วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

‘ศูนย์ทนายสิทธิ’ ร้องปิดเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เปิดผลชันสูตรพลิกศพ ‘ปรากรม-หมอหยอง’


11 พ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights) ออกความเห็นต่อการตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ทหาร และต่อการตายของพันตำรวจตรีปรากรม วารุณประภา และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องหาความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
หนึ่ง การจัดตั้งเรือนจำดังกล่าวเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็น ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และบุคคลทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ทหาร อีกทั้งในทางปฏิบัติการประกาศตั้งเรือนจำภายในค่ายทหารนั้นเป็นการอาศัยเทคนิคทางกฎหมายทำให้ “ผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ทหารเสมือนเป็นการขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเนื่องจากเป็นการคุมขังระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณา
สอง การควบคุมตัวผู้ต้องขังเป็นของกรมราชทัณฑ์โดยตรง การปล่อยผู้ต้องขังไว้ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการควบคุมตัวบุคคล โดยอ้างประโยชน์ในการสอบสวนคดีจึงเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของผู้ต้องขังดังที่ได้ปรากฏผลเป็นการเสียชีวิตของผู้ต้องขังทั้งสองราย
สาม สภาพห้องคุมขัง มาตรฐานในการควบคุมตัวผู้ต้องขัง ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการขังเดี่ยวหรือขังแยกในห้องขังเล็กๆ ไม่มีโอกาสติดต่อโลกภายนอก ถือเป็นการปฏิบัติที่ไร้มนษุยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ขัดกับพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งข้อ  3 ของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ปี 1955 และหนังสือกรมราชทัณฑ์ที่ ยธ.0705.1/33405 ลงวันที่ 3 พ.ย.58
สี่ กระบวนการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย การชันสูตรเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้สิ้นสงสัยถึงสาเหตุการตายได้จึงต้องมีการผ่าศพเพื่อให้ทราบสาเหตุของการตายที่แท้จริงตามมาตรา 151 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การเสียชีวิตทั้งสองกรณียิ่งน่าสงสัยมากยิ่งขึ้นเมื่อทั้งสองกรณีมีการเผาศพทันทีโดยไม่มีการจัดงานศพตามปกติประเพณี
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้ขอเรียกร้องให้เปิดเผยบันทึกการรับตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ประวัติการรักษาพยาบาล รายงานชันสูตรพลิกศพ ภาพถ่ายศพผู้ตาย ภาพถ่ายสถานที่เสียชีวิตของบุคคลทั้งสองเพื่อความโปร่งใสถึงการควบคุมตัวและสาเหตุการตาย เพราะที่ผ่านมาสังคมถูกตัดขาดช่องทางในการตรวจสอบและรับทราบเพียงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเพียงด้านเดียวเท่านั้น
และ ห้า เห็นด้วยกับแนวทางตามที่แถลงการณ์ของราชทัณฑ์ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอเสนอแนะให้คณะกรรมการนั้น ต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และมาตราฐานในการควบคุมตัวบุคคลภายในเรือนจำ มีความเป็นอิสระและเป็นกลางในการตรวจสอบ โดยขอให้เปิดเผยรายชื่อ คุณสมบัติ กรอบระยะเวลาและผลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งสองกรณี
นอกจากนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้มีการปิดเรือนจำชั่วคราวดังกล่าวและย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เปิดเผยเอกสารการชันสูตรพลิกศพ พร้อมทั้งเปิดเผยรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยมีรายละเอียดดังนี้ :
ความเห็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อการตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี และต่อการตายของพันตำรวจตรีปรากรม วารุณประภา และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์
เผยแพร่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่องกำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 และในวันที่ 14 กันยายน 2558 ได้นำตัวนายอาเด็ม คาราดัก และนายไมไรลี ยูซูฟูผู้ต้องหาคดีระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เข้ามาควบคุมตัว โดยผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในฐานะต้นสังกัดได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้คุมพิเศษจำนวน 20 ราย  
ในวันที่ 21 ตุลาคม 2558 นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภา และนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ ผู้ต้องหาความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาได้ถูกนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำดังกล่าวรวมเป็นผู้ต้องขังทั้งหมด 5 ราย และต่อมาวันที่ 23 ตุลาคม 2558  พันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภา ได้เสียชีวิตภายในเรือนจำโดยแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ระบุเหตุจากการผูกคอตนเอง โดยสภาพห้องขังเป็นกำแพงปิดทึบทั้งสี่ด้านไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้หากไม่เปิดประตู พร้อมทั้งระบุว่าจะมีการส่งศพไปชันสูตรพลิกศพที่สถาบันนิติเวชและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
จนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งข่าวว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ เสียชีวิตแล้วเนื่องจากระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้นายสุริยันได้ถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ซึ่งอธิบดีราชทัณฑ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าแพทย์โรงพยาบาลภายนอกได้ตรวจสอบโดยการแสกนสมองแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติคาดว่านายสุริยันแกล้งป่วย และวันที่ 30 ตุลาคม 2558 นายสุริยันไม่ได้ถูกนำตัวมาฝากขังผลัดสองที่ศาลทหารโดยมีหนังสือจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่านายสุริยันป่วยเป็นโรคความดันและภาวะไขมันพอกตับ
ทั้งสองกรณีอ้างว่าได้มีการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150  ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาแล้ว โดยศพพันตำรวจตรีปรากรมได้ชันสูตรภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และศพนายสุริยันมีการส่งศพไปตรวจพิสูจน์ยังสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ โดยญาติไม่ติดใจถึงสาเหตุการตายและไม่มีการจัดพิธีศพของทั้งสองรายแต่อย่างใด
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นต่อสถานการณ์การควบคุมตัวพลเรือนภายในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ทหาร ดังต่อไปนี้
1.         สาเหตุในการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราว
แม้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 จะให้อำนาจรัฐมนตรีในการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวเพื่อคุมขังผู้ต้องขังเฉพาะกรณีก็ตาม แต่การที่คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่องกำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ระบุเหตุในการจัดตั้ง“เพื่อประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภทมีเหตุพิเศษ ที่ไม่ควรจะรวมคุมขังอยู่กับผู้ต้องขังอื่น จึงสมควรกำหนดสถานที่คุมขังไว้สำหรับผู้ต้องขังประเภทดังกล่าว”  ซึ่งถ้อยคำอธิบายวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนเพียงพอว่าผู้ต้องขังประเภทมี “เหตุพิเศษ” ดังกล่าวคืออะไร หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ต้องขังเป็นอย่างไร ทำให้การนำตัวผู้ต้องขังใดมาไว้ในเรือนจำเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลักและก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขัง นอกจากนั้นไม่ปรากฎว่าคำสั่งดังกล่าวระบุมาตรการที่อ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย ความเหมาะสมและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวฯ ที่แตกต่างหรือพิเศษอย่างไรจากเรือนจำปกติ เพื่อแสดงถึงความจำเป็น ความเหมาะสมและความได้สัดส่วนในการตั้งเรือนจำชั่วคราว จึงเป็นการออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมมาจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยการคุมขังบุคคลซึ่งขัดหลักความชัดเจนแน่นอน หลักการไม่เลือกปฏิบัติ และหลักความจำเป็นได้สัดส่วน ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มิชอบและทำให้การควบคุมตัวนั้นมิชอบ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ที่ห้ามการควบคุมตัวมิชอบ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการจัดตั้งเรือนจำดังกล่าวเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็น ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และบุคคลทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ทหาร อีกทั้งในทางปฏิบัติการประกาศตั้งเรือนจำภายในค่ายทหารนั้นเป็นการอาศัยเทคนิคทางกฎหมายทำให้ ผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ทหารเสมือนเป็นการขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกหรือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาเนื่องจากเป็นการคุมขังระหว่างสอบสวนและระหว่างการพิจารณา
2.       เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคล
เนื่องจากการคุมขังผู้ต้องขังนั้นมีกฎและระเบียบในการควบคุมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก และควรเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ปี 1955 แต่เรือนจำดังกล่าวกลับใช้วิธีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร[1]ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานนอกสังกัดกรมราชทัณฑ์เป็นผู้คุมพิเศษ และส่งผู้คุมจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปให้คำแนะนำเรื่องงานทะเบียนและการติดต่อขอเยี่ยมญาติในกรณีต่าง ๆแทนนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของบุคคลากรซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขัง ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิของผู้ต้องขังและมาตรฐานในการควบคุมตัวบุคคล
 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังเป็นของกรมราชทัณฑ์โดยตรง การปล่อยผู้ต้องขังไว้ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการควบคุมตัวบุคคล โดยอ้างประโยชน์ในการสอบสวนคดีจึงเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพของผู้ต้องขังดังที่ได้ปรากฏผลเป็นการเสียชีวิตของผู้ต้องขังทั้งสองราย
3.     สภาพห้องคุมขัง มาตรฐานในการควบคุมตัวผู้ต้องขัง
ตามแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์กรณีการเสียชีวิตของพันตำรวจตรีปรากรมได้ชี้แจงว่าเรือนจำดังกล่าวดัดแปลงมาจากอาคารที่ทำการหน่วยงานทหาร โดยควบคุมตัวเป็นรายบุคคล ในห้องเป็นผนังปิดทึบทั้งสี่ด้าน ซึ่งเป็นสภาพคุมขังที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการขังเดี่ยวหรือขังแยกในห้องขังเล็กๆ ไม่มีโอกาสติดต่อโลกภายนอก ถือเป็นการปฏิบัติทิี่ไร้มนษุยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ขัดกับพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งข้อ  3 ของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ปี 1955 และหนังสือกรมราชทัณฑ์ที่ ยธ.0705.1/33405 ลงวันที่ 3 พ.ย.58 ซึ่งได้กำหนดมาตรการป้องกันผู้ต้องขังเสียชีวิตและการปฏิบัติกรณีผู้ต้องขังเสียชีวิตให้สำรวจพื้นที่ในเรือนจำและปรับปรุงทัศนวิสัยให้มองเห็นได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยย่อมมีสิทธิที่จะเข้าถึงแพทย์และการรักษาพยาบาลโดยพลัน แต่เรือนจำดังกล่าวก็ไม่สามารถรองรับการรักษาพยาบาลและระยะทางห่างไกลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ต้องขังได้อย่างทันท่วงที กรณีเป็นที่ประจักษ์ว่า การดำเนินการของเรือนจำชั่วคราวฯ และกรมราชทัณฑ์เรื่องการควบคุมและดูแลผู้ต้องขังไม่ได้มาตรฐานสากล และเป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อผู้ต้องขังจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ถูกทำให้เสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัว เป็นต้น
4.    กระบวนการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย
เนื่องจากทั้งพันตำรวจตรีและนายสุริยันนั้นเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง พร้อมทั้งต้องมีการไต่สวนการตายเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ 
กระบวนการชันสูตรพลิกศพผู้ต้องขังที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกระบวนการที่สำคัญเพราะหากการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต้องมีการสอบสวนที่โปร่งใสและมีประสิทธิผลโดยพลันจนนำไปสู่ความรับผิดและการเยียวยา กระบวนการดังกล่าวจึงต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเคารพสิทธิของผู้ต้องขังในการได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาต่อไป แต่หากกระบวนการชันสูตรพลิกศพเริ่มต้นด้วยความไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามข้อ 14 ICCPR
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า การชันสูตรเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้สิ้นสงสัยถึงสาเหตุการตายได้จึงต้องมีการผ่าศพเพื่อให้ทราบสาเหตุของการตายที่แท้จริงตามมาตรา 151 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การเสียชีวิตทั้งสองกรณียิ่งน่าสงสัยมากยิ่งขึ้นเมื่อทั้งสองกรณีมีการเผาศพทันทีโดยไม่มีการจัดงานศพตามปกติประเพณี อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้เปิดเผยบันทึกการรับตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ประวัติการรักษาพยาบาล รายงานชันสูตรพลิกศพ ภาพถ่ายศพผู้ตาย ภาพถ่ายสถานที่เสียชีวิตของบุคคลทั้งสองเพื่อความโปร่งใสถึงการควบคุมตัวและสาเหตุการตาย เพราะที่ผ่านมาสังคมถูกตัดขาดช่องทางในการตรวจสอบและรับทราบเพียงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐเพียงด้านเดียวเท่านั้น
5.    การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ตามที่แถลงการณ์ราชทัณฑ์ทั้งสองฉบับชี้แจงว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเสียชีวิตนั้น  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และขอเสนอแนะให้คณะกรรมการนั้น ต้องประกอบด้วยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และมาตราฐานในการควบคุมตัวบุคคลภายในเรือนจำ มีความเป็นอิสระและเป็นกลางในการตรวจสอบ โดยขอให้เปิดเผยรายชื่อ คุณสมบัติ กรอบระยะเวลาและผลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งสองกรณี
ด้วยเหตุสถานที่และบุคคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับมอบหมายนั้นขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลสวัสดิภาพของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ไม่มีความเหมาะสมในการควบคุมตัวและไม่มีเหตุจำเป็นในการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งส่งผลให้เกิดเหตุร้ายกับผู้ต้องขังถึงสองราย ศูนย์ทนายความจึงขอเรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และเปิดเผยเอกสารการชันสูตรพลิกศพ พร้อมทั้งเปิดเผยรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าสิทธิในกระบวนการยุติธรรมจะได้รับความคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน



[1] เนชั่นทันข่าว, 11 พฤศจิกายน 2558, แต่งตั้งทหารเป็นผู้คุมพิเศษ เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีhttp://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=768325

สมัชชาคนจนแถลงรับประยุทธ์มาอุบลฯ ขอเปิดปชช.มีส่วนร่วมโครงการพัฒนา หยุดใช้ม.44

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พบปะประชาชน จ.อุบลราชธานี (ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ)

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลแถลงรับประยุทธ์มาอุบลฯ ร้องเปิดปชช.มีส่วนร่วมโครงการพัฒนา หยุดใช้ ม.44 กับประชาชนชี้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
12 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการสนับสนุนด้านการเกษตร พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และพบปะประชาชน ณ บ้านยางกระเดา ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านสมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ฉบับพิเศษเนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ดังกล่าวด้วยว่า กรณีเขื่อนปากมูล เป็นตัวอย่างของปัญหาความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การปิดกั้นและการไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้ความต้องการและทางเลือกสำหรับการพัฒนาอื่นๆ ที่มีค่าถูกมองข้าม ซึ่งสภาพเช่นนี้ได้บ่มเพาะความโกรธแค้นมากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลมองประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นหุ้นส่วนในสังคมมีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐบาล ต้องให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความเห็นต่อกิจกรรมโครงการพัฒนาของรัฐบาล  และต้องได้รับความยินยอมของทุกภาคส่วน การบิดเบือนกลไก ขั้นตอน และกระบวนการที่ดี ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการใช้ ม.44 กับโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่จะส่งผลต่อประชาชน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
“รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า ในสภาวะที่ประเทศไม่เป็นปกติ ยิ่งไม่ควรใช้วิธีการที่ไม่ปกติ เพราะจะยิ่งตอกย้ำความไม่ปกติ ให้ผิดปกติมากยิ่งขึ้น” แถลงการณ์สมัชชาคนจน ระบุ
รายละเอียดแถลงการณ์ : 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน (ฉบับพิเศษ)
            ดังที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ การบริหารประเทศดำเนินการด้วยวิธีพิเศษ และบ่อยครั้งมีการใช้อำนาจพิเศษ (ม.44) จัดการรายละเอียดหยิบย่อย จนเสมือนหนึ่งว่า ม.44 เป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” รักษาได้ทุกโรค การใช้บ่อยจนเกินความพอดี ได้ทำให้ระบบปกติของโครงสร้างสังคม (ระบบการทำงานของหน่วยงานและกฎหมายที่มีอยู่แล้ว) ขาดความสมดุล
            กรณีการเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา) ในวันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเสนอโครงการของหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าบรรดาโครงการพัฒนาที่จะถูกเสนอนั้น จะดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และยิ่งหากมีการใช้ ม.44 ในการผลักดันโครงการก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมา มากกมาย ดังปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ดำเนินการในยุค รสช. ซึ่งปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ จนกระทั่งนำมาซึ่งความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังมา กว่า 24 ปี
            อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ความเห็นต่อการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบล ฯ ของนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ดังนี้
            1. ปัญหาความยากจน และความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรืออุปนิสัยเกียจคร้านของผู้คน หากแต่เกิดจากปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้เกิดสภาพความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่รุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่ ทั่วประเทศ เช่น กรณีปัญหาความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล
            2. การปิดกั้น และการไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการพัฒนาของรัฐบาลหลายโครงการได้ไปแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่เดิมเป็นของชาวบ้านในท้องถิ่น ถูกนำไปรับใช้เมือง และอุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมดังกล่าว แต่ถูกบังคับให้เสียสละโดยไม่สมัครใจ ที่สำคัญผู้ถูกบังคับให้เสียสละไม่สามารถแสดงความคิด ความต้องการ แม้แต่ทางเลือกที่มีค่าก็ยังถูกมองข้าม สภาพเช่นนี้ได้บ่มเพาะความโกรธแค้น มากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
            ต่อสภาวะการณ์ดังกล่าวนี้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
            1. การแก้ไขปัญหาความยากจนประชาชน ต้องแก้ที่โครงสร้างสังคมให้เกิดความเป็นธรรม โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักว่า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ล้วนเป็น “หุ้นส่วน” ในสังคม การดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐบาลต้องคำนึงว่า “ผู้เสียสละต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
            2. รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองการใช้ “สิทธิ์ เสรีภาพ” ของประชาชน ในการแสดงความเห็นต่อกิจกรรมโครงการพัฒนาของรัฐบาล การควบคุม ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็นต่างต่อโครงการพัฒนาของรัฐบาลย่อมไม่สามารถกระทำได้ ดังเช่น การดำเนินคดีกับแกนนำเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น รัฐบาลควรสั่งยกเลิกการดำเนินคดี ทันที
            3. การพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมของทุกภาคส่วน การบิดเบือนกลไก ขั้นตอน และกระบวนการที่ดี ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการใช้ ม.44 กับโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่จะส่งผลต่อประชาชน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า ในสภาวะที่ประเทศไม่เป็นปกติ ยิ่งไม่ควรใช้วิธีการที่ไม่ปกติ เพราะจะยิ่งตอกย้ำความไม่ปกติ ให้ผิดปกติมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญหากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาเขื่อนปากมูลที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมูนมาเป็นเวลากว่า 24 ปี รัฐบาลควรแสดงความจริงใจ แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านปากมูน ให้ลุล่วงเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนในสังคม
เชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล