมิ่นประมาทส่วนบุคคล ไม่เข้าข่ายความผิดฐานความมั่นคงอย่างมาตรา 116 อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แต่ไม่มากนักและไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ทางกฎหมายหรือทางการเมืองเท่าไร ผิดกับหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ถี่ขึ้นและได้ผลหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารได้ (ดูรายละเอียด)
ในเมื่อมาตรา 116 เป็นยักษ์ที่ออกมานอกตะเกียงและน่าจะอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ประชาไทสนทนากับ ‘สาวตรี สุขศรี’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าหลักการของมาตรานี้แท้จริงเป็นอย่างไร และการฟ้องคดีนี้สมเหตุสมผลในทางกฎหมายหรือไม่
“มาตรา 116 ทุกวันนี้ที่มีการใช้กันมากขึ้น หากจะนับก็ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และมากขึ้นอีกหลังรัฐประหาร 2557 มันมีลักษณะที่คนทำงานในสายอาญาเห็นได้ว่า มาตรานี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะใช้ไปตามเจตนารมณ์ มีองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนด แต่รัฐกลับเอากฎหมายอาญามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
"เราไม่รู้หรอกว่าท้ายที่สุดจะตัดสินออกมาว่าผิดหรือไม่ แต่เมื่อตั้งข้อหานี้ มันให้ผลทางการเมือง ทุกคนจะไม่กล้า ทำไมโทษหนักขนาดนี้ จริงๆ คนที่เป็นนักกฎหมายอาญาควรออกมาพูดเรื่องนี้บ้าง กฎหมายที่คุณใช้หากินอยู่มันถูกเอาไปใช้ในทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง” สาวตรีกล่าว
“ที่สำคัญ พอมีพวกโซเชียลมีเดีย เขาก็จะใช้มาตรา 116 เยอะเพื่อไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันอาจไม่พอ ต้องมีมาตรา 116 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 คสช.กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร คนก็จะคิดว่าไม่พูดอะไรดีกว่า” สาวตรีกล่าว

สำหรับหลักการของมาตรา 116 นั้น สาวตรีอธิบายว่า โดยปกติใช้กับการลุกขึ้นมาป่าวประกาศทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือสื่อสารมวลชน แต่มาตรานี้มีองค์ประกอบของมัน จะผิดได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต สองคำนี้ตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมาออกมาเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จะผิดมาตรา 116 ได้ต้องเป็นความมุ่งหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้กฎหมายยังมีวงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง วงเล็บสาม นั่นเป็นเหมือนเจตนาพิเศษ สิ่งที่พูดแล้วขัดกับระบอบประชาธิปไตย คุณมุ่งหมายที่จะ 1.ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รัฐบาล 2.ต้องการให้เกิดความปั่นป่วน
แรงจูงใจพิเศษตามมาตรานี้ เช่น กรณีที่มีกลุ่มประท้วงบอกว่าให้ทหารออกมายึดอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อย่างนี้ผิดแน่นอน เพราะไม่ใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กรณีเพจดังกล่าวเราไม่รู้ว่าทหารและตำรวจใช้เหตุผลไหน โดยส่วนตัวไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างไหนล้วนไม่เข้ามาตรา 116 เบื้องต้นยกตัวอย่างไว้ 3 แนวทาง
1.อ้างว่าเป็นเพจที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความวุ่นวาย – ขาดองค์ประกอบทำให้ไม่เข้ามาตรา 116 เพราะโดยปกติในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์ตัวกฎหมายเป็นเรื่องทำได้และต้องทำด้วย เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามยุคสมัย และมันเป็นวัตถุแห่งการทำประชามติด้วยจึงต้องเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางประชาธิปไตย
2.อ้างว่าเป็นเพจต่อต้านรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นยุยง – ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เช่นกัน เหตุผลคล้ายกับประเด็นแรก ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นโยบาย นักการเมือง เป็นเรื่องทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากบอกว่าทำไม่ได้เลย การชุมนุมไม่ว่าจะต่อต้านรัฐบาลไหนที่ผ่านมาก็ต้องผิดมาตรานี้หมด การวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียนเสียดสีก็เป็นการทำให้คนฉุกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต้องทำได้อยู่แล้วในวิถีทางประชาธิปไตย การจะเข้ามาตรานี้ต้องยุยงด้วยว่าลุกขึ้นจับอาวุธ หรือกระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สาวตรีบอกว่า ถามว่าในเขียนเพจ 'เชิญชวนประชาชนมาลอยกระทงยักษ์ ช่วยกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ' ผิดไหม มองว่ายังขาดองค์ประกอบของการใช้กำลังข่มขืน ประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ทั้งนี้มูลเหตุจูงใจก็ยังถูกคลุมด้วยองค์ประกอบหลัก คือ ต้องไม่เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การวิจารณ์หรือด่ารัฐบาล ถ้าตีความแบบเป็นธรรมที่สุดในระบอบประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องไม่เข้า
3.อ้างว่าเป็นเพจหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ –เรื่องนี้ศาลเองก็เคยพูดไปแล้วว่าไม่เข้า ประเด็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยก็โดนล้อเลียนเสียดสี ถามว่ากฎหมายคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง ของคนเหล่านี้ไหม คำตอบคือ คุ้มครอง แต่ไม่ได้คุ้มครองแบบมาตรา 116 แต่คุ้มครองเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น
“จริงๆ คนเป็นบุคคลสาธารณะควรเปิดกว้างต่อการวิจารณ์ แต่ถ้าคุณอยากลุกขึ้นมาเอาเรื่องจริงๆ เต็มที่เลยคือ ข้อหาหมิ่นประมาท การเอาสิ่งนี้ซึ่งเป็นอาญาส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับมาตรา 116 นี่คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกตัวเองขึ้นมาเหนือสถาบันทั้งหมดในประเทศนี้ เท่ากับบอกว่าคุณคือรัฐ หากแตะต้องจะกลายเป็นเรื่องความมั่นคง” สาวตรีกล่าว
ในกรณีที่ฟ้องในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรีอธิบายว่า หากจะพอเข้าองค์ประกอบความผิดก็คือ มาตรา 16 เพราะเขียนไว้กว้างๆ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพล้อเลียนทำให้อับอาย ทุกยุคทุกสมัยถ้านักการเมืองจะฟ้องก็ฟ้องได้ แต่ไม่มีใครเขาฟ้อง แต่ไม่ใช่มาตรา 14 ตามที่ตำรวจฟ้องอย่างแน่นอน เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่ มาตรา 14(1) อันนี้โดยเจตนารมณ์ต้องการเอาผิดกับการทำฟิชชิ่งทางอินเทอร์เน็ต การหลอกลวง แต่มันถูกใช้และตีความเป็นหมิ่นประมาท เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท
ขณะที่ มาตรา 14 (3) โยงเข้ากับกฎหมายอาญา แต่ถ้ายืนยันว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรานี้ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็โยงไม่ได้
เหลืออยู่อันเดียวคือ มาตรา 14(2) ซึ่งเขียนกว้างมาก ขึ้นอยู่กับการตีความมากๆ และอาจจะกว้างกว่ามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอง แต่อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกของมาตรานี้ก็ยังน้อยกว่ามาตรา 116 อยู่ดี
"สังคมอาจเรียกร้องได้ว่า คุณเป็นบุคคลสาธารณะ ความอดทนอดกลั้นคุณต้องเยอะกว่าคนทั่วไป แต่หากเขาจะไม่อดทนอดกลั้นก็ได้เพียงมาตรา 16 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 10,000 บาท" สาวตรีกล่าว


ปรากฏการณ์การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหาร


หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน ดังนี้

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตี คสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

5. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร จากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

6. คดีของพลวัฒน์ จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

7. คดีของพันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเดินเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ปัจจุบันอัยการทหารสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 คดียังไม่มีวันนัดพิจารณา

8. คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้าน คสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน

10. คดีของชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสต์ข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย

11. คดีนางรินดา จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 8 ผู้ต้องหา ม.116 ทำเพจล้อการเมือง


เปิดคำคัดค้านฝากขังของศูนย์ทนายโดยละเอียด ชี้หมิ่นประมาทประยุทธ์ ไม่ใช่คดีความมั่นคง ม.116 ศาลทหารเคยวางมาตรฐานไว้เองแล้ว 2 คดี  ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8  คนถูกส่งไปเรือนจำแล้ว ญาติขอประกันตัววางเงิน 1 แสนบาท ศาลทหารไม่ให้ประกัน


29 เม.ย. 2559 ช่วงสายที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหา 8 คนในจำนวนนี้เป็นหญิง 1 คนที่ถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 27 เม.ย.และต่อมาตำรวจแถลงข่าววานนี้ว่าทั้งหมดเกี่ยวพันกับการรับจ้างทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ในเฟซบุ๊ก และแจ้งข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และปลุกปั่นยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ญาติผู้ต้องหาหลายรายรวมถึงทนายความเพิ่งได้พบกับผู้ต้องหาเป็นครั้งแรก มีการแต่งตั้งทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นทนายความของผู้ต้องหาทั้งหมด และดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน (อ่านคำร้องฉบับเต็มในล้อมกรอบด้านล่าง) จากนั้นศาลได้เรียกไต่สวน

พนักงานสอบสวนให้เหตุผลว่า กระบวนการตรวจประวัติ ลายนิ้วมือยังไม่เสร็จสิ้น และเหลือพยานต้องสอบอีกราว 15 ปาก รวมทั้งเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งแปดคัดค้านการฝากขังโดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำทั้งแปดคนไว้หมดแล้ว และพวกเขาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี เจ้าหน้าที่มีที่อยู่ปัจจุบันของทุกคนและก่อนการเข้าจับกุมของทหาร เจ้าหน้าที่รัฐก็ล่วงรู้ทุกการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว สามารถเชิญตัวพวกเขามาให้การเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดศาลอนุมัติคำร้องฝากขังโดยให้เหตุผลว่ากระบวนการของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้นและคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษสูง มีความละเอียดซับซ้อนไม่เหมือนคดีทั่วไป จึงอนุมัติฝากขัง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างไต่สวน กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ผู้ต้องหาหนึ่งเดียวที่ให้การรับสารภาพในการแถลงข่าวของตำรวจเมื่อวานนี้แจ้งศาลว่าจะขอกลับคำให้การ ศาลแจ้งว่าวันนี้เป็นเพียงการฝากขังไม่ใช่การพิจารณาคดี กัณสิทธิ์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้อธิบายเหตุผล อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังทนายความของกัณสิทธิ์ได้ความว่า ผู้ต้องหารายนี้ระบุว่าเหตุที่รับสารภาพไปในเวทีแถลงข่าวเนื่องจากทนายความจากสภาทนายความที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจัดหาให้นั้นไม่ได้ให้คำปรึกษาว่าควรทำอย่างไร และในเวทีแถลงข่าวเขาถูกพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ถามเป็นคนแรกต่อหน้าสื่อมวลชนทำให้ลนลานและสับสน
หลังจากศาลอนุมัติคำร้องขอฝากขังไม่นาน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็นำตัวทั้งหมดไปยังเรือนจำ โดยนำผู้ชายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนผู้หญิงคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
ขณะที่ทนายความและญาติดำเนินการยื่นประกันตัวที่ศาลทหารและเตรียมฟังคำสั่งศาลในช่วงบ่ายแก่ว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่โดยกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย วิญญัติ ชาติมนตรี อาสาเป็นนายประกันผู้ต้องหาหลายคน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้หลักทรัพย์จากกองทุนพลเมืองโต้กลับ ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 100,000 บาท

ล่าสุด (ประมาณ 15.50 น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวทั้งแปดคน โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งแปด มีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนระบุข้อกล่าวหาเพียงมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่ตำรวจแถลงวานนี้ว่าจะแจ้งเพิ่มเติมแก่นายหฤษฏ์ และณัฏฐิกาจากกรณีมีบทสนทนาในกล่องข้อความส่วนบุคคลที่พาดพิงสถาบัน ทนายความแจ้งว่า เบื้องต้นทราบว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจะร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้แต่ยังไม่เห็นเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 8 รายได้แก่ 1.หฤษฏ์ มหาทน หรือ ปอน 2.นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท หรือนามปากกาวรารัตน์ เหม็งประมูล 3.นายนพเก้า คงสุวรรณ หรือ นพ 4.นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 5.นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 6.นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 7.นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี และ 8.นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี

คำร้องคัดค้านการฝากขังของศูนย์ทนายความฯ มีรายละเอียดดังนี้
1.ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกนำตัวจากกองปราบปรามมาฝากขังต่อศาลทหารครั้งที่ 1 ในวันนี้ โดยได้แต่งตั้งทนายความที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้วางใจเพื่อทำหน้าที่ทนายความแล้ว
2. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ ณ ภูมิลำเนาในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ภายหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ที่ มณฑลทหารบกที่ 11  (มทบ.11)  โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติและทนายความ ในการจับผู้ต้องหาทั้ง 8ไม่มีการต่อสู้ขัดขวางหรือก่ออันตรายใดแก่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยที่ขณะร้องขอ ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว การออกหมายจับดังกล่าวก็ด้วยเพื่อต้องการจับตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เนื่องจากคดีนี้จากข้อกล่าวหามิใช่การกระทำผิดเฉพาะหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หาได้มีความจำเป็นเพียงพอที่จะขออำนาจศาลควบคุมตัวดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด ผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงขอคัดค้านการฝากขัง ด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่จะกล่าวต่อไปนี้

2.1 ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอเรียนต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนนั้น ต้องเป็นการควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเพื่อการสอบสวน แต่เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลแล้ว ย่อมหมายถึงผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ให้การไปทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งมวลแล้ว ไม่ประสงค์จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์อันใดทางกฎหมายต่อพนักงานสอบสวนอีกแล้ว ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ไว้ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ส่วนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก็ดี การสอบสวนพยานอื่นก็ดี ก็หาอยู่ในวิสัยที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องอยู่ร่วมกระบวนการแต่อย่างใด การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 จึงเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น เป็นการกระทำทางการเมืองที่ต้องการให้เกิดผลอย่างอื่นนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเหตุตามกฎหมายที่จะร้องขอดังที่พนักงานสอบสวนอ้างมาในคำร้องแต่อย่างใด

2.2 คดีนี้ในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการใดอันถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งต่อผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่ามีข้อความหรือข้อเท็จจริงใดที่จะกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่าได้กระทำความผิด มีแต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่บังอาจกระทำการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานหรือข้อความอันใดอันอาจสื่อความหมายว่าเป็นการกระทำความผิดในชั้นสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยไม่มีมูล การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจึงไม่อาจรับคำร้องของพนักงานสอบสวนไว้พิจารณาได้
2.3 จากคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยลักษณะกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ศาลทหารเองก็เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานถึง 2 คดี ว่ามิใช่เรื่องที่ต้องด้วยบทบัญญัตมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หากแต่ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคล รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 129 /2558 ระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ กับนางรินดา หรือหลิน ปฤชาบุตร จำเลย และหนังสือส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวนคดีของนางจุฑาทิพย์ หรือเจนนี่ เวโรจนาภรณ์ ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2558 เอกสารที่ส่งมาด้วยแล้วฉบับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
ดังนั้น เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิใช่เรื่องที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 8 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ต่อศาลทหารเพื่อฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 ในวันนี้ 
2.4 คดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นนายทหารพระธรรมนูญและพนักงานสอบสวนหาได้มีความมุ่งหมายที่จะกระทำการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด การสร้างสภาวะความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมอาจดูเหมือนบ้านเมืองถูกปกครองได้อย่างราบคาบ แต่ในระยะยาวที่ประเทศไทยต้องดำรงอยู่ในสังคมโลกย่อมเป็นผลเสียและกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้แม้ประเทศไทยจะปกครองด้วยคณะรัฐประหาร แต่คณะรัฐประหารก็ได้ประกาศจะสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง เมื่อในทางรูปธรรมกลับมีการฟ้องร้องกล่าวหาประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเพียงการแสดงออกทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะอันอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง การณ์ทั้งหมดก็จะกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำทางการเมืองไปเสีย ในภายภาคหน้าหากเราไร้หลักที่จะยึดเหนี่ยวความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน บ้านเมืองย่อมเข้าสู่วิกฤติและยากที่จะหาทางออกได้

ศาลทหารจึงเป็นเพียงองค์กรเดียวที่จะเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในภาวะเช่นนี้กลับมาได้ ขอศาลได้โปรดพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศด้วย

3. ผู้ต้องหาทั้ง 8 ขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม และวรรคแปด ในอันที่จะขอให้ศาลเปิดการไต่สวนและให้ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพนักงานสอบสวน และขอให้ศาลทหารกรุงเทพได้โปรดให้พนักงานสอบสวนเข้าสาบานตน และบันทึกถ้อยคำผู้กล่าวหาและถ้อยคำที่ทนายความผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้ถามค้านพยานในรูปแบบคำเบิกความหรือรายงานกระบวนพิจารณา เพื่อให้กระบวนพิจารณาในวันนี้ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งของศาลในการพิจารณาคดีในวันนี้ต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาตตามคำขอในข้อนี้ของผู้ต้องหาทั้ง 8 ด้วย

เมื่อได้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและพิจารณาประกอบข้อกฎหมายดังที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้เรียนต่อศาลแล้ว ขอศาลได้โปรดยกคำร้องของพนักงานสอบสวน เพื่อคืนเสรีภาพตามกฎหมายแก่ผู้ต้องหาทั้ง 8 ในคดีนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย